ThaiPublica > คอลัมน์ > ขับเคลื่อนประเทศไทยให้ก้าวสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนด้วยแนวคิด “หุ้นส่วนความยั่งยืน”

ขับเคลื่อนประเทศไทยให้ก้าวสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนด้วยแนวคิด “หุ้นส่วนความยั่งยืน”

4 ตุลาคม 2022


ศาสตราจารย์ ดร.สรศาสตร์ สุขเจริญสิน
คณบดีและศาสตราจารย์ประจำ คณะพัฒนาการเศรษฐกิจ NIDA
ผู้มีความเชี่ยวชาญด้านการเงิน การลงทุน และการพัฒนาตลาดทุนเพื่อความยั่งยืน

การก้าวเดินบนเส้นทางสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนในระดับนานาชาติ มีจุดเริ่มต้นที่การก่อตั้งคณะกรรมาธิการบรันท์แลนด์ (Brundtland) หรือคณะกรรมาธิการโลกว่าด้วยสิ่งแวดล้อมและการพัฒนา ได้จัดทำข้อเสนอแนะการพัฒนารูปแบบใหม่ที่มุ่งลดผลกระทบสิ่งแวดล้อมไว้ในเอกสารรายงานชื่อว่า “อนาคตของเรา (Our Common Future)” ซึ่งเสนอต่อสหประชาชาติในปี พ.ศ. 2530 อันเป็นที่มาของแนวคิด “การพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development)” โดย United Nations World Commission on Environment and Development (WCED) ได้ให้นิยามไว้ว่า “การพัฒนาที่ยั่งยืน คือ การพัฒนาที่ตอบสนองต่อความต้องการของคนในรุ่นปัจจุบัน โดยไม่กระทบต่อขีดความสามารถในการสนองความต้องการที่จำเป็นของคนในรุ่นต่อไป”

สิ่งที่น่าสนใจก็คือ เราจะช่วยกันผลักดันให้การพัฒนาที่ยั่งยืนนี้เกิดขึ้นได้อย่างไร เพราะปัญหาพื้นฐานทางเศรษฐศาสตร์ที่สำคัญก็คือ การที่ทรัพยากรบนโลกนี้มีอยู่อย่างจำกัด แต่ความต้องการของมนุษย์นั้นมีอยู่ตลอดเวลาและในทุกรูปแบบ การสร้างความสมดุลระหว่างความต้องการของคนรุ่นปัจจุบันกับขีดความสามารถในการสนองความต้องการที่จำเป็นของคนในรุ่นต่อไปจึงเป็นความท้าทายในทางปฏิบัติ

ในการออกแบบและขับเคลื่อนประเทศไทยให้ก้าวสู่ความยั่งยืนนั้น จะต้องขับเคลื่อนกันทุกภาคส่วนในสังคม ทั้งในภาคการผลิตและภาคการบริโภค เริ่มต้นจากยุทธศาสตร์ชาติและแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 ก็ได้ถูกออกแบบให้ “มุ่งเน้นในการก้าวสู่ความยั่งยืน โดยจะส่งเสริมให้เกิดเศรษฐกิจหมุนเวียนที่มีการใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ ยั่งยืน และสอดคล้องกับขีดความสามารถในการรองรับของระบบนิเวศอย่างเป็นรูปธรรม โดยใช้ประโยชน์จากองค์ความรู้ทางวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมไทย” สอดคล้องกับแนวทางการพัฒนาที่ยั่งยืนของโลก นอกจากทิศทางในระดับประเทศที่จะก้าวสู่ความยั่งยืนแล้ว นโยบายจากภาครัฐจะมีส่วนสำคัญในการออกกฎหมายและระเบียบต่างๆ ภาคเอกชนและประชาชนก็มีหน้าที่ในการปฏิบัติตามกฎหมายและจัดการให้ถูกต้องตามกฎหมาย

นอกจากบทบาท Regulator ด้วยการออกกฎระเบียบต่างๆ แล้ว สิ่งที่ผมเห็นว่ามีความสำคัญนับจากนี้คือ ภาครัฐยังมีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนและสนับสนุนให้กิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาที่ยั่งยืนเกิดขึ้นได้ ด้วยการเป็น Partner หรือ “หุ้นส่วนความยั่งยืน” ร่วมกับภาคเอกชนและประชาสังคมในเรื่องการขับเคลื่อนการพัฒนาที่ยั่งยืน เพราะเส้นทางสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนนี้เป็นประโยชน์และส่งผลกระทบต่อทุกภาคส่วน จึงเป็นเส้นทางที่ต้องเดินไปด้วยกัน

นอกจากนี้ภาครัฐจะต้องปรับบทบาทเป็น Facilitator ช่วยอำนวยความสะดวกและสร้างความร่วมมือกับภาคส่วนต่างๆ เพื่อให้บรรลุหมุดหมายที่ประสงค์ตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติในประเด็นความยั่งยืนต่อไป

หลักคิดประการหนึ่งที่สำคัญในการออกแบบแนวคิด “หุ้นส่วนความยั่งยืน” ก็คือการออกแบบนโยบายหรือมาตรการต่างๆ ที่จะสนับสนุนพฤติกรรมอันพึงประสงค์อันจะนำไปสู่ความสำเร็จของการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยใช้หลักเศรษฐศาสตร์พฤติกรรม เพราะความปรารถนาดีที่จะมุ่งสู่ความยั่งยืนอาจไม่เพียงพอ และอาจไม่ทำให้เกิดผลลัพธ์ในทางปฏิบัติตามที่หวังไว้ การกระทำและการตัดสินใจของมนุษย์นั้นมีความซับซ้อนและอาจไม่ได้มีเหตุผลเสมอไป

ดังนั้น เพื่อให้ทุกภาคส่วนสามารถเปลี่ยนพฤติกรรมไปในทางที่ดีขึ้นตามที่ผู้ออกแบบนโยบายคาดหวังไว้ได้ การออกแบบกิจกรรมที่ไม่เป็นมิตรต่อความยั่งยืนให้เป็นภาระผูกพันของภาคการผลิตหรือหน่วยธุรกิจที่จะต้องชำระคืนแก่สังคมในรูปแบบใดรูปแบบหนึ่ง เช่น ภาครัฐเก็บภาษีความหวาน การห้ามรถยนต์ที่ไม่ผ่านเกณฑ์เข้าพื้นที่ในเขตเมือง หรือแม้แต่การเก็บภาษีคาร์บอน เป็นต้น จึงมีความจำเป็นเพื่อการสร้างต้นทุนให้เกิดขึ้นกับพฤติกรรมที่ไม่เป็นมิตรต่อความยั่งยืน แล้วนำเงินที่เก็บภาษีได้ไปอุดหนุนโครงการต่างๆ ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมหรือสร้างความยั่งยืน ในส่วนนี้ ผมคิดว่าภาครัฐเราได้เดินถูกทางและดำเนินการไปพอสมควรแล้ว

ในอีกมิติหนึ่ง จะทำอย่างไรที่จะออกแบบให้กิจกรรมที่ “หุ้นส่วนความยั่งยืน” สนับสนุนความยั่งยืนต่างๆ ให้กลายเป็นสินทรัพย์หรือสร้างแรงจูงใจให้แก่ผู้ที่ทำกิจกรรมต่างๆ เพื่อมุ่งหน้าสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืนก็มีความสำคัญไม่แพ้กัน เช่น การปลูกไม้เศรษฐกิจเพื่อเพิ่มการกักเก็บคาร์บอน ก็สามารถนำไปเป็นหลักประกันเพื่อการกู้ยืมเงินได้ เป็นต้น ในมิตินี้ น่าจะมีเรื่องที่จะดำเนินการทำอีกมาก ซึ่งการส่งเสริมในลักษณะการสร้างแรงจูงใจเพิ่มเติมให้แก่ผู้ที่ทำกิจกรรมต่างๆ เพื่อมุ่งหน้าสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน ก็จะช่วยเพิ่มแรงขับเคลื่อนให้มากขึ้นด้วย

การออกแบบแรงจูงใจก็เป็นองค์ประกอบที่สำคัญ ซึ่งแรงจูงใจนี้สามารถเป็นได้ทั้งแรงจูงใจที่เกี่ยวข้องกับการเงินและแรงจูงใจที่ไม่เกี่ยวข้องกับการเงิน มีหลายแนวทางที่ทำได้ ตัวอย่างเช่น การทำให้ภาคธุรกิจตระหนักถึงประเด็นความยั่งยืน โดยการออกแบบนโยบายการพัฒนาที่ยั่งยืนระดับองค์กรและดำเนินกิจกรรมทางธุรกิจให้อยู่บนพื้นฐานของหลัก ESG (Environmental, Social, and Governance) ก็เป็นสิ่งที่สำคัญเพื่อให้ธุรกิจตั้งต้นอยู่บนแนวคิดที่ควรจะเป็นในการใส่ใจกับสังคม ชุมชน สิ่งแวดล้อม รวมถึงผลประโยชน์ของผู้มีส่วนได้เสียโดยที่ยังรักษาระดับการทำกำไรให้เหมาะสม กระแสการลงทุนเพื่อความยั่งยืน (Sustainable Investment) ก็เป็นการสร้างแรงจูงใจจากฝั่งผู้ลงทุนที่ต้องการเห็นการเปลี่ยนแปลงของภาคการผลิตที่ตอบสนองความยั่งยืนและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งแนวโน้มของ ESG Investment ได้เติบโตขึ้นมากในช่วงที่ผ่านมา ก็ได้สร้างแรงจูงใจให้ภาคการผลิตให้ก้าวสู่ความยั่งยืนโดยมีต้นทุนที่ต่ำกว่าผู้ผลิตที่ไม่ได้ตอบสนองต่อความยั่งยืน ก็เป็นตัวอย่างที่เห็นได้

นอกจากนี้ ภาครัฐก็อาจสนับสนุนภาคธุรกิจที่มุ่งมั่นเป็น “หุ้นส่วนความยั่งยืน” กับภาครัฐในการสร้างโครงการต่างๆ ที่ตอบโจทย์หมุดหมายด้านความยั่งยืนให้สามารถนำค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นไปลดหย่อนภาษีเงินได้นิติบุคคลในระดับที่เกิดแรงจูงใจพอที่จะขับเคลื่อนร่วมกับภาครัฐได้

สำหรับแรงจูงใจที่ไม่เกี่ยวข้องกับการเงินนั้น เราสามารถออกแบบให้ธุรกิจที่ช่วยภาครัฐขับเคลื่อนกิจกรรมต่างๆ สู่ความยั่งยืนให้อยู่ในรายชื่อ “หุ้นส่วนความยั่งยืน” ซึ่งอาจพิจารณาตามเกณฑ์ที่คิดขึ้นแล้วอนุญาตให้ภาคธุรกิจสามารถใช้เป็นสัญลักษณ์ “Sustainable Partner” เพื่อแสดงถึงความมุ่งมั่นในการขับเคลื่อนการพัฒนาที่ยั่งยืนร่วมกับภาครัฐที่สามารถสร้าง Impact ได้อย่างชัดเจนเป็นรูปธรรมตามเกณฑ์ที่ตั้งไว้ ภาคเอกชนที่ช่วยขับเคลื่อนความยั่งยืนสามารถใช้เป็นกลยุทธ์เพื่อดำเนินโครงการหรือกิจกรรมที่สะท้อนภาพลักษณ์ของความยั่งยืนในลักษณะเป็น Sustainable Brand เพื่อให้ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องตลอดห่วงโซ่อุปทานสามารถจดจำธุรกิจได้ ทำให้ธุรกิจและผลิตภัณฑ์มีความแตกต่างจากคู่แข่งในสายตาผู้บริโภค

ในระดับภาคประชาชน ก็สามารถเป็น “หุ้นส่วนความยั่งยืน” การเริ่มต้นที่ดีในเรื่องความยั่งยืนในฝั่งผู้บริโภคก็คือการให้ความรู้และสร้างความเข้าใจในวงกว้าง เพราะการให้ความรู้และการสร้างความเข้าใจในประเด็นของการพัฒนาที่ยั่งยืน ไม่ว่าจะเป็นประโยชน์ของเรื่องการแยกขยะขั้นพื้นฐาน ไปจนถึงเรื่องการประหยัดพลังงาน การใช้เครือข่ายขนส่งมวลชน การเลือกสนับสนุนผู้ผลิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เป็นต้น

การให้ความรู้และสร้างความเข้าใจสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนเป็นเรื่องสำคัญ และจากการศึกษาตามหลักเศรษฐศาสตร์พฤติกรรมพบว่า ความรู้ความเข้าใจอย่างเดียวอาจไม่เพียงพอในการสร้างการเปลี่ยนแปลง

แต่ถ้าเราสามารถเปลี่ยนพฤติกรรมแม้เพียงเล็กน้อยอย่างสม่ำเสมอเป็นวงกว้างได้ ก็จะสามารถเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของคนและในสังคมได้

ในประเทศที่พัฒนาแล้ว เช่น หลายประเทศในทวีปยุโรป ได้ออกแบบโครงการและกิจกรรมที่สนับสนุนความยั่งยืน โดยใช้หลักการลดอุปสรรคที่อาจคุกคามต่อพฤติกรรมที่สอดคล้องกับความยั่งยืนและไม่พึงประสงค์ เช่น ปรับปรุงพื้นที่สำหรับจักรยานและเพิ่มมาตรการเพื่อความปลอดภัยสำหรับผู้ขับขี่จักรยาน หรือให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีกับผู้ที่มีรูปแบบการดำเนินชีวิตที่มีคาร์บอนเป็นกลาง (carbon neutral lifestyles) ที่เปลี่ยนจากการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลเป็นพลังงานสะอาดเพื่อมุ่งสู่เป้าหมาย Carbon Neutrality ในปี ค.ศ. 2050 หรือสร้างแรงจูงใจเพื่อสนับสนุนให้ Social Influencer ต่างๆ บริโภคผลิตภัณฑ์ที่ยั่งยืนออกสื่อสาธารณะ เป็นต้น

การออกแบบแรงจูงใจที่ไม่เกี่ยวข้องกับภาษีสำหรับภาคประชาชนนั้นสามารถดำเนินการได้ในหลายลักษณะ ทางหนึ่งที่สามารถดำเนินการได้ เช่น หน่วยงานกลางที่ถูกจัดตั้งขึ้น ที่มีความน่าเชื่อถือ ที่รวบรวมหุ้นส่วนที่ร่วมกันขับเคลื่อนกิจกรรมเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนไว้ โดยส่งเสริมให้ประชาชนมีส่วนร่วมในรูปแบบต่างๆ โดยการออก “บัตรหุ้นส่วนความยั่งยืนภาคประชาขน” ให้กับประชาชน คล้ายๆ กับแนวคิด การให้คะแนนกับผู้บำเพ็ญประโยชน์กับสังคม (Social Score) ในบางประเทศ เป็นต้น โดยผู้ถือบัตรนี้ จะได้รับรางวัลเป็นแรงจูงใจเป็นแต้มสะสมในบัตร ซึ่งสามารถนำแต้มที่สะสมไว้ไปรับบริการหรือสิ่งอำนวยความสะดวกหรือสิทธิพิเศษจากภาครัฐและเอกชนตามโครงการตามที่ออกแบบไว้ ไม่ว่าจะเป็นด้านสาธารณสุข การศึกษา หรือบริการทางการเงิน เมื่อได้ร่วมโครงการหรือทำกิจกรรมที่สอดคล้องกับการพัฒนาที่ยั่งยืน เป็นต้น

หัวใจสำคัญของความเป็น “หุ้นส่วนความยั่งยืน” คือ นอกจากทุกภาคส่วนมีความเห็นตรงกัน เข้าใจเหตุผลในการขับเคลื่อน และร่วมมือกันในการขับเคลื่อนประเทศไทยสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนแล้ว การออกแบบแรงจูงใจก็เป็นสิ่งสำคัญในการสนับสนุนกิจกรรมต่างๆ ให้เกิดขึ้น

จะเห็นได้ว่า เส้นทางสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนนี้เป็นประโยชน์และส่งผลกระทบต่อทุกภาคส่วน จึงเป็นเส้นทางที่ต้องเดินไปด้วยกัน ไม่ใช่ต่างคนต่างเดิน จึงจะประสบความสำเร็จได้ หากทุกภาคส่วนร่วมมือร่วมใจและเป็นหุ้นส่วนความยั่งยืนอย่างแท้จริงแล้ว เส้นทางการพัฒนาที่ยั่งยืนของประเทศไทย ก็คงเกิดขึ้นได้อย่างไม่ยากนัก