ThaiPublica > เกาะกระแส > วิกฤติหนี้สินยักษ์ใหญ่ Country Garden ของจีนทำให้ Forest City ของมาเลเซียกลายเป็นเมืองร้าง

วิกฤติหนี้สินยักษ์ใหญ่ Country Garden ของจีนทำให้ Forest City ของมาเลเซียกลายเป็นเมืองร้าง

19 กันยายน 2023


รายงานโดย ปรีดี บุญซื่อ

ที่มาภาพ : https://en.wikipedia.org/wiki/Country_Garden#/media/

Country Garden ยักษ์ใหญ่อสังหาริมทรัพย์ของจีน รอดอย่างหวุดหวิดจากภาวะการผิดนัดชำระหนี้ หลังจากเจ้าหนี้อนุมัติให้ขยายเวลากำหนดการชำระหนี้ออกไป 3 ปี สำหรับตราสารหนี้สกุลเงินหยวน มูลค่า 10.8 พันล้านหยวนหรือ 1.48 พันล้านดอลลาร์ ก่อนหน้านี้ เมื่อต้นเดือนกันยายน ก็มีปัญหาจ่ายเงินดอกเบี้ยที่ล่าช้า มูลค่า 22.5 ล้านดอลลาร์ ให้กับตราสารหนี้ที่ออกเป็นเงินสกุลดอลลาร์

จากคนงานก่อสร้างสู่มหาเศรษฐี

Country Garden เป็นบริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ใหญ่สุดของจีน สำนักงานใหญ่อยู่ที่เมืองฝัวชาน (Foshan) มณฑลกวางตุ้ง ในปี 2023 นิตยสาร Fortune จัดอันดับ 500 บริษัทยักษ์ใหญ่ของโลก Country Garden ติดอันดับที่ 206 โดยสร้างโครงการพัฒนาที่พักอาศัยในเมืองแบบตึกสูง 187 โครงการทั่วประเทศจีน

ในปี 1992 หยางกั๋วเฉียง (Yang Guaqiang) ก่อตั้ง Country Garden ขึ้นมา เนื่องจากเคยทำงานเป็นชาวนา และคนงานก่อสร้างตามไซต์งานต่างๆ เขาตั้ง Country Garden ขึ้นมาโดยไม่เคยทำธุรกิจนี้มาก่อน แต่ในที่สุด สามารถสร้างให้ Country Garden กลายเป็นบริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ที่ใหญ่สุดของจีน

หยางกั๋วเฉียงบอกว่า ความสำเร็จของเขามาจากการปฏิรูปของจีนยุคหลังการปฏิวัติวัฒนธรรม และการขยันทำงานหนักของเขา “ผมจำได้ว่าตอนอายุ 16 ปี ตัวเองไม่สามารถจ่ายค่าเล่าเรียน 7 หยวน ต้องกลับไปทำนา แต่ครูประจำชั้นเดินทางไปที่บ้าน บอกกับพ่อผมว่า ผลการศึกษาของผมนั้นยู่ในเกณฑ์ดี ไม่ได้แย่แต่อย่างใด” นั่นทำให้เขาได้รับทุนการศึกษาและค่าใช้จ่ายบางส่วน

แต่ไม่นานต่อมาก็เกิดการปฏิวัติวัฒนธรรม ในร้านหนังสือไม่มีหนังสือเรียนเลย จึงร่วมกับเพื่อนนักเรียนไปหาซื้อตำราเรียนเก่าๆ จากร้านเก็บของเก่า เมื่ออ่านหนังสือเสร็จแล้ว ก็เอาไปแลกกับหนังสือของเพื่อนคนอื่น

ปี 2002 หยางกั๋วเฉียงตั้งโรงเรียนมัธยมปลายแห่งหนึ่งในเมืองฝัวชาน ให้การศึกษาฟรีแก่เด็กนักเรียนจากครอบครัวยากจน และยังบริหารสถาบันอาชีวศึกษาอีก 2 แห่ง โดยไม่คิดค่าเล่าเรียน

หยางกั๋วเฉียงเป็นคนที่ชื่นชมต่อ ลี กวนยู อดีตผู้นำสิงคโปร์ “อะไรที่ทำให้สิงคโปร์มีความสามารถในการแข่งขันระดับโลก ระบบที่ดี การศึกษาที่ดี รวมทั้งปัจจัยอื่น ที่ยกระดับคุณภาพคน” ครูผู้สอนในสถาบันการศึกษาที่เขาตั้งขึ้นมา จบปริญญาเอกถึง 200 คน มีแผนจะเพิ่มอีกเท่าตัว เขาเคยให้สัมภาษณ์กับ The Strait Times ของสิงคโปร์ว่า

“ในฐานะนักพัฒนา Country Garden ต้องพยายามคิดว่า ทำอย่างไรที่จะสร้างอนาคตที่ดีกว่า”

หยางกั๋วเฉียง (Yang Guaqiang) ที่มาภาพ : https://www.scmp.com/magazines/style/celebrity/article/3187536/how-did-asias-richest-woman-yang-huiyan-lose-half-her

ผลกระทบต่อโครงการ Forest City

บทรายงานของ The Wall Street Journal เรื่อง Huge Ghost City Haunts Troubles Chinese Developer กล่าวว่า วิกฤติทางการเงินของ Country Garden ที่ครึ่งแรกปี 2023 ขาดทุน 6 พันล้านดอลลาร์ และเสี่ยงต่อการผิดนัดชำระหนี้ ได้ส่งคลื่นสั่นสะเทือนกระทบมาถึงมาเลเซีย

มาเลเซียเป็นประเทศที่ Country Garden มีขนาดการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ในต่างประเทศใหญ่ที่สุด โครงการ Forest City มูลค่า 100 พันล้านดอลลาร์ อยู่ในรัฐยะโฮร์ (Johor) ตั้งอยู่ตรงกันข้ามกับสิงคโปร์ คาดว่าภายในปี 2035 โครงการนี้จะมีคนเข้าอาศัย 700,000 คน โครงการนี้ประกอบด้วยอาคารที่พักอาศัยระดับหรูหรา สำนักงาน สถานศึกษา ศูนย์การค้า และแหล่งสันทนาการอื่นๆ Country Garden ลงทุน 60% อีก 40% มาจากบริษัทของรัฐยะโฮร์

แต่หลังจากที่ Country Garden ก่อสร้างมาได้เกือบ 10 ปี สภาพของ Forest City แทบจะร้างผู้คน แต่บรรดาเจ้าหนี้ถือว่า Forest City เป็นสินทรัพย์นอกประเทศจีนที่มีค่ามากสุดของ Country Garden นักวิเคราะห์ของบริษัทแห่งหนึ่งในนิวยอร์กบอกว่า หาก Country Garden ไม่สามารถชำระหนี้ได้ โครงการ Forest City จะช่วยให้เจ้าหนี้ได้เงินคืนมา 1.5 พันล้านดอลลาร์

รายงานของ Wall Street Journal บอกว่า โครงการ Forest City ที่ร้างผู้คน สะท้อนสิ่งที่เป็นสาเหตุสำคัญ ซึ่งกระชากภาคก่อสร้างที่เคยรุ่งเรืองของจีนให้ร่วงหล่นลงมา คือการกู้ยืมเงินที่สูง และการก่อสร้างที่มากเกินไป ผสมกับภาวะความโชคร้ายที่เกิดติดต่อกัน

โครงการ Forest City ในมาเลเซียสะท้อนกลยุทธ์ของ Country Garden ที่ออกโครงการขนาดใหญ่จำนวนมากภายในเวลารวดเร็ว ในพื้นที่ที่มีศักยภาพ และที่ดินราคาถูก โมเดลธุรกิจแบบนี้ทำให้ตลาดอสังหาริมทรัพย์ของจีนเติบโตอย่างมากมาแล้ว

โครงการ Forest City ที่มาภาพ : https://en.wikipedia.org/wiki/Forest_City,_Johor

นักวิเคราะห์ของบริษัทที่ปรึกษาอสังหาริมทรัพย์ชื่อ Knight Frank ให้สัมภาษณ์ว่า “ความคิดของนักอสังหาริมทรัพย์พวกนี้มีอยู่ว่า หากได้ที่ดินในราคาถูก โดยพื้นฐานแล้วจะมีความเสี่ยงต่ำ พวกเขาจึงพยายามเลียนแบบความสำเร็จในจีน โดยนำออกไปใช้ในต่างประเทศ”

โครงการ Forest City ไม่ได้มีกลุ่มเป้าหมายที่เป็นคนมาเลย์ แต่เป็นคนจีนชั้นกลางระดับบน ที่ต้องการบ้านที่สอง หรือลงทุนสินทรัพย์ในต่างประเทศ โดยเสนออสังหาริมทรัพย์ติดทะเลที่มีราคาถูกว่าเมื่อเทียบกับที่พักติดชายทะเลในนครเซี่ยงไฮ้ แต่การขายในระยะแรกก็ล้มพังลง เพราะปี 2016 รัฐบาลจีนควบคุมการใช้เงินในต่างประเทศของคนจีนให้ไม่เกินปีละ 50,000 ดอลลาร์ ช่วงปี 2020-2022 ก็มีวิกฤติทางการเมืองภายในมาเลเซีย และการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้ยอดขายเลวร้ายลงอีก

นับจากนั้นมา โครงการ Forest City ถูกเรียกว่า “เมืองร้าง” เหมือนโครงการก่อสร้างขนาดใหญ่จำนวนมากในจีนที่ยังสร้างไม่เสร็จ โครงการ Forest City สร้างเสร็จแค่ 15% เกาะที่เป็นพื้นที่จากการถมทะเลสร้างเสร็จ 1 แห่ง จากโครงการทั้งหมด 4 แห่ง ทั้ง Country Garden และรัฐบาลมาเลเซียยังตั้งความหวังกับโครงการนี้ไว้มาก นายกรัฐมนตรีอันวาร์ อิบราฮิม บอกว่า โครงการนี้จะถูกออกแบบให้เป็น “เขตการเงินพิเศษ” (special financial zone) ที่มีอัตราภาษีต่ำ และการขอวีซ่าเข้าออกหลายครั้งสะดวก
Forest City แถลงเองว่า โครงการสร้างที่พักอาศัยเสร็จแล้ว 26,000 หน่วย และขาย ให้กับคนซื้อจาก 30 ประเทศไปแล้วกว่า 80% โรงแรมสองแห่งและสนามกอล์ฟสองสนามก็เปิดดำเนินการเต็มที่แล้ว

นักวิเคราะห์ของบริษัทวิจัย AmBank Research ให้ความเห็นว่า โอกาสเหมาะกำลังมาถึงมาเลเซีย เมื่อสิงคโปร์มีปัญหาค่าใช้จ่ายที่แพงเพิ่มมากขึ้น ทำให้ Forest City กลายเป็นทางเลือก ที่จะดึงนักลงทุนต่างชาติ และผู้ชำนาญการในทักษะต่างๆ

ในบทความของ The Strait Times เกี่ยวกับเรื่องราวของหยางกั๋วเฉียง “จากยาจกสู่มหาเศรษฐี” บอกไว้ว่า ในสำนักงานใหญ่ของ Country Garden จะมีการเขียนข้อความที่เป็นคำพูดของบิลล์ เกตส์ ไว้ว่า

“ชีวิตคือสิ่งที่ไม่ยุติธรรมเลย ขอให้เคยชินกับมัน โลกไม่สนใจว่าคุณจะรู้สึกอย่างไรในตัวคุณเอง โลกคาดหมายให้คุณประสบความสำเร็จบางอย่าง ก่อนที่คุณจะรู้สึกชื่นชมตัวเอง”

หยางกั๋วเฉียง ประธาน Country Garden ปัจจุบันอายุ 69 ปี และเป็นบุคคลที่มั่งคั่งมากสุดคนหนึ่งของจีน รู้จากประสบการณ์ที่ผ่านมาเป็นอย่างดีว่าชีวิตไม่ได้ยุติธรรม แต่ความสำเร็จจากการพลิกฐานะจากคนขายแรงงานก่อสร้าง มาเป็นเจ้าของบริษัทยักษ์ใหญ่อสังหาริมทรัพย์ คงมีส่วนทำให้เขามีความรู้สึกที่ดีต่อตัวเอง

เอกสารประกอบ

Rags-to-riches story behind founder, 18 December 2015, The Strait Times.
Huge Ghost City Haunts Troubled Chinese Developer, 8 September 2023, The Wall Street Journal.