ThaiPublica > เกาะกระแส > นายกฯมอบ “วิษณุ” แจงไทม์ไลน์เลือกตั้ง-มติ ครม.เปลี่ยนรถเมล์เอกชนเป็น “อีวี” ให้ “EA” ขายคาร์บอนเครดิต

นายกฯมอบ “วิษณุ” แจงไทม์ไลน์เลือกตั้ง-มติ ครม.เปลี่ยนรถเมล์เอกชนเป็น “อีวี” ให้ “EA” ขายคาร์บอนเครดิต

31 มกราคม 2023


พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม
ที่มาภาพ : www.thaigov.go.th/
  • นายกฯ สั่งฟัน จนท.รีดไถเงินดาราสาวไต้หวัน – ทำลายภาพลักษณ์องค์กร
  • มอบ “วิษณุ” แจงไทม์ไลน์เลือกตั้งเริ่ม ก.พ.นี้
  • ขอบคุณ รมต.ที่ทำงานร่วมกันมา ย้ำยังรักษาการต่อ
  • ชี้ ดบ.นโยบาย – เงินเฟ้อไทยยังต่ำ หนุนการฟื้นตัวทาง ศก.
  • มติ ครม. เปลี่ยนรถเมล์เอกชนเป็น “อีวี” ให้ “EA” ขายคาร์บอนเครดิต
  • เคาะค่าจ้างมาตรฐานฝีมือ 17 สาขาอาชีพ สูงสุด 715 บาท/วัน
  • อนุมัติใช้งบฯ พ.ร.ก.เงินกู้ปี’64 ซื้อยา-วัคซีนโควิดฯ
  • เวนคืนที่ดินบางบอนใต้ สร้างถนน 4 เลน
  • เมื่อวันที่ 31 มกราคม 2566 พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธานการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ณ ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล ภายหลังการประชุม ครม. เสร็จสิ้น พลเอก ประยุทธ์ ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชน รวมทั้งได้มอบหมายให้นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี รายงานข้อสั่งการของนายกรัฐมนตรีมีรายละเอียดดังนี้

    พลเอก ประยุทธ์ กล่าวว่า ในที่ประชุม ครม. วันนี้ มีหลายเรื่องสำคัญ ทั้งนโยบายของแต่ละกระทรวงที่หลายอย่างมีการอนุมัติกลั่นกรอง เห็นชอบ เรื่องกฎหมายต่างๆ โดยขอให้ติดตามการแถลงข่าวของทีมโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี

    ปัดตอบคำถามเรื่องหาพันธมิตรหลังเลือกตั้ง

    ผู้สื่อข่าวถามนายกรัฐมนตรีว่ามองหาพันธมิตรทางการเมืองภายหลังการเลือกตั้งไว้แล้วหรือไม่ พล.อ.ประยุทธ์ ตอบทันทีว่า “ขอคำถามอื่น”

    สั่งฟัน จนท.รีดไถเงินดาราสาวไต้หวัน – ทำลายภาพลักษณ์องค์กร

    พลเอก ประยุทธ์ ยังตอบคำถามกรณีดาราสาวไต้หวันร้องถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจไทยรีดไถเงิน ส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์การท่องเที่ยวประเทศไทยว่า คนมีหลายประเภท ทั้งคนดีและคนไม่ดี คนไม่ดีก็ต้องเอาออกไปลงโทษ

    “นายกรัฐมนตรี ไม่เคยปล่อยปะละเลย มีเรื่องมาก็สั่งสอบสวนทุกอัน ถ้ามีความผิด มีหลักฐานชัดเจน ต้องดำเนินคดี ว่ากันไปตามระเบียบวินัยและข้อกฎหมายต่างๆ มันมีคนไม่ดีอยู่ทุกที่ ผมพยายามทำให้ทุกคนมีความรักในองค์กรให้มากยิ่งขึ้น อย่าทำให้องค์กรเสียหาย เพราะทำให้ภาพลักษณ์ขององค์กรเสียหาย คนดีมันมีเยอะกว่าอยู่แล้ว เมื่อคนไม่ดีทำให้ภาพลักษณ์องค์กรเสียหาย ก็ต้องลงโทษ เอาคนไม่ดีออกมาให้หมด” พลเอก ประยุทธ์ กล่าว

    ยันไม่ก้าวล่วง กกต.กำหนดไทม์ไลน์เลือกตั้ง

    เมื่อถามถึงไทม์ไลน์ของการเลือกตั้ง พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า เป็นเรื่องของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ที่นายวิษณุนำมาถ่ายทอดต่อเท่านั้น รัฐบาลไม่มีสิทธิจะไปก้าวล่วง กกต.ใดๆ ทั้งสิ้น หน้าที่ของรัฐบาลก็หมดแล้ว ในเรื่องของ พ.ร.บ.การเลือกตั้งก็ออกมาเรียบร้อยแล้ว

    ทั้งนี้ มีคำถามอีกว่า ตอนนี้รัฐบาลมีไทม์ไลน์ไว้อยู่ในใจแล้วหรือยัง พล.อ.ประยุทธ์ ตอบสั้นๆ ว่า “ไม่มี ยังไม่มี”

    ห่วงการใช้จ่ายงบฯ 2 เดือนสุดท้ายก่อนเลือกตั้ง

    มีคำถามว่า 2 เดือนสุดท้ายของรัฐบาลมีอะไรเร่งด่วนหรือไม่ พลเอก ประยุทธ์ ตอบว่า “เป็นการทำงานปกติ ไม่ว่าเหลือเท่าไร ก็ทำให้ดีที่สุดเหมือนที่ทำมาหลายปีแล้ว อะไรสำคัญเร่งด่วนก็ทำไป เพียงแต่ขอให้ระมัดระวังเรื่องการจ่ายงบประมาณให้ระมัดระวังอย่างที่สุด”

    พลเอก ประยุทธ์ กล่าวต่อว่า ในช่วงการเลือกตั้งไม่ว่าจะช่วงเวลาใดก็ตาม รัฐบาลยังคงรักษาการอยู่ ก็ต้องชี้แจงเรื่องงบประมาณให้คุ้มค่าและโปร่งใส มีประสิทธิภาพ ตรวจสอบได้ทุกอย่าง หากมีการทุจริตก็ต้องไปตรวจสอบผู้รับผิดชอบในการที่จะชี้แจงว่าการใช้จ่ายงบประมาณถูกต้องหรือไม่ และลงโทษไปตามกระบวนการยุติธรรม

    ชี้ ดบ.นโยบาย – เงินเฟ้อไทยยังต่ำ หนุนการฟื้นตัวทาง ศก.

    นายอนุชา รายงานข้อสั่งการของนายกรัฐมนตรีว่า หลังจากที่คณะกรรมการนโยบายการเงิน มีมติเอกฉันท์ในการขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายร้อยละ 0.25% ต่อปี ทำให้อัตราดอกเบี้ยนโยบายอยู่ที่ร้อยละ 1.5 ต่อปี โดยเป็นผลสืบเนื่องจากการที่เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มฟื้นตัวจากภาคการท่องเที่ยวที่นักท่องเที่ยวเข้าประเทศ และการบริโภคของภาคเอกชน

    นายอนุชา กล่าวต่อว่า อยากให้หน่วยงานด้านเศรษฐกิจช่วยกันชี้แจงทำความเข้าใจกับประชาชนในมาตรการทางเศรษฐกิจที่ดำเนินการในช่วงนี้ ไม่ว่าจะเป็น อัตราเงินเฟ้อ อัตราดอกเบี้ย รวมถึงเงินบาทที่แข็งค่าขึ้น

    นายอนุชา กล่าวต่อว่า เมื่อมีการพิจารณาอัตราดอกเบี้ยนโยบายกับกลุ่มประเทศอาเซียน 5 (สิงคโปร์ เวียดนาม อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ และมาเลเซีย) จะเห็นว่าประเทศไทยยังมีอัตราดอกเบี้ยในระดับต่ำ เอื้อต่อการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ

    นายอนุชา เสริมว่า อัตราเงินเฟ้อของไทยต่ำกว่าประเทศอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็น สหรัฐอเมริกา ยูโรโซน หรืออาเซียน โดยปี 2564 อัตราเงินเฟ้ออยู่ที่ 1.2% ขณะที่เดือนธันวาคม 2565 สูงขึ้นมาเป็นระดับ 5.9% แต่ยังถือว่าต่ำกว่าหลายประเทศในภูมิภาค ทำให้การดำเนินงานด้านนโยบายการเงินการคลังเกิดความสมดุลและดำเนินการไปได้

    “ต้นปี 2564 อัตราดอกเบี้ยอยู่ที่ 0.5% ต่อมาปี 2565 ช่วงปลายปีอยู่ที่ 1.25% และเพิ่มอีก 0.25% เป็น 1.5% ทำให้อัตราเงินเฟ้อเป็นไปตามที่ฝ่ายนโยบายการเงินการคลังวางแผนไว้ เกิดความสมดุลต่อเศรษฐกิจทำให้ประเทศไทยเดินต่อด้วยความเข้มแข็ง” นายอนุชา กล่าว

    ฝากพาณิชย์ – เกษตร ดูแลต้นทุนเกษตรกร

    นายอนุชา กล่าวต่อว่า นายกรัฐมนตรี ฝากให้กระทรวงพาณิชย์ดูแลต้นทุนการเพาะปลูกสินค้าการเกษตร โดยเฉพาะการเพาะปลูกข้าวและปุ๋ย นอกจากนี้ยังขอให้กระทรวงเกษตรฯ เข้ามาดูแลการปลูกพืชทดแทน เช่น วนิลา เพราะอยู่ในพื้นที่ภาคเหนือและมีระดับสูงกว่าน้ำทะเล รวมถึงมีอากาศเอื้ออำนวยต่อการเพาะปลูกพืช ดังนั้นขอให้เพาะปลูกพืชการเกษตรอื่นๆ ที่ไม่ใช่พืชการเกษตรหลักในอดีต

    มอบ “วิษณุ” แจงไทม์ไลน์เลือกตั้ง เริ่ม ก.พ.นี้

    นายอนุชา กล่าวต่อว่า นายกรัฐมนตรี ได้มอบหมายให้ นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ชี้แจงในที่ประชุม ครม. เรื่องการประกาศในราชกิจจานุเบกษา ประกอบด้วยกฎหมายลูก 2 ฉบับ ได้แก่ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2566 และพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2566 ซึ่งมีการประกาศเมื่อวันที่ 28 มกราคม 2566 ส่วนไทม์ไลน์การเลือกตั้ง ตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์เป็นต้นไป มีดังนี้

    สัปดาห์แรกของเดือนกุมภาพันธ์ 2566 คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) จะมีการออกระเบียบและประกาศ 4 ฉบับ โดยฉบับที่ 1 ว่าด้วยจำนวน ส.ส.แต่ละฉบับ โดยจะมีการนำข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับประชากรมาดำเนินการ ฉบับที่ 2 ระเบียบและประกาศว่าด้วยการแบ่งเขต โดยจะเป็นการนำประชากรในแต่ละพื้นที่มาพิจารณาเพื่อดำเนินการแบ่งเขตหลังจากกำหนดจำนวนส.ส. ฉบับที่ 3 เป็นการประกาศระเบียบว่าด้วยการทำ primary vote คือการสรรหาผู้สมัคร เพื่อดำเนินการเตรียมความพร้อมในการนำเสนอตัวแทนพรรคการเมืองในการลงสมัครเป็นผู้แทนราษฎร และฉบับที่ 4 เกี่ยวกับการจัดตั้งสาขาพรรคและตัวแทนประจำจังหวัด

    สัปดาห์ที่สองของเดือนกุมภาพันธ์ 2566 กกต. ออกระเบียบว่าด้วยการเลือกตั้งฉบับสมบูรณ์

    นายอนุชา กล่าวต่อว่า รัฐบาลต้องการให้ออกระเบียบว่าด้วยการเลือกตั้งเป็นฉบับเดียว โดยมีรายละเอียดทั้งหมด โดยเฉพาะส่วนที่พรรคการเมืองสามารถดำเนินการได้ เช่น การติดตั้งป้ายประชาสัมพันธ์ การหาเสียง รวมถึงข้อห้ามต่างๆ

    “พูดง่ายๆ ว่าในอนาคตเราจะสามารถใช้ระเบียบนี้เป็นที่อ้างอิงฉบับเดียว โดยไม่ต้องไปดูประกาศแต่ละประกาศ หลังจากนั้นรัฐบาลจะพิจารณาความเหมาะสม และขึ้นกับ กกต.จะพิจารณาดำเนินการเรื่องการมีขั้นตอนต่างๆ โดยคาดว่าจะเสร็จในสิ้นเดือนกุมภาพันธ์ 2566 หลังจากนั้นจะดำเนินการได้ โดยไม่มีข้อติดขัด และดำเนินการให้ถูกต้องตาามกฎหมายทั้งในส่วนรัฐธรรมนูญและระเบียบต่างๆ” นายอนุชา กล่าว

    ขอบคุณ รมต.ที่ทำงานร่วมกันมา ย้ำยังรักษาการต่อ

    นายอนุชา กล่าวต่อว่า นายกรัฐมนตรี ขอบคุณคณะรัฐมนตรีที่ได้ทำงานร่วมกันมาตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา และจากนี้ไปจะต้องดำเนินการในลักษณะเดียวกันที่จะต้องทำงานอย่างเข้มแข็ง และแข็งขันโดยต่อเนื่อง

    “จนกว่าจะมีการประกาศเลือกตั้ง รัฐบาลจะยังรักษาการอยู่ ขอให้ดำเนินการต่อเนื่องในการยึดหลักปฏิบัติตามนโยบาย หลักการโปร่งใสและตรวจสอบได้” นายอนุชา รายงาน

    มติ ครม. มีดังนี้

    ดร.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี , นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกฯ และนางสาวทิพานัน ศิริชนะ รองโฆษกฯ ร่วมกันแถลงผลการประชุม ครม. ณ ตึกนารีสโมสร ทำเนียบรัฐบาล (ซ้ายไปขวา)
    ที่มาภาพ : www.thaigov.go.th/

    เปลี่ยนรถเมล์เอกชนเป็น “อีวี” ให้ “EA” ขายคาร์บอนเครดิต

    นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า วันนี้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบ หนังสือการอนุญาต (Letter of Authorization: LoA) ให้ดำเนินโครงการเปลี่ยนรถโดยสารประจำทางสาธารณะของภาคเอกชน เป็นรถโดยสารประจำทางไฟฟ้า (รถร่วมบริการ) ในพื้นที่ กทม. และมอบหมายให้เลขาธิการสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นผู้ลงนามในหนังสืออนุญาตให้แก่บริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน) เพื่อถ่ายโอนคาร์บอนเครดิตที่ได้จากการดำเนินโครงการตั้งแต่ พ.ศ. 2564 – 2573 (ค.ศ. 2021-2030) ให้แก่มูลนิธิ KLiK (The Foundation for Climate Protection and Carbon Offset) ของสมาพันธรัฐสวิส

    โครงการฯ ดังกล่าว เป็นการริเริ่มการเปลี่ยนผ่านจากรถโดยสารสาธารณะที่ใช้น้ำมันเชื้อเพลิง เป็นรถโดยสารสาธารณะที่ใช้พลังงานไฟฟ้า ครอบคลุมเส้นทางเดินรถโดยสารไฟฟ้าที่ได้รับอนุญาตให้ประกอบการขนส่งประจำทางจากกรมการขนส่งทางบก โดยคาดว่าจะส่งผลให้เกิดการลดก๊าซเรือนกระจก 100 ตันคาร์บอนไดออกไซด์/คัน/ปี หรือ 500,000 ตัน คาร์บอนไดออกไซด์ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2564-2573 (10 ปี) ซึ่งจะส่งเสริมให้ประชาชนได้เดินทางด้วยรถโดยสารสาธารณะที่มีความทันสมัย ปล่อยก๊าซเรือนกระจก

    และมลพิษต่ำ การลดฝุ่น PM 2.5 เปลี่ยนจากพลังงานฟอสซิลเป็นพลังงานสะอาด เกิดการเปลี่ยนรูปแบบการเดินทางของประชาชน ซึ่งช่วยให้คุณภาพสิ่งแวดล้อมคุณภาพ ชีวิตและสุขภาพของประชาชนดีขึ้น

    โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวเพิ่มเติมว่า การดำเนินการดังกล่าว เป็นไปตามความตกลงปารีสระหว่างราชอาณาจักรไทยและสมาพันธรัฐสวิส ซึ่งเป็นกรอบความร่วมมือสำหรับการถ่ายโอนผลการลดก๊าซเรือนกระจกระหว่างประเทศ เปิดโอกาสให้ภาคส่วนในประเทศไทยสามารถถ่ายโอนผลการลดก๊าซเรือนกระจกระหว่างราชอาณาจักรไทยและสมาพันธรัฐสวิส ช่วยต่อยอดการดำเนินงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ให้เป็นไปตามแผนนโยบายพลังงาน และยุทธศาสตร์พลังงานแห่งชาติ รองรับการเปลี่ยนผ่านพลังงานของประเทศ โดยเฉพาะการปรับตัวสู่การเป็นสังคมคาร์บอนต่ำ รวมถึงการส่งเสริมยานยนต์ไฟฟ้าตามนโยบาย 30@30 ซึ่งไทยกำลังขับเคลื่อนเพื่อก้าวสู่การเป็นฐานการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าที่สำคัญของโลก

    ขยายระยะเวลาส่งเสริมผลิตข้าวอินทรีย์ถึงสิ้น ก.ย.นี้

    นายอนุชา กล่าวว่าที่ประชุม ครม. เห็นชอบขยายระยะเวลาการดำเนินงาน โครงการส่งเสริมการผลิตข้าวอินทรีย์ ถึงสิ้นสุดปีงบประมาณ 2566 จากเดิมสิ้นสุดปีงบประมาณ พ.ศ. 2565

    โครงการส่งเสริมการผลิตข้าวอินทรีย์ มีสาระสำคัญ ดังนี้

  • คุณสมบัติเกษตรกร เป็นกลุ่มเกษตรกรที่มีสมาชิก 5 คนขึ้นไป และมีพื้นที่รวมกันไม่ต่ำกว่า 100 ไร่ โดยต้องมีทะเบียนเกษตรกร มีเอกสารสิทธิ์ในพื้นที่ เป็นต้น
  • รูปแบบการส่งเสริม โดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ สนับสนุนเงินอุดหนุนแก่เกษตรกร ที่ผ่านการประเมินตามที่กำหนดไม่เกินรายละ 15 ไร่ แบ่งการจ่ายเงิน 3 ระยะ ต่อเนื่อง 3 ปี ดังนี้ ระยะเตรียมความพร้อม (T1) สนับสนุนเงินอุดหนุน ไร่ละ 2,000 บาท ระยะปรับเปลี่ยน (T2) สนับสนุนเงินอุดหนุน ไร่ละ 3,000 บาท และระยะการรับรองมาตรฐานการผลิตข้าวอินทรีย์ (Organic Thailand) (T3) สนับสนุนเงินอุดหนุน ไร่ละ 4,000 บาท (เกษตรกรจะร่วมโครงการฯ ที่ระยะ T1 และเมื่อผ่านการประเมินจะเลื่อนเป็นระยะ T2 และ T3 ในปีถัดไป ตามลำดับ)
  • ระยะเวลาโครงการฯ 5 ปี (ปี 2560 – 2564) โดยจะรับเกษตรกรเฉพาะปี 2560 – 2562 เพื่อให้สอดคล้องกับการประเมิน 3 ระยะ (T1, T2 และ T3) ที่ต่อเนื่อง 3 ปี
  • วงเงินงบฯ 9,696.52 ล้านบาท (ตามมติ ครม. เมื่อวันที่ 11 เมษายน 2560)
  • ประโยชน์ที่คาดจะได้รับสามารถผลิตข้าวเปลือกอินทรีย์ได้ประมาณ 400,000 ตัน สร้างกลุ่มชาวนาที่มีความเข้มแข็ง รักษาระบบนิเวศและสภาพแวดล้อมให้มีความสมดุล
  • สำหรับปี 2564 นั้น กรมการข้าวยังไม่สามารถจ่ายเงินอุดหนุนได้ เนื่องจากผลผลิตข้าวอินทรีย์ส่วนใหญ่จะเก็บเกี่ยวในช่วงพฤศจิกายน – ธันวาคมของทุกปี ซึ่งในการประชุม นบข. เมื่อวันที่ 8 กันยายน 2565 มีมติเห็นชอบให้ขยายระยะเวลาดำเนินโครงการฯ เพื่อให้สอดคล้องกับฤดูเก็บเกี่ยวข้าวอินทรีย์ รวมทั้งเพื่อให้ กรมการข้าว กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มีระยะเวลาพอเพียงในการตรวจสอบสิทธิเกษตรกร เพื่อจ่ายเงินอุดหนุนแก่เกษตรกรที่เหลือ โดยให้เสร็จสิ้นภายในปีงบฯ 2566

    ทั้งนี้ โครงการฯ ดำเนินการอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2560 ตามแผนการผลิตและการตลาดข้าวครบวงจร ปี 2560/2561 โดยมีกรอบวงเงิน 9,696.52 ล้านบาท เพื่อส่งเสริมการผลิตข้าวอินทรีย์ ให้ได้พื้นที่ 1 ล้านไร่ และให้เกษตรกรได้รับการรับรองการผลิตข้าวตามมาตรฐาน ข้าวอินทรีย์ (Organic Thailand) จำนวน 66,700 คน ภายในปี 2564 ซึ่งผลการดำเนินการระหว่างปี 2560-2564 มีกลุ่มเกษตรกรกลุ่ม T1, T2 และ T3 ที่เข้าร่วมโครงการฯ จำนวน 94,888 คน (จำนวน 4,636 กลุ่ม) และมีพื้นที่ปลูกข้าวอินทรีย์ที่ร่วมโครงการฯ

    นายกรัฐมนตรี ยังกล่าวในที่ประชุม ครม. ว่า โครงการฯ สอดคล้องกับโครงการข้าวรักษ์โลก และแนวทาง BCG ของรัฐบาล จึงเห็นสมควรให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ร่วมกับกระทรวงพาณิชน์และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพิ่มขีดความสามารถในการส่งออกสินค้าไทย พัฒนาช่องทางการขายข้าวอินทรีย์ เช่น การค้าออนไลน์ เพื่อให้สินค้าสามารถเข้าถึงผู้บริโภคได้โดยตรง ตลอดจนพัฒนา การตลาดและการแปรรูปผลิตภัณฑ์ข้าวอินทรีย์เพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการของผู้บริโภคทุกช่วงวัย ทั้งในและต่างประเทศ เพื่อให้ข้าวอินทรีย์และผลิตภัณฑ์จากข้าวอินทรีย์มีศักยภาพในการแข่งขันในตลาดภายในประเทศและระหว่างประเทศ

    อนุมัติใช้งบฯ พ.ร.ก.เงินกู้ปี’64 ซื้อยา-วัคซีนโควิดฯ

    นายอนุชา กล่าวว่าที่ประชุม ครม. อนุมัติเปลี่ยนแปลงรายละเอียดโครงการที่ได้รับอนุมัติให้ใช้จ่ายจากเงินกู้ตาม พ.ร.ก.กู้เงินฯ เพิ่มเติม พ.ศ. 2564 (วงเงิน 500,000 ล้านบาท) จำนวน 4 โครงการ ดังนี้

    1. โครงการจัดหายารักษาผู้ป่วยโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 และวัสดุอุปกรณ์ทางการแพทย์สำหรับเตรียมความพร้อมในการรับมือและป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ของหน่วยบริการสุขภาพ โดยสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข กระทรวงสาธารณสุข ระยะเวลาดำเนินโครงการฯ ถึงธันวาคม 2565 กรอบวงเงิน 3,995.27 ล้านบาท ซึ่ง สธ. ได้ ดำเนินการซื้อยาภายใต้โครงการดังกล่าวครบถ้วนแล้วและยัง มีกรอบเงินกู้เหลือจ่ายประมาณ 766.79 ล้านบาท จึงให้ปรับแผนเพื่อจัดซื้อยาไวรัสเพิ่มเติมจากวงเงินกู้เหลือจ่าย ได้แก่ ยา Favipiravir/Molnupiravir จำนวน 30 ล้านเม็ด ยา Remdesivir จำนวน 300,000 vial โดยมุ่งเน้นการซื้อยา Molnupiravir เป็นหลัก และให้ขยายระยะเวลาโครงการ เป็นสิ้นสุด มีนาคม 2566

    2. โครงการจัดหาวัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อไวรัส โคโรนา 2019 (COVID – 19) สำหรับบริการประชากรไทย จานวน 60 ล้านโดส (AstraZeneca) ปี 2565 ของกรมควบคุมโรค กรอบวงเงิน 18,639.11 ล้านบาท สิ้นสุดเดือนธันวาคม 2565 ทั้งนี้ ให้ขยายระยะเวลาเป็นสิ้นสุดเดือนกันยายน 2566 และให้กรมควบคุมโรคพิจารณาจัดหา วัคซีนในส่วนที่เหลือ กรณีวัคซีนรุ่นใหม่ที่สามารถรองรับการกลายพันธุ์ของเชื้อ รวมทั้งเร่งประชาสัมพันธ์ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับข้อมูลในการฉีด เข็มกระตุ้นเพื่อสร้างการรับรู้/ความเข้าใจที่ถูกต้องต่อไป

    3. โครงการพัฒนาศักยภาพหน่วยบริการสังกัด สป.สธ. เพื่อขยายการรองรับ การดูแลผู้ป่วย COVID – 19 ที่มีอาการจนถึงระยะวิกฤติ ระยะเวลาดำเนินการถึงธันวาคม 2565 ให้ขยายระยะเวลาโครงการฯ เป็นสิ้นสุด มิถุนายน 2566

    4. โครงการวิจัยและพัฒนาวัคซีนโควิด – 19 (ChulaCov19 mRNA) ที่ผลิตเองในไทย เพื่อทำการทดสอบทางคลินิกระยะที่ 1-3 และการผลิต เพื่อดำเนินการขึ้นทะเบียนวัคซีนเพื่อใช้ในภาวะฉุกเฉิน ของจุฬาลงกรณ์ อว. ให้ปรับแก้ไขชื่อโครงการเป็น โครงการวิจัยและพัฒนาวัคซีนโควิด – 19 ChulaCov19 mRNA ที่ผลิตเองในไทย เพื่อทำการทดสอบ ทางคลินิก และการพัฒนาวัคซีนโควิด – 19 รุ่นสอง สำหรับสายพันธุ์ใหม่ให้สอดคล้องกับข้อเท็จจริง

    ห้ามส่งออก “ทรายธรรมชาติทุกชนิด”

    ดร.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่าที่ประชุม ครม. อนุมัติร่างประกาศกระทรวงพาณิชย์ เรื่อง กำหนดให้ทรายเป็นสินค้าที่ต้องห้ามในการส่งออกไปนอกราชอาณาจักร พ.ศ. …. ตามที่กระทรวงพาณิชย์เสนอ เพื่อเป็นการสงวนทรายซึ่งเป็นทรัพยากรธรรมชาติที่สำคัญไว้ใช้กับอุตสาหกรรมในประเทศ

    ร่างประกาศกระทรวงพาณิชย์ฉบับนี้ มีสาระสำคัญเป็นการปรับปรุงมาตรการควบคุมการส่งออกทรายและยกเลิกมาตรการควบคุมการส่งออกแร่ที่มีทรายเป็นส่วนประกอบ โดยปรับปรุง ดังนี้

    1. กำหนดให้ทรายตามพิกัดศุลกากรประเภท 25.05 เป็นทรายธรรมชาติทุกชนิด จะแต่งสีหรือไม่ก็ตาม ยกเว้นทรายที่มีโลหะปน ให้เป็นสินค้าห้ามส่งออก โดยไม่ได้กำหนดค่าซิลิกาออกไซต์ไว้ (จากเดิมที่กำหนดให้ทรายธรรมชาติทุกชนิดที่มีซิลิกาออกไซต์เกินกว่าร้อยละ 75 เป็นสินค้าห้ามส่งออก) ได้แก่ 1.1 ทรายซิลิกา และทรายควอร์ตซ์ โดยทรายซิลิกา เป็นทรายที่ใช้ในอุตสาหกรรมส่วนใหญ่ และพบมากบริเวณหาดทราย ชายทะเล ใช้สำหรับในงานอุตสาหกรรมแก้ว กระจก เซรามิก ส่วนทรายควอร์ตซ์ เป็นทรายซิลิกาที่มีคุณภาพสูง ทนความร้อนได้สูง มีความแข็งแรงใช้ในงานอุตสาหกรรมทนไฟ กรองน้ำ ทำพื้นทนแรงกระแทกได้ดี ใช้ผสมกับเรซิ่น-อีพ็อกซี่ เพื่อเสริมความแข็งแรง และ 1.2 ทรายอื่นๆ

    2. ยกเว้นการส่งออกทรายในกรณี ดังนี้ 2.1 กรณีส่งออกเป็นตัวอย่าง หรือศึกษาวิจัย หรือกรณีนำติดตัวออกไป เพื่อใช้เฉพาะตัวในปริมาณไม่เกิน 2 กิโลกรัม หรือ 2.2 กรณีที่ยานพาหนะนำออกไปเพื่อใช้ในยานพาหนะนั้นๆ ให้ปริมาณเป็นไป ตามพันธกรณีระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้อง เช่น เอาไว้ถ่วงสมดุลเรือ และการป้องกันอัคคีภัยในเรือ ตามอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยความปลอดภัยแห่งชีวิตในทะเล ค.ศ.1974

    ถอนกฎกระทรวงกำกับ “ทรัสตี-คราวด์ฟันดิง” ออกจาก กม.ฟอกเงิน

    ดร.รัชดา กล่าวว่า ที่ประชุม ครม. อนุมัติให้ถอนร่างกฎกระทรวง (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. ออกตามความในพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปราบการฟอกเงิน พ.ศ.2542 ตามที่สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (สำนักงาน ปปง.) เสนอ ร่างกฎกระทรวงฉบับนี้ มีสาระสำคัญเป็นการกำหนดให้ผู้ประกอบธุรกิจเป็นทรัสตี และผู้ประกอบธุรกิจให้บริการระบบคราวด์ฟันดิง เป็นสถาบันการเงินตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน เพื่อป้องกันนักทุนลงใช้ช่องทางจากธุรกิจในการฟอกเงินผิดกฎหมาย

    ความจำเป็นที่ต้องเสนอถอนร่างกฎกระทรวงฉบับนี้ เนื่องจากคณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะพิเศษ) ได้ตรวจพิจารณาแล้ว เห็นว่า การกำหนดให้ผู้ประกอบธุรกิจเป็นทรัสตีเป็นสถาบันการเงินตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน จะทำให้ผู้ประกอบการธุรกิจมีหน้าที่เช่นเดียวกับสถาบันการเงิน ซึ่งอาจก่อให้เกิดภาระแก่ผู้ประกอบการเกินความจำเป็น อย่างไรก็ตาม ธุรกิจดังกล่าวยังคงมีความเสี่ยงที่อาจถูกใช้เป็นช่องทางในการฟอกเงิน คณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะพิเศษ) จึงแก้ไขเพิ่มเติมร่างพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. ที่อยู่ระหว่างการตรวจพิจารณาของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา (สคก.) โดยกำหนดให้ผู้ประกอบธุรกิจเป็นทรัสตีตามกฎหมายว่าด้วยทรัสต์เพื่อธุรกรรมในตลาดทุน เป็นผู้มีหน้าที่รายงานการทำธุรกรรมต่อ สำนักงาน ปปง. ด้วย

    ส่วนการประกอบธุรกิจคราวด์ฟันดิง เป็นธุรกิจใหม่ที่รัฐบาลมีนโยบายส่งเสริมและสนับสนุนให้ผู้ประกอบธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SME) สามารถระดมทุนเพื่อนำไปใช้ในการประกอบธุรกิจ ซึ่งปัจจุบันสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ มีระบบการกำกับดูแลการประกอบธุรกิจและการลงทุนในระบบคราวด์ฟันดิง โดยให้มีการระดมเงินลงทุนในมูลค่าที่ไม่สูงจนเกินไป และยังไม่ปรากฏข้อมูลว่ามีการฟอกเงินผ่านธุรกิจประเภทนี้ ดังนั้น เพื่อไม่ให้การดำเนินธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อมได้รับผลกระทบจนถึงขั้นต้องหยุดชะงัก จึงเห็นควรชะลอการกำหนดให้ผู้ประกอบธุรกิจให้บริการระบบคราวด์ฟันดิงเป็นสถาบันการเงินไว้ก่อน หากในอนาคตสำนักงาน ปปง. เห็นว่ามีความจำเป็นต้องให้ผู้ประกอบธุรกิจให้บริการระบบคราวด์ฟันดิงมีหน้าที่รายงานการทำธุรกรรมต่อสำนักงาน ปปง. ก็สามารถทำได้ตาม ร่าง พ.ร.บ. ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. ที่อยู่ระหว่างการตรวจพิจารณาของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา

    ด้วยเหตุนี้ สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินจึงขอถอนร่างกฎกระทรวงฉบับดังกล่าว เพื่อให้สอดคล้องตามความเห็นของคณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะพิเศษ) และลดผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นกับผู้ประกอบการด้วย

    เวนคืนที่ดินบางบอนใต้ สร้างถนน 4 เลน

    ดร.รัชดา กล่าวว่าที่ประชุม ครม. อนุมัติร่างพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินที่จะเวนคืน ในท้องที่แขวงบางบอนใต้ เขตบางบอน กรุงเทพมหานคร พ.ศ. …. สำหรับการก่อสร้างและขยายทางหลวงท้องถิ่น สายซอยเอกชัย 101 เพื่ออำนวยความสะดวกการจราจรแก่ประชาชนในพื้นที่บริเวณฝั่งธนบุรีใต้ และการเดินทางเข้า – ออก สวนสาธารณะเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 7 รอบ ร่างพระราชกฤษฎีกาฉบับนี้ มีสาระสำคัญเป็นการกำาหนดเขตที่ดินที่จะเวนคืน ในท้องที่แขวงบางบอนใต้ เขตบางบอน กรุงเทพมหานคร เพื่อก่อสร้างและขยายทางหลวงท้องถิ่น สายซอยเอกชัย 101 มีกำหนดใช้บังคับ 3 ปี โดยให้เริ่มต้นเข้าสำรวจที่ดินและอสังหาริมทรัพย์ที่อยู่ภายในแนวเขตที่ดินที่จะเวนคืน ภายใน 120 วัน นับแต่วันที่พระราชกฤษฎีกานี้ใช้บังคับ

    โครงการก่อสร้างและขยายทางหลวงท้องถิ่น สายซอยเอกชัย 101 เป็นหนึ่งในโครงการเพื่อส่งเสริมให้กรุงเทพมหานครเป็น “มหานครสีเขียว” ตั้งอยู่ในพื้นที่แขวงบางบอนใต้ เขตบางบอน ระหว่างซอยเอกชัย 101 กับถนนพระรามที่ 2 ซอย 82 ริมคลองบางบอน มีพื้นที่ขนาด 100 ไร่ จุดเริ่มต้นโครงการอยู่บริเวณปากซอยเอกชัย 101 ระยะทางยาวประมาณ 470 เมตร โดยจะดำเนินการขยายเป็นถนนคอนกรีตเสริมเหล็กเขตทาง กว้าง 20 เมตร ขนาด 4 ช่องจราจร ทิศทางละ 2 ช่องจราจร (จากเดิมที่เป็นถนนลาดยาง กว้างประมาณ 5 เมตร ขนาด 2 ช่องทางจราจร 2 ทิศทาง) พร้อมท่อระบายน้ำ บ่อพัก ทางเท้าทั้งสองฝั่ง ไฟฟ้าแสงสว่าง ป้ายเครื่องหมายจราจร และสิ่งอำนวยความสะดวกอื่นๆ นอกจากนี้ จะมีการปรับปรุงสะพานข้ามคลองบางบอน ซึ่งอยู่ติดสวนสาธารณะเฉลิมพระเกียรติฯ โดยปรับปรุงเป็นสะพานคอนกรีตเสริมเหล็กกว้างประมาณ 16 เมตร ระยะทางยาวประมาณ 75 เมตร เพื่อให้ประชาชนสามารถนำรถยนต์ข้ามคลองไปสวนสาธารณะเฉลิมพระเกียรติฯ ได้สะดวกยิ่งขึ้นและเป็นจุดสิ้นสุดของโครงการ

    ดร.รัชดา กล่าวด้วยว่า กรุงเทพมหานครมีแผนการจัดการกรรมสิทธิ์และการเบิกจ่ายค่าทดแทน โดยประมาณการจัดการค่ากรรมสิทธิ์จำนวน 14.28 ล้านบาท ซึ่งจะใช้จ่ายจากงบประมาณของกรุงเทพมหานคร

    กำหนดอุตฯ เป้าหมายในระเบียงเศรษฐกิจเพิ่มอีก 17 กิจการ

    ดร.รัชดา กล่าวว่าที่ประชุม ครม. เห็นชอบกำหนดคลัสเตอร์อุตสาหกรรมเป้าหมายในระยะแรกสำหรับระเบียงเศรษฐกิจพิเศษ ตามมติที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษ (กพศ.) ครั้งที่ 2/2565 เมื่อวันที่ 21 ตุลาคม 2565 แบ่งเป็น 4 กลุ่ม ดังนี้

    1. ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคเหนือ (NEC) ประกอบด้วย จังหวัดเชียงราย เชียงใหม่ ลำพูน และลำปาง เน้นอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ อุตสาหกรรมดิจิทัล อุตสาหกรรมท่องเที่ยวและท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ (Wellness Tourism) และอุตสาหกรรมเกษตรและอาหาร

    2. ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (NeEC) ประกอบด้วย จังหวัดนครราชสีมา ขอนแก่น อุดรธานี และหนองคาย เน้นอุตสาหกรรมชีวภาพ อุตสาหกรรมเกษตรและอาหาร

    3. ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคกลาง-ตะวันตก (CWEC) ประกอบ ด้วยจังหวัดพระนครศรีอยุธยา นครปฐม สุพรรบุรี และกาญจนบุรี เน้นอุตสาหกรรมเกษตรและอาหาร อุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์

    4. ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้ (SEC) ประกอบด้วย จังหวัดชุมพร ระนอง สุราษฎร์ธานี และนครศรีธรรมราช เน้นอุตสาหกรรมเกษตรและอาหาร อุตสาหกรรมชีวภาพ และอุตสาหกรรมท่องเที่ยวและท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ (Wellness Tourism)

    ดร.รัชดา กล่าวด้วยว่า ครม. ยังมีมติเห็นชอบการขยายกิจการเป้าหมายและสิทธิประโยชน์ในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษชายแดน จากเดิม 72 ประเภทกิจการ ขยายเป็น 89 ประเภทกิจการ โดยมี 17 ประเภทกิจการที่เสนอเพิ่มเติม ดังนี้ 1.กิจการปรับปรุงพันธุ์พืชหรือสัตว์ (ที่ไม่เข้าข่ายกิจการเทคโนโลยีชีวภาพ) 2.กิจการประมงน้ำลึก 3.กิจการผลิตภัณฑ์จากยางธรรมชาติ 4.กิจการผลิตเชื้อเพลิงหรือแอลกอฮอล์ทางการแพทย์ (Pharmaceutical Grade) จากผลผลิตทางการเกษตร รวมทั้งเชื้อเพลิงจากเศษวัสดุหรือขยะหรือของเสียที่ได้จากผลผลิตทางการเกษตร 5.กิจการผลิตวัสดุทนไฟหรือฉนวนกันความร้อน (ยกเว้นอิฐมวลเบา อิฐน้ำหนักเบา) 6.กิจการผลิตยางล้อสำหรับยานพาหนะ 7.กิจการผลิตเยื่อกระดาษหรือกระดาษ รวมถึงผลิตภัณฑ์ต่อเนื่องในโครงการเดียวกัน 8.กิจการผลิตผลิตภัณฑ์จากเยื่อกระดาษหรือกระดาษ 9.กิจการผลิตอาหารทางการแพทย์ หรือผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร 10.กิจการบริการสาธารณสุขด้านแพทย์แผนไทย 11.กิจการศูนย์การแพทย์เฉพาะทาง 12.กิจการบริการขนส่งผู้ป่วย แพทย์ หรืออุปกรณ์ทางการแพทย์ (ทางอากาศ ทางบก หรือทางเรือ) 13.กิจการหอประชุมชนาดใหญ่ 14.กิจการผลิตพลังงานไฟฟ้าหรือ พลังงานไฟฟ้าและไอน้ำจากขยะ หรือเชื้อเพลิงจากขยะ 15.กิจการผลิตพลังานไฟฟ้า หรือ พลังงานไฟฟ้าและไอน้ำจากพลังงานหมุนเวียน เช่น แสง เช่น ตย์ ลม ชีวมวล ก๊าซชีวภาพ เป็นต้น ยกเว้นขยะหรือเชื้อพลิงจากขยะ 16.กิจการบริการแก่ธุรกิจสร้างภาพยนตร์ และ 17.กิจการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์

    เคาะค่าจ้างมาตรฐานฝีมือ 17 สาขาอาชีพ สูงสุด 715 บาท/วัน

    ดร.รัชดา กล่าวว่าที่ประชุม ครม. เห็นชอบกำหนดอัตราค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมือ 3 สาขาอาชีพ รวม 17 สาขา ตามมติที่ประชุมคณะกรรมการค่าจ้างชุดที่ 21 ครั้งที่ 11/2565 โดยกำหนดอัตราค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมือ 17 สาขา ดังนี้

      กลุ่มสาขาอาชีพช่างอุตสาหการ ประกอบด้วย 1. สาขาช่างระบบส่งถ่ายกำลัง ค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมือ (ระดับ 1) 495 บาทต่อวัน 2. สาขาช่างระบบปั๊มและวาล์ว 515 บาทต่อวัน 3. สาขาช่างประกอบโครงสร้างเหล็ก 500 บาทต่อวัน 4. สาขาช่างปรับ 500 บาทต่อวัน 5. สาขาผู้ควบคุมระบบงานเชื่อมมิก – แม็ก ด้วยหุ่นยนต์ 520 บาทต่อวัน และ 6. สาขาช่างเมคคาทรอนิกส์และหุ่นยนต์อุตสาหกรรม ค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมือ (ระดับ 1) 545 บาทต่อวัน (ระดับ 2) 635 บาทต่อวัน (ระดับ 3) 715 บาทต่อวัน
      กลุ่มสาขาอาชีพช่างเครื่องกล ประกอบด้วย 1. สาขาช่างซ่อมรถแทรกเตอร์การเกษตร ค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมือ (ระดับ 1) 465 บาทต่อวัน (ระดับ 2) 535 บาทต่อวัน (ระดับ 3) 620 บาทต่อวัน 2. สาขาพนักงานควบคุมเครื่องจักรรถตักหน้าขุดหลัง 585 บาทต่อวัน 3. สาขาพนักงานควบคุมเครื่องจักรรถขุด 570 บาทต่อวัน 4. สาขาพนักงานควบคุมเครื่องจักรรถลากจูง 555 บาทต่อวัน (โดยปรับขึ้นจากเดิม 550 บาทต่อวัน) และ 5. สาขาพนักงานควบคุมเครื่องจักรรถตัก 520 บาทต่อวัน
      กลุ่มสาขาอาชีพภาคบริการ ประกอบด้วย 1. สาขานักส่งเสริมสุขภาพแบบองค์รวม ไทยสัปปายะ (โภชนบำบัด) ค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมือ (ระดับ 1) 500 บาทต่อวัน (ระดับ 2) 600 บาทต่อวัน 2. สาขานักส่งเสริมสุขภาพแบบองค์รวม ไทยสัปปายะ (วารีบำบัด) (ระดับ 1) 500 บาทต่อวัน (ระดับ 2) 600 บาทต่อวัน 3. สาขานักส่งเสริมสุขภาพแบบองค์รวม ไทยสัปปายะ (สุคนธบำบัด) (ระดับ 1) 500 บาทต่อวัน (ระดับ 2) 600 บาทต่อวัน 4. สาขาพนักงานผสมเครื่องดื่ม (ระดับ 1) 475 บาทต่อวัน (ระดับ 2) 525 บาทต่อวัน (ระดับ 3) 600 บาทต่อวัน 5. สาขาการเลี้ยงดูเด็กปฐมวัย 530 บาทต่อวัน และ 6. สาขาช่างเครื่องช่วยคนพิการ (ระดับ 1) 520 บาทต่อวัน (ระดับ 2) 600 บาทต่อวัน

    ทั้งนี้ อัตราค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมือจะมีผลใช้บังคับ เก้าสิบวันหลังจากวันที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป

    ดร.รัชดา กล่าวด้วยว่า เมื่อประกาศกำหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ หรือ อัตราค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมือมีผลใช้บังคับแล้ว ห้ามไม่ให้นายจ้างจ่ายค่าจ้างให้แก่ลูกจ้างน้อยกว่าอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ หรือ อัตราค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมือที่กำหนด หากนายจ้างฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตาม ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

    เห็นชอบร่างความร่วมมือด้านดิจิทัลกับต่างประเทศ 7 ฉบับ

    นางสาวทิพานัน ศิริชนะ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ที่ประชุม ครม. มีมติเห็นชอบร่างเอกสาร 7 ฉบับที่จะมีการร่วมลงนาม รับรอง และให้ความเห็นชอบในการประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสอาเซียนด้านดิจิทัล (ADGSOM) ครั้งที่ 3 และการประชุมรัฐมนตรีอาเซียนด้านดิจิทัล (ADGMIN) ครั้งที่ 3 และการประชุมที่เกี่ยวข้องรัฐมนตรีอาเซียนด้านดิจิทัล ครั้งที่ 3 และการประชุมที่เกี่ยวข้องที่จะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 6 -10 กุมภาพันธ์ 2566 ณ เกาะโบราเคย์ ฟิลิปปินส์ ตามที่กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมเสนอ และมีมติอนุมัติให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม หรือ ผู้แทนที่ได้รับมอบหมายลงนามในร่างบันทึกความเข้าใจระหว่างสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) และสหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ (ไอทียู: ITU) ว่าด้วยสาขาความร่วมมือด้านดิจิทัล และร่วมรับรองร่างปฏิญญาดิจิทัลโบราเคย์

    สำหรับร่างเอกสารฯ 7 ฉบับที่จะมีการร่วมลงนาม รับรอง และให้ความเห็นชอบในการประชุมรัฐมนตรีอาเซียนด้านดิจิทัลดังกล่าว มีสาระสำคัญสรุปได้ดังนี้

    1. ร่างบันทึกความเข้าใจระหว่างสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) และสหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ (ไอทียู: ITU) ว่าด้วยสาขาความร่วมมือด้านดิจิทัล ที่จะมีผลบังคับใช้เป็นระยะเวลา 3 ปี โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างความร่วมมือที่เข้มแข็งระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียนและ ITU ภายใต้ขอบเขตความร่วมมือ 11 ด้าน เช่น เทคโนโลยีและนวัตกรรมเกิดใหม่เพื่อสนับสนุนด้านเศรษฐกิจและสังคมดิจิทัลอย่างบูรณาการและรับมือกับวิกฤตของโรคโควิด-19 แนวทางการพัฒนาเมืองอัจฉริยะและยั่งยืนเพื่อสนับสนุนการเติบโตและการพัฒนาของเมือง ข้อริเริ่มเพื่อสนับสนุนการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลอย่างสร้างสรรค์ มีนวัตกรรม ปลอดภัย ทำงานร่วมกันได้ และยั่งยืน และการดำเนินกิจกรรมต่างๆ จะอยู่ภายใต้รูปแบบการจัดการประชุม เชิงปฏิบัติการ และ/หรือกิจกรรมเสริมสร้างศักยภาพด้านต่างๆ เป็นต้น

    2. ร่างปฏิญญาดิจิทัลโบราเคย์ เป็นเอกสารที่มุ่งขับเคลื่อนการผลักดันการเป็นสังคมดิจิทัลที่ครอบคลุมทั่วทั้งภูมิภาคอาเซียนด้วยการออกแบบแนวทางการแก้ไขปัญหาด้วยดิจิทัลและใช้ประโยชน์จากดิจิทัลอย่างเต็มที่เพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิตและชีวิตความเป็นอยู่ของพลเมือง รวมถึงส่งเสริมการเติบโตด้านเศรษฐกิจของภูมิภาคอาเซียนอย่างเท่าเทียม โดยให้ความสำคัญกับประเด็น เช่น เสริมสร้างความเข้มแข็งในด้านโครงสร้างพื้นฐานและด้านการมีปฏิสัมพันธ์ระหว่างบุคคลเพื่อลดความเหลื่อมล้าทางดิจิทัล สร้างความมั่นใจว่าการปรับเปลี่ยนไปสู่ดิจิทัลที่มีประชาชนเป็นศูนย์กลาง ที่จะสอดคล้องกับเป้าหมายในการเพิ่มคุณภาพและการใช้งานของบริการอิเล็กทรอนิกส์ภาครัฐและแนวทางการแก้ไขปัญหาซึ่งสามารถเชื่อมโยงกับภาคธุรกิจและสนับสนุนนวัตกรรมสำหรับรูปแบบธุรกิจใหม่

    3. ร่างแนวทางปฏิบัติร่วมระหว่างข้อสัญญาต้นแบบของอาเซียนและข้อสัญญามาตรฐานของสหภาพยุโรปสาหรับการโอนข้อมูลระหว่างประเทศ เป็นเอกสารที่จัดทำขึ้นเพื่อช่วยให้ภาคธุรกิจเข้าใจถึงความเหมือนและความแตกต่างกันระหว่างข้อสัญญาที่เกี่ยวข้องกับการโอนย้ายข้อมูลของทั้งสองภูมิภาค ซึ่งจะช่วยอำนวยความสะดวกในการปฏิบัติตามกฎหมายคุ้มครองข้อมูลของอาเซียนและสหภาพยุโรปตามความเหมาะสม และช่วยให้ภาคธุรกิจสามารถปฏิบัติตามข้อกาหนดของข้อสัญญาได้ง่ายยิ่งขึ้น

    4. ร่างรายงานการศึกษาภูมิทัศน์ปัญญาประดิษฐ์ของอาเซียน เป็นผลการศึกษายุทธศาสตร์ ข้อริเริ่ม และกรอบธรรมาภิบาลด้าน AI เพื่อนำมาใช้เป็นข้อมูลพื้นฐานในการจัดทากรอบธรรมาภิบาลด้าน AI สำหรับอาเซียน โดยได้เสนอหลักการ 7 ข้อ ได้แก่ 1.ความโปร่งใส 2.ความเป็นธรรมและความเท่าเทียม 3.ความมั่นคงและความปลอดภัย 4.การยึดมนุษย์เป็นศูนย์กลาง 5.ความเป็นส่วนตัวและธรรมาภิบาลด้านข้อมูล 6.ความรับผิดชอบ และ 7.เสถียรภาพและความน่าเชื่อถือของระบบ

    5. ร่างกรอบการดำเนินงานเพื่อส่งเสริมการเติบโตของวิสาหกิจเริ่มต้นด้านดิจิทัลในอาเซียน เพื่อพัฒนากรอบการดำเนินงานของระบบนิเวศที่เอื้ออำนวยสำหรับสตาร์ทอัพด้านดิจิทัลในอาเซียน

    6. ร่างข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย: กรอบการดำเนินงานเพื่อส่งเสริมการเติบโตของวิสาหกิจเริ่มต้นด้านดิจิทัลในอาเซียน 6 เสาหลัก ได้แก่ 1.ผู้มีความสามารถ 2.การศึกษา 3.เงินทุน 4.ความเชื่อมโยง 5.สภาพแวดล้อมทางกฎหมาย และ 6.โครงสร้างพื้นฐาน ซึ่งจะนำไปสู่การพัฒนานวัตกรรมและเพิ่มความสามารถในการแข่งขันในเวทีโลกของภูมิภาคอาเซียน โดยประเทศไทยไทยได้มีข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย เช่น การศึกษา การทำการตลาดเชิงรุกในการอบรมแบบค่ายฝึกสอนและการสร้างทักษะด้านเทคโนโลยี และเงินทุน การเพิ่มช่องทางให้ทุนสนับสนุนจากรัฐบาล ผ่านขั้นตอนการสมัครที่ง่ายขึ้นและมีมูลค่าทุนที่มากขึ้น เป็นต้น

    7. ร่างแถลงข่าวร่วมของการประชุมรัฐมนตรีอาเซียนด้านดิจิทัลครั้งที่ 3 และการประชุมที่เกี่ยวข้อง เป็นเอกสารที่ระบุถึงความก้าวหน้าในการพัฒนาด้านดิจิทัลของภูมิภาคอาเซียนตามแผนแม่บทอาเซียนด้านดิจิทัล ค.ศ. 2025 และการดำเนินงานอย่างต่อเนื่องในด้านต่างๆ

    “การลงนาม รับรอง ให้ความเห็นชอบต่อร่างเอกสารทั้ง 7 ฉบับ จะเป็นการแสดงความมุ่งมั่นของไทยในการส่งเสริมความร่วมมือด้านดิจิทัลภายในภูมิภาคอาเซียน รวมถึงความร่วมมือกับองค์การระหว่างประเทศในการเร่งขับเคลื่อนการเติบโตของเศรษฐกิจและสังคมดิจิทัลในภูมิภาค โดยเฉพาะการส่งเสริมธุรกิจสตาร์ทอัพด้านดิจิทัล รวมถึงมุ่งเน้นการพัฒนาด้วยแนวทางที่ยั่งยืนและเน้นผู้ใช้เป็นศูนย์กลาง ซึ่งหากมีความจำเป็นจะต้องปรับปรุงถ้อยคำหรือสาระสำคัญของร่างเอกสารดังกล่าวที่ไม่ขัดกับหลักการที่ ครม. ได้ให้ความเห็นชอบไว้ ครม. มีมติอนุมัติให้กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมสามารถดำเนินการได้โดยให้นำเสนอ ครม. ทราบภายหลัง” นางสาวทิพานัน กล่าว

    ผ่านร่าง กม.คุ้มครองสิทธิผู้เสียหายคดีฟอกเงิน กรณีไม่ผิด

    นางสาวทิพานัน กล่าวว่า ที่ประชุม ครม. มีมติอนุมัติหลักการร่างกฎกระทรวงการคุ้มครองสิทธิของผู้เสียหายในความผิดมูลฐาน พ.ศ. …. ตามที่สำนักงานคณะกรรมการปราบปรามการฟอกเงินเสนอ เพื่อประโยชน์ในการคุ้มครองสิทธิของผู้เสียหาย โดยจะกำหนดระยะเวลา หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในกระบวนการคุ้มครองสิทธิของผู้เสียหายที่ได้รับความเสียหายโดยตรงจากการกระทำความผิดมูลฐานตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินที่มี 21 ลักษณะความผิด โดยผู้เสียหายที่ไม่มีส่วนร่วมในการกระทำความผิดจะมีสิทธิได้รับทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดคืนหรือชดใช้คืน รวมถึงได้รับการชดใช้ค่าเสียหายที่เกิดแก่ชีวิต ร่างกาย จิตใจ เสรีภาพ อนามัย หรือชื่อเสียง

    สาระสำคัญของร่างกฎกระทรวง โดยสรุปมีดังนี้

      1. หลักเกณฑ์วิธีการ เงื่อนไข และระยะเวลาในการยื่นคำร้อง ให้ผู้เสียหายยื่นคำร้องดังกล่าวภายใน 90 วันนับแต่สำนักงานคณะกรรมการปราบปรามการฟอกเงินประกาศในราชกิจจานุเบกษาและในสื่ออิเล็กทรอนิกส์ของ ปปง. เพื่อแจ้งให้ผู้เสียหายยื่นคำร้องเพื่อขอรับคืนหรือชดใช้คืนหรือชดใช้ค่าเสียหายจากทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิด โดยคำร้องต้องระบุข้อความให้ถูกต้องครบถ้วนพร้อมทั้งแนบหลักฐานที่แสดงถึงการเป็นผู้เสียหายในความผิดมูลฐานและสามารถยื่นคำร้องด้วยตนเอง ทางไปรษณีย์ หรือช่องทางอื่นตามที่เลขาธิการ ปปง. ประกาศกำหนด และยังได้กำหนดให้บุคคลอื่นสามารถยื่นคำร้องแทนผู้เสียหายได้ในกรณีดังนี้ คือ ผู้แทนโดยชอบธรรม (กรณีผู้เสียหายเป็นผู้เยาว์) ผู้อนุบาล (กรณีผู้เสียหายเป็นคนไร้ความสามารถ) ทายาท (กรณีผู้เสียหายถึงแก่ความตาย) และบุคคลซึ่งได้รับการแต่งตั้งหรือมอบหมายเป็นหนังสือจากผู้เสียหาย
      2. วิธีการพิเศษในการตรวจสอบและรวบรวมข้อเท็จจริงเกี่ยวกับผู้เสียหายในความผิดบางมูลฐาน คือ การค้ามนุษย์และความผิดมูลฐานที่เกิดนอกราชอาณาจักร โดยให้พนักงานเจ้าหน้าที่มีหนังสือถึง พม. (สำหรับความผิดมูลฐานเกี่ยวกับการค้ามนุษย์ การบังคับใช้แรงงานหรือบริการ) หรือหน่วยงานของรัฐต่างประเทศที่รายงาน (สำหรับความผิดมูลฐานที่เกิดขึ้นนอกราชอาณาจักร) เพื่อขอทราบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับผู้เสียหายและความเสียหายและสถานการณ์ดำเนินคดีตามกฎหมายเพื่อเรียกร้องค่าเสียหายนั้น
      3. การเสนอเรื่องต่อคณะกรรมการธุรกรรมและพนักงานอัยการ เมื่อได้รับคำร้องถูกต้องครบถ้วนแล้วให้พนักงานเจ้าหน้าที่ตรวจสอบและรวบรวมข้อเท็จจริงเกี่ยวกับผู้เสียหายและความเสียหายโดยเร็ว และจัดทำรายงานพร้อมความเห็นต่อเลขาธิการ ปปง. เพื่อให้ความเห็นชอบในการเสนอเรื่องให้คณะกรรมการธุรกรรมพิจารณาและมีมติเห็นชอบให้ส่งเรื่องให้พนักงานอัยการยื่นคำร้อง เพื่อขอให้ศาลมีคำสั่งให้นำทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดไปคืนหรือชดใช้คืนแก่ผู้เสียหาย และให้พนักงานเจ้าหน้าที่มีหนังสือแจ้งมติของคณะกรรมการธุรกรรมและสิทธิในการขอให้ทบทวนมติให้แก่ผู้เสียหาย บุคคลอื่น หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทราบ โดยทางไปรษณีย์ตอบรับหรือไปรษณีย์อิเล็กทรอนิกส์
      4. การจัดการทรัพย์สินเพื่อคืนหรือชดใช้คืนหรือชดใช้ค่าเสียหายให้แก่ผู้เสียหาย เมื่อศาลได้มีคำพิพากษาหรือคำสั่งถึงที่สุดให้นำทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดไปคืนหรือชดใช้คืน หรือชดใช้ค่าเสียหายให้แก่ผู้เสียหาย ให้ ปปง.ดำเนินการโดยเร็ว

    เห็นชอบแผนส่งเสริมผลิตสมุนไพร ฉบับที่ 2

    นางสาวไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ที่ประชุม ครม. เห็นชอบร่างแผนปฏิบัติการด้านสมุนไพรแห่งชาติ ฉบับที่2 พ.ศ. 2566-70 ตามที่คณะกรรมการนโยบายสมุนไพรแห่งชาติเสนอ และให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำแผนปฏิบัติการด้านสมุนไพรฯ ไปดำเนินการตามขั้นตอนที่เกี่ยวข้องต่อไป

    สำหรับร่างแผนปฏิบัติการด้านสมุนไพรฯ ฉบับที่ 2 นี้ กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก ได้จัดทำขึ้นเพื่อมาดำเนินการต่อเนื่องจากแผน ฉบับที่ 1 ซึ่งสิ้นสุดลงในปี 64 โดยการขับเคลื่อนตามแผนจะก่อให้เกิดการผลิตสมุนไพรที่ได้มาตรฐาน มีคุณภาพ และสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่ผลิตภัณฑ์สมุนไพร ส่งเสริมความเชื่อมั่นในการใช้สมุนไพร รวมทั้งเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันในตลาดทั้งในและต่างประเทศอย่างต่อเนื่องและเป็นระบบ นำมาซึ่งความมั่นคงทางสุขภาพและเศรษฐกิจของประเทศ

    นางสาวไตรศุลี กล่าวว่า แผนปฏิบัติการด้านสมุนไพรฯ ฉบับที่2 ประกอบไปด้วย 5 ยุทธศาสตร์ ซึ่งเชื่อมโยงกับการพัฒนาสมุนไพรตลอดห่วงโซ่คุณค่า (Supply Chain) ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำของอุตสาหกรรมสมุนไพร

    เริ่มจากระดับต้นน้ำ ยุทธศาสตร์ที่ 1 การส่งเสริมการผลิตและแปรรูปวัตถุดิบสมุนไพรที่มีคุณภาพและมาตรฐาน เป้าหมายคือวัตถุดิบที่ได้มาตรฐานมีคุณภาพตรงกับความต้องการทางการตลาด มุ่งเน้นการนำเทคโนโลยีมาสู่การพัฒนากระบวนการต้นน้ำ มีตัวชี้วัดผลลัพธ์ เช่น ปี 2570 พื้นที่ปลูกสมุนไพรได้มาตรฐานเพิ่มขึ้นไม่น้อยกว่า 50,000 ไร่, แผนที่ความเหมาะสมของที่ดินสำหรับพืชสมุนไพรเพิ่มขึ้น 30 พืช, กลุ่มเกษตรกรหรือวิสาหกิจชุมชนแปรรูปสมุนไพรที่มีคุณภาพได้มาตรฐานเบื้องต้น รวมถึงผลิตสมุนไพรครบวงจรตลอด Supply Chain เกษตรกรหรือสถาบันเกษตรกรที่ได้รับการส่งสเริม ร้อยละ 5 สามารถเข้าสู่ตลาดออนไลน์

    ระดับกลางน้ำ ยุทธศาสตร์ที่ 2 การพัฒนาและสร้างเสริมศักยภาพของผู้ประกอบการและอุตสาหกรรมสมุนไพรตลอดห่วงโซ่อุปทาน เป้าหมาย เน้นการสร้างศักยภาพผู้ประกอบการายย่อย พัฒนาระบบนิเวศที่เอื้อต่อการพัฒนาอุตสาหกรรมสมุนไพรของประเทศ และมุ่งเป้าพัฒนาสารสกัดเพื่อลดการนำเข้าและทำให้ประเทศสามารถเติบโตเป็นผู้นำในอุตสาหกรรมสมุนไพร มีตัวชี้วัดผลลัพธ์ ได้แก่ การขยายตัวของอุตสาหกรรมสารสกัดระดับอุตสาหกรรมขั้นสูงเพิ่มขึ้นอย่างน้อยร้อยละ 5 ในปี 70 มีมาตรฐานสารสกัดที่ได้รับการยอมรับและนำไปใช้ในอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้นอย่างน้อยร้อยละ10 ผู้ประกอบการสมุนไพรโดยเฉพาะเอสเอ็มอีมียอดขายเพิ่มขึ้นร้อยละ 10

    ระดับปลายน้ำ ยุทธศาสตร์ที่ 3 การส่งเสริมการตลาดผลิตภัณฑ์สมุนไพร เป้าหมายคือการขยายขอบเขตการรับรู้คุณค่าของสมุนไพรผ่านอาหารและวัฒนธรรม ตลอดจนการสร้างความเชื่อมั่นของผลิตภัณฑ์สมุนไพรจากประเทศไทยด้วยตราสัญลักษณ์คุณภาพ มีตัวชี้วัดผลลัพธ์ ได้แก่ มีการขับเคลื่อนสมุนไพรควบคู่กับอาหารไทย, การส่งออกผลิตภัณฑ์สมุนไพรไปในอาเซียนเพิ่มขึ้นร้อยละ 10 ต่อปี สามารถสร้างการรับรู้และการยอมรับตราสัญลักษณ์สมุนไพรคุณภาพ และ

    ยุทธศาสตร์ที่ 4 การส่งเสริมการบริโภคผลิตภัณฑ์สมุนไพรอย่างเหมาะสม เป้าหมายคือ ผู้บริโภคมีทัศคดีที่ดีต่อผลิตภัณฑ์สมุนไพร มีระบบการขึ้นทะเบียนผลิตภัณฑ์ที่เอื้อต่อการพัฒนาทางเศรษฐกิจและสมุนไพรเป้าหมายประสบความสำเร็จทางการตลาด มีตัวชี้วัดผลลัพธ์ เช่น ผลิตภัณฑ์สมุนไพรขึ้นทะเบียนเพิ่มขึ้นอย่างน้อยร้อยละ 10 ในปี 70, จำนวนการสั่งใช้ยาจากสมุนไพรในระบบสาธารณสุขเพิ่มขึ้นอย่างน้อยร้อยละ 10 ในปี 70, จำนวนยาจากสมุนไพรเข้าสู่บัญชียาหลักแห่งชาติด้านสมุนไพร/บัญชีนวัตกรรม อย่างน้อย 50 รายการภายในปี 70

    ยุทธศาสตร์ที่ 5 การพัฒนาระบบนิเวศที่สนับสนุนการขับเคลื่อนการพัฒนาสมุนไพรไทยอย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน จะเป็นกรอบที่สนับสนุนการพัฒนาสมุนไพรได้ตลอดห่วงโซ่การผลิต มีเป้าหมายคือ การนำงานวิจัยและนวัตกรรมเป็นกลไกต่อยอดและสร้างมูลค่าของอุตสาหกรรมสมุนไพร มีตัวชี้วัดผลลัพธ์ เช่น มูลค่าเศรษฐกิจที่เกิดจากผลิตภัณฑ์สมุนไพรที่พัฒนาขึ้นจากงานวิจัยและนวัตกรรมเพิ่มขึ้นไม่น้อยกว่าร้อยละ 10 ในปี 2570 มูลค่าการบริการและการบริโภคผลิตภัณฑ์สมุนไพรในจังหวัดเมืองสมุนไพรขยายตัวร้อยละ 5 จำนวนรายการผลิตภัณฑ์สมุนไพรใหม่ที่ได้รับการขึ้นทะเบียนผลิตภัณฑ์และสามารถจำหน่ายได้จริงไม่น้อยกว่า 25 ผลิตภัณฑ์ภายในปี 70

    การขับเคลื่อนตามแผนปฏิบัติการด้านสมุนไพรฯ ฉบับที่2 จะต้องอาศัยความร่วมมือของทั้งภาครัฐ เอกชน ชุมชน ภาคประชาสังคม มหาวิทยาลัยและสถาบันวิจัยเครือข่ายทั้งในและต่างประเทศ มีความเกี่ยวข้องกับภารกิจของหลายกระทรวง จึงได้มีกลไกกำหนดเชื่อมโยงการทำงานของหน่วยต่างๆ ให้เป็นเอกภาพทั้ง กลไกเชิงนโยบาย การขับเคลื่อนสู่การปฏิบัติ และกลไกการติดตาม ในส่วนของค่าใช้จ่ายตามแผนนั้น เนื่องด้วยแผนมีโครงการสำคัญที่ส่งผลต่อการบรรลุตามแผนปฏิบัติการ รวม 61 โครงการ หน่วยงานร่วมบูรณาการรวม 53 หน่วยงาน รวมงบประมาณที่รองรับการดำเนินการ 14,159.64 ล้านบาท ซึ่งจะได้รับจัดสรรจากงบประมาณแผ่นดินเพื่อนำไปสู่ผลสัมฤทธิ์ตามแผนต่อไป

    ปรับอัตราค่าธรรมเนียมต่อใบอนุญาตยา

    นางสาวไตรศุลี กล่าวว่า ที่ประชุม ครม. อนุมัติหลักการร่างกฎกระทรวง ฉบับที่… (พ.ศ…) ออกตามความในพระราชบัญญัติยา พ.ศ. 2510 ซึ่งมีสาระสำคัญเป็นการปรับปรุงรายการและอัตราค่าธรรมเนียมตามกฎกระทรวง ฉบับที่ 26 (พ.ศ.2537) ให้เหมาะสมและสอดคล้องกับ พ.ร.บ.ยา (ฉบับที่6) พ.ศ. 2562 และ พ.ร.บ.ผลิตภัณฑ์สมุนไพร พ.ศ.2562 ที่มีผลบังคับอยู่ในปัจจุบัน

    ทั้งนี้ ร่างกฎกระทรวงฯ ได้ปรับปรุงรายการและอัตราค่าธรรมเนียมตามกฎกระทรวงฉบับที่ 26 (พ.ศ.2537) ดังนี้

      1) ยกเลิกการเก็บค่าธรรมเนียมรายการพิสูจน์ หรือ วิเคราะห์ยาตามตำรับยาที่ขอขึ้นทะเบียน

      2) แก้ไขอัตราค่าธรรมเนียมการต่ออายุใบอนุญาต โดยเป็นการลดจากเดิมที่กำหนดให้จัดเก็บเท่ากับอัตราค่าธรรมเนียมสำหรับใบอนุญาตประเภทนั้น เป็น จัดเก็บเท่ากับกึ่งหนึ่งของค่าธรรมเนียมสำหรับใบอนุญาตประเภทนั้น

      3) เพิ่มรายการค่าธรรมเนียมการต่ออายุใบสำคัญการขึ้นทะเบียนตำรับยา โดยมีอัตราเท่ากับกึ่งหนึ่งของค่าธรรมเนียมสำหรับใบสำคัญการขึ้นทะเบียนตำรับยาประเภทนั้น เพื่อให้การกำหนดรายการเก็บค่าธรรมเนียมและอัตราค่าธรรมเนียมสอดคล้องกับ พ.ร.บ.ยา (ฉบับที่6) พ.ศ. 2562 ซึ่งได้กำหนดเพิ่มเติมเกี่ยวกับอายุและการต่ออายุของใบสำคัญการขึ้นทะเบียนตำรับยา

      4) แก้ไขรายการค่าธรรมเนียมเกี่ยวกับยาแผนโบราณให้หมายความถึงเฉพาะยาแผนโบราณสำหรับสัตว์ เพื่อให้สอดคล้องกับ พ.ร.บ.ผลิตภัณฑ์สมุนไพร พ.ศ.2562 ซึ่งกำหนดกลไกการควบคุมและกำกับผลิตภัณฑ์สมุนไพรเป็นการเฉพาะ ส่งผลให้ พ.ร.บ.ยา พ.ศ.2510 มีผลบังคับเฉพาะกับยาแผนโบราณสำหรับสัตว์

    อย่างไรก็ตาม ตามร่างกฎกระทรวงฯ ยังคงอัตราค่าธรรมเนียมใบอนุญาตสำหรับยาแผนปัจจุบัน ประกอบด้วย ใบอนุญาตผลิตยา ใบอนุญาตขายยา ใบอนุญาตส่งยา ใบอนุญาตขายยาแผนปัจจุบันเฉพาะยาบรรจุเสร็จที่ไม่ใช่ยาควบคุมอันตรายหรือยาควบคุมพิเศษ ใบอนุญาตขายยาแผนปัจจุบันเฉพาะยาบรรจุเสร็จสำหรับสัตว์ และใบอนุญาตนำหรือสั่งยาแผนปัจจุบันเข้ามาในราชอาณาจักร

    นางสาวไตรศุลี กล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุขได้ประเมินผลจากการออกกฎกระทรวงฯ ดังกล่าวนี้ซึ่งได้มีการปรับลดค่าธรรมเนียมการต่ออายุใบอนุญาตลงกึ่งหนึ่งนั้น จะทำให้รัฐสูญเสียรายได้ประมาณ 21.51 ล้านบาทต่อปี แต่การได้กำหนดเพิ่มค่าธรรมเนียมการต่ออายุใบสำคัญการขึ้นทะเบียนตำรับยาซึ่งจะจัดเก็บได้จากการต่ออายุใบสำคัญทุก7 ปี จะทำให้รัฐมีรายได้เพิ่มจากส่วนนี้ประมาณ 16.61 ล้านบาทต่อปี

    แจงผลสำรวจความเห็น ปชช.ต่อสวัสดิการรัฐปี’65

    นางสาวไตรศุลี กล่าวว่า ที่ประชุม ครม. รับทราบผลการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนเกี่ยวกับสวัสดิการของรัฐ พ.ศ. 2565 ตามที่กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมเสนอ ซึ่งการสำรวจนี้ดำเนินการโดยสำนักงานสถิติแห่งชาติ (สสช.) ซึ่งสำรวจประชาชนอายุตั้งแต่ 15 ปีขึ้นในทุกจังหวัดทั่วประเทศ จำนวน 6,970 คน ระหว่างวันที่ 17-31 ตุลาคม 2565 โดยสรุปความเห็นของประชาชนต่อสวัสดิการของรัฐ 7 รายการดังนี้

    1. การใช้บริการสวัสดิการของรัฐด้านคุณภาพชีวิต เช่น เบี้ยยังชีพ เด็กแรกเกิด บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุและเบี้ยยังชีพคนพิการ พบกว่าประชาชนมากกว่าร้อยละ 97 ระบุว่าไม่มีปัญหาการใช้บริการและพบว่าน้อยกว่าร้อยละ 3.0 มีปัญหา เช่น เงินไม่เพียงพอ ลำบากในการต้องไปถอนเงิน และเงินเข้าช้า

    2. สวัสดิการของรัฐด้านการศึกษาขั้นพื้นฐาน เรียนฟรีถึงมัธยมศึกษาปีที่3 สามารถช่วยลดค่าใช้จ่ายของครัวเรือนพบว่าประชาชนร้อยละ 80.6 ระบุว่าสามารถช่วยลดค่าใช้จ่ายได้มาก-มากที่สุด และร้อยละ 3.2 เห็นว่าช่วยลดค่าใช้จ่ายได้น้อย-น้อยที่สุด หรือไม่ช่วยเลย

    3. สวัสดิการของรัฐด้านการรักษาพยาบาล ได้แก่ สิทธิข้าราชการ สิทธิประกันสังคม และสิทธิหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า พบว่า ประชาชนมากกว่าร้อยละ 97.0 ระบุว่าไม่มีปัญหาในการใช้บริการ และน้อยกว่าร้อยละ 2 มีปัญหา เช่น การบริการล่าช้า รอคิวนาน และต้องใช้บริการเฉพาะโรงพยาบาลตามสิทธิเท่านั้น

    4. ความพึงพอใจในการใช้บริการด้านการรักษาพยาบาล แยกเป็น การสำรวจความพึงพอใจต่อการใช้สถานพยาบาลตามประเภทสถานพยาบาล พบว่าประชาชนที่เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลเอกชนร้อยละ 76.8 มีความพึงพอใจมาก-มากที่สุด และร้อยละ 1 พึงพอใจน้อย-น้อยที่สุด ส่วนประชาชนที่เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลของรัฐร้อยละ 70.4 มีความพึงพอใจมาก-มากที่สุด และร้อยละ 3.6 มีความพึงพอใจน้อย-น้อยที่สุด ส่วนความพึงพอใจต่อสิทธิรักษาพยาบาล พบว่าประชาชนที่ใช้สิทธิประกันสุขภาพ/ประกันชีวิตร้อยละ 86.5 มีความพึงพอใจมาก-มากที่สุด รองลงมาคือสิทธิสวัสดิการ ข้าราชการ จ่ายเงินเอง สิทธิหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า และสิทธิกองทุนประกันสังคม ตามลำดับ

    5. สวัสดิการที่ประชาชนต้องการให้รัฐจัดเพิ่ม เช่น การสนับสนุนค่าใช้จ่ายให้กับครัวเรือนที่เลี้ยงดูบิดา/มารดาที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป (ร้อยละ 93.5) จัดสวัสดิการศูนย์เลี้ยงเด็กเล็ก/ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กในหน่วยงาน/ใกล้สถานที่ทำงาน (ร้อยละ 78.6) และจัดสวัสดิการขนส่งสาธารณะฟรีให้กับเด็ก/เยาวชนที่มีอายุไม่เกิน 25 ปี (ร้อยละ 85.9)

    6. การจัดเก็บภาษีผู้มีรายได้ เพื่อนำมาจัดสวัสดิการให้ครอบคลุมทุกช่วงวัย พบว่า ประชาชนร้อยละ 44.6 ยินยอบให้จัดเก็บได้ โดยให้เหตุผลว่า เพื่อให้ได้สวัสดิการที่ครอบคลุมและทั่วถึง ยกระดับคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้น ลดความเหลื่อมล้ำและสร้างความเท่าเทียม และประชาชนร้อยละ 37.5 ไม่ยินยอมให้จัดเก็บด้วยเหตุผลว่า ไม่มีเงินเพียงพอที่จะเสียภาษี กลัวจัดสวัสดิการให้ประชาชนไม่ทั่วถึง และไม่มีหลักเกณฑ์หรือกฎหมายที่แน่นอนที่จะรับประกันการจัดสวัสดิการให้

    7. การลงทะเบียนโครงการเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐ ปี 2565 พบว่า ประชาชนลงทะเบียนร้อยละ 84.2 ไม่ประสบปัญหาในการลงทะเบียน ขณะที่ร้อยละ 15.8 ประสบปัญหา ได้แก่ รอคิวลงทะเบียนกับหน่วยงานนาน เว็บไซต์ขัดข้อง/ล่ม และเดินทางไปหน่วยงานที่รับลงทะเบียนไม่สะดวก หรืออยู่ในพื้นที่ห่างไกล

    นางสาวไตรศุลี กล่าวว่า ในการสำรวจยังได้สรุปเป็นข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย 5 เรื่องดังนี้ 1.ควรจัดศูนย์ดูแลผู้สูงอายุในหมู่บ้าน/ชุมชน เพื่อรองรับผู้สูงอายุที่มากขึ้น และลดการถูกทอดทิ้งให้อยู่ลำพัง พร้อมทั้งจัดให้มีกิจกรรมเพื่อส่งเสริมคุณภาพชีวิตต่างๆ

    2. ส่งเสริม/สนับสนุนให้ประชาชนมีความรู้ความเข้าใจในการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลมาขึ้น ให้สามารถเข้าถึงการบริการช่องทางต่างๆ ของทุกหน่วยงานอย่างสะดวก รวมถึงการทำให้ประชาชนรู้เท่าทันภัยออนไลน์

    3. สร้างความเชื่อมั่นในการรักษาพยาบาลให้กับประชาชน ในการใช้สิทธิการรักษาพยาบาลทุกประเภทให้มีความเท่าเทียม ทั่วถึง และครอบคลุมในทุกพื้นที่ เช่น คุณภาพยา บริการและความสะดวกรวดเร็ว

    4. สนับสนุนให้มีสวัสดิการเรียนฟรีในทุกระดับ เพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายด้านการศึกษาของครัวเรือน และทุกคนสามารถเข้าถึงระบบการศึกษาได้อย่างเท่าเทียม

    5. ส่งเสริม/สนับสนุนสวัสดิการในเรื่องคุณภาพชีวิตให้กับประชาชนเพิ่มเติม เช่น ค่าใช้จ่ายให้กับครัวเรือนที่เลี้ยงดูบิดา/มารดา ที่มีอายุ 60 ปีขึ้น ไปจัดศูนย์เด็กเล็ก/พัฒนาเด็กเล็กใกล้สถานที่ทำงาน และจัดบริการขนส่งสาธารณะฟรีให้เด็ก/เยาวชน

    ไฟเขียว “NT” เปิดบริการ 5G ลูกค้าองค์กร 6,705 ล้านบาท

    นางสาวไตรศุลี กล่าวว่า ที่ประชุม ครม. อนุมัติหลักการโครงการบริการ 5G สำหรับลูกค้าองค์กรของบริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) กรอบวงเงินจำนวน 4,964.30 ล้านบาท และรับทราบกรอบวงเงินค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานกรอบวงเงิน 1,741.3 ล้านบาท รวมเป็นวงเงินตลอดโครงการระยะเวลา 14 ปี 6,705.6 ล้านบาท

    โดยโครการนี้เกิดขึ้นจากการที่ บมจ.โทรคมนาคมฯ ประสงค์จะนำเทคโนโลยี 5G มาให้บริการบนย่านความถี่ 26 GHz ที่ได้รับการจัดสรรจากสำนักงาน กสทช. จากการเข้าร่วมประมูลเมื่อปี 2563 ที่ผ่านมา โดยมีกลุ่มเป้าหมายองค์กรที่จะรับบริการตามโครงการนี้ภายใน 6 ปีทั้งสิ้น 438 ราย ได้แก่ หน่วยงานภาครัฐ 11 ราย กลุ่มโรงพยาบาล 47 ราย กลุ่มสถาบันการศึกษา 30 ราย และโรงงานอุตสาหกรรมและพื้นที่เศรษฐกิจพิเศษ เช่น อีอีซี 350 ราย ให้บริการ 3 กลุ่ม ได้แก่

      1. บริการอินเตอร์เน็ตความเร็วสูงแบบประจำที่ (Fixed Wireless Access :FWA)
      2. ให้บริการเชื่อมต่อในพื้นที่จำกัด (Campus Network) เช่น ในโรงงานอุตสาหกรรม ท่าเรือขนส่ง ท่าอากาศยานและ
      3. ให้บริการเพื่อสนับสนุนการบริการสาธารณะและการบริการภาครัฐ เพื่อสนับสนุนแนวทางการพัฒนารัฐบาลดิจิทัล เศรษฐกิจดิจิทัล เมืองอัจฉริยะ และดิจิทัลไทยแลนด์

    โครงการจะเน้นบริการ 5G ลักษณะเฉพาะองค์กร (Private 5G Network) ที่การออกแบบตามความต้องการใช้งานต่างๆ ดังนั้น บมจ.โทรคมนาคมฯ จะมีการลงทุนงานที่เป็นลักษณะโครงการเป็นรายๆ (Project-based) เมื่อมีโอกาสทางธุรกิจและลูกค้าที่แน่นอน โดยมีรูปแบบการดำเนินงานประกอบด้วย การลงทุนพัฒนาระบบโครงข่ายหลักและอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้อง การลงทุนพัฒนาสถานีฐานเทคโนโลยี 5G และ ให้บริการ Business solution

    นางสาวไตรศุลี กล่าวว่า โครงการนี้จะมีระยะเวลา 14 ปี ภายใต้กรอบวงเงินลงทุน 6,705.6 ล้านบาท ซึ่งใช้จ่ายจากรายได้ของ บมจ.โทรคมนาคมฯ แยกเป็น ค่าใช้จ่ายในการลงทุน (CAPEX) เช่น ค่าลงทุนระดับโครงจ่ายหลัก (Core Network) สถานีฐานเทคโนโลยี 5G ต้นทุนอุปกรณ์ ค่าบริการติดตั้งอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องวงเงิน 4,964.3 ล้านบาท และค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน (OPEX) เช่น ค่าใช้จ่ายในการบริหารจัดการ ดูแลรักษาและซ่อมบำรุงโครงข่าย วงเงิน 1,741.3 ล้านบาท

    นอกจากนี้ บมจ.โทรคมนาคมฯ ระบุว่า ได้ทำการประเมินแล้วโครงการมีความคุ้มค่าในการลงทุนโดยมีผลตอบแทนทางการเงิน อยู่ที่ร้อยละ 28.71 มีระยะเวลาคืนทุน 6 ปี 6 เดือน ขณะที่ผลตอบแทนทางเศรษฐกิจอยู่ที่ ร้อยละ 16 เกิดมูลค่าเพิ่มเชิงเศรษฐกิจเฉลี่ยต่อปีเท่ากับ 263 ล้านบาท มากกว่าศูนย์ ซึ่งหมายความว่าโครงการสามารถสร้างรายได้เหนือค่าใช้จ่ายต่างๆ ที่เกิดขึ้นจากการดำเนินงานโดยเฉลี่ย

    ทั้งนี้ การดำเนินโครงการของ บมจ.โทรคมนาคมฯ จะมีส่วนในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานโครงข่ายโทรคมนาคมและบริการดิจิทัลซึ่งสอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาล ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของเมืองอัจฉริยะ การพัฒนาอุตสาหกรรม4.0 การพัฒนาแรงงานดิจิทัล พื้นที่พัฒนาพิเศษ และ 5G ยังจะสามารถต่อยอดการพัฒนาการศึกษา การแพทย์และเทคโนโลยีเสมือนจริง และเป็นการเพิ่มทางเลือกให้กับลูกค้าองค์กรที่ต้องการใช้บริการ 5G ด้วย

    ตั้ง “พิศิษฐ์ ศรีประเสริฐ” นั่งประธานบอร์ด รพ.บ้านแพ้ว

    นางสาวไตรศุลี กล่าวว่าที่ประชุม ครม. มีมติอนุมัติและเห็นชอบในเรื่องแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการ และผู้บริหารระดับสูงของหน่วยงานรัฐมีรายละเอียดดังนี้

    1. การแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญให้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหารระดับสูง (กระทรวงการต่างประเทศ)

    คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเสนอแต่งตั้ง นายเอกพล พูลพิพัฒน์ เอกอัครราชทูต สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงดิลี สาธารณรัฐประชาธิปไตยติมอร์-เลสเต ให้ดำรงตำแหน่ง เอกอัครราชทูต สถานเอกอัครราชทูต ณ คูเวต รัฐคูเวต เพื่อทดแทนตำแหน่งที่ว่าง ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งเป็นต้นไป ซึ่งการแต่งตั้งข้าราชการให้ไปดำรงตำแหน่งเอกอัครราชทูตประจำต่างประเทศดังกล่าว ได้รับความเห็นชอบจากประเทศผู้รับ

    2. การแต่งตั้งประธานกรรมการ กรรมการผู้แทนชุมชน และกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการโรงพยาบาลบ้านแพ้ว

    คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขเสนอ แต่งตั้งประธานกรรมการ กรรมการผู้แทนชุมชน และกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ในคณะกรรมการโรงพยาบาลบ้านแพ้ว รวม 7 คน เนื่องจากประธานกรรมการ กรรมการผู้แทนชุมชน และกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิเดิมจะดำรงตำแหน่งครบวาระ 4 ปีในวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2566 ดังนี้

      1. นายพิศิษฐ์ ศรีประเสริฐ ประธานกรรมการ
      2. นายธีระชัย บุญอารีย์ กรรมการผู้แทนชุมชน
      3. นางประเสริฐศรี มังกรศักดิ์สิทธิ์ กรรมการผู้แทนชุมชน
      4. นายศักดา เนติพัฒน์ กรรมการผู้แทนชุมชน
      5. นางวชิราวรรณ อิทธิถาวร กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ
      6. นายประเวศ อรรถศุภผล กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ
      7. นางสาวสุนทรรี สุภาสงวน กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ

    โดยให้มีผลตั้งแต่วันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2566 เป็นต้นไป

    3. แต่งตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการอนุรักษ์และพัฒนากรุงรัตนโกสินทร์ และเมืองเก่า

    คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเสนอแต่งตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการอนุรักษ์และพัฒนากรุงรัตนโกสินทร์ และเมืองเก่า จำนวน 7 คน เนื่องจากกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิเดิมได้ดำรงตำแหน่งครบวาระสามปี เมื่อวันที่ 18 ธันวาคม 2563 ดังนี้

      1. นายบวรเวท รุ่งรุจี
      2. ศาสตราจารย์กิตติคุณศิริวรรณ ศิลาพัชรนันท์
      3. รองศาสตราจารย์โรจน์ คุณเอนก
      4. รองศาสตราจารย์ยงธนิศร์ พิมลเสถียร
      5. ศาสตราจารย์ศักดิ์ชัย สายสิงห์
      6. นายกิติพันธ์ พานสุวรรณ
      7. ผู้ช่วยศาสตราจารย์พีรศรี โพวาทอง

    ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 31 มกราคม 2566 เป็นต้นไป

    4. การแต่งตั้งข้าราชการการเมือง (สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี)

    คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรีเสนอแต่งตั้ง นายชูเกียรติ พงศ์ศิริวรรณ เป็นข้าราชการการเมือง ตำแหน่งเลขานุการรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี (นายธนกร วังบุญคงชนะ) ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 31 มกราคม 2566 เป็นต้นไป

    อ่าน มติ ครม. ประจำวันที่ 31 มกราคม 2566 เพิ่มเติม