ThaiPublica > ข่าวประชาสัมพันธ์ (archive) > เอไอเอส เปิดโครงการ THE EDUCATORS THAILAND เสริมทักษะดิจิทัล-การผลิตสื่อให้ครูไทย

เอไอเอส เปิดโครงการ THE EDUCATORS THAILAND เสริมทักษะดิจิทัล-การผลิตสื่อให้ครูไทย

23 กรกฎาคม 2021


ข่าวประชาัมพันธ์

AIS Academy ร่วมกับสำนักงานคุรุสภา เปิดตัวโครงการ THE EDUCATORS THAILAND ดึงบุคลากรการศึกษาทุกภาคส่วนกว่า 1,000 คน พัฒนาทักษะดิจิทัล พลิกโฉมกระบวนทัศน์การศึกษายุคดิจิทัล เชื่อมต่อ ช่วยเหลือ เพื่อครูไทย สอบรับใบประกาศนียบัตร พร้อมเปิดให้ครูที่พัฒนาแผนการสอน-พัฒนาสื่อการเรียนได้ดี

วันที่ 22 กรกฎาคม 2564: ภายใต้บริบทของสังคมที่เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา ทั้งปัจจัยด้านเศรษฐกิจ การเมือง วัฒนธรรม เทคโนโลยี และด้านอื่นๆ อีกมากมาย ทำให้ทุกภาคส่วนต้องพร้อมตั้งรับเพื่อปรับตัวให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ ภาคธุรกิจเองนอกเหนือจากการต้องพัฒนาสินค้าและบริการให้ตอบโจทย์ผู้บริโภคแล้ว การจัดเตรียมกำลังพลในแง่ของทรัพยากรบุคคลก็เป็นความสำคัญลำดับต้นๆ ที่องค์กรควรนึกถึงเช่นกัน นั่นจึงเป็นเหตุผลที่ AIS Academy ลุกขึ้นมามีบทบาทต่อภาคการศึกษาไทยอีกครั้งด้วยการมองไปที่บุคลากรต้นน้ำของระบบการศึกษาอย่างวิชาชีพครู จึงจับมือกับกระทรวงศึกษาธิการ และบุคลากรวงการศึกษาชั้นนำของประเทศ เพื่อเชื่อมต่อ ช่วยเหลือ เพื่อครูไทย พัฒนาหลักสูตรต่อยอดทักษะการออกแบบสื่อการเรียนการสอนยุคใหม่ให้สอดรับกับการศึกษาในยุคดิจิทัลแบบครบวงจรตั้งแต่ การวางโครงสร้างหลักสูตร เครื่องมือสื่อการสอน และการวัดประเมินผลผู้เรียน ในโครงการ “THE EDUCATORS THAILAND”

โดยโครงการ “THE EDUCATORS THAILAND” นับเป็นครั้งแรกที่ได้เปิดเวทีให้บุคลากรด้านการศึกษากว่า 1,000 คน ทั้งจากภาครัฐและเอกชน ไม่ว่าจะเป็น นักการศึกษา, ครูผู้สอน, บุคลากรด้านการศึกษาทุกสังกัด และนักศึกษาฝึกสอน มาเข้าร่วม Un Learn และ Re Learn ทักษะการสอน ผ่านหลักสูตรที่ถูกออกแบบและพัฒนาโดย AIS Academy ร่วมกับสำนักงานเลขาธิการคุรุสภา กระทรวงศึกษาธิการ พร้อมด้วยบุคลากรชั้นนำในวงการ ที่มีเนื้อหาในการพัฒนาทักษะ การสร้างนวัตกรรมการสอน เพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงของภาคการศึกษายุคใหม่ให้สอดคล้องกับการบ่มเพาะนักเรียนยุค LFH ที่จะเป็นจุดเริ่มต้นของบุคลากรที่ร่วมสร้างประเทศในอนาคต จนท้ายที่สุดจะได้มาซึ่งผลงานจากผู้เข้าร่วมโครงการในลักษณะต้นแบบของสื่อการสอนที่จะสามารถนำไปต่อยอดให้เกิดประโยชน์ต่อภาคการศึกษาในปัจจุบันและอนาคต

นางสาวตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวว่า ภายใต้สถานการณ์โควิด-19 บทบาทของกระทรวงศึกษาธิการจึงต้องยกระดับคุณภาพมาตรฐานการศึกษา และการพัฒนาครู ไม่ว่าครูรุ่นเก่าและรุ่นใหม่ที่ต้องเรียนรู้การใช้เทคโนโลยี จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องอาศัยบทบาทภาคเอกชนอย่าง ‘เอไอเอส’ ซึ่งจะมาช่วยปรับรูปแบบการเรียนการสอน และพัฒนาทักษะให้ครูมีความพร้อมที่จะถ่ายทอดองค์ความรู้

“เอไอเอส เป็นจุดเริ่มต้นที่ดีที่จะได้นำเทคโนโลยีดิจิทัลต่างๆ มาเสริมทักษะให้กับครู เพื่อจะถ่ายทอดองค์ความรู้ให้เกิดประสิทธิผลมากที่สุด” นางสาวตรีนุชกล่าว

นายกานต์ ตระกูลฮุน ประธานกรรมการ บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า รากฐานของอนาคตประเทศคือภาคการศึกษา เนื่องจากในทุกสถานการณ์เด็กจะต้องเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง แต่โควิด-19 ทำให้สถานการณ์การเรียนการสอนเปลี่ยนแปลงไปเป็นการเรียนรู้นอกห้องเรียนและเรียนออนไลน์ โดยเฉพาะเทคโนโลยีจะทำให้การศึกษามีประสิทธิภาพมากกว่าเดิม ทั้งการ up-skill และ re-skill

“ทั้งหมดนี้เป็นที่มาของโครงการ THE EDUCATORS THAILAND โดยเอไอเอสอาคาเดมี เรามุ่งหวังว่าจะเป็นส่วนเล็กๆ ที่จะร่วมกับภาครัฐเพื่อเชื่อมต่อ ช่วยเหลือให้ครูไทยได้ปรับตัวให้พร้อมกับการบ่มเพาะเยาวชนไทยให้เติบโต มีความรู้ความสามารถ” นายกานต์กล่าว

นายสมชัย เลิศสุทธิวงค์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน)

นายสมชัย เลิศสุทธิวงค์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า เอไอเอส ในฐานะ Digital Life Service Provider ได้ใช้ Infrastructure Platform มาพัฒนาประเทศช่วงโควิด-19 ซึ่งเป็นการช่วยเหลือระยะสั้น โดยปีที่แล้วเอไอเอสได้พัฒนาโครงการ “AIS 5G พื้นฟูประเทศ” โดยนำ 5G ไปใช้ในโรงงานอุตสาหกรรมต่างๆ ตลอดจนนำไปช่วยเหลือในโรงพยาบาล อสม.และด้านสาธารณสุข

“4-5 ปีที่แล้วเราเลยตั้ง AIS Academy เพื่อให้พัฒนาสกิลให้กับบุคลากรของเราเอง แต่คนของผมบอกว่าพัฒนาคนของเราอย่างเดียวไม่พอ จำเป็นอย่างยิ่งต้องไปช่วยเหลือสังคมไทยในแง่มุมต่างๆ ดังนั้น 2-3 ปีที่แล้วจึงเกิด AIS Academy for Thai” เปิดโอกาสให้คนไทยทุกคนเข้าถึงหลักสูตรต่างๆ ต่อเนื่องมาถึงวันนี้กับโครงการ THE EDUCATORS THAILAND และดึงบุคลากรเข้ามาสู่แพลตฟอร์ม LearnDi ของเรา” นายสมชัยกล่าว

ทั้งนี้ โครงการ THE EDUCATORS THAILAND เป็นเวทีที่ให้บุคลากรด้านการศึกษากว่า 1,000 คน ทั้งจากภาครัฐและเอกชน ไม่ว่าจะเป็น นักการศึกษา, ครูผู้สอน, บุคลากรด้านการศึกษาทุกสังกัดและนักศึกษาฝึกสอน มาเรียนรู้ทักษะใหม่ ผ่านหลักสูตรที่ถูกออกแบบและพัฒนาโดย AIS Academy ร่วมกับสำนักงานเลขาธิการคุรุสภา  กระทรวงศึกษาธิการ เพื่อพัฒนากระบวนการพัฒนาผ่านชุมชนแห่งการเรียนรู้ Professional Learning Community (PLC)

นางสาวกานติมา เลอเลิศยุติธรรม หัวหน้าคณะผู้บริหารด้านทรัพยากรบุคคล กลุ่มบริษัท AIS และกลุ่มอินทัช กล่าวว่า เวที THE EDUCATORS THAILAND จะนำเอาทักษะ องค์ความรู้ใหม่ๆ รวมถึงศักยภาพความเป็นผู้นำด้านดิจิทัล เทคโนโลยี ภายใต้แนวคิด “มากกว่าความเป็น…ครูผู้สอน นวัตกรรมการสอนของครูไทยในอนาคต”

ดร.สุพจน์ ศรีนุตพงษ์ หัวหน้าส่วนงานการจัดการความรู้ด้านเทคนิค กลุ่มบริษัท AIS กล่าวถึงโครงการ THE EDUCATORS THAILAND กล่าวว่า ครูกว่า 1,000 คนที่ผ่านเข้าร่วมโครงการจะได้รับการเพิ่มทักษะด้านต่างๆ ผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ โดยเดือนมิถุนายน 2564 ครูได้เข้าถึงแพลตฟอร์ม LearnDi และเรียนรู้ Soft-Skill และถัดไปอีก 2-3 เดือนจะมีการพัฒนาด้านการออกแบบการเรียนการสอน การประเมินผล และการผลิตสื่อรูปแบบใหม่ หลังจากนั้นครูจะสอบวัดผลและได้รับใบประกาศนียบัตร นอกจากนี้ครูที่เข้าร่วมโครงการจะต้องส่งผลการการออกแบบแผนการสอน โดยมีคณะกรรมการคัดเลือกแผนการสอนเป็นรอบๆ จนคัดเหลือ 10 คนสุดท้ายที่จะมาออกแบบการพัฒนาสื่อ และได้รับถ้วยพระราชทาน รวมถึงมีการเวิร์คช็อปในรูปแบบ VR (Virtual Reality)

ดร.สุพจน์กล่าวต่อว่า หลักสูตรการเรียนรู้ในโครงการดังกล่าวเป็นรูปแบบ Mirco Learning หน่วยการเรียนรู้เล็กๆ ที่จะเชื่อมต่อเป็นชุดความรู้ เช่น ทักษะการเป็นคอนเทนต์ครีเอเตอร์ (Content Creator) ทักษะภาษา ทักษะดิจิทัล ฯลฯ

ดร.สุพจน์ เสริมว่า”ผมเห็นครูหลายคนตั้งใจเรียนมาก มีการจดโน้ต มีการพอส ถึงแม้ข้อสอบจะไม่ยาก แต่ก็ต้องสอบสามสี่ครั้งกว่าจะผ่านได้ ครูเกิน 90% มีความพร้อมรับเทคโนโลยีสมัยใหม่”

ด้านดร.ดิศกุล เกษมสวัสดิ์ เลขาธิการคุรุสภา กล่าวว่า วิสัยทัศน์ของคุรุสภาคือเป็นองค์กรที่มุ่งสนับสนุน พัฒนาวิชาชีพครู และบุคลากรทางการศึกษาให้มีคุณภาพตามมาตรฐานสากล มีศักยภาพเพื่อส่งต่อองค์ความรู้ใหม่ๆ ให้คุณภาพของการศึกษาไทย แต่จะต้องอาศัยความร่วมมือของหลายภาค โดยความร่วมมือกับ AIS เป็นจุดเริ่มต้นที่จะใช้เทคโนโลยีรวมถึงองค์ความรู้ใหม่ๆ ด้านดิจิทัลมาเสริมทักษะให้กับบุคลากรทางการศึกษา

ดร.ดิศกุลกล่าวต่อว่า โครงการดังกล่าวสอดคล้องกับแผนยุทธศาสตร์ ในหลายเรื่องทั้งการส่งเสริมแหล่งเรียนรู้และนวัตกรรมเพื่อการประกอบวิชาชีพอย่างมีคุณภาพ รวมถึงการพัฒนาองค์ความรู้ใหม่ๆ เพื่อพัฒนาการสอนให้มีคุณภาพภายใต้สถานการณ์ปัจจุบัน

ดร.ดิศกุลว่า”การศึกษาเราไม่ใช่มีแค่ในระบบ ยังมีนอกระบบแบบกศน. การศึกษาให้ผู้ใหญ่อายุมากก็ต้องจัดการอีกแบบหนึ่ง การเรียนรู้รายบุคคลจึงเป็นสิ่งที่ครูยุคนี้ต้องทำงานหนักมาก เพราะครูคือผู้อำนวยความสะดวกการเรียนรู้”