ThaiPublica > สู่อาเซียน > สิงคโปร์ตั้ง เจีย เต๋อ จวิน กรรมการผู้จัดการ MAS คนใหม่

สิงคโปร์ตั้ง เจีย เต๋อ จวิน กรรมการผู้จัดการ MAS คนใหม่

5 กันยายน 2023


จากซ้ายนายราวี เมนอน และ นายเจีย เต๋อ จวินที่มาภาพ: https://www.channelnewsasia.com/singapore/mas-ravi-menon-retiring-jan-1-2024-36-years-public-service-3745161

ธนาคารกลางสิงคโปร์ (Monetary Authority of Singapore :MAS) ประกาศเมื่อวันที่ 4 ก.ย. 2566 ว่า นายเจีย เต๋อ จวิน(Chia Der Jiun) จะเป็นกรรมการผู้จัดการคนใหม่ แทนนายราวี เมนอน กรรมการผู้จัดการคนปัจจุบันที่จะครบวาระและจากการเป็นกรรมการของ MAS ในวันที่ 31 ธ.ค. 2566

นาย เจีย เต๋อ จวิน ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นกรรมการผู้จัดการ(แต่ยังไม่เข้ารับตำแหน่ง) ตั้งแต่วันที่ 1 พ.ย. 2566 ถึง 31 ธ.ค. 2566 และดำรงตำแหน่งกรรมการผู้จัดการ MAS อย่างเป็นทางการตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 2567 ถึงวันที่ 31 พ.ค. 2569 จากนั้นจะรับตำแหน่งเป็นกรรมการในคณะกรรมการ MASตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 2567

นายเจีย ปัจจุบันดำรงตำแหน่งปลัดกระทรวง (ฝ่ายพัฒนา) กระทรวงแรงงาน (Ministry of Manpower :MOM) เคยทำงานที่ MAS เป็นเวลา 18 ปี โดยมีบทบาทเป็นผู้นำในหน้าที่หลักของ MAS รวมถึงการดำเนินนโยบายการเงิน การบริหารทุนสำรอง การธนาคาร การกำกับดูแล นโยบายที่มีเป้าหมายหลักเพื่อลดการก่อตัวของความเสี่ยงเชิงระบบ(prudential policy) และการติดตามภาวะเศรษฐกิจการเงิน

ในช่วง 10 ปีแรกที่ MAS นายเจียมีบทบาทสำคัญในการพัฒนาและดำเนินนโยบายเพื่อปรับโครงสร้างกลุ่มธนาคารในประเทศ และเปิดเสรีภาคการธนาคาร รวมทั้งมีบทบาทสำคัญในการจัดตั้งสถาบันประกันเงินฝาก(Singapore Deposit Insurance Corporation)

ในช่วงวิกฤติการเงินโลกในปี 2551 นายเจียเป็นผู้นำในการประเมินเสถียรภาพทางการเงิน ต่อมาปี 2554 ได้รับแต่งตั้งเป็นผู้บริหารอันดับสองของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) เป็นเวลา 2 ปีในตำแหน่งผู้อำนวยการบริหารประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งเขามีส่วนร่วมในการถกเถียงและการตัดสินใจของคณะกรรมการในประเด็นต่างๆ เช่น การบริหารกระแสเงินทุน โครงการจัดหาเงินทุนของ IMF และการประเมินเสถียรภาพทางการเงิน

ในปี 2559 นายเจียได้รับการแต่งตั้งเป็นผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ (การตลาดและการลงทุน) และต่อมาได้เป็นผู้นำการตรวจสอบการจัดสรรสินทรัพย์ของทุนสำรองต่างประเทศ ในปี 2562 ได้รับการแต่งตั้งเป็นรองกรรมการผู้จัดการ (พัฒนาองค์กร) นอกจากนี้เขามีบทบาทในการเสริมสร้างระบบการชำระเงินระดับชาติ (GIRO, FAST, MEPS+) ให้มีความยืดหยุ่นมากขึ้น ในช่วงการระบาดใหญ่ของโควิด-19 เขาเป็นผู้นำในการดำเนินการปรับเปลี่ยนสถาปัตยกรรมเทคโนโลยีของ MAS และสายงานขององค์กร

นายเจียมีประสบการณ์อย่างมากในด้านการบริการสาธารณะหลายด้าน ก่อนที่จะมาทำงานใน MAS เคยทำงานในกระทรวงการค้าและอุตสาหกรรม กองบริการสาธารณะ และกระทรวงสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรน้ำในขณะนั้น นายเจียได้รับแต่งตั้งเป็นปลัดกระทรวงคนที่สองของกระทรวงแรงงานในปี 2563 และได้รับการแต่งตั้งเป็นปลัดกระทรวงแรงงานอีกครั้งในปี 2565

นายเมนอนได้รับการยอมรับ จากความเป็นผู้นำที่มีวิสัยทัศน์ในฐานะกรรมการผู้จัดการของ MAS ตั้งแต่ปี 2554 และผลงานที่โดดเด่นตลอดระยะเวลา 29 ปีกับ MAS โดยในช่วง 16 ปีแรกใน MAS ( 2530-2546) นายเมนอนมีส่วนร่วมในนโยบายการเงิน การวิเคราะห์เศรษฐกิจมหภาค การพัฒนาองค์กร กฎระเบียบด้านการธนาคาร และการกำกับดูแลแบบบูรณาการของสถาบันการเงินที่ซับซ้อน

ในฐานะกรรมการผู้จัดการ นายเมนอนเป็นแรงผลักดันเบื้องหลังความคิดริเริ่มของ MAS เพื่อทำให้ภาคการเงินของสิงคโปร์มีความสามารถในการปรับตัว มีนวัตกรรม และตั้งมั่น

นายเมนอนเป็นผู้นำการปฏิรูปกรอบการกำกับดูแลทางการเงินของสิงคโปร์หลังวิกฤติการเงินโลก เสริมสร้างระบบการบังคับใช้ที่เข้มแข็งในการต่อต้านการฟอกเงินและการกระทำอันไม่เป็นธรรมเกี่ยวกับการซื้อขายหลักทรัพย์ และพัฒนานโยบายที่ใช้เพื่อดูแลและป้องกันความเสี่ยงเชิงระบบ( macroprudential policies)ของ MAS เพื่อดูแลตลาดอสังหาริมทรัพย์ให้ยั่งยืน

นายเมนอนมีบทบาทสำคัญในการทำให้สิงคโปร์เป็นศูนย์กลาง FinTech ชั้นนำ เขาเป็นผู้นำในการสร้างความเติบโตของระบบนิเวศการชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ของสิงคโปร์ ริเริ่มแซนด์บ็อกซ์ด้านกฎระเบียบเพื่อส่งเสริมการทดลอง และกำกับดูแลการเปิดตัวใบอนุญาตธนาคารดิจิทัล

ในฐานะประธานสถาบันการธนาคารและการเงิน นายเมนอนทำงานอย่างใกล้ชิดกับผู้นำในอุตสาหกรรมเพื่อเสริมสร้างการยกระดับทักษะ โครงการเปลี่ยนอาชีพ และการพัฒนาความเป็นผู้นำในบุคลากรในภาคการเงิน

นายเมนอนเป็นหัวหอกในการวางนโยบายและกลยุทธ์เพื่อสร้างความสามารถในการปรับตัวต่อความเสี่ยงที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ให้กับภาคการเงิน และพัฒนาระบบนิเวศทางการเงินที่ยั่งยืนของสิงคโปร์ เพื่อช่วยกระตุ้นการลดการปล่อยคาร์บอนของภูมิภาค

ในช่วงวิกฤติเศรษฐกิจโควิด-19 นายเมนอนมีบทบาทสำคัญในการนำนวัตกรรมมาตรการตอบสนองมาใช้อย่างรวดเร็ว ซึ่งรวมถึงโครงการใหม่เพื่อดูแลสภาพคล่อง การจัดหาเงินทุนต้นทุนต่ำสำหรับธนาคารเพื่อสนับสนุน SMEs ได้ดีขึ้น มาตรการการช่วยเหลือด้านสินเชื่อและการประกันภัยสำหรับบุคคลและ SMEs และมีแผนการที่จะเร่งกระบวนการดิจิทัลและการฝึกอบรมพนักงานในภาคการเงิน

นายเมนอนมีส่วนร่วมอย่างแข็งขันในการกำหนดวาระการกำกับดูแลทางการเงินระหว่างประเทศ เขาเป็นประธานเครือข่ายสำหรับระบบการเงินที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม(Network for Greening the Financial System) ซึ่งเป็นพันธมิตรระหว่างประเทศของธนาคารกลางและหน่วยงานกำกับดูแลทางการเงินมากกว่า 125 แห่ง และเป็นสมาชิกของคณะกรรมการกำกับดูแลเสถียรภาพทางการเงิน G20 (FSB) ก่อนหน้านี้ในปี 2556-256 เขาเป็นประธานคณะกรรมการถาวร FSB ว่าด้วยการปฏิบัติตามมาตรฐาน(FSB Standing Committee on Standards Implementation) และประธาน International Monetary and Financial Committee Deputies Meetings ในปี 2554-2558

ภายใต้การนำของนายเมนอน MAS ได้รับรางวัลระดับนานาชาติหลายรางวัล รวมถึงการได้รับการยกย่องให้เป็น Central Bank of the Year ในปี 2562 โดยวารสาร Central Banking ในสหราชอาณาจักร เนื่องมาจาก ความพยายามบุกเบิก FinTech และความสม่ำเสมอในการดำเนินงานด้านนโยบายการเงิน การเงิน ความมั่นคงและการกำกับดูแล