ThaiPublica > ประเด็นร้อน > COVID-19 พลิกโลก > ข้อแนะนำเรื่องการสวมหน้ากากของ CDC สหรัฐฯ เดลต้า เมื่อ “สงครามได้เปลี่ยนไปแล้ว”

ข้อแนะนำเรื่องการสวมหน้ากากของ CDC สหรัฐฯ เดลต้า เมื่อ “สงครามได้เปลี่ยนไปแล้ว”

5 สิงหาคม 2021


รายงานโดย ปรีดี บุญซื่อ

ที่มาภาพ : https://www.facebook.com/CDC/photos/a.184668026025/10159349290496026

เมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม 2021 ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรค (Centers for Disease Control and Prevention – CDC) ของสหรัฐอเมริกา ได้ออกประกาศแนวทางปฏิบัติเรื่องการให้คนอเมริกันกลับมาสวมหน้ากากอนามัยอีกครั้งหนึ่ง ซึ่งประกาศของ CDC ล่าสุด ทำให้เกิดความสับสนในหมู่คนอเมริกัน

แม้ครึ่งหนึ่งของประชากรสหรัฐฯ จะได้รับการฉีดวัคซีนแล้ว แต่เจ้าหน้าที่สาธารณสุขก็กังวลว่า การติดเชื้อโควิด-19 ที่เพิ่มมากขึ้นจากสายพันธุ์เดลต้า บวกกับบางพื้นที่ในสหรัฐฯที่ยังฉีดวัคซีนในอัตราที่ต่ำ แม้วัคซีนที่ได้รับอนุญาตให้ใช้ในสหรัฐฯ จะยังมีประสิทธิภาพสูง ในการป้องกันอาการรุนแรงจากการติดเชื้อ แต่จากข้อมูลปรากฏว่า คนที่ฉีดวัคซีนครบแล้ว และมีการติดเชื้อ แม้จะเป็นกรณีที่เกิดขึ้นได้ยาก แต่คนๆนั้นก็สามารถแพร่เชื้อโควิด-19

ข้อแนะนำ CDC ล่าสุดเรื่องหน้ากาก

บทความชื่อ Mask and COVID-19ของ washingtonpost.com ได้อธิบายแนวการปฏิบัติล่าสุดของ CDC รวมทั้งความเห็นของผู้เชี่ยวชาญว่า เมื่อพฤษภาคม 2021 ทาง CDC กล่าวว่า โดยทั่วไปแล้วมีความปลอดภัย หากคนที่ได้รับการฉีดวัคซีนจนครบ จะไม่สวมหน้ากาก หากจะเข้าไปในอาคารปิด

แต่ข้อแนะนำ CDC ล่าสุด กล่าวว่า ไม่ว่าจะได้รับการฉีดวัคซีนหรือไม่ ให้ทุกคนสวมหน้ากาก หากอยู่ในพื้นที่มีรายงานการแพร่ระบาดของไวรัส “ค่อนข้างมาก” หรือ “สูง”

CDC แนะนำให้ทุกคนที่อายุมากกว่า 2 ปีขึ้นไป สวนหน้ากาก เมื่ออยู่ในอาคารของโรงเรียน ตั้งแต่ชั้นอนุบาลถึงประถมศึกษา ครู เจ้าหน้าที่โรงเรียน นักเรียน และคนที่มาเยือน จะต้องสวมหน้ากาก แม้จะฉีดวัคซีนครบแล้วก็ตาม คนที่ฉีดวัคซีนครบแล้วอาจประสงค์ที่จะสวมหน้ากาก ไม่ว่าการแพร่ระบาดในชุมชนจะอยู่ในระดับไหนก็ตาม โดยเฉพาะภายในครอบครัว ที่มีบุคลลที่เสี่ยงจะมีอาการรุนแรงจากการติดเชื้อ เช่น คนสูงอายุ และคนที่มีปัญหาสุขภาพ เช่น เบาหวาน หรือโรคหัวใจ

จะรู้ได้อย่างไรว่าอยู่ในพื้นที่แพร่ระบาดสูง

บทความของ washingtonpost.com กล่าวว่า การแพร่ระบาดค่อนข้างมาก (substantial transmission) หมายถึงมีการติดเชื้อสัปดาห์หนึ่ง 50-99 รายต่อ 100,000 คน ส่วนการติดเชื้อที่สูง (high transmission) หมายถึงมีการติดเชื้อสัปดาห์หนึ่งมากกว่า 100 รายต่อ 100,000 คน จากข้อมูลการติดตามของ CDC เมื่อวันที่ 2 สิงหาคม 2564 นี้ 78% ของเขตต่างๆในสหรัฐฯ เข้าข่ายดังกล่าว

ที่มาภาพ : https://www.facebook.com/CDC/photos/a.184668026025/10159381893311026

ทำไม CDC เปลี่ยนข้อแนะนำ

CDC ได้ข้อมูลว่า สายพันธุ์เดลต้าสามารถแพร่ระบาดได้ง่าย เหมือนโรคอีสุกอีใส และคนติดเชื้อที่ฉีดวัคซีนแล้ว สามารถเป็นพาหะการแพร่ระบาดของโควิด-19 นอกจากนี้ มีความเป็นไปได้ที่สายพันธุ์เดลต้า จะทำให้เกิดอาการรุนแรงมากขึ้น

CDC ต้องรีบดำเนินการ เมื่อได้รับข้อมูลใหม่ในเรื่องเดลต้า ทำให้เจ้าหน้าที่สาธารณสุขเกิดความกังวลในเรื่องที่ว่า คนฉีดวัคซีนแล้ว เกิดติดเชื้อเดลต้า จะมีปริมาณไวรัสในตัวพอๆกับคนที่ติดเชื้อเดลต้า แต่ยังไม่ได้ฉีดวัคซีน ทำให้คนฉีดวัคซีนแล้วสามารถแพร่เชื้อไวรัสได้เหมือนกับการแพร่เชื้อของคนไม่ได้ฉีดวัคซีน

ชนิดของหน้ากากสำคัญหรือไม่

บทความของ washingtonpost.com กล่าวว่า ตั้งแต่มีการแพร่ระบาดสายพันธุ์เดลต้า ทาง CDC ยังไม่ได้เปลี่ยนแปลงข้อแนะนำเรื่อง การใช้หน้ากากที่เหมาะสม CDC ยังคงแนะนำให้ใช้หน้ากากผ้า แบบ 2 ชั้น หรือมากกว่านี้ สามารถซักได้ และหายใจได้สะดวก มีเส้นลวดที่จมูก สามารถปรับให้กระชับ จะต้องไม่มีช่องว่างระหว่างหน้ากากกับใบหน้า และหน้ากากจะต้องปกปิดทั้งจมูกและปาก

แต่ความวิตกกังวลเรื่องการแพร่ระบาดที่รวดเร็วของสายพันธุ์เดลต้า ทำให้ผู้เชี่ยวชาญบางคนแนะนำว่า ประชาชนควรจะพิจารณายกระดับหน้ากากที่มีคุณภาพสูงขึ้น เช่น N95 โดยเฉพาะคนที่ยังไม่ได้ฉีดวัคซีน หรือว่าฉีดแล้ว แต่มีโรคประจำตัว เอกสารภายในของ CDC เองก็ระบุว่า คนสูงอายุมีความเสี่ยงมากกว่าคนหนุ่มสาว ในเรื่องอาการรุนแรงจนเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล และการเสียชีวิต ไม่ว่าจะฉีดวัคซีนหรือไม่ก็ตาม

หน้ากาก N95 จำเป็นหรือไม่

บทความของ washingtonpost.com บอกว่ายังไม่จำเป็นที่จะยกระดับมาใช้หน้ากากคุณภาพแบบ N95 เพราะยังไม่มีคำแนะนำที่เป็นทางการออกมาในเรื่องนี้ หรือคำแนะนำสำหรับกลุ่มคนที่เสี่ยงต่อการติดเชื้อรุนแรง นอกจากนี้ ผู้เชี่ยวชาญเองก็มีความเห็นแตกต่างกันในเรื่องนี้

ความคิดที่เสนอให้ยกระดับการใช้หน้ากากคุณภาพสูงขึ้น ได้รับอิทธิพลจากการวิจัยที่ระบุว่า โคโรน่าไวรัสสามารถแพร่ระบาดผ่านละอองลอย (aerosols) อนุภาคขนาดจิ๋วที่ลอยในอากาศได้นานกว่าละอองฝอย (droplets) อนุภาคที่ใหญ่กว่า และเป็นสาเหตุการแพร่ระบาดเช่นเดียวกัน ดังนั้น จึงมีการเสนอว่า คนที่ยังไม่ได้ฉีดวัคซีน ควรจะใช้หน้ากากแบบ N95

ที่มาภาพ : https://www.facebook.com/CDC/photos/a.184668026025/10159337195396026

แต่ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคระบาดจำนวนมากมีความเห็นว่า การแพร่ระบาดของไวรัสโคโรน่า ส่วนใหญ่จะมาจากละอองฝอย ทั้งขนาดใหญ่และเล็ก ภายในอาคารปิด ละอองฝอยลอยไปได้ประมาณ 6 ฟุต หรือ 1.8 เมตร ดังนั้น หน้ากากอนามัยที่ได้มาตรฐานและหน้ากากผ้าแบบหลายชั้น เมื่อสวมได้กระชับ ก็มีประสิทธิผลในการป้องกันละอองฝอยอยู่แล้ว หน้ากากอนามัยนี้ คนที่สวมก็รู้สึกสบายกว่าการใช้หน้ากาก N95

Jaimie Meyer ผู้เชี่ยวชาญโรคติดเชื้อของมหาลัย Yale กล่าวกับ washingtonpost.com ว่า หากคนกังวลเรื่องไวรัสสายพันธุ์เดลต้า และต้องการปกป้องตัวเอง คำตอบคือไปฉีดวัคซีน ไม่ใช่ไปหาหน้ากาก N95

แม้ผู้เชี่ยวชาญในวงการแพทย์จะมีความเห็นแตกต่างกันในเรื่อง การยกระดับคุณภาพหน้ากาก แต่ก็บอกว่าการตัดสินใจที่จะยกระดับการใช้หน้ากากแบบคุณภาพสูงขึ้น เป็นการตัดสินใจของแต่ละคน และขึ้นกับปัจจัยเสี่ยงต่างๆ เช่น สุขภาพตัวเอง สุขภาพของคนที่ติดต่อใกล้ชิด ระดับการแพร่ระบาดในชุมชน และตัวเองอยู่ในสภาพแวดล้อมที่เสี่ยงสูงหรือไม่

ความเห็นที่หนุนและค้าน N95

บทความ washingtonpost.com กล่าวอีกว่า ประสิทธิผลของหน้ากากแบบต่างๆ ขึ้นกับการกระชับพอดีของหน้ากากและวัสดุที่ใช้ทำ หน้ากาก N95 ใช้สารพอลีโพรไฟลีน (polypropylene) ทำเป็นแผ่นใยสังเคราะห์ (non-woven fabric) หากสวมกระชับและไม่มีช่องว่างที่ขอบ N95 จะให้การปกป้องได้มากกว่าหน้ากากอนามัย ที่ใช้วัสดุแบบเดียวกัน เพราะ N95 ที่สวมกระชับทำให้สามารถกรองอนุภาคละอองลอยได้ 95%

ส่วน CDC ยังคงแนะนำว่า ลำดับความสำคัญของการใช้หน้ากาก N95 อยู่ที่บรรดาเจ้าหน้าที่สาธารณสุข แต่ก็กล่าวว่า หากหน้ากาก N95 มีปริมาณพอเพียง ก็สามารถนำมาใช้สวมใส่ ในสภาพแวดล้อมที่ไม่ใช่การทำหน้าที่รักษาพยาบาล

ทัศนะต่อหน้ากาก KN95 ของจีน

บทความของ washingtonpost.com กล่าวว่า หน้ากาก KN95 ที่ผลิตในจีน สามารถมีประสิทธิผลแบบเดียวกับหน้ากาก N95 แต่ NK95 ไม่ได้ผ่านการอนุมัติมาตรฐานตามเกณฑ์ของหน่วยงานสหรัฐฯ National Institute for Occupational Safety and Health (NIOSH) ผู้เชี่ยวชาญบางคนเห็นว่า อาจเป็นเรื่องยากที่จะระบุว่า KN95 มีคุณภาพสูงหรือไม่ แต่เมื่อเกิดกรณีที่ N95 ขาดแคลนขึ้นมา องค์การอาหารและยาสหรัฐฯ (FDA) ได้เคยอนุมัติให้มีการใช้หน้ากาก NK95 เป็นกรณีฉุกเฉิน สำหรับเจ้าหน้าที่สาธารณสุข

การใช้หน้ากากผ้าหรือหน้ากากอนามัย

บทความของ washingtonpost.com กล่าวว่า เรายังสามารถใช้หน้ากากผ้า หรือหน้ากากอนามัย ที่เป็นไปตามมาตรฐานของ CDC ในเรื่องประสิทธิผลของหน้ากาก CDC แนะนำว่า เราเองก็สามารถทดสอบคุณภาพของหน้ากากอนามัย ได้แบบง่ายๆ โดยหน้ากากผ้าจะต้องสามารถป้องกันการผ่านเล็ดลอดของแสงแดด เมื่อนำไปทาบกับดวงอาทิตย์ หรือกับแสงไฟอื่นๆ เช่นแสงเทียน

ที่มาภาพ : https://www.facebook.com/CDC/photos/a.184668026025/10159367929556026

สงครามเปลี่ยนไปแล้ว

ก่อนหน้านี้ Washington Post ได้รับเอกสารภายในของ CDC ที่กล่าวว่า สงครามได้เปลี่ยนไปแล้ว เพราะสายพันธุ์เดลต้าทำให้เกิดการติดเชื้อรุนแรงมากกว่าสายพันธุ์ก่อนหน้านี้ และระบาดได้ง่าย ที่กระโดดจากเป้าหมายหนี่งไปสู่อีกเป้าหมายหนึ่ง จุดนี้ทำให้ CDC ต้องเปลี่ยนเนื้อหาการสื่อสารกับคนอเมริกัน โดยเน้นหนักว่า การฉีดวัคซีนเป็นการป้องกันที่ดีที่สุด รวมทั้งมาตรการป้องกันที่มาจากการสวมหน้ากาก

หากสงครามเปลี่ยนได้ไปแล้ว การประเมินความสำเร็จหรือล้มเหลวก็ต้องเปลี่ยนไปด้วย

Jeffrey Shaman จากมหาวิทยาลัย Columbia ให้ความเห็นว่า ประเด็นสำคัญคือเรื่องที่คนฉีดวัคซีนแล้ว มีการแพร่เชื้อสายพันธุ์เดลต้า ในแง่หนึ่ง การฉีดวัคซีนจึงกลายเป็นเรื่องการปกป้องของแต่ละคน การปกป้องตัวเองจากอาการที่รุนแรง ไม่เกี่ยวกับภูมิคุ้มกันหมู่ เพราะเราได้เห็นคนติดเชื้อจำนวนมาก ที่ได้ฉีดวัคซีนแล้ว

ส่วน Kathleen Neuzil ผู้เชี่ยวชาญด้านวัคซีนของมหาวิทยาลัย Maryland บอกกับ Washington Post ว่า เราจำเป็นต้องเปลี่ยนไปสู่เป้าหมายที่เป็นเรื่องการป้องกันอาการโรคที่รุนแรง และผลกระทบต่อระบบสาธารณสุข โดยไม่ต้องกังวลเรื่องการตรวจพบไวรัสในแต่ละราย แม้จะเป็นเรื่องยาก แต่เราก็ต้องรู้สึกผ่อนคลายลง หากโคโรน่าไวรัสจะไม่สูญหายไป

เอกสารประกอบ

Mask and COVID-19: Explaining the latest guidance from the CDC and other experts, August 2, 2021, washingtonpost.com
The war has changed: Internal CDC document urges new messaging, warns delta infections likely more severe, July 29, 2021, washingtonpost.com
Your Guide to Masks, June 29, 2021, cdc.org