ThaiPublica > คอลัมน์ > ถึงเวลา…ที่เยาวชนจะร่วมกำหนดอนาคตประเทศไทย แล้วหรือยัง

ถึงเวลา…ที่เยาวชนจะร่วมกำหนดอนาคตประเทศไทย แล้วหรือยัง

18 กุมภาพันธ์ 2021


เอริกา เมษินทรีย์

ช่วงวัยรุ่น เป็น sweet spot หรือ “จุดหอมหวาน” ระหว่างความฝัน ความคาดหวัง อิสระทางความคิด และจินตนาการของความเป็นเด็ก กับความพร้อม ความสามารถ และโอกาสที่จะทำความฝันให้เป็นจริง รวมไปถึงอิสระในการค้นหาตัวเอง ใช้ชีวิต และท่องโลกกว้าง เมื่อเติบโตเป็นผู้ใหญ่อย่างเต็มตัว

ช่วงวัยรุ่นจึงเป็นช่วงที่คนคนหนึ่งกำลัง “มีไฟ”

แต่คงเพราะความไฟแรงนี่เอง ช่วงวัยรุ่นจึงดูเหมือนเป็นวัยว้าวุ่น หงุดหงิดกับโลกที่ยังเป็น “ผู้ใหญ่คิด ผู้ใหญ่ทำ ผู้ใหญ่นำ” อยู่ไม่มากก็น้อย

เป็นวัยที่พวกเขาไม่เข้าใจผู้ใหญ่ และรู้สึกว่าผู้ใหญ่ไม่เข้าใจเขา เป็นวัยที่เขาไม่อยากฟังผู้ใหญ่ และรู้สึกว่าผู้ใหญ่เองก็ไม่ฟังเขา เด็กมักมองว่าผู้ใหญ่ช้า เชย กลัวการเปลี่ยนแปลง คิดและทำอะไรแบบเดิมๆ ไม่ทันโลก คุยกันคนละภาษา สื่อสารคนละความถี่กับพวกเขา ส่วนผู้ใหญ่มักมองเด็กสมัยนี้ว่าใจร้อน หวือหวา ฉาบฉวย หรือแม้กระทั่งอวดดี อวดเก่ง

เป็นวัยที่เด็กมองตัวเองแบบหนึ่ง แต่ผู้ใหญ่มองเขาอีกแบบหนึ่ง เขาอาจมองว่าตัวเองโตแล้ว ทำนั่น ทำนี่เองได้ คิดเองได้ ตัดสินใจเองได้ เลือกทางเดินชีวิตเองได้ แต่ผู้ใหญ่ยังมองว่าเขายังเด็ก ขาดประสบการณ์ ต้องการความช่วยเหลือและคำแนะนำ อย่างไรก็ขาดผู้ใหญ่ไม่ได้

ที่สำคัญที่สุด เป็นวัยที่คนรุ่นใหม่กำลังร้อนวิชา อยากสร้างโลกในแบบที่เขาอยากอยู่ อยากเป็นส่วนหนึ่งของการเปลี่ยนแปลงที่เขาอยากเห็น อยากเป็นอะไรที่เขาอยากเป็น และอยากเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มคนที่เชื่ออะไรคล้ายๆ กับเขาและชอบอะไรเหมือนๆ กันกับเขา แต่ในขณะเดียวกัน พวกเขาก็ต้องการพื้นที่ส่วนตัว ต้องการเวลาและโอกาส เพื่อทำความรู้จักตัวเอง เข้าใจตัวเอง และสร้างตัวตนของตัวเอง

แน่นอนว่าผู้ใหญ่ทุกคนเคยผ่านการเป็นวัยรุ่นมาก่อน ดังนั้น ในเชิงทฤษฎีผู้ใหญ่ก็น่าจะพอเข้าใจเด็กรุ่นใหม่ได้ แต่ในความเป็นจริง เด็กรุ่นใหม่สมัยนี้ ไม่ได้เหมือนกับเด็กรุ่นใหม่ในสมัยก่อนเสียแล้ว

ทั้งนี้เพราะโลกที่ “เปิดกว้าง” ขึ้น ทำให้คนรุ่นใหม่สามารถ “เข้าถึง” กันและกันได้มากขึ้น เขาเห็นปัญหาที่ผู้คนบนโลกเผชิญร่วมกัน อย่างเรื่องปัญหาสิ่งแวดล้อมที่ทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ และเริ่มเห็นผลกระทบอย่างชัดเจนในเจเนอเรชันของเขา ในขณะเดียวกัน เขาได้เห็นความหลากหลายของผู้คน เส้นทางอาชีพ ความคิด มุมมอง รูปแบบการทำงาน และวิถีชีวิตที่แตกต่าง

ในส่วนหนึ่งทำให้เขายอมรับไม่ได้กับค่านิยมและกรอบแบบเดิมๆ ที่ปิดกั้นอิสระและไม่ยอมรับความแตกต่าง ในอีกส่วนหนึ่งทำให้เขาเป็นเจเนอเรชันที่กระตือรือร้น รู้สึกว่าเขาสามารถเป็นอะไรก็ได้ ทำอะไรก็ได้

การเข้าถึงและความเปิดกว้างทำให้ “เด็กสมัยนี้” พรั่งพรูไปด้วยคำถาม ถ้าพวกเขาไม่ถามผู้ใหญ่โดยตรง เชื่อได้เลยว่า เขาถามกันเอง หรือถกกันในชุมชนโลกเสมือนอย่างแน่นอน

อย่างเรื่องการศึกษา เยาวชนในอดีตถูกปลูกฝังค่านิยมว่า ยิ่งเรียนเก่ง ยิ่งเรียนสูง ยิ่งมีอาชีพมั่นคง ยิ่งประสบความสำเร็จ แต่เยาวชนในปัจจุบัน เขาเริ่มถามว่า ในเมื่อหาคำตอบทุกอย่างได้ใน Google ทำไมการเรียนในห้องเรียนยังมุ่งเน้นการ “จำ” แทนที่จะเน้นการ “ทำ”

ทำไมยังมีคำว่า “ถูก-ผิด” แทนที่จะมีคำตอบที่เป็นไปได้ที่หลากหลาย ในเมื่อโลกเปลี่ยนไปเร็วมาก อาชีพเก่าๆ เริ่มตายจากไป ในขณะที่สาขาอาชีพใหม่ๆ เกิดขึ้นตลอดเวลา ทำไมวิชาที่สอน หนังสือเรียน และกระบวนการเรียนรู้ยังเป็นแบบเดิมๆ ในเมื่อเขาสามารถเป็นผู้ประกอบการได้เองตั้งแต่อายุยังน้อย

หรือบางอย่างเรียนรู้ได้เองผ่านอินเทอร์เน็ต ทำไมเขายังจำเป็นต้องถูกบังคับเรียนถึง 12-15 ปีในโรงเรียน และอีก 4 ปีในมหาวิทยาลัย ในเมื่อเขาอยากเป็นสถาปนิก ซึ่งต้องใช้สมองซีกขวาและซีกซ้ายไปพร้อมๆ กัน ทำไมที่โรงเรียนยังสอนคณิตศาสตร์แยกกับศิลปะ ในเมื่อเขาอยากเป็นครู ทำไมกว่าจะได้ฝึกสอนจริงๆ คือตอนอยู่มหาวิทยาลัยปี 3-4

ทำไมในโรงเรียนไม่สอนทักษะที่จำเป็นในชีวิต อย่างการทำธุรกิจ การเงิน การลงทุน การบริหารจัดการคน จิตวิทยา และทักษะชีวิต ฯลฯ รวมถึงเรื่องเพศและสุขภาวะ ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญที่จะอยู่ติดตัวคนคนหนึ่งไปตลอดชีวิต ทำไมยังเป็นเรื่องที่ผู้ใหญ่หลีกเลี่ยงที่จะพูดถึง สอนแบบผ่านๆ

หรือสอนกันอย่างไรทำไมถึงมีสถิติออกมาเมื่อหลายปีก่อนว่า แม่วัยใสคลอดลูกเฉลี่ยชั่วโมงละ 15 คน ทำแท้ง 4.5 หมื่นคนต่อปี และประเทศไทยถึงมีอัตราการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น/วัยเรียนสูงมากติดระดับโลก ทำไมหลายโรงเรียนมีปัญหาเรื่องการตั้งท้องในวัยเรียน การล่วงละเมิดทางเพศ หรือการกลั่นแกล้งกันภายในโรงเรียน แต่หลายๆโรงเรียนกลับไม่กล้ายอมรับปัญหาที่เกิดขึ้น กลัวว่าจะทำให้เสื่อมเสียชื่อเสียง และไม่หันหน้ามาร่วมกันแก้ปัญหาเหล่านี้อย่างจริงจังข้ามสถาบันการศึกษา ข้ามพื้นที่ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ทำไมไม่นำเยาวชนซึ่งได้รับผลกระทบโดยตรงมาเป็นแกนหลักของการหาแนวทางแก้ไขปัญหา

ประเด็นเรื่องการศึกษา เพศ และสุขภาวะ เป็นตัวอย่างของประเด็นสำคัญที่อยู่ใกล้ตัวเยาวชนที่สุด เป็น “วาระสำคัญของเยาวชน” ที่พวกเขารู้และเข้าใจปัญหาดีที่สุด เพราะได้รับผลกระทบโดยตรงในชีวิตประจำวัน แต่ที่ผ่านมา เป็น “ปัญหาของเขา” ที่ผู้ใหญ่จัดการเองเสียหมด “คิดแทนเขา ทำแทนเขา นำแทนเขา” ว่าเด็กควรเรียนอะไร กับใคร เมื่อไหร่ อย่างไร ชั่วโมงเรียนกี่ชั่วโมง ชั่วโมงเล่นกี่ชั่วโมง ต้องทำอะไรในชั่วโมงเล่น ฯลฯ

  • จะดีกว่าไหมถ้ามีคณะทำงานเยาวชนมาร่วมเป็นส่วนหนึ่งของการวางแผนการเรียนการสอน ทั้งในและนอกห้องเรียน ทั้งในและนอกโรงเรียน
  • จะดีกว่าไหม ถ้าเยาวชนมีส่วนร่วมในการตัดสินใจสำคัญๆ ไม่ว่าจะเป็นการเลือกผู้อำนวยการโรงเรียน การจัดซื้อจัดจ้าง การคัดเลือกและประเมินผลครู การสร้างวัฒนธรรมที่อบอุ่นและน่าอยู่ในโรงเรียน
  • จะดีกว่าไหม ถ้าเยาวชนมีสิทธิมีเสียงในการออกแบบหลักสูตรใหม่ๆ ที่เขาอยากเรียน โครงการที่เขาอยากทำ และมีโอกาสศึกษาดูงานที่สถาบันการศึกษาอื่น หรือแหล่งเรียนรู้นอกโรงเรียน เพื่อนำองค์ความรู้และประสบการณ์ที่ได้รับ มาปรับและประยุกต์ใช้ในสถาบันการศึกษาหรือชุมชนของตนเอง

แม้แต่ในประเด็นสำคัญที่ไกลตัวเยาวชนออกไป และเป็น “วาระสำคัญของชาติ” อย่างเรื่องเศรษฐกิจ ปากท้อง รายได้ สิ่งแวดล้อม หรือชุมชนน่าอยู่ ที่ผ่านมาเยาวชนแทบไม่มีบทบาท ไม่ถูกมองอยู่ในสายตาของผู้ใหญ่ด้วยซ้ำว่าสามารถให้ไอเดียหรือเข้ามามีส่วนร่วมได้ในรูปแบบใดบ้าง ด้วยการไม่ได้เปิดเวทีให้เยาวชนได้แสดงออกทางความคิดในประเด็นต่างๆ ดังกล่าว เยาวชนจึงต้องลุกขึ้นและออกมาเคลื่อนไหวแบบใต้ดินหรือดำเนินการกันเอง อย่าง Greta Thunberg เยาวชนผู้รณรงค์เรื่องการเปลี่ยนแปลงทางภูมิอากาศ ที่ต้องใช้ความ “แข็งกร้าว” และการ “ไม่ยอมคน” ถึงเป็นที่สนใจของผู้นำระดับโลก (เพราะพูดดีๆ ผู้ใหญ่อาจไม่ฟังและไม่สนใจ) หรือผ่านการทำสตาร์ทอัป หรือวิสาหกิจเพื่อสังคมของตนเอง เพื่อเริ่มต้นขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงจากจุดเล็กๆ และหวังว่าจะสามารถขยายผลไปในวงกว้างได้ในที่สุด

จะดีกว่าไหมถ้าภาครัฐและเอกชนดึงพลังเยาวชนมาร่วมในคณะทำงาน และช่วยกันดึงจุดแข็งของพวกเขาออกมาให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อชุมชน สังคม และประเทศ อย่างที่พวกเราทราบกันดี เยาวชนสมัยนี้มีความคิดสร้างสรรค์ ทำคอนเทนต์ก็ได้ ประยุกต์ใช้เทคโนโลยีก็เป็น เรื่องความคิดสร้างสรรค์ การออกแบบ การโฆษณา และการตลาดก็ไม่แพ้ชาติไหนในโลก

ทำไมพวกเราไม่ทำงานร่วมกับเยาวชนอย่างจริงจัง เปิดโอกาสให้พวกเขาไปช่วยเกษตรกร วิสาหกิจเพื่อสังคม และสินค้าชุมชน ไปช่วยผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่อาจกำลังลำบากอยู่ในช่วงนี้ หรือสนับสนุนให้เยาวชนมาร่วมรณรงค์ด้านสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นประเด็นที่เยาวชนสมัยนี้ให้ความสนใจอยู่แล้ว และผลักดันให้เป็นโครงการเชิงปฏิบัติการ

หากมีเวทีระดับประเทศหรือระดับนานาชาติเรื่องเศรษฐกิจ สังคม หรือสิ่งแวดล้อม ทำไมเราไม่เปิดโอกาสให้เยาวชนไทยได้มีโอกาสขึ้นเวทีเหล่านั้นบ้าง ไม่ว่าจะขึ้นเวทีแทนหรือขึ้นเวทีร่วมกับผู้นำและซีอีโอ ปั้น Greta Thunberg ในแบบฉบับของพวกเราเองในด้านต่างๆ เตรียมความพร้อมให้เขา ผ่านการให้ความรู้ สร้างความเข้าใจ และเปิดเวทีให้เขาได้พัฒนาศักยภาพและความเป็นผู้นำของตนเอง เริ่มจากวงเล็กๆ ไปสู่วงที่ใหญ่ขึ้น

ถ้าผู้ใหญ่ไม่อยากให้เยาวชน “สวยในซอย” เก่งอยู่แต่ในโรงเรียนหรือบนทวิตเตอร์ เราต้องร่วมกันสร้างเวทีให้กับเยาวชน ร่วมกันปลดปล่อยไฟของเขาออกมาให้ได้ อย่าปล่อยให้ไฟของเขามันดับไป เมื่อเขารู้สึกว่าไม่มีใครรับฟังเขา หยิบยื่นบทบาทให้เขา หรือให้ความสำคัญกับเขา

ที่ผ่านมาผู้ใหญ่หวังดี ทำอะไรเพื่อเด็กเยอะ แต่ต่อจากนี้ โมเดล “ผู้ใหญ่คิด ผู้ใหญ่ทำ ผู้ใหญ่นำ” หรือภาพใหญ่กว่านั้น “รัฐคิด รัฐทำ และรัฐนำ” คงใช้ไม่ได้อีกต่อไป ในยุคสมัยที่เยาวชนอยากมีบทบาทและส่วนร่วมมากขึ้นในการสร้างอนาคตที่ตัวเองอยากเห็น

ต่อจากนี้ ผู้ใหญ่ต้องมองเด็กเป็นพันธมิตร เป็นภาคีสำคัญของชาติ เปิดกว้างที่จะร่วมคิด ร่วมทำและร่วมตัดสินใจกับเขาในประเด็นที่สำคัญๆ เช่น เรื่องสิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจ ปากท้อง และรายได้ การพัฒนาเมือง ความเหลื่อมล้ำ เปิดโอกาสให้เยาวชนได้แสดงบทบาทในการร่วมขับเคลื่อนวาระที่ปกติเป็นของผู้ใหญ่ เกิดการขับเคลื่อนวาระระดับชาติ ด้วยพลังเยาวชน ทำให้พวกเขารู้สึกหัวใจพองโตที่ได้ทำอะไรที่ยิ่งใหญ่กว่าตัว และเป็นส่วนหนึ่งของภารกิจระดับประเทศ

แต่สำหรับเรื่องที่เกี่ยวข้องกับเยาวชนโดยตรง มีผลกระทบกับพวกเขาเต็มๆ เช่น เรื่องการศึกษา เรื่องเพศและสุขภาวะ เรื่องการเพิ่มบทบาทของเยาวชนคนรุ่นใหม่ในสังคม ผู้ใหญ่ควรปล่อยให้เขาเยาวชนได้ลองคิด ลองทำ ลองแลกเปลี่ยนกันเอง ผ่านการขับเคลื่อนวาระของเยาวชน ด้วยพลังเยาวชน ซึ่งเป็นสิ่งที่เยาวชนเรียกร้องมาตลอดอย่างแท้จริง

การทำงานร่วมกับเยาวชน เราต้องไม่เริ่มด้วย “ข้อจำกัด” แต่ต้องเริ่มด้วย “ความเป็นไปได้” ให้พวกเขาได้ปลดปล่อยศักยภาพ ได้คิด ได้พูด ได้ทำ ได้นำอย่างเต็มที่ ผู้ใหญ่ควรปรับบทบาท เริ่มจากการรับฟังอย่างตั้งใจ ทำความเข้าใจ ให้กำลังใจ ถามคำถามชวนคิด ช่วยเสริมเติมแต่ง ช่วยกระตุ้นให้เกิดการต่อยอด ช่วยปลดล็อกหาแนวทางให้สิ่งที่เยาวชนนำเสนอเกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม

ไฟและพลังอันล้นเหลือที่เด็กคนหนึ่งมี จะถูกพัด ถูกเสริม ถูกเติมให้แรงขึ้น หรือจะถูก “ตัดออกซิเจน” จน “ดับ” โดยการถูกผู้ใหญ่ “ครอบ” หรือ “สาดน้ำ” ใส่ไฟที่กำลังก่อตัวหรือกำลังลุกโชน

ผู้เขียนเชื่อว่า ไฟในตัวของเยาวชนสามารถส่องสว่างให้ผู้ใหญ่มองเห็นปัญหาเรื้อรังที่ควรแก้ไข จุดประกายไอเดียใหม่ๆ ให้เกิดขึ้น เป็นไฟที่มีพลังขับเคลื่อนผลักดัน ไม่ว่าจะเป็นระดับโรงเรียน ชุมชน สังคม และประเทศ ที่รอการปรับเปลี่ยนครั้งใหญ่

เวลาเรามอง “ไฟ” เราอาจมองว่ามันอันตราย มันจะมาทำลายล้างเรา มองว่า “ไฟ” ฉาบฉวย จุดติดง่าย ดับก็ง่าย
แต่อย่าลืมว่า “ไฟ” สามารถเป็นพลังในการ “ซ่อม” “เสริม” และ “สร้าง” อะไรอีกหลายๆ อย่างได้เช่นกัน

โดยเฉพาะอย่างยิ่งในชั่วโมงนี้ ที่ประเทศต้องการเยาวชนที่เต็มเปี่ยมด้วยความหวังและความฝัน มา “นำ” หรือ “ร่วมนำ” ให้ประเทศไทยก้าวข้ามวิกฤติไปให้ได้