ThaiPublica > เกาะกระแส > Youth In Charge Talk : เสียงจาก “เยาวชน” ถึงอุตสาหกรรม “ภาพยนตร์ไทย” ไปอย่างไรต่อ?

Youth In Charge Talk : เสียงจาก “เยาวชน” ถึงอุตสาหกรรม “ภาพยนตร์ไทย” ไปอย่างไรต่อ?

24 สิงหาคม 2023


4 สิงหาคม 2566 Youth In Charge จัดวงเสวนาในประเด็น “Youth In Charge Talk: Soft Power ไทย ไปอย่างไรต่อ?” โดยมีหัวข้อแรกคือ “การพัฒนาอุตสาหกรรมภาพยนตร์ เพื่อผลักดัน Soft Power ไทยไปด้วยกัน” จุดประสงค์เพื่อให้ “ผู้ใหญ่” ทุกภาคส่วน รับฟังและแลกเปลี่ยนแนวคิดแนวทางการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมภาพยนตร์ไทยผ่านมุมมองของ “เยาวชน”

ผู้ร่วมเสวนาประกอบด้วย นางสาวณัฐิยา สุจินดา รองอธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์, นายอินทพันธุ์ บัวเขียว รองผู้อำนวยการ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (CEA), นายณัฐ มินทราศักดิ์ Manager Pipeline Technical Director Marvel Studios และนายจุฬญาณนนท์ ศิริผล นักผลิตภาพยนตร์และศิลปินภาพเคลื่อนไหว และอาจารย์ด้านภาพยนตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ ส่วนตัวแทนเยาวชน Youth In Charge ได้แก่ นางสาวบุณยาพร สายสร้อย, นายมงคล ชุ่มเงิน และนายอินทัช แซ่ฉั่ว ทั้งนี้ นางสาวเอริกา เมษินทรีย์ เป็นผู้ดำเนินวงเสวนา

“ภาพยนตร์” Soft Power และอาวุธทางวัฒนธรรม

เริ่มจากอุตสาหกรรมภาพยนตร์ ในระดับภาพใหญ่ของประเทศ นางสาวณัฐิยา สุจินดา รองอธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ เล่าว่า บทบาทของกรมส่งเสริมการค้าฯ คือการประเมินว่า “สินค้า” จะไปสู่ตลาดต่างประเทศได้อย่างไร โดยมองว่าธุรกิจภาพยนตร์นับว่าเป็นกลุ่มธุรกิจที่ยังใหม่ เพิ่งมีบทบาทในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา

นายอินทพันธุ์ บัวเขียว รองผู้อำนวยการ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (CEA) ขยายความว่า เศรษฐกิจสร้างสรรค์ของประเทศไทยมีมูลค่าประมาณ 1-1.5 ล้านล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนถึง 9% ต่อจีดีพี และเศรษฐกิจสร้างสรรค์ยังมีอัตราการเติบโตที่ 5% ต่อปี สูงกว่าการเติบโตของจีดีพี

โดยบทบาทของ CEA เกี่ยวข้องกับการส่งเสริมเศรษฐกิจ 4 กลุ่ม คือ (1) เศรษฐกิจดิจิทัล (2) เศรษฐกิจชีวภาพ (3) เศรษฐกิจสร้างสรรค์ และ (4) เศรษฐกิจผู้สูงอายุ ขณะเดียวกัน CEA ก็มีหน้าที่ส่งเสริมผู้ประกอบการรุ่นใหม่

นายอินทพันธุ์ บัวเขียว รองผู้อำนวยการ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (CEA)

นายจุฬญาณนนท์ ศิริผล นักผลิตภาพยนตร์และศิลปินภาพเคลื่อนไหว และอาจารย์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า soft power ตามนิยามของกระทรวงวัฒนธรรมมีอยู่ 5 อย่าง หรือเรียกว่า 5F คือ Food-อาหาร Film-ภาพยนตร์และวีดิทัศน์ Fashion-แฟชั่น Festival-เทศกาลและประเพณีไทย และ Fighting-ศิลปะป้องกันตัว

“soft power คืออาวุธทางวัฒนธรรมที่จะไปครอบงำประเทศอื่นให้ทำตาม ดังนั้น ถ้าจะเอาวัฒนธรรมไทยไปครอบหรือบังคับให้คนอื่นชอบ ต้องหาทางเชื่อมโยงวัฒนธรรมของประเทศอื่นๆ” นายจุฬญาณนนท์กล่าว

“เยาวชน” เสนอปลดล็อกเซนเซอร์-กระจายแพลตฟอร์ม-สวัสดิภาพคนกอง

เมื่อถามถึงโอกาสและความท้าทายของอุตสาหกรรมภาพยนตร์ไทยจากมุมมองของเยาวชน นางสาวบุณยาพร สายสร้อย หรือมะนาว นักศึกษามหาวิทยาลัยมหิดล และผู้ก่อตั้ง ELEGUIDE แพลตฟอร์มแนะแนวการศึกษาสำหรับระดับชั้นมัธยมศึกษา มองว่า ความท้าทายคือการหลุดจากความคิดเดิมๆ ของสังคมไทย โดยเฉพาะประเด็นที่ภาครัฐต้องเซ็นเซอร์ เช่น ประเด็นทางศาสนา ความเชื่อ หรือประเด็นที่อ่อนไหว จนเป็นข้อจำกัดของผู้ผลิตภาพยนตร์ ซึ่งรัฐควรปล่อยให้ภาพยนตร์เผยแพร่ได้โดยไม่ผ่านการเซ็นเซอร์ และปล่อยให้เป็นวิจารณญาณของผู้ชม

ด้านโอกาส มะนาว มองว่า ภาพยนตร์คือศิลปะ ไม่ใช่แค่ความบันเทิง ยกตัวอย่างภาพยนตร์ “One for the Road วันสุดท้าย…ก่อนบายเธอ” กับฉากที่ตัวละครใส่เทปคาสเซตบนรถ จนถูกพูดถึงและเป็นไวรัลในแพลตฟอร์มอื่นๆ สะท้อนให้เห็นว่า เนื้อหาไม่ได้จบแค่ภาพยนตร์

นางสาวบุณยาพร สายสร้อย หรือมะนาว นักศึกษามหาวิทยาลัยมหิดล

นายมงคล ชุ่มเงิน หรือไกด์ เจ้าหน้าที่จัดการนโยบายและแผน กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ และนิสิตปริญญาโทสาขาการออกแบบเพื่อธุรกิจ วิทยาลัยนวัตกรรมสื่อสารสังคม มศว กล่าวว่า ปัจจุบันอาจเป็นโอกาสทองของผู้ผลิต เพราะภาพยนตร์ไม่จำเป็นต้องอยู่แค่ในโรงภาพยนตร์ แต่สามารถอยู่บนแพลตฟอร์ม OTT (over-the-top หรือการสตรีมมิงผ่านอินเทอร์เน็ต) และทำให้ผลิตสามารถสร้างเนื้อหาที่ตรงกับกลุ่มผู้ชมมากขึ้น แต่ก็เป็นความท้าทายที่ผู้ผลิตต้องสร้างเนื้อหาที่ให้อะไรกับคนดูเช่นกัน

นายอินทัช แซ่ฉั่ว หรือพ้ง บัณฑิตคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย บอกว่า ตนเรียนจบด้านภาพยนตร์ และสนใจทำงานด้านนี้ แต่เนื่องจากเพิ่งเรียนจบใหม่ จึงมองว่า งานด้านภาพยนตร์อาจไม่มีความมั่นคง และไม่เห็นโอกาสที่อุตสาหกรรมจะอ้าแขนเปิดรับคนใหม่ๆ และตนก็ไม่อยากไปทำงานอื่นแล้วปล่อยให้ภาพยนตร์เป็นแค่แพสชัน

พ้ง ยังพูดถึงปัญหามิติสวัสดิภาพคนในกองถ่ายว่า “เวลานายทุนมาลงทุน เขาจะลงทุนกับรายที่ถูก และหลายรายยอมกดราคาตัวเองเพื่อให้ได้งาน มันไม่แฟร์กับคนทำงาน-ฟรีแลนซ์ สุดท้ายเราตัดราคากัน ทำให้ราคาตลาดลดลง ถ้ารัฐเข้ามาควบคุมเพดานรายได้ ทำให้อุตสาหกรรมน่าอยู่มากขึ้น และชั่วโมงการทำงานในกองถ่าย เมื่อก่อน 1 คิวคือ 16 ชั่วโมงในกอง แต่มันไม่ควรเกิน 8 ชั่วโมงด้วยซ้ำ มากสุดอาจจะ 12 ชั่วโมง”

นายอินทัช แซ่ฉั่ว หรือพ้ง บัณฑิตคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

รัฐไทย สนับสนุนแต่วัฒนธรรมกระแสหลัก

หลังจากได้ฟังเสียงคนรุ่นใหม่แล้ว นายณัฐ มินทราศักดิ์ Manager Pipeline Technical Director Marvel Studios กล่าวว่าเห็นใจสิ่งที่เยาวชนพบเจอและให้ข้อมูลว่า ที่อเมริกายังมีสวัสดิภาพดูแลคนในกองถ่าย และบริษัทภาพยนตร์ในไทยก็ควรมีการดูแลสวัสดิภาพอย่างจริงจังเช่นกัน

นายณัฐยังให้กำลังใจว่า “อย่าท้อ” เพราะปัญหาความมั่นคงในการทำงานที่ประเทศอเมริกาก็แย่เหมือนกัน แต่ที่ควรมองหาคือโอกาสแสดงผลงานในแพลตฟอร์มต่างๆ และไม่จำเป็นต้องเจาะจงว่าจะทำงานแค่ในประเทศ เพราะต่างประเทศก็เป็นทางเลือกเหมือนกัน

นายณัฐมองว่า ปัญหาหนึ่งที่ทำให้บริษัทที่เกี่ยวข้องกับภาพยนตร์ยังเติบโตไม่เต็มที่เพราะ “สเกล” ที่ไม่พร้อมรับงานกับบริษัทระดับโลก ทั้งที่ปัจจุบันสตูดิโอระดับโลกเน้นการจ้างงานแบบ outsource มากขึ้น ดังนั้น ควรส่งเสริมให้บริษัทไทยมีศักยภาพที่จะรองรับงานฟอร์มใหญ่ได้

นายณัฐ มินทราศักดิ์ Manager Pipeline Technical Director Marvel Studios

นายจุฬญาณนนท์ยังเห็นด้วยกับแนวคิดของเยาวชนเรื่องการครอบงำโดยรัฐ และบอกว่า ทุกวันนี้ soft power ถูกปรุงแต่งหรือพาสเจอไรซ์โดยภาครัฐ ทั้งที่เราสามารถขายวัฒนธรรมไทยโดยไม่จำเป็นต้องเสนอความเป็นไทยในมุมเดียว และไม่จำเป็นต้องพึ่งมุมมองการผลิตจากภาครัฐได้

“สิ่งที่รัฐไทยอาจจะกลัวมาก แต่ประสบความสำเร็จในแง่ soft power คือ ซีรีส์วาย รัฐไทยไม่ได้สนับสนุนอย่างตรงไปตรงมา เพราะเพศหลากหลายไม่ได้สอดคล้องกับวัฒนธรรมไทยกระแสหลัก แต่ชาวต่างชาติสนใจ รัฐไทยแทบไม่เคยพูดว่าไทยเป็นศูนย์กลางของ LGBT รัฐไม่กล้านำเสนอออกมา ไม่อยากสนับสนุน แต่ดังในต่างประเทศ”นายจุฬญาณนนท์กล่าว

นายจุฬญาณนนท์ยังกล่าวในฐานะที่เป็นทั้งอาจารย์และผู้ผลิตภาพยนตร์อิสระว่า แหล่งทุนคือสิ่งสำคัญของผู้ผลิตภาพยนตร์อิสระ แต่ผู้ผลิตอิสระมักจะได้ทุนยากกว่าค่ายภาพยนตร์ ทำให้อาชีพผู้ผลิตภาพยนตร์อิสระไม่ใช่อาชีพที่หาเลี้ยงชีพได้จริง

“งานหนังอิสระเป็น second job ไม่ได้เลี้ยงชีพอย่างแท้จริง แต่เป็นความฝันของคนที่อยากจะทำ อาจจะไม่ได้เลี้ยงร่างกาย แต่มันหล่อเลี้ยงจิตใจ”

จุดแข็งคือโปรดักชั่น แต่โอกาสยังไม่มาถึง

ด้านนายอินทพันธุ์กล่าวว่า จุดแข็งของอุตสาหกรรมภาพยนตร์ไทยคือกลางน้ำ นั่นคือ “โปรดักชั่น” เพราะมีบุคลากร มีการเรียนการสอน อุปกรณ์เครื่องมือที่ครบครัน และมีเอกชนรายใหญ่ที่เข้มแข็ง ยิ่งกว่านั้นคือมีโลเคชั่นที่ดี ไม่นับหิมะและทะเลทราย

นายอินทพันธุ์กล่าวถึงการยกระดับกลางน้ำของอุตสาหกรรมว่า เราต้องหาทางเชื่อมโยงกับ global supply chain โดยแข่งขันกับตลาดโลกผ่าน OTT

“อเมริกาผลิตคอนเทนต์เพื่อคนทั้งโลก 6,000 ล้านคน เกาหลีอาจผลิตให้คนในเอเชีย 2,000 ล้านคน ต้นทุนต่อหน่วยต่ำ ถ้าเราผลิตคอนเทนต์เพื่อคนไทย 70 ล้านคน ต้นทุนจะสูง”

นางสาวณัฐิยา เล่าประสบการณ์ในฐานะอดีตทูตที่กรุงเบอร์ลิน ประเทศเยอรมัน ว่า หน่วยงานที่ให้ทุนในกรุงเบอร์ลินบอกว่าชอบภาพยนตร์เรื่อง “คิดถึงวิทยา” แต่หลังจากนั้นไม่เห็นภาพยนตร์ประเภทนี้อีกเลย ซึ่งตอนแรกตนคิดว่าคนไทยอาจจะไม่ขอทุนเพราะสื่อสารทางภาษาไม่ได้ แต่สุดท้ายตนมองเป็นเรื่องการแสวงหาโอกาสมากกว่า

“คนไทยใช้ความพยายามหรือมุ่งไปสู่แสวงหาโอกาสน้อยกว่าประเทศอื่น อาจเพราะเรามีการแข่งขันน้อยกว่าจีนหรืออีกหลายประเทศ แต่โดยรวมประเทศเราสบายกว่าที่อื่น เหมือนคนไทยไม่ต้องแข่งขันมากเลยไม่มองหาโอกาส เราแค่ต้องแสวงหา และมุ่งไปตรงนั้น” นางสาวณัฐิยากล่าว

นางสาวณัฐิยา สุจินดา รองอธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์

เสนอ “พื้นที่” เชื่อมโยงคนรุ่นใหม่

ไกด์ซึ่งเป็นตัวแทนเยาวชนเห็นด้วยกับประเด็นการผลักดันกลางน้ำของอุตสาหกรรมภาพยนตร์ แต่ก็พูดถึงต้นน้ำว่า ต้นน้ำของภาพยนตร์คือ เรื่องแผนและนโยบาย สิ่งสำคัญคือ รัฐต้องทำแผนระยะยาว ไม่ใช่แค่วาระประจำปีแล้วจบ

ไกด์เสนอว่า แผนและนโยบายด้านภาพยนตร์ควรได้เข้าไปอยู่ในมหาวิทยาลัย เพราะช่วยให้นักศึกษาเข้าใจกระบวนการและเห็นภาพมากกว่าในห้องเรียน และอาจได้เห็นไอเดียที่เป็นแรงกระเพื่อมใหม่ๆ ทำให้เยาวชนเห็นลู่ทางการเติบโตมากขึ้น

นอกจากนี้ เยาวชนทั้ง 3 คน เสนอเรื่องพื้นที่ (community) ของคนในวงการ ถ้ามีพื้นที่ก็จะดึงคนเข้ามามากขึ้น และทำให้เด็กรุ่นใหม่ได้แสดงศักยภาพมากขึ้น แต่พื้นที่ต้องยึดโยงกับประชาชน โดยมีภาครัฐช่วยส่งเสริม

นายมงคล ชุ่มเงิน หรือไกด์ นิสิตปริญญาโทสาขาการออกแบบเพื่อธุรกิจ วิทยาลัยนวัตกรรมสื่อสารสังคม มศว

นโยบายรัฐ ต้องชัดเจนและไปทางเดียวกัน

มีคำถามว่า “ผู้ใหญ่ในอุตสาหกรรมจะช่วยต่อเติมฝันของเยาวชนได้อย่างไร” นายจุฬญาณนนท์ กล่าวว่า คนไทยต้องการให้ภาพยนตร์ไทยอยู่ในโรงภาพยนตร์ให้ได้นานที่สุด แต่ด้วยความที่ภาพยนตร์บางเรื่องไม่สามารถดึงดูดผู้ชมได้ หรือด้วยระบบธุรกิจที่ทำให้ภาพยนตร์ต่างประเทศมีโอกาสฉายนานกว่า ดังนั้น ภาครัฐควรเข้ามากำหนดโควตาเวลาขั้นต่ำที่จะทำให้ภาพยนตร์ไทยได้พิสูจน์ตัวเองในโรงภาพยนตร์

อย่างไรก็ตาม นายจุฬญาณนนท์ยังให้มุมมองแก่เยาวชนว่า การทำงานในอุตสาหกรรมภาพยนตร์ไม่ได้มีแค่ผู้กำกับเท่านั้น แต่ยังมีอาชีพอื่น เช่น คนเขียนบท โปรดักชั่น คอสตูม อาร์ตไดเรกเตอร์ รวมถึงฝ่ายจัดจำหน่ายด้วย แต่ทุกอาชีพต้องได้รับการสนับสนุนจากทุกภาคส่วน

นายจุฬญาณนนท์ ศิริผล นักผลิตภาพยนตร์และศิลปินภาพเคลื่อนไหว และอาจารย์ด้านภาพยนตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ

นายณัฐกล่าวในทางเดียวกันว่า “บทบาทในการทำงานภาพยนตร์ไม่จำเป็นต้องเป็นคนสร้างหนังทุกกระบวนการ และไม่จำเป็นต้องเป็นผู้กำกับตลอด อาจจะทำงานในตำแหน่งอื่นๆ ได้”

ด้านนายอินทพันธุ์กล่าวว่า นโยบายเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่ง รัฐบาลควรเข้ามาดูแลเรื่องสวัสดิการโดยตรง ตลอดจนการสร้างกฎระเบียบ และมีการกำกับดูแลที่สมดุลและเพิ่มขัดความสามารถในการแข่งขัน แต่ทุกวันนี้นโยบายของภาครัฐยังไปกันคนละทิศทาง

“ภาพยนตร์กำกับโดยกับกระทรวงวัฒนธรรม ทีวีอยู่กับ กสทช. สิ่งพิมพ์อยู่กับตำรวจ จริงๆ แยกกันอยู่ก็ได้ แต่ควรจะมีไกด์ไลน์เดียวกัน ทำให้เกิดการสนับสนุน ส่งเสริมและดูแลเป็นไปในทิศทางเดียวกัน”

ส่วนนางสาวณัฐิยากล่าวในฐานะภาครัฐว่า โดยปกติเวลาที่กระทรวงพาณิชย์จะผลักดันประเด็นใดประเด็นหนึ่งจะเน้นการฟังเสียงผู้ประกอบการเป็นหลัก โดยที่ผ่านมาได้ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาพยนตร์โดยจัดเวทีให้นักศึกษามหาวิทยาลัยเข้าประกวด เช่น ภาพยนตร์สั้นเกี่ยวกับจิตสำนึก คุณธรรมและสิ่งแวดล้อม โดยเอาเงินรางวัลเป็นแรงจูงใจ ขณะเดียวกันคนรุ่นใหม่ก็ต้องพยายามหาโอกาสให้ตัวเองผ่านเวทีประกวดเหล่านี้ด้วย

“งบประมาณ” คืออุปสรรค “ภาพยนตร์’ไม่รวมตัวกันต่อรอง”

ประเด็นสุดท้ายคือ สิ่งที่อยากให้เกิดขึ้นจริงเพื่อผลักดันอุตสาหกรรม โดยมะนาวซึ่งเป็นตัวแทนเยาวชนสรุปว่า เราไม่จำเป็นต้องผลิตภาพยนตร์ความดีหรือละครคุณธรรม เพราะผู้ผลิตมีสิ่งที่ต้องการสื่อสารมากกว่านั้น แต่ควรมุ่งส่งเสริมพื้นที่การแข่งขัน เพราะพื้นที่จะทำให้คนรุ่นใหม่เข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของวงการง่ายขึ้น

นายจุฬญาณนนท์กล่าวว่า ตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน นโยบายเชิงวัฒนธรรมถูกขับเคลื่อนโดยคนที่ไม่ได้อยู่ในอุตสาหกรรม รัฐจึงพยายามใช้งบประมาณในการกำหนดความคิด ผิดกับบางประเทศที่มีสภาศิลปะจากประชาชนและคนในวงการ (art council) ทำให้คนในอุตสาหกรรมมีส่วนร่วมการใช้งบประมาณและกำหนดทิศทางอย่างแท้จริง

นางสาวณัฐิยากล่าวว่า “ทุกวันนี้ กรมส่งเสริมการค้าฯ ทำเหมือนเปิด เพราะฟังภาคเอกชน การรวมตัวกันทำให้เกิดการต่อรองหรือร่วมมือได้ แต่ภาพยนตร์ไม่เหมือนกลุ่มสินค้าที่รวมตัวต่อรองกัน สังเกตว่าศิลปินก็เห็นไม่ตรงกัน…จะว่าภาพยนตร์เป็นอุตสาหกรรมเก่าก็ได้ ใหม่ก็ได้ แต่เราก็พัฒนามาดีขึ้นเยอะ แต่ระบบบางอย่างยังไม่เข้าที่”