ThaiPublica > เกาะกระแส > นายกฯ โนคอมเมนต์ “ก้าวไกล” เซ็น MOU ตั้งรัฐบาล – มติ ครม. รับทราบผลงาน ศจพ. – ชงรัฐบาลใหม่แก้จนต่อ

นายกฯ โนคอมเมนต์ “ก้าวไกล” เซ็น MOU ตั้งรัฐบาล – มติ ครม. รับทราบผลงาน ศจพ. – ชงรัฐบาลใหม่แก้จนต่อ

23 พฤษภาคม 2023


เมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม 2566 พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนภายหลังการประชุม ครม. ณ บริเวณทางเชื่อมตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล
ที่มาภาพ : www.thaigov.go.th/
  • นายกฯโนคอมเมนต์ “ก้าวไกล” เซ็น MOU ตั้งรัฐบาล
  • มอบฝ่ายความมั่นคงดูแลม็อบหน้ารัฐสภา
  • ปัดหารือ “บิ๊กป้อม” เรื่องอนาคตการเมือง
  • “วิษณุ” เผยรัฐบาลรักษาการแค่กลางเดือน ส.ค. นี้
  • คาดหลัง ส.ค. นี้ ราคาพลังงานลดแน่
  • วอนสื่ออย่าจุกจิก จับตาดูทุกอิริยาบถ
  • มติ ครม. รับทราบผลงาน ศจพ. – ชงรัฐบาลใหม่แก้จนต่อ
  • มอบคลัง-ธปท. เตรียมจัดประชุมธนาคารโลก-IMF ปี ’69
  • ผ่านร่าง พ.ร.ฎ. ให้ “วาฬสีน้ำเงิน” เป็นสัตว์สงวน
  • ตั้ง คกก. ตาม พ.ร.บ.ป้องกันการทรมาน-อุ้มหาย
  • เมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม 2566 พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธานการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ณ ณ ตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล ภายหลังการประชุม ครม. เสร็จสิ้น พลเอก ประยุทธ์ ได้ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชน รวมทั้งมอบหมายให้นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี รายงานข้อสั่งการ

    วอนสื่ออย่าจุกจิก จับตาดูทุกอิริยาบถ

    ก่อนการแถลงข่าว ผู้สื่อข่าวทักนายกฯ ว่าคล้องหน้ากากอนามัยไปเกี่ยวกับขาแว่น พลเอก ประยุทธ์ จึงพูดทันทีว่า “รู้สึกจับตาดูทุกอย่างเลยนะ เดินอะไรก็ไม่ได้ อะไรหลุดก็ไม่ได้ อย่าจุกจิกกับฉันมากเลย ขอร้องเถอะ มันไม่ใช่เรื่อง ไม่ใช่ประเด็น ยิ่งทำให้คนรู้สึกว่าแย่มาก ขอร้องละกัน ช่วงนี้ต้องรักษาสถานการณ์ให้ปกติมากที่สุดนะจ๊ะ ก็ขอร้อง ให้ทุกคนอยู่ในความสงบเรียบร้อย เพราะอยู่ในขั้นตอนของการจัดตั้งรัฐบาลใหม่”

    รวบรวมผลงาน ชงรัฐบาลใหม่สานต่อ

    พลเอก ประยุทธ์ กล่าวต่อว่า ในที่ประชุม ครม. วันนี้ได้มีการย้ำเตือนผลงาน และให้เตรียมการ ก่อนส่งมอบให้รัฐบาลใหม่ แต่ไม่ว่าจะใครจะเป็นก็แล้วแต่ ทุกคนก็ทราบดีว่ายังมีอีกหลายขั้นตอน ส่วนช่วงนี้ยังเป็นรัฐบาลรักษาการ ก็จะทำหน้าที่ให้ดีที่สุด

    พลเอก ประยุทธ์ กล่าวต่อว่า มีอย่างเดียวที่เป็นปัญหา คือ มาตรา 169 ตามรัฐธรรมนูญ เพราะการแก้ไขงบประมาณไม่สามารถทำได้ เพราะเป็นภาระผูกพันกับรัฐบาลใหม่ ไม่สามารถทำเรื่องใหม่ๆ อะไรไม่ได้มากนัก งบประมาณไม่มี ทำให้ต้องประสาน กกต. (คณะกรรมการการเลือกตั้ง) ทุกเรื่อง ยกตัวอย่างเรื่องค่าไฟ ที่รัฐบาลสามารถลดไปได้ 70 สตางค์

    คาดหลัง ส.ค. นี้ ราคาพลังงานลดแน่

    พลเอก ประยุทธ์ กล่าวถึงแนวโน้มสถานการณ์พลังงานที่ดีขึ้น โดยมีการประเมินว่าหลังจากเดือนสิงหาคมเป็นต้นไป ราคาพลังงานจะลดลง แต่ทั้งนี้ ราคาก็พร้อมจะขึ้นตลอดเวลา เพราะภูมิรัฐศาสตร์และสงครามด้วย อีกทั้งราคายังขึ้นลงตามฤดูกาล แต่ปัจจุบันกระทรวงพลังงานกำลังบริหารเรื่องนี้อย่างดีที่สุด

    พลเอก ประยุทธ์ ยังกล่าวถึงแหล่งพลังงานในประเทศ และการใช้ก๊าซธรรมชาติว่า ปัจจุบันอยู่ช่วงระหว่างการเปลี่ยนผ่าน เรื่องสัญญากับบริษัทเชฟรอน โดย ปตท. ได้เข้าไปทำแทนแล้ว และอยู่ระหว่างการส่งมอบพื้นที่เพื่อดำเนินการต่อ แต่ก็มีปัญหาอยู่บ้างในทางกฎหมาย

    เผยสภาพอากาศขึ้นดี PM – จุดความร้อนเหลือน้อยลง

    พลเอก ประยุทธ์ กล่าวต่อว่า จากรายงานสภาพภูมิอากาศพบว่า สถานการณ์อยู่ในเกณฑ์ดี ทั้งฝุ่นละอองและจุดความร้อนก็เหลือน้อยลง ประเทศรอบบ้านก็ลดลง เพราะได้เข้าสู่ฤดูกาลใหม่

    ปลื้มทั่วโลกไว้วางใจไทยจัดประชุมธนาคารโลก

    พลเอก ประยุทธ์ กล่าวต่อว่า อีกเรื่องที่น่ายินดี คือ รัฐบาลได้ชี้แจงในที่ประชุมธนาคารโลกในประเทศไทย ซึ่งมีมติจากหลายประเทศว่าให้มีการประชุมในประเทศไทยปี 2569 แสดงให้เห็นถึงความไว้วางใจในหลายประเทศสมาชิกหลายร้อยประเทศทั่วโลก ซึ่งเป็นการเตรียมการของรัฐบาล

    พลเอก ประยุทธ์ กล่าวต่อว่า ประเทศไทยได้รับการยอมรับจากต่างประเทศ ทั้งเรื่องที่รัฐบาลเสนอเป็นเจ้าภาพจัดงาน Phuket Expo ที่จังหวัดภูเก็ต และการจัดงานพืชสวนโลก

    ลงพื้นที่เยี่ยมผู้ประสบวาตภัยพรุ่งนี้

    พลเอก ประยุทธ์ กล่าวถึงการลงพื้นที่เยี่ยมผู้ประสบเหตุวาตภัยว่า “ว่าจะไปเยี่ยมหน่อยพรุ่งนี้ วันนี้ให้เจ้าหน้าที่ทำงานหน่อย วางแผนว่าจะไปเยี่ยมวันพรุ่งนี้ ไปเยี่ยมในพื้นที่ ให้กำลังใจ เป็นหน้าที่ของรัฐบาลอยู่แล้ว”

    ปัดตอบ ‘รมว. กลาโหม’ คนต่อไป

    ผู้สื่อข่าวถามถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมคนต่อไป พลเอก ประยุทธ์ ตอบทันทีว่า “ไม่รู้ ไม่ทราบ”

    เมื่อถามต่อถึงกรณีศาลรัฐธรรมนูญ แต่ยังไม่ทันจะถามจบ พลเอก ประยุทธ์ แทรกทันทีว่า “ไม่ทราบ อนาคตไม่ทราบ ทราบปัจจุบัน”

    โนคอมเมนต์ “ก้าวไกล” เซ็น MOU ตั้งรัฐบาล

    ถามต่อถึงกรณีพรรคก้าวไกล และพรรคร่วม ร่วมกันลงนามบันทึกความเข้าใจร่วมกัน (MOU) ในการจัดตั้งรัฐบาล พลเอก ประยุทธ์ ตอบสั้นๆ “โนคอมเมนต์”

    เมื่อผู้สื่อข่าวกำลังจะถามต่อ พลเอก ประยุทธ์ ก็ขัดทันทีว่า “ไม่ตอบเธอ ถามอะไรอย่างอื่นที่ดีกว่านี้ได้ไหม”

    มอบฝ่ายความมั่นคงดูแลม็อบหน้ารัฐสภา

    ทั้งนี้ พลเอก ประยุทธ์ ตอบเรื่องการกดดันรัฐสภาในระหว่างที่ยังไม่มีรัฐบาลใหม่ว่า เรื่องนี้เป็นเรื่องของฝ่ายความมั่นคงดำเนินการตามกฎหมายอยู่แล้ว จึงไม่มีความจำเป็นที่ต้องสั่งการเพิ่ม ทุกคนได้เรียนรู้กันอยู่แล้ว และเจ้าหน้าที่ก็ทำงานกันอยู่แล้ว

    เมื่อถามว่า ได้รับรายงานจากฝ่ายความมั่นคงถึงความสุ่มเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นในอนาคตหรือไม่ พลเอก ประยุทธ์ ตอบว่า ทราบอยู่แล้ว แต่เรื่องยังไม่เกิดขึ้น และเดี๋ยวจะมีการขยายความเพิ่มไปอีก จะทำให้ประเทศชาติเสียหาย

    ย้ ำทำหน้าที่ให้ดีที่สุดจนกว่าจะไม่ได้ทำ

    ผู้สื่อข่าวถามว่า ในฐานะทหารเก่ายังมีการต่อสู้ต่อทางการเมืองอีกหรือไม่ พลเอก ประยุทธ์ ถามกลับว่า “สู้อะไรกับใคร เป็นเรื่องของประชาธิปไตย กระบวนการประชาธิปไตยเริ่มไปแล้ว ก็ว่าไปตามนั้นสิ อะไรจะเกิดขึ้นก็แล้วแต่ เป็นเรื่องของอนาคต ตอนนี้ยังเป็นรัฐบาลรักษาการอยู่ ยังเป็นนายกฯ อยู่ ก็ต้องทำหน้าที่ให้ดีที่สุดจนกว่าจะไม่ได้ทำเท่านั้นเอง ยากตรงไหน คำถามคำตอบ ไม่เห็นยากเลย อย่าไปสร้างความขัดแย้งอะไรอีกเลย พอแล้ว”

    เมื่อถามว่า ในฐานะรัฐบาลรักษาการอยากที่จะชี้แจงอีกครั้งหรือไม่ พลเอก ประยุทธ์ กล่าวว่า “ไม่อยาก สิ่งเดียวที่อยากคือการเห็นบ้านเมืองสงบสุข”

    ปัดหารือ “บิ๊กป้อม” เรื่องอนาคตการเมือง

    ถามต่อว่าได้มีการพูดคุยกับ พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ ถึงอนาคตทางการเมืองหรือไม่ พลเอกประยุทธ์ ตอบว่า “ไม่ได้คุยเรื่องอื่น คุยแต่เรื่องงานกับหน้าที่และความรับผิดชอบ ก็ติดตามว่าทำถึงไหน อย่างไร คุยกันไม่มีปัญหาอะไร”

    “ผมบอกแล้วไงว่าไม่ได้คุยเรื่องอื่น ประเทศชาติมันต้องเดินหน้าอยู่หรือเปล่าช่วงนี้ มันต้องทำงานต่อไป ประชาชนต้องได้รับการดูแลหรือเปล่า รัฐบาลทุกอย่างเพื่อรอให้รัฐบาลใหม่เข้ามา ขออย่าตั้งประเด็นในสิ่งที่ยังไม่เกิดขึ้น อย่าสร้างความตื่นตะหนก เรื่องเศรษฐกิจเราก็มีมาตรการรองรับอยู่สมควร ขอร้องอย่าสร้างปัญหาอะไรเพิ่ม ผมไม่มีปัญหากับใครอยู่แล้ว เคารพกระบวนการทางประชาธิปไตยทุกอย่าง” พลเอก ประยุทธ์ กล่าว

    เผยต่างชาติเทขายพันธบัตรห้ามไม่ได้

    สุดท้าย ผู้สื่อข่าวถามถึงกรณีที่ต่างชาติแห่ขายพันธบัตรรัฐบาล ภายหลังการจัดตั้งรัฐบาลยังไม่มีความชัดเจน พลเอก ประยุทธ์ ตอบว่า “ก็เขาขายจะให้ทำอย่างไร ตอนนี้เตรียมมาตรการไว้ ถือว่ายังโอเคอยู่ ต่างประเทศก็มีมุมมองของเขา ไม่แน่ใจว่าจะเป็นอย่างไรต่อไป เราก็ทำงานให้ดีที่สุด เธออย่าไปบังคับผู้ขายผู้ซื้อ มันคงไม่ได้”

    “ขึ้นกับพวกเราทุกคน จะทำยังไงให้บ้านเมืองสงบเรียบร้อย และเปลี่ยนผ่านได้ด้วยดี สถานะทางการเงินของเราก็แข็งแกร่งอยู่ในปัจจุบัน มันอาจจะมีความไม่แน่ใจ และความไม่แน่นอนในสถานการณ์การเมือง ก็แล้วแต่ ซึ่งต้องช่วยกันเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาในวันข้างหน้า” พลเอก ประยุทธ์ กล่าว

    พอใจ 4 เดือนครึ่ง ต่างชาติแห่เที่ยวไทยกว่า 9.5 ล้านคน

    ด้านนายอนุชารายงานว่า นายกฯ พอใจภาพรวมการท่องเที่ยวไทย หลังตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมาถึงกลางเดือนนี้ มีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้าไทย กว่า 9.5 ล้านคน คาดว่าทั้งปี 2566 จะมีนักท่องเที่ยวกว่า 25 ล้านคน พร้อมกำชับผู้ประกอบการธุรกิจท่องเที่ยว และสายการบินต่างๆ ให้ปรับการให้บริการมาอยู่ในระดับปกติเหมือนช่วงก่อนที่จะเกิดสถานการณ์โควิด-19

    นายอนุชากล่าวต่อว่า นายกฯ สั่งการให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเตรียมความพร้อมในการอำนวยความสะดวกด้านการเดินทาง และการตรวจคนเข้าเมือง รวมถึงช่วยกันป้องกัน ไม่ให้เกิดทัวร์ศูนย์เหรียญ เน้นคุณภาพนักท่องเที่ยวมากกว่าปริมาณ และให้ความสำคัญเรื่องการรักษาความปลดภัย ไม่เอาเปรียบ หรือโกงนักท่องเที่ยว เพื่อไม่ให้เกิดภาพลักษณ์ที่ไม่เหมาะสม

    “วิษณุ” เผยรัฐบาลรักษาการแค่กลางเดือน ส.ค. นี้

    นายอนุชากล่าวต่อว่า ในที่ประชุม ครม. วันนี้ นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี รายงานไทม์ไลน์หลังการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 14 พฤษภาคมที่ผ่านมา จนถึงวันที่มีการแต่งตั้ง ครม. ชุดใหม่เบื้องต้น ดังนี้

    • วันที่ 13 กรกฎาคม 2566 วันสุดท้ายที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ประกาศรับรองผลการเลือกตั้ง 60 วัน
    • วันที่ 20 กรกฎาคม 2566 วันสุดท้ายของการรายงานตัวของ ส.ส.
    • วันที่ 25 กรกฎาคม 2566 เลือกประธานสภาผู้แทนราษฎร
    • สัปดาห์ที่ 1 เดือนสิงหาคม 2566 ของการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งประธานสภา เลือกนายกรัฐมนตรี
    • สัปดาห์ที่ 2 เดือนสิงหาคม 2566 ตั้งคณะรัฐมนตรีและถวายสัตย์ปฏิญาณตนก่อนปฏิบัติหน้าที่
    • กลางเดือนสิงหาคม 2566 รัฐบาลปัจจุบันสิ้นสุดการปฏิบัติหน้าที่รักษาการ

    มติ ครม. มีดังนี้

    นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงผลการประชุม ครม. ณ ตึกนารีสโมสร ทำเนียบรัฐบาล
    ที่มาภาพ : www.thaigov.go.th/

    รับทราบผลงาน ศจพ.-ชงรัฐบาลใหม่แก้จนต่อ

    นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ที่ประชุม ครม.มีมติรับทราบรายงานความก้าวหน้าการดำเนินงานของศูนย์อำนวยการขจัดความยากจนและพัฒนาคนทุกช่วงวัยอย่างยั่งยืนตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง (ศจพ.) ในรายงานความก้าวหน้าของยุทธศาสตร์ชาติ ประจำเดือนมีนาคม 2566 โดยสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ สรุปสาระสำคัญ ดังนี้

    การดำเนินงานของศูนย์อำนวยการขจัดความยากจน และพัฒนาคนทุกช่วงวัยอย่างยั่งยืนตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง (ศจพ.) สำหรับปีงบประมาณ 2566 ได้มีการประกาศกลุ่มเป้าหมาย การดำเนินการตามแนวทางขับเคลื่อนการขจัดความยากจน และการพัฒนาคนทุกช่วงวัยอย่างยั่งยืนตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง รวม 4 กลุ่มเป้าหมาย ได้แก่

      (1) กลุ่มเป้าหมายเร่งด่วน จำนวน 655,365 คน
      (2) กลุ่มครัวเรือนเปราะบาง จำนวน 11,023,225 ครัวเรือน หรือ 33,384,526 คน
      (3) กลุ่มคนที่ต้องสำรวจเพิ่มเติม จำนวน 13,220,965 คน และ
      (4) กลุ่มคนที่ตกหล่น จากระบบบริหารจัดการข้อมูลการพัฒนาคนแบบชี้เป้า (TPMAP) ซึ่งต้องสืบค้นต่อไป

    แนวทางการขับเคลื่อนการขจัดความยากจน และการพัฒนาคนทุกช่วงวัยบนฐานข้อมูลเชิงประจักษ์ในปีงบประมาณ 2566 ดังนี้
    1. การเติมเต็มข้อมูล

    • ให้หน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้อง เร่งพัฒนาและปรับปรุงข้อมูลประชากร สถิติ สถานการณ์ ที่เชื่อมโยงกับเลขบัตรประชาชน
    • ศจพ. ทุกระดับและทีมปฏิบัติการ เติมเต็มข้อมูลในระบบแฟ้มบ้านพัฒนาคนไทย (Logbook) และระบบจัดเก็บข้อมูลแบบสอบถามเพื่อการพัฒนาคนตามหลัก MPI ให้ครอบคลุมกลุ่มเป้าหมายและสมบูรณ์
    • ฝ่ายเลขานุการฯ ร่วมกันจัดทำคำนิยามการดำเนินการต่างๆ ให้มีความเป็นปัจจุบันอย่างสม่ำเสมอ

    2. การช่วยเหลือกลุ่มเป้าหมาย

    • ศจพ. ทุกระดับและทีมปฏิบัติการ ดำเนินการช่วยเหลือ/พัฒนากลุ่มเป้าหมายร่วมกันโดยบันทึกข้อมูลการดำเนินการบนระบบ TPMAP

    3. การพัฒนาเพื่อความยั่งยืน

    • ศจพ. ทุกระดับและภาคีพัฒนาในพื้นที่ ร่วมกำหนดการแก้ไขปัญหาความยากจนและการพัฒนาคนในทุกช่วงวัยเป็นวาระจังหวัดอย่างจริงจัง
    • ศจพ. ทุกระดับ ร่วมกับหน่วยงานในพื้นที่ ใช้ข้อมูลจาก TPMAP เพื่อจัดทำโครงการตามแนวทางของมติ ครม. เมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม 2563 และเมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม 2564 ให้สอดคล้องกับภูมิสังคมและสภาพปัญหาในพื้นที่
    • ศจพ. ทุกระดับ ทีมปฏิบัติการและภาคีพัฒนาที่เกี่ยวข้อง ประยุกต์ใช้ข้อมูลจากเมนูแก้จน ประกอบการดำเนินการ
    • ศจพ. ทุกระดับร่วมกับภาคีการพัฒนาในพื้นที่ เร่งบูรณาการความร่วมมือในการดำเนินการพัฒนาต้นแบบ ศจพ. นำร่องระดับตำบล โดยใช้ข้อมูล TPMAP

    4. การติดตาม ตรวจสอบและประเมินผล

    • ศจพ. ทุกระดับและทีมปฏิบัติการ ติดตามกลุ่มเป้าหมาย พ.ศ. 2565 เพื่อให้ได้รับการพัฒนาตามขั้นตอนของการพัฒนา “อยู่รอด-พอเพียง-ยั่งยืน”
    • ศจพ. ทุกระดับและทีมปฏิบัติการ นำเข้าข้อมูลการดำเนินการ ของการพัฒนาของคนหรือครอบครัว ปัญหาอุปสรรคและข้อเสนอแนะในระบบ Logbook
    • หน่วยงานของรัฐ รายงานความก้าวหน้าของโครงการการดำเนินการในระบบ eMENSCR
    • NECTEC เร่งดำเนินการพัฒนาระบบ TPMAP โดยใช้เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ AI ให้แล้วเสร็จตามระยะเวลาของแผน

    โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ได้กล่าวเพิ่มเติมว่า นายกรัฐมนตรียังมีข้อสั่งการให้มอบหมายทุกหน่วยงานของรัฐให้ความสำคัญติดตามเร่งรัดโครงการที่มีผลการดำเนินการต่ำกว่าเป้าหมาย และให้หาวิธีแก้ไขเพื่อให้เกิดผลสัมฤทธิ์ พร้อมทั้งให้เร่งติดตามการแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือน และการแก้ปัญหาความยากจนอย่างต่อเนื่องให้เป็นผลงานของรัฐบาลที่ส่งต่อให้กับรัฐบาลใหม่ที่จะเข้ามาด้วย

    มอบคลัง-ธปท. เตรียมจัดประชุมธนาคารโลก-IMF ปี ’69

    นายอนุชา กล่าวว่า ที่ประชุม ครม.มีมติรับทราบผลการลงมติที่ประชุมสภาผู้ว่าการธนาคารโลก และกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) เห็นชอบให้ไทยเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมประจำปี สภาผู้ว่าการธนาคารโลกและกองทุนการเงินระหว่างประเทศ ปี 2569 ในวันที่ 16 ตุลาคมและให้กระทรวงการคลัง และธนาคารแห่งประเทศไทยดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้อง โดยกระทรวงการคลังจะดำเนินการเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาอนุมัติกรอบวงเงินงบประมาณ รวมถึงขออนุมัติ การลงนามในร่างบันทึกความเข้าใจระหว่างไทย กลุ่มธนาคารโลกและกองทุนการเงินระหว่างประเทศตามขั้นตอนต่อไป

    กระทรวงการคลังได้เสนอตัวเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมประจำปี 2569 และได้ดำเนินการตามขั้นตอนของธนาคารโลกและกองทุนการเงินระหว่างประเทศ โดยเมื่อวันที่ 14 – 16 ธันวาคม 2565 คณะทำงานธนาคารโลกและกองทุนการเงินระหว่างประเทศ ได้เดินทางมาสำรวจสถานที่จัดการประชุม โรงแรมที่พัก ระบบคมนาคม และความพร้อมของไทย และจัดทำรายงานผลการประเมินประเทศที่มีความพร้อมในการเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมสภาผู้ว่าการธนาคารโลกฯ ปี2569 ต่อคณะกรรมการบริหารกลุ่มออกเสียงของธนาคารโลกและกองทุนการเงินระหว่างประเทศ ซึ่งเป็นตัวแทนจากประเทศสมาชิกของธนาคารโลก 189 ประเทศ และสมาชิกของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ 190 ประเทศ ลงมติให้ความเห็นชอบประเทศที่พร้อมเป็นเจ้าภาพ และเมื่อวันที่ 10 เมษายน 2566 ที่ผ่านมา ที่ประชุมสภาผู้ว่าการธนาคารโลกและกองทุนการเงินระหว่างประเทศ ได้มีข้อมติเห็นชอบ ให้ไทยเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมสภาผู้ว่าการธนาคารโลกฯ ปี 2569 โดยธนาคารโลกและกองทุนการเงินระหว่างประเทศมีหนังสือเชิญคณะทำงานของไทยเดินทางเข้าร่วมการประชุมในเดือนตุลาคม 2566 ณ เมืองมาราเกช โมร็อกโก เพื่อหารือและดูงานการเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมฯ ซึ่งกระทรวงการคลังจะดำเนินการจัดตั้งคณะกรรมการร่วมระหว่างกระทรวงการคลัง ธนาคารแห่งประเทศไทย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อเตรียมการเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมดังกล่าวต่อไป

    ธนาคารโลกและกองทุนการเงินระหว่างประเทศ มีการประชุมปีละ 2 ครั้ง ได้แก่ การประชุม Spring Meeting ในเดือนเมษายน ซึ่งจะจัดขึ้น ณ กรุงวอชิงตัน ดี.ซี. สหรัฐอเมริกา และการประชุมประจำปีในเดือนตุลาคม ซึ่งจัดขึ้น ณ กรุงวอชิงตัน ดี.ซี. สหรัฐอเมริกา 2 ครั้ง ติดต่อกัน และจะเวียนมาให้ประเทศสมาชิกเป็นเจ้าภาพ จัดการประชุมในปีที่ 3 ตามธรรมเนียมปฏิบัติ ซึ่งราชอาณาจักรโมร็อกโกจะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมประจำปี 2566

    โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผย ว่า ประเทศไทยเข้าเป็นสมาชิกของธนาคารโลก และ กองทุนการเงินระหว่างประเทศ เมื่อวันที่ 3 พฤษภาคม 2492 และได้เคยเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมสภาผู้ว่าการธนาคารโลก เมื่อปี 2534 ณ กรุงเทพมหานคร ซึ่งนายกรัฐมนตรี ยังได้กล่าวชื่นชมความสำเร็จของไทยที่ได้รับเลือกให้เป็นประเทศเจ้าภาพจัดการประชุมและสถานที่จัดงานสำคัญระดับโลก สะท้อนให้เห็นว่าประเทศต่างๆ และองค์การระหว่างประเทศ มีความมั่นใจและเชื่อมั่นศักยภาพของประเทศไทย โดยการประชุมปัจจุบันไทยยังได้รับเลือกเป็นเจ้าภาพงานมหกรรมพืชสวนโลก 2569 ณ จังหวัดอุดรธานี และอยู่ระหว่างการเสนอตัวเป็นเจ้าภาพจัดการประชุม World Expo ปี 2571 ที่จังหวัดภูเก็ตด้วย

    แสดงความเสียใจผู้เสียชีวิต-บาดเจ็บ เหตุวาตภัย จ.พิจิตร

    นายอนุชา กล่าวว่าวันนี้พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม รับทราบรายงานสรุปสถานการณ์วาตภัยที่เกิดขึ้นเมื่อวานนี้ (22 พ.ค. 2566) โดยนายกรัฐมนตรีแสดงความเสียใจกับครอบครัวผู้เสียชีวิตรวม 7 ราย และผู้บาดเจ็บ 23 ราย ที่ จ.พิจิตร พร้อมสั่งการกระทรวงมหาดไทย กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ผู้ว่าราชการจังหวัด และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในจังหวัดที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์วาตภัย เร่งค้นหาผู้ที่สูญหาย สำรวจความเสียหาย ให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยอย่างใกล้ชิด

    นายอนุชากล่าวว่า ปภ.พิจิตร ได้รายงานเมื่อช่วงเย็นวานนี้ (22 พ.ค. 2566) เกิดเหตุพายุฝนพัดถล่มโดมขนาดใหญ่หลังคาเมทัลชีท ตั้งอยู่ภายโรงเรียนวัดเนินปอ หมู่ที่ 1 ต.เนินปอ อ.สามง่าม จ.พิจิตร โดยขณะเกิดเหตุมีนักเรียนที่มาเล่นกีฬาฟุตบอล หลบฝนอยู่ภายในโดมดังกล่าวเป็นจำนวนมาก ซึ่ง ปภ.พิจิตร อบจ.พิจิตร หน่วยกู้ชีพกู้ภัยในพื้นที่ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้ระดมเจ้าหน้าที่และเครื่องมือ เช่น ชุดเคลื่อนที่เร็วพร้อมไฟฟ้าส่องสว่าง อุปกรณ์ตัดถ่าง และอุปกรณ์กู้ชีพกู้ภัยเข้าให้การช่วยเหลืออย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ได้สรุปสถานการณ์วาตภัย ณ เวลา 22.30 น. วันที่ 22 พ.ค. 2566 มีสถานการณ์ในพื้นที่ 5 จังหวัด ได้แก่ พิจิตร แพร่ ตาก ลำปาง กำแพงเพชร รวม 9 อำเภอ 11 ตำบล 19 หมู่บ้าน บ้านเรือนประชาชนได้รับความเสียหาย 207 หลัง โดย ปภ. ได้ประสานจังหวัดและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งสำรวจความเสียหายและให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยแล้ว

    “นายกรัฐมนตรีติดตามสถานการณ์วาตภัยที่เกิดขึ้น ล่าสุดวันนี้ (23 พ.ค. 2566) มีรายงานผู้เสียชีวิตรวม 7 ราย และผู้บาดเจ็บรวม 23 ราย โดยนายกรัฐมนตรีแสดงความเสียใจกับครอบครัวผู้เสียชีวิตและผู้ได้รับบาดเจ็บ พร้อมสั่งการกระทรวงมหาดไทย ปภ. ผู้ว่าฯ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ เร่งค้นหาผู้ที่ยังสูญหาย สำรวจความเสียหาย ให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยตามระเบียบของทางราชการอย่างใกล้ชิด นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรีย้ำว่า หากมีแนวโน้มการเกิดสถานการณ์อุทกภัย วาตภัย และดินถล่ม ขอให้เตรียมการช่วยเหลือตามแผนเผชิญเหตุ พร้อมแจ้งเตือนประชาชนทราบถึงสถานการณ์ แนวปฏิบัติให้เกิดความปลอดภัย ตลอดจนช่องทางการแจ้งข้อมูล และขอรับความช่วยเหลือจากภาครัฐในทุกช่องทางสื่อสาร โดยให้ประชาชนแจ้งสายด่วนนิรภัย 1784 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องเร่งให้การช่วยเหลือโดยทันที” นายอนุชา กล่าว

    ปลื้มไทยส่งออกเป็ดปรุงสุกไปเครือรัฐออสเตรเลีย 1,200 ตัน/ปี

    นายอนุชา กล่าวว่า พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม รับทราบถึงความก้าวหน้าในแนวทางการเจรจาความร่วมมือด้านการค้าระหว่างประเทศ ระหว่างไทยกับเครือรัฐออสเตรเลีย รวมถึงการส่งออกสินค้าเกษตรจำพวกเป็ดปรุงสุกจากไทย และการนำเข้าสินค้าผลอะโวคาโดสดจากเครือรัฐออสเตรเลีย เพื่อยกระดับความร่วมมือด้านสินค้าเกษตรของทั้งสองประเทศ

    โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ของไทยได้เข้าร่วมการประชุมคณะทำงานร่วมด้านการเกษตรออสเตรเลีย – ไทย ครั้งที่ 22 เพื่อยกระดับสู่การเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ โดยทั้งสองฝ่ายได้ทำข้อตกลงและเน้นย้ำถึงการปฏิบัติตามข้อตกลงเขตการค้าเสรีไทย – ออสเตรเลีย (TAFTA) ช่วยเสริมสร้างความร่วมมือด้านการเกษตร ด้านการค้า การแลกเปลี่ยนนโยบาย และกิจกรรมความร่วมมือทางวิชาการต่างๆ ระหว่างกัน

    ทั้งสองประเทศได้เข้าร่วมพิธีส่งเสริมความร่วมมือด้านสินค้าเกษตรระหว่างไทยและเครือรัฐออสเตรเลีย โดยออสเตรเลียได้ส่งมอบจดหมายใบรับรองสุขอนามัยสัตว์ (Health certificate) เพื่อนำเข้าเป็ดปรุงสุกจากไทยสู่ออสเตรเลีย สะท้อนถึงการยอมรับคุณภาพมาตรฐานการผลิตเป็ดปรุงสุกของไทย คาดว่าจะทำให้เป็ดปรุงสุกไทยสามารถส่งออกไปยังเครือรัฐออสเตรเลียได้ภายในเดือนมิถุนายน 2566 ในปริมาณ 1,200 ตันต่อปี คิดเป็นมูลค่ากว่า 400 ล้านบาท

    นอกจากนี้ กรมวิชาการเกษตรของไทย ได้ลงนามเกี่ยวกับเงื่อนไขการนำเข้าผลอะโวคาโดสดจากเครือรัฐออสเตรเลีย พ.ศ. 2566 ภายหลังจากการตรวจสอบและบรรลุข้อตกลง ประเทศไทยจะสามารถนำเข้าผลอะโวคาโดสดจากเครือรัฐออสเตรเลียได้ตามข้อตกลง

    “นายกรัฐมนตรีชื่นชมความสำเร็จในครั้งนี้ โดยทั้งสองประเทศได้ขยายความร่วมมือทางด้านวิชาการและการส่งออกสินค้าเกษตรระหว่างกันเพิ่มมากขึ้น แสดงให้เห็นถึงเจตนารมณ์ความร่วมมือเพื่อลดกำแพงการค้าสินค้าเกษตรระหว่างกัน โดยไทยและเครือรัฐออสเตรเลียมีความสัมพันธ์ด้านการเกษตรกันอย่างยาวนานและแน่นแฟ้น โดยทั้งสองประเทศได้ยกระดับและกระชับความเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ระหว่างกันมาอย่างต่อเนื่อง เน้นย้ำตามข้อตกลงเขตการค้าเสรีไทย – ออสเตรเลีย (TAFTA) เสริมสร้างความร่วมมือด้านการเกษตร การค้า การแลกเปลี่ยนนโยบาย และความร่วมมือทางวิชาการระหว่างกัน” นายอนุชาฯ กล่าว

    แจงความคืบหน้าโครงการก่อสร้างสะพานเชื่อมไทย-มาเลเซีย

    ดร.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ชื่นชมผลการร่วมประชุมด้านเทคนิคมาเลเซีย-ไทย ครั้งที่ 3 ในโครงการการยกระดับสะพานเชื่อมรันเตาปันยัง ประเทศมาเลเซีย และสุไหงโก-ลก จังหวัดนราธิวาส ประเทศไทย เชื่อมั่นเป็นการอำนวยความสะดวกด้านการคมนาคม เพิ่มโอกาสแลกเปลี่ยนในระดับประชาชน สนับสนุนการท่องเที่ยว ส่งเสริมการค้าชายแดน เชื่อมโยงระหว่างเขตเศรษฐกิจพิเศษบริเวณชายแดนของทั้งสองประเทศ

    รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีเปิดเผยว่า เมื่อวาน (22 พฤษภาคม 2566) ที่ โรงแรม Pulse Grand ปุตราจายา ประเทศมาเลเซีย ผู้แทนศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) ร่วมประชุมด้านเทคนิคมาเลเซีย-ไทย ครั้งที่ 3 ในโครงการการยกระดับสะพานเชื่อมรันเตาปันยัง ประเทศมาเลเซีย และสุไหงโก-ลก จังหวัดนราธิวาส ประเทศไทย ตามที่รัฐบาลไทยและรัฐบาลมาเลเซีย ได้เห็นชอบร่วมกันในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและระบบการคมนาคมขนส่ง เชื่อมต่อไทยและมาเลเซียในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้

    ทั้งนี้ ศอ.บต. มีข้อเสนอในที่ประชุมเพื่อให้การแก้ไขปัญหาในส่วนที่เกี่ยวข้องคลี่คลายโดยเร็ว และดำเนินการได้ทันการดำเนินการจัดทำงบประมาณรายจ่ายงบประมาณของส่วนราชการประจำปี 2567 เพื่อให้ดำเนินการแล้วเสร็จเกิดประโยชน์ต่อประชาชน เพื่อเป็นประโยชน์และเป็นของขวัญให้กับประชาชนทั้ง 2 ประเทศ ทั้งในส่วนของอำเภอสุไหงโก-ลก และอำเภอข้างเคียงจังหวัดนราธิวาสของประเทศไทยและรัฐกลันตันของประเทศมาเลเซีย ซึ่งต่างรอคอยการใช้ประโยชน์สะพานข้ามแม่น้ำโก-ลก แห่งที่ 2 นี้ มาเป็นเวลากว่า 20 ปี

    “นายกรัฐมนตรีดำเนินนโยบายด้วยความเป็นมิตรกับทุกประเทศ ให้ความสำคัญกับเพื่อนบ้าน พื้นที่ชายแดน เส้นทาง การค้าชายแดน โดยให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับฟังความเห็นจากประชาชน ผู้ประกอบการในพื้นที่ นำมาพิจารณาปรับใช้เพื่อดำเนินนโยบาย ทั้งนี้ เชื่อมั่นว่าความสัมพันธ์ในพื้นที่ชายแดนจะดีขึ้นอย่างต่อเนื่องผ่านมิตรภาพและการแลกเปลี่ยนในระดับประชาชน ซึ่งจะส่งผลดีต่อเนื่องถึงความเชื่อมโยงระหว่างเขตเศรษฐกิจพิเศษบริเวณชายแดนของทั้งสองประเทศเพื่อการพัฒนาร่วมกันอย่างยั่งยืน” ดร.รัชดาฯ กล่าว

    ชื่นชมผลงานบริหารจัดการน้ำไทยสูงกว่าค่าเฉลี่ยโลก

    นางสาวทิพานัน ศิริชนะ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ที่ประชุมครม. มีมติรับทราบรายงานผลสัมฤทธิ์ของการดำเนินการตามแผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ 20 ปี (พ.ศ. 2561-2580) ช่วงปี พ.ศ. 2561-2565 ต่อแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ ประเด็นที่ 19 การบริหารจัดการน้ำทั้งระบบและเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน เป้าหมายที่ 6 (SDG 6) ตามที่สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เสนอ ซึ่งเป็นการติดตามความก้าวหน้า 3 ด้าน คือ (1) การดำเนินงานภายใต้แผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ 20 ปี (พ.ศ. 2561-2580) (แผนแม่บทฯ น้ำ) ช่วงปี 2561-2565 (2) การประเมินแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ ประเด็นที่ 19 การบริหารจัดการน้ำทั้งระบบ และ (3) การประเมินตัวชี้วัดเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน เป้าหมายที่ 6 (SDG 6) : การจัดการน้ำและสุขาภิบาล

    นางสาวทิพานัน กล่าวว่า ผลสัมฤทธิ์ของการดำเนินงานภายใต้แผนแม่บทฯ น้ำ ช่วงปี พ.ศ. 2561-2565 ตามตัวชี้วัด 6 ด้าน ดังนี้

      ด้านที่ 1 การจัดการน้ำอุปโภคบริโภค มีการก่อสร้างระบบประปา 256 หมู่บ้าน และเพิ่มประสิทธิภาพระบบประปา 5,005 หมู่บ้าน มีการปรับปรุงระบบประปาหมู่บ้านให้ได้มาตรฐาน (SDGs) ที่ผ่านมาตรฐานประปาดื่มได้ เฉลี่ยร้อยละ 38.48
      ด้านที่ 2 การสร้างความมั่นคงของน้ำภาคการผลิต มีการพัฒนาแหล่งเก็บกักน้ำ/อาคารบังคับน้ำ/ระบบส่งน้ำใหม่ (เพื่อการเกษตรและอุตสาหกรรม) ในพื้นที่ชลประทาน จำนวน 1,420 แห่ง ปริมาณน้ำ 601.51 ล้านลูกบาศก์เมตร สำหรับพื้นที่รับประโยชน์ 1,189,954 ไร่
      ด้านที่ 3 การจัดการน้ำท่วมและอุทกภัย เพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำ มีการปรับปรุงสิ่งกีดขวางทางน้ำ 201 แห่ง ปรับปรุงลำน้ำธรรมชาติที่ตื้นเขิน 115 แห่งระยะทาง 181 กิโลเมตร
      ด้านที่ 4 การจัดการคุณภาพน้ำและอนุรักษ์ทรัพยากรน้ำ มีการเพิ่มประสิทธิภาพในการบำบัดและควบคุมการระบายน้ำเสียออกสู่สิ่งแวดล้อม โดยก่อสร้างใหม่ 18 ระบบ และเพิ่มประสิทธิภาพระบบเดิม 1 แห่ง ทำให้ปริมาณน้ำเสียที่รับการบำบัดได้ตามมาตรฐาน เฉลี่ยร้อยละ 15
      ด้านที่ 5 การอนุรักษ์ฟื้นฟูสภาพป่าต้นน้ำที่เสื่อมโทรมและป้องกันการพังทลายของดิน ในเขตป่าอนุรักษ์และเขตป่าสงวนแห่งชาติมีการดำเนินการอนุรักษ์ฟื้นฟูพื้นที่ป่าต้นน้ำที่เสื่อมโทรม 179,909 ไร่ และป้องกันและลดการชะล้างพังทลายของดินในพื้นที่ต้นน้ำ 118,608 ไร่
      ด้านที่ 6 การบริหารจัดการ ใช้ตัวชี้วัดเชิงคุณภาพ เช่น (1) จัดทำปรับปรุงกฎหมายและองค์กรด้านการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ โดยมีการตามและออกกฎหมายลำดับรองตาม พ.ร.บ. ทรัพยากรน้ำ พ.ศ. 2561 แล้วเสร็จ รวม 25 ฉบับ (2) จัดทำ (ร่าง) แผนแม่บทฯ น้ำ (ปรับปรุงช่วงที่ 1 พ.ศ. 2566-2580) เพื่อประกาศใช้ใหม่ และ (3) ติดตามและประเมินผล โดย สทนช.

    “สำหรับผลการประเมินตัวชี้วัดเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน เป้าหมายที่ 6 (SDG 6) : การจัดการน้ำและสุขาภิบาลพบว่า ประเทศไทยมีการดำเนินงานสูงกว่าค่าเฉลี่ยระดับโลก โดยมีสัดส่วนประชากรที่ใช้บริการน้ำดื่มปลอดภัย/บริการน้ำดื่มขั้นพื้นฐานร้อยละ 100 เข้าถึงน้ำดื่มพื้นฐาน และประชากรเข้าถึงการสุขาภิบาลขั้นพื้นฐานร้อยละ 99 ส่วนการบริหารจัดการน้ำอย่างบูรณาการใกล้เคียงค่าเฉลี่ยระดับโลกที่ร้อยละ 54 โดยไทยได้ดำเนินการได้ร้อยละ 53 (ปานกลาง-สูง)” นางสาวทิพานัน กล่าว

    ผ่านร่าง พ.ร.ฎ.ให้ “วาฬสีน้ำเงิน” เป็นสัตว์สงวน

    นางสาวไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) วันที่ 23 พ.ค. 2566 ได้อนุมัติหลักการร่างพระราชกฤษฎีกา (พ.ร.ฎ.) กำหนดให้สัตว์ป่าบางชนิดเป็นสัตว์ป่าสงวน(ฉบับที่…) พ.ศ….. มีสาระสำคัญเป็นการกำหนดให้วาฬสีน้ำเงิน (Balaenptera musculus) เป็นสัตว์ป่าสงวนเพิ่มเติม พร้อมกับอนุมัติให้รวมเป็นกฎหมายฉบับเดียวกันกับร่าง พ.ร.ฎ. ที่ครม. ได้อนุมัติเมื่อวันที่ 6 ก.ย. 2565 ซึ่งมีสาระสำคัญกำหนดให้นกชนหิน หรือ นกหิน (Buceros vigil หรือ Rhinoplax vigil) เป็นสัตว์ป่าสงวน โดยหลังจากนี้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาจะได้ดำเนินการตามขึ้นตอน เพื่อรวม พ.ร.ฎ.ทั้ง 2 ฉบับเป็นกฎหมายฉบับเดียวต่อไป

    การกำหนดให้ทั้งวาฬสีน้ำเงิน และ นกชนหินหรือนกหิน เป็นสัตว์ป่าสงวนนี้ เป็นการดำเนินการตามขั้นตอนของมาตรา 6 วรรคสอง พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2562 ซึ่งบัญญัติว่าในกรณีที่อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช โดยความเห็นชอบของคณะกรรมการสงวนและคุ้มครองสัตว่าเห็นว่าสัตว์ป่าชนิดใดสมควรกำหนดเป็นสัตว์ป่าสงวนเพิ่มเติมจากที่บัญญัติไว้ในท้าย พ.ร.บ.ฯ ให้ออกเป็น พ.ร.ฎ.

    นางสาวไตรศุลี กล่าวว่า ก่อนจะเสนอเป็นสัตว์ป่าสงวน วาฬสีน้ำเงินเป็นสัตว์ป่าควบคุม ตามประกาศกระทรวงทรัพยากรธรราชาติและสิ่งแวดล้อม โดยวาฬสีน้ำเงินเป็นสัตว์ขนาดใหญ่ที่สุดในโลก มีแหล่งอาศัยในพื้นที่ทางทะเลระหว่างประเทศ ในประเทศไทยเองมีข้อมูลการพบเห็นวาฬสีน้ำเงินเฉพาะทะเลฝั่งอันดามันเพียง 3 ครั้ง แต่เนื่องด้วยในอดีตถูกล่าจับเป็นจำนวนมากเพื่อนำเนื้อและไขมันมาใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์และประมงพื้นบ้าน ขณะที่แหล่งอาหารที่ลดลงจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศและความเป็นกรดในทะเล ส่งผลต่อการสืบพันธุ์

    องค์การระหว่างประเทศเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติ (IUCN) จึงได้ขึ้นบัญชีให้วาฬสีน้ำเงินมีสถานะเป็นชนิดพันธุ์ที่ใกล้สูญพันธุ์ (Endangered species : EN) หรือ อยู่ในบัญชี IUCN Red List ซึ่งประเทศไทยก็ได้ขึ้นบัญชีวาฬสีน้ำเงินเป็นชนิดพันธุ์ใกล้สูญพันธุ์เช่นกัน (Thailand Red Data)

    นางสาวไตรศุลี กล่าวว่า เมื่อกฎหมายมีผลบังคับให้เป็นสัตว์ป่าสงวนแล้วทั้งวาฬสีน้ำเงิน และนกชนหินหรือนกหิน จะได้รับการอนุรักษ์และดูแลอย่างเข้มงวดตาม พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2562 เช่นเดียวกับสัตว์ป่าสงวน แนบท้าย พ.ร.บ.ฯ ที่ปัจจุบันมี 4 จำพวก 19 ชนิด ได้แก่ 1) สัตว์จำพวกเลี้ยงลูกด้วยนำ เช่น กระซู่ กวางผา 2) สัตว์ป่าจำพวกนก เช่น นกกระเรียน 3) สัตว์ป่าจำพวกสัตว์เลื้อยคลาน เช่น เต่ามะเฟือง และ 4) สัตว์จำพวกปลา เช่น ปลาฉลามวาฬ เป็นต้น

    วางกรอบเจรจาจัดทำแผนลดมลพิษจากพลาสติกฯตามมติ UNEA

    นางสาวไตรศุลี กล่าวว่า ที่ประชุม ครม.มีมติเห็นชอบกรอบการเจรจาและท่าทีของประเทศไทยสำหรับการประชุมคณะกรรมการเจรจาระหว่างรัฐบาลในการจัดทำมาตรการที่มีผลผูกพันทางกฎหมายระหว่างประเทศด้านมลพิษจากพลาสติกรวมทั้งสิ่งแวดล้อมทางทะเล ครั้งที่ 2 ณ กรุงปารีส สาธารณรัฐฝรั่งเศส ระหว่างวันที่ 28 พ.ค.-2 มิ.ย. 66

    สำหรับการเจรจาระหว่างรัฐบาลฯ เกิดขึ้นจากที่ประชุมสมัชชาสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ (UNEA) ซึ่งเป็นเวทีการประชุมสหประชาชาติระดับสูงที่สุดในการกำหนดนโยบายด้านสิ่งแวดล้อมของโลก ที่มีประเทศสมาชิกของสหประชาชาติ ผู้แทนจากภาคส่วนต่างๆ เข้าร่วม

    โดยในการประชุม UNEA เมื่อวันที่ เดือนมี.ค. 65 ได้มีการรับรองข้อมฺติ “ยุติมลพิษจากพลาสติก : ด้วยมาตรการที่มีผลผูกพันทางกฎหมายระหว่างประเทศ” พร้อมจัดตั้งคณะกรรมการเจรจาระหว่างรัฐบาลฯ ขึ้นเพื่อเจรจาและจัดทำมาตรการที่เกี่ยวข้อง ซึ่งการเจรจาจะมีทั้งหมด 5 ครั้ง ซึ่งครั้งแรก มีขึ้นเมื่อ 26 พ.ย.-2 ธ.ค. 65 ที่สาธารณรัฐบูรพาอุรกกวัย กำหนดจัดทำมาตรการให้แล้วเสร็จในปี 2567 เสนอรับรองมาตรการที่เสร็จสมบูรณ์ในการประชุมผู้แทนรัฐบาลรัฐสมาชิก (Diplomatic Conference) ภายในปี 2568

    นางสาวไตรศุลี กล่าวว่า ในการประชุมครั้งที่ 2 ระหว่างวันที่ 28 พ.ค.-2 มิ.ย. จะมีวาระที่จะต้องมีการรับรองและข้อตัดสินใจสำคัญ เช่น 1) ข้อกำหนดและขอบเขตของร่างมาตรการ 2) บัญชีรายชื่อพลาสติดบางประเภทที่มีปัญหาและเป็นอันตรายมากที่ควรได้รับการยกเลิก ลด หรือจำกัดการผลิต การใช้งานและการได้รับการจัดการที่เหมาะสม 3) บัญชีรายชื่อสารอันตรายที่เติมแต่งในพลาสติกที่ควรได้รับการยกเลิกการผลิตและการใช้งาน 4) ข้อเสนอบทบัญญัติของมาตรการ เป็นต้น

    ทั้งนี้ กระทรวงการต่างประเทศได้พิจารณาร่างกรอบการเจรจาและท่าทีของไทยแล้ว เห็นว่ามีสาระสำคัญเป็นการกำหนดขอบเขตการเจรจาในประเด็นต่างๆ และเป็นเอกสารภายในของไทยที่เป็นกรอบท่าทีสำหรับการประชุมดังกล่าว ยังไม่ใช่การจัดทำสนธิสัญญาใหม่ จึงไม่มีประเด็นพิจารณาเกี่ยวกับการทำหนังสือสัญญาตามมาตรา 178 ของรัฐธรรมนูญ

    นางสาวไตรศุลี กล่าวว่า ครม.ยังได้รับทราบองค์ประกอบคณะผู้แทนไทยสำหรับการประชุมคณะกรรมการเจรจาระหว่างรัฐบาลฯ ซึ่งประกอบไปด้วยผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้แก่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และกระทรวงการต่างประเทศ รวม 6 คน โดยมี นางสาวธีราพร วิริวุฒิกร ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านการจัดการกากของเสียงและสารอันตราย กรมควบคุมมลพิษ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติฯ เป็นหัวหน้าคณะผู้แทนไทย

    ตั้ง คกก.ตาม พ.ร.บ.ป้องกันการทรมาน-อุ้มหาย

    นางสาว ไตรศุลี กล่าวว่า วันนี้ที่ประชุม ครม.มีมติอนุมัติ/เห็นชอบในเรื่องแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการและผู้บริหารระดับสูงของหน่วยงานรัฐมีรายละเอียด ดังนี้

    1. การเสนอรายชื่อบุคคลเพื่อเข้ารับการแต่งตั้งเป็นกรรมการในคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทรมาน และการกระทำให้บุคคลสูญหายตามมาตรา 14 (4) แห่งพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. 2565

    คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงยุติธรรม เสนอแต่งตั้งบุคคลเป็นกรรมการในคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหายตามมาตรา 14 (4) แห่งพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. 2565 ดังนี้

      1. ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. รณกรณ์ บุญมี ดำรงตำแหน่ง กรรมการป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย ผู้มีความรู้ ความเชี่ยวชาญ และประสบการณ์เป็นที่ประจักษ์ในด้านสิทธิมนุษยชน

      2. นายสมชาย หอมลออ ดำรงตำแหน่ง กรรมการป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย ผู้มีความรู้ ความเชี่ยวชาญ และประสบการณ์เป็นที่ประจักษ์ในด้านสิทธิมนุษยชน

      3. ศาสตราจารย์ณรงค์ ใจหาญ ดำรงตำแหน่ง กรรมการป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย ผู้มีความรู้ ความเชี่ยวชาญ และประสบการณ์เป็นที่ประจักษ์ในด้านกฎหมาย

      4. ผู้ช่วยศาสตราจารย์ นายแพทย์วรวีร์ ไวยวุฒิ ดำรงตำแหน่ง กรรมการป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย ผู้มีความรู้ ความเชี่ยวชาญ และประสบการณ์เป็นที่ประจักษ์ในด้านนิติวิทยาศาสตร์

      5. พลตำรวจโท นายแพทย์พรชัย สุธีรคุณ ดำรงตำแหน่ง กรรมการป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย แพทย์ทางนิติเวชศาสตร์

      6. แพทย์หญิงอัมพร เบญจพลพิทักษ์ ดำรงตำแหน่ง กรรมการป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย แพทย์ทางจิตเวชศาสตร์

    ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 23 พฤษภาคม 2566 เป็นต้นไป

    2. การแต่งตั้งกรรมการผู้ทรงวุฒิในคณะกรรมการศูนย์คุณธรรม

    คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรมเสนอแต่งตั้ง ศาสตราจารย์สุรศักดิ์ ลิขสิทธิ์วัฒนกุล เป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการศูนย์คุณธรรม แทน ศาสตราจารย์อุดม รัฐอมฤต กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิเดิมที่พ้นจากตำแหน่งเนื่องจากขอลาออกเมื่อวันที่ 3 มกราคม 2566 โดยให้มีผลตั้งแต่วันที่ 23 พฤษภาคม 2566 เป็นต้นไป โดยผู้ได้รับแต่งตั้งแทนนี้อยู่ในตำแหน่งเท่ากับวาระที่เหลืออยู่ของกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งได้แต่งตั้งไว้แล้ว

    3. การแต่งตั้งประธานกรรมการและกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการสำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้

    คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่สำนักนายกรัฐมนตรีเสนอแต่งตั้งประธานกรรมการและกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการสำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ (สบร.) ประกอบด้วย

    1. บุคคลที่มีคุณสมบัติเหมาะสมที่จะดำรงตำแหน่งประธานกรรมการ สบร. จำนวน 1 ราย ได้แก่ นายปรเมธี วิมลศิริ

    2. บุคคลที่มีคุณสมบัติเหมาะสมที่จะดำรงตำแหน่งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ จำนวน 5 ราย ได้แก่

      (1) นายชัยยศ อิ่มสุวรรณ์
      (2) นายประภาศ คงเอียด
      (3) รองศาสตราจารย์ สิงห์ อินทรชูโต
      (4) นางสาวสุทธาภา อมรวิวัฒน์
      (5) นายปิยะชาติ อิศรภักดี

    โดยให้มีผลตั้งแต่วันที่ 23 พฤษภาคม 2566 เป็นต้นไป

    4. การแต่งตั้งกรรมการผู้ทรงวุฒิในคณะกรรมการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (ทดแทนตำแหน่งที่ว่างลง)

    คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่รองนายกรัฐมนตรี (นายอนุทิน ชาญวีรกูล) ประธานกรรมการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพเสนอ แต่งตั้ง ผู้ช่วยศาสตราจารย์ธรวันต์ สินธุนาวา เป็นกรรมการผู้ทรงวุฒิด้านศิลปวัฒนธรรม ในคณะกรรมการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ โดยให้มีผลตั้งแต่วันที่ 23 พฤษภาคม 2566 เป็นต้นไป

    รองนายกฯ อนุทิน เป็นผู้แทนประเทศไทยเข้าร่วมการประชุมสมัชชาอนามัยโลก สมัยที่ 76 ณ นครเจนีวา สมาพันธรัฐสวิส ระหว่างวันที่ 23-28 พ.ค.

    นางสาวไตรศุลี กล่าวต่อว่า ระหว่างวันที่ 23-28 พ.ค. 66 นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรมว.สาธารณสุข จะนำคณะผู้บริหารหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของกระทรวงสาธารณสุข เป็นผู้แทนประเทศไทยเข้าร่วมการประชุมสมัชชาอนามัยโลก (World Health Assembly: WHA) สมัยที่ 76 ณ นครเจนีวา สมาพันธรัฐสวิส

    โดยการประชุมปีนี้จัดขึ้น ภายใต้หัวข้อ “saving lives, driving health for all” มีสมาชิกองค์การอนามัยโลก (WHO) 194 ประเทศเข้าร่วม โดย WHA เปรียบเหมือนคณะกรรมการที่มีอำนาจตัดสินใจเชิงนโยบาย อนุมัติงบประมาณโครงการสำคัญของ WHO มีประเด็นสำคัญที่จะมีการหารือในที่ประชุม สมัยที่ 76 เช่น การทบทวนการทำงานของ WHO ในภาวะฉุกเฉินทางสุขภาพ พิจารณาถึงกฎอนามัยระหว่างประเทศ และเตรียมความพร้อมสำหรับภาวะฉุกเฉินทางสุขภาพที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต

    รวมถึงประเด็นการดำเนินการระดับโลกในแต่ละด้านของ WHO เช่น สุขภาพสตรี เด็กและวัยรุ่น การฟื้นฟูสมรรถภาพ หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ระบบสาธารณสุขมูลฐาน การแพทย์แผนโบราณ การป้องกันและควบคุมการติดเชื้อ ยาที่ไม่ได้มาตรฐาน สุขภาพของผู้ลี้ภัย สุขภาพจิต ปัจจัยทางสังคม โภชนาการ และความพิการ ตลอดจนการการอนุมัติงบประมาณโครงการต่างๆของ WHO ใน 2 ปีข้างหน้า 2567-68 เป็นต้น

    นางสาวไตรศุลี กล่าวว่า นอกจากการร่วมหารือในหัวข้อต่างๆ ข้างต้น นายอนุทิน ยังมีกำหนดการหารือแบบทวิภาคีเพื่อแสวงหาความร่วมมือด้านสุขภาพและสาธารณสุข กับผู้แทนจากประเทศต่างๆ เช่น สาธารณรัฐประชาชนจีน สิงคโปร์ คาซัคสถาน บังคลาเทศ มัลดีฟส์ รวมถึงหารือกับนาย Tedros Adhanom Ghebreyesus ผู้อำนวยการใหญ่องค์การอนามัยโลก ในประเด็นความร่วมมือระหว่าง WHO กับประเทศไทยด้วย

    อ่าน มติ ครม. ประจำวันที่ 23 พฤษภาคม 2566 เพิ่มเติม