ThaiPublica > เกาะกระแส > สตาร์ทอัพ บริษัท เพื่อผลกำไร จำกัด “สายพันธุ์ใหม่” ของระบบทุนนิยม

สตาร์ทอัพ บริษัท เพื่อผลกำไร จำกัด “สายพันธุ์ใหม่” ของระบบทุนนิยม

23 พฤศจิกายน 2022


รายงานโดย ปรีดี บุญซื่อ

Mark Zuckerberg ที่มาภาพ : https://www.facebook.com/zuck/

เว็บไซต์ nytimes.com รายงานว่า สิ่งที่แสดงถึงเกียรติยศชื่อเสียงอย่างหนึ่งของบริษัทเทคโนโลยี คือการจ้างบุคลากรฉลาดที่สุด ดีที่สุด และเป็นจำนวนมากที่สุด แต่ปัจจุบันไม่เป็นแบบนี้อีกแล้ว เพราะบริษัทไฮเทคเริ่มปลดคนงานออกจำนวนมาก Facebook ที่เปลี่ยนชื่อเป็น Meta ประกาศปลดคนงาน 11,000 คน หรือ 13% ของพนักงาน Mark Zuckerberg แถลงเองว่า มีการลงทุนจ้างพนักงานเพิ่มขึ้นมาก แต่ผลตอบแทนไม่ได้เป็นไปตามที่คาดหวัง

ที่ผ่านมา การจ้างงานของบริษัทไฮเทคในซิลิคอนแวล์ลีย์ มีมากกว่าเป้าหมายการเริ่มต้นกิจการ สงครามทักษะที่รุนแรงของอุตสาหกรรมไฮเทค ทำให้ Google และ Facebook ได้คนทำงานดีที่สุดฉลาดที่สุด การทำงานกับบริษัทไฮเทคกลายเป็นเป้าหมายที่นักศึกษาจบใหม่ ต้องการมากที่สุด เพราะหมายถึงการเติบโต รายได้สูง และเกียรติยศ การเป็นพนักงานบริษัทไฮเทค สิ่งนี้ยังหมายถึง “เอกลักษณ์” ของตัวเองด้วย

บริษัทที่มีฐานลูกค้าใหญ่สุดของโลก

หนังสือ For Profit: A History of Corporations (2022) เขียนไว้ว่า โลกเรามีประชากร 7.8 พันล้านคน มีถึง 3.3 พันล้านคนที่เป็นสมาชิก Facebook ในประวิศาสตร์ของทุนนิยม ไม่มีบริษัทไหนที่มีฐานลูกค้าใหญ่เท่า Facebook ไม่ว่าจะเป็นยักษ์ใหญ่ Standard Oil หรือ East India Company ที่มีกำลังทหารของตัวเอง ในการปกครองอินเดียในอดีต Facebook ไม่มีคู่แข่ง ลูกค้าใช้งานวันหนึ่งเฉลี่ย 50 นาที กิจกรรมผ่อนคลายที่คนใช้เวลามากกว่าอยู่หน้าจอ Facebook คือดูโทรทัศน์

Facebook คือตัวอย่างอุตสาหกรรมเทคโนโลยี ที่มีผลทำให้สังคมเปลี่ยนแปลงไป ในระยะ 20 ปีที่ผ่านมา เว็บไซต์ที่เริ่มต้นจากหอพักนักศึกษาของมหาวิทยาลัยฮาร์ดวาร์ด กลายเป็นบริษัทมีมูลค่า 800 พันล้านดอลลาร์ ตัว Mark Zuckerberg มีมูลค่าถึง 76 พันล้านดอลลาร์ Facebook คือจุดเริ่มต้นยุคทองของบริษัทสตาร์ทอัพ และยังให้บริการฟรีสำหรับสินค้าที่มีค่ามากสุดของตัวเอง แก่ผู้ใช้งานด้วย
ต้นกำเนิด Facebook

ที่มาภาพ : https://www.amazon.com/Profit-History-Corporations-William-Magnuson/dp/1541601564

ในต้นทศวรรษ 2000 อุตสาหกรรมเทคโนโลยีถือเป็นพรมแดนธุรกิจ ที่การเข้าตลาดยังมีอุปสรรคต่ำ (low barrier to entry) คนที่มีแค่คอมพิวเตอร์ เข้าถึงอินเทอร์เน็ต ก็สามารถสร้างเว็บไซต์ตัวเองขึ้นมา คนใช้งานไม่สนใจว่า ผู้ก่อนตั้งจะมีอายุมากน้อยแค่ไหน คนยังเรียกอินเทอร์เน็ตว่า World Wide Web และยังไม่มีใครรู้ชัดเจนว่า คนเราใช้งานอินเทอร์เน็ตเพื่ออะไร หาข้อมูล สื่อสารกันและกัน การค้า หรือว่าแอบขโมยเพลงฟรี

แต่สำหรับ Mark Zuckerberg คำถามที่ว่าอินเทอร์เน็ตมีเพื่ออะไร คำตอบคือ “ความสนุกสนาน”

เดือนตุลาคม 2003 Mark Zuckerberg เจาะเข้าไปล้วงข้อมูลในเว็บไซต์มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด โอนข้อมูลภาพนักศึกษา แล้วนำภาพนักศึกษา 2 คนมาสร้างบนเว็บไซต์ชื่อ FaceMask เพื่อให้คนเข้ามาดูลงคะแนนว่า ภาพคนไหนน่าดูที่สุด ภายในวันเดียว มีคนเข้ามาดู FaceMask 450 คน และชมภาพกับลงคะแนนเสียง 22,000 ครั้ง ก่อนที่จะถูกสั่งปิด

ทางมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดเข้าสอบสวนเรื่องที่เกิดขึ้น เพราะมีการล้วงข้อมูลเว็บไซต์มหาวิทยาลัย การละเมิดลิขสิทธิ์ และการละเมิดเรื่องส่วนตัว ทางมหาวิทยาลัยลงโทษโดยทัณฑ์บนว่าจะไม่ทำสิ่งนี้อีก สำหรับ Mark Zuckerberg แต่เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นครั้งนี้ ให้บทเรียนที่ว่า คนเราสนใจเรื่องราวของคนอื่น มากกว่าที่เขาเคยคาดคิดไว้

บทเรียนจากกรณีนี้เป็นสิ่งที่เขาเตรียมนำมาใช้กับโครงการใหม่ชื่อ Facebook วันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2004 Mark Zuckerberg เปิดตัว Facebook อย่างเป็นทางการ ตอนแรก คนที่เข้ามาลงทะเบียนต้องเป็นนักศึกษาฮาร์วาร์ด ต่อมาขยายตัวไปมหาวิทยาลัยอื่นในสหรัฐฯและแคนาดา 5 เดือนหลังจากตั้งขึ้นมา Facebook มีผู้ใช้งาน 2 แสนคน จากมหาวิยาลัยต่างๆ ถึงสิ้นปี 2004 มีคนใช้งานหนึ่งล้านคน
ความนิยมที่รวดเร็วทำให้ Mark Zuckerberg ตระหนักว่า Facebook คือเครือข่ายสังคม (social network) อย่างหนึ่ง การเป็นเครือข่ายจะมีมูลค่ามากขึ้น ก็ต่อเมื่อมีคนมาร่วมมากขึ้น เหมือนกับโทรศัพท์ หากในเมืองมีแค่คนเดียวที่มีโทรศัพท์ ก็ไม่เกิดประโยชน์อะไร แต่หากมีหลายคน โทรศัพท์จะกลายเป็นสิ่งมีประโยชน์ทันที สามารถใช้โทรศัพท์คุยกับเพื่อนในเมือง จองร้านอาหาร ปัญหาของ “เครือข่าย” ทุกอย่างจึงอยู่ที่ จะขยายตัวอย่างไรจากคนๆเดียวไปหาคนจำนวนมาก

หนังสือ For Profit บอกว่าการทุ่มเทให้กับการเติบโตแบบไม่จำกัด คือลักษณะพิเศษธุรกิจทุนนิยมที่ขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยี เกิดขึ้นในช่วงทศวรรษ 2000 อินเทอร์เน็ตทำให้คำว่า “การประหยัดต่อขนาด” (economy of scales) มีความหมายใหม่ แทนที่จะผลิตยิ่งมาก ต้นทุนต่อหน่วยยิ่งลดลง กลายเป็นสร้างเว็บไซต์ขึ้นมา ต้องการคนจำนวนมากเข้าถึงแบบฟรีไม่มีค่าใช้จ่ายใดๆ Facebook ให้บริการฟรี ประเด็นคือทำอย่างไรให้คนเราใช้เวลามากขึ้นกับ Facebook

กลยุทธ์การเพิ่มจำนวนคนใช้งานของ Facebook คือการหาลูกค้าใหม่เข้ามา จุดเริ่มต้นของ Facebook เพื่อนักศึกษาของฮาร์วาร์ด เดือนพฤศจิกายน 2005 เปิดให้กับนักศึกษาตามมหาวิทยาลัยกว่า 2 พันแห่งในสหรัฐฯ หลังจากนั้นก็ขยายตัวมาที่โรงเรียนระดับมัธยมปลาย สิ้นปี 2006 Facebook ก็มาถึงจุดเปิดกว้างแก่คนทุกคน เมื่อปี 2012 Facebook มีผู้ใช้งานเกิน 1 พันล้านคน กลายเป็นระบบเครือข่ายใหญ่โตที่สุดของโลก

Mark Zuckerberg ที่มาภาพ : https://www.facebook.com/zuck/

Facebook หาเงินอย่างไร

เมื่อ Facebook กลายเป็นโซเชียลมีเดียที่ทรงพลัง ได้รับความนิยมมากสุด และได้จดทะเบียนเป็นบริษัทแล้ว ยังมีคำถามหลงเหลืออยู่อีกหนึ่งคำถามที่สำคัญคือ Facebook จะมีรายได้อย่างไรและทางไหน คำตอบอาจง่ายสำหรับบริษัทธุรกิจทั่วไป หากว่าตัวเองมีลูกค้าในมือนับพันล้านคน แต่สำหรับ Facebook คำตอบไม่ใช่เรื่องง่ายๆ เพราะตัวเองให้บริการฟรีแก่ลูกค้า

คำตอบต่อคำถามดังกล่าวคือ สิ่งที่ Facebook เรียกว่า “หนทางการหาเงิน” (monetization) ปี 2008 Facebook จ้าง Sheryl Sandberg มารับผิดชอบวางกลยุทธ์หนทางการเงิน Sheryl Sandberg บอกว่า “โฆษณา” คือพีระมิดกลับหัว (inverted pyramid) ที่อยู่ต่ำสุดคือ “การสนองความต้องการ” (demand fulfillment) โฆษณามีบทบาทสำคัญในจุดนี้ แต่เป็นส่วนที่ง่ายที่สุด ส่วน Facebook จะทำในสิ่งที่มีศักยภาพมากกว่านี้ ที่เป็นส่วนยอดพีระมิดกลับหัว คือสร้างความต้องการขึ้นมา (demand generation)
Sheryl Sandberg สามารถเปลี่ยน Facebook ให้กลายเป็นเครื่องมือสมบูรณ์แบบ ในการสร้างความต้องการซื้อ คนส่วนใหญ่เวลาเข้าไปท่องอินเทอร์เน็ต ต้องการหาข้อมูลอย่างใดอย่างหนึ่ง แต่คนที่เข้าไปใน Facebook ต้องการจะรู้หรือเรียนรู้ จุดนี้ทำให้คนใช้ Facebook เปิดรับข่าวสารโฆษณา Sheryl Sandberg กล่าวว่า “คุณเข้าไปใน Facebook เพื่อแบ่งปันประสบการณ์แก่คนอื่นว่าคุณคือใคร และต้องการได้ยินว่าคนสนใจหรือมีประสบการณ์อย่างไร อะไร”

หนทางสร้างรายได้ของ Sheryl Sandberg แก่ Facebook ได้ผล ถ้าเราเห็นเพื่อนเราใส่รองเท้าแตะ J.Crew เดินชายหาดเม็กซิโก เราก็อยากเป็นเจ้าสิ่งนี้เหมือนกัน รายได้โฆษณาพุ่งจาก 764 ล้านดอลลาร์ในปี 2009 เป็น 1.9 พันล้านดอลลาร์ในปี 2010 และ 3.1 พันล้านดอลลาร์ในปี 2011 วันที่ 10 เมษายน 2018 Mark Zuckerberg ไปให้การต่อวุฒิสภาสหรัฐฯ วุฒิสมาชิกคนหนึ่งถามว่า “คุณดำเนินธุรกิจอย่างไร ในเมื่อผู้ใช้ไม่ต้องเสียค่าบริการของคุณ” Mark Zuckerberg ตอบว่า “ท่านวุฒิสมาชิก เรามีโฆษณา”

ที่มาภาพ : https://en.wikipedia.org/wiki/Initial_public_offering_of_Facebook#/media/File:Facebook_on_Nasdaq.jpeg

วันที่ 17 พฤษภาคม 2012 Facebook เข้าตลาดหุ้นเป็นวันแรก การเสนอขายหุ้นครั้งแรก (IPO) มีมูลค่า 104 พันล้านดอลลาร์ มูลค่ามากที่สุดของประวัติศาสตร์การเสนอขายหุ้นครั้งแรก ก่อนที่ตลาดหุ้น NASDAQ เปิดตลาด Mark Zuckerberg กล่าวอย่างตื่นเต้นกับพนักงานว่า “ช่วง 8 ปีที่ผ่านมา พวกคุณได้สร้างชุมชนที่ใหญ่สุดในประวัติศาสตร์โลกขึ้นมา”

หนังสือ For Profit สรุปไว้ว่า ยุคธุรกิจสตาร์ทอัพเพิ่งเริ่มต้นมาได้แค่ 20 ปี แต่เป็นธุรกิจที่มีความสามารถสร้างนวัตกรรมและการสร้างสรรค์อย่างไม่หยุดยั้ง ทำให้ธุรกิจดั้งเดิมเกิดภาวะชะงักงัน (disruption) ทุกวันนี้ เราสามารถเรียกใช้บริการรถแท็กซี่ได้จากทั่วโลก ฟังเพลงไหนก็ได้ที่เคยมีการบักทึกเสียง หรือสั่งซื้อสินค้าจากร้านใหญ่สุดของโลก และส่งมอบในวันต่อมา

แต่ประวัติศาสตร์บริษัทรูปแบบต่างๆของทุนนิยมที่ผ่านมา ก็มีด้านมืด การแสวงหาการเติบโต ที่มองข้ามผลกระทบต่อสังคม เช่น กล้าที่จะสุ่มเสี่ยงมากเกินไป การเอาเปรียบเหนือตลาด หรือการมุ่งผลประโยชน์ระยะสั้น ประวัติศาสตร์ของระบบทุนนิยม บริษัทธุรกิจสามารถอยู่อย่างยั่งยืน มีการพัฒนาต่อเนื่อง เป็นภาระหน้าที่ของประชาชนที่จะตัดสินว่า โลกที่พวกสตาร์ทอัพสร้างขึ้นมา ตรงกับสิ่งที่พวกเรานิยมชมชอบหรือไม่

เอกสารประกอบ

Tech’s Talent Wars Have Come Back to Bite It, November 10, 2022, nytimes.com
For Profit: A History of Corporations, William Magnuson, Basic Books, 2022.