ThaiPublica > เกาะกระแส > นายกฯชี้ไม่ควรยืดโหวตนายกฯไปอีก 10 เดือน – มติ ครม.แก้แนวปฏิบัติชง กกต.อนุมัติงบฯฉุกเฉิน

นายกฯชี้ไม่ควรยืดโหวตนายกฯไปอีก 10 เดือน – มติ ครม.แก้แนวปฏิบัติชง กกต.อนุมัติงบฯฉุกเฉิน

25 กรกฎาคม 2023


พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม
  • นายกฯชี้ไม่ควรยืดเวลาโหวตเลือกนายกฯออกไปอีก 10 เดือน
  • มติ ครม.แก้แนวปฏิบัติทำเรื่องเสนอ กกต.ขอใช้งบฯฉุกเฉิน
  • ขึ้นค่าเข้าชมโบราณสถาน – พิพิธภัณฑสถานฯเฉพาะชาวต่างชาติ
  • รับทราบแนวทางแก้ปัญหา “หมอ-พยาบาล” ลาออก
  • ชง กกต.ต่ออายุ “ทรงพล” นั่ง ผอ.สถาบันคุ้มครองเงินฝากอีก 4 ปี
  • เมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม 2566 พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธานการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ณ ตึกบัญชาการ 1 ทำเนียบรัฐบาล วันนี้ นายกรัฐมนตรีไม่ได้ขึ้นโพเดียมแถลงข่าว ระหว่างเดินลงจากตึกบัญชาการไปที่ตึกไทยคู่ฟ้า

    ผู้สื่อข่าวได้สอบถามความเห็นของพลเอก ประยุทธ์ ต่อกรณีที่มีข้อเสนอให้ยืดเวลาโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีออกไป 10 เดือน เพื่อรอให้ ส.ว.หมดวาระ จะส่งผลกระทบต่อประเทศไม่ พลเอกประยุทธ์ ตอบสั้นๆว่า “ก็ไม่ควรละมั้ง”

    ผู้สื่อข่าวถามต่อว่าอยากฝากอะไรไปถึงฝ่ายที่กำลังจัดตั้งรัฐบาลหรือไม่ พลเอกประยุทธ์ ตอบว่า “ไม่ ขอทำหน้าที่รัฐบาลรักษาการต่อไปให้ดีที่สุด”

    มติ ครม. มีดังนี้

    นางสาวไตรศุลี ไตรสรณกุล, ดร.รัชดา ธนาดิเรก และนางสาวทิพานัน ศิริชนะ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ร่วมกันแถลงผลการประชุม ครม. ณ ตึกนารีสโมสร ทำเนียบรัฐบาล (ซ้ายไปขวา)
    ที่มาภาพ : www.thaigov.go.th/

    เห็นชอบปฏิญญา รมต.ความมั่นคงอาหาร “เอเปค” ปี’66

    ดร. รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า วันนี้ ที่ประชุม ครม.มีมติเห็นชอบร่างปฏิญญารัฐมนตรีความมั่นคงอาหารเอเปค ประจำปี 2566 และเอกสารที่เกี่ยวข้อง ตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เสนอ เพื่อสร้างเสริมความร่วมมือด้านความมั่นคงอาหารระหว่างกันภายในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ซึ่งประกอบด้วย 21 เขตเศรษฐกิจ ทั้งนี้ จะมีการรับรองร่างปฏิญญาและเอกสารที่เกี่ยวข้องในระหว่างการประชุมรัฐมนตรีความมั่นคงอาหารเอเปค โดยสหรัฐอเมริกาเป็นเจ้าภาพจัดประชุมในวันที่ 3 สิงหาคม 2566 ณ เมืองซีแอตเทิล มลรัฐวอซิงตัน สหรัฐอเมริกา

    ร่างปฏิญญารัฐมนตรีความมั่นคงอาหารเอเปค ประจำปี 2566 เป็นการแสดงให้เห็นถึงเจตจำนงในการดำเนินการด้านความมั่นคงอาหารระหว่างสมาชิกเอเปค มีสาระสำคัญ ได้แก่ 1. การดำเนินการตามแผนปฏิบัติการภายใต้แผนงานความมั่นคงอาหารมุ่งสู่ ปี พ.ศ.2573 ที่สอดคล้องกับวิสัยทัศน์ปุตราจายา พ.ศ.2583 และแผนปฏิบัติการอาโอทีอาโรอา 2. การดำเนินงานตามเป้าหมายกรุงเทพฯ ว่าด้วยเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว 3. การดำเนินงานที่สอดคล้องกับหัวข้อหลักของการประชุมเอเปค ประจำปี 2566 ของสหรัฐอเมริกา ที่มุ่งเน้นความเชื่อมโยงนวัตกรรม และความยั่งยืนของระบบการเกษตรและอาหาร 4. การสนับสนุนระบบการค้าพหุภาคี 5. ปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อความมั่นคงอาหาร และ 6. ความร่วมมือกับองค์การระหว่างประเทศและหน่วยงานระดับภูมิภาคที่เกี่ยวข้อง

    สำหรับเอกสารที่เกี่ยวข้องที่จะมีการรับรองในการประชุมครั้งนี้ คือ ร่างเอกสารหลักการเพื่อการบรรลุความมั่นคงอาหารผ่านระบบการเกษตรและอาหารอย่างยั่งยืนในภูมิภาคเอเปค เป็นเอกสารที่นำเสนอหลักการสำคัญให้เขตเศรษฐกิจยึดถือ เพื่อนำไปสู่ความร่วมมือในภูมิภาคและสะท้อนปีแห่งการดำเนินการตามแผนปฏิบัติการภายใต้แผนงานความมั่นคงอาหาร พ.ศ.2573 โดยมีหลักการสำคัญ 4 ประการ ดังนี้

      หลักการที่ 1 ระบบการเกษตรและอาหารที่ยั่งยืนและยืดหยุ่น ควรส่งเสริมความมั่นคงอาหาร การดูแลสิ่งแวดล้อม การรักษาวิถีชีวิต และคำนึงถึงผลประโยชน์ทางสังคมสำหรับคนรุ่นปัจจุบันและในอนาคต
      หลักการที่ 2 นโยบายเพื่อพัฒนาความยั่งยืนและความยืดหยุ่นในระบบการเกษตรและอาหารที่แตกต่างกัน ควรตอบสนองต่อลักษณะเฉพาะและบริบทที่แตกต่างกันในแต่ละเขตเศรษฐกิจ
      หลักการที่ 3 การปรับเปลี่ยนระบบการเกษตรและอาหารของเอเปคไปสู่ความยั่งยืนและความยืดหยุ่น ควรใช้กระบวนการตัดสินใจเชิงนโยบายและออกกฎระเบียบที่อ้างอิงหลักวิทยาศาสตร์ปัจจัยเสี่ยงและสะท้อนถึงมาตรฐานสากล
      หลักการที่ 4 ระบบการค้าพหุภาคี และตลาดที่โปร่งใส คาดการณ์ได้ เปิดกว้าง และยุติธรรม มีความสำคัญต่อความมั่นคงอาหารในระดับภูมิภาคและระดับโลก

    ดร. รัชดา กล่าวด้วยว่า ร่างปฏิญญารัฐมนตรีความมั่นคงอาหารเอเปค ประจำปี 2566 สอดคล้องกับแนวคิดเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว (BCG) ซึ่งเป็นนโยบายของรัฐบาล และสานต่อผลลัพธ์ที่เป็นรูปธรรมของการเป็นเจ้าภาพเอเปคไทยปี 2565 โดยฉพาะเป้าหมายกรุงเทพฯ ว่าด้วยเศรษฐกิจ BCG ที่เน้นย้ำการใช้นวัตกรรมและการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน (whole-of-society-approach)

    ผ่านแผนปฏิบัติขับเคลื่อนธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน เฟส 2

    ดร. รัชดา กล่าวว่า ที่ประชุม ครม.มีมติรับทราบแผนปฏิบัติการระดับชาติว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน ระยะที่ 2 (พ.ศ.2566 – 2570) ตามที่กระทรวงยุติธรรมเสนอ แผนปฏิบัติการฉบับนี้จัดทำขึ้นตามแนวทางตามคู่มือว่าด้วยแผนปฏิบัติการระดับชาติว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชนของคณะทำงาน สหประชาชาติว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน ตามกรอบแนวทางของหลักการ United Nations Guiding Principles on Business and Human Rights (UNGPs) ซึ่งประกอบด้วย 3 เสาหลัก คือ การคุ้มครอง การเคารพ และการเยียวยา รวมทั้งเป็นหนึ่งในข้อเสนอแนะสำคัญที่ประเทศไทยรับมาปฏิบัติตามกระบวนการ Universal Periodic Review (UPR) รอบที่ 3 เมื่อปี 2564 ซึ่งเป็นรายงานทบทวนสถานการณ์สิทธิมนุษยชน

    สำหรับสาระสำคัญของแผนปฏิบัติการระดับชาติว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน ระยะที่ 2 (พ.ศ.2566 – 2570) ประกอบด้วย 4 แผน ได้แก่

      1. แผนปฏิบัติการด้านแรงงาน อาทิ (1) การเข้าเป็นภาคีสนธิสัญญาระหว่างประเทศ เช่น จัดทำแนวทางการดำเนินงานเพื่อส่งเสริมปฏิญญาไตรภาคี เรื่อง หลักการว่าด้วยสถานประกอบการข้ามชาติและนโยบายสังคม (MNE Declaration) มีความสอดคล้องกับบริบทของไทย (2) การปรับปรุงแก้ไขกฎหมาย นโยบาย และมาตรการที่เกี่ยวข้องด้านต่าง ๆ เช่น การคุ้มครองสิทธิแรงงาน การจัดสวัสดิการสังคม การจ่ายค่าจ้างขั้นต่ำที่เพียงพอ (3) พัฒนาระบบฐานข้อมูลกลางด้านแรงงานและระบบค้นหาข้อมูลด้านแรงงาน (4) การขจัดการเลือกปฏิบัติ การล่วงละเมิด และการเข้าไม่ถึงสิทธิประโยชน์ทางแรงงานอย่างเท่าเทียม โดยกำหนดมาตรการคุ้มครองสิทธิแรงงานกลุ่มเปราะบางต่าง ๆ ที่อาจถูกเลือกปฏิบัติ เช่น แรงงานสตรี กลุ่มชาติพันธุ์ คนไร้รัฐไร้สัญชาติ ผู้ลี้ภัย แรงงานข้ามชาติ ผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศ กลุ่มผู้ติดเชื้อ HIV/AIDS ผู้สูงอายุ ผู้เคยถูกคุมขัง ให้สอดคล้องกับหลักการสิทธิมนุษยชน โดยใช้มาตรการต่าง ๆ เช่น การส่งเสริมการจ้างงานแรงงานกลุ่มนี้ การจัดกิจกรรมสร้างความตระหนักรู้แก่สาธารณชนเพื่อลดอคติและการตีตราต่อแรงงานกลุ่มเปราะบาง
      2. แผนปฏิบัติการด้านชุมชน ที่ดิน ทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม อาทิ (1) การพัฒนาปรับปรุงแก้ไขกฎหมาย นโยบาย และมาตรการเกี่ยวกับการส่งเสริมกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชนอย่างแท้จริง (2) จัดให้มีการหารือและรับฟังความคิดเห็นของประชาชนและชุมชนที่ได้รับผลกระทบทั้งในรูปแบบออนไลน์และในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบ (3) เปิดเผยข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากการดำเนินโครงการและการจัดทำผังเมืองต่าง ๆ ในพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษ รวมถึงระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (4) กำหนดช่องทางและมาตรการการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากโครงการพัฒนาต่าง ๆ โดยการชดเชยเยียวยาต้องรวดเร็ว เป็นธรรม และเป็นไปตามมาตรฐานสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ
      3. แผนปฏิบัติการด้านนักปกป้องสิทธิมนุษยชน อาทิ (1) ผลักดันการเข้าเป็นภาคีสนธิสัญญาสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้อง เช่น อนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองบุคคลทุกคนจากการบังคับให้หายสาบสูญ (ICPPED) (2) บูรณาการ ส่งเสริม และประชาสัมพันธ์เกี่ยวกับระบบการไกล่เกลี่ย ในทุกระดับชั้นของกระบวนการยุติธรรม (3) เยียวยาเหยื่อหรือผู้เสียหายตามกรอบกฎหมายและพัฒนามาตรการเยียวยาทั้งทางร่างกายและจิตใจให้สอดคล้องกับมาตรฐานสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ
      4. แผนปฏิบัติการด้านการลงทุนระหว่างประเทศและบรรษัทข้ามชาติ อาทิ (1) ศึกษาและจัดทำแนวปฏิบัติและกระบวนการให้ความเห็นต่อสัญญาในกรณีที่ภาครัฐและรัฐวิสาหกิจทำธุรกิจกับบรรษัทข้ามชาติ (2) พัฒนามาตรการและกลไกการกำกับดูแลนักลงทุนไทยที่ไปลงทุนในต่างประเทศ ให้เคารพสิทธิมนุษยชน หลักการ UNGPs และเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว (BCG Economy) (3) พัฒนาศักยภาพผู้ปฏิบัติงานในกระบวนการยุติธรรม ให้มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับสถานการณ์การละเมิดสิทธิมนุษยชนข้ามพรมแดนรวมถึงผลกระทบ

    ดร. รัชดา กล่าวว่า กลไกการกำกับดูแลการดำเนินงานตามแผนปฏิบัติการฉบับนี้ จะดำเนินการผ่านคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนแผนปฏิบัติการระดับชาติว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน โดยมีอำนาจและหน้าที่ เช่น พัฒนาและปรับปรุงแผนปฏิบัติการ และแก้ไขปัญหากรณีข้อร้องเรียนร้องทุกข์จากการดำเนินธุรกิจของสถานประกอบการ ทั้งนี้ กระทรวงยุติธรรมจะเป็นผู้รวบรวมและจัดทำรายงานประเมินผลการดำเนินงานตามแผนปฏิบัติการ 2 ระยะ คือ ระยะครึ่งรอบ (ระหว่าง พ.ศ.2566 – 2568) และระยะเต็มรอบ (ระหว่าง พ.ศ.2566 -2570) เสนอต่อคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนแผนปฏิบัติการระดับชาติว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชนของประเทศไทย และนำเสนอ ครม. เพื่อพิจารณาและเผยแพร่ต่อไป

    ปลื้ม IMF ยกระดับความสามารถแข่งขันไทยดีขึ้นทุกด้าน

    ดร. รัชดา กล่าวว่า ที่ประชุม ครม.มีมติรับทราบผลการจัดอันดับความสามารถในการแข่งขันของไทย โดยสถาบันการจัดการนานาชาติ (International Institute for Management Development: IMD) ปี 2566 ไทยอยู่ในลำดับที่ 30 ของโลก ดีขึ้นจากลำดับที่ 33 ในปี 2565 จาก 64 เขตเศรษฐกิจ และเป็นลำดับ 3 ในภูมิภาคอาเซียน โดยมีผลการจัดอันดับปัจจัยหลักตามเกณฑ์ตัวชี้วัด 4 กลุ่ม ดีขึ้นในทุกด้าน ดังนี้

      (1) ด้านสมรรถนะทางเศรษฐกิจ ลำดับที่ 16 ปรับดีขึ้นจากลำดับที่ 34 ในปี 2565 จากการลงทุนและการค้าระหว่างประเทศดีขึ้น หลังจากการชะลอตัวในช่วงโควิด-19 และการฟื้นตัวภาคการส่งออก ที่มีการขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 5.5
      (2) ด้านประสิทธิภาพภาครัฐ ลำดับที่ 24 ปรับดีขึ้นจากลำดับ 31 ในปี 2565 จากการใช้จ่ายภาครัฐ การบริหารสถาบัน และกฎระเบียบธุรกิจปรับตัวดีขึ้น อย่างไรก็ตาม ด้านนโยบายภาษีและกรอบการบริหารสังคมมีอันดับลดลง เป็นผลจากการจัดเก็บภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาลดลง
      (3) ด้านประสิทธิภาพภาคธุรกิจ ลำดับที่ 23 ปรับดีขึ้นจากลำดับที่ 30 ในปี 2565 จากด้านผลิตภาพตลาดแรงงาน การเงิน และทัศนคติและการให้ค่านิยมมีอันดับดีขึ้น โดยผู้ประกอบการของไทยมีประสิทธิภาพตามมาตรฐานสากลเพิ่มขึ้น และความสามารถในการใช้เครื่องมือดิจิทัลและเทคโนโลยีดีขึ้น รวมถึงการระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์และมูลค่าของบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ปรับตัวดีขึ้นด้วย ขณะที่ด้านการจัดการอยู่ในอันดับคงที่ เนื่องจากความกังวลต่อความล้มเหลวในการประกอบธุรกิจ
      (4) ด้านโครงสร้างพื้นฐาน ลำดับที่ 43 ปรับดีขึ้นจากลำดับที่ 44 ในปี 2565 จากโครงสร้างพื้นฐานทางเทคโนโลยีมีการตอบสนองความต้องการของภาคธุรกิจ และการพัฒนาประสิทธิภาพของความเร็วอินเทอร์เน็ตที่ดีขึ้น ขณะที่โครงสร้างพื้นฐาน ด้านวิทยาศาสตร์ สุขภาพ สิ่งแวดล้อม และการศึกษา มีอันดับลดลงอยู่ในระดับต่ำอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากการขาดแคลนบุคลากรทางการแพทย์และบุคลากรทางการศึกษา

    รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีกล่าวเพิ่มเติม พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมถือว่าความสำเร็จนี้ เป็นผลงานร่วมกันของทุกคนในรัฐบาลรวมไปถึงส่วนราชการที่ช่วยกันเดินหน้าประเทศไทย จนมีความก้าวหน้าในทุกมิติ ซึ่งหวังให้รัฐบาลชุดใหม่ที่จะเข้ามาบริหารประเทศจะได้พิจารณาดำเนินการต่อเนื่อง

    รับทราบสถานการณ์ความรุนแรงในครอบครัวปี 2563 – 64

    นางสาวทิพานัน ศิริชนะ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ที่ประชุม ครม.มีมติรับทราบรายงานข้อมูลสถานการณ์ด้านความรุนแรงในครอบครัว ประจำปี 2563 และ 2564 ซึ่งเป็นการดำเนินการตามบทบัญญัติมาตรา 17 แห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว พ.ศ. 2550 ตามที่กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์เสนอ

    ข้อมูลสถานการณ์ความรุนแรงต่อเด็ก สตรี และความรุนแรงในครอบครัว ปี 2563 และปี 2564 ที่รวบรวมจากหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง ได้แก่

      1. ข้อมูลสถานการณ์ความรุนแรงต่อเด็ก สตรี และความรุนแรงในครอบครัว ปี 2563 ที่รวบรวมจากกระทรวงสาธารณสุข พบว่า ผู้ถูกกระทำความรุนแรงเข้ารับบริการที่ศูนย์พึ่งได้ใน รพ. จำนวน 566 แห่ง หรือจำนวน 16,676 ราย มีผู้ถูกกระทำความรุนแรงที่เป็นเพศหญิง จำนวน 15,090 ราย รองลงมาเป็นเพศชาย จำนวน 1,575 ราย และเพศทางเลือก จำนวน 11 ราย โดยมีค่าเฉลี่ยผู้ถูกกระทำความรุนแรง จำนวน 46 รายต่อวัน
      2. ข้อมูลสถานการณ์ความรุนแรงต่อเด็ก สตรี และความรุนแรงในครอบครัว ปี 2564 ที่รวบรวมจากกระทรวงสาธารณสุข พบว่า ผู้ถูกกระทำความรุนแรงเข้ารับบริการที่ศูนย์พึ่งได้ใน รพ. จำนวน 543 แห่ง หรือจำนวน 16,672 ราย มีผู้ถูกกระทำความรุนแรงที่เป็นเพศหญิง จำนวน 15,056 ราย รองลงมาเป็นเพศชาย จำนวน 1,605 ราย และเพศทางเลือก จำนวน 11 ราย โดยมีค่าเฉลี่ยผู้ถูกกระทำความรุนแรง จำนวน 46 รายต่อวัน
      3. ตามระบบฐานข้อมูลความรุนแรงต่อเด็ก สตรี และความรุนแรงในครอบครัว ภายใต้เว็บไซต์ www.violence.in.th โดยกรมกิจการสตรี และสถาบันครอบครัว กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ แสดงจำนวนเหตุการณ์ความรุนแรงในครอบครัวที่เข้าสู่กระบวนการตาม พ.ร.บ.ฯ โดยจำแนกตามความสัมพันธ์ระหว่างผู้กระทำและผู้ถูกกระทำ ช่วงอายุ ประเภท สาเหตุ และสถานที่เกิดเหตุการณ์ความรุนแรงในครอบครัวที่บันทึกในปี 2563 มีจำนวนทั้งสิ้น 1,789 เหตุการณ์ และในปี 2564 จำนวนทั้งสิ้น 2,114 เหตุการณ์

    ข้อมูลความรุนแรงในครอบครัวตาม ม. 17 แห่ง พ.ร.บ. คุ้มครองผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว พ.ศ. 2550 คือ จำนวนคดีการกระทำความรุนแรงในครอบครัว จำนวนคำสั่งกำหนดมาตรการหรือวิธีการเพื่อบรรเทาทุกข์ และจำนวนการละเมิดคำสั่งกำหนดมาตรการ หรือวิธีการเพื่อบรรเทาทุกข์ของพนักงานเจ้าหน้าที่และศาล และจำนวนการยอมความ จาก3 หน่วยงานในกระบวนการยุติธรรมที่เกี่ยวข้อง 3 หน่วยงาน และข้อมูลคดีตามระบบฐานข้อมูลความรุนแรงต่อเด็ก สตรี และความรุนแรงในครอบครัว (www.violence.in.th) พบว่า

      1. สำนักงานตำรวจแห่งชาติ มีจำนวนคดีการกระทำความรุนแรงในครอบครัว ในปี 2563 จำนวน 223 คดี ร้องทุกข์ จำนวน 185 คดี ไม่ร้องทุกข์ จำนวน 38 คดี โดยมีการออกคำสั่งกำหนดมาตรการหรือวิธีการเพื่อบรรเทาทุกข์ จำนวน 7 คำสั่ง และมีการยอมความชั้นสอบสวน จำนวน 40 คำสั่ง สำหรับในปี 2564 จำนวน 85 คดี ร้องทุกข์ จำนวน 84 คดี ไม่ร้องทุกข์ จำนวน 1 คดี โดยมีการออกคำสั่งกำหนดมาตรการหรือวิธีการเพื่อบรรเทาทุกข์ จำนวน 5 คำสั่ง และมีการยอมความชั้นสอบสวน จำนวน 1 คำสั่ง
      2. สำนักงานอัยการสูงสุด มีจำนวนคดีที่เข้าสู่กระบวนการในชั้นพนักงานอัยการในปี 2563 จำนวน 165 คดี คดีสั่งฟ้อง จำนวน 157 เรื่อง ไม่ฟ้อง จำนวน 4 เรื่อง ยุติคดี (ยอมความ) จำนวน 4 เรื่อง และใช้มาตรการตาม ม.10 จำนวน 13 เรื่อง สำหรับในปี 2564 คดีที่เข้าสู่กระบวนการในชั้นพนักงานอัยการจำนวน 314 คดี คดีสั่งฟ้อง จำนวน 282 เรื่อง ไม่ฟ้อง จำนวน 3 เรื่อง ยุติคดี (ยอมความ) จำนวน 10 เรื่อง และใช้มาตรการตาม ม.10 จำนวน 6 เรื่อง
      3. สำนักงานศาลยุติธรรม มีคดีฟ้องต่อศาลโดยตรงในปี 2563 จำนวน 53 คดี โดยศาลยุติธรรมมีคำสั่งกำหนดมาตรการ/วิธีการเพื่อบรรเทาทุกข์ ม.10 ว.2 จำนวน 1 คำสั่ง สำหรับในปี 2564 มีคดีฟ้องต่อศาลโดยตรง จำนวน 168 คดี และศาลยุติธรรมไม่มีคำสั่งกำหนดมาตรการ/วิธีการเพื่อบรรเทาทุกข์ ม.10 ว.2
      4. ข้อมูลคดีตามระบบฐานข้อมูลความรุนแรงต่อเด็ก สตรี และความรุนแรงในครอบครัว (www.violence.in.th) พบว่า ในปี 2563 มีการช่วยเหลือเบื้องต้น จำนวน 1,840 เรื่อง ประกอบด้วย การระงับเหตุและสอบถามผู้กระทำความรุนแรงในครอบครัว/ผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว มากที่สุด จำนวน 535 ราย รองลงมาคือการจัดให้ได้รับคำปรึกษาแนะนำจากจิตแพทย์ นักจิตวิทยา หรือนักสังคมสงเคราะห์ จำนวน 477 ราย และการจัดให้ได้รับการเข้ารักษาจากแพทย์ จำนวน 306 ราย และสำหรับปี 2564 มีการช่วยเหลือเบื้องต้น จำนวน 1,932 เรื่อง ประกอบด้วย การระงับเหตุและสอบถามผู้กระทำความรุนแรงในครอบครัว/ผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว มากที่สุด จำนวน 578 ราย รองลงมาคือการจัดให้ได้รับคำปรึกษาแนะนำจากจิตแพทย์ นักจิตวิทยา หรือนักสังคมสงเคราะห์ จำนวน 520 ราย และการจัดให้ได้รับการเข้ารักษาจากแพทย์ จำนวน 305 ราย

    นอกจากนี้ ข้อมูลสถานการณ์ครอบครัวในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 พบว่า ข้อมูลเกี่ยวกับสถานการณ์ครอบครัวไทย ในปี 2563 เรื่องที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด 3 อันดับแรก คือ การขาดรายได้/รายได้ลดลง ร้อยละ 89.38 รองลงมา ตกงาน/ไม่มีงานทำ ร้อยละ 25.54 และมีหนี้สินเพิ่มขึ้น ร้อยละ 18.55 ตามลำดับ และในปี 2564 เรื่องที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด 3 อันดับแรก คือ มีรายได้ลดลง ร้อยละ 63.40 รองลงมา สุขภาพจิตเสื่อมโทรม ร้อยละ 54.19 และมีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น ร้อยละ 47.03 ตามลำดับ โดยสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดความรุนแรงในครอบครัว 3 อันดับแรก คือ รายได้ลดลง/รายได้ไม่เพียงพอ/ไม่มีรายได้ รองลงมา ความเครียดจากการทำงาน และภาระหนี้สิน ตามลำดับ

    ส่วนบทวิเคราะห์สถานการณ์ความรุนแรงต่อเด็ก สตรี และความรุนแรงในครอบครัว และข้อเสนอแนะเชิงมาตรการในการป้องกันและแก้ไขปัญหาความรุนแรงในครอบครัว และต่อการดำเนินงานตาม พ.ร.บ. คุ้มครองผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว พ.ศ. 2550 ในปี 2564 โดยสืบเนื่องถึงปี 2565 ได้แก่ การเสริมสร้างกลไกเครือข่ายในการดำเนินงานป้องกัน และแก้ไขปัญหาความรุนแรงในครอบครัวการเสริมสร้างกลไกพนักงานเจ้าหน้าที่ตาม พ.ร.บ. คุ้มครองผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว พ.ศ. 2550 การปรับปรุงกระบวนงานในการคุ้มครองช่วยเหลือผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว การเสริมสร้างมาตรการในการดำเนินงานป้องกันและแก้ไขปัญหาความรุนแรงในครอบครัว การเสริมสร้างกลไกเครือข่ายด้านความรุนแรงในครอบครัว การปรับปรุงกฎหมายป้องกันและแก้ไขปัญหาความรุนแรงในครอบครัวและการสร้างทัศนคติ ความรู้ความเข้าใจต่อประชาชนเพื่อยุติความรุนแรงต่อเด็ก สตรี และบุคคลในครอบครัว

    “เพื่อลดและยุติความรุนแรงในครอบครัว ประชาชนที่พบเห็นเหตุการณ์ เหตุฉุกเฉิน และ/หรือได้รับความเดือดร้อนจากเหตุดังกล่าว สามารถร้องทุกข์ปัญหาและเหตุความรุนแรงทางสังคม ผ่านระบบไลน์ OA “ESS Help Me” หรือ ติดต่อสายด่วน พม. 1300 เพื่อให้เจ้าหน้าที่ประสานตำรวจและทีมสหวิชาชีพของกระทรวงฯ เข้าช่วยเหลือเหยื่อได้ทันที” นางสาวทิพานัน กล่าว

    เห็นชอบ MOU “สมาคมประชาชาติเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ – WIPO”

    นางสาวทิพานัน ศิกล่าวว่า ที่ประชุม ครม.มีมติเห็นชอบร่างบันทึกความเข้าใจระหว่างสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และองค์การทรัพย์สินทางปัญญาโลก (World Intellectual Property Organization: WIPO) ว่าด้วยการขยายความร่วมมือในสาขาเฉพาะ และอนุมัติให้เลขาธิการอาเซียนลงนามในบันทึกความเข้าใจดังกล่าวในนามอาเซียน ตามที่กระทรวงพาณิชย์เสนอ

    นางสาวทิพานัน กล่าวว่า ในการประชุมรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียน ครั้งที่ 54 เมื่อวันที่ 14 -18 กันยายน 2565 รัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียนได้หารือร่วมกับผู้อำนวยการองค์การทรัพย์สินทางปัญญาโลก และเห็นชอบให้มีการจัดทำบันทึกความเข้าใจระหว่างอาเซียนและองค์การทรัพย์สินทางปัญญาโลก ซึ่งต่อมาที่ประชุมคณะทำงานอาเซียนว่าด้วยความร่วมมือด้านทรัพย์สินทางปัญญา (คณะทางานอาเซียนฯ) ครั้งที่ 69 เมื่อวันที่ 14 – 17 มีนาคม 2566 มีมติเห็นชอบให้เลขาธิการอาเซียนเป็นผู้ลงนามในร่างบันทึกความเข้าใจฯ และแจ้งมายังประเทศสมาชิกอาเซียนเพื่อขอรับการอนุมัติให้เลขาธิการอาเซียนเป็นผู้ลงนาม

    ร่างบันทึกความเข้าใจฯ มีวัตถุประสงค์เพื่อขยายความร่วมมือด้านทรัพย์สินทางปัญญาระหว่างอาเซียนและองค์การทรัพย์สินทางปัญญาโลก นอกเหนือจากที่ดำเนินการอยู่แล้ว ตามแผนปฏิบัติการด้านทรัพย์สินทางปัญญา 2559-2568 (The ASEAN Intellectual Property Rights Action Plan 2016 – 2025: AIPRAP) ที่อาเซียนดำเนินการอยู่ในปัจจุบัน โดยสรุปสาระสำคัญได้ ดังนี้

      1. วัตถุประสงค์ และขอบเขตความร่วมมือ เพื่อตอบสนองความต้องการ และครอบคลุมสิ่งที่เกิดขึ้นใหม่ด้านทรัพย์สินทางปัญญาของภาคธุรกิจที่ยังไม่ได้รับการดูแล ได้แก่ 1. ให้ความช่วยเหลือ SMEs และสตาร์ทอัพในการใช้ทรัพย์สินทางปัญญาสนับสนุนการค้าภายในภูมิภาคอาเซียนและระหว่างภูมิภาค ผ่านการเสริมสร้างขีดความสามารถด้านทรัพย์สินทางปัญญา ตลอดจน การจัดหาโครงสร้างพื้นฐาน เครื่องมือ และทรัพยากรต่าง ๆ เช่น การอำนวยความสะดวกในการขึ้นทะเบียนทรัพย์สินทางปัญญา เป็นต้น 2. ยกระดับเทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อความสำเร็จทางธุรกิจด้วยการใช้ทรัพย์สินทางปัญญาอย่างมีประสิทธิภาพ ผ่านการพัฒนาแอปพลิเคชันมือถือ วิดีโอเกม หรือเครื่องมือต่างๆ ที่เกี่ยวข้องด้วยการวิเคราะห์สิทธิบัตรต่างๆ และปัญญาประดิษฐ์ 3. สำรวจและแบ่งปันแนวปฏิบัติที่มีอยู่ในอาเซียน เพื่อปลดล็อคการใช้ทรัพย์สินทางปัญญาและสินทรัพย์ที่จับต้องไม่ได้ให้สามารถนำมาใช้เป็นหลักค้ำประกันเงินกู้เพื่อต่อยอดธุรกิจได้ และ 4. สนับสนุนอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ ตลอดจนส่งเสริมการเข้าถึงและการใช้แพลตฟอร์ม WIPO สำหรับนักสร้างสรรค์
      2. ความรับผิดชอบทั่วไปของผู้เข้าร่วม (อาเซียนและ WIPO) ได้แก่ 1. ผู้เข้าร่วมทั้งสองฝ่ายจะไม่กระทำการใดๆที่อาจส่งผลเสียต่อผลประโยชน์ต่างๆ ของผู้เข้าร่วมอีกฝ่าย และจะปฏิบัติตามข้อกำหนดและเงื่อนไขต่างๆ ของร่างบันทึกความเข้าใจนี้อย่างเต็มที่ 2. ผู้เข้าร่วมทั้งสองฝ่ายจะเก็บรักษาข้อมูลของผู้ที่เข้าร่วมไว้เป็นความลับภายใต้ร่างบันทึกความเข้าใจนี้ ยกเว้นได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษรจากผู้เข้าร่วมที่เกี่ยวข้องแล้ว และ 3.ข่าวประชาสัมพันธ์ทั้งหมดที่เกี่ยวข้องกับบันทึกความเข้าใจนี้จะต้องได้รับการอนุมัติเป็นลายลักษณ์อักษรจากผู้เข้าร่วมทั้งสองฝ่ายก่อนเผยแพร่หรือเปิดเผย
      3. ระยะเวลาบังคับใช้ และการสิ้นสุดของบันทึกความเข้าใจฯ นี้มีผลใช้บังคับในวันที่ลงนาม และมีผลบังคับใช้ต่อเนื่องเป็นเวลา 5 ปี โดยก่อนจะหมดอายุผู้เข้าร่วมทั้งสองฝ่ายอาจตกลงเป็นลายลักษณ์อักษรเพื่อต่ออายุต่อไปได้ และอาจสิ้นสุดโดยความยินยอมร่วมกันของผู้เข้าร่วมทั้งสองฝ่ายหรือโดยผู้เข้าร่วมฝ่ายหนึ่ง แจ้งให้ผู้เข้าร่วมอีกฝ่ายหนึ่งทราบล่วงหน้า 3 เดือน

    “การทำร่างบันทึกความเข้าใจฯ จะส่งเสริมให้เกิดการสร้างเครือข่ายในการแลกเปลี่ยนข้อมูลความรู้และประสบการณ์ในด้านที่ไทยยังมีความพร้อมไม่มากพอ เช่น ปัญหาการละเมิดลิขสิทธิ์ เป็นต้น” นางสาวทิพานัน กล่าว

    ผ่าน กม. ให้ 4 อำเภอ จ.ปัตตานี 2 อำเภอ จ.เพชรบุรี เป็นพื้นที่ป่าชายเลนอนุรักษ์

    นางสาวทิพานัน กล่าวว่า ที่ประชุม ครม.มีมติเห็นชอบร่างกฎกระทรวงกำหนดให้พื้นที่ป่าชายเลนในจังหวัดปัตตานีเป็นพื้นที่ป่าชายเลนอนุรักษ์ พ.ศ. …. และ ร่างกฎกระทรวงกำหนดให้พื้นที่ป่าชายเลนในจังหวัดเพชรบุรีเป็นพื้นที่ป่าชายเลนอนุรักษ์ พ.ศ. …. ตามที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเสนอ โดยได้ดำเนินการพิจารณาร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและได้มีการรับฟังความคิดเห็นจากทุกภาคส่วนในจังหวัดปัตตานีและจังหวัดเพชรบุรี ทั้งประชาชนทั่วไป ประชาชนที่อาศัยอยู่บริเวณพื้นที่ป่าชายเลน ชาวประมง ผู้ประกอบการ และหน่วยงานภาครัฐ ประกอบกับคณะกรรมการนโยบายและแผนการบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งแห่งชาติเห็นชอบในการเสนอร่างกฎกระทรวงดังกล่าวด้วยแล้ว

    นางสาวทิพานัน กล่าวว่า ร่างกฎกระทรวงนี้เป็นการออกตาม พ.ร.บ. ส่งเสริมการบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง พ.ศ.2558 โดยมีสาระสำคัญเป็นการกำหนดให้พื้นที่ป่าชายเลนเนื้อที่ประมาณ 19,937 ไร่ ใน ต. ท่ากำชำ ต. บางเขา ต. บางตาวา ต. ตุยง อ. หนองจิก, ต. รูสะมิแล ต. บานา ต. ตันหยงลุโละ อ. เมืองปัตตานี, ต. แหลมโพธิ์ ต. บางปู ต. ยามู ต. ตะโละกาโปร์ อ. ยะหริ่ง, ต. ไม้แก่น ต. ไทรทอง ต. ดอนทราย อ. ไม้แก่น จ. ปัตตานี และเนื้อที่ประมาณ 9,534 ไร่ ใน ต. บางตะบูน ต. บางตะบูนออก ต. บ้านแหลม ต. บางขุนไทร ต. ปากทะเล ต. บางแก้ว ต. แหลมผักเบี้ย อ. บ้านแหลม, ต. ชะอำ อ. ชะอำ จ. เพชรบุรี ซึ่งประกอบด้วยทรัพยากรธรรมชาติที่สำคัญและมีค่า เช่น พันธุ์ไม้ ของป่า และสัตว์ป่านานาชนิด ตลอดจนทิวทัศน์ที่สวยงามยิ่ง เป็นพื้นที่ป่าชายเลนอนุรักษ์ รวมทั้งกำหนดมาตรการคุ้มครองเพื่อประโยชน์ในการสงวน การอนุรักษ์ และการฟื้นฟูพื้นที่ป่าชายเลน ให้คงสภาพธรรมชาติและมีสภาพแวดล้อมและระบบนิเวศที่มีความสมบูรณ์

    “การบริหารจัดการทรัพยากรป่าชายเลนภายในแนวเขตพื้นที่ป่าชายเลนอนุรักษ์ให้ดำเนินการ อาทิ ให้ชุมชนชายฝั่งที่ได้ขึ้นทะเบียนตามระเบียบกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจัดทำแผนการบริหารจัดการทรัพยากรป่าชายเลนอนุรักษ์ เพื่อให้เกิดการพัฒนาที่ยั่งยืนโดยครอบคลุมทั้งมิติทางด้านสิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจ และสังคม อย่างสมดุล การเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ หรือการเพาะพันธุ์พืช หรือการปลูกฟื้นฟูป่าชายเลนในพื้นที่เสื่อมโทรมและใช้ประโยชน์จากไม้ที่ปลูกขึ้นที่มิใช่ไม้หวงห้ามเป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ เป็นต้น” นางสาวทิพานัน กล่าว

    ประกาศให้ “ภูเก็ต” เป็นพื้นที่คุ้มครองสิ่งแวดล้อม

    นางสาวทิพานัน กล่าวว่า ที่ประชุม ครม.มีมติเห็นชอบร่างประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เรื่อง กำหนดเขตพื้นที่ และมาตรการคุ้มครองสิ่งแวดล้อม ในบริเวณพื้นที่จังหวัดภูเก็ต พ.ศ. …. ตามที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเสนอ ซึ่งเป็นนการปรับปรุงประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เรื่อง กำหนดพื้นที่และมาตรการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมในบริเวณพื้นที่ จ. ภูเก็ต พ.ศ. 2560 ที่จะสิ้นสุดระยะการใช้บังคับในวันที่ 15 ธันวาคม 2567 เพื่อปรับปรุงการกำหนดเขตพื้นที่และมาตรการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมให้มีประสิทธิภาพ และมีความเหมาะสมสอดคล้องกับสภาพการณ์ปัจจุบัน

    นางสาวทิพานัน กล่าวว่า ร่างประกาศฉบับนี้ออกตามความใน พ.ร.บ. ส่งเสริมเละรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ. 2535 โดยกำหนดให้พื้นที่เขตอนุรักษ์ เขตผังเมืองรวม เขตควบคุมอาคาร และเขตควบคุมมลพิษใน จ. ภูเก็ต เป็นเขตพื้นที่ที่ให้ใช้มาตรการคุ้มครองสิ่งแวดล้อม และได้แบ่งพื้นที่ดังกล่าวออกเป็น 8 บริเวณ เพื่อกำหนดมาตรการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมในแต่ละบริเวณ เพื่อป้องกัน สงวน รักษา และคุ้มครองทรัพยากรธรรมชาติ คุณภาพสิ่งแวดล้อม แหล่งธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อมศิลปกรรมที่มีคุณค่าในบริเวณพื้นที่ จ. ภูเก็ตให้คงอยู่ได้อย่างสมดุลตามธรรมชาติเกิดความต่อเนื่อง และคงความสมบูรณ์ยั่งยืนต่อไปในอนาคต โดยมีกำหนดระยะเวลาใช้บังคับ 5 ปี นับแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษา ซึ่งคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติได้มีมติเห็นชอบด้วยแล้ว

    โดยมีสาระสำคัญสรุปได้ ดังนี้

    1. กำหนดพื้นที่ที่ให้ใช้มาตรการคุ้มครองสิ่งแวดล้อม โดยให้จำแนกพื้นที่ออกเป็น 8 บริเวณ ดังนี้

      บริเวณที่ 1 ได้แก่ พื้นที่ในบริเวณที่วัดจากแนวชายฝั่งทะเลรอบเกาะภูเก็ตเข้าไปในแผ่นดิน เป็นระยะ 50 ม. รวมทั้งพื้นที่ในเกาะบริวารต่าง ๆ เว้นแต่พื้นที่บริเวณที่ 5 และบริเวณที่ 6

      บริเวณที่ 2 ได้แก่ พื้นที่ในบริเวณที่วัดจากแนวเขตบริเวณที่ 1 เข้าไปในแผ่นดิน เป็นระยะ 150 ม. เว้นแต่พื้นที่บริเวณที่ 5 และบริเวณที่ 6

      บริเวณที่ 3 ได้แก่ พื้นที่ในบริเวณที่วัดจากแนวเขตบริเวณที่ 2 เข้าไปในแผ่นดิน เป็นระยะ 200 ม. เว้นแต่พื้นที่บริเวณที่ 5 และบริเวณที่ 6

      บริเวณที่ 4 ได้แก่ พื้นที่ในเขตเทศบาลนครภูเก็ต เว้นแต่พื้นที่บริเวณที่ 1-3 และ 5-6 โดยจำแนกพื้นที่ ดังนี้ (1) เขตอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมศิลปกรรม หรือย่านอาคารเก่า (2) เขตหนาแน่นมาก มีแนวเขตตามพื้นที่เขตเทศบาลนครภูเก็ตทั้งหมด ยกเว้นบริเวณที่ 4 (1) และ (3) และ (3) เขตหนาแน่นสูงมาก

      บริเวณที่ 5 ได้แก่ พื้นที่ที่มีความสูงจากระดับน้ำทะเลปานกลางตั้งแต่ 40 ม. ถึง 80 ม.

      บริเวณที่ 6 ได้แก่ (1) พื้นที่ที่มีความสูงจากระดับน้ำทะเลปานกลางตั้งแต่ 80.01 ม. ถึง 140 ม. และ (2) พื้นที่ที่มีความสูงจากระดับน้ำทะเลปานกลางเกินกว่า 140.01 ม. ขึ้นไป

      บริเวณที่ 7 ได้แก่ พื้นที่ในเกาะภูเก็ตและเกาะบริวารต่าง ๆ นอกจากบริเวณที่ 1-6

      บริเวณที่ 8 ได้แก่ พื้นที่ทะเลรอบเกาะภูเก็ตและรอบเกาะบริวารต่าง ๆ

    2. กำหนดมาตรการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมของแต่ละบริเวณ ได้แก่

      2.1 บริเวณที่ 1-8 จะต้องดำเนินการตามมาตรการเกี่ยวกับโรงงาน โดยจำต้องมีเครื่องจักรหรืออุปกรณ์เพื่อควบคุมพิษหรือแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อม รวมถึงกำหนดพื้นที่ว่างน้ำซึมผ่านได้ ไม่น้อยกว่าร้อยละ 50 และมีพื้นที่สีเขียวไม่น้อยกว่าร้อยละ 50 ของพื้นที่น้ำซึมผ่านได้ โดยมีไม้ยืนต้นเป็นองค์ประกอบหลัก และ ต้องดำเนินการตามมาตรการการก่อสร้าง ดัดแปลง หรือเปลี่ยนการใช้อาคาร เช่น ต้องมีระยะห่างจากแนวชายฝั่งทะเลไม่น้อยกว่า 20 ม. หรือต้องมีระยะห่าง จากแนวชายเกาะต่าง ๆ ไม่น้อยกว่า 20 ม. ในกรณีที่เกาะนั้นไม่มีชายฝั่งทะเล และห้ามกระทำการหรือประกอบกิจกรรมใดๆ ที่อาจเป็นอันตรายหรือก่อให้เกิดผลกระทบในทางเปลี่ยนแปลงระบบนิเวศ เช่น การทำเหมืองแร่ การขนส่งหรือลำเลียงวัตถุอันตรายโดยใช้ระบบท่อขนส่ง การทำอาคารนกแอ่นกินรัง และ การถม ปรับพื้นที่ หรือปิดกั้น ซึ่งทำให้แหล่งน้ำสาธารณะในแผ่นดินและแหล่งน้ำในขุมเหมืองสาธารณะตื้นเขิน เป็นต้น

      2.2 บริเวณที่ 1-7 จะต้องดำเนินการตามกำหนดมาตรการการก่อสร้าง ดัดแปลง หรือเปลี่ยนการใช้อาคารในพื้นที่ลาดเชิงเขา เช่น กำหนดให้พื้นที่ก่อสร้างอาคารต้องมีระยะเว้น จากยอดลาดชันหรือตีนลาดชัน กรณีลาดเชิงเขาสูงไม่เกิน 40 ม. ให้มีระยะเว้นมากกว่า 1 เท่า ของความสูงลาดเชิงเขา หรือกรณีลาดเชิงเขาสูงมากกว่า 40 ม. ให้มีระยะเว้นอย่างน้อย 40 ม. เป็นต้น

      2.3 ในพื้นที่บริเวณที่ 8 กำหนดห้ามกระทำการหรือประกอบกิจกรรมใดๆ เช่น 1) การทำให้เกิดมลพิษจากการเดินเรือ 2) การเก็บ ทำลาย หรือกระทำด้วยประการใด ๆ ที่อาจเป็นอันตรายหรือมีผลกระทบต่อปะการัง ซากปะการัง หินปะการัง กัลปังหา หรือหญ้าทะเล 3) การสำรวจวัดคลื่นไหวสะเทือน และ 4) การถมทะเลหรือที่ชายตลิ่งปากคลอง เป็นต้น

    3. กำหนดให้ในขั้นขออนุมัติหรือขออนุญาตโครงการ ก่อนการดำเนินโครงการ หรือประกอบกิจการ รวมทั้งขั้นตอนการขยายขนาดของโครงการหรือกิจการ ให้จัดทำและเสนอรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมเบื้องต้นหรือรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม แล้วแต่กรณี ต่อ สนง. นโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และระเบียบปฏิบัติที่กำหนดไว้ตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ

    4. ให้สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จ. ภูเก็ต ทำหน้าที่ดูแล ติดตาม ตรวจสอบ ประสาน คำแนะนำเกี่ยวกับการบังคับใช้มาตรการคุ้มครองสิ่งแวดล้อม และจัดทำรายงานผลการดำเนินงานเสนอคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติอย่างน้อยปีละหนึ่งครั้ง

    กำหนด 4 อำเภอ จ.เพชรบุรี – 2 อำเภอ จ.ประจวบฯ เป็นพื้นที่คุ้มครองสิ่งแวดล้อม

    นางสาวทิพานัน กล่าวว่า ที่ประชุม ครม.มีมติเห็นชอบร่างประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เรื่อง กำหนดเขตพื้นที่และมาตรการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมในบริเวณพื้นที่อำเภอบ้านแหลม อำเภอเมืองเพชรบุรี อำเภอท่ายาง อำเภอชะอำ จังหวัดเพชรบุรี และอำเภอหัวหิน อำเภอปราณบุรี จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ พ.ศ. …. ตามที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเสนอ

    นางสาวทิพานัน กล่าวว่า ร่างประกาศฉบับนี้ออกตามความใน พ.ร.บ.ส่งเสริมเละรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ. 2535 โดยมีสาระสำคัญเป็นการกำหนดให้พื้นที่ อ. บ้านแหลม อ. เมืองเพชรบุรี อ. ท่ายาง อ. ชะอำ จ. เพชรบุรี และ อ. หัวหิน อ. ปราณบุรี จ. ประจวบคีรีขันธ์ เป็นพื้นที่ที่ใช้มาตรการคุ้มครองสิ่งแวดล้อม เพื่อให้มีมาตรการแก้ไขและป้องกันปัญหาสิ่งแวดล้อมอย่างมีประสิทธิภาพและเหมาะสมมากยิ่งขึ้น โดยกำหนดให้เขตอนุรักษ์และเขตควบคุมมลพิษเป็นเขตพื้นที่ที่ให้ใช้มาตรการคุ้มครองสิ่งแวดล้อม และได้แบ่งพื้นที่ดังกล่าวออกเป็น 6 บริเวณ เพื่อกำหนดมาตรการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมในแต่ละบริเวณ กำหนดมาตรการเกี่ยวกับโรงงานที่ต้องมีเครื่องจักร หรืออุปกรณ์เพื่อควบคุมมลพิษหรือแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อม รวมถึงกำหนดพื้นที่ว่างน้ำซึมผ่านได้ เป็นต้น มีกำหนดระยะเวลาใช้บังคับ 5 ปีนับแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษา ซึ่งคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติได้มีมติเห็นชอบด้วยแล้ว

    โดยมีสาระสำคัญสรุปได้ ดังนี้

    1. กำหนดพื้นที่ที่ให้ใช้มาตรการคุ้มครองสิ่งแวดล้อม โดยให้จำแนกพื้นที่ออกเป็น 6 บริเวณ ดังนี้

      บริเวณที่ 1 ได้แก่ พื้นที่ ต. บางตะบูน และ ต. บางตะบูนออก อ. บ้านแหลม จ. เพชรบุรี
      บริเวณที่ 2 ได้แก่ พื้นที่ ต. บ้านแหลม ต.บางขุนไทร ต. ปากทะเล ต. บางแก้ว และ ต. แหลมผักเบี้ย อ. บ้านแหลม จ. เพชรบุรี

      บริเวณที่ 3 ได้แก่ พื้นที่ ต. หาดเจ้าสำราญ และ ต. หนองขนาน อ.เมืองเพชรบุรี ต.ปึกเตียน อ. ท่ายาง ต. หนองศาลา และ ต. บางเก่า อ. ชะอำ จ. เพชรบุรี

      บริเวณที่ 4 ได้แก่ พื้นที่เทศบาลเมืองชะอำ อ. ชะอำ จ. เพชรบุรี และพื้นที่เทศบาลเมืองหัวหิน อ. หัวหิน จ. ประจวบคีรีขันธ์

      บริเวณที่ 5 ได้แก่ พื้นที่ตำบลปากน้ำปราณ อ. ปราณบุรี จ. ประจวบคีรีขันธ์

      บริเวณที่ 6 ได้แก่ พื้นที่ภายในแนวเขตตามประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เรื่อง กำหนดเขตพื้นที่ที่รับผิดชอบของคณะกรรมการประมงประจำจังหวัดในเขตทะเลชายฝั่ง พ.ศ. 2559 เว้นแต่พื้นที่ตามร่างกฎกระทรวงกำหนดให้บริเวณพื้นที่เกาะทราย เกาะสะเดา และเกาะขี้นก ต. หัวหิน อ. หัวหิน จ. ประจวบคีรีขันธ์เป็นพื้นที่คุ้มครองทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง พ.ศ. ….

    2. กำหนดมาตรการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมของแต่ละบริเวณ

    3. กำหนดให้การก่อสร้างกำแพงติดแนวชายฝั่งทะเลทุกขนาด ต้องเสนอขอความเห็นจาก จ. เพชรบุรี หรือ จ.ประจวบคีรีขันธ์ แล้วแต่กรณี เพื่อประกอบการขออนุญาตหรือขออนุมัติงบฯ และกำหนดให้การก่อสร้าง ดัดแปลง หรือเปลี่ยนการใช้อาคารเป็นโรงแรมตามกฎหมายว่าด้วยโรงแรม อาคารอยู่อาศัยรวมตามกฎหมายว่าด้วยการควบคุมอาคาร อาคารชุดตามกฎหมายว่าด้วยอาคารชุด หรือหอพักตามกฎหมายว่าด้วยหอพัก ต้องติดตั้งหรือจัดให้มีบ่อดักไขมันและระบบบำบัดน้ำเสีย และบำบัดน้ำเสียให้ได้มาตรฐานตามกฎหมายกำหนดก่อนปล่อยลงสู่ท่อหรือทางน้ำสาธารณะ

    4. กำหนดให้ในขั้นขออนุมัติหรือขออนุญาตโครงการ ก่อนการดำเนินโครงการ หรือประกอบกิจการ รวมทั้งขั้นตอนการขยายขนาดของโครงการหรือกิจการ ให้จัดทำและเสนอรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมเบื้องต้นหรือรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม แล้วแต่กรณี ต่อ สนง. นโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และระเบียบปฏิบัติที่กำหนดไว้ตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ

    5. ให้สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จ. เพชรบุรี และ จ. ประจวบคีรีขันธ์ ทำหน้าที่ดูแล ติดตาม ตรวจสอบ ประสาน คำแนะนำเกี่ยวกับการบังคับใช้มาตรการคุ้มครองสิ่งแวดล้อม และจัดทำรายงานผลการดำเนินงานเสนอคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติอย่างน้อยปีละหนึ่งครั้ง

    ขึ้นค่าเข้าชมโบราณสถาน – พิพิธภัณฑสถานฯเฉพาะชาวต่างชาติ

    นางสาวทิพานัน กล่าวว่า ที่ประชุม ครม.มีมติอนุมัติหลักการร่างกฎกระทรวงกำหนดค่าเข้าชมและค่าบริการอื่นสำหรับโบราณสถานที่ได้ขึ้นทะเบียนแล้วและพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ (ฉบับที่….) พ.ศ…. ทำให้มีการเพิ่มอัตราค่าเข้าชมและค่าบริการอื่นสำหรับโบราณสถานและพิพิธภัณฑ์ 72 แห่ง เนื่องจากอัตราเดิมใช้มากว่า 15 ปี ตั้งแต่ปี 2551 ซึ่งมูลค่าเงินและอัตราแลกเปลี่ยนเงินต่างประเทศได้เปลี่ยนแปลงไปมากในช่วงเวลาดังกล่าว อีกทั้งค่าใช้จ่ายในการอนุรักษ์ ฟื้นฟู ดูแลโบราณสถานและโบราณมีมูลค่าเพิ่มขึ้นมาก และลดภาระการจัดสรรงบประมาณจากการเก็บภาษีจากคนไทยมาใช้ในการบูรณะดูแลเพื่อประโยชน์ด้านอื่น จึงได้ปรับเพิ่มอัตราค่าเข้าชมเฉพาะชาวต่างชาติ (บุคคลสัญชาติอื่น)

    “สำหรับอัตราค่าเข้าชมของคนไทย ครม. ได้มีมติให้คงอัตราเดิมไว้ ไม่เพิ่มอัตราค่าเข้าชม เพื่อส่งเสริมการเรียนรู้และอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมและเอกลักษณ์ของชาติของคนไทยทุกรุ่นทุกวัย และไม่เป็นการเพิ่มภาระค่าใช้จ่ายในการท่องเที่ยวของคนไทย” นางสาวทิพานัน กล่าว

    รับทราบแนวทางแก้ปัญหา “หมอ-พยาบาล” ลาออก

    นางสาวไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ที่ประชุม ครม.มีมติรับทราบผลการหารือร่วมกันระหว่างกระทรวงสาธารณสุข และสำนักงาน ก.พ. เกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาบุคลากรทางการแพทย์ สืบเนื่องมาจากที่ปัจจุบันได้ปรากฏ กรณีการลาออกของบุคลากรทางการแพทย์โดยต่อเนื่อง ซึ่งทั้ง 2 หน่วยงานเห็นพ้องกันว่าการบริหารบุคลากรภายใต้บริบทที่เปลี่ยนแปลงไปมีความท้ายทายในหลายประเด็น จำเป็นต้องแก้ไขปัญหาร่วมกันอย่างเป็นระบบ มีประสิทธิภาพ เหมาะสม และเป็นธรรม

    ทั้งนี้ ตั้งแต่เดือนธันวาคม 2565 เป็นต้นมา กระทรวงสาธารณสุขและสำนักงาน ก.พ. ได้หารือร่วมกันมา 3 ครั้ง มีประเด็นสำคัญที่เห็นร่วมกันว่าต้องได้รับการพัฒนาสำคัญ ได้แก่ การขาดแคลนอัตรากำลัง การพัฒนาความก้าวหน้าในสายงาน การเพิ่มอัตราการผลิตบุคลากรทางการแพทย์ที่ขาดแคลน การปรับปรุงการจ่ายค่าตอบแทน และการปรับปรุงสวัสดิการให้แก่บุคลากร

    การปรับปรุงการบริหารทรัพยากรบุคคลของสาธารณสุขจำเป็นต้องดำเนินการในภาพรวม ทั้งประเด็นหลักและประเด็นย่อย เนื่องจากกระทรวงสาธารณสุขมีความหลากหลายในสายงาน มีบุคลากรจำนวนมาก และกระจายอยู่ในทุกพื้นที่ของประเทศ ปัญหาจึงอาจเกิดขึ้นในหลายมิติ ทั้งในมิติบริหารจัดการ มิติของผู้รับบริการ และมิติของบุคลากรผู้ปฏิบัติงาน จึงเห็นควรตั้งคณะทำงานร่วมของทั้ง 2 หน่วยงาน ในการกำหนดกรอบประเด็นปัญหาภาพรวม และประเด็นที่จะต้องดำเนินการแก้ไขเร่งด่วน (Priority Issues) เพื่อให้สามารถแก้ไขปัญหาให้ทันสถานการณ์ เหมาะสม และสร้างขวัญกำลังใจแก่บุคลากร

    นางสาวไตรศุลี กล่าวว่า สำหรับแนวทางการแก้ไขปัญหาที่ทั้ง 2 หน่วยงานเห็นร่วมกันนั้น กำหนดเป็น 2 ระยะ คือ 1) ระยะเร่งด่วน เช่น การแก้ไขปัญหาขาดแคลนบุคลากรทางการแพทย์ พิจารณากำหนดตำแหน่งวิชาการ ระดับชำนาญการพิเศษ ในราชการส่วนภูมิภาคเพิ่มมากขึ้น โดยอาจดำเนินการนำร่องกับสายงานพยาบาลวิชาชีพ ในกระทรวงสาธารณสุขก่อน แล้วขยายผลต่อไปยังสายงานอื่นๆ และส่วนราชการอื่นต่อไป 2) ระยะยาว เช่น การเพิ่มกำลังการผลิตนักศึกษาในสายงานบุคลากรทางการแพทย์ การปรับปรุงพัฒนาระบบสวัสดิการและค่าตอบแทนบุคลากรทางการแพทย์

    ผ่าน กม.กำหนดลักษณะอาคารที่ใช้ประกอบธุรกิจโรงแรม

    นางสาวไตรศุลี กล่าวว่า ที่ประชุม ครม.มีมติเห็นชอบร่างกฎกระทรวงกำหนดลักษณะและระบบความปลอดภัยของอาคารที่ใช้ประกอบธุรกิจโรงแรม พ.ศ….. มีสาระสำคัญเป็นการกำหนดลักษณะและระบบความปลอดภัยของอาคารที่ใช้ประกอบธุรกิจโรงแรมเพื่อให้เหมาะสม และสอดคล้องกับประเภทอาคารที่ใช้ประกอบธุรกิจโรงแรมในปัจจุบัน โดยกำหนดให้ผู้ที่จะใช้อาคาร เพื่อประกอบธุรกิจโรงแรมต้องดำเนินการตามที่กำหนดในส่วนที่เกี่ยวกับโครงสร้างโรงแรม ระบบป้องกันและระงับอัคคีภัย ระบบทางหนีไฟ ลักษณะภายในและภายนอกอาคาร

    ตลอดจนมีข้อกำหนดสำหรับกรณีนำอาคารลักษณะพิเศษที่นำมาประกอบธุรกิจโรงแรม เพื่อให้มีมาตรฐานความปลอดภัย ทำให้ผู้ประกอบการสามารถดำเนินธุรกิจได้อย่างถูกต้องตามกฎหมายว่าด้วยการควบคุมอาคารและกฎหมายว่าด้วยโรงแรม สนับสนุนผู้ประกอบการโดยเฉพาะเอสเอ็มอีในเมืองท่องเที่ยวเมืองรองสามารถนำอาคารที่มีรูปแบบพิเศษอื่นมาประกอบธุรกิจได้ ให้โรงแรมในไทยแข่งขันได้ ได้มาตรฐานและสร้างความปลอดภัยแก่ผู้รับบริการ

    นางสาวไตรศุลี กล่าวว่า กฎกระทรวงมีข้อกำหนดลักษณะและระบบความปลอดภัยของอาคาร ประกอบด้วย

      1)โครงสร้างหลัก บันได และวัสดุ เช่น โรงแรมต้องมีโครงสร้างหลักที่มั่นคงแข็งแรง สามารถรับน้ำหนักบรรทุกได้ปลอดภัย โรงแรมที่มีมากกว่า 3 ชั้น ต้องมีโครงสร้างหลักและผนังที่ทำด้วยวัสดุถาวรที่เป็นวัสดุไม่ติดไฟ มีข้อกำหนดลักษณะบันได เช่น กรณีโรงแรมตั้งแต่ 2 ชั้นขึ้นไป ที่มีบันไดสูงเกิน 4 เมตร ต้องมีชานพักบันไดทุกช่วง 4 เมตร เป็นต้น
      2) ระบบป้องกันและระงับอัคคีภัย ระบบการจัดการอาคาร และสิ่งอำนวยความสะดวกอื่น เช่น กำหนดให้โรงแรมประเภทต่างๆ ต้องมีระบบป้องกันและระงับอัคคีภัย และจัดให้มีระบบป้องกันและระงับอัคคีภัยเพิ่มเติม เช่น มีที่เก็บน้ำสำรอง บันไดหนีไฟที่มีความลาดชันน้อยกว่า 60 องศา มีการกำหนดลักษณะเส้นทางหนีไฟของโรงแรม มีป้ายบอกชั้นในตำแหน่งที่มองเห็นชัด มีระบบจัดการอาคาร เช่นการจัดแสงสว่าง สิ่ง จัดสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับผู้ทุพพลภาพและคนชรา เป็นต้น
      3) พื้นที่ภายในอาคารและที่ว่างภายนอกอาคาร มีการกำหนดขนาดของห้องพักที่เหมาะสม กำหนดระยะดิ่งของห้องพักต้องไม่น้อยกว่า 2.6 เมตร ส่วนห้องพักที่อยู่ในโครงสร้างของหลักคาหรือผนังลาดเอียงต้องมีระยะดิ่งไม่น้อยกว่า 1.8 เมตร กำหนดช่องทางเดินในโรงแรมต้องกว้างไม่น้อยกว่า 1.5 เมตร กำหนดให้มีที่ว่างภายนอกอาคารไม่น้อยกว่า 10 ใน 100 ของพื้นที่ชั้นใดชั้นหนึ่งที่มากที่สุดของอาคาร กรณีที่มีห้องพักรวม ให้มีผู้พักได้ไม่เกิน 40 คน ต้องมีทางเดินภายในห้องกว้างไม่น้อยกว่า 1.2 เมตรเป็นต้น
      4) กรณีนำอาคารลักษณะพิเศษ เช่น เต็นท์ โครงสร้างแบบอัดอากาศ (bubble) รถพ่วงตู้คอนเทนเนอร์ บ้านต้นไม้ ท่อคอนกรีตสำเร็จรูป ตู้คอนเทนเนอร์ มาใช้ประกอบธุรกิจธุรกิจโรงแรม มีข้อกำหนดต้องดำเนินการ ได้แก่ กรณีของเต็นท์ โครงสร้างแบบอัดอากาศ(bubble) กำหนดให้วัสดุที่สร้างหรือนำมาประกอบต้องมีคุณสมบัติที่เกี่ยวกับการลามไฟ เป็นไปตาที่รัฐมนตรีโดยคำแนะนำของคณะกรรมการควบคุมอาคารประกาศกำหนด ต้องติดตั้งเครื่องดับเพลิงแบบมือถือไม่น้อยกว่า 1 เครื่องต่อพื้นที่ใช้สอยไม่เกิน 112 ตารางเมตร และมีระยะการเข้าถึงไม่เกิน 22.50 เมตร ต้องมีที่ว่างไม่น้อยกว่า 25 ใน 100 ส่วนของพื้นที่ที่ดินที่ใช้เป็นที่ตั้งอาคารแต่ละหลังจะต้องมีระยะห่างระหว่างกันโดยรอบไม่น้อยกว่า 3 เมตร โดยวัดระยะห่างจากแนวสมอบกที่ยึดอาคารหรือส่วนริมสุดของอาคาร ให้ยกเว้นไม่ต้องปฏิบัติตามข้อกำหนดเกี่ยวกับโครงสร้าง และยกเว้นไม่ต้องปฏิบัติตามขนาดของห้องพัก

      กรณี เต็นท์ รถหรือส่วนพ่วง รถไฟ ท่อคอนกรีตสำเร็จรูป ตู้คอนเทนเนอร์ ให้ได้รับยกเว้นไม่ต้องปฏิบัติเกี่ยวกับขนาดห้อง แต่ต้องมีอัตราส่วนพื้นที่ห้องพักต่อผู้พักไม่น้อยกว่า 3 ตารางเมตร และกรณีบ้านต้นไม้ที่มีห้องพัก 1 ห้อง และมีผู้พักไม่เกิน 4 คน ให้ได้รับยกเว้นไม่ต้องปฏิบัติเกี่ยวกับบันได แต่ต้องมีบันไดหรือทางขึ้นลงที่เหมาะสมต่อสภาพการใช้งานและมีสิ่งป้องกันการตกที่ปลอดภัย

    นางสาวไตรศุลี กล่าวว่า ร่างกฎกระทรวงฯ ฉบับนี้ได้เคยผ่านการอนุมัติหลักการจาก ครม. เมื่อวันที่ 7 มี.ค. 66 และได้ส่งให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา (สคก.) ตรวจพิจารณาเพื่อดำเนินการตามขั้นตอน ซึ่ง สคก. ได้มีการแก้ไขปรับปรุงรูปแบบการกำหนดเนื้อหาของร่างกฎกระทรวงฯ ให้มีความชัดเจนยิ่งขึ้นว่าผู้ประกอบการที่ประการจะต้องดำเนินการตามข้อใดของกฎกระทรวงฉบับใดที่ออกตาม พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร พ.ศ.2522 และกำหนดเนื้อหาสาระที่ผู้ประกอบการต้องดำเนินการให้ครบถ้วนยิ่ง เพื่อสร้างความชัดเจนในทางปฏิบัติ จึงได้เสนอให้ ครม. อนุมัติร่างฉบับที่แก้ไขครบถ้วนแล้วในครั้งนี้

    แก้แนวปฏิบัติชงเรื่องเสนอ กกต.ขอใช้งบฯฉุกเฉิน

    นางสาวไตรศุลี กล่าวว่า ที่ประชุม ครม.มีมติรับทราบการแก้ไขปรับปรุงแนวทางปฏิบัติและขั้นตอนการดำเนินการตามมาตรา 169 (3) ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2566 (การขอความเห็นชอบจากคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) กรณีการอนุมัติให้ใช้จ่ายงบประมาณสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น) ตามที่สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (สำนักงาน กกต.) เสนอ

    พร้อมกันนี้ ครม. ได้เห็นชอบให้ปรับปรุงมติ ครม. เมื่อวันที่ 21 มีนาคม 2566 เรื่องแนวทางปฏิบัติอันเนื่องมาจากการยุบสภาผู้แทนราษฎร เกี่ยวกับการขออนุมัติให้ใช้จ่ายงบประมาณสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น ตามมาตรา 169 (3) เพื่อให้สอดคล้องกับแนวทางที่ กกต. แก้ไขปรับปรุง

    นางสาวไตรศุลี กล่าวว่า สาระสำคัญที่มีการแก้ไขคือ ปรับปรุงแนวทางปฏิบัติและขั้นตอนดำเนินการเกี่ยวกับการเสนอเรื่องต่อ กกต. จากเดิมที่เมื่อ ครม. ให้การอนุมัติแล้วให้สำนักงบประมาณเป็นหน่วยงานรวบรวมข้อมูลเพื่อเสนอต่อ กกต. ให้แก้ไขเป็น “เมื่อมีกรณีที่ต้องขอความเห็นชอบจากคณะกรรมการการเลือกตั้ง ให้สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีหรือหน่วยงานที่คณะรัฐมนตรีมอบหมายรวบรวมข้อมูลที่เกี่ยวข้อง เหตุผล และความจำเป็นในการขอใช้จ่ายงบประมาณรายจ่ายงบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็นของส่วนราชการ หน่วยงานของรัฐ หรือรัฐวิสาหกิจ ที่ความจำเป็นต้องใช้งบประมาณรายจ่ายดังกล่าวเสนอต่อคณะกรรมการการเลือกตั้ง เพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบต่อไป”

    ทั้งนี้ ให้ส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องถือปฏิบัติตามแนวทางที่ปรับปรุงใหม่นี้ต่อไป

    ชง กกต.ต่ออายุ “ทรงพล” นั่ง ผอ.สถาบันคุ้มครองเงินฝากอีก 4 ปี

    นางสาวไตรศุลี กล่าวว่า ที่ประชุม ครม.มีมติอนุมัติ/เห็นชอบในเรื่องแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการและผู้บริหารระดับสูงของหน่วยงานรัฐ มีรายละเอียดดังนี้

    1. การแต่งตั้งผู้อำนวยการสถาบันคุ้มครองเงินฝาก

    คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เสนอแต่งตั้ง นายทรงพล ชีวะปัญญาโรจน์ ให้ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการสถาบันคุ้มครองเงินฝาก ต่ออีกหนึ่งวาระ เนื่องจากครบวาระการดำรงตำแหน่งสี่ปี เมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม 2566 โดยให้มีผลตั้งแต่วันที่ 25 กรกฎาคม 2566 เป็นต้นไป และให้ดำเนินการต่อไปได้เมื่อได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการการเลือกตั้ง ตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 169 (2) แล้ว

    2. การแต่งตั้งกรรมการอื่นในคณะกรรมการองค์การจัดการน้ำเสีย

    คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่กระทรวงมหาดไทยเสนอให้คณะกรรมการองค์การจัดการน้ำเสีย มีจำนวนเกินกว่า 11 คน แต่ไม่เกิน 15 คน และอนุมัติแต่งตั้งบุคคลเป็นกรรมการอื่นในคณะกรรมการองค์การจัดการน้ำเสีย รวม 2 คน ดังนี้

      1. นายอัศวิน โชติพนัง เป็นกรรมการอื่น (แทนกรรมการเดิมที่พ้นจากตำแหน่ง)
      2. นางวันทนี มณีศิลาสันต์ เป็นกรรมการอื่น (เพิ่มเติมในตำแหน่งที่ว่าง)

    โดยให้นับวาระต่อเนื่องจากกรรมการที่ได้รับแต่งตั้งไว้แล้ว และให้มีผลตั้งแต่วันที่ 25 กรกฎาคม 2566 เป็นต้นไป