ThaiPublica > คอลัมน์ > เศรษฐศาสตร์ว่าด้วยเรื่องของ “ฝุ่น PM2.5”

เศรษฐศาสตร์ว่าด้วยเรื่องของ “ฝุ่น PM2.5”

29 มีนาคม 2023


ศาสตราจารย์ ดร.พิริยะ ผลพิรุฬห์ ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาพัฒนาการเศรษฐกิจ คณะพัฒนาการเศรษฐกิจ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์

ประเทศไทยกำลังประสบกับปัญหาจากฝุ่นละออง PM2.5 ที่มีมากกว่าค่ามาตรฐานอันส่งผลต่อปัญหาทางเดินหายใจ กระแสเลือด และแทรกซึมสู่กระบวนการทำงานในอวัยวะต่างๆ ของร่างกาย ซึ่งจะเป็นการเพิ่มความเสี่ยงเป็นโรคเรื้อรัง โรคภูมิแพ้ และลุกลามไปถึงโรคมะเร็ง นอกจากมิติทางด้านวิทยาศาสตร์ที่พยายามอธิบายถึงปรากฏการณ์ของปัญหาฝุ่นละออง PM2.5 นี้แล้ว เรายังสามารถใช้หลักการทางเศรษฐศาสตร์มาอธิบายสถานการณ์ของฝุ่นละออง PM2.5 นี้ได้ด้วยเช่นกัน ดังนี้

1) ฝุ่นเป็นสินค้าสาธารณะ (Public Goods) – เนื่องจากฝุ่นละอองเป็นเรื่องของสินค้าสาธารณะ ซึ่งเป็นสินค้าที่ใช้ร่วมกันและได้รับผลกระทบด้วยกัน ดังนั้น การกระทำในกิจกรรมของบุคคลใดคนหนึ่งก็จะส่งผลต่อบุคคลอื่นๆ ตามมา (externality) ยกตัวอย่างเช่น แหล่งกำเนิดของฝุ่นละออง PM2.5 นี้จะมาจากกิจกรรมที่หลากหลาย เช่น รถยนต์ การเผาในที่โล่ง การก่อสร้าง โรงงานอุตสาหกรรม รวมถึงฝุ่นละอองที่ปลิวมาจากนอกประเทศ ด้วยสาเหตุที่เกิดขึ้นจากหลากหลายปัจจัย จึงส่งผลให้ใช้กลไกตลาดจัดการสินค้าสาธารณะอย่างเช่นมลพิษฝุ่นนี้ไม่ได้ เพราะฝุ่นเป็นผลพลอยได้ทางลบจากการดำเนินกิจกรรมต่างๆ เหล่านั้นในชีวิตประจำวัน (negative externality) ดังนั้น แนวทางจัดการจึงเป็นการยากที่จะให้ตัวการปล่อยฝุ่นเหล่านั้นลดการทำกิจกรรมต่างๆ ลง แต่จำเป็นต้องอาศัยอำนาจจากภาครัฐเพื่อเข้ามาควบคุมดูแล แต่ทว่าในการที่ภาครัฐจะใส่ใจถึงปัญหานี้มากน้อยเพียงใดก็ขึ้นอยู่กับว่า “ผู้มีอำนวจในการตัดสินใจ” ได้รับข้อมูลข่าวสารที่ไม่สมบูรณ์ และเปิดใจที่จะรับรู้ถึงปัญหานี้หรือไม่

2) ข้อมูลข่าวสารที่ไม่สมบูรณ์ (Imperfect Information) – แน่นอนว่าฝุ่นละออง PM2.5 นี้มีขนาดเล็กเพียงประมาณ 1 ใน 25 ของเส้นผ่านศูนย์กลางของเส้นผมมนุษย์ หรือขนาดเล็กเกินกว่าที่ขนจมูกของมนุษย์จะสามารถกรองได้ ทำให้ฝุ่นละอองชนิดนี้สามารถแพร่กระจายเข้าสู่ทางเดินหายใจ กระแสเลือด และแทรกซึมสู่กระบวนการทำงานในอวัยวะต่างๆ ของร่างกายได้อย่างรวดเร็ว จนองค์การอนามัยโลก (WHO) กำหนดให้ PM2.5 จัดอยู่ในกลุ่มที่ 1 ของสารก่อมะเร็ง อีกทั้งยังเป็นสาเหตุให้ 1 ใน 8 ของประชากรโลกเสียชีวิตก่อนวัยอันควร สอดรับกับรายงานของธนาคารโลกที่ระบุว่า ประเทศไทยมีมลพิษในอากาศเป็นสาเหตุหลักของการเสียชีวิตก่อนวัยอันควรมากถึง 50,000 ราย

ที่ผ่านมา นักวิทยาศาสตร์ด้านสิ่งแวดล้อมพยายามออกมาเตือนถึงอันตรายดังกล่าว แต่เนื่องจากการทำลายระบบทางเดินหายใจไม่เหมือนกับการเจ็บป่วยประเภทอื่นๆ เรามองไม่เห็นฝุ่น ดังนั้น คนจำนวนมากจึงไม่ตระหนักถึงภยันอันตราย และยังไม่มีความรู้ถึงแนวทางในการป้องกันได้ดีเพียงพอ สำหรับภาครัฐเองก็ต้องใช้วิธีการแก้ปัญหาแบบคร่าวๆ ไปก่อน เช่น การฉีดน้ำ (จนเลยเถิดไปถึงขั้นจะฉีดลงจากตึกใบหยก และเลยไปถึงการฉีดน้ำใส่น้ำตาล) การตรวจโรงงาน (ซึ่งเป็นสิ่งที่ต้องทำมานานแล้ว) การตรวจควันดำ (ปรากฏว่าพบแต่ควันขาว) การห้ามปรามในการเผาขยะในที่โล่ง (ซึ่งสุดท้ายก็ไม่สามารถทำได้) แต่การแก้ไขเหล่านี้ก็เกิดจากการรับทราบข้อมูลข่าวสารที่ไม่สมบูรณ์

3) ปัญหาความเหลื่อมล้ำ (Inequality) -ด้วยความไม่เท่าเทียมในการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารดังกล่าว จึงทำให้คนยากจนมีโอกาสในการได้รับฝุ่นพิษนี้มากกว่าคนรวย โดยเฉพาะคนยากจนในเมือง ที่ต้องทำงานภายนอกอาคาร ไม่ได้อยู่อาศัยในบ้านพักที่มีเครื่องปรับอากาศ ไม่มีเงินซื้อหน้ากาก ไม่สามารถซื้อเครื่องฟอกอากาศ ซึ่งปัญหาข้อมูลข่าวสารที่ไม่สมบูรณ์นี้จะยิ่งเป็นการตอกย้ำถึงปัญหา “ความเหลื่อมล้ำ” ที่เกิดขึ้นในสังคมไทยที่คนจนจำต้องเป็น “ผู้รับเคราะห์” กับปัญหามากกว่าคนรวยอยู่เสมอ นอกจากจะส่งผลกระทบต่อสุขภาพของคนเหล่านั้นในระยะยาวแล้ว แน่นอนว่า ผลกระทบต่อปัญหาด้านความเหลื่อมล้ำนี้จะส่งผลสืบเนื่องมาสู่งบประมาณที่สูงขึ้นกับค่ารักษาพยาบาลที่ภาครัฐต้องเป็นผู้ดูแลผ่านระบบสวัสดิการถ้วนหน้า ซึ่งจำเป็นต้องทำการประเมินหาต้นทุนทางเศรษฐศาสตร์จากปัญหาฝุ่นละออง PM2.5 นี้ออกมา

4) การประเมินต้นทุนทางเศรษฐศาสตร์ (Economic Cost) – เนื่องจากสาขาเศรษฐศาสตร์สิ่งแวดล้อมไม่ได้เป็นสาขาที่ได้รับความสนใจมากนักในกลุ่มนักเศรษฐศาสตร์ จึงทำให้ไม่มีงานวิชาการที่ทำการประเมินผลกระทบทางเศรษฐศาสตร์ของฝุ่นละออง PM2.5 ออกมาในประเทศไทย แต่ถ้าเราไปดูงานวิจัยทางเศรษฐศาสตร์ในต่างประเทศจะพบงานวิจัยที่ศึกษาหาผลกระทบและต้นทุนทางเศรษฐศาสตร์จากปัญหาฝุ่นควัน PM2.5 ออกมาจำนวนมาก โดยพบมากที่สุดกับงานศึกษาในกรณีของประเทศจีนที่เพิ่งผ่านพ้นปัญหาฝุ่นควันในเมืองใหญ่ๆ ของประเทศ (เช่น ปักกิ่ง เซี่ยงไฮ้) ออกมาได้ เช่น

งานศึกษาของ Hao และคณะ (2018) ที่ตีพิมพ์ใน Journal of Cleaner Production พบว่าการเพิ่มขึ้น 5 μg/m3 ของค่า PM2.5 ในประเทศจีนจะส่งผลทำให้รายได้ต่อหัวลงลงประมาณ 2,500 หยวน

ในขณะที่ Wang และคณะ (2016) ที่ตีพิมพ์ในวารสาร Environmental Technology ได้ทำการประเมินผลกระทบของ PM2.5 ในกรุงปักกิ่งพบว่า ฝุ่นละอองที่มีค่า PM2.5 สูงกว่ามาตรฐานที่เกิดขึ้นในกรุงปักกิ่ง ได้ส่งผลทำให้ประชากรเสียชีวิตก่อนวัยอันสมควรประมาณ 20,043 คน กระทบต่อสุขภาพของประชากรกว่าล้านคน และทำให้เศรษฐกิจของกรุงปักกิ่งต้องสูญเสียรายได้ประมาณ 1,287 ล้านหยวนจากปัญหาฝุ่นควันที่เกิดขึ้น

งานศึกษาของ Hu และคณะ (2017) ที่ได้ตีพิมพ์ในวารสาร Environmental Science & Technology ได้ทำการศึกษาในกรณีของนครเซี่ยงไฮ้โดยพบว่า ถ้ารัฐบาลไม่ได้มีมาตรการควบคุมใดๆ ปัญหาฝุ่นละอองนี้จะส่งผลให้ประชากรในมหานครเซี่ยงไฮ้ต้องเสียชีวิตประมาณ 192,400 คนในปี 2030 สูญเสียชั่วโมงการทำงานประมาณ 72.1 ชั่วโมงต่อคนต่อปี และส่งผลทำให้สวัสดิการของประชาชนลดลงประมาณร้อยละ 3.14 เนื่องจากผลกระทบดังกล่าวจะตกอยู่กับภาคแรงงานมากกว่าภาคนายจ้าง ในขณะที่ถ้ารัฐบาลเซียงไฮ้มีการจัดสรรงบประมาณในการดูแลปัญหาฝุ่นควันนี้ โดยจะใช้งบเพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 0.76 ของรายได้ประชาชาติ จะส่งผลให้เศรษฐกิจของเซียงไฮ้ขยายตัวได้ร้อยละ 1.01 ซึ่งผลการศึกษานี้แสดงให้เห็นถึง “ความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจ” ที่ภาครัฐควรรีบเข้ามาแก้ไขปัญหาฝุ่นควันนี้

ด้วยปัญหาทางเศรษฐศาสตร์ดังกล่าวที่พูดด้วยเรื่องของ 1) ฝุ่นในการเป็นสินค้าสาธารณะที่มีขนาดเล็ก 2) เล็กมากจนทำให้เกิดความยากในการเข้าใจ 3) โดยผู้รับผลกระทบจะมีแนวโน้มที่จะเป็นคนที่มีฐานะยากจน และ 4) ยังไม่ได้มีการประเมินต้นทุนทางเศรษฐศาสตร์ออกมาให้เห็นเป็นรูปตัวเงิน จึงทำให้ภาครัฐมีแนวโน้มที่จะ 1) ไม่เข้าใจ 2) ไม่สนใจ และ 3) ไม่ทราบถึงความเร่งด่วนที่จะต้องรีบแก้ไขปัญหาฝุ่นควันที่กำลังเกิดขึ้นนี้ ดังจะเห็นได้จากการที่ภาครัฐออกมาตรการให้เด็กหยุดเรียน (หรือบางสถานประกอบการที่อนุญาตให้พนักงานหยุดงาน) ช้ากว่าที่ควรจะเป็น ด้วยอีกสาเหตุหนึ่งที่ภาครัฐไปให้ความสำคัญในเรื่องของเศรษฐกิจเป็นหลักเพราะไปเกรงว่า ถ้ารีบทำอะไรนักท่องเที่ยวจะหายในขณะที่งานวิจัยล้วนแสดงให้เห็นชัดแล้วว่า นโยบายเพื่อลดปัญหามลพิษทางอากาศในระยะยาว จะส่งผลบวกต่อการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจมากกว่า

ข้อเสนอแนะที่ออกมาหลายข้อจากนักวิชาการต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นทางแก้ในระยะสั้น เช่น 1) ภาครัฐต้องสร้างความตระหนักรู้ถึงอันตรายของฝุ่นพิษให้ประชาชนมีการป้องกัน เพราะเป็นวิธีการที่มีต้นทุนทางเศรษฐศาสตร์ที่ต่ำที่สุด 2) ดำเนินการตรวจจับรถควันดำ/ปิดโรงงาน/จับคนเผาในที่แจ้งอย่างจริงจัง (จริง ๆ) 3) มีการจัดทำโซนนิงห้ามนำรถเข้าไปในบางพื้นที่

รวมไปถึงมาตรการระยะกลางและระยะยาวอย่าง การจัดตั้งองค์กรกลางเพื่อพิทักษ์สิ่งแวดล้อมเพื่อลดความทับซ้อนในการประสานงาน (เนื่องจากการแก้ไขปัญหาฝุ่นนี้เกี่ยวข้องกับกระทรวง) โดยให้นายกรัฐมนตรีเป็นคนสั่งการ, การปลูกต้นไม้, ปรับเกณฑ์มาตรฐานคุณภาพอากาศในทุกมลพิษรวมถึงฝุ่นพิษให้เข้มงวดมากขึ้นจากปัจจุบัน, ใช้ระบบภาษีสิ่งแวดล้อม รวมไปถึงการลงทุนในพลังงานสะอาด เป็นต้น

ถึงแม้ว่าปัญหาของฝุ่น (และปัญหาสิ่งแวดล้อมอื่นๆ) อาจจะไม่ได้เกิดจากรัฐบาล แต่รัฐบาลจะต้องทำหน้าที่ในการบรรเทาปัญหาเหล่านี้ ที่ผ่านมา เราเห็นพรรคการเมืองต่างๆ ออกนโยบายด้านเศรษฐศาสตร์และด้านสวัสดิการสังคมออกมาอย่างต่อเนื่อง แต่ทว่า เรายังไม่ได้เห็นพรรคการเมืองไหนประกาศนโยบายด้านสิ่งแวดล้อมออกมาอย่างชัดเจน ซึ่งแน่นอนว่าด้วยสถานการณ์ของฝุ่นละออง PM2.5 ที่กำลังเกิดขึ้นนี้จึงเป็นโอกาสสำคัญที่นโยบายการหาเสียงน่าจะให้ความสำคัญสำหรับพรรคการเมืองในการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมอย่างจริงจังเสียที