ThaiPublica > คอลัมน์ > รัฐบาลใหม่จะลดราคาพลังงานทันที…ลดจากกระเป๋ารายได้ของรัฐบาลหรือกระเป๋ากลุ่มทุน?

รัฐบาลใหม่จะลดราคาพลังงานทันที…ลดจากกระเป๋ารายได้ของรัฐบาลหรือกระเป๋ากลุ่มทุน?

19 กันยายน 2023


ประสาท มีแต้ม

ในช่วงหลายปีมานี้ ประชาชนผู้บริโภคต้องจ่ายค่าพลังงานทั้งค่าน้ำมันและค่าไฟฟ้าในราคาที่แพงเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ทำให้ก่อนการเลือกตั้งทั่วไปที่ผ่านมา ทุกพรรคการเมืองต่างก็ได้เสนอนโยบายลดราคาพลังงานกันไปต่างๆ นานา เมื่อ 30 ส.ค. 2566 นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีคนที่ 30 ยืนยันว่า รัฐบาลใหม่ลดค่าไฟฟ้าและราคาน้ำมันทันทีในการประชุม คณะรัฐมนตรีนัดแรก(13 กันยายน 2566)และตามมาด้วยครม.นัดที่2 แต่ไม่ได้บอกว่าจะลดประมาณเท่าใด ด้วยมาตรการอะไร จะลดจากอัตราภาษีสรรพสามิต จะลดด้วยการนำเงินจากเงินของทุนน้ำมัน (ซึ่งก็คือเงินของผู้ใช้น้ำมัน) มาชดเชย หรือจะลดจากความไม่ชอบมาพากลของกลุ่มพลังงานขนาดใหญ่ ที่ได้รับการอวยผลประโยชน์มากจนเกินค่าปกติของการค้าการขายจากรัฐบาลเดิมมาอย่างยาวนาน

แต่ก่อนที่จะไปลงรายละเอียด ผมขออนุญาตให้ข้อมูลพื้นฐานในภาพรวมกันก่อนนะครับ

เริ่มจากภาพแรก เป็นมูลค่าพลังงานทุกประเภทที่คนไทยใช้ในช่วงปี 2563 ถึงครึ่งปีแรกของปี 2566 พบว่า ในปี 2563 มูลค่าพลังงานที่คนไทยทั้งประเทศใช้ได้เพิ่มขึ้นจาก 1.8 ล้านล้านบาท (หรือ 11.6% ของจีดีพี) เป็น 14.6% (หรือ 2.5 ล้านล้านบาท) ในปี 2565 และมีแนวโน้มว่าจะเป็น 2.7 ล้านล้านบาท ในตอนสิ้นปี 2566

มูลค่าก้อนใหญ่ที่สุดก็คือ ผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมสำเร็จรูป ซึ่งเกือบทั้งหมดก็คือน้ำมันดีเซลและน้ำมันเบนซินนั่นเอง

ในส่วนของไฟฟ้า (ซึ่งมีส่วนประมาณร้อยละ 32 ของมูลค่าพลังงานทั้งหมด) ได้เพิ่มขึ้นจากประมาณ 7 แสนล้านบาทในปี 2563 เป็นกว่า 8 แสนล้านบาทในปี 2565 และมีแนวโน้มว่าจะเพิ่มขึ้นเป็น 9 แสนล้านบาทในสิ้นปีนี้ เรียกว่าเพิ่มขึ้นในอัตราเยอะทีเดียว ซึ่งก็สอดคล้องกับความรู้สึกหรือเสียงบ่นของผู้บริโภคทั้งหลาย จนนำไปสู่นโยบายของพรรคการเมืองทุกพรรคดังที่ได้กล่าวมาแล้ว

คราวนี้มาดูรายได้ของรัฐบาลจากพลังงาน (จากรูปที่สอง) พบว่า รายได้ของรัฐบาลจากพลังงานได้ลดลงจากประมาณ 3 แสนล้านบาทในปี 2562 (ซึ่งเป็นปีที่มากที่สุดในประวัติศาสตร์ของชาติไทย) เหลือเพียง 195,000 ล้านบาท สาเหตุสำคัญเพราะการลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันสำเร็จรูป โดยมีแนวโน้มจะลดลงเหลือน้อยกว่านี้ในปี 2566

การลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันในช่วงที่ราคาน้ำมันขึ้นสูง เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนในระยะสั้นเป็นสิ่งที่ถูกต้องแล้ว แต่วิธีการดังกล่าวไม่ได้มีเพียงวิธีเดียว เพราะปัญหาราคาพลังงานแพงเป็นเพราะความไม่ชอบมาพากลที่เกิดจากกลไกการค้าระดับโลกและนโยบายของรัฐบาลไทยเราเอง

ผมจะขอกล่าวโดยย่อดังต่อไปนี้

กรณีน้ำมันสำเร็จรูปซึ่งมีมูลค่าในปี 2565 ประมาณ 1.5 ล้านล้านบาท

กิจการปิโตรเลียมเป็นกิจการผูกขาดระดับโลก จึงสามารถปั่นราคาได้ตามใจชอบ ในปี 2565 ซึ่งเกิดสงครามรัสเซีย-ยูเครน ราคาน้ำมันดิบได้พุ่งพรวดจนสร้างความเดือดร้อนไปทั่วโลก ปรากฏว่า 5 บริษัทค้าน้ำมันขนาดใหญ่ของโลก คือ เชฟรอน เอ็กซอนโมบิล เชลล์ บีพี และโทเทล มีกำไรรวมกันในปี 2565 มากกว่าค่าเฉลี่ยของปีก่อนๆ ถึง 134,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ที่มา Global Witness, 9 ก.พ. 2566) เฉพาะส่วนที่เพิ่มขึ้นนี้ประมาณ 2.6 เท่าของจีดีพีไทย

ปรากฏว่ารัฐบาลของหลายประเทศได้ใช้วิธีการเก็บภาษีลาภลอย (windfall tax) ซึ่งหมายถึงการเก็บภาษีในอัตราที่สูงกว่าเดิมอันเนื่องจากผลประกอบการของบริษัทที่มีกำไรเพิ่มขึ้นอย่างทันทีทันใด ประเทศที่ว่านี้ ได้แก่ ออสเตรเลีย อิตาลี อังกฤษ มองโกเลีย สหรัฐอเมริกา กลุ่มสแกนดิเนเวีย และอินเดีย เป็นต้น

ในประเทศไทยเรา ในช่วงเริ่มต้นของสงครามที่ราคาน้ำมันพุ่งขึ้นสูงนั้น ได้มีการเรียกร้องจากสังคมและบางพรรคการเมืองให้มีการเก็บภาษีลาภลอยจากโรงกลั่นน้ำมันทั้ง 6 โรง แต่พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ทำได้แต่เพียงขอรับบริจาคจากบริษัท ปตท.จำกัด ไม่ยอมใช้อำนาจรัฐเพื่อแก้ปัญหาเชิงโครงสร้าง แต่จะได้มาจริงๆ จำนวนเท่าใดหรือไม่ ผมจำไม่ได้แล้ว

อนึ่ง จากข้อมูลจากอัมรินทร์ทีวี (14 ก.ค. 2565 ) ได้อ้างถึงคุณกรณ์ จาติกวณิช ว่า ก่อนเกิดสงคราม (2563-2564) ค่าการกลั่นของโรงกลั่นในประเทศไทยประมาณ 0.88 บาทต่อลิตรได้เพิ่มเป็น 8.56 บาทต่อลิตร หรือเพิ่มขึ้น 10 เท่าตัว ส่งผลให้กำไรของ 6 โรงกลั่นในประเทศไทยมีผลกำไรในปี 2564 รวมกัน 88,878 ล้านบาท (โดยการอ้างถึงข้อมูลจากตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย)

นอกจากเรื่องภาษีลาภลอยแล้ว ยังมีอีก 2 เรื่องสำคัญที่รัฐบาลไทยเอื้อประโยชน์ให้กลุ่มทุนพลังงาน คือ

หนึ่ง กฎกติกาเรื่องค่าขนส่งเทียมจากสิงค์โปร์มายังประเทศไทย ทั้งๆ ที่ไม่ได้มีการขนส่งจริง ในแต่ละวันคนไทยใช้น้ำมันสำเร็จรูปประมาณ 100 ล้านลิตร ถ้าค่าขนส่งเทียมรวมกับค่าอื่นๆ เช่น ค่าประกันภัย ค่าน้ำมันระเหย หากมีมูลค่า 1 บาทต่อลิตร คนไทยก็ถูกล้วงกระเป๋าไปเดือนละ 3,000 ล้านบาท

สอง ค่าการตลาดของสถานีบริการน้ำมัน

ค่าการตลาดคือ ส่วนที่เป็นต้นทุน ค่าใช้จ่าย และกำไรของธุรกิจค้าปลีกน้ำมันทั้งระบบ ตั้งแต่การจัดการคลังน้ำมัน การขนส่งน้ำมันมายังสถานีบริการ รวมถึงการให้บริการของสถานีบริการที่เติมน้ำมันแต่ละลิตรให้กับประชาชน

โดยมติคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง. วันที่ 20 เมษายน 2561, นายศิริ จิระพงษ์พันธ์ เป็น รมต.) กำหนดว่าค่าการตลาดน้ำมันเชื้อเพลิงที่เหมาะสมเท่ากับ 1.85 บาทต่อลิตร ประกอบด้วย 3 ส่วน คือ (1) ค่าใช้จ่ายดำเนินการของสถานีบริการน้ำมันฯ เท่ากับ 0.89 บาท (2) ค่าใช้จ่ายดำเนินการของผู้ค้ามาตร 7 (ผู้ค้าน้ำมันมากกว่า 120 ล้านลิตรต่อปี) เท่ากับ 0.47 บาท และ (3) ค่าลงทุนสถานีบริการเท่ากับ 0.49 บาท ทั้งนี้ ได้ระบุไว้ว่าจะมีการทบทวนหลักเกณฑ์การคำนวณค่าการตลาดน้ำมันทุกๆ 4 ปี ตามการเปลี่ยนแปลงราคาประเมินที่ดิน

ต่อมา แม้ระยะเวลาได้ผ่านไปเพียงไม่ถึง 2 ปี มติ กบง. วันที่ 9 มีนาคม 2563 (นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ เป็น รมต.) ได้อนุมัติให้ขึ้นค่าการตลาดของน้ำมันเชื้อเพลิงที่เหมาะสมเป็น 2.00 บาทต่อลิตร คือเพิ่มขึ้นอีก 0.15 บาทต่อลิตร ด้วยเหตุผลว่าเป็นค่าขนส่งน้ำมันผ่านท่อจากศรีราชามายังกรุงเทพมหานคร ท่ามกลางเสียงคัดค้านของตัวแทนจากภาคประชาสังคม

อย่างไรก็ตาม แม้ได้ตั้งกติกาไว้ว่า ค่าการตลาดน้ำมันเชื้อเพลิงที่เหมาะสมคือ 2.00 บาทต่อลิตร แต่จากการศึกษาของสภาองค์กรของผู้บริโภค พบว่า ในกลุ่มน้ำมันเบนซินแก๊สโซฮอล์ 95 ค่าการตลาดในช่วง 7 เดือนแรกของปี 2566 อยู่ระหว่าง 3.06 ถึง 3.81 บาทต่อลิตร

หากคิดเป็นตัวเลขง่ายๆ คือ สูงกว่าเกณฑ์ที่เหมาะสม (ซึ่งขึ้นราคามาแล้ว ทั้งที่ยังไม่ถึง 4 ปี) เท่ากับ 1 บาทต่อลิตร โดยมียอดจำหน่ายวันละ 30 ล้านลิตร คนไทยก็ถูกบังคับให้จ่ายเกินค่าที่ควรจะเป็นไปถึง 900 ล้านบาทต่อเดือน

เมื่อวันที่ 30 สิงหาคมที่ผ่านมา สภาองค์ของผู้บริโภคและองค์กรเครือข่ายได้ไปยื่นหนังสือร้องเรียนต่อ “ผู้ตรวจการแผ่นดิน” ให้ใช้อำนาจตามรัฐธรรมนูญมาตรา 230 เพื่อตรวจสอบการปฏิบัติหน้าที่ของกระทรวงพลังงานและคณะกรรมการที่เกี่ยวข้องทั้งหมด ในฐานะที่เป็นผู้กำกับดูแลราคาพลังงานให้เกิดความเป็นธรรมต่อทุกฝ่ายแต่ได้ละเลยการกระทำ

กรณีค่าไฟฟ้าซึ่งมีมูลค่าในปี 2565 ประมาณ 8.21 แสนล้านบาท จากไฟฟ้าที่ใช้รวม 197,256 ล้านหน่วย

ความไม่ชอบมาพากลในกิจการไฟฟ้าไทยมีหลายอย่าง แต่หัวใจหลักที่สำคัญมี 3 ประการ

  • หนึ่ง การเลือกใช้เชื้อเพลิงที่มีการผูกขาดคือก๊าซธรรมชาติถึง 56-60% ของไฟฟ้าที่ผลิตได้ทั้งหมด ประกอบกับนโยบายของรัฐบาลที่ให้อุตสาหกรรมปิโตรเคมีใช้ก๊าซราคาถูกก่อน แล้วให้ภาคการผลิตไฟฟ้านำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลวซึ่งมีราคาแพงมากมาใช้ เรื่องนี้ผมได้แจงอย่างละเอียดแล้วในบทความของไทยพับลิก้า เรื่อง “สงครามแย่งก๊าซ เหตุสำคัญค่าไฟฟ้าแพง 72 สตางค์ต่อหน่วย” เรื่องนี้เป็นการปล้นคนไทยแล้วไปอุ้มกลุ่มทุนผูกขาดชัดๆ เลยครับ
  • สอง เนื่องจากการทำแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้า (แผนพีดีพี) ที่มีการคาดการณ์การใช้ไฟฟ้าไว้สูงเกินจริง ทำให้เรามีกำลังผลิตสำรองเกินมาตรฐานสากลไปหลายเท่าตัว จึงเป็นภาระค่าไฟฟ้าแพง นอกจากนี้ ได้มีการทำสัญญาที่ไม่มี “ความยืดหยุ่น” ซึ่งเป็นผลงานวิจัยที่กระทรวงพลังงานเคยได้ร่วมกับองค์กรพลังงานสากล (IEA) แต่กระทรวงไม่ยอมทำตาม ด้วยเหตุที่สถานการณ์ของโลกและของประเทศมีการผลิกผันอยู่บ่อยๆ เช่น โควิด-19 ดังนั้น การทำสัญญาแบบ “ไม่ซื้อก็ต้องจ่าย” จึงเป็นเรื่องที่ล้าสมัย ผู้วางแผนลอยนวล แต่ผู้บริโภคต้องจ่ายค่าความผิดพลาดนี้ รัฐบาลใหม่จะแก้ไขเรื่องนี้อย่างไร
  • สาม ทั้งๆ ที่รัฐบาลพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้มีมติเมื่อ 27 กันยายน 2565 เพื่อส่งเสริมให้ติดตั้งโซลาร์เซลล์บนหลังคาบ้าน ด้วยระบบ “หักลบหน่วยไฟฟ้า (net metering)” แต่กระทรวงพลังงานก็ไม่นำไปปฏิบัติด้วยเหตุผลที่ฟังไม่ขึ้น
  • เรื่องนี้พรรคเพื่อไทยก็เคยยืนยันในระหว่างการหาเสียงว่าจะนำไปปฏิบัติ แต่มาถึงวันนี้ผมไม่เชื่อว่าพรรคนี้จะรักษาคำพูดในระหว่างการหาเสียง เพราะหัวหน้าพรรคได้บอกว่า “มันเป็นแค่เทคนิคเพื่อให้ได้คะแนนเท่านั้น”

    เขียนมาถึงตอนนี้ ผมนึกถึงคำพูดของ Dr.Hermann Scheer ผู้ได้รับการยกย่องว่าเป็นวีรบุรุษแห่งศตวรรษสีเขียวว่า “เราปล่อยให้พ่อค้าบุหรี่เขียนแผนการรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่มานานแล้ว ไม่มีทางสำเร็จ”

    ดังนั้น ประชาชนผู้บริโภคจึงต้องติดตาม และส่งเสียงทุกวิถีทางที่เป็นไปได้อย่างไม่ย่อท้อ ภายใต้เทคโนโลยีการสื่อสารในปัจจุบัน คนเล็กๆ เพียงหยิบมือเดียวก็สามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงที่ยิ่งใหญ่ได้