รายงานโดย ปรีดี บุญซื่อ
เมื่อเร็วๆนี้ มีรายงานข่าวว่า Apple กำลังพัฒนารถยนต์ที่อาจชื่อว่า AppleCar หรือ iCar โดย Apple ได้มีการหารือกับบริษัทผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่เช่น Hyundai, Kia และ Nissan ข่าวที่เกิดขึ้นทำให้คาดการณ์กันว่า ในที่สุดแล้ว ผู้ผลิตรถยนต์อาจจะกลายเป็นแค่ผู้ประกอบรถยนต์ให้กับ Apple แบบเดียวกับที่ Foxconn ประกอบการผลิตโทรศัพท์มือถือ iPhone โดย Apple เป็นฝ่ายออกแบบ
รถยนต์ไร้คนขับ
รถยนต์ไร้คนขับ (Driverless Car) หรือรถยนต์ขับเอง (Self-Driving Car) ไม่ใช่เรื่องในนิยายวิทยาศาสตร์อีกต่อไปแล้ว รถยนต์ที่ต้องมีคนขับ เป็นรถยนต์ที่ไม่มีสมอง แต่รถยนต์มีสมองคือรถยนต์ไร้คนขับ ที่สามารถทำงานเหมือนรถยนต์ทั่วไป แต่การทำงานไม่ต้องมีคนขับเข้ามาเกี่ยวข้อง รถยนต์ไร้คนขับสามารถรับรู้สภาพแวดล้อมที่อยู่รอบตัวรถยนต์ ระบบเรดาร์ คอมพิวเตอร์ และ GPS ทำให้สามารถเดินทางในเส้นทางต่างๆ และแก้ปัญหาเมื่อสภาพบนท้องถนนเปลี่ยนไป
หนังสือ Autonomous Driving (2018) เขียนไว้ว่า เทคโนโลยีของรถยนต์ไร้คนขับหรือรถยนต์ขับเอง ทำให้เส้นแบ่งพร่ามัวลงไป ระหว่างอุตสาหกรรมรถยนต์กับอุตสาหกรรมหุ่นยนต์ อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ โปรแกรมซอฟต์แวร์ กล้องถ่ายรูป และระบบเซนเซอร์ที่ใช้เรดาร์ มีความสำคัญมากขึ้น ส่วนอุปกรณ์ฮาร์ดแวร์ของรถยนต์มีความสำคัญน้อยลง เช่น โครงรถยนต์ ระบบหยุดรถ หรืออุปกรณ์ชิ้นส่วนอื่นๆ
หัวใจสำคัญของรถยนต์ไร้คนขับคือ การพัฒนารถยนต์ให้เข้าสู่ระบบไซเบอร์กับกายภาพ (cyber-physical system) ที่ประกอบด้วยชิ้นส่วนจักรกลกับชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ อุปกรณ์ฮาร์ดแวร์กับซอฟต์แวร์ของรถยนต์ จะแลกเปลี่ยนข้อมูลเกี่ยวกับสภาพแวดล้อมแบบ Internet of Things และส่วนตัวรถยนต์จะถูกควบคุมโดยหน่วยประมวลผล (processing unit)
ในอนาคตข้างหน้า รถยนต์ไร้คนขับจะสามารถสื่อสารกับโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ เช่น โรงจอดรถ ที่จอดรถ ไฟจราจร สัญญาณจราจร และศูนย์ควบคุมจราจร ข้อมูลปริมาณจราจร หรือพื้นที่ว่างสำหรับจอดรถ จะทำให้หน่วยประมวลผลของรถยนต์ไร้คนขับ สามารถเลือกเส้นทางดีที่สุด และด้วยความเร็วรถที่เหมาะสม
เพราะเหตุนี้ บริษัทไฮเทคจึงพัฒนารถยนต์ไร้คนขับของตัวเองขึ้นมา เช่น Apple, Google หรือ Microsoft เช่นรถยนต์ขับเองของ Google ไม่มีพวงมาลัย ใช้ซอฟต์แวร์ชื่อว่า Google Chauffeur ส่วนบริษัทที่เป็นซัพพลายเออร์เดิมของอุตสาหกรรมรถยนต์ ก็กำลังดำเนินการ ที่จะผลิตชิ้นส่วนสำคัญของรถยนต์ไร้คนขับ เช่น Bosch, Continental หรือ Denso
บริษัทรถยนต์หรือไฮเทค
บทความในเว็บไซต์ของ Wharton Business School ชื่อ Who Is Shaping the Future of Auto – Tech Firms or Automakers? กล่าวว่า ที่ผ่านมาบริษัทไฮเทคเป็นเหตุสำคัญที่ทำให้เกิด disruption ในธุรกิจต่างๆ แต่สำหรับอุตสาหกรรมรถยนต์ไร้คนขับ บริษัทไฮเทคจะมีบทบาทแตกต่างออกไป แม้จะมีการคาดหมายกันว่า บริษัทไฮเทค จะเข้ามาครองตลาดในอุตสาหกรรมนี้ แต่กรณีอุตสาหกรรมรถยนต์ บริษัทไฮเทคจะไม่สามารถเข้ามาเบียดบริษัทรถยนต์เดิม ให้ออกจากอุตสาหกรรมนี้
ในระยะแรก เกิดกระแสที่บริษัทไฮเทคพยายามเข้าสู่อุตสาหกรรมรถยนต์ และบริษัทผู้ผลิตรถยนต์เดิม ก็มีปฏิกิริยาที่จะรับมือ การที่บริษัทไฮเทคจะร่วมมือกับบริษัทผลิตรถยนต์ ก็ไม่ใช่เรื่องที่ราบรื่น เหมือนกับกรณีการผลิตโทรศัพท์มือถือ โดย Apple จะทำหน้าที่ออกแบบ iPhone และควบคุมการผลิต ส่วนการผลิตอาศัยสัญญารับช่วงการผลิต แต่โมเดลดังกล่าวจะไม่สามารถนำมาใช้กับการผลิตรถยนต์ของบริษัทไฮเทค
การผลิตรถยนต์มีความซับซ้อนมากกว่าการผลิตสินค้าไฮเทคสำหรับผู้บริโภค อย่างเช่นโทรศัพท์มือถือ การออกแบบรถยนต์ไม่ได้มีแค่เรื่องความต้องการของผู้ซื้อ แต่จะต้องปฏิบัติตามข้อกำหนดและระเบียบทางการ ที่เกี่ยวกับความปลอดภัย คุณภาพ และมาตรฐานการปล่อยมลพิษ เป็นต้น เพราะรถยนต์เป็นวัตถุหนักและเคลื่อนที่เร็ว ใช้งานในพื้นที่สาธารณะ และมีอันตราย ที่จะทำให้คนเสียชีวิต หรือทรัพย์สินเสียหาย
บทความในเว็บไซต์ของ Wharton Business School กล่าวอีกว่า ความเสี่ยงในการผลิตรถยนต์ จึงมีมากกว่าสินค้าที่บริษัทไฮเทคเคยผลิตออกมา นอกจากความซับซ้อนและความรับผิดชอบของการผลิตรถยนต์ ที่บริษัทไฮเทคไม่คุ้นเคยมาก่อน ประเทศทั่วโลกยังกำหนดให้บริษัทรถยนต์ต้องรับผิดชอบ ในอันที่จะปฏิบัติตามกฎระเบียบด้านความปลอดภัยและคุณภาพ สิ่งนี้ไม่สามารถเรียนรู้ได้ในเวลาสั้นๆ
ดีทรอยต์หรือซิลิคอนวัลเลย์
ส่วนหนังสือ Autonomous Driving Changes the Future (2021) เขียนไว้ว่า นิตยสารรถยนต์ของเยอรมันฉบับหนึ่งรายงานว่า เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2016 ผู้บริหารของกลุ่ม VW Group, Daimler, และ BMW ได้ประชุมหารือกัน ที่จะเปลี่ยนอุตสาหกรรมรถยนต์เยอรมัน ให้กลายเป็นอุตสาหกรรมรถยนต์ไร้คนขับ บริษัทรถยนต์เยอรมันจะต้องเตรียมการในเรื่องนี้ ไม่เช่นนั้นก็เสี่ยงที่จะกลายเป็นแค่ซับพลายเออร์ให้กับซิลิคอนวัลเลย์
ปัจจุบัน ซิลิคอนวัลเลย์ เมืองเทคโนโลยีด้านไอที กำลังกลายเป็นเมืองรถยนต์ แบบเดียวกับเมืองดิทรอยต์ ที่เคยเป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมรถยนต์ในอดีต ซิลิคอนวัลเลย์กลายเป็นห้องทดลองและวิจัยรถยนต์ไฮเทค บริษัทรถยนต์ชั้นนำของโลก ล้วนมีทีมทำงานอยู่ในซิลิคอนวัลเลย์ ที่ทำงานเพื่อแก้ปัญหาสำคัญในการพัฒนารถยนต์ คือ เทคโนโลยีการขับรถยนต์อัตโนมัติ
บริษัทรถยนต์ดั้งเดิมเริ่มตระหนักว่า นวัตกรรมด้านรถยนต์เกิดจากกระแสการพัฒนา ที่อยู่ภายนอกอุตสาหกรรมนี้ มากกว่าที่เกิดขึ้นจากภายในอุตสาหกรรมรถยนต์เอง การมีห้องค้นคว้าและวิจัยที่ซิลิคอนวัลเลย์ ทำให้สามารถติดตามความก้าวหน้าของบริษัทไฮเทค และยังสามารถหาทางที่จะดึงนักพัฒนาหรือวิศวกรที่ดีที่สุด มาร่วมงานกับบริษัทรถยนต์ Toyota เองมีศูนย์วิจัยเรื่องปัญญาประดิษฐ์และหุ่นยนต์ อยู่ที่ซิลิคอนวัลเลย์
บริษัทผลิตรถยนต์ต้องเรียนรู้ปรับตัวที่รวดเร็วของซิลิคอนวัลเลย์ การพัฒนารถยนต์รุ่นใหม่ออกสู่ตลาดใช้เวลา 5-7 ปี แต่บริษัทไฮเทคใช้เวลา 6-8 เดือน ในการพัฒนาสมาร์ทโฟนรุ่นใหม่ เพื่อให้การทำงานของตัวเองรวดเร็วมากขึ้น บริษัทรถยนต์จึงหาทางที่จะร่วมมือกับบริษัทไฮเทค ในการสร้างระบบนิเวศการเดินทางของรถยนต์ไร้คนขับขึ้นมา
ส่วนคำถามที่ว่า ใครจะเป็นผู้ชนะ ระหว่างดีทรอยต์หรือซิลิคอนวัลเลย์ ในการพัฒนาอุตสาหกรรมรถยนต์ในอนาคต Zhao Fuquan ผู้อำนวยการสถาบัน Institute of Automotive Industry มหาวิทยาลัย Tsinghua ของจีน กล่าวว่า ในการพัฒนารถยนต์ที่มีปัญญาประดิษฐ์ ปลอดภัย สะดวก ประหยัดพลังงาน และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
ความสามารถทั้งของดีทรอยต์และซิลิคอนวัลเลย์ เป็นสิ่งจำเป็นทั้งคู่ ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งไม่สามารถสร้างรถยนต์สมบูรณ์แบบขึ้นมาได้ การแข่งขันและร่วมมือของสองฝ่าย จึงเป็นสิ่งที่จำเป็น
ดังนั้น ในที่สุด คนที่เป็นผู้ใช้งานรถยนต์ไร้คนขับในอนาคต จะเป็นผู้ชนะอย่างแท้จริง
เอกสารประกอบ
Who Is Shaping the Future of Autos, Apr 06, 2021, knowledge.wharton.upenn.edu
Autonomous Driving Changes the Future, Zhanxiang Chai, Tianxin Nie and Jan Becker, Springer, 2021.
Autonomous Driving, Andreas Herrmann and others, Emerald Publishing, 2018.