ThaiPublica > เกาะกระแส > เข้าใจ “ทุนนิยม” ยุคธุรกรรมการเงิน เมื่อ Apple มีมูลค่ามากกว่าเศรษฐกิจของ 160 ประเทศ

เข้าใจ “ทุนนิยม” ยุคธุรกรรมการเงิน เมื่อ Apple มีมูลค่ามากกว่าเศรษฐกิจของ 160 ประเทศ

22 มิถุนายน 2017


รายงานโดย ปรีดี บุญซื่อ

ที่มาภาพ : https://upload.wikimedia.org/wikipedia/commons/thumb/9/97/Wall_Street_Sign

เมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา เป็นครั้งแรกที่ Apple บริษัทผู้ผลิต iPhone มีมูลค่าตลาดเกิน 800 พันล้านดอลลาร์ ก่อนหน้านี้เมื่อ 2 ปีที่แล้ว มูลค่าตลาดของ Apple พุ่งขึ้นมาเกิน 700 พันล้านดอลลาร์ ทั้งๆ ที่ Apple เป็นบริษัทที่มีผลิตภัณฑ์เพียงไม่กี่ชนิด แต่สิ่งที่มีความหมายสำคัญก็คือ มูลค่าตลาดของ Apple มีมากกว่าเศรษฐกิจของประเทศอย่างเนเธอร์แลนด์ ที่ปี 2015 มีมูลค่า 752 พันล้านดอลลาร์ มูลค่าของ Apple ยังมากกว่าเศรษฐกิจอีก 160 ประเทศทั่วโลก หรือใหญ่กว่าเศรษฐกิจ 45 มลรัฐของสหรัฐอเมริกา

จากมูลค่าตลาดดังกล่าว ทำให้ปัจจุบัน Apple กลายเป็นบริษัทธุรกิจที่มีมูลค่ามากที่สุดในโลก ผลิตภัณฑ์ของ Apple ขายทั่วโลกมาแล้วกว่า 1 พันล้านชิ้น มีเงินสดอยู่ในธนาคาร 145 พันล้านดอลลาร์ เงินสดเหล่านี้กระจายฝากอยู่ในสถาบันการเงินต่างๆ ทั่วโลก เพราะหากนำกลับไปสหรัฐฯ ทั้งหมดก็จะต้องเสียภาษีในอัตราที่สูง นอกจากนี้ Apple ยังมีผลกำไรไหลเข้ามาอีกเดือนละ 3 พันล้านดอลลาร์

มูลค่ามหาศาลของ Apple ในตลาดหุ้น สะท้อนการเปลี่ยนแปลงของเศรษฐกิจแบบทุนนิยม ที่มีพัฒนาการจากทุนนิยมพ่อค้าวาณิชย์ สู่ทุนนิยมอุตสาหกรรม และมาถึงยุคทุนนิยมธุรกรรมการเงิน (Financialization) ที่ธุรกิจภาคการเงินมีบทบาทและสัดส่วนสูงขึ้นในระบบเศรษฐกิจโดยรวม ความมั่งคั่งของธุรกิจภาคการเงินเกิดจากนวัตกรรมการเงินที่แปลงทรัพย์สินต่างๆ เป็นหลักทรัพย์การเงิน เช่น อสังหาริมทรัพย์ โครงสร้างพื้นฐานต่างๆ เพื่อให้เป็นสินค้าที่ซื้อขายกันได้ ทำให้เกิดสังคมแบบพอร์ตการลงทุน (Portfolio Society) การปล่อยกู้เพื่อเก็งกำไรเติบโตมากกว่าการปล่อยกู้เพื่อการผลิต การให้ผลตอบแทนสูงแก่ผู้ถือหุ้น กลายเป็นธรรมาภิบาลที่สำคัญขององค์กรธุรกิจ

ทุนนิยมยุคธุรกรรมการเงิน

ที่มาภาพ : http://thepoc.net/index.php/us-recession-started-long-ago-may-be-longest-ever/

ในหนังสือชื่อ Makers and Takers ผู้เขียนคือ Rana Foroohar กล่าวว่า เศรษฐกิจในปัจจุบันอยู่ในภาวะกลับหัวกลับหาง ผู้ผลิต (Maker) คือคนที่ทำให้เศรษฐกิจแท้จริงเติบโต เช่น พนักงาน องค์กรธุรกิจ บริษัท และความคิดนวัตกรรมต่างๆ ต้องกลายมาเป็นคนทำงานเพื่อรับใช้คนที่เอาประโยชน์ (Takers) คือสถาบันการเงินต่างๆ เงินทุนไม่ได้ถูกปล่อยกู้ให้กับโครงการและความคิดใหม่ๆ ที่จะทำให้เกิดการจ้างงาน แต่หันเหไปสู่สินทรัพย์ที่มีอยู่แล้ว เช่น บ้าน หุ้น หรือพันธบัตร โดยนำมาเฉือนเป็นชิ้น เพื่อเอามาขายใหม่

เศรษฐกิจในปัจจุบันเติบโตโดยอาศัยแรงขับเคลื่อนจากสินเชื่อ จนนักเศรษฐศาสตร์ชื่อดัง Raghuram Rajan เขียนไว้ใน Fault Lines ว่า สินเชื่อกลายเป็นยาแก้ปวดแก่คนชั้นกลางที่กระวนกระวายใจเพราะชีวิตความเป็นอยู่ของตัวเองตกต่ำลง คำพูดเปรียบเปรยที่สะท้อนภาพในยุคที่เศรษฐกิจเฟื่องฟูก่อนพังทลายลงในปี 2008 ก็คือ “ปล่อยให้คน(ชั้นกลาง)พวกนี้กินสินเชื่อไปก็แล้วกัน” (“let them eat credit”)

พัฒนาการของทุนนิยมในยุคธุรกรรมการเงินทำให้กลไกเศรษฐกิจหลุดออกจากบริบทของสังคม ธุรกิจมุ่งแสวงหากำไรเป็นเป้าหมายสำคัญเหนือเป้าหมายอื่นๆ บางคนเรียกเศรษฐกิจนี้ว่า ยุค “ธุรกรรมการเงิน” ทุนนิยมคาสิโน หรือทุนนิยมนักลงทุน (investor capitalism) กรณีที่ธุรกรรมเศรษฐกิจเกิดขึ้นโดยไม่เกี่ยวข้องเลยกับการผลิตหรือการแลกเปลี่ยนสินค้านั้นไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่นับจากทศวรรษ 1970 เป็นต้นมา การเปิดเสรีด้านการเงิน และการลดการผลิตด้านอุตสาหกรรมในสหรัฐฯ ทำให้ธุรกิจภาคการเงินขยายตัวมากขึ้น ภาคการเงินสหรัฐฯ มีสัดส่วน 8% ของเศรษฐกิจทั้งหมด แต่สร้างผลกำไรที่มีสัดส่วน 30% ของธุรกิจทั้งหมด

ในหลายทศวรรษที่ผ่านมา เงินทุนที่มีสภาพคล่องเคลื่อนย้ายไปทั่วโลก ส่วนใหญ่มีเป้าหมายเก็งกำไร ทำให้เกิดนายทุนพวกใหม่ที่เชี่ยวชาญเรื่องการบริหารเงิน เช่น ผู้จัดการกองทุน นักวิเคราะห์การเงิน นักจัดอันดับความน่าเชื่อถือ นายหน้าหลักทรัพย์ ผู้จัดการกองทุนส่วนบุคคล นายธนาคารเพื่อการลงทุน เป็นต้น หุ้นที่อยู่ในตลาดหุ้นนิวยอร์ก ส่วนใหญ่ถือครองโดยนักลงทุนสถาบัน คือ กองทุนเกษียณ หรือกองทุนเพื่อการลงทุน ผู้จัดการของกองทุนสถาบันเหล่านี้เป็นพวกมืออาชีพ มีขอบข่ายความรับผิดชอบทั่วโลก และทำงานโดยคาดหวังผลตอนแทนที่สูง

ที่มาภาพ : https://www.youtube.com/watch?v=3eGztaZZy7k

ผู้จัดการกองทุนเป็นผู้ตัดสินใจเรื่องการบริหารกองทุนที่ตัวเองไม่ได้เป็นเจ้าของ พวกนี้มีแนวโน้มที่จะตัดสินใจลงทุนที่มีความเสี่ยงสูง เพราะความรับผิดส่วนตัวมีต่ำ ทำให้ผู้จัดการกองทุนเหล่านี้ กล้าเสี่ยงมากขึ้น เพราะไม่ต้องรับผิด ภาวะดังกล่าวนี้เรียกกันว่า moral hazard กองทุนต่างๆ จึงเป็นสัญลักษณ์ของภาคธุรกิจที่ “การมองประโยชน์ระยะสั้น” และการเก็งกำไรกลายเป็นกิจกรรมธุรกิจที่โดดเด่นในระดับที่ไม่เคยมีมาก่อน ก่อนวิกฤติเศรษฐกิจปี 2008 กองทุนส่วนใหญ่เกือบ 100% จะถือครองหลักทรัพย์ของตลาดหุ้นนิวยอร์ก ในระยะเวลาเฉลี่ยน้อยกว่า 1 ปี เมื่อ 50 ปีที่แล้ว การถือครองหุ้นระยะสั้นแบบนี้มีสัดส่วนแค่ 10% เท่านั้น การมองประโยชน์ระยะสั้นทำให้ผู้จัดการกองทุนการเงินแตกต่างจากผู้จัดการบริษัทอุตสาหกรรมหรือบริษัทธุรกิจการค้า

ให้ทั้งความรุ่งเรืองและวิกฤติ

ทุกวันนี้ ประชากรในโลกกว่า 95% มีชีวิตที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจทุนนิยม เมื่อเศรษฐกิจจีนเติบโตสูงปีหนึ่งมากกว่า 10% ติดต่อกันเป็นเวลา 30 ปี กลายเป็นคลื่นลูกยักษ์ใหญ่ที่ช่วยยกเรือเศรษฐกิจประเทศต่างๆ ทั่วโลกให้สูงขึ้นไปด้วย สินค้าเกษตรมีราคาสูงเป็นประวัติการณ์ แต่เมื่อเศรษฐกิจจีนชะลอตัวลงด้วยการเติบโตต่ำกว่าปีละ 8% เศรษฐกิจทั่วโลกก็ชะลอตัวตามไปด้วย ถ้าหากจีนประสบภาวะเศรษฐกิจถดถอยแบบเดียวกับสหรัฐฯ ในปี 2008 ไม่มีใครคาดหมายได้ว่าจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลกอย่างไร

สิ่งที่เป็นแก่นของเศรษฐกิจทุนนิยมคือการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา เป็นการเปลี่ยนแปลงในลักษณะสร้างสิ่งใหม่ขึ้นมาโดยละทิ้งสิ่งเก่า โจเซฟ ชุมปีเตอร์ (Josef Schumpeter) นักเศรษฐศาสตร์ที่มีชื่อเสียง กล่าวไว้ในปี 1943 ว่า สิ่งที่เป็นแรงขับเคลื่อนพื้นฐานที่ทำให้เครื่องจักรกลของทุนนิยมทำงานมาจากผู้บริโภคใหม่ สินค้าใหม่ๆ วิธีการผลิตหรือการขนส่งใหม่ ตลาดใหม่ และรูปแบบใหม่ของการจัดองค์กรอุตสาหกรรม ที่วิสาหกิจทุนนิยมสร้างขึ้นมา กระบวนการนี้เป็นการปฏิวัติที่ไม่หยุดนิ่งต่อโครงสร้างเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นจากภายใน ไม่หยุดนิ่งที่จะทำลายสิ่งเก่าและสร้างสิ่งใหม่ขึ้นมา กระบวนการทำลายแบบสร้างสรรค์ (creative destruction) คือข้อเท็จจริงที่สำคัญของทุนนิยม

ภายใต้ระบบเศรษฐกิจทุนนิยม การเติบโตทางเศรษฐกิจจะดำเนินไปแบบวัฏจักร คือมีภาวะที่รุ่งเรืองและตกต่ำสลับกันไป ภาวะเศรษฐกิจขาขึ้นและขาลงมีสาเหตุมาจากปัจจัยภายในของระบบเศรษฐกิจนี้เอง มีการพยายามอธิบายวิกฤติเศรษฐกิจจากหลายแนวคิด แต่สาเหตุนั้นคงจะมาจากอย่างใดอย่างหนึ่ง เช่น นวัตกรรม อัตราผลตอบแทนที่พุ่งขึ้นและลดลง การคาดหมายที่ผิดพลาด การลงทุนมากเกินไป และการบริโภคที่ต่ำเกินไป ความไม่แน่นอนจึงเป็นพื้นฐานของทุนนิยม เพราะเป็นเศรษฐกิจที่การตัดสินใจต่างๆ มีลักษณะอิสระ กระจัดกระจาย และเกิดขึ้นทันที กิจกรรมเศรษฐกิจไม่ได้เกิดขึ้นจากการวางแผนจากส่วนกลาง

รถไฟฟ้าแม่เหล็กความเร็วสูง Maglev ในเซี่ยงไฮ้ ที่มาภาพ : https://upload.wikimedia.org/wikipedia/commons/thumb/d/d1/A_maglev_train

วัฏจักรเศรษฐกิจทุนนิยมที่เติบโตแบบพุ่งขึ้นสูงสุด หลังจากนั้นก็เกิดภาวะตกต่ำ ชาร์ลส์ คินเดิลเบอร์เกอร์ (Charles Kindleberger) เขียนไว้ในหนังสือ Manias, Panics, and Crashes เพื่ออธิบายภาวะเศรษฐกิจฟองสบู่แตก จากกรณีบริษัท South Sea ที่มีการเก็งกำไรหุ้นบริษัทนี้ ในปี 1720 เศรษฐกิจฟองสบู่แตก ทำให้คนจำนวนมากล้มละลายทางการเงิน แม้แต่ไอแซค นิวตัน (Isaac Newton) ก็ขาดทุนจำนวนมาก จนนิวตันกล่าวว่า เขาอาจจะคำนวณการเคลื่อนไหวของวัตถุที่มีน้ำหนัก แต่ไม่สามารถคาดการณ์ความบ้าคลั่งของคนได้

คินเดิลเบอร์เกอร์สำรวจพบว่า ช่วงระยะ 177 ปี ระหว่าง 1810-1987 เกิดวิกฤติเศรษฐกิจ 20 ครั้ง 13 ครั้งมีจุดเริ่มต้นจากสหราชอาณาจักรและสหรัฐอเมริกา วิกฤติเศรษฐกิจต่างๆ จะมีลักษณะที่คล้ายๆ กัน โดยมีจุดเริ่มต้นจากราคาหุ้น ตลาดหุ้น หรือธนาคาร แล้วหลังจากนั้น วิกฤติก็ส่งผลกระทบต่อ “เศรษฐกิจแท้จริง” คือ การผลิต การจ้างงาน และการเติบโตของเศรษฐกิจ

การเกิดวิกฤติเศรษฐกิจจะมีแบบแผนเหมือนๆ กัน คือเริ่มจากโอกาสทางธุรกิจใหม่ๆ ที่ปรากฏตัวขึ้นมาและทำให้ผู้คนมองเห็นผลกำไร เช่น รถไฟในอดีต สารสนเทศ และอสังหาริมทรัพย์ เป็นต้น ต่อจากนั้น ผู้คนก็ตื่นเต้นกับโอกาสทองนี้ และคาดหมายว่าเป็นธุรกิจที่จะให้ผลกำไรมาก ทำให้ราคาหุ้นพุ่งสูงขึ้น นักลงทุนจำนวนมากแห่เข้าไปลงทุน เพราะคิดว่าจะได้ผลตอบแทนสูงแบบง่ายๆ เกิดการซื้อขายหุ้นจำนวนมาก

เวลาต่อมา พวกที่อยู่วงใน (insider) เริ่มมองเห็นว่า ผลกำไรที่คาดว่าจะเกิดขึ้นนั้นไม่สมเหตุสมผลกับราคาหุ้นที่พุ่งขึ้นไป คนพวกนี้จะขายหุ้นทิ้งเพื่อทำกำไร ราคาหุ้นเริ่มดิ่งลง นักลงทุนจำนวนมากออกจากตลาดไม่ทัน เหตุการณ์ทั้งหมดทำให้เศรษฐกิจฟองสบู่แตกขึ้นมา ส่งผลตามมาหลายอย่าง เช่น นักลงทุนสูญเงิน ธนาคารล้ม สินเชื่อถูกระงับ การค้าการผลิตลดน้อยลง ธุรกิจตกต่ำ และการว่างงานพุ่งขึ้นสูง

กลไกตลาดที่เป็นส่วนหนึ่งของสังคม

วิกฤติเศรษฐกิจแบบฟองสบู่แตกมักเกิดขึ้นในประเทศที่ใช้ระบบเศรษฐกิจตลาดแบบเสรีสุดโต่ง โดยเศรษฐกิจตลาดแยกตัวเป็นอิสระเอกเทศออกไปจากการควบคุมทางสังคม ไม่ผสมรวมแบบเป็นเพียงกลไกหนึ่งของสังคม กลไกตลาดและมูลค่าเศรษฐกิจกลายเป็นปัจจัยกำหนดความสัมพันธ์แทบทุกด้านของคนในสังคม เช่น การรักษาพยาบาล หรือการศึกษา ที่ไมเคิล แซนเดล (Michael Sandel) นักปรัชญาการเมืองอเมริกันเรียกว่า การเปลี่ยนจาก “เศรษฐกิจตลาด” มาเป็น “สังคมตลาด”

แต่ประเทศในยุโรปตะวันตกเป็นตัวอย่างความสำเร็จของเศรษฐกิจตลาด เพราะกลไกตลาดเป็นส่วนหนึ่งของสังคม ธุรกรรมเศรษฐกิจไม่ใช่การแสวงหากำไรล้วนๆ โลกเศรษฐกิจมีความซับซ้อน การแสวงหากำไรเป็นสิ่งที่สำคัญ แต่ไม่ใช่เป้าหมายเพียงอย่างเดียว สหรัฐฯ อาจเป็นผู้นำในเรื่องการศึกษาชั้นสูง แต่เยอรมนีเป็นผู้นำการศึกษาเพื่อวิชาชีพ อาชีวศึกษาของเยอรมนีประสบความสำเร็จจนเป็นที่ยอมรับกันทั่วโลก และเป็นเรื่องยากที่ประเทศอื่นจะนำเอาไปใช้ให้เกิดความสำเร็จ เพราะระบบอาชีวศึกษาเยอรมันฝังตัวกลายเป็นส่วนหนึ่งของสถาบันสังคม เป็นผลิตผลความร่วมมือระหว่างรัฐบาลท้องถิ่น สถาบันการศึกษา สภาหอการค้า และองค์กรธุรกิจต่างๆ

ในหนังสือชื่อ The Truth About Markets ผู้เขียนคือจอห์น เคย์ (John Kay) กล่าวว่า บริษัทที่ถูกครอบงำด้วยเป้าหมายการแสวงหาผลกำไรให้มากที่สุด ทำให้ราคาหุ้นตัวเองสูงที่สุด เพื่อตอบแทนผู้ถือหุ้น แต่เป้าหมายแบบนี้ทำให้บริษัทอย่าง Enron หรือ ICI (Imperial Chemical Industries) ประสบกับภาวะล้มละลายในที่สุด

จอห์น เคย์ กล่าวว่า แม้การแสวงหากำไรจะเป็นเป้าหมายที่พึงประสงค์ แต่ธุรกิจไม่จำเป็นต้องทำเพื่อเป้าหมายนี้โดยตรง สามารถดำเนินการโดยทางอ้อม โดยอ้างคำพูดของจอห์น สจวร์ต มิลล์ (John Stuart Mill) นักปราชญ์ทางการเมืองของอังกฤษในศตวรรษที่ 19 ที่กล่าวว่า ตัวเขาเองได้ข้อสรุปว่า หนทางที่คนเราจะมีความสุข ไม่ใช่การตั้งเป้าหมายให้มีความสุขมากที่สุด สิ่งนี้จะไม่ทำให้ตัวเองมีความสุขแต่อย่างใด เพราะจะเป็นเรื่องของความสนุกสนานล้วนๆ แต่ความสุขอยู่ที่การมีองค์ประกอบของชีวิตที่ดีหลายอย่าง เช่น ความมั่นคงทางเศรษฐกิจ สุขภาพ ความเป็นอยู่ที่ดี การเป็นคนมองเห็นคุณค่าตัวเอง (self-respect) หรือ การได้รับการยอมรับจากคนร่วมงาน เป็นต้น

จอห์น เคย์ นำคำพูดนี้ของจอห์น สจวร์ต มิลล์ ไปใช้กับทุนนิยมยุคผู้ถือหุ้นว่า ธุรกิจที่ทุ่มเทเพื่อทำให้หุ้นของตัวเองมีราคามากที่สุดหรือให้ผลตอบแทนต่อหุ้นสูงสุด แทบจะไม่สามารถบรรลุเป้าหมายนี้ได้เลย เศรษฐกิจกลไกตลาดมีเป้าหมายไม่ใช่อยู่ที่การทำกำไรสูงสุด แต่อยู่ที่การผลิตสินค้าและบริการเพื่อตอบสนองความต้องการของคนเรา กำไรเป็นผลพลอยได้จากการทำธุรกรรมเพื่อเป้าหมายดังกล่าว เพราะฉะนั้น บริษัทที่มุ่งผลกำไรอย่างเดียว ในที่สุด กำไรก็จะสูญหายไป เพราะไปขัดกับตรรกะของเศรษฐกิจทุนนิยมดังกล่าวนี้

เอกสารประกอบ
John Kay. The Truth about Markets, Penguin Book, 2004.
Jurgen Kocha. Capitalism: A Short History, Princeton University Press, 2016.
Rana Foroohar. Makers and Takers, Crown Business, 2016.