ThaiPublica > เกาะกระแส > วิกฤติเศรษฐกิจของศรีลังกามาถึงจุดต่ำสุด ผลพวงจากการเติบโตที่ควบคุมไม่อยู่

วิกฤติเศรษฐกิจของศรีลังกามาถึงจุดต่ำสุด ผลพวงจากการเติบโตที่ควบคุมไม่อยู่

5 เมษายน 2022


รายงานโดย ปรีดี บุญซื่อ

ที่มาภาพ:https://ceylontoday.lk/

เมื่อวันเสาร์ที่ 2 เมษายนที่ผ่านมา รัฐบาลศรีลังกาประกาศภาวะฉุกเฉินทั่วประเทศ เป็นเวลา 36 ชั่วโมง ให้อำนาจเจ้าหน้าที่รัฐคุมขังกลุ่มผู้ประท้วง โดยไม่ต้องมีหมายจับ หลังจากที่วันศุกร์ที่ 1 เมษายน มีคนหลายร้อยคนได้ชุมนุมประท้วงใกล้บ้านพักของประธานาธิบดีโกทาบายา ราจาปักษา

เป็นเวลาหลายสัปดาห์มาแล้ว ที่ศรีลังกาประสบปัญหาวิกฤติเศรษฐกิจ ครั้งร้ายแรงที่สุดนับจากที่ได้เอกราชเมื่อปี 1948 ประเทศขาดแคลนสินค้าจำเป็นเช่น น้ำมัน อาหาร ก๊าซหุงต้ม และยา ทหารต้องมาประจำการที่สถานีน้ำมัน เพื่อรักษาความสงบ ขณะเดียวกัน รัฐบาลก็กำลังเจรจาหาความช่วยเหลือจาก IMF และประเทศมหาอำนาจในภูมิภาคนี้ เช่น อินเดียและจีน

ส่วนรัฐมนตรีทั้งหมด 26 คน รวมทั้งผู้ว่าการธนคารกลาง ก็ยื่นหนังสือลาออก แต่ตัวประธานาธิบดี ราจาปักษา และนายกรัฐมนตรีมหิทรา ราจาปักษา พี่ชาย ไม่ได้ลาออก แต่กลุ่มผู้ประท้วงไม่พอใจที่ประธานาธิบดีและครอบครัว ซึ่งจะต้องรับผิดชอบต่อวิกฤติที่เกิดขึ้น ยังคงอยู่ในอำนาจต่อไป

สังคมของความหลากหลาย

ศรีลังกาเป็นประเทศที่เป็นเกาะ อยู่ทางใต้ของอินเดีย มีรูปทรงคล้ายหยดน้ำตา ประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา เป็นดินแดนที่มีหลายชื่อ ชาวสิงหลที่เป็นคนส่วนใหญ่ เรียกดินแดนนี้ว่า “ลังกา” (Lanka) ส่วนพวกทมิฬเรียกว่า “อีแลม” (Eelam) สมัยอาณานิคมอังกฤษเรียกว่า “ซีลอน” (Ceylon) มาในปี 1972 รัฐบาลเปลี่ยนชื่อประเทศเป็น “ศรีลังกา”

ที่มาภาพ : amazon.com

หนังสือ The Sri Lanka Reader ของ Duke University Press เขียนไว้ว่า การที่มีหลายชื่อสะท้อนว่า ที่ตั้งทางภูมิศาสตร์และประวัติศาสตร์ของศรีลังกา มีปฏิสัมพันธ์กับหลายวัฒนธรรม มีการอพยพของคนหลายเชื้อชาติมาตั้งรกราก โดยเฉพาะจากอนุทวีป เช่น พวกสิงหลที่เป็นชาวพุทธ ชาวทมิฬที่เป็นฮินดู พ่อค้ามุสลิมจากอาหรับ พวกอาณานิคมจากโปรตุเกส ดัตช์ และอังกฤษ ศรีลังกาจึงไม่ใช่ “อินเดียน้อย” แบบที่เข้าใจกัน

ประวัติศาสตร์ที่ซับซ้อนทำให้ศรีลังกา เป็นสังคมที่มีความหลากหลาย ด้านศาสนา ภาษา และชาติพันธุ์ แม้จะเป็นประเทศเล็ก แต่เป็นสังคมที่ซับซ้อน การที่นักการเมืองไม่สามารถบริหารความหลากหลายได้อย่างมีประสิทธิภาพ ใช้ความหลากหลายให้เป็นคุณประโยชน์ ทำให้หลายสิบปีที่ผ่านมา เกิดความรุนแรงและสงครามกลางเมือง

ศรีลังกาจึงกลายเป็นตัวอย่างคลาสสิก ที่เผด็จการของชาติพันธุ์คนส่วนใหญ่ ทำให้คนต่างชาติพันธุ์และคนส่วนน้อย เกิดความแปลกแยก และมีความคิดรุนแรง ความขัดแย้งระหว่างพวกสิงหลที่มีสัดส่วน 75% กับพวกทมิฬที่มีอยู่ 11.2% ปะทุขึ้นมาในปี 1983 สงครามระหว่างรัฐบาลกับกองทัพของพวกทมิฬอีแลม ดำเนินมานานกว่า 26 ปี ฝ่ายรัฐบาลเอาชนะได้ในปี 2009

ที่มาภาพ : https://www.ndtv.com/world-news/sri-lanka-crisis-live-updates-lanka-opposition-rejects-presidents-unity-offer-as-crisis-escalates-2863065

ต้นต่อของวิกฤติเศรษฐกิจ

นับเป็นเวลาไม่ถึง 10 ปี หลังจากฟื้นตัวจากการสิ้นสุดของสงครามกลางเมืองที่นาน 26 ปี ในปี 2009 ศรีลังกาก็มุ่งพัฒนามาเป็นประเทศรายได้ปานกลางระดับบน อุตสาหกรรมการท่องเที่ยว ที่มีสัดส่วน 10% ของ GDP ทำเงินเข้าประเทศปีหนึ่งกว่า 5 พันล้านดอลลาร์ ช่วยสร้างงานและวิถีชีวิตสมัยใหม่แก่คนชั้นกลาง เช่น ศูนย์การค้า ภัตตาคารระดับบน และรถยนต์นำเข้า แต่ภาระหนี้สินมากมายของประเทศ การระบาดของโควิด-19 และสงครามยูเครน ทำลายสี่งนี้จนแทบจะหมด

วิกฤติเศรษฐกิจที่กำลังเกิดขึ้นกับศรีลังกา ทำให้การดำเนินชีวิตของคนทุกส่วนเกิดการหยุดชะงัก รัฐบาลขาดเงินตราต่างประเทศ ที่จะซื้อสิ่งของจำเป็น ที่ต้องนำเข้ามา โรงงานผลิตไฟฟ้าต้องลดการผลิต ทำให้มีการตัดการใช้ไฟฟ้าในแต่ละวัน ส่งผลกระทบต่อการผลิตอุตสาหกดรรมที่สำคัญ การสอบของโรงเรียนต้องเลื่อนออกไป เพราะขาดกระดาษทำข้อสอบ หนังสือพิมพ์ต้องลดจำนวนหน้าลง ก๊าซหุงต้มขาดแคลน ทำให้ร้านอาหารต้องปิดกิจการ และมีข่าวว่า มีคนสองคนเสียชีวิต ขณะเข้าคิวซื้อของจำเป็น

รัฐบาลต้องปิดสถานทูตในต่างประเทศลง ส่วนธนาคารกลางก็พิมพ์ธนบัตรมากขึ้น ทำให้เงินเฟ้อในเดือนกุมภาพันธ์เพิ่ม 17.5% กระทรวงการคลังต้องหันไปขอให้ประเทศเพื่อนบ้านเปิดวงเงินสินเชื่อ โดยอินเดียจะให้สินเชื่อ 1.5 พันล้านดอลลาร์ จีนกำลังพิจารณาในเรื่องนี้ แม้แต่ประเทศยากจนอย่างบังคลาเทศ ยังให้วงเงินสินเชื่อ 250 ล้านดอลลาร์แก่ศรีลังกา เพื่อนำเข้าพลังงานและสินค้าของจำเป็น

ที่มาภาพ : https://www.ndtv.com/world-news/explained-sri-lanka-economic-crisis-2863515

ทำไมเศรษฐกิจจึงทรุดตัวรวดเร็ว

ทำไมเศรษฐกิจศรีลังกาจึงตกต่ำอย่างรวดเร็ว ทั้งๆที่เมื่อไม่กี่ปีที่แล้ว การเติบโตทางเศรษฐกิจล้ำหน้าประเทศเพื่อนบ้าน ผู้เชี่ยวชาญเห็นว่า ส่วนหนึ่งมาจากความผิดพลาดในการดำเนินงานของรัฐบาลที่ผ่านๆมา และอีกส่วนหนึ่งมาจากความโชคร้ายที่ประเทศเผชิญอยู่

เศรษฐกิจของศรีลังกาประสบปัญหาภาระหนี้สินที่สูงมาก หนี้สินของรัฐมีสัดส่วนถึง 79% ของ GDP ก่อนเกิดโรคระบาดโควิด-19 รัฐบาลยังลดภาษีมูลค่าเพิ่มลงเกือบ 50% การระบาดของโควิด-19 ทำให้รายได้จากการท่องเที่ยวสูญหายไป ส่วนแรงงานศรีลังกาที่ทำงานในต่างประเทศ ส่งเงินกลับประเทศลดลง 23% เหลือ 5.5 พันล้านดอลลาร์ในปี 2021

นับจากปี 2020 เป็นต้นมา เงินทุนสำรองระหว่างประเทศลดไป 70% เดือนกุมภาพันธ์ 2022 เงินทุนสำรองมีเหลือแค่ 2.3 พันล้านดอลลาร์ ประเทศยากจนอย่างบังคลาเทศ ยังมีเงินสำรองเพิ่มเป็น 44 พันล้านดอลลาร์ ทั้งๆที่เผชิญกับการแพร่ระบาดของโควิด-19 นอกจากนี้ ในปี 2022 ศรีลังกาจะต้องจ่ายคืนเงินกู้ 6.9 พันล้านดอลลาร์ จากหนี้สินทั้งหมด 51 พันล้านดอลลาร์

ในปี 2021 การส่งออกชาของศรีลังกามีมูลค่า 1.3 พันล้านดอลลาร์ มีสัดส่วน 10% ของมูลค่าการส่งออกสินค้าทั้งหมดของประเทศ เแต่สงครามในยูเครนทำให้รัสเซียลดการนำเข้าชาจากศรีลังกา และยังทำให้ศรีลังกานำเข้าพลังงานที่มีราคาแพงมากขึ้น

วิกฤติด้านการเกษตร

รายงานเรื่อง 2019-Present Sri Lanka Economic Crisis ของ wikipedia.org กล่าวว่า ปี 2021 ศรีลังกาเริ่มโครงการเกษตรอินทรีย์ (organic farming) 100% ขึ้นเป็นครั้งแรก เดือนมิถุนายน 2021 รัฐบาลห้ามการใช้ปุ๋ยเคมี และยาฆ่าแมลงทั่วประเทศ โดยไม่ฟังเสียงทักท้วงจากชุมชนการเกษตร ที่บอกว่าอาจทำให้การผลิตพังลง

ในเดือนกันยายน 2021 ศรีลังกาประสบปัญหาผลผลิตการเกษตร ลดลงถึง 50% เกษตกรไม่มีปุ๋ยในฤดูเพาะปลูกนี้ ทำให้ศรีลังกาขาดแคลนอาหาร โดยเฉพาะข้าว จีนได้บริจาคข้าวมาให้ 1 ล้านตัน และต้องหันซื้อจากเมียนมา ส่วนอุตสาหกรรมการผลิตชาก็วิกฤติอย่างหนัก เพราะต้นทุนการผลิตเพิ่ม 10 เท่า แต่ผลผลิตลดลง 50% เดือนพฤศจิกายน 2021 รัฐบาลศรีลังกาประกาศยกเลิกแผนการที่จะเป็นประเทศเกษตรอินทรีย์ 100% ประเทศแรกของโลก

ที่มาภาพ: https://ceylontoday.lk/news/opposition-parties-deny-involvement-in-citizens-protests

ทุ่มลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน

ช่วงปี 2005-2025 รัฐบาลสมัยประธานาธิบดี มหินทรา ราจาปักษา (Mahindra Rajapaksa) ปัจจุบันดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ได้หันไปกู้เงินจากจีน เพื่อลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน เพราะต้องการให้ศรีลังกากลายเป็นสิงคโปร์อีกประเทศหนึ่ง ช่วงปี 2010-2015 จีนให้เงินกู้ 4.8 พันล้านดอลลาร์ เพื่อสร้างท่าเรือ Hambantora สนามบินใหม่ โรงงานไฟฟ้า เนื่องจากไม่สามารถชำระเงินกู้ 1.4 พันล้านดอลลาร์ จึงต้องปล่อยให้จีนเช่าท่าเรือ Hambantora มาดำเนินการนาน 99 ปี

แม้นักวิเคราะห์มักจะประมาณจีนว่า ใช้การทูตสร้างกับดักหนี้สินให้กับศรีลังกา แต่สถาบันวิจัย Lowy Institute ของออสเตรเลียชี้ให้เห็นว่า ศรีลังกาไม่ได้มีหนี้สินท่วมท้นกับจีน สัดส่วนหนี้สินของจีนมีเพียง 10% หนี้สินส่วนใหญ่เป็นของตลาดเงินทุนระหว่างประเทศ มีสัดส่วน 47% อีก 22% มาจากธนาคารโลกและธนาคารพัฒนาเอเชีย และจากญี่ปุ่น 10%

วิกฤติเศรษฐกิจของศรีลังกาช่วยสะท้อนให้เห็นว่า การเติบโตทางเศรษฐกิจ ที่ขับเคลื่อนจากการสร้างหนี้สิน มาถึงจุดหนึ่งก็จะปรากฏต้นทุนขึ้นมา หลังจากสงครามกลางเมืองจบลงในปี 2006 การเติบโตของเศรษฐกิจที่มาจากการกู้เงินลงทุน ให้ผลบวกในระยะสั้น ปี 2006 รายได้ต่อคนของศรีลังกาอยู่ที่ 1,436 ดอลลาร์ ปี 2020 เพิ่มเป็น 3,682 ดอลลาร์ สูงกว่าฟิลิปปินส์ ธนาคารโลกเองบอกว่า ศรีลังกากำลังไปสู่ประเทศรายได้ปานกลางระดับบน

แต่การเติบโตแบบควบคุมไม่ได้ (wild growth) ทำให้ศรีลังกามีสภาพเหมือนที่ Murtaza Jafferjee ประธานบริษัทวิจัย Advocate Institute ของศรีลังกา บอกกับผู้สื่อข่าว New York Times ว่า “เศรษฐกิจศรีลังกากำลังประสบกับปัญหาภาวะที่อวัยวะหลายอย่างล้มเหลว ทำให้เกิดการติดเชื้อในกระแสโลหิต”

เอกสารประกอบ
Sri Lanka Economy Has ‘Hit Rock Bottom,’ Putting Pressure on President, nytimes.com, March 25, 2022.
How Sri Lanka’s booming economy ended in the worst crisis in its history, thedailystar.net, April 2, 2022.
2019-Present Sri Lanka Economic Crisis, wikipedia.org
The Sri Lanka Reader, John Clifford Holt, ed. Duke University Press, 2011.