ThaiPublica > ประเด็นร้อน > เป็นหนี้ต้องมีวันจบ > เป็นหนี้ต้องมีวันจบ (16) แบงก์ชาติยึดแนวทางแก้หนี้ที่ win-win ทั้งลูกหนี้และเจ้าหนี้

เป็นหนี้ต้องมีวันจบ (16) แบงก์ชาติยึดแนวทางแก้หนี้ที่ win-win ทั้งลูกหนี้และเจ้าหนี้

7 กันยายน 2023


ซีรีส์ “เป็นหนี้ต้องมีวันจบ” นำเสนอแนวคิด วิธีการแก้ไขปัญหาหนี้ จากผู้เชี่ยวชาญ รวมทั้งประสบการณ์ตรงของลูกหนี้ที่แก้ไขปัญหาหนี้สำเร็จและไม่สำเร็จ ให้กลับมาใช้ชีวิตได้อย่างปกติสุข เพื่อให้ลูกหนี้ที่ยังมีภาระหนี้มีช่องทาง วิธีการแก้หนี้ มองเห็นทางออก มีความหวัง เพื่อเป็นพลังให้ต่อสู้ชีวิตที่ดีขึ้นในอนาคต ซีรีส์นี้ได้รับการสนับสนุนจากธนาคารแห่งประเทศไทย ด้วยความมุ่งมั่นที่จะช่วยเหลือลูกหนี้ภาคประชาชนครบวงจร

หลายคนที่มีปัญหาหนี้ที่แก้ไม่ตก อาจจะเพราะพฤติกรรมการใช้จ่ายฟุ่มเฟือย หรือจากความจำเป็นในชีวิต เช่น ครอบครัวเจ็บป่วย ต้องใช้เงินในการรักษาพยาบาล จนต้องกดเงินสดจากบัตรเครดิต หรือใช้สินเชื่อส่วนบุคคล มาปะทะปะทังปัญหาที่มีอยู่ โดยไม่คาดคิดว่า ปัญหาจะพัวพันกลายเป็นหนี้ก้อนโตแทน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จึงเปิดโครงการหมอหนี้เพื่อประชาชนขึ้น เพื่อเป็นช่องทางในการขอรับคำปรึกษาและแนะนำการแก้ปัญหาหนี้ ทั้งหนี้ประชาชนรายย่อยและธุรกิจเอสเอ็มอี

ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดโครงการหมอหนี้เพื่อประชาชนขึ้น เพื่อเป็นช่องทางในการขอรับคำปรึกษาและแนะนำการแก้ปัญหาหนี้ ทั้งหนี้ประชาชนรายย่อยและธุรกิจเอสเอ็มอี

  • เป็นหนี้ต้องมีวันจบ (1) : ธปท. จับมือหลายภาคส่วน แก้หนี้ครัวเรือนอย่างยั่งยืน เน้นคุณภาพชีวิต
  • บุญเที่ยง ภูมี เล่าถึงความเป็นมาของการเป็นผู้ทรงคุณวุฒิให้คำปรึกษาด้านหมอหนี้ ว่า ด้วยประสบการณ์ในฐานะทำงานเป็นผู้ตรวจสอบของแบงก์ชาติ ที่ตรวจสอบธนาคารพาณิชย์ ทำให้เห็นแนวทางการแก้ไขหนี้ของสถาบันการเงิน โดยฝั่งสถาบันการเงินจะมีความรู้ด้านนี้อยู่แล้ว ในฐานะเจ้าหนี้ แต่ฝั่งลูกหนี้ เวลาเจรจาจะไม่มีทักษะด้านนี้ ไม่มีประสบการณ์ด้านนี้ ก็จะนำประสบการณ์เหล่านี้มาสนับสนุนลูกหนี้ในการเข้าไปเจรจา

    โดยจะให้คำแนะนำแนวทางการแก้ไขปัญหาหนี้ เทคนิคที่จะพอรับกันได้ระหว่างเจ้าหนี้กับลูกหนี้ ในลักษณะได้ประโยชน์ทั้งสองฝ่าย หรือ win-win ทั้งคู่ คือ ไม่ได้ต่อรองเอาเยอะเกินไป หรือได้เยอะเกินไป

    แนวทางการแก้หนี้นั้น ยึดประโยชน์ของสองฝ่าย ก็คือ ฝั่งเจ้าหนี้ถ้าเขาแก้ไขหนี้ให้ลูกหนี้ แน่นอนต้องมีทางเลือกว่าทำไมต้องปรับปรุงโครงสร้างหนี้ให้ลูกหนี้ ต้องเทียบทางเลือกว่า ถ้าไม่ปรับโครงสร้างหนี้ ทางเลือกหนึ่ง คือ การฟ้องร้อง บังคับคดี แต่ถ้าเห็นทางเลือกว่าการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ดีกว่า ก็ควรปรับปรุงโครงสร้างหนี้ให้กับลูกหนี้ แสดงว่าได้ประโยชน์ ส่วนฝั่งลูกหนี้ ถ้าไม่ปรับปรุงโครงสร้างหนี้ ลูกหนี้ก็จะถูกฟ้องร้อง ดำเนินคดี ถูกแบล็กลิสต์ ลูกหนี้อยู่ยากไป แต่ถ้าปรับโครงสร้างหนี้ ลูกหนี้ก็ดำรงชีวิตอยู่ได้ ใช้ชีวิตอยู่ได้ ถ้าใครทำธุรกิจก็สามารถประกอบธุรกิจต่อได้ คือทั้งสองฝั่งได้ไปคู่กัน

    บุญเที่ยง กล่าวว่า ในการให้คำแนะนำเวลาลูกหนี้เข้ามาขอรับคำปรึกษานั้น อย่างแรก คือ ต้องเห็นโครงสร้างภาระหนี้ ว่า เป็นหนี้ประเภทไหน และดูความสามารถของลูกหนี้ ด้วยการสอบถามลูกหนี้ว่ามีกำลังเท่าไหร่ ส่งได้เท่าไหร่ เอาตรงนี้เป็นตัวตั้ง ดูโครงสร้างภาระหนี้ว่าสอดคล้องกับรายได้อย่างไร เช่น รายได้ที่สามารถส่งได้มีกำลังแค่ 1 หมื่นบาท วิธีการก็จะมี 2 ทาง ที่จะผ่อนเงื่อนไขให้ลงมาได้ให้เหลือ 1 หมื่นบาท คือ หนึ่ง สถาบันการเงินขยายเวลาผ่อนชำระหนี้ออกไปให้ลูกหนี้ สอง เมื่อลูกหนี้มีปัญหา และตั้งใจแก้ปัญหาหนี้ ไม่ได้หนี นอกจากขยายเวลาชำระหนี้แล้ว สถาบันการเงินควรลดอัตราดอกเบี้ยให้ด้วย

    บุญเที่ยง กล่าวด้วยว่า บางครั้งลูกหนี้ที่มาขอรับคำปรึกษาเหมือนเจอทางตัน ในมุมมองส่วนตัว ก็ขอให้แก้หนี้ที่มีก่อนอยู่ ไม่ควรก่อภาระหนี้เพิ่ม และไม่แนะนำให้กู้นอกระบบดอกเบี้ยอัตราสูงมาแก้หนี้ แก้หนี้ที่มีอยู่ เจรจาแก้หนี้ก้อนนี้พอ ไม่ต้องสร้างภาระอย่างอื่น ไม่ต้องไปหากู้เงิน เอาญาติพี่น้องไปค้ำประกัน เอาทรัพย์สินพี่น้องไปค้ำประกัน

    “ที่ผ่านมา จะแก้หนี้ด้วยวิธีที่ผิด คือก่อหนี้เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ วันสุดท้ายก็ไปถึงทางตัน จากหนี้ 1 ล้านบาทก็เป็น 4-5 ล้านบาท เพราะเพิ่มหนี้ไปเรื่อย ๆ ฉะนั้น หนี้ 5 แสนบาทก็แก้ตรง 5 แสนบาท เจรจากับเจ้าหนี้ตามกำลัง และส่วนหนึ่งก็ต้องให้เรามีเงินเหลือพอที่จะดำรงชีวิตอยู่ได้ ครอบครัวอยู่ได้ คือต้องเห็นแสงที่ปลายอุโมงค์ คือ ถ้าผ่อนแต่ดอกเบี้ย เงินต้นไม่ลดเลย ไม่ไหว มันไม่เห็นแสง เหมือนอยู่กลางทะเล อย่างนี้ผมไม่แนะนำ ให้เขาเลือกเอา ถ้าเจ้าหนี้ไม่ลดให้ เราจะเลือกเดินทางไหน ถ้าให้ผ่อนแค่ดอกเบี้ยเฉย ๆ หนี้เงินต้นเท่าเดิม มันไม่ไหว ชีวิตเราก็อยู่ไม่ได้ ก็ต้องเลือกเอา ถ้าเราเสนอว่า ขยายเวลา ลดดอกเบี้ยให้ ถ้าส่งตามนี้ จะเห็นแสงสว่างนะ เรารับไหวมั้ย ก็เดินตามนั้น”

    สำหรับลูกหนี้ที่มารับคำปรึกษา บุญเที่ยง กล่าวว่า มีทั้งลูกหนี้บัตรเครดิต บัตรกดเงินสด และลูกหนี้ธุรกิจ โดยลูกหนี้ธุรกิจจะยากนิดหนึ่ง แต่ก็เข้าใจได้ว่า ธุรกิจจะมีช่วงขาขึ้น ขาลง ช่วงโควิดก็จะหนักกว่า ขณะที่ปัญหาของมนุษย์เงินเดือนจะไม่ซับซ้อนเท่า แก้ไม่ยาก ถ้าเงินเดือนลดลงเล็กน้อย หรือลดโบนัส เงินเดือนลดลงจาก 2 หมื่นบาทเหลือ 1.5 หมื่นบาท ก็จะจัดสรรให้ได้ง่ายกว่า

    โดยจะมี 2-3 ทาง หนึ่ง การหารายได้เพิ่ม สองลดค่าใช้จ่าย บางเรื่องลูกหนี้รู้ตัวเองดีกว่าเรา บางครั้งการแก้หนี้ไม่ได้มีเพียงขยายเวลาชำระหนี้ออกไป แต่มีทรัพย์บางตัวที่เปลี่ยนจากผ่อน มาเป็นเช่าแทนได้ ก็เป็นช่องทางหนึ่ง บางคนปัญหาหนักจริง ๆ เช่น มีคอนโดมีเนียม 5-6 ยูนิต มูลค่า 20-30 ล้านบาท แต่เงินเดือน 5-6 หมื่นบาท เดิมมีรายได้จากค่าเช่าในส่วนคอนโดมีเนียม ถ้าปล่อยอย่างนี้ ก็แก้หนี้ไม่ได้ ก็มีทางเดียว คือขอโอนคอนโดฯ มาให้เจ้าหนี้ ปกติเวลาเจ้าหนี้จะดำเนินคดีกับลูกหนี้ ก็เพื่อยึดหลักประกันไปขาย แต่เราโอนให้เลย เจ้าหนี้ไม่ต้องฟ้องร้อง แล้วเขาสามารถหาคนเช่าต่อได้เลย และลูกหนี้ก็ไม่มีทรัพย์สินอื่นแล้ว คือ เปิดเผยข้อมูลด้วยความจริงใจทั้งสองฝ่าย ลูกหนี้ก็ไม่มีทรัพย์สินอย่างอื่น มีเงินเดือน 5-6 หมื่นบาท แต่ถ้าแก้ปัญหาด้วยการไม่โอนคอนโดฯ ก็ไม่ได้ ทั้งที่มีหนี้ 20 กว่าล้านบาท มันก็ไปกันไม่ได้ เราก็ต้องบอกวิธีเขา ให้เขาไปเสนอแบงก์อย่างนี้ ขอให้โอน เพราะถ้ามีคอนโดฯ 20 กว่าล้านบาท และมีหนี้บัตรเครดิต 5-6 แสนบาท มันแก้ไขได้

    “นอกจากนี้ ลูกหนี้ถ้ากู้เงินมาเพื่อลงทุน เช่น ซื้อบ้านอยู่อาศัย ก็ไม่ค่อยเท่าไหร่ หรือถ้ากู้มาใช้จ่ายอุปโภค บริโภค ส่วนใหญ่เป็นของจำเป็น แต่บางครั้งเป็นชีวิตครอบครัว พ่อแม่ป่วย ก็เป็นความจำเป็น แล้วไม่มีรายได้เข้ามา บางคนก็ไปลงทุนในสิ่งที่ไม่รู้ความเสี่ยง แล้วเสียหายกลายเป็นศูนย์ การไม่รู้ความเสี่ยง คือปัญหาหนึ่ง ที่ได้พบจากการกู้สินเชื่อบัตรเครดิตแล้วเอาไปลงทุนแบบไม่รู้ความเสี่ยง แล้วเกิดความเสียหาย กลายเป็นปัญหาหนัก”

    บุญเที่ยง กล่าวว่า ลักษณะปัญหาของลูกหนี้ในกลุ่มที่มีรายได้เป็นเงินเดือน สามารถอยู่ได้เพราะก่อหนี้บัตรไปเรื่อย ๆ และมีปัญหามานาน เพียงแต่ไม่รู้ตัว เอาเงินไปใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน ซื้อรถ ทำอย่างนี้ไปเรื่อย ๆ พอสุดท้าย กดเงินหลายบัตรเข้า หมุนเงินไม่ไหว ปัญหาคือรายรับไม่พอกับรายจ่ายที่เจ้าหนี้กำหนด ซึ่งส่วนใหญ่เจ้าหนี้ให้ชำระภายใน 1-2 ปี เป็นระยะเวลาที่สั้นไป ก็ยืดหนี้ออกไปเป็น 5-7 ปี อีกอย่าง หนี้บัตรเหล่านี้อัตราดอกเบี้ยสูง เพราะเป็นสินเชื่อที่ไม่มีหลักประกัน เวลามีการชำระหนี้ วงเงินก็ยังสามารถเบิกใช้ได้ แต่พอกดเงินมาใช้ มันถูกแปลงเป็นเงินกู้แล้ว เงินที่ลูกหนี้ชำระไปจะเบิกไม่ได้ มีแต่ผ่อนชำระคืนอย่างเดียว ความเสี่ยงของสถาบันการเงินลดลง

    ประชาชนปรึกษาหมอหนี้ในบูธธนาคารแห่งประเทศไทย

    สถาบันการเงินก็ควรมาลดดอกเบี้ยให้ลูกหนี้ด้วย พอมีการลดดอกเบี้ย และขยายระยะเวลาให้ไป ก็จะถามว่า คำนวณแล้ว หนี้ 5 แสนบาท ระยะเวลาชำระ 5 ปี อัตราดอกเบี้ยไม่เกิน 12% เท่ากับผ่อนชำระเดือนละ 1 หมื่นบาท ไหวมั้ย มีเงินเหลือไว้ด้วย เพราะบางเดือนรายได้ลดลง รายจ่ายเพิ่มขึ้น ก็จะมีส่วนเกินไว้รองรับ คือ ไม่เอาสุดกำลังของลูกหนี้ มีช่องไว้ให้ใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน

  • เป็นหนี้ต้องมีวันจบ (10): จากมีหนี้บัตรเครดิต มาเป็น Fin. Trainer ด้วยโครงการ Fin. ดี Happy Life
  • ส่วนปัญหาของสินเชื่อธุรกิจ เอสเอ็มอี จะเป็น กู้โอดี หรือสินเชื่อเพื่อเงินทุนหมุนเวียน จะแตกต่างกัน ถ้ามีการชำระให้หนี้ลดลง ก็กู้โอดีมาหมุนได้ตลอด สมมติ มีสินเชื่อหมุนเวียนโอดี 10 ล้านบาท เงินนี้ หนึ่งเพื่อซื้อของมาสต็อก สองให้เครดิตลูกหนี้การค้า ได้เพียง 2 ทาง ทีนี้แบงก์ให้ 10 ล้านบาท พอสต็อกของแล้ว ให้เครดิตลูกค้าแล้ว เหลือ 5 ล้านบาท แหล่งเงินไม่แมทชิ่งกัน ส่วนที่เกินก็ต้องแปลงเป็นเงินกู้ ต้องผ่อนชำระ ก็เหลือวงเงินเท่าที่หมุนเวียนในธุรกิจ ในการแนะนำลูกหนี้ ก็ต้องคำนวณ working capital เป็น แล้วจะผ่อน 5 ปี 10 ปี ตามความสามารถก็ว่ากันไป หรือบางธุรกิจ ช่วงนี้ยังฟื้นตัวไม่เต็มที่ ช่วงแรกก็ชำระต่ำหน่อย แล้วค่อยเพิ่มเป็นขั้นบันได ซึ่งจะยากกว่า

    สำหรับช่องทางการรับคำแนะนำโครงการหมอหนี้นั้น แบงก์ชาติได้เปิดเว็บไซต์ https://app.bot.or.th/doctordebt/ ให้ลงทะเบียน หลังจากลงทะเบียนเสร็จ เจ้าหน้าที่จะโทรศัพท์ไปหา ไม่ต้องมาพบกัน โดยจะมีการแนะนำเพื่อให้รู้ทักษะต่าง ๆ รวมถึงมาตรการต่าง ๆ ของทางการ เช่น มาตรการที่แบงก์ชาติออกมา กลุ่มบัตรสินเชื่อรายย่อย สินเชื่อส่วนบุคคล ถ้าเป็นหนี้ดี คือค้างชำระไม่เกิน 90 วัน แต่ผ่อนชำระแต่ดอกเบี้ย ก็ให้แปลงเป็นเงินกู้ ผ่อนชำระไม่ต่ำกว่า 48 งวด ขณะที่ดอกเบี้ยบัตรเครดิต 16-18% พอเป็นเงินกู้คิดไม่เกิน 12% โปรแกรมนี้สถาบันการเงินเจ้าหนี้หลายแห่งยังยึดแนวนี้อยู่ แล้วถ้าเป็นหนี้ดีจะมีอีกมาตรการหนึ่ง คือรวมกับหนี้ที่กู้เพื่อซื้อบ้าน แนวคิดคือ ถ้าลูกค้าเป็นหนี้บ้าน 1 ล้านบาท ขณะที่มูลค่าหลักประกันบ้าน 1.5 ล้านบาท บ้านก็จะมีมูลค่าคงเหลือ 5 แสนบาท ก็ให้แบงก์ให้กู้ โดยใช้บ้านเป็นหลักประกัน เพื่อนำเงินไปชำระหนี้บัตรเครดิต หรือสินเชื่อส่วนบุคคล แล้วแบงก์ชาติกำหนดว่า หนี้ที่ให้กู้เพิ่มนั้น ให้คิดดอกเบี้ยกู้บ้านแล้วบวกเพิ่มอีก 2% สมมติว่า ดอกเบี้ยกู้ซื้อบ้าน 3% ก็ให้คิดเงินกู้ส่วนที่เพิ่ม 5% เป็นต้น

    “อย่างไรก็ตาม มีกรณีที่ลูกหนี้ดี ค้างชำระไม่เกิน 90 วัน พอไปติดต่อเจ้าหนี้ เจ้าหนี้ก็บอกว่ายังไม่เป็นหนี้เสีย ยังไม่มีมาตรการ เพราะกลัวเรื่อง moral hazard แต่โดยความจริง แบงก์ไม่น่ากังวล เพราะดูจากพฤติกรรมการใช้เงินของลูกหนี้ การชำระหนี้ของเขาก็รู้แล้วว่า พฤติกรรมลูกหนี้เป็นอย่างไร ถ้าเขาผ่อนแต่ดอกเบี้ย แน่นอนเขาเจอปัญหา การที่เขามาขอแก้ไขก่อนเกิดปัญหาจะดี การเกิด moral hazard คือชำระได้ตามเงื่อนไข แล้วมาต่อรองขอลดยอดหนี้ ขอลดดอกเบี้ย ไม่ใช่แล้ว คือดูพฤติกรรมที่ผ่านมาว่า เขามีปัญหาหรือไม่มีปัญหา โดยดูวงเงินสินเชื่อที่เขาใช้ สถาบันการเงินเจ้าหนี้จึงไม่น่าจะกังวลเรื่อง moral hazard”

    บุญเที่ยง กล่าวว่า หน้าที่ของหมอหนี้ ไม่ได้จัดการให้ แต่จะบอกแนว แล้วลูกหนี้จะไปคุยกับสถาบันการเงินเจ้าหนี้เอง สมมติมีหนี้บัตร 5-6 ใบ ก็ให้เขาไปคุยเอง ซึ่งจะมีสถาบันการเงินที่คุยยากง่ายต่างกัน ถ้าที่ไหนยาก ก็ค่อยมาไล่ดูรายละเอียด แต่ถ้าเสนอเต็มที่แล้ว ไม่ไหว จะให้ธปท. ประสานงานให้ ก็ให้เอาสิ่งที่ติดขัด สิ่งที่เป็นปัญหา ก็มาหารือเพิ่มเติม ส่วนใหญ่มาคุยแล้ว รู้ช่องทางแล้ว ก็ไปได้เลย แบงก์โอเคแล้ว มีบางกรณีเท่านั้น ที่ซับซ้อนต้องต่อรองค่อนข้างเยอะ เนื่องจากกำลังเขาน้อย ก็มาหารือกัน

    ปัจจุบัน จำนวนผู้เข้ามารับคำปรึกษายังมีจำนวนมากอยู่ ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะว่า ลูกหนี้ก็พยายามจะหาทาง แนวทางการแก้ไข ผ่านโซเชียลมีเดีย หรืออื่น ๆ แล้วมาคุยว่าทางเลือกนี้ดีหรือไม่ และบางคนที่แนะนำในโซเชียล มีเดีย ก็รู้จริงบ้าง ไม่จริงบ้าง ขณะที่หมอหนี้ มีช่องทางที่สะดวก ทำให้ลูกหนี้อยากเข้ามาปรึกษาจำนวนมากขึ้น