ThaiPublica > ประเด็นร้อน > เป็นหนี้ต้องมีวันจบ > เป็นหนี้ต้องมีวันจบ (15) สกัดหนี้ก่อนเป็น NPL ปรึกษาหมอหนี้เพื่อประชาชน

เป็นหนี้ต้องมีวันจบ (15) สกัดหนี้ก่อนเป็น NPL ปรึกษาหมอหนี้เพื่อประชาชน

4 กันยายน 2023


ซีรีส์ “เป็นหนี้ต้องมีวันจบ” นำเสนอแนวคิด วิธีการแก้ไขปัญหาหนี้ จากผู้เชี่ยวชาญ รวมทั้งประสบการณ์ตรงของลูกหนี้ที่แก้ไขปัญหาหนี้สำเร็จและไม่สำเร็จ ให้กลับมาใช้ชีวิตได้อย่างปกติสุข เพื่อให้ลูกหนี้ที่ยังมีภาระหนี้มีช่องทาง วิธีการแก้หนี้ มองเห็นทางออก มีความหวัง เพื่อเป็นพลังให้ต่อสู้ชีวิตที่ดีขึ้นในอนาคต ซีรีส์นี้ได้รับการสนับสนุนจากธนาคารแห่งประเทศไทย ด้วยความมุ่งมั่นที่จะช่วยเหลือลูกหนี้ภาคประชาชนครบวงจร

ทรงพล เป็นตัวอย่างหนึ่งของผู้เป็นหนี้บัตรเครดิตหลายใบ แต่เมื่อรายได้ลดลงจากปัญหาการระบาดของโรคโควิด ทำให้เขาเริ่มประเมินตัวเอง และพบว่าอีกไม่นานจะไม่สามารถชำระหนี้ได้ และกลายเป็นหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) ซึ่งเขาไม่ต้องการให้ไปถึงจุดนั้น ประกอบกับได้พบโครงการหมอหนี้เพื่อประชาชน ของธนาคารแห่งประเทศไทย จึงเข้าขอรับคำปรึกษา เพราะอยากจะจบหนี้ที่มีอยู่ให้ได้

ทรงพล อยู่ในวัยเกษียณ เปิดร้านซ่อมนาฬิกาและทำลูกกุญแจ มาได้ 11 ปี ถือบัตรเครดิต 5 ใบ มีทั้งของธนาคารกรุงศรีอยุธยา ซิตี้แบงก์ กสิกรไทย กรุงไทย และยูโอบี สำหรับใช้จ่ายและซื้อวัตถุดิบ เช่น ลูกกุญแจ เข้าร้าน มีการชำระค่าบัตรตามปกติมาตลอด จนกระทั่งวันหนึ่ง เมื่อภรรยาเป็นโรคมะเร็ง จึงเริ่มรูดบัตรมาใช้ในการรักษา ประกอบกับเกิดการระบาดของโควิดทำให้ลูกค้าน้อยลง รายได้ลด ต้องใช้บัตรกดเงินสดมาชำระหนี้ค่าบัตรเครดิต วนเวียนไปจนเป็นหนี้รวม 3 แสนกว่าบาท

“ผมใช้บัตรเครดิตมาได้ประมาณ 20 ปีขึ้นไป บางบัตรก็ 30 ปีขึ้น ไม่เคยมีปัญหา มามีปัญหาปี 2565 เงินที่เก็บสะสมไว้เอามาจ่ายค่าบัตรเครดิต ปัจจุบันก็ไม่มีค่าใช้จ่ายอื่นนอกจากของจำเป็น จ่ายค่าน้ำมันรถ ซื้อกุญแจมาในร้านเพื่อทำธุรกิจ เช็คประวัติได้เลย ไม่ได้ใช้จ่ายสุรุ่ยสุร่ายเลย ปัญหาเริ่มต้นที่ลูกค้าน้อยจากโควิด ทำให้เงินเริ่มไม่พอ เผอิญไปเจอกับหมอหนี้ของแบงก์ชาติ ผมโทรไปปรึกษา ทางเจ้าหน้าที่ก็โทรมาคุยกับผม ให้ไปปรับโครงสร้างหนี้กับธนาคาร เวลานี้ก็ติดต่อกันอยู่”

ทรงพล เล่าว่า ปัจจุบันเป็นหนี้รวม 3 แสนกว่าบัตรจากหลายบัตร มีการผ่อนชำระอยู่ แต่เพียง 10% ของวงเงินหนี้ ต่อมาลดเหลือ 5% เพราะโควิดทำให้เงินเริ่มตึง และดูแล้วไม่เกิน 2-3 เดือนนี้จะมีปัญหาหนี้เสีย ถือเป็นการมองในกรณีเลวร้ายที่สุด เพราะรายได้เหลือเพียงเดือนละ 3 หมื่นกว่าบาท แต่มีค่าใช้จ่ายในบ้าน ช่วยลูกผ่อนบ้านด้วย เงินตึงขึ้น ส่วนทรัพย์สินที่มีก็ขายมาตลอด ตอนภรรยาเป็นมะเร็ง ได้ขายรถส่วนตัวไป 2 คันเพื่อใช้เป็นค่ารักษา ต่อมาขายบ้าน ไม่ใช่ว่ามีสินทรัพย์แล้วไม่ขาย ขายแล้วเพราะไม่อยากให้ใครมาว่า ว่าเบี้ยวหนี้

  • เป็นหนี้ต้องมีวันจบ (3) : ธปท. คุ้มครองผู้ใช้บริการทางการเงินให้ได้รับความเป็นธรรม
  • ส่วนการหารายได้เพิ่มก็ยาก เพราะอายุมาก และไม่ถนัดเรื่องออนไลน์ เวลาขอแบ่งงานมาก็ต้องเดินทางไกล ไปไม่ไหว งานตามห้างก็น้อยลง ร้านที่เคยแบ่งงานมาให้ ก็ไม่ได้แบ่งงานมาให้อีก จากเดิมมีการส่งงานให้เพราะทำไม่ทัน และเศรษฐกิจแบบนี้เรียกราคาแพงไม่ได้เลย ทั้งที่ลูกกุญแจราคาเพิ่มขึ้นมา 40% ทำกุญแจตอนนี้ 30 บาทลูกค้ายังบ่นว่าแพงเลย ช่วงเศรษฐกิจไม่ดี ทำให้ขึ้นราคาไม่ได้ คู่แข่งก็เยอะ ส่วนครอบครัวต่างก็มีภาระ ภรรยาก็ไม่ได้ทำงานแล้วเพราะทำไม่ไหว เป็นมะเร็ง ลูกก็ไม่ได้ให้มายุ่ง พยายามช่วยเหลือตัวเองให้เต็มที่ก่อน

    ทรงพล กล่าวว่า สาเหตุที่ปรึกษาโครงการหมอหนี้ของแบงก์ชาติ เพราะเห็นโฆษณา เลยแอดไลน์ไป และสอบถาม เจ้าหน้าที่ก็ติดต่อมา เลยคุยให้เขาฟังว่าสถานการณ์เป็นอย่างไร ก็โอเคจะเข้าโครงการปรับโครงสร้างหนี้ แต่ก่อนหน้าที่จะเจอกับหมอหนี้ ทางธนาคารไม่ได้ติดต่อกลับมาเลย

    “ผมเองก็ไม่ได้คุยกับเจ้าของบัตร เพราะไม่รู้อะไรเลย ไม่รู้เรื่องการปรับโครงสร้างหนี้ รู้แต่เรื่องงานที่เราทำ ทำให้ทิ้งมาหลายเดือนอยู่ จนเจอหมอหนี้ ปรึกษากัน ผมก็ติดต่อไปที่แบงก์ขอปรับโครงสร้างหนี้กับทุกแห่ง โดยดูว่าแต่ละแห่งจะเสนออะไรบ้าง อันไหนทำได้ก็รับ อันไหนทำไม่ได้ จะฟ้องก็ต้องฟ้อง แต่ขอคุยกันก่อน คุยแล้วจะฟ้องก็ต้องยอมให้ฟ้อง แต่ถ้าได้รับการปรับโครงสร้าง สามารถยืดระยะเวลาให้ได้ใน 5 ปี จะทำให้ผ่อนได้แบบสบาย ๆ คือ จ่ายรวมทุกบัตรเดือนละ 1 หมื่นกว่าบาทพอได้ อย่างน้อยไม่ต้องบีบคั้นตัวเองมาก แต่ถ้าเดือนไหนมีมาก ก็จ่ายให้มากขึ้น คิดอย่างนี้”

    ทรงพล กล่าวว่า หลังจากได้รับคำแนะนำจากหมอหนี้แล้ว ก็เริ่มติดต่อธนาคาร ที่ได้รับการติดต่อกลับมาแล้ว คือ ซิตี้แบงก์ ส่วนธนาคารอื่น ๆ ติดปัญหาเรื่องคอลล์เซ็นเตอร์ที่โทรไปแล้วรอสายนานมาก บางสาย 20 นาที บางสายเกือบชั่วโมง รอไม่ไหว และมีบางแห่งเริ่มขยายเวลาชำระหนี้ให้แล้ว แต่ยังไม่ได้ตามเป้าที่วางไว้ ก็จะเจรจาต่อไปเพื่อยืดหนี้ให้ได้ 4-5 ปี

    “กรณีซิตี้แบงก์ ก็ทำตามที่แบงก์ชาติแนะนำคือให้คุยกับแบงก์ดู แบงก์เสนออะไร เรารับได้หรือไม่ อย่าไปรับหมด 100% ผมไม่ท้อ แต่อยากจบด้วยดี ไม่ใช่จบแบบมองหน้ากันไม่ติด เขาก็ดีกับเรามาตลอด ถ้าปรับโครงสร้างหนี้แล้วจบหนี้ได้ ไม่ต้องมีบัตรเครดิตเลยก็ได้ จะปิดบัตรไปเลยก็ได้ ถ้าเหลือก็ดี แต่ไม่ได้ก็ไม่ว่ากัน เพียงแต่พอเป็นหนี้ก็ยอมรับสภาพว่าเป็นหนี้”

    ทรงพล กล่าวว่า ไม่อยากเครียดกับหนี้ที่มีอยู่ อยากให้จบ อย่างน้อยไม่เป็นเอ็นพีแอล และยังมีความสัมพันธ์ที่ดีต่อธนาคารที่ใช้บัตรอยู่ เพราะแต่ละใบไม่ได้ใช้แค่ปีสองปี แต่ 20-30 ปีขึ้นไป ไม่อยากให้เสียความรู้สึกต่อกัน แบงก์เขาดีกับเรามาตลอด และ…

    โครงการหมอหนี้มีประโยชน์ เขาให้คำปรึกษา บางทีเราถึงทางตันก็ให้คำปรึกษาเราได้ บางคนเขารู้ไม่จริง เกิดให้คำแนะนำจากดำเป็นขาว จากขาวเป็นเทา แล้วเราดันไปเชื่อในสิ่งที่ผิด ๆ ปัญหาจะตามมาเยอะมากอยากเชื่อในสิ่งที่ถูกที่สุดดีกว่า