ThaiPublica > เกาะกระแส > สิงคโปร์ Re-imagining Fintech (ตอนจบ) การธนาคาร ในบริบทใหม่ของโลกภายใต้เทคโนโลยี Blockchain

สิงคโปร์ Re-imagining Fintech (ตอนจบ) การธนาคาร ในบริบทใหม่ของโลกภายใต้เทคโนโลยี Blockchain

8 ธันวาคม 2019


เมื่อวันที่ 11-15 พฤศจิกายน 2562 ธนาคารกลางสิงคโปร์ (Monetary Authority of Singapore) ร่วมกับสมาคมธนาคารสิงคโปร์ และ SingEx Holdings จัดงานฟินเทคแฟร์และสัปดาห์แห่งนวัตกรรมและเทคโนโลยี หรือ Singapore FinTech Festival (SFF) x Singapore Week of Innovation and Technology (SWITCH) ซึ่งเป็นครั้งแรกที่ได้นำงาน Singapore FinTech Festival และ Singapore Week of Innovation and Technology มาจัดร่วมกันเป็นงาน SFFxSWITCH

  • สิงคโปร์ Re-imagining Fintech (ตอน 1): นวัตกรรมเพื่อยกระดับชีวิตคน ขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ส่งเสริมสังคมสำหรับทุกคน
  • สำนักข่าวออนไลน์ไทยพับลิก้าได้ร่วมเดินทางไปกับสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ซึ่งได้ไปร่วมออกบูธเพื่อนำเสนอโครงการ DLT ของตลาดทุนไทย

    บล็อกเชนนำดิจิทัลแบงก์ชนธนาคารแบบเดิม

    ภายในงานมีการจัดเสวนาในหลายหัวข้อที่น่าสนใจ โดยเฉพาะทิศทางการธนาคาร การเงิน เมื่อฟินเทคมีความก้าวหน้าและเทคโนโลยียกระดับโดยในการเสวนาหัวข้อ Banking in new Global Context ผู้บริหารของธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด, ซิตี้กรุ๊ป, เอชเอสบีซี และดีบีเอสกรุ๊ป ได้ให้ความเห็นว่า การนำเทคโนโลยี รวมทั้งข้อมูลมาสร้างเสริมประสบการณ์ให้กับลูกค้า คือปัจจัยที่สร้างความแตกต่างในการให้บริการธนาคารในปัจจุบัน และเป็นเครื่องมือที่ทำให้ธนาคารประสบความสำเร็จในการทำธุรกิจในโลกดิจิทัล

    นอกจากนี้ยังเห็นธนาคารที่ให้บริการในรูปแบบเดิม พร้อมที่จะรับมือกับการเปลี่ยนแปลงในภาคอุตสาหกรรมธนาคาร รวมทั้งยอมรับว่า ระบบบล็อกเชนจะเข้ามาแทนที่การทำธุรกรรมแบบเดิมของธนาคาร และมองว่าจะมีธนาคารใหม่เกิดขึ้น โดยอาจจะเข้าเป็นพันธมิตรกับธนาคารที่มีอยู่เดิม

    อย่างไรก็ตาม ดิจิทัลแบงก์จะมีผลต่อธนาคารแบบเดิมหรือไม่ อยู่ที่การนำเสนอบริการและผลิตภัณฑ์ที่แตกต่างผ่านวิธีการคิดแบบใหม่และใช้เทคโนโลยี และนั่นคือปัจจัยที่จะทำให้ดิจิทัลแบงก์ประสบความสำเร็จในอีก 3-5 ปี เพราะต้องมีการเก็บข้อมูลของลูกค้า จนสามารถแยกกลุ่มลูกค้า และตอบโจทย์ความต้องการที่หลากหลายมากขึ้น

    สำหรับเรื่องข้อมูล ผู้ร่วมเสวนาเห็นว่า การเก็บข้อมูลไม่สำคัญว่าจะเก็บที่ในประเทศ หรือที่ใดในโลก ประเด็นสำคัญคือความปลอดภัยของข้อมูล โดยเฉพาะการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล

    ผู้ร่วมเสวนายังเห็นว่า ดิจิทัลแบงก์ทำธุรกิจได้ยืดหยุ่นมากกว่ารูปแบบธนาคาร แต่เทคโนโลยีใหม่จะช่วยให้ธนาคารแบบเดิมสามารถปรับปรุงบริการในหลายด้าน เช่น สินเชื่อการค้า (trade finance) แต่ก็ต้องใช้เวลา และแม้ว่าจะมีระบบเทคโนโลยีในปัจจุบันให้นำมาใช้กับสินเชื่อการค้าดิจิทัลแล้ว แต่ธนาคารก็ยังใช้เวลาเพื่อดูว่าวิธีนี้ใช้ได้ผลชัดเจน เพราะการยกระดับบริการนั้นต้องอาศัยการเห็นร่วมและการมีส่วนร่วมจากผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่าย และสำหรับธนาคารแบบเดิมบางรายอาจจะต้องใช้เวลาถึง 10 ปี อย่างไรก็ตาม เมื่อนำมาใช้แล้วการทุจริตในด้านสินเชื่อการค้าก็จะลดลง

    ผู้ร่วมเสวนายังให้ความเห็นถึงความท้าทายของการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีว่า กลยุทธ์ใหม่ในการติดต่อลูกค้า โดยต้องสามารถตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าได้ รวมทั้งทำให้เกิดรูปแบบธุรกิจใหม่ บริษัทต่างๆ ต้องปรับตัว และสามารถควบคุมความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นไป

    สำหรับสกุลเงินดิจิทัล โดยเฉพาะ Libra เห็นว่า ปัจจุบันมีผู้สนใจสกุลเงินดิจิทัลมากขึ้น Libra เป็นนวัตกรรมที่น่าสนใจ แม้เฟซบุ๊กอาจจะไม่สามารถให้บริการสกุลเงินดิจิทัลได้ แต่ก็มีผู้เล่นรายอื่นที่ให้บริการในลักษณะเดียวกันเกิดขึ้น แต่สิ่งสำคัญคือ กลไกการคงมูลค่าในการแลกเปลี่ยนเงิน และประเด็นการกำกับดูแลการฟอกเงิน

    มาตรฐานการทำงานร่วมกันของบล็อกเชน

    สำหรับการเสวนาตลอดทั้ง 5 วันมีหลายหัวข้อที่น่าสนใจ ตั้งแต่เทคโนโลยีบล็อกเชน AI สกุลเงินดิจิทัล ไปจนถึงธุรกิจเอสเอ็มอี โดยในวงเสวนา เรื่อง blockchain interoperability ผู้เข้าร่วมให้คำจำกัดความของ blockchain interoperability ว่า หมายถึงการทำงานร่วมกันขององค์ประกอบต่างๆ บนบล็อกเชน ซึ่งครอบคลุมลักษณะการทำงานร่วมกันในหลายระดับ ได้แก่

    • ระหว่างบล็อกเชนกับระบบงาน legacy
    • ระหว่างบล็อกเชนที่อยู่ข้ามเครือข่าย
    • ระหว่าง public blockchain กับ private blockchain
    • ระหว่าง application layer ในบล็อกเชนเดียวกัน

    โดย blockchain interoperability มาจากความต้องการเชื่อมต่อ DLT ต่างแพลตฟอร์ม

    นอกจากนี้ปัญหาที่แต่ละธุรกิจประสบจะเป็นตัวกำหนดการเลือกใช้บล็อกเชนที่เชื่อมต่อกันเพื่อให้ตรงกับความต้องการของลูกค้ามากที่สุด ซึ่งการเชื่อมต่อซัพพลายเชนที่หลากหลายสามารถนำไปสู่โมเดลทางธุรกิจใหม่ๆ ได้

    ส่วน private blockchain จะมีการสร้างข้อตกลงที่เป็นมาตรฐาน โดยในการออกแบบ data model ที่เป็นพื้นฐานให้กับเครือข่ายบล็อกเชนจะออกแบบให้สามารถนำไปใช้งานร่วมกัน เพื่อลด time-to-market นอกจากนี้ ประเด็นด้านความปลอดภัยที่ต้องคำนึงถึง ได้แก่ การจัดการข้อมูลยืนยันตัวตนของผู้ใช้งาน องค์กร และสิทธิในทางดิจิทัล (digital right) ที่ส่งผ่านบน tokenization platform อย่างเหมาะสม

    ปัจจุบัน ยังมีการวิจารณ์ว่าขาดมาตรฐานของธุรกิจ (industry standard) สำหรับ blockchain และมีการเรียกร้องให้หน่วยงานกำกับดูแลเข้ามามีบทบาทในการผลักดันให้เกิดมาตรฐานอีกด้วย

    การใช้ AI ของสิงคโปร์

    ส่วนความเห็นด้าน AI ในช่วง Leader’s Talk: Inspiring the Future โดย นายเฮง สวี เกียต รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังสิงคโปร์ ได้บรรยายว่า ปีนี้เป็นปีแรกที่สิงคโปร์จัดงานเกี่ยวกับ Fintech และ Technology ไว้ด้วยกัน ได้แก่ SFF & SWITCH โดย SFF และ SWIFT เริ่มจัดขึ้นในปี 2016 ซึ่งทั้งสองงานได้รับการตอบรับเพิ่มขึ้นอย่างมากทุกปี

    ในปีนี้มีผู้เข้าร่วมงานกว่า 60,000 คน จาก 130 ประเทศ โดยมี theme คือความเชื่อมโยงระหว่าง digital กับการพัฒนาอย่างยั่งยืน

    การเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีเป็นความท้าทาย ซึ่งอาจนำไปสู่สิ่งใหม่และสร้างโอกาส ทั้งนี้ สิงคโปร์เป็นเกาะเล็กๆ ที่มีทรัพยากรธรรมชาติน้อย แต่ด้วยเทคโนโลยีทำให้สิงคโปร์มีความสามารถในการแข่งขันทางเศรษฐกิจ ตัวอย่างการใช้เทคโนโลยี เช่น สิงคโปร์ขาดน้ำจืด แต่ก็ใช้การรีไซเคิลน้ำเพื่อแก้ปัญหา

    นอกจากนี้ สิงคโปร์ยังกำหนดเป้าหมายที่จะใช้เทคโนโลยีในการพัฒนา urban farming เพื่อให้สามารถผลิตอาหารได้ 30% ของความต้องการในปี 2030 และเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน ยังมีโครงการพัฒนาพลังงานสะอาด เช่น พลังงานแสงอาทิตย์ โดยมีเป้าหมายว่าประชาชนไม่ใช่แค่มีอายุยืนยาว แต่ยังต้องมีสุขภาพที่แข็งแรงด้วย

    สิงคโปร์มีแนวทางในการนำ AI มาใช้ในระดับประเทศ มีการกำหนด Singapore’s National AI Strategy โดยมีเป้าหมายในการเป็นผู้นำด้าน developing and deploying AI solutions ภายในปี 2030 นอกจากนี้ ยังลงทุน 500 ล้านดอลลาร์ ในการศึกษาเรื่อง AI และอยู่ระหว่างการสร้าง National AI Office ซึ่งเป็นแผนงานหนึ่งใน Innovation and Enterprise 2020 Plan

    โครงการเกี่ยวกับ AI เป็นการพัฒนา 5 ด้านที่สำคัญ ได้แก่ Transport and Logistics, Smart Cities and Estates, Healthcare, Education และ Safety and Security

    แม้เทคโนโลยีจะมีประโยชน์ แต่ก็มีด้านลบ เช่น การแพร่ข่าวเท็จทางโซเชียลมีเดีย ทุกคนจึงต้องร่วมมือกันทำให้เทคโนโลยีเกิดประโยชน์มากที่สุด รวมทั้งลดความเสี่ยงและต้นทุน

    กุญแจสำคัญในการพัฒนาด้าน AI มี 3 อย่าง ได้แก่

      1) a ready workforce ทำให้ทุกคนสามารถใช้เทคโนโลยีได้ ในสิงคโปร์มีอาสาที่ช่วยสอนการใช้เทคโนโลยีให้กับผู้สูงอายุ คนทำงานต้องเรียนรู้เทคโนโลยี โดยเฉพาะนักวิทยาศาสตร์ นักพัฒนา วิศวกร ผู้จัดการ และผู้ประกอบการ โดยสิงคโปร์มีแผนพัฒนาบุคลากรในเรื่อง basic AI coding เพื่อให้มีผู้เชี่ยวชาญด้านนี้ประมาณ 25,000 คน ภายในปี 2025

      2) openness and collaboration โดยเรียนรู้และร่วมมือกับผู้อื่น ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มนักวิจัย ภาคธุรกิจ และภาครัฐ เช่น โครงการ National Platform AI Makerspace on Wednesday เพื่อให้ผู้ประกอบธุรกิจรายเล็กๆ สามารถเข้าถึงข้อมูลเกี่ยวกับ AI ได้

      3) ensuring good governance of new technology กล่าวคือ เทคโนโลยีทำให้เกิดความเสี่ยงใหม่ วิศวกรมักมีคำถามว่า “Can it be done?” ผู้ประกอบการมักถามว่า “Can it make money?” แต่คำถามที่ควรถามมากกว่า นั่นก็คือ “Should it be done? And how?” ทั้งนี้ รัฐบาลต้องมีหน้าที่ตัดสินใจว่าควรให้เทคโนโลยีไปเร็วและไกลแค่ไหน โดยรัฐบาลที่ดีต้องทำให้เกิดความไว้วางใจและความปลอดภัยทางเทคโนโลยี

    อนาคตสกุลเงินดิจิทัล

    การเสวนาในหัวข้อ Defining the Future of Digital Currency โดยผู้แทนจาก Institute of Digital Currency จากธนาคารกลางของจีน, Calibra, ธนาคารกลางกัมพูชา และ J.P. Morgan มีความเห็นว่า การพัฒนาด้าน digital currency ในปัจจุบันอยู่ในกลุ่มธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับระบบการชำระเงินและการธนาคาร ซึ่งควรพัฒนาให้มีการกระจายตัวมากขึ้น เพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าถึงการเงินของโลกได้

    ผู้ร่วมเสวนาได้ให้ข้อมูลการพัฒนา digital currency ของประเทศตัวเอง โดยผู้แทนจากจีนเปิดเผยว่า ประเทศจีนจัดให้มีระบบสำรองซึ่งเป็น redundant infrastructure รองรับในกรณีที่ระบบหลักเกิดขัดข้อง และจัดให้มีระบบ e-payment รองรับรูปแบบการชำระเงินที่หลากหลาย โดยประชาชนสามารถเข้าถึงได้แม้อยู่ในที่ห่างไกล

    ส่วนผู้แทนประเทศกัมพูชาระบุว่า กัมพูชาเน้นการแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับการเข้าถึงบริการธนาคารของประชาชน ระบบการรับชำระเงินของแต่ละธนาคารซึ่งยังไม่เชื่อมโยงถึงกันทั้งหมด และขยายบริการชำระเงินบน mobile application

    ประเทศส่วนใหญ่เห็นว่า DLT เป็นเทคโนโลยีที่เป็นโครงสร้างพื้นฐาน ช่วยลดต้นทุน และทำให้ธุรกรรมมีประสิทธิภาพและมีความปลอดภัยมากขึ้น ซึ่งหากมีการพัฒนา DLT ภายใต้มาตรฐานที่กำหนดร่วมกัน จะทำให้สามารถเชื่อมต่อระบบต่างๆ ผ่าน API platform ได้

    สำหรับ Libra มีศักยภาพในการอำนวยความสะดวกสำหรับการทำธุรกรรมข้ามพรมแดน (cross-border transaction) เนื่องจากจำนวนบัญชีผู้ใช้งานเฟซบุ๊กมีมากและอยู่ในหลายประเทศ อย่างไรก็ตาม ต้องคำนึงถึงความเสี่ยงด้านการดำเนินนโยบายทางการเงิน (monetary policy) เนื่องจากเงินดิจิทัลมีศักยภาพที่จะ disrupt ธุรกิจของธนาคารพาณิชย์ และอาจส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศของระบบการเงิน

    โดยธนาคารกลางของกัมพูชาตระหนักถึงความสำคัญของการเก็บรักษาข้อมูลของลูกค้า และมีนโยบายเกี่ยวกับการพัฒนาและการรับมือกับเงินดิจิทัลแบบค่อยเป็นค่อยไป

    วงเสวนายังเห็นว่าหน่วยงานกำกับดูแลควรส่งเสริมให้เกิดการทดลองนำเทคโนโลยีใหม่ๆ มาใช้ เพื่อการพัฒนาและปรับปรุงเทคโนโลยี

    ขณะที่ผู้แทนจีนกล่าวว่า ระบบธนาคารกลางของประเทศจีนมุ่งเน้นให้เกิดสังคมไร้เงินสด “cashless society” โดยให้ความสำคัญกับการเก็บรักษาข้อมูลของลูกค้า และการกำกับดูแลเกี่ยวกับการฟอกเงิน นอกจากนี้ จะเน้นความเป็นกลางทางด้านเทคโนโลยี และสนับสนุนการนำ DLT และ digital wallet มาใช้ โดยเน้นส่งเสริมให้นำไปใช้กับการชำระเงินในชีวิตประจำวันของลูกค้า (รายย่อย) เนื่องจากไม่ประสงค์จะให้กระทบกับนโยบายการสำรองเงินของธนาคารกลาง

    ดิจิทัลแบงก์โชว์ตัว

    ภายในงานยังมีบูธดิจิทัลแบงก์ที่มาเปิดตัวและนำเสนอรูปแบบธนาคารใหม่ “WeBank” ดิจิทัลแบงก์จากกลุ่ม Tencent ของจีน และบริการการเงินดิจิทัลจาก Grab โดยเจ้าหน้าที่ประจำบูธของ WeBank ให้ข้อมูลว่า WeBank เป็นดิจิทัลแบงก์รายแรกของจีนและเป็นผู้นำในด้านนี้ เปิดให้บริการตั้งแต่ปี 2014 มุ่งไปที่ผู้ที่ยังไม่เข้าถึงบริการทางการเงิน (underbanked) ทั้งบุคคลทั่วไปและธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อมหรือ SME

    WeBank ให้บริการผ่านแอปพลิเคชันบนมือถือเท่านั้น มีทั้งการฝากเงินและให้เงินกู้ ซึ่งเป็นการให้กู้ร่วมกับสถาบันการเงินแบบ 20:80 เนื่องจาก WeBank มีฐานข้อมูลผู้กู้ ซึ่งเป็นผู้ใช้ WeChat จำนวนมากและมีข้อมูลพฤติกรรมผู้ใช้ จึงสามารถออกแบบผลิตภัณฑ์ วิเคราะห์ข้อมูลผู้กู้ ประกอบกับมีเทคโนโลยี ส่วนด้านสถาบันการเงินมีการบริหารจัดการความเสี่ยงที่ดี มีเงินทุน และมีผลิตภัณฑ์ จึงสามารถทำงานร่วมกันได้ ส่งผลให้มีการเข้าถึงบริการทางการเงินอย่างทั่วถึง ซึ่งใน presentation ภายในบูธใช้คำว่า Finclusion

    เงินกู้ส่วนใหญ่จึงมาจากฝั่งสถาบันการเงิน แต่ข้อมูลผู้ขอกู้มาจาก WeBank และเป็นข้อมูลผ่านการวิเคราะห์ด้วยความเชี่ยวชาญด้านดิจิทัลของ WeBank ซึ่งมี Tencent ผู้นำด้านดิจิทัลถือหุ้น 30% มีพนักงานไอทีมากกว่า 56% และให้บริการตลอด 24 ชั่วโมงทุกวัน ผลิตภัณฑ์เด่นของ WeBank คือ ไมโครเลนดิงที่สามารถขอกู้ขั้นต่ำได้ 5,000 หยวน ในชื่อ Wellidai Micro-lending เป็นสินเชื่อไม่ต้องมีหลักทรัพย์ค้ำประกัน ลูกค้าส่วนใหญ่เป็นแรงงาน 74% ขณะฝั่งสินเชื่อ SME นั้น 66% เป็น SME ที่เข้าถึงสินเชื่อเป็นครั้งแรก

    สำหรับการทำงานเบื้องหลัง WeBank ใช้หลักการ ABCD โดย A คือ artificial intelligence หรือ AI ที่สามารถรับมือกับคำถามที่เข่ามาได้ถึง 98% ส่วน B คือบล็อกเชนที่สามารถจัดการด้านบัญชี ได้ถึง 74 ล้านธุรกรรมต่อวินาทีโดยไม่มีข้อผิดพลาด ขณะที่ C คือ cloud computing มีพื้นที่รองรับข้อมูลได้ถึง 99.99% ตลอดเวลา และ D คือ big data ทำให้สามารถวิเคราะห์ข้อมูลได้อย่างแม่นยำ และลดต้นทุนการให้บริการลูกค้าแต่ละรายลงอย่างมาก รวมทั้งยังมีตัวแปรมากกว่า 100,000 ตัว ช่วยให้บริหารความเสี่ยงได้ดี

    ด้วยเทคโนโลยีที่พัฒนาขึ้นทำให้แต่ละวันรองรับธุรกรรมได้มากกว่า 490 ล้านรายการ ระบบเสถียรและมีประสิทธิภาพ มีความคล่องตัว มีความยืดหยุ่น มีต้นทุนด้านไอทีต่ำเพียง 0.50 ดอลลาร์ต่อบัญชี และได้รับการตอบรับจากตลาดในเวลาเพียง 11 วันหลังจากเปิดตัว

    เจ้าหน้าที่ในบูธบอกว่า สถาบันการเงินเองก็พอใจกับรูปแบบธุรกิจนี้ เนื่องจากปกติมีต้นทุนในการให้บริการลูกค้ารายย่อย และขาดข้อมูลผู้ขอกู้ ทำให้ไม่สามารถปล่อยกู้โดยไม่มีหลักทรัพย์ค้ำประกันและให้กู้แก่ผู้กู้ที่ไม่มีประวัติทางการเงินได้ นอกจากนี้ยังมีสถาบันการเงินไทยจำนวนหนึ่งให้ความสนใจและเริ่มเข้ามาพูดคุยบ้างแล้ว ทั้งที่สำนักงานใหญ่และสอบถามข้อมูลจากภายในบูธ

    ภายในงานยังมีการนำเสนอดิจิทัลแบงก์จากธนาคารแบบเดิม โดยธนาคารยูโอบีนำเสนอ TMRW หรือ Tomorrow บริการธนาคารดิจิทัลของธนาคาร

    สำหรับบูธ Grab นำเสนอ 3 บริการ คือ GrabFinance, GrabInsure, GrabPay

    ขณะเดียวกันธนาคารชั้นนำหลายแห่งได้ร่วมออกบูธ ไม่ว่าจะเป็นธนาคารจากจีน ธนาคารจากสิงคโปร์ รวมไปถึงศูนย์กลางการเงินชั้นนำของโลก เช่น ศูนย์กลางการเงินดูไบ ตลอดจนผู้ให้บริการชำระเงิน เช่น PayNow จากสิงคโปร์