ThaiPublica > คอลัมน์ > ทำไมดวงจันทร์จึงไม่มีปัญหา “ดวงจันทร์ร้อน”?

ทำไมดวงจันทร์จึงไม่มีปัญหา “ดวงจันทร์ร้อน”?

21 มิถุนายน 2023


ประสาท มีแต้ม

ไม่ทราบว่า ท่านผู้อ่านเป็นเหมือนผมไหมครับ คือผมไม่เคยทราบและไม่เคยตั้งคำถามเลยว่า ดวงจันทร์ซึ่งอยู่ใกล้โลกและอยู่ห่างจากดวงอาทิตย์เท่ากับโลกนั้นมีอุณหภูมิเท่าใด แต่ดันไปรู้ว่าอุณหภูมิของดาวพระศุกร์ซึ่งอยู่ใกล้ดวงอาทิตย์มากกว่าโลกว่ามีอุณหภูมิประมาณ 460 องศาเซลเซียส ที่รู้ก็เพราะว่าครูสั่งให้ท่อง ขอบคุณครูครับ

ผมยกเรื่องอุณหภูมิของดวงจันทร์มาพูด ก็เพราะว่าผมต้องการจะอธิบายเรื่อง “โลกร้อน (global warming)” ซึ่งกำลังเป็นเรื่องสำคัญ ที่เสี่ยงต่อความอยู่รอดของมนุษยชาติทั้งมวลเลยทีเดียว

นอกจากนี้ ก็กำลังเป็นปัญหาที่นักวิทยาศาสตร์บอกว่า “โลกกำลังร้อนขึ้นในอัตราเร่ง” ไม่ใช่แค่ “ร้อนขึ้นเรื่อยๆ ทีละนิดๆ” อย่างที่คนธรรมดาอย่างเราชอบพูดกัน

ปัญหาของผมคือ ผมควรจะเขียนอย่างไรให้คนธรรมดาๆ ที่ไม่ใช่นักวิทยาศาสตร์สามารถเข้าใจกันได้อย่างง่ายๆ โดยหวังว่าเมื่อเขาเข้าใจแล้ว จะได้มาช่วยกันป้องกันไม่ให้ร้อนจนเกิดภัยพิบัติไปทั่วทั้งโลก

เมื่อผมได้แนวในการเขียนแล้ว ผมจึงได้ตั้งคำถามกับตัวเองว่า ทำไมดวงจันทร์จึงไม่มีปัญหา “ดวงจันทร์ร้อน (lunar warming)” ซึ่งผมมั่นใจว่าผมสามารถอธิบายได้ด้วยหลักการเดียวกันกับโลกร้อน แต่ผมไม่ทราบว่าอุณหภูมิของดวงจันทร์ในขณะนี้เป็นเท่าใด

ผมจึงได้ตั้งคำถามกับ Google จนได้คำตอบว่า อุณหภูมิจะแกว่งอยู่ในช่วง ลบ 172 องศาเซลเซียส (ในช่วงที่เป็นเวลากลางคืนของดวงจันทร์) จนถึง บวก 120 องศาเซลเซียส (ในช่วงที่เป็นเวลากลางวันของดวงจันทร์)

อย่าเพิ่งงงนะครับ เราทราบกันมานานแล้วว่า ดวงจันทร์หมุนรอบโลกโดยใช้เวลาประมาณ 28 วัน

แต่ในขณะเดียวกัน ดวงจันทร์ก็หมุนรอบตัวเองด้วย แต่หมุนช้ามาก โดยใช้เวลาเท่ากับ 28 วันต่อหนึ่งรอบ

ดังนั้น ในช่วงเวลา “1 กลางวันของดวงจันทร์ (1 lunar day time)” นานเท่าประมาณ 2 สัปดาห์ของโลก และในทำนองเดียวกัน “1 กลางคืนของดวงจันทร์ (1 lunar night time)” ซึ่งเป็นช่วงที่ผิวด้านนั้นของดวงจันทร์ไม่ได้เจอดวงอาทิตย์เลย ก็นานประมาณ 14 วันของโลก เรื่องนี้ก็เป็นความรู้ใหม่ของผมนะครับ

เอาละครับ มาถึงคำถามว่า ทำไมดวงจันทร์จึงไม่มีปัญหา “ดวงจันทร์ร้อน”

ก่อนอื่น ผมขอออกตัวก่อนว่า ผมยังไม่มีข้อมูลว่า ในช่วง 30-50 ปีมานี้ อุณหภูมิเฉลี่ยของผิวดวงจันทร์มีการเปลี่ยนแปลงไปหรือไม่ แต่ผมสันนิษฐานและเชื่อเอาเองว่า “ไม่มี” ประเด็นที่ผมกำลังจะอธิบายก็คือ ทำไมโลกจึงร้อนขึ้นหรือจึงมีการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยยกเอาดวงจันทร์มาเป็นตัวเปรียบเทียบ โปรดพิจารณาเหตุผลดังปรากฏในภาพข้างล่างนี้ ซึ่งมาจากวิดีโอเรื่อง “ความสมดุลด้านพลังงานที่เปราะบางของโลก” (Earth’s Delicate Energy Balance) โดย California Academy of Sciences

จากภาพข้างต้น เป็นการอธิบายโดยย่อ สรุปว่า แสงจากดวงอาทิตย์เมื่อส่องมากระทบของผิวดวงจันทร์ซึ่งไม่ถูกห่อหุ้มด้วยไอน้ำ (เพราะบนดวงจันทร์ไม่มีน้ำ) และไม่มีก๊าซเรือนกระจก (ซึ่งเป็นก๊าซที่มนุษย์เป็นผู้สร้างขึ้นจากการเผาเชื้อเพลิงฟอสซิลจากเน่าเปื่อยของพืชและสัตว์ รวมทั้งปุ๋ยเคมีด้วย) แสงและความร้อนจากดวงอาทิตย์ก็จะถูกดูดไว้ส่วนหนึ่ง โดยอีกส่วนหนึ่งก็สามารถสะท้อนกลับไปจากดวงจันทร์ได้โดยสะดวก เพราะไม่มีก๊าซฯ มากีดขวาง

ในขณะที่โลกมี “บรรยากาศ” ห่อหุ้มด้วยไอน้ำและก๊าซเรือนกระจกที่ทำหน้าที่เป็น “ผ้าห่มโลก” แสงและความร้อนจึงสะท้อนออกไปได้ยาก ความร้อนจึงถูกสะสมไว้ในโลกมากขึ้นๆ ตามความหนาของผ้าห่มที่เพิ่มขึ้นในอัตราเร่งเสียด้วยไอน้ำในบรรยากาศเป็นกลไกตามธรรมชาติ คือ อีกไม่นานก็จะกลายเป็นฝนกลับมาสู่ผิวโลก แต่ก๊าซเรือนกระจก เช่น ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ จะอยู่นานหลายร้อยปี ดังนั้น แม้เราหยุดการปล่อยก๊าซฯ ทันทีในวันนี้ อีกนานนับร้อยปีความหนาของผ้าห่มจึงจะเริ่มบางลง

จากข้อมูลขององค์การ NASA พบว่า อุณหภูมิของโลกเฉลี่ยในช่วง 1951-1980 เท่ากับ 14.0 องศาเซลเซียส แต่ในปี 2022 อุณหภูมิดังกล่าวได้สูงขึ้นกว่าช่วงดังกล่าวถึง 0.9 องศาเซลเซียส โดยที่ความเข้มข้นของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในชั้นบรรยากาศในปี 1958 และ ปี 2023 เท่ากับ 315 และ 424 ส่วนในล้านส่วน (ppm) ตามลำดับ เห็นไหมครับว่า เมื่อความหนาของผ้าห่มเพิ่มขึ้น อุณหภูมิของโลกก็สูงขึ้น

เพื่อความเข้าใจที่มากกว่านี้ นักวิทยาศาสตร์ได้จำแนกองค์ประกอบสำคัญที่ทำให้เกิดระบบภูมิอากาศของโลก (global climate system) เป็น 5 ส่วน คือ (1) ส่วนที่เป็นบรรยากาศ (atmosphere) (2) ส่วนที่เป็นน้ำ (hydrosphere) (3) ส่วนที่เป็นน้ำแข็ง (cryosphere) (4) ส่วนที่เป็นพื้นดิน และ (5) ส่วนที่เป็นสิ่งมีชีวิต (biosphere) โดยที่แต่ละองค์ประกอบเหล่านี้ส่งผลถึงกันและกัน จนเป็นระบบภูมิอากาศของโลกที่ซับซ้อนและเปราะบางมาก

ถ้าโลกเป็นเหมือนดวงจันทร์ คือไม่มีไอน้ำและก๊าซเรือนกระจกมาห่อหุ้ม ก็เหมือนกับคนไม่มีผ้าห่ม อุณหภูมิของโลกก็คงจะแกว่งแบบสุดขั้ว จากลบ 172 ถึง บวก 100 องศาเซลเซียสภายใน 28 วัน (ของโลก)

ด้วยเหตุนี้ ก๊าซเรือนกระจกจึงมีประโยชน์อย่างมหาศาลต่อสิ่งมีชีวิตบนโลก แต่ที่มันไม่ดีคือมากเกินไป ระดับความเข้มข้นของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่นักวิทยาศาสตร์เห็นว่าเหมาะสมคือ 350 ส่วนในล้านส่วน เราได้ผ่านจุดนั้นมาแล้วตั้งแต่ปี 1985 ซึ่งมีอุณหภูมิเพิ่มขึ้น 0.22 องศาเซลเซียส และในปีนี้ 2022 ได้เพิ่มขึ้นเป็น 0.91 องศาเซลเซียสแล้ว

อย่างไรก็ตาม องค์การสหประชาชาติกำลังรณรงค์ให้ไม่เกิน 1.5 องศาเซลเซียสภายในปี 2100 โดยเริ่มต้นตามข้อตกลงปารีสเมื่อปี 2015 แต่เมื่อผ่านมาได้ 8 ปี ปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกไม่ได้ลดลง มีเพียงปีเดียวเท่านั้นคือปี 2020 ที่เกิดโควิด-19 ปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ลดลง 7% นอกจากนั้นเพิ่มขึ้นตลอดจนถึงปีล่าสุด เพื่อที่จะบอกถึงสถานะของ “โลกร้อน” ว่าได้เปลี่ยนแปลงไปมากน้อยแค่ไหน นักวิทยาศาสตร์มีตัวชี้วัดหลายตัว ทั้งที่เกิดจากการตรวจวัดจริง และจากการศึกษาด้วยแบบจำลองทางคณิตศาสตร์ ผมขอนำเสนอในที่นี้สัก 2 ตัว ด้วย 2 ภาพ สั้นๆ ดังนี้

ตัวชี้วัดแรกคือ “ความไม่สมดุลของพลังงาน (Earth’s Energy Imbalance หรือ EEI)” ระหว่างพลังงานที่โลกได้รับจากดวงอาทิตย์ กับพลังงานที่โลกสะท้อนกลับออกไปสู่นอกบรรยากาศ โดยคิดเฉลี่ยต่อพื้นที่ของผิวโลกต่อหนึ่งตารางเมตร

จากข้อมูลพบว่า ค่าเฉลี่ยในปี 2005-2015 ของ EEI เท่ากับ 0.71 วัตต์ต่อตารางเมตรต่อวันแต่ได้เพิ่มสูงขึ้นทุกปี จนถึงช่วง 2020-2023 เท่ากับ 1.33 วัตต์ต่อตารางเมตรต่อวัน (ดูภาพ) การเพิ่มขึ้นของค่า EEI ตามเวลา คือตัวที่สะท้อนว่า “โลกร้อนขึ้นในอัตราเร่ง”

Dr. James Hansen นักวิชาการที่มีบทบาทสำคัญในองค์การ NASA และองค์การสหประชาชาติประเมินว่า พลังงานความร้อนที่เหลืออยู่ในโลก (EEI) หรือพลังงานที่ทำให้โลกร้อนนั้นเท่ากับพลังงานความร้อนจากระเบิดนิวเคลียร์ที่ลงที่เมืองฮิโรชิมา ประเทศญี่ปุ่น (เมื่อ 78 ปีก่อน) จำนวน 8 แสนลูกต่อวัน ทุกวัน โดยไม่มีวันหยุดราชการ

อีกตัวชี้วัดหนึ่ง คืออุณหภูมิเฉลี่ยของผิวน้ำทะเลทั่วโลกที่อยู่ระหว่าง 60 องศาเหนือถึง 60 องศาใต้

จากรูป เราจะเห็นได้อย่างชัดเจนว่าในปี 2023 อุณหภูมิของผิวน้ำทะเลได้เพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็วมากนับถึงสิ้นเดือนเมษายน สูงกว่าค่าเฉลี่ย 43 ปีประมาณ 0.75 องศาเซลเซียส นักวิทยาศาสตร์ยังอธิบายไม่ได้ว่าเป็นเพราะเหตุใด บางสื่อรายงานว่า นักวิทยาศาสตร์ได้แต่เกาหัว

เมื่อ 20 กว่าปีมาก่อน งานวิจัยชิ้นหนึ่งรายงานว่า หากอุณหภูมิเฉลี่ยของผิวน้ำทะเลสูงขึ้น 0.5 องศาเซลเซียส จะส่งผลให้ความเสี่ยงที่จะเกิดพายุขั้นรุนแรงเพิ่มขึ้นถึง 30% แม้ว่าบทความนี้ไม่ได้กล่าวถึงผลกระทบจากโลกร้อนอย่างเป็นเรื่องปีราว

แต่ผมเชื่อว่าท่านสามารถสังเกตได้ ทั้งจากที่ตัวเองกำลังประสบ และจากข่าวสารทั่วโลก ทั้งเอเชียยุโรปและอเมริกาเหนือ ทั้งอุณหภูมิร้อนสุดขั้ว น้ำท่วม และไฟป่า

สำหรับประเทศไทยเราเอง อุณหภูมิสูงสุดเพิ่งถูกทำลายเมื่อ 15 เมษายน 2566 ที่จังหวัดตาก คือ 44.6 องศาเซลเซียส ถือเป็นสถิติใหม่ของประเทศไทยเรา มาช่วยกันทำอะไรสักอย่างเถอะครับ