AIS จับมือ กทม. ส่งหลักสูตร ‘อุ่นใจไซเบอร์’ เข้าโรงเรียนสังกัด กทม. 437 แห่ง ครอบคลุมบุคลากร 250,000 คน จากเป้าหมายการสร้างพลเมืองดิจิทัลของเอไอเอส ผ่านโครงการ “อุ่นใจไซเบอร์”
โครงการ “อุ่นใจไซเบอร์” ได้ต่อยอดโครงการต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2562 เป็นเวลากว่า 4 ปี จนในปี 2565 เอไอเอส ได้ขยายผลหลักสูตรอุ่นใจไซเบอร์ให้เข้าไปอยู่ในโรงเรียนในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) และในปี 2566 ยังเปิดเผยดัชนีชี้วัดสุขภาวะดิจิทัล หรือ Thailand Cyber Wellness Index เพื่อตอกย้ำให้สังคมไทยเห็นความสำคัญของปัญหาภัยไซเบอร์
ทั้งนี้ ดัชนีชี้วัดสุขภาวะดิจิทัลของคนไทย ระบุว่าคนรุ่นใหม่เป็นกลุ่มที่ต้องเพิ่มทักษะความรู้ความเข้าใจให้สามารถใช้งานดิจิทัลได้อย่าง
ถูกต้อง เพื่อไม่ให้ตกเป็นเหยื่อของภัยไซเบอร์ ดังนั้นในเดือนสิงหาคม 2566 จึงเป็นหมุดหมายสำคัญที่เอไอเอสขยายผลหลักสูตรอุ่นใจไซเบอร์ โดยการจับมือกับภาคีเครือข่ายภาครัฐ ทั้งกรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี
เพื่อยกระดับการศึกษายุคดิจิทัลและสร้างภูมิคุ้มกันให้แก่ครู บุคลากรทางการศึกษาและนักเรียนในโรงเรียสังกัด กทม. ทั้ง 437 แห่ง
ที่มีทั้งบุคลากรทางการศึกษาและนักเรียนรวมมากกว่า 250,000 คน
นางสายชล ทรัพย์มากอุดมรักษาการหัวหน้าหน่วยธุรกิจประชาสัมพันธ์และธุรกิจสัมพันธ์ AIS กล่าวว่าเอไอเอสได้ทำงานร่วมกับกรุงเทพมหานคร เพื่อขยายผลส่งต่อ หลักสูตรอุ่นใจไซเบอร์ไปยังสถานศึกษาในพื้นที่กรุงเทพมหานครฯ หลังจากที่ก่อนหน้านี้ได้เดินหน้านำหลักสูตรการเรียนรู้ดังกล่าว ส่งต่อไปยังบุคลากรทางการศึกษาและนักเรียนในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานกระทรวงศึกษาธิการ กว่า 29,000 แห่งทั่วประเทศ รวมทั้งขยายผลไปสู่ระดับมหาวิทยาลัย ทั้งมหาวิทยาลัยมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่
และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา หรือแม้แต่การส่งต่อไปยังภาคประชาชนผ่านหน่วยงานความมั่นคงอย่าง สกมช.
“เราหวังเป็นอย่างยิ่งว่า ความร่วมมือกับ กรุงเทพมหานครในครั้งนี้จะทำให้เยาวชน บุคลากรทางการศึกษา ตลอดจนผู้เกี่ยวข้อง มีความรู้
ความเข้าใจในการใช้งานดิจิทัลได้อย่างปลอดภัยและสร้างสรรค์ซึ่งจะเป็นส่วนสำคัญที่จะยกระดับดัชนีสุขภาวะดิจิทัลของเด็กไทยและคนไทยให้อยูในระดับที่เพิ่มสูงขึ้นต่อไป” นางสายชล กล่าว
ทั้งนี้ “หลักสูตรอุ่นใจไซเบอร์” นำเสนอเป็น 4 Professional Skill Module หรือ 4P4ป ที่ครอบคลุมทักษะดิจิทัล ดังนี้
1. Practice: ปลูกฝังให้มีความรู้ความเข้าใจในการใช้งานเทคโนโลยีดิจิทัลอย่างถูกต้องและเหมาะสม
2. Personality: แนะนำการปกป้องความเป็นส่วนตัวบนโลกออนไลน์
3. Protection: เรียนรู้การป้องกันภัยไซเบอร์บนโลกออนไลน์
4. Participation:รู้จักการปฏิสัมพันธ์ด้วยทักษะและพฤติกรรมการสื่อสารบนออนไลน์อย่างเหมาะสม
ด้านนายศานนท์ หวังสร้างบุญ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวถึงความร่วมมือดังกล่าวในพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือว่า
“นโยบายด้านการศึกษา คือหนึ่งในภารกิจของกรุงเทพมหานคร ภายใต้นโยบายเรียนดีของผู้ว่าฯ กทม.ท่านชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ที่มีเป้าหมายสำคัญคือมุ่งพัฒนาการเรียนการสอนของโรงเรียนในสังกัดกทม.ให้มีความทันสมัยสอดรับกับการเปลี่ยนแปลงและการพัฒนาอย่างต่อเนื่องของโลกดิจิทัลและเทคโนโลยี”
ความร่วมมือครั้งนี้นับเป็นก้าวสำคัญที่จะมาช่วยส่งเสริมนโยบาย ‘การศึกษา’ของกรุงเทพมหานคร ด้วยการนำหลักสูตรอุ่นใจไซเบอร์
ที่จะถูกนำเข้าไปบูรณาการเป็นสื่อการเรียนการสอนหรือโรงเรียนสามารถปรับการสอนที่สอดคล้องเหมาะกับแต่ละสถาบันการศึกษาในวิชาวิทยาการคำนวณ สังคมและแนะแนว ให้แก่นักเรียน ในโรงเรียนสังกัด กทม.ทั้งโรงเรียนระดับอนุบาล – ประถมศึกษา, ระดับประถมศึกษา – มัธยมศึกษาตอนต้นและระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย รวม 437 แห่ง เริ่มตั้งแต่ภาคการศึกษา 2566 เป็นต้นไป
ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นคือ บุคลากรทางการศึกษา นักเรียน ผู้ปกครองรวมถึงประชาชนโดยรอบในชุมชนมากกว่า 250,000 คน ได้เข้าถึงองค์ความรู้ใหม่ๆนำไปสู่การเสริมสร้างทักษะดิจิทัล การใช้งานสื่อดิจิทัลและเทคโนโลยีให้มีภูมิคุ้มกันภัยไซเบอร์ไม่ตกเป็นเหยื่อของการใช้งานออนไลน์และมิจฉาชีพ สามารถการใช้ชีวิตบนโลกดิจิทัลได้อย่างปลอดภัย ทั้งนี้ผู้ที่สนใจสามารถดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ https://sustainability.ais.co.th/th/sustainability-projects/thailands-cyber-wellness-index