ThaiPublica > เกาะกระแส > นายกฯแจงซุกหนี้แบงก์รัฐ ช่วย ปปช.-ไม่เป็นหนี้สาธารณะ-มติ ครม.รับทราบอีอีซีแก้สัญญารถไฟเชื่อม 3 สนามบิน

นายกฯแจงซุกหนี้แบงก์รัฐ ช่วย ปปช.-ไม่เป็นหนี้สาธารณะ-มติ ครม.รับทราบอีอีซีแก้สัญญารถไฟเชื่อม 3 สนามบิน

27 มิถุนายน 2023


เมื่อวันที่ 27 มิถุนายน 2566 พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนภายหลังการประชุม ครม. ณ บริเวณทางเชื่อมตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล
ที่มาภาพ : www.thaigov.go.th/
  • นายกฯ แจงซุกหนี้แบงก์รัฐ เพื่อช่วย ปปช. – สากลไม่นับเป็นหนี้สาธารณะ
  • “ชัยวุฒิ” ปัดหารือเพื่อไทย ชู “บิ๊กป้อม” นั่งนายกรัฐมนตรีเป็นแค่ข่าว
  • สั่งเยียวยาเหตุการณ์ถังดับเพลิงระเบิด ร.ร.ราชวินิตฯ
  • มติ ครม. รับทราบมติ กพอ. แก้สัญญารถไฟเชื่อม 3 สนามบิน
  • เริ่มเก็บค่าโดยสารรถไฟสายสีเหลือง 15-45 บาท 3 ก.ค.นี้
  • ชง กกต. อนุมัติแต่งตั้งซี 10 คลัง-สำนักนายกฯ
  • เมื่อวันที่ 27 มิถุนายน 2566 พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธานการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ณ ณ ตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล ภายหลังการประชุม ครม. เสร็จสิ้น พลเอก ประยุทธ์ ได้ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชน รวมทั้งมอบหมายให้นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี รายงานข้อสั่งการ

    วันนี้ พลเอก ประยุทธ์ ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนสั้นๆ ว่า “มีอะไรให้ถามทีมงานโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี” ผู้สื่อข่าวถามต่อว่า วันนี้จะไปร่วมงานประชุมพรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) ในช่วงบ่ายหรือไม่ พลเอก ประยุทธ์ กล่าวว่า “ขอรอดูก่อน” จากนั้นก็เดินขึ้นตึกไทยคู่ฟ้า

    มอบ รมต.ช่วยกันประชาสัมพันธ์ผลงานรัฐบาล

    ผู้สื่อข่าวจึงไปสัมภาษณ์ นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ถึงภาพรวมการประชุม ครม. วันนี้ ว่า ในที่ประชุมวันนี้มีการอนุมัติเรื่องสำคัญคือ รถไฟฟ้าสายสีเหลือง ถือเป็นผลงานของรัฐบาลที่ได้ทำจนสำเร็จ เพราะมีค่าโดยสารที่เป็นธรรม มีการเชื่อมต่อการเดินทางและสามารถให้บริการประชาชน

    “จะเห็นว่าที่ผ่านมารัฐบาล พลเอก ประยุทธ์ทำ โครงการดีๆ ไว้เยอะ เพียงแต่คนกลับไม่รับรู้ อยากให้ติดตามและช่วยกัน” นายชัยวุฒิกล่าว

    นายชัยวุฒิกล่าวต่อว่า พลเอก ประยุทธ์ ยังมอบหมายให้ ครม. ต้องประชาสัมพันธ์ผลงานของรัฐบาล สร้างการรับรู้ให้ประชาชน และส่งต่องานให้รัฐบาลใหม่

    นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม

    นอกจากนี้ พลเอก ประยุทธ์ ได้พูดถึงรัฐพิธีเปิดสภาผู้แทนราษฎรวันที่ 3 กรกฎาคม 2566 โดยให้ ครม. และ ส.ส. ไปร่วมงาน

    นายชัยวุฒิยังกล่าวในนามพรรคพลังประชารัฐว่า ทุกพรรคจะมีการประชุม ส.ส. และกรรมการบริหารพรรคเพื่อเตรียมความพร้อม ทำความเข้าใจเรื่องต่างๆ และแจ้งกำหนดการที่จะเกิดขึ้น

    พปชร. ยังไม่มีข้อสรุป เสนอชื่อประธานสภาฯ

    เมื่อผู้สื่อข่าวถามถึงจุดยืนของพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ในการเลือกประธานสภาผู้แทนราษฎร นายชัยวุฒิกล่าวว่า “คงจะมีการเลือกตามแนวทางของพรรค เพราะพรรคมีแนวทางขับเคลื่อนไปอยู่แล้ว แต่คงยังไม่ได้ข้อสรุปวันนี้ ผมว่ายังไม่ได้มีความชัดเจน เพราะผมว่าการเมืองมันอาจจะมีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา และการเสนอชื่อประธานสภา กลุ่มพรรคร่วมรัฐบาลเดิมก็ยังไม่ได้พูดคุยกันว่าจะเสนอชื่อใครหรือไม่ การเลือกประธานสภาครั้งที่แล้วเป็นการเสนอชื่อแข่งกันระหว่างพรรคร่วมรัฐบาลและพรรคร่วมฝ่ายค้าน ตอนนี้ยังไม่ได้พูดคุยกันและยังไม่มีมติเรื่องนี้”

    เมื่อถามต่อว่า การประชุมของพรรคพลังประชารัฐช่วงบ่ายวันนี้จะเป็นอย่างไร นายชัยวุฒิตอบว่า เป็นการประชุมพรรคทั่วไป และจะชี้แจงนักข่าวอีกที

    “ชัยวุฒิ” ปัดหารือเพื่อไทย ชู “บิ๊กป้อม” นั่งนายกรัฐมนตรีเป็นแค่ข่าว

    เมื่อถามว่า กระแสข่าวหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐอาจนั่งเก้าอี้นายกรัฐมนตรี กรณีที่ก้าวไกลไม่ได้จัดตั้งรัฐบาล ทางพรรคได้มีการพูดคุยกับพรรคเพื่อไทยหรือไม่

    นายชัยวุฒิตอบว่า ยังไม่ได้คุย ผมว่ามันเป็นเรื่องที่แค่กระแสข่าว แต่ก็ขอบคุณที่มีกระแสข่าวนี้ เพราะผมก็ให้ความเชื่อมั่นกับประชาชนว่าผมเองก็มีความเชื่อมั่นว่า พลเอก ประวิตร หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ มีความพร้อมเป็นนายกรัฐมนตรีได้ มีคุณสมบัติเป็นนายกรัฐมนตรีได้ ก็อยู่ที่การลงมติในรัฐสภา

    “แต่ข่าวหลักคือพรรคร่วมรัฐบาลมีการจับมือกันไปแล้ว ก็รอดูตรงนั้นไปก่อน ยังไม่ถึงเวลาที่จะมาพูดคุยถึงเรื่องนี้” นายชัยวุฒิกล่าว

    เมื่อถามถึงกระแสการซื้อ ส.ส. งูเห่า นายชัยวุฒิ ตอบว่า “ไม่มีหรอก มันมีไม่ได้อยู่แล้ว”

    สั่งเยียวยาเหตุการณ์ถังดับเพลิงระเบิด ร.ร.ราชวินิตฯ

    ด้านนายอนุชา รายงานข้อสั่งการของนายกรัฐมนตรี กรณีเหตุการณ์ถังดับเพลิงระเบิดที่โรงเรียนราชวินิตมัธยม เมื่อวันที่ 23 มิถุนายน 2566 ขณะซ้อมแผนอพยพ ทำให้มีผู้บาดเจ็บ 9 รายและผู้เสียชีวิต 1 ราย โดยนายกรัฐมนตรีแจ้งในที่ประชุมว่า เป็นเหตุการณ์ที่น่าสะเทือนใจอย่างมาก ขอแสดงความเสียใจต่อเหตุการณ์ดังกล่าว และได้กำชับให้กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงมหาดไทย และกระทรวงสาธารณสุข และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เยียวยาดูแลครอบครัวผู้เสียชีวิต และนักเรียนที่ได้รับบาดเจ็บ รวมถึงให้ดูแลส่วนที่เป็นด้านจิตใจ รวมถึงขอให้ทุกหน่วยตรวจสอบถังดับเพลิงที่ติดตั้งทั้งในโรงเรียนและสถานที่ต่างๆ ให้เป็นไปตามมาตรฐานการผลิตอุตสาหกรรม

    แจงซุกหนี้แบงก์รัฐ เพื่อช่วย ปปช. – สากลไม่นับเป็นหนี้สาธารณะ

    นายอนุชารายงานว่า นายกรัฐมนตรีกล่าวถึงฐานะทางการเงินการคลังของไทยว่า ฐานะการเงินการคลังของไทยมีความแข็งแกร่ง ในส่วนการจัดเก็บรายได้รัฐบาล ก็มีการดำเนินการได้เป็นอย่างดี โดยกระทรวงการคลังได้มีการจัดเก็บรายได้รัฐบาลสุทธิช่วง 8 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2566 ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2565 ถึงพฤษภาคม 2566 ผลคือสูงกว่าประมาณการ 8% และเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนจะสูงกว่า 4.9% ส่วนการรายงานฐานะการคลังของรัฐบาลจะมีตัวเลขเงินคงคลัง ณ เดือนพฤษภาคม 2566 อยู่ที่ 256,857 ล้านบาท

    นายอนุชากล่าวต่อว่า นายกรัฐมนตรีชี้แจงเพิ่มเติมในที่ประชุมว่า ที่ผ่านมา ทุกรัฐบาลมีการใช้มาตรการกึ่งการคลังเพื่อช่วยประชาชน ซึ่งมาตรการเหล่านั้นต้องใช้กลไกสถาบันการเงินของรัฐในการดำเนินมาตรการ ไม่ว่าจะเป็นการจำนำข้าว การประกันรายได้พืชผลการเกษตร รวมถึงการช่วยเหลือประชาชนในยามประเทศมีวิกฤติ เช่น มาตรการ Soft Loan ทั้งนี้รัฐบาลได้ตั้งงบประมาณในปีถัดไป เพื่อชดเชยคืนไปยังหน่วยงานที่ดำเนินโครงการ โดยเฉพาะธนาคารต่างๆ ที่ได้ร่วมมาตรการของรัฐ โดยภาระค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นไม่นับเป็นหนี้สาธารณะตามหลักสากล เพราะเป็นค่าใช้จ่ายที่ไม่ได้มีการค้ำประกันโดยภาครัฐ

    “อยากขอชี้แจง เพราะมีบางส่วนเข้าใจผิด และพูดถึงหนี้สาธารณะที่ไม่ถูกต้องทั้งหมด ทั้งนี้ ในช่วงที่ผ่านมารัฐบาลได้ตระหนักถึงการดำรงไว้ซึ่งวินัยการเงินการคลัง จึงได้มีการตรา พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังฯ เพื่อกำหนดเพดานการใช้มาตรการกึ่งการคลังในแต่ละปีของรัฐบาล ให้อยู่ในระดับที่เหมาะสมกับฐานะการเงินการคลังระยะยาว และเพื่อให้สอดคล้องกับขีดความสามารถในการจัดทำงบประมาณในแต่ละปี และทำให้ไม่ส่งผลกระทบในระยะยาวต่อหน่วยงานที่เป็นกลไกของรัฐที่ดำเนินมาตรการกึ่งการคลัง” นายอนุชากล่าว

    ปลื้ม IMD จัดอันดับไทยดีขึ้น เหตุเดินตามยุทธศาสตร์ชาติ

    นายอนุชากล่าวต่อว่า นายกรัฐมนตรีเชื่อมั่นว่าเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องจากสถานการณ์บวกต่างๆ ที่มีทิศทางในทางที่ดีขึ้น และสถานะการเงินการคลังที่แข็งแกร่งและมีเสถียรภาพ โดยตัวเลขต่างๆ ที่สะท้อนทิศทางการทำงานที่ดำเนินตามนโยบายที่เหมาะสมของรัฐบาลภายใต้วินัยทางการเงินการคลังที่เคร่งครัด รวมถึงความมุ่งมั่นของรัฐบาลในการเดินหน้าแก้ไขปัญหาของประชาชน ตั้งแต่ในช่วงวิกฤติโควิด-19 และการถดถอยของสถานการณ์เศรษฐกิจโลก

    “นายกรัฐมนตรีกล่าวถึงการดำเนินงานผลงานส่วนที่พูดถึงหลายส่วนของรัฐบาล ได้ยึดหลักตามยุทธศาสตร์ชาติ คือการสร้างความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืนให้ประชาชนไทยและประเทศไทย เพื่อเพิ่มขีดความสามารถต่างๆ ดังจะเห็นได้จากการจัดอันดับของ IMD ที่ผ่านมาว่าขีดความสามารถของประเทศไทยมีการปรับดีขึ้นจากปัจจัยหลักต่างๆ นายอนุชากล่าว

    มติ ครม. มีดังนี้

    ดร.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี พร้อมกับนายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกฯร่วมกันแถลงผลการประชุม ครม. ณ ตึกนารีสโมสร ทำเนียบรัฐบาล
    ที่มาภาพ : www.thaigov.go.th/

    เริ่มเก็บค่าโดยสารรถไฟสายสีเหลือง 15-45 บาท 3 ก.ค.นี้

    นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า วันนี้ที่ประชุม ครม. มีมติเห็นชอบ ร่างข้อบังคับการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทยว่าด้วยการกำหนดอัตราค่าโดยสารฯ สายสีเหลือง สายเฉลิมรัชมงคล และสายฉลองรัชธรรม ร่างข้อบังคับ การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย ว่าด้วยการยกเลิกข้อบังคับการรถไฟฟ้า ขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย ว่าด้วยการกำหนดอัตราค่าโดยสารร่วม พ.ศ. 2565 พ.ศ. …. และร่างข้อบังคับการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย ว่าด้วยอัตราและวิธีการจัดเก็บค่าบริการจอดรถยนต์และรถจักรยานยนต์ และค่าธรรมเนียม และค่าบริการอื่นๆ เกี่ยวกับการจอดรถยนต์และรถจักรยานยนต์ พ.ศ. …. รวม 5 ฉบับ ดังนี้

    1. ร่างข้อบังคับการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย ว่าด้วยการกำหนดอัตราค่าโดยสาร วิธีการจัดเก็บค่าโดยสาร และการกำหนดประเภทบุคคลที่ได้รับการยกเว้นไม่ต้องชำระค่าโดยสาร รถไฟฟ้า สายสีเหลือง พ.ศ. …. (ช่วงลาดพร้าว-สำโรง) สาระสำคัญเป็นการกำหนดอัตราค่าโดยสารตามวิธีการในสัญญาสัมปทาน โดยมีอัตราค่าโดยสารเริ่มต้น 15 บาท สูงสุด 45 บาท (23 สถานี) และหลักเกณฑ์อื่น อาทิ กำหนดหลักเกณฑ์ส่วนลดการเปลี่ยนถ่ายระบบแก่ผู้โดยสาร กรณีการเปลี่ยนถ่ายระบบระหว่างรถไฟฟ้าของ รฟม. ให้จัดเก็บค่าแรกเข้าเพียงครั้งเดียว เช่น การเปลี่ยนถ่ายระบบระหว่างรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน (รฟม.) มาสายสีเหลือง (รฟม.) ณ สถานีลาดพร้าว ส่วนกรณีการเปลี่ยนถ่ายระบบระหว่างรถไฟฟ้าของ รฟม. กับรถไฟฟ้าสายอื่น คณะกรรมการ รฟม. ประกาศกำหนดระยะเวลาสูงสุดสำหรับการเปลี่ยนถ่ายระบบ เช่น การเปลี่ยนถ่ายระบบระหว่างรถไฟฟ้าสาย Airport Rail Link (รฟท.) มาสายสีเหลือง (รฟม.) ณ สถานีหัวหมาก (เช่น ภายใน 30 นาที) ให้ผู้โดยสารได้รับส่วนลดค่าแรกเข้า กำหนดหลักเกณฑ์รายการส่งเสริมการเดินทาง ส่วนลดกลุ่มบุคคล เช่น เด็กนักเรียน นักศึกษา เป็นต้น ส่วนลดการเปลี่ยนถ่ายระบบตามประเภทผู้ถือบัตร การจัดโปรโมชัน กิจกรรมการตลาด การจำหน่ายตั๋วรายเดือน ตั๋วเป็นชุด ตั๋วราคาพิเศษ ความร่วมมือกับพันธมิตร สวัสดิการพนักงาน สนับสนุนนโยบายภาครัฐ เป็นต้น รวมทั้ง หลักเกณฑ์สนับสนุนกิจกรรมพิเศษ เช่น งานเฉลิมฉลอง งานพระราชพิธี เพื่อส่งเสริมการใช้บริการรถไฟฟ้า กิจกรรมตามนโยบายของรัฐ หรือกรณีที่มีความจำเป็นเพื่อประโยชน์สาธารณะ ทั้งนี้ โครงการรถไฟฟ้าสายสีเหลืองช่วงลาดพร้าว-สำโรง มีกำหนดเปิดให้บริการเดินรถในวันที่ 3 ก.ค. 2566 นี้

    2. ร่างข้อบังคับ รฟม. ว่าด้วยการกำหนดอัตราค่าโดยสาร วิธีการจัดเก็บค่าโดยสาร และการกำหนดประเภทบุคคลที่ได้รับการยกเว้นไม่ต้องชำระค่าโดยสารรถไฟฟ้ามหานคร สายเฉลิมรัชมงคล พ.ศ. …. (สายสีน้ำเงิน) มีสาระสำคัญเป็นการยกเลิกข้อบังคับ รฟม.ฯ รถไฟฟ้ามหานคร สายเฉลิมรัชมงคล พ.ศ. 2565 และเพิ่มเติมหลักเกณฑ์ให้ครอบคลุมถึงการเปลี่ยนถ่าย ระบบกับรถไฟฟ้าสายอื่น รวมทั้งกำหนดหลักเกณฑ์สำหรับรายการส่งเสริมการเดินทาง/หลักเกณฑ์สำหรับ สนับสนุนกิจกรรมพิเศษไว้เช่นเดิม (คงอัตราค่าโดยสารตามข้อบังคับฉบับมี 38 สถานี จากเดิม 12 สถานี เริ่มต้นที่ 17 บาท สิ้นสุด 43 บาท)

    3. ร่างข้อบังคับ รฟม. ว่าด้วยการกำหนดอัตราค่าโดยสาร วิธีการจัดเก็บค่าโดยสาร และการกำหนดประเภทบุคคลที่ได้รับการยกเว้นไม่ต้องชำระค่าโดยสารรถไฟฟ้ามหานคร สายฉลองรัชธรรม พ.ศ. …. (สายสีม่วง) มีสาระสำคัญเป็นการยกเลิกข้อบังคับ รฟม.ฯ รถไฟฟ้ามหานคร สายฉลองรัชธรรม พ.ศ. 2565 และเพิ่มเติมหลักเกณฑ์ให้ครอบคลุมถึงการเปลี่ยนถ่ายระบบ กับรถไฟฟ้าสายอื่น รวมทั้งกำหนดหลักเกณฑ์สำหรับรายการส่งเสริมการเดินทาง/หลักเกณฑ์สำหรับ สนับสนุนกิจกรรมพิเศษไว้เช่นเดิม (คงอัตราค่าโดยสารตามข้อบังคับฉบับเดิม มี 16 สถานี เริ่มต้นที่ 14 บาท สิ้นสุด 42 บาท)

    4. ร่างข้อบังคับ รฟม. ว่าด้วยการยกเลิกข้อบังคับ รฟม. ว่าด้วยการกำหนดอัตรา ค่าโดยสารร่วม พ.ศ. 2565 พ.ศ. …. เป็นการยกเลิกข้อบังคับ รฟม. ว่าด้วย การกำหนดอัตราค่าโดยสารร่วม พ.ศ. 2565 เนื่องจากข้อบังคับฉบับนี้ เป็นการกำหนดส่วนลดค่าแรกเข้าในการเปลี่ยนถ่ายระบบระหว่างสายสีน้ำเงินกับสายสีม่วง

    5. ร่างข้อบังคับ รฟม. ว่าด้วยอัตราและวิธีการจัดเก็บค่าบริการจอดรถยนต์ และรถจักรยานยนต์ และค่าธรรมเนียมและค่าบริการอื่นๆ เกี่ยวกับการจอดรถยนต์ และรถจักรยานยนต์ พ.ศ. …. กำหนดอัตราค่าบริการจอดรถยนต์ และวิธีการจัดเก็บค่าบริการจอดรถยนต์สำหรับอาคารจอดรถยนต์ทุกแห่ง รวมถึงอาคาร จอดรถยนต์อื่นๆ ในอนาคตของ รฟม. เป็นไปในแนวทางเดียวกันโดยรวมไว้ในฉบับเดียวกัน ซึ่งจะรองรับการจัดเก็บค่าบริการจอดรถยนต์และรถจักรยานยนต์ของผู้มาใช้บริการ รถไฟฟ้าสายสีเหลือง ที่จะเปิดให้บริการในวันที่ 3 กรกฎาคม 2566 ปัจจุบัน มีการเปิดบริการและคิดค่าบริการจอดรถ จำนวน 3 แห่ง (สายสีน้ำเงิน สายสีม่วง สายสีเขียว ช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการ)

    ทั้งนี้ กระทรวงคมนาคม แจ้งว่า ร่างข้อบังคับ รฟม. ทั้ง 5 ฉบับ คณะกรรมการ รฟม. เห็นชอบแล้ว และมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 3 ก.ค. 2566 เป็นต้นไป

    รับทราบมติ กพอ. แก้สัญญารถไฟเชื่อม 3 สนามบิน

    นายอนุชากล่าวว่า ที่ประชุม ครม. มีมติรับทราบรายงานผลการดำเนินการแก้ไขปัญหาโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน สรุปสาระสำคัญได้ ดังนี้

    คณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) มีมติเห็นชอบหลักการแก้ไขปัญหาโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน (โครงการฯ) ประกอบด้วยหลักการแก้ปัญหาการชำระค่าสิทธิโครงการรถไฟฟ้าแอร์พอร์ต เรล ลิ้งก์ (Airport Rail Link หรือ ARL) เนื่องจากสถานการณ์โควิด-19 และหลักการแก้ปัญหาเหตุการณ์ที่ส่งผลกระทบรุนแรงต่อสถานะทางการเงินของโครงการฯ ดังนี้

    1. หลักการแก้ปัญหาการชำระค่าสิทธิ ARL จากเดิมเอกชนคู่สัญญาต้องชำระค่าสิทธิ ARL จำนวน 10,671.09 ล้านบาท ให้การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ภายใน 2 ปี หลังลงนามในสัญญาร่วมลงทุนฯ เป็นเอกชนคู่สัญญาต้องชำระค่าสิทธิ ARL จำนวน 10,671.09 ล้านบาท พร้อมดอกเบี้ยจำนวน 1,060.04 ล้านบาท รวมทั้งสิ้น 11,731.13 ล้านบาท โดยแบ่งชำระ ค่าสิทธิ ARL ออกเป็น 7 งวด ได้แก่ งวดที่ 1-6 งวดละ 1,067.11 ล้านบาท และงวดที่ 7 จำนวน 5,328.47 ล้านบาท ภายในวันที่ 24 ตุลาคม ของแต่ละปี

    ทั้งนี้ การแบ่งชำระ 7 งวดดังกล่าว มีความเหมาะสม เนื่องจากผลประโยชน์จากส่วนต่างดอกเบี้ยที่เอกชนคู่สัญญาจะได้รับ (จำนวน 474.44 ล้านบาท) ใกล้เคียงกับผลกระทบที่เอกชนคู่สัญญาได้รับจากสถานการณ์โควิด-19 (จำนวน 495.27 ล้านบาท) โดยเอกชนคู่สัญญาจะรับผิดชอบค่าธรรมเนียม ดอกเบี้ย และค่าใช้จ่ายทางการเงินส่วนเกินจากที่ รฟท. ต้องชำระให้สถาบันทางการเงิน และ/หรือ กระทรวงการคลัง เป็นจำนวนเกินกว่าจำนวนเงินที่ รฟท. ได้รับชำระจากเอกชนคู่สัญญา

    เงื่อนไขภายหลังจากการปรับวิธีการชำระเงินแล้ว ดังนี้

    • กรณีเอกชนคู่สัญญาไม่ชำระค่าสิทธิ ARL ตามกำหนด โดยไม่มีสาเหตุอันสมควร จะถือเป็นเหตุผิดสัญญาในสาระสำคัญ และ รฟท. จะใช้สิทธิบังคับตามสัญญาร่วมลงทุนฯ
    • กรณีเอกชนคู่สัญญาได้รับรายได้ค่าโดยสาร ARL สูงกว่าประมาณการ รฟท. มีสิทธิเจรจาให้เอกชนคู่สัญญาชำระค่าสิทธิ ARL เร็วขึ้น

    ทั้งนี้ สถานการณ์โควิด-19 ส่งผลกระทบต่อจำนวนผู้โดยสารและรายรับของเอกชนคู่สัญญา หากไม่มีการแก้ไขปัญหาอาจส่งผลต่อการให้บริการ เดินรถและการบำรุงรักษา ARL ต้องหยุดชะงักลง และส่งผลให้ความเชื่อมั่นของโครงการฯ ต่อสถาบันการเงินลดลงด้วย

    2. การแก้ไขปัญหาเหตุการณ์ที่ส่งผลกระทบรุนแรงต่อสถานะทางการเงินของโครงการฯ โดยที่สัญญาร่วมลงทุนฯ ยังไม่มีกลไกรองรับการแก้ไขปัญหา กรณีเกิดเหตุการณ์ที่ส่งผลกระทบรุนแรงต่อสถานะทางการเงินของโครงการฯ ส่งผลให้โครงการไม่มีความเหมาะสมทางการเงิน (Not Bankable) แตกต่างจากกรณีสัญญาร่วมลงทุนของโครงการสนามบินอู่ตะเภาฯ ที่มีกระบวนการบริหารสัญญากรณีเกิดเหตุสุดวิสัยและเหตุผ่อนผันอันครอบคลุมถึงปัญหาที่เกิดจากความผันผวนทางเศรษฐกิจ เช่น โรคระบาด หรือโรคติดต่ออันตรายที่ส่งผลต่อเศรษฐกิจ และการท่องเที่ยว โดยไม่ต้องแก้ไขสัญญาร่วมลงทุน ดังนั้น เพื่อให้สามารถแก้ไขปัญหาในลักษณะเดียวกันที่อาจเกิดขึ้นได้ในอนาคต ด้วยกระบวนการบริหารสัญญา โดยไม่ต้องแก้ไขสัญญาร่วมลงทุนฯ จึงมีความจำเป็นต้อง

      (1) เพิ่มคำจำกัดความของเหตุสุดวิสัยและเหตุผ่อนผัน ให้ครอบคลุมถึงเหตุการณ์ที่ส่งผลกระทบ รุนแรงต่อสถานะทางการเงินของโครงการฯ และเอกชนคู่สัญญา เช่น ความผันผวนทางเศรษฐกิจ และความล่าช้าหรือการเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญของโครงการฯ และ
      (2) เพิ่มแนวทาง การบริหารสัญญาเพื่อจัดการกับเหตุสุดวิสัยและเหตุผ่อนผัน โดยเฉพาะที่มีผลกระทบต่อสถานะ ทางการเงินของโครงการฯ อย่างมีนัยสำคัญ เพื่อให้สามารถเยียวยาความเสียหายที่เกิดขึ้น กับคู่สัญญาฝ่ายที่ได้รับผลกระทบด้วยความเหมาะสมและเป็นธรรม โดยสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) หรืออีอีซี มีหน้าที่ ใช้ความพยายามอย่างดีที่สุด (Best effort) โดยสุจริตภายใต้กฎหมายและ พ.ร.บ.เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก พ.ศ. 2561 รวมทั้งประสานความร่วมมือระหว่าง รฟท. และเอกชนคู่สัญญา ถึงวิธีการในการเยียวยา เช่น การขยายระยะเวลาโครงการฯและการปรับเปลี่ยนเงื่อนไขที่เอกชน ต้องชำระผลประโยชน์ตอบแทนรัฐเพื่อสนับสนุนและแก้ไขปัญหาทางการเงินของโครงการฯ ทั้งนี้ รฟท. ยังมีสิทธิและหน้าที่ตามสัญญาร่วมลงทุนฯ เดิมทุกประการ

    โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวเพิ่มเติมว่า ประโยชน์ที่จะได้รับจากการแก้ไขปัญหาโครงการฯ ทำให้บริการ โครงการ ARL สามารถดำเนินการได้อย่างต่อเนื่องโดยเอกชนคู่สัญญา สามารถชำระค่าสิทธิ ARL เพื่อรับสิทธิการดำเนินโครงการ ARL ต่อไปได้ และจะมีกลไกในการบริหารสัญญาเพื่อรับมือกับเหตุผ่อนผันและเหตุสุดวิสัยกับเหตุการณ์ ในอนาคต รวมถึงเหตุการณ์ที่ส่งผลกระทบรุนแรงต่อสถานะทางการเงินของโครงการฯ และเอกชน คู่สัญญาเพื่อให้โครงการฯ สามารถบรรลุวัตถุประสงค์โครงการตามสัญญาร่วมลงทุนฯ ซึ่งในการประชุมคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) ครั้งที่ 1/66 เมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2566 ที่มีพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธาน มีมติเห็นชอบหลักการแก้ไขปัญหาโครงการรถไฟฟ้าความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบินและให้เสนอคณะรัฐมนตรีทราบ โดยนายกรัฐมนตรี ได้มีข้อสั่งการให้พิจารณาหลักเกณฑ์แสะเงื่อนไขให้รอบคอบครบถ้วนด้วย

    เร่งรัดเบิกจ่ายงบฯ 6 เดือน ล้างท่อไปแล้วกว่า 53%

    นายอนุชากล่าวว่า ที่ประชุม ครม. มีมติรับทราบผลการประชุมคณะกรรมการติดตามเร่งรัดการเบิกจ่ายงบฯ และการใช้จ่ายภาครัฐ ครั้งที่ 1/2566 มีการรายงานการเบิกจ่ายงบประมาณและการใช้จ่ายภาครัฐ ตั้งแต่ต้นปีงบประมาณ -31 มีนาคม 2566 ดังนี้

    1. ภาพรวมการเบิกจ่ายเงินประจำปีงบประมาณ 2566 ตั้งแต่ต้นปีงบประมาณ ถึงวันที่ 31 มี.ค. 2566 มีการเบิกจ่ายแล้ว จำนวน 1,955,667 ล้านบาท จากวงเงินงบประมาณ/แผนการใช้จ่ายทั้งสิ้น 3,664,673 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 53.37 สรุปรายละเอียด ดังนี้

    • งบฯ ประจำปีงบประมาณ 2566 เบิกจ่ายแล้ว 1,691,980 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 53.12
    • เงินกันไว้เบิกเหลื่อมปี เบิกจ่ายแล้ว 103,443 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 54.34
    • เงินลงทุนของรัฐวิสาหกิจ (ไม่รวมเงินงบฯ) เบิกจ่ายแล้ว 111,385 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 50.07
    • โครงการภายใต้ พ.ร.ก. ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงิน เพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจ และสังคม ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 พ.ศ. 2563 (กรอบวงเงิน 1 ล้านล้านบาท) เบิกจ่ายแล้ว 421 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 51.34
    • โครงการภายใต้ พ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไข ปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 เพิ่มเติม พ.ศ. 2564 (กรอบวงเงิน 5 แสนล้านบาท) เบิกจ่ายแล้ว 48,438 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 73.34

    ทั้งนี้ ปีงบประมาณ 2566 มีโครงการลงทุนที่มูลค่าโครงการตั้งแต่ 1,000 ล้านบาท ขึ้นไป รวม 112 โครงการ มูลค่าโครงการทั้งหมด 2.68 ล้านล้านบาท เบิกจ่ายแล้ว 68,817 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 46.12 ของแผนการใช้จ่ายเงิน (1 ตุลาคม 2565 – 31 มีนาคม 2566)

    2. ผลการเบิกจ่ายเงินงบฯ รายจ่าย (จากระบบ GFMIS)

      2.1 ผลการเบิกจ่ายเงินงบฯ รายจ่าย เบิกจ่ายแล้ว จำนวน 1.69 พันล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 53.12 สูงกว่าเป้าหมายร้อยละ 52 ใช้จ่ายแล้ว (ก่อหนี้ผูกพันแล้ว) จำนวน 1.87 พันล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 58.74 สูงกว่าเป้าหมายร้อยละ 56.24 ดังนี้

      • รายจ่ายประจำ เบิกจ่ายแล้ว 1,459,291 ล้านบาท (ร้อยละ 57.88) ใช้จ่ายแล้ว (ก่อหนี้ผูกพันแล้วจำนวน 1,472,082 ล้านบาท (ร้อยละ 58.39)
      • รายจ่ายลงทุน เบิกจ่ายแล้ว 232,689 ล้านบาท (ร้อยละ 35.05) ใช้จ่ายแล้ว (ก่อหนี้ผูกพันแล้ว 398,695 ล้านบาท (ร้อยละ 60.06)

      2.2 งบฯ ที่กันไว้เบิกเหลื่อมปี เบิกจ่ายแล้ว จำนวน 103,443 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 54.34 มีการใช้จ่ายแล้ว (ก่อหนี้ผูกพันแล้ว) จำนวน 104,774 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 55.04

    กรมบัญชีกลางรับข้อสังเกตกรณีการอุทธรณ์ที่ไม่สมเหตุผล ทำให้หน่วยงานของรัฐเสียโอกาส จากการดำเนินโครงการล่าช้า ควรกำหนดมาตรการลงโทษโดยขึ้น Blacklist ผู้อุทธรณ์ หรือฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายจากผู้อุทธรณ์กรณีดังกล่าว

    3. การเบิกจ่ายงบลงทุนของรัฐวิสาหกิจ

      3.1 รัฐวิสาหกิจมีผลการเบิกจ่ายงบลงทุนจำนวน 77,154 ล้านบาท จากแผนการเบิกจ่าย 67,628 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 114 ของแผนการเบิกจ่าย โดยรัฐวิสาหกิจปีงบฯ มีผลการเบิกจ่าย 55,003 ล้านบาท จากแผนการเบิกจ่าย 50,381 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 109 และรัฐวิสาหกิจปีปฏิทินมีผลการเบิกจ่าย 22,151 ล้านบาท จากแผนการเบิกจ่าย 17,247 ล้านบาท คิดเป็น ร้อยละ 128

      3.2 ผลการดำเนินการตามมาตรการเร่งรัดการเบิกจ่ายงบลงทุนของรัฐวิสาหกิจ เช่น (1) รัฐวิสาหกิจปีงบฯ และรัฐวิสาหกิจปีปฏิทินส่วนใหญ่มีการลงนามในสัญญาแล้ว คิดเป็นมูลค่ามากกว่าร้อยละ 80 และร้อยละ 65 ของกรอบงบลงทุน ตามลำดับ และ (2) รัฐวิสาหกิจส่วนใหญ่ มีประมาณการการเบิกจ่ายงบลงทุนในไตรมาสที่ 4 สูงกว่าร้อยละ 35 ของกรอบงบลงทุน แต่พบว่ามีรัฐวิสาหกิจปีงบฯ จำนวน 20 แห่งที่มีผลการเบิกจ่ายงบลงทุนในรอบ 6 เดือนแรกต่ำกว่าร้อยละ 35 ของกรอบงบลงทุน และมีประมาณการการเบิกจ่ายงบลงทุนในไตรมาสที่ 4 สูงกว่าร้อยละ 35 ของกรอบงบลงทุน

    4. โครงการลงทุนที่มีมูลค่าตั้งแต่ 1,000 ล้านบาทขึ้นไป ของส่วนราชการและรัฐวิสาหกิจ มีจำนวน 112 โครงการ มูลค่ารวม 2.68 ล้านล้านบาท มีวงเงินเบิกจ่ายลงทุนในปี 2566 จำนวน 149,203 ล้านบาท โดยโครงการที่รัฐดำเนินการเอง 87 โครงการ ซึ่งมีการลงนามในสัญญาแล้ว 35 โครงการและโครงการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน 25 โครงการ มีการลงนามในสัญญาแล้ว 25 โครงการ

    5. การเบิกจ่ายโครงการภายใต้ พ.ร.ก. ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินฯ พ.ศ. 2563 (กรอบวงเงิน 1 ล้านล้านบาท) ได้อนุมัติ 1,087 โครงการ วงเงิน 982,228 ล้านบาท โดยมีการเบิกจ่ายแล้วทั้งสิ้น 950,557 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 97 ของวงเงินอนุมัติ ทั้งนี้ คาดว่าจะคงเหลือเงินกู้ ที่จะนําส่งคืนคลังเป็นรายได้แผ่นดิน จำนวน 13,896 ล้านบาท

    6. การเบิกจ่ายโครงการภายใต้ พ.ร.ก. ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินฯ เพิ่มเติม พ.ศ. 2564 (กรอบวงเงิน 5 แสนล้านบาท) อนุมัติโครงการ จำนวน 2,445 โครงการ วงเงิน 499,736 ล้านบาท โดยหน่วยงานเบิกจ่ายแล้วทั้งสิ้น 474,737 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 95 ของวงเงินอนุมัติ คงเหลือโครงการที่อยู่ระหว่างการเบิกจ่าย จำนวน 190 โครงการ วงเงิน 43,604 ล้านบาท เบิกจ่ายแล้ว 34,573 ล้านบาท และในปีงบประมาณ 2566 มีแผนการเบิกจ่าย วงเงินรวม 2566,045 ล้านบาท ในส่วนโครงการที่พบปัญหาอุปสรรคในขั้นตอนของการดำเนินโครงการ ส่งผลให้เกิดความล่าช้าและไม่สามารถดำเนินโครงการได้ทันตามระยะเวลาที่คณะรัฐมนตรีอนุมัติ ได้มีการขยายระยะเวลาดำเนินโครงการ และเร่งรัดดำเนินโครงการให้แล้วเสร็จต่อไป

    ส่งมอบสวนป่า “เบญจกิติ” ให้ กทม.ดูแลต่อ

    นายอนุชา กล่าวว่า ที่ประชุม ครม.มีมติรับทราบการดำเนินโครงการจัดสร้างสวนป่า “เบญจกิตติ” ระยะที่ 2-3 ซึ่งกรมธนารักษ์ได้นำส่งเงินคงเหลือจากการจัดสร้างสวนป่า “เบญจกิติ” จำนวน 3,250,281.53 บาท คืน กระทรวงการคลัง เป็นรายได้แผ่นดินแล้ว

    ทั้งนี้ มติคณะรัฐมนตรี (27 พฤษภาคม 2540) อนุมัติให้ กระทรวงการคลังใช้เงินจากรายได้แผ่นดินที่โรงงานยาสูบต้องนำส่งคลัง เพื่อเป็นค่าก่อสร้างสวนสาธารณะ “เบญจกิติ” โดยการก่อสร้างแบ่งเป็น 2 ส่วน ได้แก่ ส่วนที่ 1 การจัดสร้างสวนน้ำ และส่วนที่ 2 การจัดสร้างสวนป่า โดยเมื่อการสร้างสวนสาธารณะทั้ง 2 ส่วนเสร็จและมีเงินคงเหลือ ให้กรมธนารักษ์นำส่งคืนกระทรวงการคลังเป็นรายได้แผ่นดินต่อไป และต่อมา คณะรัฐมนตรีได้มีมติ (8 มีนาคม 2559 ) เห็นชอบในหลักการโครงการจัดสร้าง สวนป่า “เบญจกิติ” วงเงินจัดสร้าง 950 ล้านบาท แบ่งการดำเนินการเป็น 3 ระยะ โดยสวนป่า “เบญจกิติ” ระยะที่ 1 แล้วเสร็จเมื่อวันที่ 2 สิงหาคม 2559 ระยะที่ 2 เมื่อเดือนธันวาคม 2564 และระยะที่ 3 เมื่อเดือนธันวาคม 2564 โดยมีพิธีเปิดสวนป่า ระยะที่ 2 และ 3 ในสวนสาธารณะ “เบญจกิติ” เพื่อเฉลิมพระเกียรติ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ฯ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 90 พรรษา 12 สิงหาคม 2565 เมื่อวันที่ 3 สิงหาคม 2565

    ทั้งนี้ ในปัจจุบันรัฐบาลได้ส่งมอบพื้นที่สวนป่าดังกล่าวให้กรุงเทพมหานครเป็นผู้ดูแลแล้ว ซึ่งสวนป่า “เบญจกิตติ” เป็นพื้นที่สีเขียวใจกลางกรุงเทพมหานคร และเป็นสวนสาธารณะ สวนสุขภาพ และออกกำลังกาย เป็นสถานที่ท่องเที่ยวเชิงนิเวศที่ดึงดูดนักท่องเที่ยวชาวไทยและต่างชาติ สร้างความน่าอยู่ให้กับกรุงเทพมหานคร ซึ่งเป็นไปตามเป้าหมาย และวัตถุประสงค์ของโครงการจัดสร้างสวนป่าเบญจกิตติตามนโยบายของรัฐบาล เพื่อเพิ่มคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นให้กับประชาชน

    เตือนผู้ถือ “บัตรคนจน” 1.15 ล้านคน รีบยืนยันตัวตน เริ่มใช้สิทธิ 1 ส.ค.นี้

    ดร.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ที่ประชุม ครม.มีมติรับทราบรายงานความก้าวหน้าโครงการลงทะเบียนเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐ ปี 2565 และการใช้สิทธิภายใต้โครงการลงทะเบียนเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐ ปี 2565 ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ ดังนี้

    ความก้าวหน้าโครงการลงทะเบียนเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐ ปี 2565 มีผู้ลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการะทั้งสิ้น 19,647,241 ราย เมื่อพิจารณาคุณสมบัติของลงทะเบียนแล้ว พบว่า มีผู้ผ่านเกณฑ์ จำนวน 14,596,820 ราย ไม่ผ่านเกณฑ์ จำนวน 5,050,421 ราย โดยผู้ที่ไม่ผ่านเกณฑ์ได้ยื่นอุทธรณ์ จำนวน 1,266,682 ราย (คิดเป็นร้อยละ 25.08 ของผู้ไม่ผ่านเกณฑ์) และมีผู้ผ่านการตรวจสอบเพิ่มเติม (เกษตรกร) จำนวน 416,153 ราย ทำให้มีผู้ผ่านเกณฑ์โครงการ ปี 65 รวมทั้งสิ้น 15,012,973 ราย โดยมีผู้ที่ยืนยันตัวตนสำเร็จ จำนวน 13,444,534 ราย (คิดเป็นร้อยละ 92.11 ของจำนวนผู้ผ่านเกณฑ์ทั้งหมด) และยังไม่ได้ยืนยันตัวตนหรือยืนยันตัวตนไม่สำเร็จอีก จำนวน 1,152,286 ราย (คิดเป็นร้อยละ 7.89 ของจำนวนผู้ผ่านเกณฑ์ทั้งหมด) สำหรับผู้ที่ไม่ได้ยืนยันตัวตนหรือยืนยันตัวตนไม่สำเร็จ ยังคงยืนยันตัวตนได้ และจะเริ่มใช้สิทธิในวันที่ 1 สิงหาคม 2566 โดยจะได้รับสิทธิเฉพาะเดือนที่กระทรวงการคลังดำเนินการตั้งวงเงินให้ แต่ไม่ได้รับสิทธิย้อนหลัง

    สำหรับการใช้สิทธิภายใต้โครงการลงทะเบียนเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐ ปี 2565 ในช่วงเดือนเมษายน – เดือนพฤษภาคม 2566 มีดังนี้

      เดือนเมษายน 2566 มีผู้ใช้สิทธิจำนวน 12.31 ล้านราย มูลค่าการใช้สิทธิรวม 4,005.65 ล้านบาท แบ่งเป็นค่าซื้อสินค้าอุปโภคบริโภค 3,682.35 ล้านบาท ส่วนลดค่าซื้อก๊าซหุงต้ม 259.41 ล้านบาท ค่าเดินทางระบบขนส่งสาธารณะ 63.88 ล้านบาท สำหรับมาตรการบรรเทาค่าไฟฟ้า/ค่าน้ำประปา ผู้ขอใช้สิทธิต้องลงทะเบียนขอรับสิทธิ ส่วนการจ่ายเงินเพิ่มเติมเบี้ยคนพิการ เดือนละ 200 บาท เฉพาะผู้พิการที่มีบัตรประจำตัวคนพิการและผ่านเกณฑ์การพิจารณาคุณสมบัติตามโครงการปี 65 มีจำนวน794,189 ราย รวมเป็นเงิน 158.84 ล้านบาท
      เดือนพฤษภาคม 2566 มีผู้ใช้สิทธิจำนวน 12.79 ล้านราย มูลค่าการใช้สิทธิรวม 4,252.15 ล้านบาท แบ่งเป็นค่าซื้อสินค้าอุปโภคบริโภค 4,028.97 ล้านบาท ส่วนลดค่าซื้อก๊าซหุงต้ม 45.45 ล้านบาท ค่าเดินทางระบบขนส่งสาธารณะ 62.62ล้านบาท สำหรับมาตรการบรรเทาค่าไฟฟ้า/ค่าน้ำประปา ค่าไฟฟ้า มูลค่าการใช้สิทธิ 105.09 ล้านบาท ค่าน้ำประปา มูลค่าการใช้สิทธิ 9.93 ล้านบาท ส่วนการจ่ายเงินเพิ่มเติมเบี้ยคนพิการ เดือนละ 200 บาท เฉพาะผู้พิการที่มีบัตรประจำตัวคนพิการและผ่านเกณฑ์การพิจารณาคุณสมบัติตามโครงการปี 65 มีจำนวน 1,016,008 ราย รวมเป็นเงิน 203.20 ล้านบาท

    ดร.รัชดา กล่าวต่อว่า สถานะปัจจุบันของกองทุนกองทุนประชารัฐสวัสดิการเพื่อเศรษฐกิจฐานรากและสังคมในปีงบประมาณ พ.ศ.2566 กองทุนมีงบประมาณรวม 51,644.51 ล้านบาท โดยเป็นค่าใช้จ่ายสำหรับจัดสรรสวัสดิการแก่ผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ (1 ตุลาคม 2565 – 24 พฤษภาคม 2566) จำนวน 35,923.45 ล้านบาท ส่งผลให้งบประมาณคงเหลือ ณ วันที่ 24 พฤษภาคม 2566 รวมทั้งสิ้น 15,721.06 ล้านบาท

    คุมราคาสินค้า-บริการปี’66 รวม 51 รายการ

    ดร.รัชดากล่าวว่า ที่ประชุม ครม. มีมติเห็นชอบกำหนดสินค้าและบริการควบคุมปี 2566 จำนวน 51 รายการ ตามที่กระทรวงพาณิชย์เสนอ โดยให้คงสินค้าและบริการควบคุม ปี 2566 เช่นเดียวกับปี 2565 เพราะเป็นสินค้าและบริการควบคุมที่มีความจำเป็นต่อชีวิตประจำวันของประชาชน เช่น ปุ๋ย ก๊าซปิโตรเลียมเหลว น้ำมันเชื้อเพลิง ข้าวเปลือก ไข่ไก่ เนื้อสุกร เครื่องแบบนักเรียน เป็นต้น ทั้งนี้ เป็นผลสืบเนื่องมาจากประกาศคณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ (กกร.) เรื่อง การกำหนดสินค้าและบริการควบคุม ฉบับที่ 13 พ.ศ. 2565 จะสิ้นสุดการบังคับใช้ในวันที่ 30 มิถุนายน 2566

    สินค้าและบริการควบคุมปี 2566 จำนวน 51 รายการ แบ่งเป็น 46 สินค้า 5 บริการ โดยกำหนดเป็น 11 หมวด ดังนี้

    1. หมวดกระดาษและผลิตภัณฑ์ ได้แก่ 1) กระดาษทำลูกฟูก กระดาษเหนียว 2) กระดาษพิมพ์และเขียน

    2. หมวดบริภัณฑ์ขนส่ง ได้แก่ 3) ยางรถจักรยานยนต์ ยางรถยนต์ 4) รถจักรยานยนต์ รถยนต์บรรทุก

    3. หมวดปัจจัยทางการเกษตร ได้แก่ 5) กากดีดีจีเอส (ส่วนที่เหลือจากการผลิตเอทานอล) 6) เครื่องสูบน้ำ 7) ปุ๋ย 8) ยาป้องกันหรือกำจัดศัตรูพืชหรือโรคพืช 9) รถเกี่ยวข้าว 10) รถไถนา 11) หัวอาหารสัตว์ อาหารสัตว์

    4. หมวดผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม ได้แก่ 12) ก๊าซปิโตรเลียมเหลว 13) น้ำมันเชื้อเพลิง

    5. หมวดยารักษาโรคและเวชภัณฑ์ ได้แก่ 14) ยารักษาโรค 15) เวชภัณฑ์เกี่ยวกับการรักษาโรค

    6. หมวดวัสดุก่อสร้าง ได้แก่ 16) ท่อพีวีซี 17) ปูนซีเมนต์ 18) สายไฟฟ้า 19) เหล็กโครงสร้างรูปพรรณ เหล็กแผ่น เหล็กเส้น

    7. หมวดสินค้าเกษตรที่สำคัญ ได้แก่ 20) ข้าวเปลือก ข้าวสาร 21) ข้าวสาลี ข้าวบาร์เลย์ 22) ข้าวโพด 23) ต้นพันธุ์ ท่อนพันธุ์ มันสำปะหลังและผลิตภัณฑ์ 24) ผลปาล์มน้ำมัน 25) มะพร้าวผลแก่และผลิตภัณฑ์ 26) ยางพารา ได้แก่ น้ำยางสด ยางก้อน เศษยาง น้ำยางข้น ยางแผ่น ยางแท่ง ยางเครพ

    8. หมวดสินค้าอุปโภคบริโภค ได้แก่ 27) กระดาษชำระ กระดาษเช็ดหน้า 28) แชมพู 29) ผงซักฟอก น้ำยาซักฟอก 30) ผลิตภัณฑ์ล้างจาน 31) ผ้าอนามัย 32) ผ้าอ้อมสำเร็จรูปเด็กและผู้ใหญ่ 33) สบู่ก้อน สบู่เหลว

    9. หมวดอาหาร ได้แก่ 34) กระเทียม 35) ไข่ไก่ 36) ทุเรียน 37) นมผง ผลิตภัณฑ์นมพร้อมบริโภคชนิดเหลว ไม่รวมถึงนมเปรี้ยว 38) น้ำมันและไขมันที่ได้จากพืชหรือสัตว์ทั้งที่บริโภคได้หรือไม่ได้ 39) แป้งสาลี 40) มังคุด 41) ลำไย 42) สุกร เนื้อสุกร 43) หอมหัวใหญ่ 44) อาหารกึ่งสำเร็จรูปบรรจุภาชนะผนึก 45) อาหารในภาชนะบรรจุที่ปิดสนิท

    10. หมวดอื่นๆ ได้แก่ 46) เครื่องแบบนักเรียน

    11. หมวดบริการ ได้แก่ 47) การให้สิทธิในการเผยแพร่งานลิขสิทธิ์เพลงเพื่อการค้า 48) บริการซื้อขายและหรือบริการขนส่งสินค้าสาหรับธุรกิจออนไลน์ 49) บริการทางการเกษตร 50) บริการรักษาพยาบาล บริการทางการแพทย์ และบริการอื่นของสถานพยาบาลเกี่ยวกับการรักษาโรค และ 51) บริการรับชำระเงิน ณ จุดบริการ

    ชง กกต.อนุมัติแต่งตั้งซี 10 คลัง-สำนักนายกฯ

    ดร.รัชดา กล่าวว่า ที่ประชุม ครม.มีมติอนุมัติ/เห็นชอบ ในเรื่องแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการและผู้บริหารระดับสูงของหน่วยงานรัฐ มีรายละเอียดดังนี้

    1. การแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญให้ดำรงตำแหน่งประเภทวิชาการระดับทรงคุณวุฒิ (กระทรวงการคลัง)

    คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเสนอแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญ สังกัดกระทรวงการคลัง ให้ดำรงตำแหน่งประเภทวิชาการ ระดับทรงคุณวุฒิ จำนวน 3 ราย ตั้งแต่วันที่มีคุณสมบัติครบถ้วนสมบูรณ์ ดังนี้

      1. นายพงศ์เทพ บัวทรัพย์ รองอธิบดีกรมศุลกากร ดำรงตำแหน่ง ที่ปรึกษาด้านพัฒนาระบบควบคุมทางศุลกากร (นักวิชาการศุลกากรทรงคุณวุฒิ) กรมศุลกากร ตั้งแต่วันที่ 30 พฤศจิกายน 2565

      2. นายสมศักดิ์ อนันทวัฒน์ รองอธิบดีกรมสรรพากร ดำรงตำแหน่ง ที่ปรึกษาด้านยุทธศาสตร์การจัดเก็บภาษี (กลุ่มธุรกิจพลังงาน) (นักวิเคราะห์นโยบายและแผนทรงคุณวุฒิ) กรมสรรพากร ตั้งแต่วันที่ 29 ธันวาคม 2565

      3. นางนัทีวรรณ สีมาเงิน รองผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ ดำรงตำแหน่ง ที่ปรึกษาด้านการประเมินผลรัฐวิสาหกิจ (นักวิเคราะห์รัฐวิสาหกิจทรงคุณวุฒิ) สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ ตั้งแต่วันที่ 30 มกราคม 2566

    และให้ดำเนินการต่อไปได้เมื่อได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการการเลือกตั้ง ตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 169 (2) แล้ว ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งเป็นต้นไป

    2. การแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญให้ดำรงตำแหน่งประเภทวิชาการระดับทรงคุณวุฒิ (สำนักนายกรัฐมนตรี)

    คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติ ตามที่สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เสนอแต่งตั้ง นายอภิชัย ธรรมเสริมสุข ผู้อำนวยการกองบัญชีประชาชาติ (ผู้อำนวยการระดับสูง) สศช. ให้ดำรงตำแหน่ง ที่ปรึกษาด้านนโยบายและแผนงาน (นักวิเคราะห์นโยบายและแผนทรงคุณวุฒิ) สศช. สำนักนายกรัฐมนตรี ตั้งแต่วันที่ 21 ธันวาคม 2565 ซึ่งเป็นวันที่มีคุณสมบัติครบถ้วนสมบูรณ์ และให้ดำเนินการต่อไปได้เมื่อได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการการเลือกตั้งตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 169 (2) แล้ว ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งเป็นต้นไป

    3. การแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญให้ดำรงตำแหน่งประเภทวิชาการระดับทรงคุณวุฒิ (สำนักนายกรัฐมนตรี)

    คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีเสนอแต่งตั้ง นายธวัชชัย จันทร์ไพศาลสิน ผู้อำนวยการกอง (ผู้อำนวยการสูง) กองอาลักษณ์และเครื่องราชอิสริยาภรณ์ สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ให้ดำรงตำแหน่ง ที่ปรึกษาประจำสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี (นักวิเคราะห์นโยบายและแผนทรงคุณวุฒิ) ส่วนกลาง สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี สำนักนายกรัฐมนตรี ตั้งแต่วันที่ 14 พฤศจิกายน 2565 ซึ่งเป็นวันที่มีคุณสมบัติครบถ้วนสมบูรณ์ และให้ดำเนินการต่อไปได้เมื่อได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการการเลือกตั้งตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 169 (2) แล้ว ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งเป็นต้นไป

    4. การแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญให้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหารระดับสูง (สำนักนายกรัฐมนตรี)

    คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่สำนักงาน ก.พ. เสนอแต่งตั้ง นายกิติพงษ์ มหารัตนวงศ์ ผู้ช่วยเลขาธิการ ก.พ. สำนักงาน ก.พ. ให้ดำรงตำแหน่ง รองเลขาธิการ ก.พ. สำนักงาน ก.พ. สำนักนายกรัฐมนตรี เพื่อทดแทนตำแหน่งที่ว่าง และให้ดำเนินการต่อไปได้เมื่อได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการการเลือกตั้งตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 169 (2) แล้ว ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งเป็นต้นไป

    5. การแต่งตั้งประธานกรรมการและกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการหอภาพยนตร์ (องค์การมหาชน)

    คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่กระทรวงวัฒนธรรมเสนอแต่งตั้งประธานกรรมการและกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการหอภาพยนตร์ รวม 8 คน ดังนี้

      1. นางสาววันเพ็ญ นิโครวนจำรัส ประธานกรรมการ
      2. นายอนันต์ ชูโชติ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิด้านศิลปวัฒนธรรม
      3. นายนนทรีย์ นิมิบุตร กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิด้านภาพยนตร์
      4. นางสาวพิมพกา โตวิระ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิด้านภาพยนตร์
      5. หม่อมราชวงศ์ปิยฉัตร ฉัตรชัย กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิด้านสื่อสารมวลชน
      6. นางสาวไศลทิพย์ จารุภูมิ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิด้านการบริหาร
      7. นางจินดารัตน์ วิริยะทวีกุล กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิด้านการเงินและบัญชี
      8. นายมารุต บูรณรัช กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ

    ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 27 มิถุนายน 2566 เป็นต้นไป

    6. แต่งตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข

    คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ประธานกรรมการสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุขเสนอ แต่งตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข จำนวน 7 คน เนื่องจากกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิเดิมได้ดำรงตำแหน่งครบวาระสองปี ดังนี้

      1. นางดวงตา ตันโช
      2. ศาสตราจารย์ธานินทร์ ศิลป์จารุ
      3. ศาสตราจารย์นรินทร์ หิรัญสุทธิกุล
      4. ศาสตราจารย์บรรเจิด สิงคะเนติ
      5. นายพัลลภ ศักดิ์โสภณกุล
      6. ศาสตราจารย์มรรยาท รุจิวิชชญ์
      7. นายสุพรรณ ศรีธรรมมา

    ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 27 มิถุนายน 2566 เป็นต้นไป

    อ่าน มติ ครม. ประจำวันที่ 27 มิถุนายน 2566 เพิ่มเติม