ThaiPublica > คอลัมน์ > บทบาทของวัดต่อการพัฒนาที่ยั่งยืน

บทบาทของวัดต่อการพัฒนาที่ยั่งยืน

21 สิงหาคม 2023


ศาสตราจารย์ ดร.พิริยะ ผลพิรุฬห์

องค์กรที่ไม่แสวงหาผลกำไร (Nonprofit Organization) หรือตามที่ระบบบัญชีประชาชาติ (System of National Accounts: SNA) เรียกว่า สถาบันไม่แสวงหากำไรให้บริการครัวเรือน (Non Profit Institution Serving Households: NPISHs) หมายถึง องค์กรที่ดำเนินงานโดยไม่หวังผลกำไร ผลิตสินค้าและบริการให้กับประชาชนหรือสังคม โดยไม่คิดราคาหรือให้เปล่าหรือจำหน่ายในราคาที่ไม่คุ้มทุนหรือในราคาที่ไม่มีนัยสำคัญทางเศรษฐกิจ ซึ่งส่วนมากจะมีขนาดเล็กและมีกิจกรรมทางเศรษฐกิจไม่มากนักในบริบทของประเทศไทย

วัดในพระพุทธศาสนาถือได้ว่าเป็นองค์กรที่ไม่แสวงหาผลกำไร ที่มีบทบาทสำคัญต่อการส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจสังคม รวมถึงยกระดับคุณภาพชีวิตของคนในชุมชนได้ ถึงแม้วัดในประเทศไทยจะมีบทบาทต่อภาคเศรษฐกิจน้อย แต่บทบาททางด้านการพัฒนาสังคมนั้นมีค่อนข้างสูงมากไม่ว่าจะเป็น

    1) เป็นสถานศึกษาสำหรับชาวบ้านจะส่งบุตรมารับการฝึกอบรมทางศีลธรรมและเล่าเรียนวิชาการต่าง ๆ
    2) เป็นสถานสงเคราะห์ บุตรหลานของชาวบ้านที่ยากจนได้มาอยู่อาศัยเลี้ยงชีวิตและศึกษาเล่าเรียนตลอดจนผู้ใหญ่ที่ยากจนมาอาศัยเลี้ยงชีพ
    3) เป็นสถานพยาบาลรักษาคนเจ็บป่วยตามแผนโบราณ
    4) เป็นที่พักคนเดินทาง/คนไร้บ้าน
    5) เป็นสโมสรที่ชาวบ้านพบปะสังสรรค์และพักผ่อนหย่อนใจ
    6) เป็นสถานที่บันเทิงที่จัดงานเทศกาลและมหรสพต่าง ๆ สำหรับชาวบ้าน
    7) เป็นที่ไกล่เกลี่ยข้อพิพาทคือ พระสงฆ์เป็นที่ปรึกษาและแก้ปัญหาชีวิตครอบครัวและความทุกข์ต่าง ๆ
    8) เป็นศูนย์กลางศิลปะและวัฒนธรรมเป็นที่รวมศิลปกรรมต่าง ๆ ของชาติ ซึ่งเป็นเสมือนพิพิธภัณฑ์
    9) เป็นคลังพัสดุ สำหรับเก็บของใช้ต่าง ๆ ที่ชาวบ้านได้ใช้ร่วมกัน เมื่อมีงานวัดหรือยืมไปใช้เมื่อตนมีงานบ้าน
    10) เป็นศูนย์กลางการบริหารหรือการปกครอง ที่กำนันหรือผู้ใหญ่บ้านจะเรียกลูกบ้านมาประชุมเพื่อบอกแจ้งกิจกรรมต่าง ๆ
    11) เป็นที่ประกอบพิธีกรรมหรือให้บริการด้านพิธีกรรม อันเป็นเรื่องผูกพันกับชีวิตของทุกคนในระยะต่าง ๆของชีวิต
    12) เป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่สำคัญ ๆ ของพื้นที่นั้น ๆ

ดังนั้นวัดจึงเป็นศูนย์รวมจิตใจของประชาชน ส่วนพระสงฆ์เป็นตัวแทนของวัดในการแสดงบทบาทต่างๆ เป็นผู้นำทางจิตใจของประชาชน เป็นศูนย์รวมแห่งความเคารพ เชื่อถือและการร่วมมือกันให้เกิดความสามัคคีความเป็นระเบียบเรียบร้อย นอกจากนี้พระสงฆ์ยังมีบทบาทสำคัญในการควบคุมทางสังคมในระดับประเทศ ด้วยเพราะพระสงฆ์เป็นที่เคารพนับถือของบุคคลทุกชั้นในสังคมตั้งแต่พระมหากษัตริย์ลงมาจนถึงประชาชนทั่วไป

จากการวิเคราะห์ด้วยข้อมูลการสำรวจองค์กรไม่แสวงหาผลกำไรโดยเลือกเฉพาะข้อมูลประเภทวัดพบว่าจากข้อมูลการสำรวจวัดในประเทศไทยรวมทั้งสิ้น 16,895 กลุ่มตัวอย่างพบว่า (จากรูปที่ 1) วัดในพระพุทธศาสนาส่วนใหญ่ (4,715 แห่ง) จะมีการให้การช่วยเหลือสังคมโดยการให้เงินสด, รองลงมา (4,439 แห่ง) มีการช่วยเหลือโดยการให้สิ่งของ, และอีก 4,057 แห่งมีการช่วยเหลือการให้คำปรึกษา
(ซึ่งในที่นี้ก็คือคำปรึกษาทางด้านหลักคำสอนทางศาสนา) ทั้งนี้ยังมีอีก 1,192 แห่งให้เป็นที่พักอาศัยชั่วคราว

นอกจากนี้ยังพบว่า วัดจำนวนหนึ่ง (891 แห่ง) ยังดำเนินกิจกรรมการให้บริการด้านการศึกษา (เช่นมีโรงเรียนหรือเป็น ที่สำหรับศึกษาด้านพุทธศาสนา และการศึกษาพระภิกษุสามเณร) ดังนั้นจึงเห็นได้ว่าหน้าที่ของวัดในประเทศไทยจึงไม่ได้เป็นเพียงสถานที่เพื่อประกอบกิจกรรมและทำนุบำรุงทางศาสนาแต่เพียงอย่างเดียว แต่ยังทำหน้าที่เหมือนกับการเป็นองค์กรไม่แสวงหาผลกำไรที่ช่วยเหลือสังคมในด้านต่าง ๆ มากมาย

ทั้งนี้เมื่อนำกิจกรรมต่าง ๆ ของวัดมาจำแนกตามภาคจะพบว่า วัดในเขตภาคใต้จะให้บริการที่เป็นเงินสดสูงที่สุด(ในด้านจำนวนวัด) ในขณะที่วัดที่อยู่ในเขตภาคเหนือจะให้การให้คำปรึกษา(ซึ่งในที่นี้ก็คือคำปรึกษาทางด้านหลักคำสอนทางศาสนา) สูงที่สุด

ในขณะที่วัดในเขตภาคกลางและภาคใต้จะมีการให้บริการด้านการศึกษามากที่สุดอย่างไรก็ดี การให้บริการที่หลากหลายนี้จะส่งผลต่อการได้รับเงินบริจาคของวัดที่แตกต่างกันไปด้วยเช่นกันยกตัวอย่างเช่น วัดที่มีการฝึกอาชีพหรือให้ยืมเงินในการประกอบอาชีพจะได้รับเงินบริจาคสูงที่สุดคือประมาณ 985,862.70 บาทต่อวัด รองลงมาได้แก่วัดที่มีการให้บริการด้านสุขภาพและการดูแลรักษา(เช่นการมีโรงพยาบาลหรือสถานบำบัด) จะได้รับเงินบริจาคอยู่ที่คือประมาณ 978,317.30 บาทต่อวัดและวัดที่มีการให้บริการจัดหางานจะได้รับเงินบริจาคอยู่ที่ประมาณ 978,317.30 บาทต่อวัด954,152.10 บาทต่อวัด และวัดที่มีการให้บริการด้านการศึกษาจะได้รับเงินบริจาคอยู่ที่ประมาณ 858,882.70 บาทต่อวัด

ดังนั้นจะเห็นได้ว่า วัดที่มีการสร้างกิจกรรมที่ช่วยเหลือสังคมแบบเป็นรูปธรรมโดยเฉพาะในลักษณะขององค์กรด้านสุขภาพ (โรงพยาบาล และด้านการศึกษา(โรงเรียนหรือเป็นที่สำหรับศึกษาด้านพุทธศาสนาและการศึกษาพระภิกษุสามเณร)จะเป็นวัดที่มีโอกาสที่จะได้รับเงินบริจาคมากกว่าวัดที่เน้นเพียงการให้คำปรึกษา(ซึ่งในที่นี้ก็คือคำปรึกษาทางด้านหลักคำสอนทางศาสนา)

อย่างไรก็ดี เช่นเดียวกับองค์กรไม่แสวงหาผลกำไรประเภทอื่น ๆที่จะต้องรักษาสมดุลระหว่างการดำเนินกิจกรรมเพื่อสังคมพร้อมไปกับการจัดกิจกรรมการระดมทุน (Fund Raising) ดังนั้นวัดจะต้องประสบกับปัญหาความท้าทายในการบริหารในด้านต่าง ๆ เช่น การจัดการหนี้สินและทรัพย์สิน การจัดการคน การทำการตลาด เป็นต้น

ดังนั้นการเข้าใจถึงแนวทางในการจัดสรรทรัพยากรภายในวัดอย่างมีประสิทธิภาพจึงมีความสำคัญทั้งนี้วัดจำเป็นต้องเข้าใจถึง การบริหารต้นทุนและค่าใช้จ่ายต่าง ๆ การบริหารทรัพยากรบุคคล (ซึ่งในที่นี้ได้แก่พระ ลูกจ้างที่เป็นฆราวาส และอาสาสมัคร) การดำเนินกิจกรรมเพื่อหารายรับ การใช้เทคโนโลยีในองค์กรรวมไปถึงการจัดการสินทรัพย์ภายในวัด จึงเป็นประเด็นท้าทายที่วัดจำเป็นต้องทำไม่แตกต่างกับองค์กรไม่แสดงหาผลกำไรอื่น ๆ