ThaiPublica > สู่อาเซียน > สิงคโปร์อันดับ 1 ศูนย์กลางการเงินเอเชียแซงหน้าฮ่องกง

สิงคโปร์อันดับ 1 ศูนย์กลางการเงินเอเชียแซงหน้าฮ่องกง

24 กันยายน 2022


ที่มาภาพ: https://www.visitsingapore.com/see-do-singapore/places-to-see/singapore-river/

สิงคโปร์ก้าวขึ้นมาแทนฮ่องกงในฐานะศูนย์กลางทางการเงินอันดับต้น ๆ ของเอเชีย และในฐานะพันธมิตรรายใหม่กับลอนดอนและนิวยอร์ก

สิงคโปร์แซงหน้าฮ่องกงขึ้นสู่ศูนย์กลางทางการเงินชั้นนำของเอเชีย และอันดับ 3 ของโลก จากข้อมูลในรายงานฉบับใหม่ ด้านนิวยอร์กติดอันดับหนึ่ง และลอนดอนเป็นอันดับที่สอง

ฮ่องกงตกลงมาอยู่อันดับที่ 4 เพราะผลกระทบจากมาตรการคุมโควิด-19 ที่เข้มงวดและการย้ายถิ่นของผู้มีมีความสามารถสูง ขณะที่ซานฟรานซิสโกเลื่อนขึ้นสองอันดับมาอยู่ใน 5 อันดับแรกของศูนย์กลางทางการเงินโลก Global Financial Centres Index (GFCI)

ฮ่องกงกำลังดิ้นรนเพื่อฟื้นฟูบทบาทในฐานะศูนย์กลางการเงินระดับโลก เนื่องจากยังคงปฏิบัติตามนโยบายของจีนในการดูแลผู้ติดเชื้อโควิด-19 ให้มีจำนวนน้อยที่สุด ในขณะที่ประเทศอื่นๆ ทั่วโลกเปิดประเทศแล้ว

การประชุมสุดยอดนายธนาคารระดับโลกในเดือนพฤศจิกายน ซึ่งมีเป้าหมายเพื่อฟื้นฟูความเชื่อมั่นต่อฮ่องกง ได้รับคำมั่นจากบริษัทชั้นนำ 20 แห่งที่จะส่งผู้บริหารระดับสูงเข้าร่วม แต่ยังมีความไม่แน่นอนเกี่ยวกับการผ่อนคลายข้อกำหนดการกักตัว ซึ่งมีผลให้จำนวนนักท่องเที่ยวน้อย และอาจจะส่งผลกระทบต่อผู้ที่มาใช้บริการ

ในทางกลับกัน สิงคโปร์คาดว่าจะมีนักท่องเที่ยวกว่า 4 ล้านคนในปี 2565 อีเวนท์ที่มีชื่อติดอันดับมากมายซึ่งรวมถึงการประชุมสุดยอด Milken Institute Asia, การประชุม Forbes Global CEO และ Singapore Grand Prix จะช่วยยกระดับสิงคโปร์ให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวสำคัญ

เมืองต่างๆ ของจีนอย่างเซี่ยงไฮ้ ปักกิ่ง และเสิ่นจิ้น ต่างยังคงติดอยู่ใน 10 อันดับแรกของ Global Financial Centres Index แม้มีมาตรการสกัดโรคโควิด-19 ซึ่งมีผลให้จีนแปลกแยกออกจากภูมิภาคอื่นๆ ของโลก

สำหรับศูนย์กลางทางการเงินชั้นนำ 20 อันดับแรกได้แก่ นิวยอร์ก, ลอนดอน, สิงคโปร์, ฮ่องกง, ซานฟรานซิสโก, เซี่ยงไฮ้, ลอสแองเจลิส, ปักกิ่ง, เสิ่นเจิ้น ประเทศจีน, ปารีส, โซล, ชิคาโก, ซิดนีย์, บอสตัน วอชิงตัน ดี.ซี.,โตเกียว, ดูไบ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์,แฟรงก์เฟิร์ต, อัมสเตอร์ดัม และ เจนีวา

ไฮไลท์สำคัญๆในรายงาน ได้แก่

  • ปารีสกลับมาติด 10 อันดับแรก ขณะที่โตเกียวร่วงลงไปที่อันดับ 16
  • ซิดนีย์พุ่งขึ้น 10 อันดับไปอยู่อันดับที่ 13
  • ดูไบและอาบูดาบีครองตำแหน่งผู้นำในตะวันออกกลาง โดยอยู่ในอันดับที่ 17 และ 32 ของโลกตามลำดับ
  • ศูนย์กลางทางการเงินของรัสเซียได้รับผลกระทบจากสงครามในยูเครน โดยมอสโกตกลงป 22 อันดับไปที่อันดับ 73 และเซนต์ปีเตอร์สเบิร์กตกลง 17 อันดับไปที่อันดับ 114
  • บาร์เบโดส ซีอาน และอู่ฮั่น อยู่ใน 3 อันดับหลังสุดในลิสต์

    รายภูมิภาค

  • ยุโรปตะวันตก
  • ลอนดอนยังคงเป็นผู้นำในภูมิภาคนี้ และมีคะแนนเพิ่มขึ้น 5 คะแนนในการจัดอันดับ ศูนย์ชั้นนำอื่น ๆ ของยุโรปตะวันตกก็ได้รับการจัดอันดับที่เพิ่มขึ้นเช่นกัน เบอร์ลิน, สตุตการ์ต, ลูกาโน, มอลตา, เรคยาวิก, เกิร์นซีย์ และลิกเตนสไตน์ เพิ่มขึ้นมากกว่า 10 อันดับ ขณะที่มาดริดและบรัสเซลส์ตกลงมามากกว่า 10 อันดับ

  • ภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก
  • ศูนย์กลางการเงินเอเชีย/แปซิฟิกมีผลงานที่สมดุล โดยครึ่งหนึ่งของศูนย์เหล่านี้คงอันดับหรือเลื่อนอันดับขึ้น และอีกครึ่งหนึ่งอันดับตกลง ศูนย์กลางการเงินชั้นนำในภูมิภาคมีแนวโน้มที่จะมีผลงานที่ดีกว่าศูนย์กลางการเงินที่ติดอันดับล่าง

    สิงคโปร์แซงหน้าฮ่องกงด้วยคะแนนเพียงหนึ่งคะแนนขึ้นเป็นผู้นำในภูมิภาค และอันดับ 3 ในดัชนีโดยรวม เซี่ยงไฮ้ ปักกิ่ง และเสิ่นเจิ้นยังติดอันดับท็อปเท็นของโลกด้วย

    การจำกัดการเดินทางอย่างต่อเนื่องในหลายที่เช่น ฮ่องกงและโตเกียว ส่งผลต่อความสามารถในการที่จะดำเนินธุรกิจได้ตามปกติ

  • อเมริกาเหนือ
  • นิวยอร์ก ซานฟรานซิสโก และลอสแองเจลิส ติดอยู่ใน 10 อันดับแรกของโลก ขณะที่ศูนย์กลางการเงินในแคนาดามีผลงานไม่ดีเท่ากับศูนย์ของสหรัฐฯ ในภูมิภาคนี้ ส่วนแอตแลนต้าและซานดิเอโก ต่างเพิ่มขึ้นมากกว่า 10 อันดับ

  • ยุโรปตะวันออกและเอเชียกลาง
  • กรุงปราก กรุงวอร์ซอ และนูร์-ซุลตัน พากันแซงหน้ามอสโกขึ้นเป็นผู้นำในยุโรปตะวันออกและเอเชียกลาง แต่ศูนย์กลางการเงินหลักๆในภูมิภาคนี้มีอันดับลดลงในการจัดอันดับGFCI ครั้งที่ 32 จากที่เลื่อนดันดับในGFCI ครั้งที่ 32 โดยมอสโก อิสตันบูล อัลมาตี เอเธนส์ และเซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก ตกลงมากกว่า 10 อันดับ

  • ตะวันออกกลางและอัฟริกา
  • ดูไบและอาบูดาบีติดอันดับหนึ่งและสองในภูมิภาค โดยที่ดูไบอยู่ในอันดับที่ 17 และอาบูดาบีตกลงหนึ่งอันดับ แต่คาซาบลังกายังคงเป็นศูนย์ชั้นนำของแอฟริกา โดยรักษาอันดับที่ 54 ของการจัดอันดับโดยรวม ในขณะที่ศูนย์กลางการเงินแอฟริกาอื่นๆ อันดับก็ตกลงเช่นกัน

  • ละตินอเมริกาและแคริบเบียน
  • ศูนย์กลางการเงินส่วนใหญ่ในภูมิภาคนี้มีอันดับลดลง หลังจากมีผลงานที่ดีขึ้นใน GFCI 31 หมู่เกาะเคย์แมน ซานติอาโก และเบอร์มิวดาแซงหน้าเม็กซิโกซิตี้ขึ้นเป็นผู้นำในภูมิภาค ส่วนเม็กซิโกซิตี้, เซาเปาโล, รีโอเดจาเนโร, โบโกตา และบาฮามาส ตกลงไปมากกว่า 10 อันดับ

  • Fintech
  • การจัดอันดับครั้งนี้ประเมิน 113 ศูนย์กลางการเงินที่มีบริกาาร Fintech ด้วย โดยนิวยอร์กยังคงครองตำแหน่งผู้นำในการจัดอันดับ Fintech ตามมาด้วยซานฟรานซิสโก ลอสแองเจลิส และลอนดอน และมีเซี่ยงไฮ้ กับ ปักกิ่ง ติดอยู่ในอันดับที่ 5 และ 6

    จีน สหรัฐอเมริกา และเยอรมันทำได้ดีในการจัดอันดับ Fintech โดยแอตแลนตา เฉิงตู เบอร์ลิน สตุตการ์ต ซานดิเอโก เทียนจิน ต้าเหลียน หนานจิง หางโจว และอู่ฮั่น ดีขึ้นกว่า 10 อันดับ ส่วนประเทศอื่นที่เหลือ เฮลซิงกิ ออสโล และลูกาโนยังได้มีอันดับดีขึ้นกว่า 10 อันดับอีกด้วย

    ดัชนีนี้จัดทำโดย Z/Yen Partners และ China Development Institute จัดอันดับศูนย์กลางทางการเงิน 119 แห่ง และใช้ข้อมูลที่รวบรวมจากผู้เชี่ยวชาญด้านบริการทางการเงินหลายพันรายในการตอบแบบสอบถามออนไลน์