ThaiPublica > สู่อาเซียน > ASEAN Roundup อินโดนีเซียยกเว้นภาษี 20-30 ปี จูงใจนักลงทุนสร้างเมืองหลวงใหม่

ASEAN Roundup อินโดนีเซียยกเว้นภาษี 20-30 ปี จูงใจนักลงทุนสร้างเมืองหลวงใหม่

23 ตุลาคม 2022


ASEAN Roundup ประจำวันที่ 16-22 ตุลาคม 2565

  • อินโดนีเซียยกเว้นภาษี 20-30 ปีจูงใจนักลงทุนสร้างเมืองหลวงใหม่
  • ธนาคารกลางลาวห้ามร้านรับแลกเงินขายเงินตราต่างประเทศ
  • เมียนมาดึง FDI จากจีน 129 ล้านดอลลาร์ในรอบ 6 เดือน
  • อุตสาหกรรมจัดการสินทรัพย์สิงคโปร์โตเป็นประวัติการณ์
  • อาเซียน–อียูลงนามข้อตกลงการบินเชื่อมโยง 1.1 พันล้านคน
  • อินโดนีเซียยกเว้นภาษี 20-30 ปีนักลงทุนสร้างเมืองหลวงใหม่

    ภาพต้นแบบ ที่มาภาพ: https://www.thejakartapost.com/indonesia/2022/01/18/house-passes-bill-to-relocate-indonesias-capital.html

    อินโดนีเซียจะให้สิทธิประโยชน์จูงใจให้กับบริษัทต่างๆ ที่เข้าลงทุนในโครงการมูลค่า 32 พันล้านดอลลาร์สหรัฐเพื่อสร้างเมืองหลวงใหม่ในประเทศที่เรียกว่านูซันตารา จากการเปิดเผยของบัมบัง ซูซานโตโน ผู้อำนวยการสำนักงานเมืองหลวงแห่งชาตินูซันตารา ในงานแนะนำโครงการทุนใหม่ที่จัดขึ้นในกรุงจาการ์ตา เมืองหลวงปัจจุบัน เมื่อวันที่ 18 ตุลาคม

    “เราจะให้สิทธิประโยชน์จูงใจทางการเงินและที่ไม่ใช่ทางการเงิน ซึ่งรวมถึงการลดหย่อนภาษี 30 ปีสำหรับการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานและบริการสาธารณะมูลค่ากว่า 10 พันล้านรูปียะห์ (645,000 ดอลลาร์สหรัฐ)”

    นอกจากนี้ยังจะมีการยกเว้นภาษี 20 ปีให้กับการลงทุนในห้างสรรพสินค้า สถานที่ท่องเที่ยว และสิ่งอำนวยความสะดวก และรัฐบาลมีแผนที่จะเสนอการลดหย่อนภาษี 350% สำหรับการลงทุนในด้านการวิจัยและพัฒนาในนูซันตารา

    “นี่เป็นโอกาสหนึ่งในชีวิต…ในการสร้างเมืองนี้” ซูซานโตโนกล่าว พร้อมเสริมว่า รัฐบาลจะจัดตั้งองค์กรธุรกิจเพื่อเร่งการทำข้อตกลงกับภาคเอกชน

    การก่อสร้างเขื่อนและถนนได้เริ่มขึ้นแล้วที่เมืองหลวงแห่งใหม่ บนพื้นที่ที่ไม่ได้เคยมีการพัฒนาซึ่งรายล้อมไปด้วยป่าชื้นอันกว้างใหญ่ของเกาะบอร์เนียว มีคนงานก่อสร้างมากถึง 100,000 คน ซึ่งจะเร่งดำเนินการในปีหน้าเพื่อเตรียมพื้นที่ให้พร้อมภายในวันที่ 17 สิงหาคม 2567 เพราะประธานาธิบดีโจโก วีโดโด ต้องการฉลองวันประกาศอิสรภาพของอินโดนีเซียที่ทำเนียบประธานาธิบดีแห่งใหม่

    ซูซานโตโนเรียกร้องให้ผู้ที่เข้าร่วมงานพิจารณาการลงทุนในด้านต่างๆ เช่น การดูแลสุขภาพ การศึกษา และความบันเทิงในเมืองหลวงแห่งใหม่ โดยสัญญาว่าจะออกหลักเกณฑ์การให้สิทธิประโยชน์จูงใจในเร็วๆ นี้

    เมืองหลวงใหม่นี้จะถูกสร้างให้เป็นเมืองอัจฉริยะบนฐานป่าไม้และทรัพยากรธรรมชาติ โดยพื้นที่สีเขียวคิดเป็น 70% ของพื้นที่ทั้งหมด

    ด้านประธานาธิบดีวีโดโดกล่าวเมื่อต้นเดือนว่า อินโดนีเซียได้รับความไว้วางใจจากบริษัทใหญ่ๆ ของโลกในฐานะจุดหมายปลายทางการลงทุน แม้จะมีวิกฤติการเงินโลกในปัจจุบันก็ตาม

    “แม้ว่าโลกจะเผชิญภาวะวิกฤติทางการเงิน แต่อินโดนีเซียก็ยังได้รับความไว้วางใจที่เข้ามาลงทุนจากบริษัทยักษ์ใหญ่ของโลก” ประธานาธิบดีวีโดโดกล่าวในการวางศิลาฤกษ์โรงงาน Wavin Manufacturing Indonesia ของ Orbia ในนิคมอุตสาหกรรม Batang Integrated Industrial Estate (KITB) ) อำเภอบาตัง ชวากลาง

    ประธานาธิบดีวีโดโดกล่าวถึงเหตุผลที่อินโดนีเซียยังคงได้รับความไว้วางใจจากบริษัทขนาดใหญ่ระดับโลกว่า ความไว้วางใจของบริษัทระดับโลกในอินโดนีเซียยังคงสูง เป็นผลจากเสถียรภาพทางเศรษฐกิจและการเมืองในประเทศ และย้ำว่า ไม่ใช่เรื่องง่ายเลยที่จะได้รับความไว้วางใจในฐานะจุดหมายปลายทางการลงทุน

    “เมื่อประเทศใดถูกตราหน้าว่าไม่ดีต่อการลงทุน ก็ไม่มีประเทศใดอยากมาบ้านเรา และถ้าไม่มีใครอยากมา หมายความว่าอย่างไร เราต้องนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศ”

    การลงทุนในปัจจุบันเป็นสิ่งที่เกือบทุกประเทศในโลกพากันแย่งชิง เพราะการลงทุนสามารถเพิ่มมูลค่า สร้างงาน และเพิ่มรายได้ของรัฐ ดังนั้น จึงเป็นหนึ่งในตัวขับเคลื่อนการเติบโตทางเศรษฐกิจของอินโดนีเซีย

    “สิ่งที่เราจะดำเนินการต่อไปคือดึงการลงทุน เพราะมันจะสร้างโอกาสในการสร้างงานมหาศาลอีกครั้ง จากนั้นภาษีจะเพิ่มรายได้ของรัฐและทุนสำรองเงินตราต่างประเทศของเรา”

    ธนาคารกลางลาวห้ามร้านรับแลกเงินขายเงินตราต่างประเทศ

    ที่มาภาพ: https://www.vientianetimes.org.la/sub-new/Previous_204/freeContent/FreeConten2022_Money204.php
    ธนาคารแห่ง สปป. ลาว ประกาศ ที่เป็นตัวแทนของธนาคารพาณิชย์ ขายเงินตราต่างประเทศ โดยมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 11 ตุลาคม

    คำสั่งห้ามมีขึ้นเพื่อสนับสนุนความพยายามของรัฐบาลในการให้ธนาคารพาณิชย์มีบทบาทมากขึ้นในการซื้อและขายเงินตราต่างประเทศ ในขณะที่จำกัดบทบาทของร้านรับแลกเปลี่ยนเงินในการซื้อขายสกุลเงิน

    ภายใต้นโยบายใหม่ ร้านรับแลกเปลี่ยนเงินตราจะได้รับอนุญาตให้ซื้อเงินตราต่างประเทศจากลูกค้า แต่ห้ามขายสกุลเงินอื่นที่ไม่ใช่เงินกีบ จัดว่าเป็นการดำเนินการครั้งล่าสุดของธนาคารกลางในการควบคุมสกุลเงินต่างประเทศ ท่ามกลางการอ่อนค่าที่ต่อเนื่องของเงินกีบ ซึ่งทำให้เงินเฟ้อสูงขึ้นและส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจอย่างรุนแรง

    ประกาศของธนาคารแห่ง สปป.ลาว กำหนดว่า ร้านรับแลกเปลี่ยนเงินตราที่เป็นตัวแทนของธนาคารอาจซื้อดอลลาร์สหรัฐในอัตราที่ขึ้นลงได้ในช่วง 3% เมื่อเทียบกับอัตราอ้างอิงที่กำหนดโดยธนาคารกลาง

    อัตราการซื้อสกุลเงินอื่นไม่ควรเกินอัตราที่ออกโดยธนาคารพาณิชย์ที่เกี่ยวข้อง นอกจากนี้ ธนาคารยังได้รับอนุญาตให้กำหนดอัตราแลกเปลี่ยนเงินกีบต่อดอลลาร์สหรัฐในช่วงขึ้นลงไม่เกิน 4.5% เมื่อเทียบกับอัตราอ้างอิงประจำวันที่กำหนดโดยฝ่ายนโยบายการเงินของธนาคารกลาง

    อย่างไรก็ตาม ส่วนต่างระหว่างอัตราซื้อและขายระหว่างเงินกีบกับดอลลาร์สหรัฐ เงินบาท เงินหยวนและเงินยูโรต้องไม่เกิน 1%

    ธนาคารพาณิชย์และร้านรับแลกเปลี่ยนเงินตราต้องรายงานอัตราแลกเปลี่ยนของตนในสื่อและต่อธนาคารกลางโดยใช้แพลตฟอร์มต่างๆ เช่น เว็บไซต์ของตนเอง

    ธนาคารพาณิชย์มีหน้าที่รายงานผลการกำหนดอัตราแลกเปลี่ยนและของร้านรับแลกเปลี่ยนเงินตราที่เป็นตัวแทนไปยังธนาคารกลางภายในเวลา 16.00 น. ของวันทำการทุกวัน รายงานต้องระบุมูลค่าโดยรวมของสกุลเงินที่ซื้อขายและมูลค่าของแต่ละสกุลเงินที่ซื้อขาย

    ฝ่ายนโยบายการเงินของธนาคารกลางจะประกาศอัตราอ้างอิงเงินกีบและเงินดอลลาร์สหรัฐประจำวันทุกวันทำการอย่างเป็นทางการ เวลา 08.10 น. บนเว็บไซต์ของธนาคารกลาง เพื่อให้ธนาคารพาณิชย์และร้านรับแลกเปลี่ยนเงินตราที่เป็นตัวแทนใช้กำหนดอัตราแลกเปลี่ยนของตนเอง

    ในเดือนมิถุนายนปีนี้ ธนาคารแห่ง สปป.ลาว ได้กำหนดข้อจำกัดเกี่ยวกับร้านรับแลกเปลี่ยนเงินตรา โดยอนุญาตให้เปลี่ยนเงินเฉพาะบุคคลและนักท่องเที่ยว สูงสุด 15 ล้านกีบต่อคนต่อวัน

    รวมทั้งห้ามร้านรับแลกเปลี่ยนเงินตราซื้อขายเงินตราต่างประเทศกับองค์กรและบริษัทต่างๆ ปัจจุบันมีเพียงธนาคารพาณิชย์เท่านั้นที่ได้รับอนุญาตให้ซื้อขายเงินตราต่างประเทศกับผู้นำเข้า ผู้ส่งออก นักลงทุน และนิติบุคคลอื่นๆ

    อุตสาหกรรมจัดการสินทรัพย์สิงคโปร์โตเป็นประวัติการณ์

    ที่มาภาพ: https://www.visitsingapore.com/th_th/see-do-singapore/places-to-see/singapore-river/

    อุตสาหกรรมการจัดการสินทรัพย์ของสิงคโปร์ เติบโตขึ้นสูงเป็นประวัติการณ์ในปีที่แล้ว แซงหน้าการเติบโตของภาคธุรกิจจากทั่วโลก เพราะได้ประโยชน์จากธุรกิจที่เพิ่มขึ้นจากกองทุนระดับโลกและระดับภูมิภาค

    ธนาคารกลางสิงคโปร์ (MAS) กล่าวว่า สินทรัพย์ภายใต้การบริหารในสิงคโปร์เพิ่มขึ้น 16% ในปี 2564 เป็น 5.4 ล้านล้านดอลลาร์สิงคโปร์ (3.8 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ) เมื่อเทียบกับการเพิ่มขึ้น 12% ทั่วโลกเป็น 112 ล้านล้านดอลลาร์ในปีที่แล้ว

    ด้วยมาตรการอันเข้มงวดในการต่อสู้กับโควิด-19 ในประเทศจีนและฮ่องกง ผู้ประกอบการและนักลงทุนต่างตั้งร้านหรือขยายการลงทุนในสิงคโปร์

    MAS เปิดเผยผลสำรวจซึ่งพบว่า การเติบโตของสินทรัพย์ได้รับแรงหนุนจากการเพิ่มขึ้น 30% เมื่อเทียบเป็นรายปีในภาคการลงทุนทางเลือก ซึ่งประกอบด้วยไพรเวทอิควิตี้ (private equity), เงินร่วมลงทุน (venture capital) กองทุนเฮดจ์ฟันด์, อสังหาริมทรัพย์ และทรัสต์เพื่อการลงทุนด้านอสังหาริมทรัพย์

    “ภายในภาคการลงทุนทางเลือก การเติบโตของกองทุนไพรเวทอิควิตี้และสินทรัพย์ภายใต้การบริหารของเงินทุนร่วมทุนที่แข็งแกร่ง ในอัตรา 42% และ 48% ตามลำดับ” MAS ระบุในรายงานประจำปี

    ผู้จัดการกองทุนส่วนบุคคลและกองทุนร่วมลงทุนรายงานว่า ผงแห้งหรือทุนที่ตกลงกันไว้แต่ยังไม่ได้ถอนออก รวมมูลค่า 90 พันล้านดอลลาร์สิงคโปร์และ 5 พันล้านดอลลาร์ตามลำดับ

    สำนักงานครอบครัว (family business) และเงินทุนจำนวนมากหลั่งไหลเข้าสู่สิงคโปร์ โดยเฉพาะจากประเทศจีน กองทุนและผู้ประกอบการต่างแย่งซื้ออสังหาริมทรัพย์ระดับพรีเมียมและสนับสนุนสตาร์ทอัปในสิงคโปร์และภูมิภาค

    MAS ระบุว่า จำนวนบริษัทจัดการกองทุนที่ได้รับอนุญาตและจดทะเบียนในสิงคโปร์เพิ่มขึ้น 15% เป็น 1,108 แห่ง ณ เดือนธันวาคมปีที่แล้ว กองทุนยังได้ใช้ประโยชน์จากการลดหย่อนภาษีและสิทธิประโยชน์จูงใจที่สิงคโปร์เสนอ เพื่อตอกย้ำความน่าเชื่อถือในฐานะศูนย์กลางบริการทางการเงินที่สำคัญแห่งหนึ่งของเอเชีย

    การเปิดตัวโครงสร้างธุรกิจใหม่ที่เรียกว่า Variable Capital Companies (VCC) ในสิงคโปร์ในปี 2563 ได้ดึงดูดผู้จัดการสินทรัพย์ในวงกว้าง ซึ่งรวมถึงสำนักงานของครอบครัว เฮดจ์ฟันด์ และไพรเวทอิควิตี้

    การสำรวจของ MAS ระบุว่า VCC มากกว่า 660 แห่งได้รับการจัดตั้งขึ้นหรือตั้งถิ่นฐานใหม่ในสิงคโปร์ ณ วันที่ 14 ต.ค. ปีนี้ เทียบกับมากกว่า 400 แห่งในปีก่อนหน้า

    เมียนมาดึง FDI จากจีน 129 ล้านดอลลาร์ในรอบ 6 เดือน

    ที่มาภาพ: https://mizzima.com/article/garment-workers-face-dire-consequences-due-coup

    บริษัทต่างชาติทั้งหมด 29 แห่ง ใส่เงิน 129 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เข้าสู่ภาคการผลิตของเมียนมาในช่วงครึ่งแรกของปีงบประมาณปัจจุบัน 2565-2566 รวมถึงการขยายทุนของบริษัทที่ดำเนินการอยู่แล้ว จากข้อมูลตามสถิติที่เผยแพร่โดย Directorate of Investment and Company Administration (DICA) หรือหน่วยงานที่กำกับดูแลด้านการลงทุนและการจัดตั้งบริษัทของเมียนมา

    เมียนมาดึงดูดการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศจำนวน 1.24 พันล้านดอลลาร์จาก 39 บริษัทในช่วงเดือนเมษายน-กันยายน การลงทุนส่วนใหญ่เข้าสู่ภาคการผลิต ภาคพลังงานได้รับ 702.4 ล้านดอลลาร์จาก 6 โครงการ ขณะที่บริษัทหนึ่งทุ่มเงิน 29 ล้านดอลลาร์ในภาคอสังหาริมทรัพย์ และบริษัทต่างประเทศอีก 2 แห่งลงทุน 378 ล้านดอลลาร์ในภาคบริการตามลำดับ นอกจากนี้ ภาคปศุสัตว์และการประมงยังมีการขยายทุน 1.545 ล้านดอลลาร์

    สถานประกอบการด้านการผลิตและธุรกิจที่ต้องการกำลังแรงงานจำนวนมากได้รับความสำคัญเป็นอันดับต้นๆ เพื่อสร้างโอกาสในการทำงานให้กับชุมชนท้องถิ่น ตามรายงานของคณะกรรมการการลงทุนเมียนมา

    แม้สถานประกอบการที่ใช้แรงงานจำนวนมากต้องเผชิญกับปัญหาทางการเงินจากผลกระทบด้านลบของการระบาดของโควิด-19 และการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง แต่ตอนนี้อุตสาหกรรมกำลังกลับสู่สภาวะปกติหลังจากโครงการฉีดวัคซีนโควิด-19 ให้คนงานตามรายงานของไอเอชมาร์กิตในเดือนกันยายน และยังมีบริการการตรวจสุขภาพเคลื่อนที่ให้กับคนงานตัดเย็บเสื้อผ้าที่ย่างกุ้งและเนปยีดอ ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากยูนิเซฟเมียนมา เพื่อเพิ่มผลผลิตของโรงงานด้วยแรงงานที่มีสุขภาพดีในอุตสาหกรรมตัดเย็บเสื้อผ้า

    สมาคมผู้ผลิตเครื่องนุ่งห่มเมียนมาได้จัดกิจกรรมให้ความรู้ด้านกฎหมายแรงงานและการฝึกอบรม ตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2565 โดยได้รับการสนับสนุนจากยูนิเซฟในเมียนมา มีจุดมุ่งหมายเพื่อเสริมทักษะทางสังคมที่จำเป็นสำหรับการพัฒนาอุตสาหกรรม และสร้างสถานที่ทำงานที่ดีขึ้นสำหรับคนงานตัดเย็บเสื้อผ้า

    นอกจากนี้ สมาคมจะเปิดตัวการประเมินการปฏิบัติตามข้อกำหนดด้านแรงงานโดยสมัครใจผ่านระบบออนไลน์ (voluntary labour compliance assessment — VLCA Online System) ในเดือนพฤศจิกายน 2565

    ภาคการผลิตของเมียนมาส่วนใหญ่กระจุกตัวอยู่ในเครื่องนุ่งห่มและสิ่งทอที่ผลิตแบบ cutting making packaging (CMP) และมีส่วนใน GDP ของประเทศมากในระดับหนึ่ง

    เมียนมาดึงดูดการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศมากกว่า 647.127 ล้านดอลลาร์จาก 49 บริษัทในปีงบประมาณย่อยที่ผ่านมา (ตุลาคม 2564 ถึงมีนาคม 2565) ในจำนวนนี้ มีบริษัทต่างชาติ 40 แห่งลงทุนในภาคการผลิต โดยใส่เงินลงทุนประมาณ 202.667 ล้านดอลลาร์

    อาเซียน–อียูลงนามข้อตกลงการบินเชื่อมโยง 1.1 พันล้านคน

    ที่มาภาพ: https://asean.org/joint-press-release-on-the-signing-of-the-asean-eu-comprehensive-air-transport-agreement/

    วันที่ 17 ตุลาคม สหภาพยุโรปและสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (ASEAN) ได้ร่วมลงนามในข้อตกลงการขนส่งทางอากาศที่ครอบคลุม ซึ่งจะเปิดโอกาสในการขนส่งทางอากาศมากขึ้น และยกระดับการเชื่อมต่อโดยตรงระหว่างสองภูมิภาค ในขณะเดียวกันก็ยกระดับกฎเกณฑ์และมาตรฐานสำหรับเที่ยวบินที่เกี่ยวข้อง ข้อตกลงจะมีผลบังคับใช้ทันทีด้วยการกำหนดมาตรฐานระดับโลกที่กำหนดให้ทั้ง 37 ประเทศในทั้งสองภูมิภาคมีการแข่งขันที่เป็นธรรมและปรับปรุงสภาพสังคมและสิ่งแวดล้อม ถือเป็นตัวอย่างล่าสุดของข้อตกลงการขนส่งทางอากาศระหว่างประเทศชุดใหม่ และเป็นการให้โอกาสใหม่สำหรับผู้บริโภค สายการบิน และสนามบิน ทั้งในยุโรปและในกลุ่มประเทศอาเซียน

    อาดินา วาลีน กรรมาธิการด้านคมนาคมกล่าวว่า “ข้อตกลงการขนส่งทางอากาศแบบ ‘bloc-to-bloc’ ครั้งแรกที่ทำมานี้ นำความเป็นหุ้นส่วนด้านการบินของสหภาพยุโรป–อาเซียนไปสู่ระดับใหม่ โดยจะสนับสนุนการฟื้นตัวของภาคการบินหลังโควิด-19 และฟื้นฟูการเชื่อมโยงที่มีความสำคัญมากเพื่อประโยชน์ของผู้คนประมาณ 1.1 พันล้านคน ทำให้ธุรกิจ การค้า การท่องเที่ยว และการแลกเปลี่ยนระหว่างบุคคลมีมากขึ้น โดยจะเข้ามาแทนที่ข้อตกลงการให้บริการทางอากาศทวิภาคีมากกว่า 140 ฉบับ และกลายเป็นข้อตกลงหนึ่งและลดการทุจริตคอร์รัปชัน นอกจากนี้ ยังสร้างแพลตฟอร์มใหม่ที่จะทำงานร่วมกันเพื่อมุ่งสู่ความมุ่งมั่นร่วมกันในด้านการบินที่ยั่งยืนทั้งทางเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม”

    อาเซียนเป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจระดับโลกที่มีตลาดการบินเติบโตอย่างรวดเร็ว ในปี 2563 อาเซียนเป็นตลาดการขนส่งสินค้าที่ใหญ่เป็นอันดับ 9 ของสหภาพยุโรป และใหญ่เป็นอันดับที่ 16 สำหรับผู้โดยสารที่เดินทางมากกว่า 8 ล้านคน นอกจากนี้ ยังแนะนำกรอบการทำงานที่ทันสมัยสำหรับบริการทางอากาศระหว่างยุโรปและเอเชีย ซึ่งเปิดโอกาสในขณะที่รับรองมาตรฐานระดับสูง จึงเป็นการลงทุนในอนาคต

    ข้อตกลงในวันนี้ทำให้มีสนามแข่งขันที่เท่าเทียมกัน และคาดว่าจะนำมาซึ่งโอกาสใหม่ๆ ในการขนส่งทางอากาศและผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจสำหรับทั้งสองฝ่าย

    โดยเข้ามาแทนที่ข้อตกลงการให้บริการทางอากาศแบบทวิภาคีมากกว่า 140 ฉบับ ซึ่งทำให้มีกฎเกณฑ์ชุดเดียวและลดการทุจริตคอร์รัปชัน ปัจจุบันประเทศสมาชิกสหภาพยุโรปที่ไม่มีข้อตกลงทวิภาคีกับรัฐอาเซียนได้รับการคุ้มครองโดยกรอบกฎหมายที่ทันสมัย

    สายการบินในสหภาพยุโรปทั้งหมดจะสามารถให้บริการเที่ยวบินตรงจากสนามบินใดก็ได้ในสหภาพยุโรปไปยังสนามบินทั้งหมดในอาเซียน และจะมีผลเช่นกันเดียวกับสายการบินในอาเซียน ซึ่งจะช่วยให้สายการบินของสหภาพยุโรปและอาเซียนสามารถแข่งขันกับคู่แข่งที่มุ่งเป้าไปที่ตลาดสหภาพยุโรป-อาเซียนที่ทำกำไรได้

    สายการบินจะสามารถให้บริการผู้โดยสารได้ถึง 14 เที่ยวต่อสัปดาห์ไปยังหรือจากแต่ละประเทศสมาชิกสหภาพยุโรป และบริการขนส่งสินค้าจำนวนเท่าใดก็ได้ทั้งผ่านและออกทั้งสองภูมิภาค ไปยังประเทศที่สาม

    ข้อตกลงนี้รวมถึงข้อกำหนดการแข่งขันที่ทันสมัยและเป็นธรรมเพื่อจัดการกับการบิดเบือนของตลาด

    ทั้งสองฝ่ายยังตระหนักถึงความสำคัญของประเด็นด้านสิ่งแวดล้อมและสังคม ตกลงที่จะให้ความร่วมมือและปรับปรุงกฎหมายและนโยบายด้านสังคมและแรงงานของตน

    ในปี 2559 คณะกรรมาธิการได้รับอนุญาตจากสภาเพื่อเจรจาข้อตกลงการบินระดับสหภาพยุโรปกับอาเซียน การเจรจาได้ข้อสรุปในเดือนมิถุนายน 2564

    ข้อตกลงการขนส่งทางอากาศที่ครอบคลุมของสหภาพยุโรปที่คล้ายกันได้ลงนามกับประเทศพันธมิตรอื่นๆ ได้แก่ สหรัฐอเมริกา แคนาดา กาตาร์ บอลข่านตะวันตก โมร็อกโก จอร์เจีย จอร์แดน มอลโดวา อิสราเอล ยูเครน และอาร์เมเนีย

    ข้อตกลงเริ่มมีผลบังคับใช้นับจากวันที่ลงนาม ในขั้นตอนต่อไป ทั้งสองฝ่ายจะเริ่มกระบวนการให้สัตยาบันตามขั้นตอนที่เกี่ยวข้องเพื่อบังคับใช้ข้อตกลง