ThaiPublica > เกาะกระแส > นายกฯ พร้อมรับศึกซักฟอก ไม่กังวล ‘นับองค์ประชุม’ – มติ ครม.ลดภาษีดีเซลลิตรละ 3 บาท 3 เดือน

นายกฯ พร้อมรับศึกซักฟอก ไม่กังวล ‘นับองค์ประชุม’ – มติ ครม.ลดภาษีดีเซลลิตรละ 3 บาท 3 เดือน

15 กุมภาพันธ์ 2022


พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม
ที่มาภาพ : www.thaigov.go.th

นายกฯ พร้อมรับศึกซักฟอก ไม่กังวล ‘นับองค์ประชุม’ – เมินกระแสข่าว 260 เสียง หนุน ‘อนุทิน’ ขึ้นนายกฯ– ชี้ขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ หวั่นนักลงทุนย้ายฐานผลิต- มติ ครม.ลดภาษีดีเซลลิตรละ 3 บาท 3 เดือน-ปรับแผนรับมือวิกฤตฯ เปิดช่องกองทุนน้ำมันฯติดลบได้เกิน 20,000 ล้าน – ลดภาษี -แจกเงินอุดหนุนคนซื้อรถ EV สูงสุด 1.5 แสนบาท

เมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2565 พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธานการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ณ ทำเนียบรัฐบาล ภายหลังการประชุม นายกรัฐมนตรียังคงมอบหมายให้ ดร.ธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี รายงานข้อสั่งการของนายกรัฐมนตรีแทน

สั่งแก้หนี้ครัวเรือนทุกกลุ่ม

ดร.ธนกร กล่าว่า วันนี้นายกรัฐมนตรีติดตามความก้าวหน้าเรื่องการแก้ไขปัญหาหนี้ครู และมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปดำเนินการ ซึ่งเป็นที่น่าพอใจที่มีการแก้ปัญหาที่เป็นรูปธรรมและมีต้นแบบชัดเจน นอกจากนี้นายกฯ สั่งการให้แก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนทุกกลุ่ม และดำเนินการต่างๆ ให้เป็นรูปธรรมชัดเจน

กำชับ สธ.เร่งฉีดวัคซีนบูสเตอร์ ตรวจ-จับ ATK ปลอม

ดร.ธนกร กล่าวต่อว่า นายกฯ ได้กำชับให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องชี้แจงทำความเข้าใจกับประชาชนเรื่องโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอน อย่าประมาท ให้คอยเตือนและป้องกันตัวเอง แม้โควิดสายพันธุ์โอมิครอนจะมีอันตรายน้อย มีอัตราการติดเชื้อสูง แต่อัตราการเสียชีวิตไม่ได้สูงตามไปด้วย เลยกำชับให้กระทรวงสาธารณสุข รณรงค์การฉีดวัคซีนให้ครบ 2 เข็ม และเร่งฉีดวัคซีนเข็มบูสเตอร์ รวมถึงให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องสุ่มตรวจ ATK ให้มีมาตรฐาน และเร่งดำเนินการตรวจ-จับกุม ATK ปลอม และช่วยดูแลราคา ATK ให้เหมาะสม เพราะเป็นการช่วยลดภาระของประชาชน

ขณะเดียวกัน ในวันนี้มีคำถามว่า จำนวนผู้ติดเชื้อสายพันธุ์โอมิครอนที่สูงขึ้นเรื่อย ๆ ปัจจุบันเตียงของโรงพยาบาลเพียงพอหรือไม่ และนายกฯ ให้นโยบายกระทรวงสาธารณสุขและกระทรวงมหาดไทยอย่างไร โดยดร.ชี้แจงว่า นายกฯ ตอบสั้นๆ เพียงแค่ “เพียงพอ จากข้อมูลของสาธารณสุขทุกประเภท”

พร้อมรับศึกซักฟอก ไม่กังวล ‘นับองค์ประชุม’

ดร.ธนกร กล่าวถึงการชี้แจงญัตติการอภิปรายทั่วไปว่า นายกฯ กำชับครม.ให้มีการเตรียมความพร้อมการตอบคำถามและชี้แจงญัตติอภิปรายทั่วไป เพื่อซักถามข้อเท็จจริง หรือ เสนอแนะปัญหาต่อ ครม. โดยไม่มีการลงมติตามมาตรา 152 ของรัฐธรรมนูญในช่วงวันที่ 17-18 กุมภาพันธ์ 2565 โดยนายกฯ เป็นผู้กล่าวเปิดงานและตอบข้อซักถาม มั่นใจตอบได้ทุกประเด็น เพราะรู้หลักการทั้งหมด ส่วนรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องจะเป็นผู้ให้รายละเอียดเพราะกระทรวงเป็นผู้ปฏิบัติ

นายกรัฐมนตรียังย้ำว่าแม้จะไม่ได้มีการลงมติ แต่อยากให้สื่อสารชี้แจงไปยังภายในและภายนอกสภา สร้างความเข้าใจให้ประชาชน ชี้ให้เห็นว่าปัญหาอยู่ตรงไหน และรัฐบาลแก้ไขปัญหาอย่างไร

ส่วนถามว่าการอภิปรายในสภาวันที่ 17-18 ก.พ.นี้ นายกฯ ฝากพรรคร่วมรัฐบาลเรื่ององค์ประชุมอย่างไร กังวลไหมว่าจะมีการนับองค์ประชุม เพื่อหักหน้านายกฯในช่วงสุดท้าย ดร.ธนกรชี้แจงว่า “นายกฯ และคณะรัฐมนตรีพร้อมจะชี้แจงในทุกเรื่อง ไม่ได้กังวลเรื่องใดเป็นพิเศษ การพูดและการแสดงใดๆ ก็ตามในสภาเป็นเรื่องของสังคม ฝ่ายใดเป็นคนเสนอนับองค์ประชุม ก็ให้คอยดู”

เมินกระแสข่าว 260 เสียง หนุน ‘อนุทิน’ ขึ้นนายกฯ

ถามว่า สมัยประชุมครั้งถัดไปในช่วงเดือนพฤษภาคม 2565 ฝ่ายค้านจะยื่นอภิปรายไม่ไว้วางใจ และถอดถอนอีกรอบ รัฐบาลเตรียมเรื่อง ‘เสียง’ ไว้อย่างไร และมีกระแสข่าวว่า 250-260 เสียงในโพยของรองนายกฯ อนุทิน ช่วยได้หรือไม่ ดร.ธนกร ตอบแทนนายกรัฐมนตรีว่า “ผมสนใจแต่เพียงว่าเราจะทำวันนี้ วันพรุ่งนี้ให้ดีขึ้นอย่างไร แก้ปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนในช่วงนี้อย่างไร เรื่องคะแนนเสียง พรรคการเมืองเป็นเรื่องของสภา และส.ส.จะมองว่าอะไรสำคัญกว่ากัน ประเทศชาติและประชาชน กับการเอาชนะทางการเมืองในทุกเวที”
ขณะเดียวกันก็มีการวิเคราะห์ว่าโพย 260 เสียง เป็นเสียงสนับสนุนรองนายกฯ อนุทิน ชาญวีรกูล ให้เป็นนายกฯ หากเกิดอุบัติเหตุทางการเมือง โดยดร.ธนกรชี้แจงประเด็นนี้ว่า “นายกฯ ชี้แจงว่าเป็นเรื่องของการวิเคราะห์ สำคัญอยู่ที่ประชาชน การเลือกตั้งครั้งต่อไป หรือ มีอุบัติเหตุทางการเมืองเกิดขึ้น ใครทำให้ประเทศชาติเสียหาย ประชาชนเดือดร้อน ประชาชนจะมีความเชื่อมั่นหรือไม่”

แจงลดภาษีน้ำมัน บรรเทาความเดือดร้อน ปชช.

ดร.ธนกร ตอบคำถามเรื่องการลดภาษีน้ำมัน และการแก้ไขปัญหาระยะยาวว่า วันนี้ ครม.ได้พิจารณาเพื่อลดภาษีน้ำมันลงส่วนหนึ่ง เพื่อรักษาระดับราคาน้ำมันให้อยู่ในเกณฑ์ให้ประชาชนเดือดร้อนน้อยที่สุด
“รัฐบาลมีมาตรการลดความเสี่ยงในอนาคต ภาษี กองทุนน้ำมัน และอื่นๆ ที่ลดลง เนื่องจากภาษีดังกล่าวต้องไปใช้ในภารกิจอื่นๆ ด้วย ทำให้งบประมาณที่เกี่ยวข้องถูกปรับลดลงไป

ชี้ขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ หวั่นนักลงทุนย้ายฐานผลิต

ดร.ธนกร ตอบคำถามมาตรการรับมือสถานการณ์ราคาสินค้าทุกชนิดที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น ขณะที่ค่าแรงขั้นต่ำยังเท่าเดิมว่า “ควบคุมราคาสินค้าอุปโภคบริโภคที่จำเป็น ประชาชนเดือดร้อนน้อยลง ค่าแรงก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง เปรียบเทียบดู หากเรา (ค่าแรงไทย) สูงกว่าหลายประเทศขึ้นมา ก็ต้องดูว่าผู้ประกอบการจะย้ายฐานผลิตไปยังประเทศอื่นที่มีค่าแรงถูกกว่าหรือไม่ ต้องปิดกิจการเพิ่มเติม หรือ ไม่ ทั้งผู้ประกอบการรายเล็ก รายกลาง รายใหญ่”

ประสาน ตปท.จับแก๊งคอลเซ็นเตอร์ เตือนสติคนไทยอย่าโลภ

คำถามสุดท้ายคือ รัฐบาลจะแก้ปัญหาแก๊งคอลเซ็นเตอร์อย่างไร ดร.ธนกร ตอบว่า “แจ้งความเจ้าหน้าที่หลายช่องทางได้ตลอดเวลา สำคัญคืออย่าไปหลงเชื่อ เป็นไปไม่ได้ และได้ติดตามสืบสวน จับกุม ดำเนินคดี มีการประสานความร่วมมือกับประเทศเพื่อนบ้านและได้ไปทลายหลายเครือข่ายแล้ว ประชาชนต้องเพิ่มความระมัดระวังให้มากขึ้น การหลอกลวงและใช้ประโยชน์สูงสุดเป็นตัวล่อเป็นการกระตุ้นความอยาก ซึ่งเป็นธรรมดา เราต้องสร้างภูมิต้านทานของเราให้ได้ ไม่มีธุรกิจใดจะให้ผลตอบแทนสูงมากจนผิดปกติ”

มติ ครม.มีดังนี้

ดร.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี, ดร.ธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกฯ และ น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกฯ (ซ้าย-ขวา)
ที่มาภาพ : www.thaigov.go.th/

ลดภาษีดีเซล 3 บาท 3 เดือน

ดร.ธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบร่างกฎกระทรวงกำหนดพิกัดอัตราภาษีสรรพสามิต (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. โดยมีสาระสำคัญเป็นการปรับลดอัตราภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซล และน้ำมันอื่นๆที่คล้ายกัน ตั้งแต่วันที่กฎกระทรวงมีผลใช้บังคับถึงวันที่ 20 พฤษภาคม 2565 เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนผ่านราคาขายปลีกน้ำมันในประเทศที่ลดลงโดยตรง และสะท้อนไปยังราคาสินค้าอุปโภคบริโภคที่จะลดลงตามไปด้วย ซึ่งจะทำให้โครงสร้างราคาขายปลีกน้ำมันดีเซล ปรับลดประมาณ 3บาท/ลิตร โดยรายละเอียด มีดังนี้

  • น้ำมันดีเซลที่มีปริมาณกำมะถัน เกินร้อยละ 0.005 โดยน้ำหนัก อัตราภาษีเดิม 6.440 บาท อัตราภาษีใหม่ 3.440 บาท
  • น้ำมันดีเซลที่มีปริมาณกำมะถันไม่เกินร้อยละ 0.005 โดยน้ำหนัก อัตราภาษีเดิม 6.440 บาท อัตราภาษีใหม่ 3.440
  • น้ำมันดีเซลที่มีไบโอดีเซลประเภทเมทิลเอสเตอร์ของกรดไขมันผสม ไม่เกินร้อยละ 4 อัตราภาษีเดิม 6.440 บาท อัตราภาษีใหม่ 3.440 บาท
  • น้ำมันดีเซลที่มีไบโอดีเซลประเภทเมทิลเอสเตอร์ของกรดไขมันผสม เกินร้อยละ 4 แต่ไม่เกินร้อยละ 7 อัตราภาษีเดิม 5.990 บาท อัตราภาษีใหม่ 3.200 บาท
  • น้ำมันดีเซลที่มีไบโอดีเซลประเภทเมทิลเอสเตอร์ของกรดไขมันผสมเกินร้อยละ 7 แต่ไม่เกินร้อยละ 9 อัตราภาษีเดิม 5.930 บาท อัตราภาษีใหม่ 3.170 บาท
  • ทั้งนี้ อัตราภาษีใหม่ จะมีผลตั้งแต่วันที่กฎกระทรวงมีผลใช้บังคับถึงวันที่ 20 พฤษภาคม 2565 จากนั้นตั้งแต่วันที่ 21 พฤษภาคม 2565 จะกลับสู่อัตราภาษีเดิม

    “คาดการณ์ว่า จะทำให้ภาครัฐสูญเสียรายได้ภาษีสรรพสามิตสินค้าน้ำมันและผลิตภัณฑ์น้ำมันประมาณ 17,100 ล้านบาท จากปริมาณน้ำมันที่มีการชำระภาษี 4 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2565 ที่จัดเก็บลดลงประมาณ 5,700 ล้านบาทต่อเดือน เป็นระยะเวลา 3 เดือน แต่จะเป็นการช่วยเศรษฐกิจในภาพรวมของประเทศ อาทิ อุตสาหกรรมการผลิต การเกษตร การท่องเที่ยวและบริการ และการขนส่ง” ดร.ธนกร กล่าว

    ลดภาษี -แจกเงินอุดหนุนคนซื้อรถ EV สูงสุด 1.5 แสนบาท

    ดร.ธนกร กล่าวว่า ที่ประชุม ครม.มีมติ รับทราบแนวทางการดำเนินงานส่งเสริมยานยนต์ไฟฟ้า ตามผลการประชุมคณะกรรมการนโยบายยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติ ครั้งที่ 3/2564 และครั้งที่ 1/2565 เพี่อส่งเสริมให้เกิดการผลิต การใช้ยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศ ให้เป็นไปตามเป้าหมายการผลิตและการใช้ยานยนต์ไร้มลพิษ (Zero Emission Vehicle: ZEV) ของยานยนต์ทุกประเภทอีกด้วย เพื่อกำหนดทิศทางการพัฒนาและขับเคลื่อนมาตรการสนับสนุน ฯ ทั้งในส่วนของมาตรการทางภาษี และไม่ใช่ภาษีโดยเป็นมาตรการระยะสั้น ระหว่างปี 2565-2568

    โดยในช่วง 2 ปีแรก (2565 – 2566) มาตรการสนับสนุน ฯจะให้ความสำคัญกับการสร้างแรงจูงใจให้เกิดการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศอย่างกว้างขวางโดยเร็ว ครอบคลุมทั้งการนำเข้ารถยนต์/รถจักรยานยนต์ไฟฟ้าสำเร็จรูปทั้งคัน (CBU) และกรณีรถยนต์/รถยนต์กระบะ/รถจักรยานยนต์ไฟฟ้าที่ผลิตในประเทศ (CKD) ผ่านการยกเว้น หรือ ลดอากรนำเข้า ลดอัตราภาษีสรรพสามิต และ/หรือให้เงินอุดหนุนตามเงื่อนไขที่กำหนด ทั้งนี้ เพื่อเพิ่มอุปสงค์ยานยนต์ไฟฟ้าในภาพรวม สร้างแรงจูงใจ และดึงดูดการลงทุนในอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าของผู้ประกอบการในไทย

    ส่วนช่วง 2 ปีถัดไป (2567-2568) มาตรการสนับสนุน ฯ จะให้ความสำคัญกับการส่งเสริมการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าที่ผลิตในประเทศเป็นหลัก โดยยกเลิกการยกเว้น หรือ ลดอากรนำเข้ารถยนต์สำเร็จรูปทั้งคัน (CBU) แต่ยังคงมาตรการลดอัตราภาษีสรรพสามิต และ/หรือให้เงินอุดหนุนตามเงื่อนไขที่กำหนดต่อไป เพื่อทำให้ต้นทุนรถยนต์ไฟฟ้าสำเร็จรูปทั้งคันที่นำเข้าสูงกว่ารถยนต์/รถจักรยานยนต์ไฟฟ้าที่ผลิตในประเทศ ทั้งนี้ เพื่อส่งเสริมให้ผู้ประกอบการเร่งผลิตยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศ รองรับแนวโน้มความต้องการยานยนต์ไฟฟ้าที่เพิ่มมากขึ้น ลดการนำเข้าชิ้นส่วนและอุปกรณ์สำหรับยานยนต์ไฟฟ้า รวมทั้งจะเป็นการสนับสนุนการผลิตรถยนต์/รถจักรยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศ

    นอกจากนี้ ยังได้กำหนดมาตรการเพิ่มเติม เพื่อสนับสนุนการผลิต รถยนต์/รถจักรยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศ อาทิ การยกเว้นอากรขาเข้าสำหรับ ชิ้นส่วนที่มีการนำเข้าในช่วงปี 2565 – 2568 การให้นับมูลค่าของเซลล์แบตเตอรี่ที่นำเข้าเป็นต้นทุนการผลิตที่เกิดขึ้นในประเทศสำหรับการคำนวณมูลค่าเพิ่มในประเทศ ได้ไม่เกินร้อยละ 15 ของราคายานยนต์ไฟฟ้าหน้าโรงงาน การผลิตรถยนต์ / รถจักรยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศ เพื่อชดเชยการนำเข้าในช่วงแรก (กรณีผลิตชดเชย ภายในปี 2567 ให้ผลิตเท่ากับจำนวนที่นำเข้าในปี 2565 – 2566 และหากจำเป็นต้องขยายเวลาการผลิตชดเชยถึงปี 2568 และ การผลิตหรือใช้ แบตเตอรี่ที่ผลิต หรือ ประกอบในประเทศตามเงื่อนไขที่กำหนด

    “ การดำเนินงานส่งเสริมยานยนต์ไฟฟ้า มุ่งหวังให้ ราคารถยนต์ และรถจักรยานยนต์ประเภทรถยนต์ไฟฟ้าแบตเตอรี่ (Battery Electric Vehicle: BEV) สามารถแข่งขันได้ และแผน 30@30 โดยปี ค.ศ. 2030 จะผลิตยานยนต์ไฟฟ้า 30% ของการผลิตรถยนต์ในไทย โดย นายกรัฐมนตรีและครม. ยังเห็นถึงความจำเป็นในการส่งเสริมยานยนต์ไฟฟ้าของไทย เพื่อไม่ให้ไทยสูญเสียโอกาศ และความเป็นผู้นำในอุตสาหกรรมยานยนต์ ซึ่งอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าด้วยพลังงานสะอาดและเทคโนโลยีที่ทันสมัยจะตอกย้ำความเป็น Detroit of Asia ของไทย และยังการเดินหน้าตามแผนยุทธศาสตร์ชาติเพื่อสร้างรายได้และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ” ดร.ธกร กล่าว

  • ครม.เห็นชอบลดภาษี -แจกเงินอุดหนุน อุ้มคนซื้อรถ EV
  • ผ่านร่าง 6 ยุทธศาสตร์ ลดสูบบุหรี่วงเงิน 498 ล้าน

    ดร.ธนกร กล่าวว่า ที่ประชุม ครม. เห็นชอบ (ร่าง) แผนปฏิบัติการด้านการควบคุมยาสูบแห่งชาติ ฉบับที่ 3 พ.ศ. 2565-2570 และให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำแผนปฏิบัติการไปดำเนินการต่อไป ทั้งนี้(ร่าง) แผนปฏิบัติการด้านการควบคุมยาสูบแห่งชาติ ฉบับที่ 3 นี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อลดความชุกของการบริโภคยาสูบของประชากรและคุ้มครองสุขภาพประชาชนจากอันตรายของควันบุหรี่ ภายใต้ 6 ยุทธศาสตร์ กรอบวงเงิน 498.039 ล้านบาท รายละเอียดดังนี้

      ยุทธศาสตร์ที่ 1 สร้างความเข้มแข็งและยกระดับขีดความสามารถการควบคุมยาสูบของประเทศ วงเงิน 138.800 ล้านบาท อาทิ ผลักดันนโยบาย ปรับปรุงกฎหมาย ระบบการบังคับใช้กฎหมาย ตามกรอบอนุสัญญาควบคุมยาสูบ WHO FCTC การเฝ้าระวัง วิจัย จัดการความรู้ กำกับ ติดตามประเมินผลการควบคุมยาสูบในทุกระดับ
      ยุทธศาสตร์ที่ 2 ป้องกันมิให้เกิดผู้เสพยาสูบรายใหม่และเฝ้าระวังธุรกิจยาสูบ วงเงิน 99.186 ล้านบาท อาทิ การให้ความรู้ โทษ พิษภัย ของยาสูบ ให้แก่เด็ก เยาวชนและนักสูบหน้าใหม่ เฝ้าระวังและบังคับใช้กฎหมาย การเข้าถึงผลิตภัณฑ์ยาสูบ การโฆษณา และรู้เท่าทันกลยุทธ์ของอุตสาหกรรมยาสูบ
      ยุทธศาสตร์ที่ 3 บำบัดผู้เสพให้เลิกใช้ยาสูบ วงเงิน 51.832 ล้านบาท อาทิ การสร้างเสริมพลังชุมชนและเครือข่ายที่เข้มแข็งเพื่อบำบัดผู้เสพยาสูบ การพัฒนาระบบบริการเลิกยาสูบและสายด่วนเลิกบุหรี่
      ยุทธศาสตร์ที่ 4 การควบคุม ตรวจสอบ เฝ้าระวังและเปิดเผยรายการส่วนประกอบของผลิตภัณฑ์ยาสูบ วงเงิน 12.500 ล้านบาท อาทิ การปรับปรุงกฎหมาย/แนวทางการดำเนินโครงการให้สอดคล้องกับกรอบอนุสัญญาว่าด้วยการควบคุมยาสูบขององค์การอนามัยโลก การสร้างกระบวนการบริหารจัดการข้อมูลส่วนประกอบผลิตภัณฑ์ยาสูบ เพื่อวัดสารที่อยู่ในยาสูบและสารที่ปล่อยออกมา
      ยุทธศาสตร์ที่ 5 ทำสิ่งแวดล้อมให้ปลอดควันบุหรี่ วงเงิน 165.721 ล้านบาท อาทิ การออกประกาศกฎกระทรวง กฎ ระเบียบ และอื่นๆที่เกี่ยวข้องให้สถานที่สาธารณะและสถานที่ทำงานทุกแห่งปลอดควันบุหรี่ การปรับเปลี่ยน ทัศนคติ พฤติกรรมและค่านิยมของการเสพยาสูบ เพื่อให้การไม่สูบบุหรี่ในบ้าน สถานที่ทำงานและสถานที่สาธารณะเป็นบรรทัดฐานของสังคมไทย
      ยุทธศาสตร์ที่ 6 มาตรการภาษี การป้องกันและปราบปรามเพื่อควบคุมยาสูบ วงเงิน 30 ล้านบาท อาทิ การปรับปรุงโครงสร้างภาษียาสูบและระบบการบริหารการจัดเก็บภาษียาสูบ การป้องกัน ปราบปรามยาสูบที่ผิดกฎหมาย และการดำเนินการสำหรับผู้กระทำความผิด และมาตรการลดผลกระทบต่อชาวไร่ยาสูบอันเนื่องมาจากมาตรการควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ

    อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมา ครม. มีมติ (28 ก.ย. 64) เห็นชอบหลักการโครงการให้ความช่วยเหลือเกษตรกรผู้เพาะปลูกต้นยาสูบและผู้บ่มอิสระที่ได้รับผลกระทบจากการลดปริมาณการรับซื้อใบยาสูบของการยาสูบแห่งประเทศไทย ฤดูการผลิต 62/63 ซึ่งปัจจุบัน นายกรัฐมนตรีได้เห็นชอบงบกลาง วงเงิน 159.95 ล้านบาท เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรตามมติ ครม. ดังกล่าว

    “ทั้งนี้ การดำเนินการควบคุมปัญหาการบริโภคยาสูบจะส่งผลกระทบเชิงบวกทั้งในมิติเศรษฐกิจ สังคม และการเมือง อาทิ ทำให้ต้นทุนค่าใช้จ่ายทางการแพทย์ที่เกิดจากโรคที่เกี่ยวข้องกับยาสูบลดลง และลดความสูญเสียทางเศรษฐกิจในภาพรวม ประชาชนมีสุขภาพและคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น และประเทศไทยยังได้รับการยอมรับการเป็นผู้นำการควบคุมยาสูบในระดับประเทศและนานาชาติ ” ดร.ธนกร กล่าว

    ไฟเขียวพลังงานลงนามเอกชนสหรัฐ ลงทุนพลังงานสะอาด

    ดร.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ที่ประชุม ครม.เห็นชอบร่างหนังสือแสดงเจตจำนง (Letter of Intent: LOI) สำหรับข้อริเริ่มความต้องการใช้พลังงานสะอาด (Clean Energy Demand Initiative: CEDI) ระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยและภาคเอกชนของประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งจะมีพิธีลงนามในการประชุม The 2nd United States -Thailand Energy Policy Dialogue (2nd UTEPD) โดยกระทรวงพลังงานไทยเป็นเจ้าภาพจัดประชุมในวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2565 หนังสือแสดงเจตจำนงฉบับนี้ เป็นการแสดงความมุ่งมั่นร่วมกันของประเทศไทยและประเทศสหรัฐอเมริกา ในการส่งเสริมการลงทุนสำหรับธุรกิจที่สนใจและมีศักยภาพในการจัดหาและใช้พลังงานสะอาด โดยฝ่ายสหรัฐจะชักชวนนักลงทุนมาดำเนินธุรกิจในประเทศไทย และฝ่ายไทยจะอำนวยความสะดวกและสนับสนุนการจัดหาพลังงานสะอาดสำหรับการดำเนินธุรกิจของสหรัฐภายใต้เงื่อนไขและข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้อง รวมถึงการพัฒนาทางเลือกอื่นๆ ที่มีความเหมาะสม ผ่านแนวทางการจัดหาพลังงานสะอาดที่ฝ่ายไทยจะดำเนินการในอนาคต ซึ่งประกอบด้วย

      1) การผลักดันให้เกิดตลาดพลังงานสะอาดที่มีศักยภาพและสามารถแข่งขันด้านราคาได้
      2) การกำหนดนโยบายด้านพลังงานสะอาดให้มีความเหมาะสม
      3) การส่งเสริมระบบการรับรองสถานะด้านสิ่งแวดล้อมมาปรับใช้ในการซื้อขายพลังงานสะอาด
      4) การสนับสนุนการพัฒนานโยบายและโครงสร้างพื้นฐานของด้านไฟฟ้าให้มีประสิทธิภาพและสามารถรองรับการผลิตและการใช้พลังงานสะอาดได้

    ทั้งนี้ ในเบื้องต้นมีภาคเอกชนของสหรัฐประสงค์ที่จะร่วมลงนามในหนังสือแสดงเจตจำนงค์ทั้งหมด 19 บริษัท โดยจะนำเงินมาลงทุนคิดเป็นมูลค่าอาจสูงถึง 2,384 ล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งมีรายชื่อบริษัทดังนี้ 1)HP Inc. 2)Apple 3)Akamai 4)Meta Platforms, Inc. 5)Johnson & Johnson 6)Nike 7)Dow Inc. 8)Iron Mountain 9)Inter IKEA Group 10)Lululemon 11)Spiber Inc. 12)Ralph Lauren Corporation 13)Unilever 14)TAL Apparel 15)Amer Sports 16)RIFE International 17)Amazon 18)WeWork และ 19)TCI Co., LTD

    ดร.รัชดากล่าวด้วยว่า การร่วมลงนามหนังสือแสดงเจตจำนงในครั้งนี้ สอดคล้องกับนโยบายของไทยในการส่งเสริมโมเดลเศรษฐกิจชีวภาพ-เศรษฐกิจหมุนเวียน-เศรษฐกิจสีเขียว (BCG Economy Model) ซึ่งจะเป็นการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงานและการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก รวมถึงเป็นการส่งเสริมโอกาสของการลงทุนระหว่างสหรัฐกับไทยด้วย

    กำหนดเขตทะเลชายฝั่ง 23 จว. แก้ปมขัดแย้งประมงพื้นบ้าน-พาณิชย์

    ดร.รัชดา กล่าวว่าที่ประชุม ครม.เห็นชอบร่างกฎกระทรวงกำหนดเขตทะเลชายฝั่ง แยกเป็นรายจังหวัด 23 จังหวัด ตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เสนอ เพื่อให้ทราบถึงเขตทะเลชายฝั่งที่ชัดเจน และสามารถบังคับใช้กฎหมายได้อย่างมีประสิทธิภาพ อันจะเป็นการลดความขัดแย้งของชาวประมงพื้นบ้านและประมงพาณิชย์ อีกทั้งยังช่วยเพิ่มประสิทธิภาพบริหารจัดการทรัพยากรสัตว์น้ำในเขตทะเลชายฝั่งให้อยู่ในภาวะที่สมดุลสามารถทำการประมงได้อย่างยั่งยืน ซึ่งร่างกฎกระทรวงฉบับนี้ มีสาระสำคัญเป็นการกำหนดเขตทะเลชายฝั่งแยกเป็นรายจังหวัด 23 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดกระบี่ ชลบุรี ตรัง ตราด พังงา ภูเก็ต ระนอง สตูล สุราษฎร์ธานี จันทบุรี ระยอง ฉะเชิงเทรา สมุทรปราการ สมุทรสาคร สมุทรสงคราม เพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร นครศรีธรรมราช สงขลา ปัตตานี นราธิวาส และกรุงเทพมหานคร โดยกำหนดระยะแนวเขตทะเลชายฝั่งเป็น “เส้นตรงลากผ่านจุดพิกัด” จากเดิมที่กำหนดเป็น “เส้นโค้งเว้า” ทั้งนี้ ในกรณีที่เขตทะเลชายฝั่งทับซ้อนกับเขตอุทยานแห่งชาติ ตามกฎหมายว่าด้วยอุทยานแห่งชาติ เขตห้ามล่าสัตว์ป่าตามกฎหมายว่าด้วยสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่าหรือเขตอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติตามกฎหมายอื่นใด การทำการประมงหรือการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำในเขตทะเลชายฝั่งนั้นต้องอยู่ภายใต้หลักเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนดด้วย

    นอกจากนี้ ครม.ยังได้เห็นชอบร่างกฎกระทรวงยกเลิกการกำหนดเขตทะเลชายฝั่ง พ.ศ. …. ซึ่งเป็นการยกเลิกกฎกระทรวงกำหนดเขตทะเลชายฝั่ง พ.ศ.2560 กฎกระทรวงกำหนดเขตทะเลชายฝั่ง (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2563 และกฎกระทรวงกำหนดเขตทะเลชายฝั่ง (ฉบับที่ 3) พ.ศ.2563 เนื่องจากกฎกระทรวงฯ พ.ศ.2560 เป็นการกำหนดเขตทะเลชายฝั่งของ 9 จังหวัดเป็นเส้นโค้งเว้า ซึ่งทำให้เกิดความไม่ชัดเจนและเป็นปัญหาสำหรับชาวประมงพื้นบ้านและประมงพาณิชย์ในการปฏิบัติตามกฎหมาย และได้มีการปรับปรุงแนวเขตทะเลชายฝั่งและแผนที่ทะเลชายฝั่งใหม่เฉพาะจังหวัดตราดและชลบุรี โดยออกเป็นกฎกระทรวงฯ ฉบับที่ 2 และฉบับที่ 3 พ.ศ.2563 แต่ยังไม่ครอบคลุมจังหวัดอื่นที่ติดทะเล จึงมีความจำเป็นต้องยกเลิกร่างกฎกระทรวงทั้ง 3 ฉบับดังกล่าว

    ดร. รัชดากล่าวด้วยว่า เนื่องจากจังวัดตราด ระนอง สตูล และนราธิวาส มีเขตแดนและเขตทางทะเล ประชิดกับประเทศเพื่อนบ้าน ที่ประชุมจึงให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ตรวจสอบรายละเอียดความถูกต้องของค่าพิกัดและแผนที่แสดงแนวเขตบริเวณที่กำหนดแนบท้ายกฎกระทรวงของจังหวัดดังกล่าวกับกรมอุทกศาสตร์ กองทัพเรือด้วย

    เพิ่มเงินอุดหนุนเด็กพิการโรงเรียนเอกชน

    ดร.รัชดา กล่าวว่า ปัจจุบันอัตราเงินอุดหนุนค่าใช้จ่ายรายบุคคลที่อุดหนุนให้แก่นักเรียนพิการในโรงเรียนเอกชนต่ำกว่าเงินอุดหนุนที่นักเรียนภาครัฐได้รับ เนื่องจากการอุดหนุนในส่วนของเงินสมทบที่เป็นเงินเดือนครูโรงเรียนเอกชนยังใช้สัดส่วนครูต่อนักเรียนพิการเท่ากับโรงเรียนทั่วไป คือระดับก่อนประถมและประถมศึกษา ใช้ครู 1 คน ต่อนักเรียน 25 คน ระดับมัธยมศึกษาใช้ครู 1 คน ต่อนักเรียน 20 คน ขณะที่สัดส่วนข้าราชการครูในโรงเรียนสอนคนพิการของรัฐ กำหนดสัดส่วนความบกพร่องทางการมองเห็น การได้ยิน ทางร่างกาย ใช้ครู 1 คน ต่อนักเรียนพิการ 5 คน บกพร่องทางสติปัญญาใช้ครู 1 คน ต่อนักเรียนพิการ 4 คน และออทิสติก ใช้ครู 1 คน ต่อนักเรียนพิการ 3 คน จึงส่งผลให้โรงเรียนเอกชนมีภาระด้านเงินเดือนครูสูงกว่าโรงเรียนทั่วไป

    ดังนั้น เพื่อเป็นการแก้ปัญหาดังกล่าว ครม.จึงมีมติเห็นชอบปรับเพิ่มอัตราเงินอุดหนุนรายบุคคลสำหรับนักเรียนพิการในโรงเรียนเอกชน ประเภทสามัญศึกษา สังกัดสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) และโรงเรียนเอกชนประเภทอาชีวศึกษา สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) ในปีงบประมาณ 2566 รวมทั้งสิ้น 118.74 ล้านบาท แบ่งเป็นประเภทสามัญศึกษา จำนวน 106.61 ล้านบาท และประเภทอาชีวศึกษา จำนวน 12.13 ล้านบาท โดยปรับเพิ่มค่าจ้างครูและผู้ช่วยครูในการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานสำหรับนักเรียนพิการของโรงเรียนเอกชน ตามที่กระทรวงศึกษาธิการเสนอ ดังนี้

      1.ประเภทสามัญศึกษา แบ่งเป็น (1)ระดับก่อนประถมศึกษาและประถมศึกษา คิดสัดส่วนครู 1 คน ต่อนักเรียนพิการ 10 คน ทำให้ครูได้รับค่าจ้างเพิ่มขึ้น 18,060 บาท จากอัตราเดิม 7,224 บาท รวมเงินเดือนที่ครูได้รับทั้งสิ้น 25,284 บาท (2)ระดับมัธยมศึกษา คิดสัดส่วนครู 1 คน ต่อนักเรียนพิการ 15 คน ทำให้ครูได้รับค่าจ้างเพิ่มขึ้น 12,040 บาท จากอัตราเดิม 9,032 บาท รวมเงินเดือนที่ครูได้รับทั้งสิ้น 21,072 บาท
      2.ประเภทอาชีวศึกษา (ระดับ ปวช.) คิดสัดส่วนครู 1 คน ต่อนักเรียนพิการ 15 คน ทำให้ครูทั้งแบบประจำและไป-กลับ ได้รับค่าจ้างเพิ่มขึ้น 3,457 บาท จากอัตราเดิม 8,528 บาท รวมเงินเดือนที่ครูได้รับทั้งสิ้น 12,040 บาท
      3.ผู้ช่วยครูทุกระดับทั้งประเภทสามัญศึกษาและอาชีวศึกษา (ระดับ ปวช.) คิดสัดส่วนครู 1 คน ต่อนักเรียนพิการ 15 คน เฉลี่ยเงินเดือนที่ได้รับ 7,200 บาท (จากเดิมที่ไม่มีเงินอุดหนุนค่าจ้างผู้ช่วยครู)

    ดร.รัชดา กล่าวด้วยว่า การปรับเพิ่มอัตราเงินอุดหนุนรายบุคคลสำหรับนักเรียนพิการในโรงเรียนเอกชน ในครั้งนี้ เพื่อให้การจัดการศึกษาสำหรับนักเรียนพิการในโรงเรียนเอกชน ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นการจัดการศึกษาในรูปแบบมูลนิธิและโรงเรียนเอกชนการกุศล ได้มีการพัฒนาคุณภาพการศึกษาให้ได้มาตรฐานมากยิ่งขึ้น และสามารถต่อยอดพัฒนาศักยภาพของนักเรียนพิการได้อย่างเต็มที่ เมื่อผู้พิการสำเร็จการศึกษาจะได้นำความรู้และทักษะไปประกอบอาชีพ และอยู่ร่วมกับคนในสังคมได้อย่างมีความสุข

    เวนคืนที่ดินริมคลอง ‘ลุงหน่าง’ ตั้งแต่แสมดำ-บางบอนใต้

    ดร.รัชดา กล่าวว่าที่ประชุม ครม.อนุมัติร่างพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินที่จะเวนคืนในท้องที่แขวงแสมดำ เขตบางขุนเทียน และแขวงบางบอนใต้ เขตบางบอน กรุงเทพมหานคร พ.ศ. …. โดยมีสาระสำคัญเป็นการกำหนดเขตที่ดินที่จะเวนคืนในท้องที่แขวงแสมดำ เขตบางขุนเทียน และแขวงบางบอนใต้ เขตบางบอน กรุงเทพมหานคร มีความกว้าง 50 เมตร ความยาวประมาณ 1.7 กิโลเมตร เพื่อดำเนินโครงการขยายคลองและก่อสร้างเขื่อนคอนกรีตเสริมเหล็กคลองลุงหน่าง ช่วงทางรถไฟวงเวียนใหญ่-มหาชัยถึงคลองบางบอน เนื่องจากปัจจุบันคลองลุงหน่างมีความกว้างเพียง 1-2 เมตร และมีลักษณะเป็นคอขวด ทำให้ไม่สามารถรองรับปริมาณน้ำหลากในพื้นที่กรุงเทพฯ ฝั่งตะวันตกได้เพียงพอ จึงจำเป็นต้องขยายคลองและสร้างเขื่อน เพื่อเป็นการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมขังและเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำไปยังโครงการแก้มลิงคลองมหาชัย- คลองสนามชัย อันเนื่องมาจากพระราชดำริได้อย่างรวดเร็ว

    ทั้งนี้ ร่างพระราชกฤษฎีกามีระยะเวลาบังคับใช้ 4 ปี โดยเริ่มให้เจ้าหน้าที่เข้าสำรวจที่ดินและอสังหาริมทรัพย์ในแนวเขตที่ดินที่จะเวนคืนได้ภายใน 180 วัน นับแต่วันที่พระราชกฤษฎีกานี้ใช้บังคับ

    อนุมัติเงินกู้ 5,731 ล้าน จัดซื้อครุภัณฑ์ รักษาผู้ป่วยอาการรุนแรง

    น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ที่ประชุม ครม.อนุมัติโครงการในส่วนของจัดหาครุภัณฑ์ที่มุ่งเน้นการรองรับผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรง (ผู้ป่วยสีเหลือง-สีแดง) ที่เข้ารับการรักษาในสถานพยาบาลเป็นหลักจำนวน 17 โครงการ กรอบวงเงินรวม 5,731 ล้านบาท โดยใช้จ่ายจากเงินกู้ภายใต้แผนงานหรือโครงการกลุ่มที่1 ตามบัญชีแนบท้าย พ.ร.ก.กู้เงินฯ เพิ่มเติม พ.ศ. 2564 (แผนงานหรือโครงการที่มีวัตถุประสงค์ทางการแพทย์และสาธารณสุข) ตามที่สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สศช.) ในฐานะเลขานุการคณะกรรมการกลั่นกรองการใช้จ่ายเงินกู้เสนอ

    สำหรับโครงการจัดหาครุภัณฑ์ทั้ง 17 โครงการครั้งนี้ เป็นของหน่วยงานภายใต้กระทรวงสาธารณสุข 3 โครงการ ได้แก่กองบริหารการสาธารณสุข กรมการแพทย์ และกรมอนามัย รวมวงเงิน 5,434.78 ล้านบาท และหน่วยงานนอกกระทรวงสาธารณสุข 11 หน่วยงาน เช่น กรุงเทพมหานคร เมืองพัทยา มหาวิทยาลัยมหิดล มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทร์วิโรฒ มหาวิทยาลัยบูรพา มหาวิทยาลัยมหาสารคาม วงเงินรวม 296.52 ล้านบาท

    พร้อมกันนี้ ครม.ยังอนุมัติโครงการบริหารจัดการนำส่งผู้ป่วยโรคโควิด-19 เพื่อเป็นค่าชดเชยปฏิบัติการฉุกเฉินพิเศษระดับพื้นฐานของสถาบันการแพทย์ฉุกเฉิน (สพฉ.) จำนวน 5 เดือน กรอบวงเงิน 37.5 ล้านบาท

    น.ส.ไตรศุลี กล่าวว่า ครม. ได้อนุมัติตามมติคณะกรรมการกลั่นกรองการใช้จ่ายเงินกู้ ให้สำนักงานประกันสังคม เปลี่ยนแปลงรายละเอียดที่เป็นสาระสำคัญของโครงการเยียวยาผู้ประกันตน ในกิจการสถานบันเทิงและผู้ประกอบอาชีพอิสระที่ทำงานเกี่ยวข้องกับสถานบันเทิง ที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการของรัฐประกอบด้วย การปรับเพิ่มจำนวนกลุ่มเป้าหมายผู้ประกันตนมาตรา 39 และมาตรา 40 ของโครงการเยียวยากิจการสถานบันเทิงจากเดิม 110,669 คน เป็น 138,669 คนหรือเพิ่มขึ้น 28,000 คน และปรับเพิ่มกรอบวงเงินของโครงการเยียวยากิจการสถานบันเทิงจากเดิม 607 ล้านบาท เป็น 747 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 140 ล้านบาท

    อนุมัติให้สำนักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ขยายเวลาโครงการมาตรการลดภาระค่าใช้จ่ายด้านการศึกษาของนิสิตนักศึกษา ในสถาบันอุดมศึกษาภาครัฐและเอกชน จากเดิมสิ้นสุดเดือนมกราคม 2565 เป็นสิ้นสุดเดือน มีนาคม 2565

    นอกจากนี้ ยังได้เห็นชอบให้สถาบันวิทยาลัยชุมชนขยายเวลาของโครงการพัฒนาผลิตภัณฑ์และการเสริมศักยภาพสมาชิกสหกรณ์ผู้ทำนาเกลือทะเล จากสิ้นสุดเดือนก.ย. 2564 เป็นสิ้นสุดเดือนมิ.ย. 2565 หลังได้รับผลกระทบจากการระบาดหนักของโควิด -19 ในพื้นที่จังหวัดสมุทรสาคร และเห็นชอบให้มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลตะวันออกขยายเวลาดำเนินโครงการแปลงใหญ่กระบือชลบุรีครบวงจร จากสิ้นสุดเดือนธันวาคม 2564 เป็นสิ้นสุดเดือนกุมภาพันธ์ 2565

    ทั้งนี้ ภายหลังการตามมติคณะกรรมการกลั่นกรองการใช้จ่ายเงินกู้ครั้งนี้แล้ว จะทำให้กรอบวงเงินกู้ตาม พ.ร.ก.กู้เงินฯ เพิ่มเติม พ.ศ. 2564 คงเหลือ 97,134.77 ล้านบาท จากทั้งหมด 500,000 ล้านบาท

    น.ส.ไตรศุลี กล่าวว่า ในครั้งนี้ ครม. ยังได้เห็นชอบให้จังหวัดกระบี่ สุราษฎร์ธานี มุกดาหาร สุรินทร์ ร้อยเอ็ด ลำพูนและจังหวัดตาก เปลี่ยนแปลงรายละเอียดที่เป็นสาระสำคัญของโครงการ หรือ ยกเลิกโครงการที่ได้รับอนุมัติให้ใช้จ่ายเงินกู้ตามพระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไข เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ.2563 (พ.ร.ก.กู้เงินฯ 1 ล้านล้านบาท) เช่น โครงการส่งเสริมการเลี้ยงไก่พื้นเมืองเชิงพาณิชย์สู้ภัยโควิด ของจังหวัดมุกดาหาร ได้ขยายเวลาโครงการจากที่สิ้นสุดโครงการในเดือนธันวาคม 2564 เป็นสิ้นสุดเดือนมีนาคม 2565 เป็นต้น

    เพิ่มเบี้ยเสี่ยงภัยพนักงาน กปภ.ชายแดนใต้เป็น 7,000 บาท/เดือน

    น.ส.ไตร กล่าวว่า ที่ประชุม ครม.เห็นชอบให้การประปาส่วนภูมิภาค (กปภ.) ปรับเพิ่มเงินค่าตอบแทนพิเศษรายเดือนให้แก่พนักงานที่ปฏิบัติงานในพื้นที่เสี่ยงภัย จังหวัดชายแดนภาคใต้ จากรายละ 5,000 บาทต่อเดือน เป็นรายละ 7,000 บาทต่อเดือน โดยมีผลตั้งแต่วันที่ครม.ให้ความเห็นชอบ ซึ่งปัจจุบัน กปภ.มีหน่วยงานในสังกัดที่มีสถานที่ตั้งในพื้นที่เสี่ยงภัย จังหวัดชายแดนภาคใต้ รวมถึงหน่วยบริการที่อยู่ในสำนักงานเขตพื้นที่พิเศษ จำนวน 10 แห่ง จำนวนพนักงานรวม 211 ราย

    สำหรับการปรับเพิ่มค่าตอบแทนพิเศษดังกล่าวจะทำให้มีภาระค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น 5.09 ล้านบาทต่อปี จากเดิม 12.72 ล้านบาท เพิ่มเป็น 17.81 ล้านบาท ซึ่งไม่ส่งผลกระทบต่อฐานะทางการเงินในภาพรวมของกปภ. และรายได้ที่นำส่งเข้ารัฐ รวมถึงไม่กระทบต่อภาระงบประมาณหรือภาระการสูญเสียรายได้ของรัฐในอนาคต

    ทั้งนี้สถานการณ์ปัจจุบันในพื้นที่เสี่ยงภัยจังหวัดชายแดนภาคใต้ ยังคงมีเหตุการณ์ความไม่สงบเกิดขึ้นอยู่เป็นประจำและมีความเสี่ยงสูงสามารถเกิดขึ้นได้กับทุกกลุ่มบุคคล โดยเฉพาะพนักงานบริการและควบคุมน้ำสูญเสียที่มีหน้าที่ซ่อมแซมท่อแตกท่อรั่ว ซึ่งเมื่อได้รับแจ้งเหตุต้องลงพื้นที่สำรวจหาน้ำสูญเสียและพนักงานผลิตเพื่อผลิตน้ำประปาอย่างต่อเนื่องตลอด 24 ชั่วโมง รวมถึงงานอื่นๆ ที่มีภารกิจจำเป็นต้องอยู่เวรประจำสำนักงาน ส่งผลให้การสรรหาบุคคลที่จะมาปฏิบัติหน้าที่ค่อนข้างยาก และพบว่าหน่วยงานรัฐวิสาหกิจอื่นจ่ายเงินค่าตอบแทนพิเศษ ในอัตรารายละ 7,000 บาทต่อเดือน ได้แก่ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร(ธกส.) และธนาคารอาคารสงเคราะห์(ธอส.) ดังนั้น กปภ.จึงเสนอขอปรับเพิ่มเงินพิเศษ เพื่อให้เป็นไปในแนวทางเดียวกันกับรัฐวิสาหกิจอื่น และเพื่อให้สามารถแข่งขันได้ในตลาดแรงงานรวมทั้งสามารถรักษาบุคลากรที่มีคุณภาพให้อยู่ปฏิบัติงานกับ กปภ.ได้

    อนุมัติแผนพัฒนาผู้มีความสามารถพิเศษด้านวิทยาศาสตร์-เทคโนฯ

    น.ส.ไตรศุลี กล่าวว่า ที่ประชุม ครม.อนุมัติร่างแผนปฏิบัติการด้านการพัฒนาและส่งเสริมผู้มีความสามารถพิเศษทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของประเทศ ปี 2564 – 2580 และให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำแผนปฏิบัติการฯไปใช้เป็นกรอบแนวทางการบริหารเชิงนโยบายให้เป็นเอกภาพ และมีเป้าหมายร่วมกันในการพัฒนาและส่งเสริมผู้มีความสามารถพิเศษทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของประเทศในภาพรวมอย่างเป็นระบบ เพื่อตอบสนองวิสัยทัศน์ประเทศไทย 4.0 และให้สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และสำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ เป็นหน่วยงานประสานหลักและให้อำนาจในการติดตามและสั่งการ เพื่อให้หน่วยงานอื่นๆที่เกี่ยวข้องดำเนินงานให้เหมาะสม

    สำหรับเป้าหมายของร่างแผนปฏิบัติการฯคือ มุ่งยกระดับการพัฒนาผู้มีความสามารถพิเศษ ให้ได้รับการพัฒนาอย่างเต็มศักยภาพและมีความต่อเนื่องในทุกช่วงวัย ตั้งแต่ระดับปฐมวัย ประถมศึกษา มัธยมศึกษา อาชีวศึกษา ระดับอุดมศึกษา และหลังสำเร็จการศึกษา และสนับสนุนส่งเสริมให้เข้าสู่การปฏิบัติงานในระบบการพัฒนาวิจัยและพัฒนาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม เพื่อเป็นกำลังหลักในการพัฒนาประเทศ โดยตั้งเป้าให้เกิดการผลิตนักวิจัย จำนวน 4,000 คนต่อปี เข้าสู่ภาคส่วนต่างๆของประเทศ

    ทั้งนี้จะประกอบด้วย 5 ยุทธศาสตร์ได้แก่ การพัฒนาและส่งเสริมผู้มีความสามารถพิเศษทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีระดับการศึกษาปฐมวัย การศึกษาขั้นพื้นฐานและอาชีวศึกษา, การพัฒนาและส่งเสริมผู้มีความสามารถพิเศษทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีระดับอุดมศึกษา, การส่งเสริมผู้มีความสามารถพิเศษทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเข้าปฏิบัติงานในหน่วยวิจัยและนวัตกรรม, การสร้างเส้นทางอาชีพ สภาพแวดล้อมและระบบสนับสนุน ที่เหมาะสมสำหรับผู้มีความสามารถพิเศษทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และกลไกการบริหารการพัฒนาและส่งเสริมผู้มีความสามารถพิเศษทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีสู่แผนพัฒนากำลังคนของประเทศ

    เปิดช่องกองทุนน้ำมันฯติดลบได้เกิน 20,000 ล้าน

    น.ส.ไตรศุลี กล่าวว่า ที่ประชุม ครม. ได้เห็นชอบร่างแผนรองรับวิกฤตการณ์น้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ. 2563-2567 (ฉบับปรับปรุง ครั้งที่1) เพื่อให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงกรอบวงเงินกู้ ตามพระราชกฤษฎีกาการเปลี่ยนแปลงกรอบวงเงินกู้เพื่อรักษาเสถียรภาพระดับราคาน้ำมันเชื้อเพลิงในประเทศ พ.ศ.2564 ซึ่งสำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงได้ตราขึ้น เพื่อให้กองทุนน้ำมันและเชื้อเพลิงมีเงินเพียงพอในการบริหารจัดการกองทุนอย่างมีประสิทธิภาพ สามารถรักษาเสถียรภาพราคาน้ำมันในประเทศไม่ให้กระทบต่อค่าครองชีพของประชาชน

    ทั้งนี้ ร่างแผนรองรับวิกฤตการณ์น้ำมันเชื้อเพลิงฯ ได้ทบทวนหลักเกณฑ์การบริหารกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง เพื่อรักษาเสถียรภาพระดับราคาน้ำมันเชื้อเพลิงในประเทศให้อยู่ในระดับที่เหมาะสมในกรณีวิกฤตการณ์ด้านน้ำมันเชื้อเพลิง ดังนี้

      1. ทบทวนกรอบวงเงินกู้ จากเดิม ที่กำหนดว่า “…ต้องมีจำนวนเงินเพียงพอเพื่อใช้ในการบริหารจัดการกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งเมื่อรวมเงินกู้ (จำนวนไม่เกิน 2 หมื่นล้านบาท) แล้วต้องไม่เกินจำนวน 40,000 ล้านบาท…” แก้ไขเป็น “…ต้องมีจำนวนเงินเพียงพอเพื่อใช้ในการบริหารจัดการกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงอย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งเมื่อรวมกับเงินกู้แล้วต้องไม่เกินจำนวน 4 หมื่นล้านบาท…”
      2.ทบทวนกรณีฐานะกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงติดลบ จากเดิม “ข้อ 5.5) กรณีฐานะกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงติดลบ 20,000 ล้านบาท ให้กองทุนน้ำมันและเชื้อเพลิงหยุดการชดเชย” แก้ไขเป็น “กรณีฐานะกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงติดลบ 20,000 ล้านบาท หรือ ติดลบตามจำนวนที่กำหนดในพระราชกฤษฎีกาตามมาตรา 26 วรรคสาม แห่งพระราชบัญญัติกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ. 2562 ให้กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงหยุดการชดเชย”

    ปรับปรุงค่าธรรมเนียมต่อใบอนุญาตประกอบวิชาชีพวิศวะฯ

    น.ส.ไตรศุลี กล่าวว่า ที่ประชุม ครม.อนุมัติหลักการร่างกฎกระทรวงกำหนดอัตราค่าธรรมเนียมสำหรับผู้ประกอบวิชาชีพวิศวกรรมควบคุม(ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. ซึ่งมีสาระสำคัญเป็นการแก้ไขอัตราค่าธรรมเนียมค่าใบอนุญาตเป็นผู้ประกอบวิชาชีพวิศวกรรมควบคุม และอัตราค่าธรรมเนียมค่าใบอนุญาตเป็นผู้ประกอบวิชาชีพวิศวกรรมควบคุมที่ขอต่ออายุใบอนุญาตก่อนใบอนุญาตหมดอายุและหลังจากใบอนุญาตหมดอายุ ประเภทนิติบุคคล เพื่อให้สอดคล้องกับข้อบังคับสภาวิศวกร และเพื่อให้มีความเหมาะสมกับระยะเวลาใบอนุญาตจากเดิม 1 ปี เป็น 3 ปี เป็นการลดภาระการยื่นคำขอใบอนุญาตฯของนิติบุคคล ที่แต่เดิมต้องยื่นคำขอต่ออายุใบอนุญาตเป็นประจำทุกปี

    สำหรับอัตราค่าใบอนุญาตเป็นผู้ประกอบวิชาชีพวิศวกรรมควบคุม ประเภทนิติบุคคลตามกฎกระทรวงอัตราเดิม 10,000 บาท ปรับปรุงเป็น 16,000 บาท, ค่าต่ออายุใบอนุญาตเป็นผู้ประกอบวิชาชีพวิศวกรรมควบคุมที่ขอต่ออายุใบอนุญาตก่อนใบอนุญาตหมดอายุ ประเภทนิติบุคคล เดิม 3,000 บาท ปรับเป็น 9,000 บาท และค่าต่ออายุใบอนุญาตเป็นผู้ประกอบวิชาชีพวิศวกรรมควบคุมที่ขอต่ออายุใบอนุญาตหลังใบอนุญาตหมดอายุ ประเภทนิติบุคคล เดิม 5,000 บาท ปรับเป็น 11,000 บาท

    ตั้ง ‘สมคิด เลิศไพฑูรย์’ ประธานบอร์ด ITD

    นางสางไตรศุลี กล่าวว่า วันนี้ที่ประชุม ครม.มีมติอนุมัติ/เห็นชอบ ในเรื่องแต่งตั้งข้าราชการและผู้บริหารระดับสูงของส่วนราชการและหน่วยงานของรัฐมีรายละเอียดดังนี้

    1. การแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญให้ดำรงตำแหน่งประเภทวิชาการระดับทรงคุณวุฒิ (กระทรวงสาธารณสุข)

    คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขเสนอแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญ สังกัดกระทรวงสาธารณสุข ให้ดำรงตำแหน่งประเภทวิชาการระดับทรงคุณวุฒิ จำนวน 4 ราย ตั้งแต่วันที่มีคุณสมบัติครบถ้วนสมบูรณ์ ดังนี้

      1. นายกฤตเตโช สิริภัสสร นายแพทย์เชี่ยวชาญ (ด้านเวชกรรม สาขาอายุกรรม) สถาบันบำราศนราดูร กรมควบคุมโรค ดำรงตำแหน่ง นายแพทย์ทรงคุณวุฒิ (ด้านเวชกรรม สาขาอายุรกรรม) สถาบันบำราศนราดูร กรมควบคุมโรค ตั้งแต่วันที่ 9 มิถุนายน 2564
      2. นายประจักษ์ จริยพงศ์ไพบูลย์ ทันตแพทย์เชี่ยวชาญ (ด้านทันตกรรม) โรงพยาบาลราชวิถี กรมการแพทย์ ดำรงตำแหน่ง ทันตแพทย์ทรงคุณวุฒิ (ด้านทันตกรรม) โรงพยาบาลราชวิถี กรมการแพทย์ ตั้งแต่วันที่ 30 มิถุนายน 2564
      3. นายวิเชียร เทียนจารุวัฒนา ผู้อำนวยการกอง (ผู้อำนวยการระดับสูง) กองตรวจราชการ สำนักงานปลัดกระทรวง ดำรงตำแหน่ง นักวิเคราะห์นโยบายและแผนทรงคุณวุฒิ (ด้านกำลังคนสาธารณสุข) กลุ่มที่ปรึกษาระดับกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวง ตั้งแต่วันที่ 23 สิงหาคม 2564
      4. นางสาวสิริวรรณ จันทนจุลกะ ผู้อำนวยการสำนัก (ผู้อำนวยการระดับสูง) สำนักอนามัยสิ่งแวดล้อม กรมอนามัย ดำรงตำแหน่ง นักวิชาการสาธารณสุขทรงคุณวุฒิ (ด้านอนามัยสิ่งแวดล้อม) กรมอนามัย ตั้งแต่วันที่ 30 กันยายน 2564

    ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งเป็นต้นไป

    2. การแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญให้ดำรงตำแหน่งประเภทวิชาการระดับทรงคุณวุฒิ (สำนักนายกรัฐมนตรี)

    คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรีเสนอแต่งตั้ง นายสุรพงษ์ มาลี ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรีฝ่ายข้าราชการประจำด้านยุทธศาสตร์ (นักทรัพยากรบุคคลเชี่ยวชาญ) สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ให้ดำรงตำแหน่งที่ปรึกษานายกรัฐมนตรีฝ่ายข้าราชการประจำด้านยุทธศาสตร์และการวางแผน (นักวิเคราะห์นโยบายและแผนทรงคุณวุฒิ) สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี สำนักนายกรัฐมนตรี ตั้งแต่วันที่ 6 สิงหาคม 2564 ซึ่งเป็นวันที่มีคุณสมบัติครบถ้วนสมบูรณ์ ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งเป็นต้นไป

    3. การแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญให้ดำรงตำแหน่งประเภทวิชาการระดับทรงคุณวุฒิ (สำนักนายกรัฐมนตรี)

    คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เสนอแต่งตั้งนายโสภณ แท่งเพ็ชร์ ผู้อำนวยการสำนัก (ผู้อำนวยการระดับสูง) สำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมภาคเหนือ สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ให้ดำรงตำแหน่ง ที่ปรึกษาด้านนโยบายและแผนงาน (นักวิเคราะห์นโยบายและแผนทรงคุณวุฒิ) สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ สำนักนายกรัฐมนตรี ตั้งแต่วันที่ 9 กรกฎาคม 2564 ซึ่งเป็นวันที่มีคุณสมบัติครบถ้วนสมบูรณ์ ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งเป็นต้นไป

    4. การแต่งตั้งผู้แทนไทยในคณะกรรมาธิการระหว่างรัฐบาลอาเซียนว่าด้วยสิทธิมนุษยชน สำหรับวาระระหว่างวันที่ 1 มกราคม 2565 – 31 ธันวาคม 2567 โดย ครม.มีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงการต่างประเทศ (กต.) เสนอ ดังนี้

      1. เห็นชอบต่อการแต่งตั้งศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร. อมรา พงศาพิชญ์ ดำรงตำแหน่งผู้แทนไทยในคณะกรรมาธิการระหว่างรัฐบาลอาเซียนว่าด้วยสิทธิมนุษยชน (ASEAN Intergovernmental Commission on Human Rights: AICHR) สำหรับวาระระหว่างวันที่ 1 มกราคม 2565 – 31 ธันวาคม 2567 โดยให้เริ่มปฏิบัติหน้าที่ตั้งแต่วันที่คณะรัฐมนตรีมีมติ
      2. ให้ กต. มีหนังสือแจ้งการแต่งตั้งศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร. อมรา พงศาพิชญ์ ดำรงตำแหน่งผู้แทนไทยใน AICHR สำหรับวาระระหว่างวันที่ 1 มกราคม 2565 – 31 ธันวาคม 2567 ให้เลขาธิการอาเซียนและประเทศสมาชิกอาเซียนทราบ

    5. เรื่อง การแต่งตั้งประธานกรรมการและกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการสถาบันระหว่างประเทศเพื่อการค้าและการพัฒนา

    คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์เสนอ แต่งตั้งประธานกรรมการและกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการสถาบันระหว่างประเทศเพื่อการค้าและการพัฒนา (International Institute for Trade and Development : ITD) รวม 6 คน เนื่องจากประธานกรรมการและกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิเดิมได้ดำรงตำแหน่งครบวาระสามปี เมื่อวันที่ 7 มกราคม 2565 ดังนี้

      1. ศาสตราจารย์สมคิด เลิศไพฑูรย์ ประธานกรรมการ
      2. นายขภัช นิมมานเหมินท์ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ
      3. นายดามพ์ สุคนธทรัพย์ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ
      4. นางพิลาสลักษณ์ ยุคเกษมวงศ์ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ
      5. นายมนตรี มหาพฤกษ์พงศ์ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ
      6. นายวิศิษฐ์ ลิ้มลือชา กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ

    ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2565 เป็นต้นไป

    6. เรื่อง การแต่งตั้งกรรมการในคณะกรรมการสภาสถาปนิก

    คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยเสนอแต่งตั้งกรรมการในคณะกรรมการสภาสถาปนิก จำนวน 5 คน เนื่องจากกรรมการเดิมได้ดำรงตำแหน่งครบวาระ 3 ปี เมื่อวันที่ 12 กรกฎาคม 2564 ดังนี้

      1. นายคธาทิพย์ เอี่ยมกมลา
      2. นางดวงขวัญ จารุดุล
      3. นายสิงห์ชัย ทุ่งทอง
      4. นายสมชาย วัฒนะวีระชัย
      5. นายบัณฑิต จุลาสัย

    7. เรื่อง การแต่งตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการตรวจสอบและประเมินผลภาคราชการ

    คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่สำนักงาน ก.พ.ร. ในฐานะฝ่ายเลขานุการคณะกรรมการตรวจสอบและประเมินผลภาคราชการเสนอแต่งตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการตรวจสอบและประเมินผลภาคราชการ จำนวน 8 คน เนื่องจากกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิเดิมได้ดำรงตำแหน่งครบวาระสี่ปี เมื่อวันที่ 7 สิงหาคม 2564 ดังนี้

      1. นายประสัณห์ เชื้อพานิช (ด้านการบัญชี)
      2. นางสาววลัยรัตน์ ศรีอรุณ (ด้านการตรวจสอบและประเมินผล)
      3. ศาสตราจารย์กิตติคุณบวรศักดิ์ อุวรรณโณ (ด้านกฎหมาย)
      4. นายมนัส แจ่มเวหา (ด้านการเงิน)
      5. รองศาสตราจารย์วรากรณ์ สามโกเศศ (ด้านเศรษฐศาสตร์)
      6. นายเดชาภิวัฒน์ ณ สงขลา (ด้านการบริหารและการจัดการ การวางแผน)
      7. นายพันธ์ศักดิ์ ศิริรัชตพงษ์ (ด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ)
      8. นายไพรินทร์ ชูโชติถาวร (ด้านวิศวกรรมศาสตร์ หรือสถาปัตยกรรมศาสตร์)

    ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2565 เป็นต้นไป

    อ่าน มติ ครม.ประจำวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2565 เพิ่มเติม