ThaiPublica > Native Ad > เปิดสถานะกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงครึ่งปี’66

เปิดสถานะกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงครึ่งปี’66

19 พฤษภาคม 2023


บทบาทของกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงในการรักษาเสถียรภาพพยุงราคาน้ำมันดีเซลในช่วงปีที่ผ่านมา ซึ่งเกิดวิกฤติราคาพลังงานจากผลของสงครามรัสเซีย – ยูเครน ทำให้ฐานะกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงติดลบอย่างหนัก จากเดิมที่มีสถานะเป็นบวกพลิกกับเป็นลบ โดยติดลบสูงสุดมากกว่า 130,000 ล้านบาท และเกิดปัญหาสภาพคล่องตามมาในที่สุด

สำหรับในปี 2566 วิกฤตการณ์ด้านราคาน้ำมันเชื้อเพลิงเริ่มผ่อนคลาย สำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง(สกนช.) ซึ่งเป็นหน่วยงานบริหารจัดการกองทุนน้ำมันฯ ได้สรุปสถานะกองทุนน้ำมันฯ ในช่วงครึ่งแรกของปีงบประมาณ 2566 (ตุลาคม 2565 – มีนาคม 2566) ว่า กองทุนน้ำมันฯ มีสภาพคล่องเพิ่มขึ้นฐานะที่ติดลบทยอยปรับลดลง โดยในเดือนมีนาคม 2566 ติดลบเหลือ 94,471 ล้านบาท และตัวเลขล่าสุด วันที่15 พฤษภาคม 2566 ฐานะกองทุนน้ำมันฯ ติดลบเหลือ 75,753 ล้านบาท

ปัจจัยหลักที่ทำให้กองทุนน้ำมันฯ มีสภาพคล่องมากขึ้นมาจากสถานการณ์ราคาน้ำมันในตลาดโลกผ่อนคลายลง ราคาน้ำมันสำเร็จรูปดีเซล (Gas Oil) เดือนตุลาคม 2565 ที่เคยสูงถึง 133.84 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล ได้ปรับลดลงมา ในเดือนมีนาคม 2566 ที่ราคา 98.92
เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล เดือนเมษายน 2566 เฉลี่ยลงมาอีกที่ 97.12 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล และล่าสุดช่วง 2 สัปดาห์แรกของเดือนพฤษภาคม (1 –12 พฤษภาคม 2566) ราคาน้ำมันดีเซลก็ยังลดลงเฉลี่ยอยู่ที่ 87.49 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล หรือลดลงเฉลี่ยถึงเกือบ 10 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรลเมื่อเทียบกับเดือนเมษายน

ส่วนอีกปัจจัยคือ ความสามารถในการกู้ยืมเงินมาชำระหนี้ของกองทุนน้ำมันฯซึ่งภายหลังจากกระทรวงการคลังค้ำประกันการกู้ยืมของ สกนช. ทำให้ดำเนินการกู้ยืมเงินได้บวกกับที่ราคาน้ำมันตลาดโลกเริ่มลดลงจึงทำให้กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงเริ่มเรียกเก็บเงินเข้าและมีสภาพคล่องมากขึ้นและได้ลดราคาขายปลีกน้ำมันดีเซลไปแล้วตั้งแต่ต้นปี 2566 ถึง 6 ครั้ง ส่งผลให้ราคาขายปลีกน้ำมันดีเซลจาก 35 บาทต่อลิตร เหลือ 32 บาทต่อลิตร (ณ วันที่ 15 พฤษภาคม 2566)

อย่างไรก็ตาม ปัจจัยคุกคามที่จะมีผลทำให้ราคาน้ำมันกลับมาผันผวนอีกก็ยังเกิดขึ้นอยู่เป็นประจำไม่ว่าจะเป็นการสู้รบระหว่างรัสเซียและยูเครนที่ยังไม่ยุติ การลดอัตรากำลังการผลิตน้ำมันของกลุ่มโอเปกพลัส ความเคลื่อนไหวของธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ที่ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย ความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยน ตลอดจนความขัดแย้งจากประเทศและกลุ่มการสนับสนุนของฝ่ายรัสเซียและยูเครน เช่น จีน สหรัฐฯ กลุ่ม G7 เป็นต้น ทำให้แนวทางการบริหารจัดการกองทุนน้ำมันฯ มีโจทย์สำคัญคือ ต้องเฝ้าติดตามสถานการณ์ต่างๆ อย่างใกล้ชิด โดยบอร์ดบริหารอย่าง คณะกรรมการบริหารกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (กบน.)ได้ประชุมหารือเกือบทุกวันในแต่ละสัปดาห์ เพื่อบริหารจัดการต่อเหตุการณ์ได้ทันท่วงที พร้อมทบทวนแผนรองรับวิกฤตการณ์ด้านน้ำมันเชื้อเพลิงให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน