How To Drive ESG เป็นหนึ่งในชุดบทความที่นำเสนอภายใต้ซีรีส์ “สร้างสังคมฉุกคิดด้วย…ESG” บอกเล่ากระบวนการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืนบนหลักการ ESG ของบริษัทจดทะเบียน โดยรวบรวมเพื่อสร้างชุดข้อมูลการตระหนักรู้ของการประกอบธุรกิจในวิถี ESG ที่จะเป็นภูมิคุ้มกันสำคัญขององค์กร ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงที่เร็วยากจะคาดเดา และการมุ่งสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืนของโลก
“เอไอเอส” เป็นผู้นำตลาดที่มีจำนวนลูกค้ามากที่สุดในประเทศไทย จึงชูบทบาทการวางโครงสร้างพื้นฐานด้าน ‘connectivity’ หรือ ‘การเชื่อมต่อ’ กับเทคโนโลยีดิจิทัล ภายใต้โจทย์การใช้ประโยชน์จากโทรคมนาคมเพื่อช่วยให้ทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมไปสู่ความยั่งยืนในอนาคต
แม้บริษัทโทรคมนาคมทั่วโลกจะถูกจับตาและคาดหวังไม่สูงเท่าอุตสาหกรรมบางกลุ่ม โดยเฉพาะกลุ่มที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกปริมาณมาก แต่การแสดงบทบาทการพัฒนาอย่างยั่งยืน โดยเฉพาะในประเด็น ESG (environment, social, governance) ของผู้เล่นในอุตสาหกรรมโทรคมนาคมไทย นับได้ว่ามีผลงานด้านนี้ในระดับที่ดีตามจุดแข็งของแต่ละองค์กร
โทรคมนาคม คือเครื่องมือสู่ ESG ของทุกธุรกิจ
“นัฐิยา พัวพงศกร” หัวหน้าฝ่ายงานนักลงทุนสัมพันธ์และกำกับดูแลการปฏิบัติงาน บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือเอไอเอส ขยายความเรื่องโจทย์การสร้างความยั่งยืนว่า โดยปกติอุตสาหกรรมหนักมักถูกจับตาเป็นลำดับต้นๆ ในการปรับตัวสร้างความยั่งยืน ผิดกับอุตสาหกรรมโทรคมนาคมที่ใช้พลังงานไฟฟ้าเป็นหลัก แต่ทั้งนี้การปรับตัวด้านการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของอุตสาหกรรมนี้ถือว่าไม่ยากนัก เนื่องจากสามารถใช้ ‘พลังงานสะอาด’ เป็นแหล่งทดแทนพลังงานแบบดั้งเดิมได้
มีข้อมูลระดับโลกรายงานสัดส่วนการปล่อยก๊าซเรือนกระจก พบว่า อุตสาหกรรมโทรคมนาคมปล่อยก๊าซเรือนกระจกเพียง 0.4% ของปริมาณการปล่อยฯ ทั้งหมด อย่างไรก็ตาม หากผู้เล่นในอุตสาหกรรมนี้ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากขึ้น ท้ายที่สุดภาพรวมของก๊าซเรือนกระจกก็ไม่ลดลงมากนัก
ดังนั้น บทบาทที่แท้จริงของโทรคมนาคมที่มีต่อ ESG คือ ‘ทำอย่างไรให้โทรคมนาคมมีส่วนช่วยให้อุตสาหกรรมอื่นลดการปล่อยได้ 10 เท่าตัว’ โดยตัวเลขดังกล่าวอ้างอิงจากรายงานของ The GSM Association องค์กรด้านผู้ให้บริการเครือข่ายมือถือที่มีสมาชิกกลุ่มโทรคมนาคมมากกว่า 400 บริษัททั่วโลก
‘นัฐิยา’ ให้เหตุผลว่า โทรคมนาคมคือเทคโนโลยีและการเชื่อมต่อ ส่งผลให้เกิดการปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตของผู้คนและธุรกิจ จึงสามารถใช้เทคโนโลยีช่วยเหลือในด้านต่างๆ ได้ เช่น การใช้ IOT (internet of things) ในภาคการเกษตรอัจฉริยะ (smart agriculture) หรือการใช้เทคโนโลยีตรวจวัดปริมาณการใช้ปุ๋ยหรือสารเคมี ตลอดจนการเปิด-ปิดไฟในอาคาร หรือควบคุมระบบเครื่องปรับอากาศ-พลังงาน เพื่อนำไปสู่การเป็น smart building และ smart energy
นอกจากบทบาทการเป็นผู้ช่วยธุรกิจอื่นๆ แล้ว ยังมีความท้าทายเรื่องการช่วยในจังหวะและเวลาที่เหมาะสม เนื่องจากการทำ ESG ภายในองค์กรมีต้นทุนที่ต้องคิดอย่างถี่ถ้วน
“ย้อนกลับไปก่อนหน้านี้สักสิบปี ถ้าเอไอเอสรีบลงทุน ‘โซลาร์เซลล์’ ตั้งแต่ตอนนั้น สิ่งที่ได้คือ ราคาแพง กว่าจะคุ้มทุนใช้เวลายาว แต่ถ้าเรารอเวลาที่เหมาะสม เราจะได้ลงทุนในเทคโนโลยีใหม่ที่ได้ผลดีกว่าเดิม ทำให้สุดท้ายเรา transition สู่ low carbon economy ง่ายขึ้น เราใช้คำว่า “transition” เพราะมันเป็นไปไม่ได้ที่เราจะเปลี่ยนทุกอย่างในพริบตา”
ความยั่งยืนจากเศรษฐกิจดิจิทัล
แม้เอไอเอสเองจะมีข่าวเกี่ยวกับความยั่งยืน หรือการช่วยเหลือสังคมออกมามากมาย แต่ ‘นัฐิยา’ ยังบอกว่า…
สิ่งที่บริษัททำในปัจจุบันยังคงเป็น journey บนเส้นทางนี้ เนื่องจากความท้าทายหลักคือการพัฒนาคนและวัฒนธรรมองค์กรให้เข้าถึงการเป็น ESG มากที่สุด
สิ่งที่บริษัททำคือพิจารณาการเติบโตอย่างยั่งยืนในระยะยาวว่าจะต้องทำธุรกิจควบคู่ไปกับการสร้างคุณค่าให้สังคม ประกอบกับการมีความยืดหยุ่น (resiliency) พร้อมรับความเสี่ยงและการเปลี่ยนแปลงที่คาดไม่ถึง ยิ่งกว่านั้น ต้องสร้างผลกระทบเชิงบวกให้สังคมและสิ่งแวดล้อม จากแนวคิดนี้จึงแตกเป็นเป้าหมาย ESG ทั้งหมด 3 เป้าหมายหลัก คือ
(1) การขับเคลื่อนเศรษฐกิจดิจิทัล หรือ Digital Economy โดยเน้นการพัฒนาสินค้าและบริการในรูปแบบดิจิทัลที่ตอบโจทย์คุณภาพชีวิตและธุรกิจให้พร้อมเข้าสู่เศรษฐกิจดิจิทัล
“พนักงานและวัฒนธรรมองค์กรต้อง transform พูดง่ายๆ คือต้องคิดและมีวิธีการทำงานที่ไม่เป็นรูปแบบเดิม และมีเรื่อง innovation ecosystem development ถึงแม้การทำเองคนเดียว จะพอได้ แต่การทำให้เกิดอิมแพกต์จะไม่อยู่แค่ในโทรคมนาคม แต่อาศัยผู้ผลิตอุปกรณ์ คนทำซอฟต์แวร์ แอป และเทคโนโลยี ซึ่งเป็นการร่วมมือในภาคอุตสาหกรรมอื่นๆ ที่จะพัฒนานวัตกรรมขึ้นมาได้ สุดท้ายคือเทคโนโลยีกับ know-how การสรรหาเทคโนโลยีใหม่ๆ และองค์ความรู้การพัฒนา”
(2) การเข้าถึงดิจิทัล เพราะเมื่อโลกดิจิทัลเชื่อมต่อกัน ข้อมูลบนออนไลน์มากขึ้น ฉะนั้น ระบบการดูแลรักษาข้อมูลจึงสำคัญอย่างยิ่ง ตลอดจนการให้ความรู้ด้านการเข้าถึงดิจิทัลด้วย
“เราพูดถึงคำว่า inclusive digital inclusion เพราะเรามองว่าต้องเริ่มที่คนของเรา ธุรกิจจะผลักดันให้เกิดเศรษฐกิจดิจิทัลได้ ตัวเราเอง พนักงานต้องได้รับการพัฒนาและมีศักยภาพที่จะสร้างสินค้าบริการหรือนำพาให้ธุรกิจอื่นๆ เข้าสู่โลกดิจิทัลได้”
นอกจากนี้ยังมี social inclusion เนื่องจากเอไอเอสมีลูกค้า 44 ล้านรายทั่วประเทศ สิ่งที่เอไอเอสต้องตั้งคำถามคือเทคโนโลยีและโครงสร้างพื้นฐานจะช่วยยกระดับชีวิตความเป็นอยู่ของชุมชนได้อย่างไร
“ทุกวันนี้เราเรียนที่บ้าน ทำงานที่บ้าน แต่จะเห็นว่าเด็กในพื้นที่ห่างไกลมีความไม่พร้อมในการเข้าถึงเทคโนโลยี เป็นโจทย์ใหญ่ว่าการพัฒนาดิจิทัลมันจะต้องเข้าถึงทุกกลุ่มในสังคมให้เท่าเทียม”
‘นัฐิยา’ กล่าวต่อว่า ในด้านการเข้าถึงดิจิทัลยังมีเรื่อง “cyber wellness” หรือที่รู้จักในนามโครงการอุ่นใจไซเบอร์ เพื่อสร้างความปลอดภัยในโลกดิจิทัล ทั้งเรื่อง data privacy (ข้อมูลและความเป็นส่วนตัว) และ cyber security (ความปลอดภัยบนโลกออนไลน์) โดยมองจากมุมลูกค้าเพื่อให้เข้าถึงโลกออนไลน์ได้ถูกวิธี และเป็นประโยชน์ต่อสังคมและประเทศ
(3) การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก หรือประเด็นที่เกี่ยวข้องกับสภาพภูมิอากาศ (act on climate) โดยเอไอเอสได้ดำเนินการ 2 เรื่อง ได้แก่ โซล่าเซลล์ เพื่อสร้างพลังงานอย่างยั่งยืน และขยะอิเล็กทรอนิกส์ (e-Waste)
“ในการใช้พลังงาน เวลาเลือกซื้ออุปกรณ์จะไม่ได้ดูแค่ราคา แต่เราดูด้วยว่าอุปกรณ์นี้ติดตั้งแล้วกินไฟเท่าไรตลอดอายุการใช้งาน ฉะนั้นต้นทุนและพลังงานต้องเหมาะสม เรามุ่งเน้นการใช้พลังงานให้มีประสิทธิภาพ”
‘นัฐิยา’ กล่าวต่อว่า ในด้านการลดการใช้พลังงานอาจไม่ใช่ปัจจัยหลักในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เพราะ 5G ใช้พลังงานมากขึ้น ขณะเดียวกันในอนาคตผู้คนก็จะมีอุปกรณ์ต่างๆ มากขึ้น ทำให้ปริมาณการใช้พลังงานจะไม่ลดลง แต่โจทย์สำคัญคือที่มาของไฟฟ้าต้องมาจากแหล่งพลังงานสะอาด
เป้าหมายและการดำเนินงานทั้งหมดสอดคล้องกับความต้องการของ stakeholder ทุกกลุ่ม ตั้งแต่ลูกค้า คู่ค้า พนักงาน ชุมชน นักลงทุน ตลอดจนผู้กำกับดูแลในด้านต่างๆ (regulator)
สร้างนวัตกรรมและการมีส่วนร่วมของสังคม
‘นัฐิยา’ ยกตัวอย่างผลงานที่เกี่ยวข้องกับ ESG คือ แอปพลิเคชั่น “อสม.ออนไลน์” ที่เปิดตัวตั้งแต่ปี 2558 เนื่องจากบริษัทเห็นการทำงานของสาธารณสุขชุมชนในรูปแบบออฟไลน์ จึงใช้เทคโนโลยีมาช่วยให้ อสม. ทำงานได้สะดวกยิ่งขึ้นผ่านช่องทางออนไลน์ โดยปัจจุบันมี อสม. ใช้งานแอปพลิเคชันนี้ประมาณ 5 แสนคนจาก อสม. ทั้งหมดราว 1.4 ล้านคน
“แอป อสม.ออนไลน์ ทำให้การสื่อสารข้อมูลข่าวสารรวดเร็วขึ้น จากเดิมราชการต้องรอข้อความหรือจดหมาย ล่าสุด กรณี ลูกน้ำยุงลาย ปกติ อสม. มีหน้าที่เดินไปทุกบ้าน สำรวจแหล่งน้ำขังและจดบันทึก กว่าข้อมูลจะวิ่งไปรวมศูนย์ใช้เวลาเป็นสัปดาห์ แต่ตอนนี้เป็นเรียลไทม์ ทำให้การควบคุมจัดการปัญหาโรคยุงลายรวดเร็วมากขึ้น ลดอัตราการเจ็บป่วย
“เดิมที อสม. อาจไม่ได้ใช้ดิจิทัล เขารู้สึกว่าใช้มือถือปุ่มกดก็ได้ แต่พอเขาได้ลองใช้แอป ผลพลอยได้คือเขาเรียนรู้การใช้ดิจิทัลเป็น ถ้าใช้แอปหนึ่งเป็นก็อาจจะคุ้นเคยและไม่กลัวที่จะใช้อย่างอื่น มันทำให้ดิจิทัลสกิลดีขึ้น”
‘นัฐิยา’ ยังยกตัวอย่างแพลตฟอร์มการเรียนรู้ชื่อ ‘LearnDi’ เพื่อตอบโจทย์การพัฒนาศักยภาพของตัวเองผ่านแนวคิดการเรียนรู้ตลอดชีวิตหรือ life-long learning โดยแพลตฟอร์มดังกล่าวเป็นฮับด้านการศึกษาที่เปิดให้พนักงานเอไอเอสและบุคคลภายนอกได้ศึกษาหาความรู้
ในภาคการศึกษายังมีโครงการ The Educators Thailand ซึ่งเป็นโครงการนำเสนอผลงานวิชาการ พัฒนารูปแบบการสอนและองค์ความรู้ อีกทั้งบริษัทยังสร้างห้องสมุดออนไลน์ให้สังคมได้หาความรู้เพิ่มเติม
ส่วนเรื่องขยะอิเล็กทรอนิกส์ ‘นัฐิยา’ เล่ากระบวนการทำงานว่า ปกติบริษัทจะจ้างบริษัทกำจัดที่ได้รับใบอนุญาตจากกรมโรงงาน และดูต่อว่ากำจัดด้วยวิธีการใด จากนั้นเอไอเอสจึงขยายผลเป็นรับชิ้นส่วนจากลูกค้า และสร้างความตระหนักให้ลูกค้าร่วมมือกันกำจัดขยะอย่างถูกวิธีผ่านจุดทิ้งขยะอิเล็กทรอนิกส์ของเอไอเอส
ภายในองค์กรเอง บริษัทได้พัฒนาโครงการ JUMP Bootcamp เพื่อสนับสนุนให้พนักงานสามารถรวมตัวกันพัฒนานวัตกรรมโดยได้รับเงินทุนสนับสนุนจากบริษัท
โมเดลธุรกิจ ควบคู่ กำไร สังคมและสิ่งแวดล้อม
กระบวนการทำงานด้าน ESG จะเริ่มจากสื่อสารจากผู้บริหาร โดยกำหนดเป้าหมายใหญ่และส่งต่อให้คนระดับถัดมา ทว่าความพิเศษของเอไอเอสคือ ‘พนักงาน’ รับรู้ถึงความตั้งใจและมองเห็นเป้าหมายในโครงการเหล่านี้ เพราะวิธีคิดของพนักงานส่วนใหญ่ล้วนมีเป้าหมายเดียวกับผู้บริหาร นั่นคือการสร้าง ESG ให้เกิดขึ้น
เบื้องหลังการสร้างพนักงานคือ ‘วัฒนธรรมองค์กร’ โดยเอไอเอสค่อยๆ สร้างวิธีคิดด้านความยั่งยืนมาต่อเนื่อง จนในปี 2563 จึงประกาศเป็นวัฒนธรรม “FIT FUN FAIR” ความหมายคือ
- FIT การมีสุขภาพที่ดี พร้อมรับมือทุกสถานการณ์ ส่งมอบงานเหนือความคาดหมาย
- FUN ทุกความท้าทายความคือสนุก มีความสุข คิดบวก
- FAIR มีความเท่าเทียม ยอมรับและเปิดใจ และมอบรางวัลให้กับงานที่มีคุณภาพ
“คุณสมชัย (เลิศสุทธิวงค์ ประธานบริหารเอไอเอส) บอกว่า ‘ธุรกิจเรามองว่าไม่ใช่การกินรวบ แต่มันคือสลากกินแบ่ง’ เพราะเราไม่ได้เก่งทุกอย่าง เราเก่งในบางส่วนที่เราทำ แต่ถ้าเราจะให้สังคมเปลี่ยนไปสู่ดิจิทัลได้ เราต้องร่วมมือกับผู้อื่น เป็นไปไม่ได้ที่เราจะเข้าใจทุกอุตสาหกรรมว่าเขาทำงานอย่างไร ต้องการอะไร ฉะนั้นการร่วมมือกับคู่ค้า ผู้ผลิตเทคโนโลยี ผู้ผลิตสตาร์ทอัพใหม่ในการสร้างโซลูชั่นใหม่ โจทย์ของเราคือการเปิดองค์กร เราต้องมีความพร้อมแล้วเปิดประตูร่วมมือกับคู่ค้า”
“การทำ ESG ไม่ได้มองแต่มุมสิ่งแวดล้อมและสังคม ถ้าเราทำแล้วกำไรลดลงเรื่อยๆ แปลว่าสุดท้ายเราไม่ยั่งยืน ฉะนั้นกำไรต้องมาด้วย เราสามารถมีโมเดลธุรกิจแนวใหม่ที่สร้างกำไรอย่างยั่งยืน สังคมและสิ่งแวดล้อมได้กำไร 3 ขาต้องไปควบคู่กัน มันไม่ได้มีผลตอบแทนมาทันที ณ วันนี้ บางโครงการเป็นการสร้างการรับรู้ ผลที่ได้คือลูกค้ารู้สึกดีกับแบรนด์มากขึ้น