ThaiPublica > คอลัมน์ > การค้าระหว่างประเทศกับการพัฒนาที่ยั่งยืนแห่งสหประชาชาติ

การค้าระหว่างประเทศกับการพัฒนาที่ยั่งยืนแห่งสหประชาชาติ

11 ตุลาคม 2022


ศาสตราจารย์ ดร.พิริยะ ผลพิรุฬห์

หลังจากที่เป้าหมายการพัฒนาแห่งสหัสวรรษ (Millennium Development Goals — MDGs) จำนวน 8 เป้าหมายได้สิ้นสุดแล้วในปี พ.ศ. 2558 ที่ประชุมสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติได้กำหนด “เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน” (Sustainable Development Goals — SDGs) โดยมีการตั้งเป้าหมายทั้งสิ้น 17 เป้าหมาย (goals) 169 เป้าประสงค์ (targets) เพื่อใช้เป็นแผนที่นำทางสำหรับการพัฒนาที่ยั่งยืนในอีก 15 ปีข้างหน้า (2015-2030) เพื่อที่ประเทศสมาชิกจะสามารถบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนได้จากการรักษาสมดุลใน 3 ด้าน ได้แก่ ด้านเศรษฐกิจ ด้านสังคม และด้านสิ่งแวดล้อม โดยเป้าหมายเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนกรอบใหม่นี้เป็นความท้าทายกับประเทศต่างๆ โดยเฉพาะสำหรับประเทศกำลังพัฒนาที่จะหาแนวทางในการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาดังกล่าว

โครงการศึกษาวิจัยชิ้นหนึ่งที่ผม (และทีมวิจัย) ได้รับการสนับสนุนจากสถาบันระหว่างประเทศเพื่อการค้าและการพัฒนา องค์การมหาชน (หรือ ITD) ได้พยายามศึกษาผลกระทบของการค้าระหว่างประเทศต่อการพัฒนาที่ยั่งยืนแห่งสหประชาชาติ โดยใช้กลุ่มประเทศอนุลุ่มน้ำโขงเป็นกรณีศึกษา โดยประเด็นที่น่าสนใจเกิดจากการที่กลุ่มประเทศสมาชิกอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง (Greater Mekong Subregion — GMS) ซึ่งประกอบด้วย กัมพูชา สปป.ลาว เมียนมา เวียดนาม ไทย และจีน (เฉพาะมณฑลยูนานและเขตปกครองตนเองกว่างซี) นี้เป็น กลุ่มประเทศกำลังพัฒนาที่มีการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างรวดเร็ว โดยประเทศในกลุ่มนี้ได้ดำเนินนโยบายเปิดเสรีทางการค้าและการลงทุนมาอย่างต่อเนื่อง อันส่งผลต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจอย่างรวดเร็วในกลุ่มประเทศเหล่านี้

แต่อย่างไรก็ดี ยังไม่เป็นที่แน่ชัดว่าการเจริญทางเศรษฐกิจอย่างรวดเร็วจากการใช้การค้าเป็นตัวขับเคลื่อนนั้นจะนำมาสู่การบรรลุกรอบเป้าหมายเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนได้หรือไม่ แต่ละประเทศสมาชิกจะสามารถดำเนินนโยบายการการค้าระหว่างประเทศ ที่จะส่งผลให้แต่ละประเทศสามารถบรรลุเป้าหมายเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนทั้ง 17 เป้าหมายนี้ได้อย่างไร

ผลการศึกษาพบว่า การค้าระหว่างประเทศ (ซึ่งประกอบไปด้วยการค้าสินค้าและบริการและการเคลื่อนย้ายปัจจัยการผลิตระหว่างประเทศ) ล้วนมีส่วนสำคัญต่อการบรรลุเป้าหมายเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนให้กับประเทศสมาชิกอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง โดยเฉพาะเป้าหมายด้านเศรษฐกิจ ไม่ว่าจะเป็น เป้าหมายที่ 1 (ขจัดความยากจนทุกรูปแบบในพื้นที่), เป้าหมายที่ 2 (ขจัดความหิวโหยบรรลุความมั่นคงทางอาหารสนับสนุนเกษตรกรรมอย่างยั่งยืน) เป้าหมายที่ 8 (การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่ยั่งยืนและทั่วถึงและการจ้างงานเต็มอัตรา), เป้าหมายที่ 9 (สร้างโครงสร้างพื้นฐานที่รองรับต่อการเปลี่ยนแปลงส่งเสริมอุตสาหกรรมและนวัตกรรม) นอกจากนี้ ยังส่งผลสืบเนื่องมาสู่การบรรลุเป้าหมายการพัฒนาในมิติทางสังคม เช่น เป้าหมายที่ 5 (บรรลุความเท่าเทียมระหว่างเพศเสริมสร้างความเข้มแข็งให้แก่สตรีและเด็กหญิง)

อย่างไรก็ดี เนื่องจากด้วยธรรมชาติของการค้าระหว่างประเทศที่ดำเนินการผ่านระบบตลาดและทำให้เกิดทั้งผู้มีส่วนได้และผู้มีส่วนเสีย (gainer and loser) เกิดขึ้น ผลการศึกษาพบว่า การค้าระหว่างประเทศยังสร้างความลำบากต่อการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนในด้านสังคม เช่น เป้าหมายที่ 10 (ลดความไม่เท่าเทียมทั้งภายในและระหว่างประเทศ) อันเป็นอุปสรรคต่อเนื่องไปสู่การบรรลุเป้าหมายด้านการพัฒนามนุษย์อย่างเป้าหมายที่ 3 (สร้างหลักประกันว่าคนมีชีวิตที่มีสุขภาพดีและส่งเสริมสวัสดิภาพสำหรับทุกคนในทุกวัย) และเป้าหมายที่ 4 (สร้างหลักประกันว่าทุกคนมีการศึกษาที่มีคุณภาพอย่างครอบคลุมและเท่าเทียม และสนับสนุนโอกาสในการเรียนรู้ตลอดชีวิต)

นอกจากนั้น การค้าระหว่างประเทศยังสร้างผลกระทบภายนอก (externality) ในลักษณะต่างๆ และส่งผลต่ออุปสรรคในการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยเฉพาะด้านสิ่งแวดล้อม เช่น เป้าหมายที่ 12 (สร้างหลักประกันให้มีรูปแบบการบริโภคและผลิตที่ยั่งยืน, เป้าหมายที่ 13 (ปฏิบัติการอย่างเร่งด่วนเพื่อต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ), เป้าหมายที่ 14 (อนุรักษ์และใช้ประโยชน์จากมหาสมุทร ทะเล และทรัพยากรทางทะเล อย่างยั่งยืนเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน, และเป้าหมายที่ 15 (ปกป้อง ฟื้นฟู และสนับสนุนการใช้ระบบนิเวศบนบกอย่างยั่งยืน จัดการป่าไม้อย่างยั่งยืนและหยุดการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ) เป็นต้น

ดังนั้น เพื่อให้ประเทศสมาชิกอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขงสามารถบรรลุกรอบเป้าหมายเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนในแต่ละมิติได้นั้น นอกจากจะต้องสร้างความร่วมมือและเสริมความเข้มแข็งให้แก่กลไกการดำเนินงาน และฟื้นฟูสภาพหุ้นส่วนความร่วมมือระดับโลกสำหรับการพัฒนาที่ยั่งยืนระหว่างประเทศสมาชิกซึ่งจะเป็นการบรรลุเป้าหมายที่ 17 แล้วนั้น แต่ละประเทศควรที่จะมีนโยบายภายในประเทศในการสร้างสวัสดิการและโครงสร้างพื้นฐานที่ดีแก่ประชาชน เพื่อที่จะให้แต่ละประเทศสมาชิกสามารถบรรลุเป้าหมายเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนได้ในทุกมิติ

สำหรับผู้สนใจในงานศึกษาวิจัยชิ้นนี้สามารถ download ได้ที่ https://www.itd.or.th/itd-data-center/research-report_developing-international-trade-gms/