ThaiPublica > เกาะกระแส > YIC เมื่อเยาวชนปล่อยพลัง For youth-By youth-With youth ซอฟต์เพาเวอร์ตัวจริงของไทย

YIC เมื่อเยาวชนปล่อยพลัง For youth-By youth-With youth ซอฟต์เพาเวอร์ตัวจริงของไทย

2 มกราคม 2023


เอริกา เมษินทรีย์ (บะหมี่) ผู้ร่วมก่อตั้ง YIC

หลังจากแพลตฟอร์มคนรุ่นใหม่ Youth In Charge (YIC) พื้นที่สำหรับเยาวชนที่ต้องการสร้างความเปลี่ยนแปลงดำเนินการมาได้ 3 ปีท่ามกลางปัญหาการระบาดของโควิด- 19 แต่ก็ไม่ได้ทำให้งานของ YIC หยุดชะงัก และยังก้าวไปข้างหน้า ด้วยการบ่มเพาะเยาวชนให้มีศักยภาพค้นพบตัวเองและปลดปล่อยพลังที่มีอยู่

ล่าสุด เมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายนที่ผ่านมา เยาวชนของ YIC ก็ได้ลงมือปฏิบัติงานจริง ด้วยการจัดงาน “Youth in charge Day” หรือ “Youth Power ขับเคลื่อน Soft Poft Power” ซึ่ง เอริกา เมษินทรีย์ หรือบะหมี่ ผู้ร่วมก่อตั้ง YIC บอกว่า เป็นงานที่เยาวชนออกแบบงานเอง คิดคอนเซปต์เอง จัดการเอง รวมไปถึงการคิดหัวข้อ การเชิญวิทยากรหรือหน่วยงานใดเข้าร่วมและเชิญเอง ประสานงานเอง

“ความพิเศษของงานนี้ไม่ใช่แค่ for youth แต่ by youth และ with youth ด้วย เป็นการเริ่มต้นที่เยาวชนนออกแบบงานและอื่นๆ ทั้งหมดโดยไม่ใช้ออร์กาไนเซอร์เลย มีเพียงความช่วยเหลือของไทยพีบีเอสเรื่องสถานที่ เทคนิค แต่การเชิญวิทยากร เขาอยากคุยกับแขกคนไหน คุยเรื่องอะไร เราให้สิทธิ์เขา เชิญภาคี ไอดอล อาจารย์ของเขา คือเป็นการทำงานร่วมกัน เด็กถึงตื่นเต้นมากๆ เพราะไม่ใช่แค่เวทีที่จัดให้เขาแล้วจบไป และเชื่อว่าพวกเขารู้ว่านี่คือจุดเริ่มต้น และพอในงานเขาได้เห็นผู้ใหญ่ เห็นสื่อ ภาคส่วน หน่วยงานต่างๆ รวมทั้งเยาวชนกลุ่มอื่นๆ อย่างสภาเด็ก พอเขาเห็นว่าสิ่งที่เขาเตรียมมาไม่เสียเปล่า ไม่เหนื่อยเปล่า ได้กระแสตอบรับที่ดี ก็ยิ่งรู้สึกดี”

บะหมี่บอกว่า เรื่องซอฟต์เพาเวอร์ไม่ใช่เรื่องใหม่ เป็นเรื่องที่ทุกคนแม้กระทั่งเยาวชนเองก็พูดถึงกันมาตลอดช่วง 20 ปีที่ผ่านมา เป็นระยะๆ แต่ตั้งแต่ปีที่แล้วจนมาถึงตอนนี้ มีกระแส มิลลิ ดนุภา คณาธีรกุล กินข้าวเหนียวมะม่วง บนเวทีมหกรรมดนตรี Coachella 2022 ที่สหรัฐ หรือลิซ่า ลูกชิ้นยืนกิน นี่เป็นเพียงตัวอย่าง เพราะจริงๆ แล้วประเทศไทยเต็มไปด้วยซอฟต์เพาเวอร์ ประเทศไทยมีอะไรดีๆ อยู่มากมาย ทั้งซอฟต์เพาเวอร์ที่เราตระหนักว่าเรามี และต่างชาติก็ตระหนักว่าเรามี ตัวอย่างเช่น ศิลปวัฒนธรรม สถานที่ท่องเที่ยว รวมถึงสิ่งที่ไทยมีแต่ยังไม่ตระหนักหรือยังพัฒนาไปได้ไม่มากพอ

“แต่สิ่งแรกที่ต้องทำความเข้าใจร่วมกันเกี่ยวกับคำว่าซอฟต์เพาเวอร์ คือ การละลายความคิดเก่าว่าซอฟต์เพาเวอร์คืออะไร แล้วให้เยาวชนมีสิทธิ์ในการตีความซอฟต์เพาเวอร์ในแบบของเขาเอง โดยต้องเน้นว่า ซอฟต์เพาเวอร์ไม่ใช่เป็นการบังคับ ไม่ใช่เป็นกฎระเบียบ แบบแผนที่ชัดเจน แต่เป็นอะไรที่ลื่นไหล และหล่อหลอมได้ เป็นอะไรก็ตามที่นำมาสู่สิ่งดีๆ ไม่ว่าจะเป็นรายได้เพิ่ม ช่องทางอาชีพ ช่องทางธุรกิจใหม่ๆ ภาพลักษณ์ที่ดีขึ้น ขีดความสามารถที่เพิ่มขึ้น คุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ดังนั้นเขาจะตีความว่ซอฟต์เพาเวอร์เป็นสิ่งแวดล้อม เป็นเทรนด์รักโลก ก็ได้ ตีความว่าเป็นการสร้าง community ใหม่ๆ ก็ได้ หรือเป็นแฟชั่น ทำอย่างไรให้แฟชั่นไทยไปอยู่บนเวทีโลกก็ได้ โดยซอฟเพาเวอร์ที่ดีนั้น สุดท้ายต้องมาสู่ประเทศนี้เป็นประเทศที่น่าอยู่ น่าท่องเที่ยว น่าลงทุน ซอฟต์เพาเวอร์จึงไม่ได้เป็นแค่เรื่อง entertainment ไม่ใช่แค่เรื่องอาหาร เรื่องศิลปวัฒนธรรม อย่างเดียว แต่เป็นอะไรก็ได้ที่นำมาสู่ภาพลักษณะที่ดีขึ้นของประเทศ นำมาสู่ชื่อเสียงของประเทศ เพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขัน เพิ่มรายได้ ขยายโอกาส กระจายชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นสู่ทุกๆ คน ซอฟต์เพาเวอร์จึงเป็นเรื่องที่ใครๆ ก็เข้ามามีส่วนร่วมได้”

ที่มาภาพ : https://www.facebook.com/YouthInChargeThailand

ซอฟต์เพาเวอร์ที่แท้จริงคือตัวเยาวชน

“ที่สำคัญเยาวชนน่าจะเข้ามามีส่วนร่วมได้ เพราะเขามีความคิดสร้างสรรค์ มีความสามารถในการสร้างเครือข่าย สร้างชุมชนของคนที่สนใจอะไรคล้ายๆ กัน สามารถมาแลกเปลี่ยนกันได้ จึงคิดว่า ซอฟต์เพาเวอร์ จะเป็นโอกาสที่ดีที่จะดึงเยาวชนเข้ามามีส่วนร่วมกับผู้ใหญ่ ฉะนั้น สุดท้าย คำว่าซอฟต์เพาเวอร์ก็คือตัวเยาวชนเองที่เป็นซอฟต์เพาเวอร์ที่แท้จริง เพราะผู้ใหญ่หลายคนมักจะพูดพร่ำไป บางทีทำให้คนรู้สึกว่ามีเจตนาแฝง มี hidden agenda หรือเปล่า หรือใช้วิธีการสื่อสารแบบเดิมๆ สื่อสารฝ่ายเดียว แต่สำหรับเยาวชนที่ปัจจุบันมีโซเชียลมีเดีย หรืออะไรก็แล้วแต่ ทำให้วิธีสื่อสารของเขาจะเป็นเครือข่าย เยาวชนจึงเป็นซอฟต์เพาเวอร์ที่ดี แล้วเวลาเขาอยากเห็นการเปลี่ยนแปลง มันจะส่งเสียงที่ดีได้ แต่สิ่งที่เขาขาดคือ เวทีที่จะทำให้เสียงเขาดัง Youth In Charge จึงจัดเวทีนี้ขึ้นมา”

บะหมี่ บอกว่า ที่น่าสนใจคือ เมื่อให้เยาวชนได้คิดเองทำเองตามสิ่งที่แต่ละคนสนใจ ไม่น่าเชื่อว่าผลลัพธ์สุดท้ายมาจบที่กลุ่มที่ YIC คิดเป็นคลัสเตอร์ไว้ ไม่ว่าจะเป็น น้อยแต่มาก เรียบแต่โก้ ไฮแฟชั่น ที่เอาอัตลักษณ์แฟชั่นแต่ละภูมิภาคมาเจอกัน เรื่อง BCG เป็นเรื่องผลิตภัณฑ์รักโลก รักสิ่งแวดล้อม ผลิตภัณฑ์ยั่งยืน กลุ่มเฟสติว้าวที่สร้างนิทรรศการ สร้างฮ็อตสปอต สร้าง attraction ใหม่ๆ ให้กับประเทศ และกลุ่มพัฒนาย่าน พัฒนาเมืองให้น่าอยู่ แก้ปัญหาเมือง หรือคนในเมือง เป็นการจัดกลุ่มที่ไม่หลุดจากสิ่งที่ผู้ใหญ่วางไว้ โดยไม่ต้องมี 5F (อาหาร-Food แฟชั่น-Fashion เทศกาล-Festival ภาพยนตร์-Film การต่อสู้-Figthing) การให้เยาวชนจัดกันเองจะมีความลื่นไหล และเรียนรู้ซึ่งกันและกัน ทำให้เห็นว่า ความสนใจเด็กกว้างกว่า เหมือนกรณีเอาชื่อคณะที่เขาเรียน ชื่อวิชา มาแปะว่าเด็กจะสนใจเฉพาะที่เขาเรียน เช่น เด็กวิศวะอาจจะสนใจเรื่องบันเทิงก็ได้ เด็กบัญชีสนใจเรื่องศิลปะ แต่พอเขาต้องมาโฟกัส เรื่องเรียน สอบ ฝึกงาน ทำให้ไม่สามารถแสดงความสนใจด้านอื่น หรือพัฒนาความสนใจอื่น YIC จึงเป็นพื้นที่ที่เขาได้ค้นหาตัวเอง เจอ ไม่เจอ ไม่เป็นไร แต่ได้ทดลอง ทดสอบ ได้เรียนรู้จากคนอื่นด้วย

บะหมี่ บอกว่า เยาวชนที่ YIC บ่มเพาะขึ้นมา กลุ่มนี้เป็นกลุ่มแรกที่คัดสรรขึ้น เรียกว่า Youth Softpower Ambassador หรือเรียกว่ายุวฑูตขับเคลื่อนซอฟต์เพาเวอร์ไทย ได้มาจากหลากหลายสถาบันการศึกษา จากการเก็บสะสมเครือข่ายที่ได้จากการจัดงานของ YIC ที่ผ่านมาทั่วประเทศ ทำให้เห็นศักยภาพที่หลากหลาย โครงการที่หลากหลายมาก และเด็กลงมือทำ ได้อะไรที่มากกว่าผู้ใหญ่คิดอีก กลุ่มนี้มี 65 คน และปีหน้าจะขยายไปสู่เยาวขนกลุ่มอื่นๆ ในภูมิภาคต่างๆ ด้วย มีการผูกมิตรสร้างเครือข่ายกับมหาวิทยาลัยใหญ่ในแต่ละภูมิภาค ทั้งมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (มช.) มหาวิทยาลัยขอนแก่น (มข.) มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (มอ.) มหาวิทยาลัยบูรพา ที่มีเยาวชนที่มีศักยภาพ มีทรัพยากรจำนวนมาก มีอัตลักษณ์ที่แตกต่างกันไป น่าจะเป็นแม่ข่ายที่ดีได้ ที่นอกจากจะดึงสถาบันการศึกษาอื่นในไทยมาร่วม เหมือนฮับแล้ว YIC จะขยายไปสู่ระดับภูมิภาคอีกด้วย ทั้งกลุ่มประเทศ CLMV หรือกลุ่มประเทศอาเซียน โดยให้เด็กไทยเป็นคนสื่อสารซอฟต์เพาเวอร์ของไทย มีการแลกเปลี่ยนกันระหว่างเยาวชนด้วยกันเองของไทยกับประเทศใกล้เคียง รวมถึงสื่อสารกับผู้ใหญ่ด้วย เพราะเชื่อว่า เยาวชนคือซอฟต์เพาเวอร์ ตัวจริง เขาเป็นซอฟต์เพาเวอร์ในตัวเขาเอง

ที่มาภาพ : https://www.facebook.com/YouthInChargeThailand

การก้าวไปสู่การจับมือร่วมกันในระดับภูมิภาค ประเทศเพื่อนบ้านนั้น บะหมี่บอกว่า ด้วยเหตุที่เยาวชนไทยมีศักยภาพล้นเหลือมากๆ บางคนบอกว่า ทำแค่ในประเทศให้ได้ก่อน ซึ่งก็ยังทำอย่างนั้นต่อไป และทำระดับภูมิภาคคู่ขนานกันไป เพื่อให้เสียงของเยาวชนไทยดังขึ้น ให้ผล กระทบของสิ่งที่เขาทำ หรืออิมแพคที่กว้างขึ้น ทำให้ศักยภาพของเยาวชนไทยเป็นที่ตระหนักรู้ ไม่ใช่แค่ตระหนักรู้กันเองในบรรดาคนไทย แต่เป็นสิ่งที่ถูกยอมรับ ถูกยกย่อง ถูกชื่นชม เป็นที่ประจักษ์ในสายตาของชาวโลกหรือคนในประเทศอื่นๆ ด้วย เรื่องนี้มีความสำคัญ YIC ไม่ได้ทิ้งงานที่ทำอยู่แล้ว คือการพัฒนาเด็ก ทำต่อไป และจะขยายไปยังเด็กที่ไม่ค่อยมีโอกาสด้วยซ้ำ แต่คู่ขนานกันไป เพราะเห็นความสำคัญของการสร้างเวทีอื่นๆ ให้เยาวชนด้วย เพราะไม่ว่าจะเป็นเยาวชนรักบ้านเกิด เยาวชนไทยที่ดี ฯลฯ แต่สุดท้ายเยาวชนต้องมีสำนึกสากล (Global Mindset)

“เพราะปัจจุบัน ปัญหาต่างๆ หรือโอกาสต่างๆ ไม่มีขอบเขตประเทศ ไม่มีขอบเขตรัฐแล้ว แต่มันเชื่อมโยงกันหมด เรื่อง Climate Change เรื่องความเหลื่อมล้ำ เป็นปัญหาระดับโลก เป็นปัญหาที่ต้องร่วมกันแก้ และเป็นปัญหาที่ไม่กระทบแค่ใครคนใดคนหนึ่ง ประเทศใดประเทศหนึ่ง ภูมิภาคใดภูมิภาคหนึ่ง จึงมีความสำคัญที่ควรดึงเยาวชนไปยังเวทีที่ใหญ่ขึ้น โดยเริ่มจากประเทศใกล้เคียง อย่าง มอ. ที่จังหวัดสงขลา ก็เชื่อมกับมาเลเซีย ที่เขามีเครือข่ายอยู่แล้ว หรือ มช. ใกล้ประเทศอะไรก็เชื่อมไป”

“สุดท้าย จะเป็นการร่วมงานกันที่ดีระหว่างเยาวชนกันเอง หรือแม้ทั่งช่วงที่ผ่านมา ที่ YIC ทำเรื่องเอเปค มีการเดินสายไปที่ต่างๆ มันเป็นงานที่เกิดคุณค่า อย่างภาคเหนือ ที่ผ่านมาแม้จะมีการรวมตัวกันแต่ก็รวมกันอยู่ในภาคเหนือ แต่การทำงานครั้งนี้ทำให้เกิดการทำงานข้ามมหาวิทยาลัยกัน อย่าง มอ. ทำงานร่วมกับ มช. และ มข. เพราะในกิจกรรมจะมีการให้เด็กมารวมตัวกัน ทั้งเด็กกรุงเทพด้วย มันทำให้เกิดประโยชน์มาก สามารถนำความหลากหลายของเด็กหลายภูมิภาคในประเทศไทยก่อน จากนั้น เด็กที่เราฟูมฟักเขามาแล้ว บ่มเพาะ ดูแลเขามาอย่างดี ให้เขาเป็นกระบอกเสียงสื่อสารซอฟต์เพาเวอร์ไทยในมุมของเยาวชน ด้วยเสียงของเยาวชน ไปสู่ภูมิภาคอื่นๆ หรือเยาวชนจากประเทศอื่นๆ”

สำหรับ Youth Softpower Ambassador ที่คัดเลือกมา บะหมี่บอกว่า เป็นเยาวชนที่จะมีทั้งความตระหนักรู้ มีความสนใจ มีความต้องการ และมีการลงมือทำจริงในการสร้างความเปลี่ยนแปลงให้กับสังคม ให้กับประเทศ ให้กับเศรษฐกิจ โดยผ่านพลังซอฟต์เพาเวอร์ ซึ่งคำว่า ซอฟต์เพาเวอร์ คืออะไรก็ได้ที่เขาสนใจ ดังนั้น Youth softpower ambassador คือคนที่จะเข้ามาช่วยกระจายเสียงไปสู่เยาวชนคนอื่นๆ หรือเป็นตัวคูณไปสู่เยาวชนในเวทีอื่นๆ ได้อีก เยาวชนเหล่านี้จึงเหมือนตัวแทนประเทศ เหมือนฑูตจากไทยไปอยู่ประเทศต่างๆ เพื่อกระจายความเป็นไทย ไปผูกมิตร เพียงแต่เราให้เยาวชนเป็นคนทำ และไม่ใช่เยาวชนที่แค่พูดเก่ง แต่มีฝีมือจริง มีโครงการจริง

“ปัจจุบัน เด็กที่ได้ไปขึ้นเวทีระดับนานาชาติ ส่วนใหญ่จะเป็นเด็กที่โต้วาทีเก่ง บางทีอาจจะเป็นเด็กที่ได้สิทธิพิเศษเบาๆ ด้วยซ้ำ เด็กเหล่านี้พูดแล้วฟังดูดี แต่ไม่มีพื้นฐานความเข้าใจเลย แต่เยาวชนของเราที่เป็นฑูต จะเป็นเยาวชนในพื้นที่นั้นๆ โตมากับย่านนั้น จังหวัดนั้น หรือเรียนด้านนี้จริงๆ ทำโครงการนี้จริง บางคนมีการวิจัยจริง มีธุรกิจด้านนี้จริง ฉะนั้น เขามีความเข้าใจทั้งจากมุมมองของการลงมือทำจริง รวมถึงสิ่งที่เป็นความฝันของเขา แต่ไม่ใช่ว่า ใช้แค่ฝันอย่างเดียว หรือลงมือทำอย่างเดียว แต่ถ่ายทอดไม่ได้ เพราะสิ่งที่จะขับเคลื่อนซอฟต์เพาเวอร์ได้ดีจริงๆ ต้องมาจาก 2 ส่วน คือ ไม่ใช่คนที่ทำอย่างเดียวแต่นำเสนอไม่เป็น หรือคนที่พูดเก่งอย่างเดียว แต่ไม่ได้ลงมือทำจริง มันต้องมีทั้งสองส่วนและเสริมซึ่งกันและกัน ยุวฑูตที่คัดมาส่วนใหญ่มีทั้งสองส่วน คือทำได้ และนำเสนอได้ และพบว่า พวกเขานำเสนอได้เก่งกว่าวันแรกของการคัดเลือก หลายส่วนมาจากการบ่มเพาะของ YIC ด้วยการดึงแขกรับเชิญมา วิทยากรมา เสริมทักษะให้เขา แต่ที่สำคัญ คือเยาวชนกลุ่มนี้เก่งขึ้นได้เพราะเพื่อนเขา เขาได้เห็นเพื่อนคนอื่นๆ ทำอะไรได้บ้าง บางอย่างทำได้คล้ายกับเขา แต่บางคนทำต่างกับเขาสิ้นเชิง บางอย่างเสริมเขาได้”

ที่มาภาพ : https://www.facebook.com/YouthInChargeThailand

พร้อมกล่าวต่อว่า “อย่างนิทรรศการที่จัดวันนี้ นอกจากแต่ละกลุ่มจะจัดโชว์ตามแนวคิดตัวเองแล้ว ยังมีบางส่วนที่ collab หรือทำร่วมกัน แสดงว่า พวกเขามีการพัฒนาไปอีกขั้น มีการคิดนอกกรอบ หรือได้รับแรงบันดาลใจจากคนอื่น มีอะไรเสริมกันได้ เชื่อมกันได้ และการเขาสามารถนำเสนอ ขึ้นไปแสดงบนเวทีได้ระดับนี้โดยไม่ถูกลดทอนศักดิ์ศรีเทียบกับผู้ใหญ่ มีความเท่าเทียม แสดงให้เห็นว่าพวกเขาเก่งขึ้นอีกระดับ ฉะนั้น เด็กที่คัดมา และมาโชว์ผลงานในวันนี้ จะมีทั้งสองส่วน คือ มีการลงมือทำจริง และมีความฝัน ที่ไม่ได้พอแค่นี้แต่อยากฝันไกลกว่านี้ อยากมีเวทีที่ใหญ่กว่านี้ เด็กใน YIC จึงมีทั้งเด็กใหม่ และเด็กเก่าที่เป็นลูกศิษย์ บางคนพัฒนามาเป็นทีมงานก็มี”

สำหรับก้าวต่อไปของ YIC บะหมี่ บอกว่า เมื่อเทียบกับเป้าหมายที่ตั้งไว้ ถือว่า YIC มาถูกทางแล้ว และการเป็น Social Enterprise หรือธุรกิจเพื่อสังคม ไม่ใช่แค่โครงการที่ทำแล้วจบ แต่เป็นเรื่องระยะยาว และเป็นแพลตฟอร์ม เป็นพื้นที่ตรงกลาง ในปีที่ผ่านแม้จะมีโควิด หรือปัญหาต่างๆ แต่ YIC ได้ไปอีกขั้นหนึ่งแล้วที่สามารถสร้างความตระหนักรู้ในวงกว้าง และงานวันนี้เป็นอีกวันที่พิสูจน์แล้วว่า achive หลายอย่างที่มีอิมแพคมาก ขณะที่ผู้ใหญ่ที่มา ที่คิดว่ากินข้าวเสร็จแล้วกลับ กลายเป็นว่า เดินอยู่ตามบูธแล้วไม่ยอมกินข้าว ทำให้ได้เห็นพลังงานของเด็กและผู้ใหญ่ที่มาเสริมกันและกัน ผู้ใหญ่ดูแล้วรู้สึกว้าว ขณะที่เด็กก็ว้าว ที่ผู้ใหญ่สนใจขนาดนี้ แต่ในระยะยาวก็คิดให้ไกลขึ้น ใหญ่ขึ้น เดิมเอาเด็กมารวมศูนย์ ไปดึงเด็กจากที่ต่างๆ จากนั้นก็ขยายไปสู่ภูมิภาคทั่วประเทศ เด็กมีความหลากหลายมากขึ้น ต่อไปก็จะขยายไปสู่เวทีระดับนานาชาติมากขึ้น โดยไม่ทิ้งสิ่งที่ทำในประเทศ

“ตอนนี้สิ่งที่ YIC ทำกับภาคีที่มาร่วม ผนึกกำลังกันมากขึ้น และการที่สิ่งที่เราทำเรื่องเยาวชน และสร้างความเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้น ทำให้สามารถทำงานกับใครก็ได้ และเยาวชนเป็นเรื่องที่เชื่อมกับทุกเรื่อง สิ่งแวดล้อม สังคม เศรษฐกิจ การศึกษา เรื่องเพศ จึงมีกิจกรรมให้ทำตลอด ตอนนี้คนที่นึกถึงเยาวชน จะนึกถึง YIC แพลตฟอร์มที่เป็นกลาง ไม่ใช่ของรัฐ ของเอกชน ไม่ใช่ของภาคการศึกษา ไม่วิชาการมากมาย และเรายินดีร่วมกับคนคิดต่างๆ มหาวิทยาลัยหลากหลาย หลากหลายความสนใจ และ YIC เป็นพื้นที่ที่เด็กไม่รู้สึกว่าตัวเองต้องเก่งเป็นเลิศ ไปโอลิมปิก ฯลฯ แต่เป็นพื้นที่ที่หาตัวเองเจอ ก็ดี แต่ยังหาไม่เจอ ก็มาได้ เป็นเวทีผูกมิตร สร้างสัมพันธ์ แลกเปลี่ยนเรียนรู้กัน กับคนข้ามสถาบัน หรือคนที่สนใจต่างจากเราโดยสิ้นเชิง และที่น่าภูมิใจคือ เด็กกลายมาเป็นทีมงาน YIC หรือการได้มาเจอกันบนแพลตฟอร์มนี้ทำให้เขาสร้างสิ่งใหม่ขึ้นมา”

ที่มาภาพ : https://www.facebook.com/YouthInChargeThailand

ปราริฉัตร เผ่าฉนวน เยาวชนจากโครงการ Mr.Bin บอกว่า การขับเคลื่อนซอฟต์เพาเวอร์ หรือความยั่งยืนให้เกิดเป็นรูปธรรมต้องเริ่มจาก passion เมื่อเรามีแพชชั่นกับอะไร เราจะเอาใจไปลงกับสิ่งนั้น อยากลงมือทำ และปรับตัวตามการเปลี่ยนแปลง โดยซอฟต์เพาเวอร์เป็นความเนียนที่เกิดจากไลฟ์สไตล์ อาทิ เปลี่ยนจากใช้พลาสติกใช้ครั้งเดียวทิ้ง มาพกแบบใช้ซ้ำได้ เมื่อมีคนอื่นมาเห็น ทำให้เขาเกิดความสนใจและอยากทำตาม

ดร.ธัชไท กีรติพงศ์ไพบูลย์ ผู้อำนวยการกองยุทธศาสตร์และประสานความร่วมมือระหว่างประเทศ สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ แขกรับเชิญที่มาร่วมเวทีเสวนาด้านสิ่งแวดล้อมด้วยธุรกิจ BCG กล่าวว่า BCG ไม่ใช่เรื่องใหม่ BCG คือหลักการที่ชูเรื่องเศรษฐกิจชีวภาพ หมุนเวียน และสีเขียว ที่มีเสน่ห์ คือ ความยั่งยืน ส่วนการเชื่อมโยงซอฟต์เพาเวอร์กับ BCG คือต้องเนียน ไม่ยัดเยียด ซึ่งเรื่องนี้เป็นเทรนด์ของโลกอยู่แล้ว

แขกรับเชิญอีกราย ดร.ณรงค์ ปรางค์เจริญ คณบดีวิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล ที่ได้รับความยอมรับอย่างกว้างขวางในวงการดนตรีคลาสสิกระดับโลก กล่าวว่า รู้สึกดีใจที่ทุกคนเห็นตรงกันเรื่องซอฟต์เพาเวอร์ ว่าไม่ใช่ดนตรี อาหาร อย่างที่หลายคนเข้าใจ ถ้าเข้าใจแบบนั้นซอฟต์เพาเวอร์ไม่มีวันเกิด เห็นได้จากอาหารไทยที่เป็นที่รู้จักไม่ใช่เพราะการโปรโมท แต่คนไทยกินอาหารไทย นี่คือสิ่งที่เกิดขึ้นจริง ถ้าสร้างซอฟต์เพาเวอร์จอมปลอมใส่เข้าไปไม่มีทางเกิดขึ้นได้ สังเกตุจาก The Soft Power 30 หรือ Brand Finance ที่ให้คำปรึกษาอิสระระดับโลกด้านมูลค่าแบรนด์ การประเมินซอฟต์เพาเวอร์ของเขาไม่ได้ดูงานศิลปะ งานสร้างสรรค์อย่างเดียว แต่ดูที่งานการศึกษาภาคสังคม ธรรมาภิบาล ดูหลายอย่าง ฉะนั้น ซอฟต์เพาเวอร์ก็คือคนในชาติเรา

“ผมเป็นนักประพันธ์เพลงในแคลิฟอร์เนีย ไม่เคยรู้สึกว่าตัวเองเป็นซอฟต์เพาเวอร์ เวลาได้รับรางวัลใหญ่ๆ ปรากฎว่าสถานกงสุลไทยในนิวยอร์กมา และบอกว่าอาจารย์ทำชื่อเสียงให้กับประเทศ แต่ผมไม่ได้คิดเรื่องนี้เลย และผมทิ้งงานแต่งเพลงแล้วกลับมาอยู่ที่ไทย เพราะคิดว่าไทยต้องมีกลไกในการพัฒนาน้องๆ เปิดโอกาสให้ และสถาบันการการศึกษาต้องเปลี่ยน ไม่ใช่ให้การศึกษา แต่เป็นแหล่งผลิตคนที่มีคุณภาพ มอง career path ให้เขา ไม่เช่นนั้นเราจะผลิตคนออกมากองโดยไม่มีอะไรทำ”