ThaiPublica > ประเด็นร้อน > เป็นหนี้ต้องมีวันจบ > เป็นหนี้ต้องมีวันจบ (17) 3 ความเข้าใจผิดเรื่องการแก้ไขหนี้

เป็นหนี้ต้องมีวันจบ (17) 3 ความเข้าใจผิดเรื่องการแก้ไขหนี้

11 กันยายน 2023


ซีรีส์ “เป็นหนี้ต้องมีวันจบ” นำเสนอแนวคิด วิธีการแก้ไขปัญหาหนี้ จากผู้เชี่ยวชาญ รวมทั้งประสบการณ์ตรงของลูกหนี้ที่แก้ไขปัญหาหนี้สำเร็จและไม่สำเร็จ ให้กลับมาใช้ชีวิตได้อย่างปกติสุข เพื่อให้ลูกหนี้ที่ยังมีภาระหนี้มีช่องทาง วิธีการแก้หนี้ มองเห็นทางออก มีความหวัง เพื่อเป็นพลังให้ต่อสู้ชีวิตที่ดีขึ้นในอนาคต ซีรีส์นี้ได้รับการสนับสนุนจากธนาคารแห่งประเทศไทย ด้วยความมุ่งมั่นที่จะช่วยเหลือลูกหนี้ภาคประชาชนครบวงจร

ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) หรือแบงก์ชาติ จัดทำโครงการ ‘หมอหนี้เพื่อประชาชน’ ขึ้นเพื่อช่วยเหลือลูกหนี้ ทั้งการให้ข้อมูลและคำแนะนำแก่ลูกหนี้ เกี่ยวกับการบริหารหนี้ และการจัดการด้านการเงินเบื้องต้น รวมถึงคำแนะนำเกี่ยวกับมาตรการและช่องทางในการติดต่อกับสถาบันการเงินเจ้าหนี้ แต่ก่อนที่จะให้บริการเหล่านี้ได้ บรรดาหมอหนี้ก็ต้องเผชิญกับความคาดหวังและความเข้าใจผิดหลายด้าน ที่ต้องสื่อสารและทำความเข้าใจให้ชัดเจน

  • เป็นหนี้ต้องมีวันจบ (11): โครงการ ‘หมอหนี้เพื่อประชาชน’ อีกหนึ่งทางออกปลดภาระหนี้และเป็นไท
  • จรัสวิชญ์ สายธารทอง ผู้ตรวจสอบอาวุโส(ควบ) ฝ่ายคุ้มครองและส่งเสริมความรู้ทางการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย เล่าประสบการณ์ การเป็นหมอหนี้ ว่า เวลาลูกหนี้มีปัญหา แล้วคีย์มาที่ https://app.bot.or.th/doctordebt/ มักจะมีความคาดหวังผิด ๆ ใน 2 เรื่อง คือ

    1. ยืมเงินแบงก์ชาติไปปิดหนี้ นี่คือความไม่ถูกต้อง และมีเรื่องหลอกลวงเข้ามาด้วย เคยเห็นมีการนำโลโก้แบงก์ชาติ พร้อมข้อความ รับปิดหนี้ ทำให้ลูกหนี้ส่วนใหญ่เข้าใจผิดว่า ถ้าสมัครขอคำแนะนำแบงก์ชาติแล้ว แบงก์ชาติจะให้เงินไปปิดหนี้กับเจ้าหนี้ แล้วมาผ่อนกับแบงก์ชาติ รวมทั้ง เหล่ามิจฉาชีพจะหลอกหลวง แบบให้แอดไลน์ แต่ก่อนจะให้กู้ ต้องจ่ายเงินให้เขาก่อน

    ในกรณีที่พบความคาดหวังผิดๆแบบนี้ ก็จะสื่อสารว่า กู้เงินแบงก์ชาติไปปิดหนี้เป็นเรื่องหลอกลวง แบงก์ชาติไม่มีการปล่อยเงินให้ประชาชน อีกประเด็น คือ เวลาเรากู้เงินต้องได้เงิน ไม่มีการกู้เงินแล้วเสียเงิน เช่น กู้ 5,000 บาท แต่ให้โอนก่อน 1,000 บาท ลูกหนี้ต้องไปหาเงินมาโอน นี่เป็นเรื่องหลอกลวงทั้งสิ้น

    2. เวลาลูกหนี้จะกรอกข้อมูลเข้ามา มักจะคิดว่าจะได้ตามที่ลูกหนี้ต้องการ เช่น มีหนี้ที่เดิมต้องจ่ายรายเดือนอยู่ 10,000 บาท แต่ลูกหนี้คีย์มาว่าจ่ายไหวแค่ 3,000 บาท กรณีอย่างนี้ แบงก์ชาติทำหน้าที่เป็นตัวกลาง ก็จะส่งเรื่องไปให้เจ้าหนี้ เพราะคนที่บอกว่า จ่าย 3,000 บาทได้หรือไม่ได้ คือเจ้าหนี้ แต่ในฐานะหมอหนี้ ก็ต้องอธิบายลูกหนี้ว่า เดิมจ่ายหนี้ 10,000 บาท แล้วจะจ่าย 3,000 บาท เป็นไปได้หรือไม่ สมมติว่า 10,000 บาท ประกอบด้วย ดอกเบี้ย 5,000 บาท เงินต้น 5,000 บาท แล้วลูกหนี้จะจ่าย 3,000 บาท แปลว่า ไม่พอที่จะจ่ายดอกเบี้ยเลย ถ้าเป็นแบบนี้ แบงก์จะยอมหรือไม่ หรือถ้าแบงก์ยอมให้ลูกหนี้จ่าย 3,000 บาท แต่ทุกเดือนลูกหนี้จะมีหนี้เพิ่มเดือนละ 2,000 บาท ซึ่งในช่วงโควิด แบงก์ยอมให้ลูกหนี้จ่ายดอกเบี้ยน้อยกว่าที่ควรจะเป็น

    ในกรณีแบบนี้ได้อธิบายลูกหนี้ว่า มันมีภาระ หนี้จะเพิ่มเรื่อย ๆ แต่ถ้าลูกหนี้ไม่ไหวจริง ๆ ก็จะแนะนำให้จ่ายแบบนี้ในระยะเวลาที่สั้นที่สุด ไม่ใช่จ่ายไป 2-3 ปี เพราะลูกหนี้อาจจะชอร์ตเงินแค่ 3 เดือน แต่ถ้านานกว่านี้ก็ต้องหาทางปรับพฤติกรรม หรือหารายได้เพิ่ม ด้วย ไม่เช่นนั้นจะกลายเป็นหนี้ไม่รู้จบ คือเงินต้นไม่ลด ไม่พอ ยังมีหนี้เพิ่มอีก จากดอกเบี้ยที่จ่ายไม่หมด

    จรัสวิชญ์ กล่าวว่า นอกจากความคาดหวังผิด ๆ แล้ว ผู้ที่เข้ามาปรึกษาแบงก์ชาติยังมีเข้าใจผิดบางอย่างด้วย

    อันดับหนึ่ง คือ คำว่ารวมหนี้ โดยลูกหนี้ที่เข้ามาปรึกษามากกว่า 90% อยากรวมหนี้ ซึ่งเป็นประเด็นที่สำคัญมาก ฮิตมาก ที่ต้องอธิบายให้ชัดเจน เนื่องจากตอนนี้ทั้ง Tik Tok หรือ youtube หรือแบงก์ก็ตาม จะชอบโฆษณา สินเชื่อเพื่อการรวมหนี้ ที่ทำให้เข้าใจผิด จึงอยากขออธิบายเรื่องการรวมหนี้ สมมติ เป็นหนี้บัตรเครดิต บัตรกดเงินสด สินเชื่อส่วนบุคคล รวม 10 ที่ ๆ ละ 100,000 บาท รวม 1 ล้านบาท แล้วอยากรวมหนี้ การรวมหนี้หมายถึงว่าต้องหาเงินแหล่งที่ 11 จำนวน 1 ล้านบาท เพื่อมารวม 10 แห่งนี้ แล้วจ่ายที่เดียว แต่มีข้อสังเกตว่า ทำไมใน 10 ที่จึงปล่อยที่ละ 1 00,000 บาท เต็มที่อาจจะ 200,000 บาท แล้วจะมีที่ไหนบ้างที่ปล่อยกู้แบบไม่มีหลักประกัน จำนวน 1 ล้านบาท

    ซึ่งไม่มีทาง เพราะ หนึ่ง แบงก์ชาติกำหนดเกณฑ์ให้แบงก์ หรือผู้ปล่อยสินเชื่อที่ไม่มีหลักประกัน ปล่อยเงินกู้ตามเงินเดือน เช่น เงินเดือน 15,000 บาท จะปล่อยได้ 1.5 เท่าของเงินเดือน เงินเดือน 30,000 บาท ปล่อยได้เพียง 3 เท่าของเงินเดือน เงินเดือน 50,000 บาท ปล่อยได้ 5 เท่า สมมติเงินเดือน 50,000 บาท ก็จะกู้ได้เพียง 250,000 บาท นี่คือเกณฑ์ปัจจุบัน

  • เป็นหนี้ต้องมีวันจบ (15) สกัดหนี้ก่อนเป็น NPL ปรึกษาหมอหนี้เพื่อประชาชน
  • ถ้าไปหาแบงก์ที่ 11 ก็จะได้สินเชื่อเพียง 250,000 บาท แล้วจะรวมหนี้ได้อย่างไร แต่ถ้าสมมติว่าแบงก์ชาติไม่ออกเกณฑ์ ไม่มีเกณฑ์นี้ แล้วมีแบงก์ปล่อยสินเชื่อให้ 1 ล้านบาทตามที่ต้องการ เดิมกู้บัตรเครดิต ดอกเบี้ย 16% หรือสินเชื่อส่วนบุคคล แบงก์ที่ 1 คิด 25% ไปแบงก์ที่ 11 ก็คิด 25% ถามว่า อะไรคือประโยชน์ของการรวมหนี้ เดิมกู้ 10 ที่ จ่ายดอกเบี้ย 25% กับจ่าย 1 ที่ กู้ 1 ล้านบาท ก็จ่ายดอกเบี้ย 25% ประโยชน์ของการรวมหนี้คืออะไร ลูกหนี้ก็ตอบว่า อ๋อ ก็เอาไปจ่ายที่เดียว ก็ได้ถามกลับว่า ถ้าเป็นเมื่อ 10 หรือ 20 ปีที่แล้ว มาตอบอย่างนี้ได้ เพราะต้องไปจ่ายที่ธนาคาร มีค่าใช้จ่ายค่ารถ ค่าเสียเวลา ในการไปธนาคาร แต่ปัจจุบันจ่ายทางมือถือ ดอกเบี้ย 25% แต่เป็นเบี้ยหัวแตก แหล่งที่ 11 ให้กู้ 1 ล้านบาท คิด 25% เหมือนกัน มีประโยชน์หรือไม่ที่จะทำอย่างนั้น พอชี้ว่าไม่มีประโยชน์ ก็มาข้อสอง คือ มันเป็นไปไม่ได้ เพราะว่าแบงก์ไม่ให้วงเงินขนาดนั้น ก็ต้องปิดประตูวิธีนี้ไปเลย แล้วบอกเขาว่า จริง ๆ แล้วปัญหาของคุณไม่ได้อยู่ที่อยากรวมหนี้ แต่ปัญหาอยู่ที่ สมมติ แต่ละเดือนจ่าย 10,000 บาท แล้วปัจจุบันจ่ายไหวแค่ 5,000 บาท ปัญหาอยู่ตรงนี้มากกว่า การรวมหนี้จึงเป็นไปไม่ได้

    “ส่วนที่ว่า ทำไมแบงก์ยังโฆษณาสินเชื่อเพื่อการรวมหนี้ กรณีนี้ใช้สำหรับผู้ที่กู้ไม่เต็มแม็กซ์ เช่น มีเงินเดือน 50,000 บาท สามารถกู้ได้ 5 เท่า คือ 250,000 บาท เดิมอาจจะมีหนี้อยู่ 150,000 บาท สมมติกู้ 3 ที่ ๆ ละ 50,000 บาท ดอกเบี้ย 25% ทั้งสามที่ บางแบงก์มีโปรโมชั่นว่า มารวมหนี้ที่แบงก์เขา จะคิดดอกเบี้ย 20% หรือต่ำกว่า 25% กรณีนี้ ได้ดอกเบี้ย 20% ถูกกว่า แบบนี้สมควรทำ คำตอบการรวมหนี้ จึงเป็นว่า ถ้าสามารถหาแหล่งเงินที่ดอกเบี้ยถูกกว่าได้ แล้วรวมหนี้ได้ ก็ไม่ขัด ทำได้ แต่ส่วนใหญ่ลูกหนี้จะกู้เต็ม สมมติกู้ได้ 250,000 บาท ก็กู้ 250,000 บาท จำนวน 10 ที่ ก็ 2.5 ล้านบาท การไปหาแหล่งเงินที่จะรวมหนี้ 2.5 ล้านบาทที่ไม่มีหลักประกัน มันเป็นไปไม่ได้ และเป็นประเด็นที่คนเข้าใจผิดกันอันดับ 1”

    อันดับสอง คือ ให้แบงก์ชาติไปดำเนินการให้ ก็จะบอกลูกหนี้ว่า ลูกหนี้ต้องไปคุยกับเจ้าหนี้ แต่ก็เข้าใจลูกหนี้นะ เพราะเวลาเขาจ่ายไม่ไหว แล้วไปคุยกับแบงก์ แบงก์จะบอกว่า ได้ หรือ ไม่ได้ แต่ไม่อธิบายว่า ทำไม หรือลูกหนี้จะบอกว่า คุยกับแบงก์แล้ว แบงก์บอกว่าไม่ช่วย ไม่มีนโยบาย ก็ต้องถามกลับว่า คุยกับแบงก์น่ะ คุยกับใคร คนที่โทรมาทวงหนี้หรือเปล่า เขาก็บอกว่า ใช่ คือเวลาค้างชำระ แบงก์ก็จะโทรมา เมื่อไหร่จะจ่าย ลูกหนี้ก็จะบอกว่า จ่ายไม่ได้ จะทำอย่างไรได้บ้าง เขาก็บอกว่า ไม่มีนโยบาย ลูกหนี้ก็คิดว่า แบงก์ไม่ได้ช่วยเหลือ คือ เขาคุยผิดคน ซึ่งถ้าลูกหนี้มาปรึกษาหมอหนี้ก่อน ก็จะอธิบายว่า บริบทคุณเป็นแบบนี้ แบงก์น่าจะให้ได้ประมาณเท่านี้ และถ้าต่อรองเพิ่มขึ้น ก็อาจจะได้เพิ่มขึ้น โดยอธิบายหลักการและเหตุผล แล้วเขาก็ใช้หลักการและเหตุผลเราไปคุยกับแบงก์อีกที

    ส่วนลูกหนี้ที่คุยกับคนทวงหนี้ ก็ต้องให้ความรู้ลูกหนี้ ว่าคนทวงหนี้มีหน้าที่ทวงหนี้อย่างเดียว ไม่มีหน้าที่ปรับโครงสร้างหนี้ การคุยกับแบงก์ก็ต้องดูหลังบัตร เบอร์โทรอะไร แล้วโทรไป ซึ่งก็พบว่า พอโทรหาคอลล์เซ็นเตอร์ไม่ติด หรือรอสายนาน ก็ขี้เกียจโทร ทั้งที่เป็นเรื่องผลประโยชน์ของลูกหนี้ เขาต้องอดทน บางครั้งโทรไปแล้ว แบงก์บอกว่าจะติดต่อกลับ แล้วไม่ได้ติดต่อกลับมา แต่เมื่อเป็นผลประโยชน์ของลูกหนี้ ก็ต้องติดตาม โทรถามแบงก์ว่า ที่คุยกันไปแบงก์ว่าอย่างไร มีกรณีลูกหนี้คิดว่าติดต่อแบงก์เสร็จ ก็คิดว่าได้แล้ว ตัวอย่างเดิม ลูกหนี้จ่าย 10,000 บาท แล้วโทรบอกแบงก์ว่า ไม่ไหว อยากจ่าย 5,000 บาท แบงก์บอก โอเค เดี๋ยวรอพิจารณาก่อน สมมติติดต่อไปวันที่ 21 แล้ววันที่ 30 ตามสัญญาต้องจ่าย 10,000 บาท และแบงก์ยังไม่ตอบกลับ แต่ลูกหนี้เข้าใจว่า แบงก์โอเคแล้ว และจ่ายเพียง 5,000 บาท ก็ยังผิดสัญญาเหมือนเดิม กลายเป็นค้างชำระ ส่วนใหญ่จะเป็นอย่างนี้ ลูกหนี้จึงควรติดตามแบงก์ ถ้าเวลาผ่านไปนาน 7 วัน 14 วัน ต้องรีบติดตาม เพราะเป็นผลประโยชน์ของลูกหนี้ แล้วก็ต้องอดทน เวลาแบงก์ไม่ติดต่อกลับ ก็โทรตามอยู่อย่างนั้น โทรหาหลายครั้งแล้วทำไมเรื่องไม่คืบหน้า และถ้าแบงก์บ่ายเบี่ยง ไม่ดำเนินการให้ ก็สามารถโทรแจ้งแบงก์ชาติได้แจ้งข้อเท็จจริงเข้ามา

    อันดับสาม คือ เมื่อลูกหนี้จ่ายไม่ได้ แล้วคนทวงหนี้บอกว่า ถ้าไม่จ่ายก็ฟ้อง ไปคุยกันที่ศาล ลูกหนี้ก็คิดว่า จะไปขอความเมตตาจากศาล ซึ่งต้องอธิบายลูกหนี้ว่า ถ้าติดเงิน 10,000 บาท แล้วคุยกับแบงก์ว่าจ่ายไม่ได้ ขอจ่ายแค่ 5,000 บาท แบงก์ไม่ยอม ตกลงกันไม่ได้ แบงก์ไปฟ้องศาล เรียกร้องสิทธิ์เต็มตามสัญญา คือ 10,000 บาท คิดว่าศาลจะตัดสินให้ลูกหนี้จ่ายแบงก์แค่ 5,000 บาทหรือไม่ หรือถ้าศาลตัดสินให้ลูกหนี้จ่ายแบงก์ 5,000 บาท เจ้าหนี้จะยอมหรือไม่ เพราะฉะนั้น คนที่ยอม ไม่ใช่ศาล แต่เป็นเจ้าหนี้ เพราะสิทธิ์ของเจ้าหนี้คือ 10,000บาท คำถามคือ เจ้าหนี้ยอมลดทอนสิทธิ์ของตนเองลงมาหรือไม่ อยู่ที่เจ้าหนี้

    จรัสวิชญ์ กล่าวว่า สาเหตุที่แบงก์ชาติต้องเข้ามาดูแลหนี้รายย่อย เพราะลูกหนี้กลุ่มนี้ไม่มีคนดูแล เพราะแบงก์ปล่อยสินเชื่อรายย่อย โดยการตั้งเกณฑ์ไว้ ถ้าคุณสมบัติเข้าเกณฑ์ก็ให้กู้ คือ ดูเป็นพอร์ต ขณะที่หนี้ธุรกิจจะดูเป็นราย ๆ ถ้ารายใดค้างชำระ ก็จะมี Relationship Manager เข้ามาดูว่าไหวไหม แต่ถ้าเป็นรายย่อยจะไม่มีตรงนี้ แบงก์ชาติจึงเข้ามาเป็นตัวกลางในการพูดคุยและให้คำแนะนำแนวทางต่าง ๆ และให้รายย่อยได้รู้แนวคิดของแบงก์ วิธีการคิดดอกเบี้ยของแบงก์ วิธีการปรับโครงสร้างหนี้ ซึ่งเรื่องเหล่านี้แบงก์จะไม่มาอธิบายให้รายย่อยฟัง บอกเพียงแค่ว่าทำได้หรือไม่ได้ พอแบงก์ชาติอธิบาย รายย่อยก็นำแนวทางเหล่านั้นไปคุยกับแบงก์

    “คือเราเข้าใจทั้งแบงก์ และลูกหนี้ และหาวิธีที่จะประนีประนอม ในฐานะที่อยู่ตรงกลางระหว่างแบงก์กับลูกหนี้ เพราะแบงก์อยากได้เต็ม 100 แน่นอน แต่ลูกหนี้จ่ายได้เพียง 10 ทำให้คุยกันลำบาก โดยเจ้าหนี้อาจต้องขยับลงมาหน่อย ลูกหนี้ก็ต้องขยับขึ้นด้วย อาจไม่ถูกใจเจ้าหนี้ กับลูกหนี้ แต่ไม่ทำก็ไม่เจอกัน ต้องไปเจอกันที่ศาล กลายเป็นตราบาปลูกหนี้ ถ้ามีรถ มีบ้าน มีเงินเดือน ก็ตามไปยึด ไปอายัดได้”

    จรัสวิชญ์ กล่าวว่า หน้าที่ของหมอหนี้ ของแบงก์ชาติ คือ การให้คำปรึก ให้ความรู้ บอกทุกอย่างที่เป็นไปได้ แต่จะทำหรือไม่ขึ้นกับลูกหนี้ และถ้าทำตามคำแนะนำ อาจไม่ได้อย่างที่คิด แต่เบาลงแน่นอน ภาระลดลง แต่ก็มีกรณีที่แก้ยากที่สุด คือ ลูกหนี้ไม่มีเงินจ่ายเลย ก็ไม่รู้จะทำอย่างไร และในฐานะหมอหนี้ที่ให้คำปรึกษามาได้ระยะหนึ่งแล้ว พบว่า พฤติกรรมคนไทย ถ้าใช้ระบบเพื่อน เพื่อนมายืมตังค์ บอกว่าจะคืนสิ้นเดือน ถึงเวลาไม่คืน พอทวงก็บอกไม่มี แต่ถามว่าอยากทวงมั้ย เราก็ไม่อยากทวง ถ้าจ่ายไม่ได้ก็อยากให้เพื่อนเดินมาบอกว่าจ่ายไม่ได้ทั้งหมด ขอจ่ายเท่านั้นเท่านี้ก่อนได้หรือไม่

    ฉะนั้น ทางที่ดีที่สุด คือ ไปคุยกับเจ้าหนี้ แล้วหาทางออกร่วมกัน และการคุยกับแบงก์อาจจะยาก แบงก์ชาติในฐานะที่อยู่ตรงกลาง สามารถมาปรึกษาได้ ผ่านโทร 1213 หรือ หมอหนี้

    จรัสวิชญ์ กล่าวด้วยว่า ปัจจุบันพฤติกรรมการเป็นหนี้ของรายย่อย ที่ 90% เป็นหนี้บัตรกดเงินสด บัตรเครดิต นอกจากจะรูดเพื่อใช้จ่ายฟุ่มเฟือย เช่น เที่ยวต่างประเทศ กินของหรู ของแพง เพียงเพื่อโพสต์ลง เฟซบุ๊ค หรือ ไอจี ยังมีอีกประเภท คือ เอาไปลงทุน เพราะอยากมีรายได้เพิ่ม ซึ่งไม่ผิด แต่อยากให้ฉุกคิดว่า ถ้ามีแผนลงทุน สมมติกู้ 100,000 บาท แล้ววาดฝันว่า จะงอกเงยกลายเป็น 200,000-300,000 บาท แต่ขณะเดียวกัน ต้องคิดด้วยว่า ถ้าไม่เป็นอย่างที่คิดไว้ จะเอาเงินที่ไหนมาจ่ายหนี้ การคิดแบบนี้เรียกว่า การคิดแบบบริหารความเสี่ยง หรือ risk management คือ จะคิดบวกด้านเดียวไม่ได้ ต้องคิดลบด้วยว่าถ้าไม่เป็นอย่างที่เราคิด จะทำอย่างไร เพราะเงินที่ใช้ไม่ใช่เงินเย็น ถ้าเป็นเงินเย็นของเรา เอาไปลงทุน 100,000 บาท ขาดทุนก็แค่ศูนย์ แต่ถ้าไปกู้มา แล้วกลายเป็นศูนย์ จะจ่ายเงินคืนอย่างไร เพราะเงินที่ใช้ลงทุนเป็นเงินกู้

  • เป็นหนี้ต้องมีวันจบ (6) : คลินิกแก้หนี้ ช่วยคนเป็นหนี้เสียบัตรเครดิต สินเชื่อบุคคลกลับมายืนได้