ThaiPublica > เกาะกระแส > “บริการสุขภาพแห่งชาติ” (NHS) ของอังกฤษ อายุครบ 75 ปี หนึ่งในระบบสาธารณสุขดีที่สุดของโลก

“บริการสุขภาพแห่งชาติ” (NHS) ของอังกฤษ อายุครบ 75 ปี หนึ่งในระบบสาธารณสุขดีที่สุดของโลก

9 กรกฎาคม 2023


รายงานโดย ปรีดี บุญซื่อ

ที่มาภาพ : https://twitter.com/mitieteam/status/1676683292630712320/photo/4

เมื่อวันที่ 5 กรกฎาคมที่ผ่านมา ระบบสาธารณสุขของอังกฤษ ที่ค่าใช้จ่ายดำเนินงานอาศัยเงินงบประมาณจากผู้เสียภาษี และมีชื่อเรียกว่า
“บริการสาธารณสุขแห่งชาติ” หรือ NHS (National Health Service) มีอายุครบ 75 ปี เพราะตั้งขึ้นมาครั้งแรกเมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม 1948

แต่เว็บไซต์ theguardian.com รายงานว่า ในวาระครบรอบ 75 ปี การบริการของ NHS เต็มไปด้วยปัญหามากมาย เช่น คนไข้ต้องรอเป็นเวลานานขึ้น ในการเข้ารับการรักษาโรคไม่เร่งด่วน ตัวเลขในเดือนเมษายน 2023
คนไข้ต้องรอนานเฉลี่ย 13.8 สัปดาห์ นอกจากนี้ บุคลากรทางการแพทย์ ก็มีขวัญกำลังใจตกต่ำ

แต่รายงานการศึกษาต่าง ๆ เรื่องบริการสาธารณสุขก็มีความเห็นตรงกันว่า การบริการสาธารณสุขจะได้ผลและมีประสิทธิภาพขึ้นกับ 2 อย่าง
คืองบประมาณและจำนวนบุคลากรทางการแพทย์ นับจากก่อตั้งขึ้นมาในปี 1948 งบประมาณ NHS เพิ่มขึ้นปีละ 3.6% ขณะที่นักเศรษฐศาสตร์สาธารณสุขระบุว่า ปีหนึ่งต้องเพิ่มประมาณ 4% เพื่อให้การดำเนินงานของ NHS มีประสิทธิภาพสูง ส่วนบุคลากรการแพทย์ก็ขาดแคลนถึง 112,498 คน หรือ 8% ของพนักงาน องค์กรที่จ้างงานมากสุดในโลก

แม้ NHS จะเผชิญสถานการณ์การยากลำบาก เช่น ประชากรในอังกฤษสูงอายุมากขึ้น และงบประมาณจำกัด แต่ NHS ก็อยู่เหนือความขัดแย้งทางความคิดของพรรคการเมืองในอังกฤษ ในการเลือกตั้งแต่ละครั้ง ทั้งพรรคอนุรักษ์นิยมและพรรคแรงงาน ต่างก็หาเสียงแข่งขันว่า
ใครจะให้งบประมาณแก่ NHS มากกว่ากัน

ที่มาภาพ : https://twitter.com/hashtag/nhsbirthday

Nigel Lawson อดีตรัฐมนตรีคลังสมัยรัฐบาลนางมาร์กาเร็ต แธตเชอร์เคยเขียนไว้ว่า “บริการสาธารณสุขของอังกฤษคล้ายกับศาสนา บุคลากรทางการแพทย์ เหมือนพวกนักบวช ทำให้ยากต่อการปฏิรูป”

ในแต่ละปี NHS ได้งบประมาณ 152 พันล้านปอนด์ มีพนักงาน 1.6 ล้านคน ถือเป็นหนึ่งในองค์กรที่จ้างงานมากที่สุดของโลก พอๆกับ McDonald และ Walmart

ระบบบริการสาธารณสุขของอังกฤษได้รับเงินสนับสนุนจากภาษีที่เก็บทั่วไป การให้บริการไม่มีค่าใช้จ่าย ต่างจากระบบบริการสาธารณสุขในยุโรปที่งบประมาณมาจากระบบประกันสุขภาพ ที่ผู้ประกันตนต้องจ่ายเงินส่วนหนึ่ง

ต้นกำเนิด NHS

หนังสือชื่อ The NHS เขียนไว้ว่า หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 รัฐบาลอังกฤษภายใต้การนำของพรรคแรงงาน เสนอแผนงานรัฐสวัสดิการแบบครอบคลุมทั่วด้าน “การบริการสาธารสุขแห่งชาติ” ที่ไม่มีค่าใช้จ่ายในจุดบริการ คือสิ่งที่เป็นหัวใจสำคัญของแผนงานนี้

วันที่ 6 พฤศจิกายน 1946 รัฐสภาอังกฤษผ่านกฎหมาย NHS Act วันที่ 5 กรกฎาคม 1948 เป็นวันแรกที่เริ่มดำเนินงานของ NHS เด็กหญิงอายุ 13 ปี ชื่อ Sylvia Diggery เป็นคนไข้คนแรก ที่ได้รับการดูแลรักษาภายใต้การดำเนินงานของ NHS รัฐมนตรีสาธารณสุข Aneurin Bevan ที่เป็นหัวแรงสำคัญในการสร้างระบบบริการสาธารณสุขของ NHS ขึ้นมาได้ไปเยี่ยมเธอที่โรงพยาบาลเมือง Manchester

5 กรกฎาคม 1948 คือวันแรกที่อังกฤษเริ่มดำเนินงาน NHS และ Sylvia Diggery เด็กหญิงอายุ 13 ปี เป็นคนไข้รายแรก ทีมาภาพ : Twitter

Sylvia Diggery จำได้ในสิ่งที่รัฐมนตรีสาธารณสุขถามกับเธอว่า “รู้หรือไม่ถึงความสำคัญของโอกาสครั้งนี้ และบอกกับฉันว่า
สิ่งนี้คือเหตุการณ์สำคัญทางประวัติศาสตร์ เป็นก้าวแห่งอารยะที่สำคัญที่สุด ที่ประเทศใดหนึ่งได้มีการดำเนินการ เป็นวันที่ฉันจะจดจำไปตลอดชีวิต แน่นอนว่าเขากล่าวได้ถูกต้อง”

ก่อนหน้านี้ในเดือนกุมภาพันธ์ 1948 กระทรวงสาธารสุขอังกฤษ ได้ส่งเอกสารแผ่นพับชี้แจงให้แก่ทุกครัวเรือนในอังกฤษ โดยเขียนไว้ว่า “ทาง NHS จะให้การดูแลทางการแพทย์ การรักษาฟัน และการพยาบาล คนทุกคน ไม่ว่าจะร่ำรวยหรือยากจน ผู้ชายผู้หญิง หรือเด็ก สามารถใช้บริการนี้ หรือเป็นบางส่วนจะไม่มีการคิดค่าบริการใดๆ ยกเว้นบางรายการพิเศษ จะไม่มีการกำหนดคุณสมบัติผู้ใช้บริการ ที่ต้องมีการทำประกันสุขภาพ แต่สิ่งนี้ไม่ใช่ “การกุศล” พวกคุณทุกคนคือคนที่จ่ายเงินเพื่อสิ่งนี้ ส่วนใหญ่ในฐานะผู้เสียภาษี และบริการนี้จะช่วยบรรเทาความวิตกกังวล เรื่องเงินทองในยามเกิดเจ็บไข้ได้ป่วย”

NHS ให้บริการสาธารณสุขที่ครอบคลุมคนอังกฤษทุกคน และคนที่มีถิ่นที่อยู่ถาวรในอังกฤษ ถือเป็นระบบประกันสุขภาพที่ได้รับเงินทุนมาจากองค์กรเดียว และรัฐเป็นเจ้าของคนไข้ สามารถเลือกแพทย์ที่จะผู้ดูแลสุขภาพเบื้องต้น และหากจำเป็นแพทย์คนนั้นเป็นผู้ส่งต่อคนไข้ไปโรงพยาบาล

เอกสารแนะนำบริการ NHS ของกระทรวงสาธารณสุข อังกฤษ ที่มาภาพ : Wikimedia Commons

คนอังกฤษสามารถเข้ารับการรักษาในจุดไหนก็ได้ในอังกฤษ วัตถุประสงค์ของ NHS คือให้บริการสาธารณสุข โดยไม่มีค่าใช้จ่ายในจุดบริการคนที่มีถิ่นที่อยู่ในอังกฤษที่ใช้บริการจึงไม่ต้องเสียเงิน

ส่วนคนที่ไม่มีถิ่นที่พักถาวรสามารถได้รับการรักษาฉุกเฉิน และการดูแลสุขภาพเบื้องต้นโดยไม่มีค่าใช้จ่าย แต่ต้องเสียค่าใช้จ่าย หากมีการดูแลสุขภาพที่ต่อเนื่องจากนั้น

บริการสาธารณสุขเบื้องต้นของ NHS ได้แก่การตรวจโรค การดูแลการป่วยเรื้อรัง การผ่าตัดเล็ก การจ่ายยาคนป่วยนอก และการวางแผนครอบครัว การเข้ารับการรักษาตัวในโรงพยาบาลมาจากการส่งตัวของแพทย์ที่ดูแลเบื้องต้น หรือในกรณีฉุกเฉิน ซึ่งคนป่วยจะไม่มีค่าใช้จ่ายใดๆ

ปัญหาท้าทายของ NHS

หนังสือ Which Country Has the World’s Best Health Care? กล่าวถึงปัญหาท้าทายของ NHS ว่า ระบบสาธารณสุขของอังกฤษ มีชื่อเสียงในเรื่องบริการที่กว้างขวาง ทั้งในแง่ของการครอบคลุมทั่วถึงและการเข้าถึงการบริการ คนอังกฤษสามารถเข้าถึงบริการสาธารณสุขพื้นฐานและสามารถเลือกสถานที่บริการการบริการพื้นฐานและในโรงพยาบาลไม่มีค่าใช้จ่ายในจุดให้บริการ

สิ่งที่เป็นจุดแข็งที่สุดของ NHS คือความไว้วางใจของสังคมและการทุ่มเทของคนอังกฤษที่ให้กับ NHS คนอังกฤษไม่ต้องการที่จะให้นำเอาระบบอื่นมาแทน NHS แต่ต้องการให้ NHS สามารถดำเนินงานได้อย่างเต็มที่ แต่ความสำเร็จในอนาคตข้างหน้าของ NHS อยู่ที่การเอาชนะปัญหาท้าทายสำคัญ 4 อย่าง

ปัญหาแรกคือ การขาดแคลนบุคลากร จำนวนแพทย์ไม่ได้เพิ่มขึ้นตามสัดส่วนประชากร มีพยาบาลลาออกปีหนึ่ง 33,000 คน ทุกวันนี้ มีตำแหน่งงานว่างใน NHS มีถึง 100,000 ตำแหน่ง หากไม่สามารถแก้ปัญหานี้ ตำแหน่งงานที่ว่างจะเพิ่มถึง 250,000 ตำแหน่งภายใน 10 ปีข้างหน้า

NHS ก็ยอมรับว่าปัญหากดดันที่สุดคือบุคลากรขาดแคลน สาเหตุสำคัญคือเรื่องค่าตตอบแทน ค่าตอบแทนของแพทย์ในอังกฤษสูงพอ ๆ กับในยุโรป แต่ของพยาบาลอยู่ที่ปีหนึ่ง 31,500-94,000 ดอลลาร์ ขึ้นกับประสบการณ์ จะต่ำอย่างมากเมื่อเทียบกับในยุโรป ในสวิส รายได้พยาบาลเฉลี่ยปีหนึ่ง 57,234 ดอลลาร์

ปัญหาท้าทายที่ 2 คือโรงพยาบาล คนไข้อยู่ติดเตียงพยาบาลนาน อัตราการใช้เตียงในโรงพยาบาลสูงอังกฤษสูงถึง 85% ทำให้ไม่สามารถรับมือกับความต้องการที่พุ่งขึ้นฉับพลัน เช่น คนไข้เป็นไข้หวัดใหญ่มากขึ้นในช่วงฤดูกาล การแก้ปัญญานี้คือการลงทุนด้านพื้นฐานการบริการดูแลคนป่วยที่อยู่กับบ้านมากขึ้น หรือเพิ่มเตียงในสถานพยาบาลดูแลคนสูงอายุ

ปัญหาท้าทายที่ 3 คือ การเข้าคิวรอนานเพื่อรับบริการ ทั้งการนัดหมายแพทย์ และการเข้ารับการผ่าตัด ปัญหานี้ทำให้คนทั่วไปไม่ต่อใจต่อ NHS แต่ทั้งปัญหาบุคลากร การยึดครองเตียง และการรอคิวเข้ารับบริการ สามารถโยงสาเหตุไปสู่ปัญหาที่ 4 ของ NHS คือเรื่องงบประมาณ งบประมาณสาธารณสุขของอังกฤษมีสัดส่วน 9.6% ของ GDP แต่เยอรมัน ฝรั่งเศส เนเธอร์แลนด์ หรือสวิส ใช้งบประมาณที่มากกว่า 10% ของ GDP

โรงพยาบาลควีนเอลิซาเบธ เบอร์มิงแฮม โรงพยาบาล NHS ขนาดใหญ่อีกแห่งในอังกฤษ มี 1,213 เตียง ที่มาภาพ : https://en.wikipedia.org/wiki/National_Health_Service_(England)#/media/File

หนังสือ Which Country Has the World’s Best Health Care? สรุปว่าแม้จะมีเสียงวิจารณ์มากมาย แต่ NHS สามารถทำงานได้ค่อนข้างดีการดูแลด้านสาธารณสุขมีคุณภาพเท่าเทียมกับประเทศชั้นนำอื่นในยุโรป โดยที่ผู้รับบริการไม่ต้องออกค่าใช้จ่ายร่วม ปัญหาส่วนใหญ่และความไม่พอใจที่มีต่อ NHS ไม่ใช่เรื่องระบบหรือโครงสร้าง แต่เป็นปัญหาสะสมย้อนหลังมานาน ในเรื่องที่ NHS ได้รับงบประมาณไม่พอเพียง

เอกสารประกอบ

Locked in a death spiral: the state of the NHS at 75, 3 July 2023, theguardian.com
The NHS: Britain’s National Health Service, 1948-2000, Susan Cohen, 2020.
Which Country Has the World’s Best Health Care? Ezekiel J. Emanuel, Public
Affairs, 2020.