ศาสตราจารย์ ดร.พิริยะ ผลพิรุฬห์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์
เป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนแห่งสหประชาชาติ (United Nations & Sustainable Development Goals)เป็นยุทธศาสตร์สำคัญที่ทุกประเทศใช้เป็นกรอบแนวทางในการส่งเสริมการพัฒนาอย่างยั่งยืน โดยทุกภาคส่วนต้องพยายามปรับแนวทางเพื่อตอบโจทย์เป้าหมายการพัฒนาดังกล่าวโดยหน่วยงานภาครัฐจะต้องมีบทบาทสำคัญต่อการกำหนดนโยบายให้ทุกภาคส่วนต้องปฏิบัติตามเพื่อให้บรรลุเป้าหมายดังกล่าว
อย่างไรก็ดี สหประชาชาติ (หน่วยงาน UN Global Impact)ได้สนับสนุนให้ภาคธุรกิจให้เห็นความสำคัญต่อการช่วยบรรลุเป้าหมายเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนดังกล่าวโดยเริ่มจากวันที่ 22 มิถุนายน 2016 (หรือประมาณ 7 ปีที่ผ่านมา)ที่องค์การสหประชาชาติได้ออกจดหมายถึงบริษัทใน Futune 500 ให้มีส่วนร่วมและมุ่งมั่นต่อการดำเนินกิจการ เพื่อให้สอดคล้องต่อเป้าหมายเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนและได้ขยับขยายมาสู่การดำเนินการของภาคธุรกิจทั่วไปในปัจจุบัน โดยที่เห็นได้ชัดจะเป็นการดำเนินโครงการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ที่ส่งผลต่อการพัฒนาที่ยั่งยืนโดยตรง การขยายธุรกิจและดำเนินกลยุทธ์ที่มุ่งเป้าต่อการเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม การสนับสนุนการจ้างงานสตรีและแรงงานที่ด้อยโอกาส การส่งเสริมการรับผิดชอบต่อสังคมและธรรมาภิบาล และส่งเสริมการลงทุนในนวัตกรรมใหม่ๆ อย่างต่อเนื่อง เป็นต้น
อย่างไรก็ดีการดำเนินกลยุทธ์ทางธุรกิจที่ดำเนินการตามกรอบเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนนี้ น่าจะประสบความสำเร็จได้ไม่ยากนักสำหรับประเทศที่พัฒนาแล้ว ที่ภาคธุรกิจล้วนมีความพร้อมในด้านต่าง ๆ ที่ดีเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว ในขณะที่อาจจะยังสร้างข้อกังวลให้กับบริษัทในประเทศกำลังพัฒนาที่อาจจะยังไม่พร้อมต่อการดำเนินกลยุทธ์ดังกล่าวเท่าใดนัก
กลยุทธ์ทางธุรกิจที่ดำเนินการตามกรอบการพัฒนาอย่างยั่งยืนสำหรับบริษัทที่ยังไม่พร้อม อาจจะส่งผลต่อต้นทุนการจัดการที่เพิ่มขึ้น และอาจทำให้เกิดการไม่คุ้มค่าต่อผลได้ (Benefit) ที่พึงจะได้รับอย่างไรก็ดี งานวิจัยของผมร่วมกับ ผศ.ดร.ยศ อมรกิจวิไกร (จากวิทยาลัยประชากรศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย) ที่มีชื่อว่า “Business Productivity and Efficiency from Aligning with
Sustainable Development Goals: Empirical Evidence from ASEAN Manufacturing Firms”
โดยบทความดังกล่าวเพิ่งได้รับการตีพิมพ์ในวารสาร Business Strategy and Development (Scopus Quartile 1) งานศึกษานี้ได้ทำการศึกษาโดยใช้ข้อมูลรายบริษัท (Firm-Level Data) ในภาคอุตสาหกรรมของประเทศในกลุ่ม ASEAN ทั้งหมด 5 ประเทศจำนวน 3,471 บริษัทมาทำการวิเคราะห์ โดยใช้กลุ่มตัวอย่างนี้เพื่อเป็นตัวแทนของประเทศกำลังพัฒนา ผลการศึกษาพบว่า การดำเนินกลยุทธ์ตามกรอบของเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน จะส่งผลบวกต่อการเพิ่มผลิตภาพและประสิทธิภาพขององค์กรให้สูงขึ้น ยกตัวอย่างเช่น การเพิ่มค่าตอบแทนให้กับแรงงาน(SDG-8) และการพัฒนาทักษะฝีมือแรงงาน (SDG-4)จะส่งผลต่อการเพิ่มผลิตภาพและประสิทธิภาพของธุรกิจอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ
ในขณะที่การลงทุนในนวัตกรรมทางสินค้า (SDG-9) การส่งเสริมการลงทุนจากต่างประเทศ (SDG 5-9)และการดำเนินการตามกรอบ ISO (SDG 1-9 และ 12-15)ส่งผลต่อการเพิ่มผลิตภาพและประสิทธิภาพทางธุรกิจเช่นเดียวกัน และถึงแม้ผลการศึกษาจะพบว่าตัวแปรด้านสิทธิสตรี อย่างการเพิ่มสัดส่วนแรงงานผู้หญิงและการพัฒนาฝีมือแรงงานสตรี (SDG 4 และ 5)จะส่งผลต่อประสิทธิภาพที่ลดลงก็ตาม แต่การเพิ่มบทบาทการเป็นผู้นำให้กับผู้หญิงอย่างตัวแปร Female CEOจะส่งผลต่อประสิทธิภาพและประสิทธิภาพที่เพิ่มสูงขึ้น (SDG 5)
ดังนั้นการที่ภาครัฐจะส่งเสริมและให้แรงจูงใจสำหรับภาคธุรกิจ ในการดำเนินกลยุทธ์เพื่อตอบโจทย์เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนนี้ จึงมีส่วนสำคัญต่อการพัฒนาธุรกิจของประเทศ(สำหรับผู้สนใจ สามารถ download อ่านได้ ที่นี่)
จากรายงานศึกษา “Better Business, Better World” โดย Business & Sustainable Development Commission พบว่าการปรับโมเดลทางธุรกิจให้สอดคล้องต่อเป้าหมายหมายเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน จะสร้างโอกาสทางบวกให้กับภาคธุรกิจถึง 12 พันล้านเหรียญสหรัฐ และส่งผลต่อการจ้างงานถึง 380 ล้านงาน โดยแนวทาง 6 ประการที่ภาคธุรกิจสามารถดำเนินกลยุทธ์เพื่อสอดคล้องต่อเป้าหมายเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนดังกล่าวนี้ได้แก่
1) ต้องเข้าใจเป็นหมายตัวชี้วัดทั้ง 17 ตัวและแนวทางในการเชื่อมสู่กิจกรรมทางธุรกิจ(Understanding) – โดยดูว่าสินค้า/บริการของธุรกิจคืออะไร และสามารถดำเนินกิจกรรมใดที่สามารถเชื่อมไปสู่การบรรลุเป้าหมายเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนนี้ได้บ้าง
2) ต้องมีการจัดลำดับความสำคัญ (Define priorities) –โดยมีการจัดอันดับความสำคัญของเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ที่จะส่งผลกระทบต่อบริษัททั้งผลกระทบระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว และเป้าหมายที่องค์กรจะมีโอกาสในการบรรลุมากที่สุด
3) ต้องมีการตั้งเป้าหมาย (Set the goals) หลังจากสามารถระบุตัวชี้วัดหลักๆ ตามข้อสองได้แล้วขั้นตอนที่สำคัญต่อมาก็คือ การที่ภาคธุรกิจจะต้องกำหนดตัวชี้วัดสมรรถนะหลัก (Key Performance Indicators) เพื่อที่จะใช้ในการเฝ้าสังเกต (Monitor) และประเมินผลสัมฤทธิ์ (Evaluation)ของตัวชี้วัดสมรรถนะดังกล่าว
4) ต้องมีการบูรณาการเข้ากับแผนกลยุทธ์หลักขององค์กร (Integrate)โดยในการที่จะทำให้กลยุทธ์การบรรลุเป้าหมายเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนนี้มีประสิทธิผล(Effectiveness) จึงเป็นสิ่งจำเป็นที่ตัวชี้วัดสมรรถนะหลักจะต้องถูกนำเข้ามาอยู่ในแผนขององค์กรและลงลึกไปสู่ในแต่ละขั้นตอนของห่วงโซ่คุณค่า (Value Chain)
5) ต้องมีการสร้างความร่วมมือ (Collaborate) แน่นอนว่าการบรรลุเป้าหมายเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนดังกล่าวจะไม่สามารถสำเร็จได้ด้วยบริษัทใดบริษัทหนึ่งแต่จะต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นพาร์ทเนอร์ทางธรกิจ ลูกค้าและนักลงทุน
6) ต้องมีการรายงานและสื่อสารออกมาให้รับทราบ (Report and communicate)โดยบริษัทจะต้องมารายงานผลการบรรลุเป้าหมายเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนนี้ให้กับสาธารณะได้รับทราบอย่างสม่ำเสมอ เพื่อเป็นการสร้างภาพลักษณ์ที่ดีขององค์กรและยังสร้างความโปร่งใสและตรวจสอบได้จากผู้มีส่วนได้ส่วนเสียต่างๆ
จากกระแสของประชาคมโลกกำลังให้ความสำคัญต่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ภาคธุรกิจจะต้องถูกกดดันให้เห็นความสำคัญต่อการสร้างความยั่งยืนขององค์กร ผ่านการดำเนินกลยุทธ์เพื่อบรรลุเป้าหมายเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ซึ่งการหลีกเลี่ยงที่จะไม่ดำเนินการตามกรอบดังกล่าวดูน่าจะส่งผลเสียต่อภาคธุรกิจนั้นๆในระยะยาวในโลกปัจจุบัน