ปิติคุณ นิลถนอม
ช่วงที่ผ่านมาตั้งแต่ก่อนการเลือกตั้ง 14 พฤษภาคม 2566 ต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบันในขณะที่เขียนบทความนี้เรายังคงไม่ได้นายกรัฐมนตรีคนที่ 30 ของประเทศไทย ต้องยอมรับว่าการรัฐประหารครั้งก่อนส่งต่อผลพวงของความ “ไม่ปกติ” ในระบบการเมืองไทย โดยเฉพาะบทเฉพาะกาลของรัฐธรรมนูญที่ใช้บังคับเฉพาะช่วงเวลา 5 ปีแรก ที่ให้ที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภา (ซึ่งหมายความรวมถึงวุฒิสภาที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งด้วย) เป็นผู้พิจารณาให้ความเห็นชอบบุคคลซึ่งสมควรได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี ซึ่งบทเฉพาะกาลนี้เป็นผลพวงจากคำถามพ่วงเมื่อคราวทำประชามติเมื่อปี 2559 ประเด็นนี้เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้การเลือกตั้งครั้งล่าสุดยังคงมีปัญหาต่างๆตามมา ส่งผลให้เกิดผลประหลาดในหลายๆประการ และเป็นตัวเร่งให้อุณหภูมิทางการเมืองร้อนแรงขึ้นไปอีก
ภายใต้สถานการณ์ในปัจจุบันนี้ มีการเผยแพร่ข่าวการเมืองโดยใช้สื่อดิจิทัลและสังคมออนไลน์แพลตฟอร์มต่างๆ มากมาย ทำให้ประชาชนเสพข้อมูลข่าวสารทางการเมืองแบบ “จานด่วน” เสิร์ฟถึงมือแทบจะทุกนาที เรียกว่าการโหวตนายกรอบนี้เหมือนเราได้เข้าไปนั่งอยู่ในสภาเลย ทั้งภาพจากการถ่ายทอดสด จากสื่อมวลชนต่างๆ และ ส.ส. ส.ว. ที่ทำหน้าที่ประหนึ่งนักข่าวส่งข้อมูลอัพเดทผ่านเฟซบุ๊ก และทวิตเตอร์ ส่วนตัวอยู่แทบตลอดเวลา
การเสพข่าวสารการเมืองส่งผลโดยตรงกับสุขภาพ เพราะข่าวการเมืองถือเป็นสิ่งที่ทำให้เครียดโดยตัวมันเอง (stressor) บรรดาแพทย์และหน่วยงานรัฐก็เริ่มออกมาให้คำแนะนำผ่านสื่อต่าง ๆ เพื่อให้ประชาชนระวังความเครียดที่เกิดขึ้นจากการติดตามข่าวสารการเมืองต่าง ๆ ที่เรียกว่า Political Stress Syndrome ที่มีผลทั้งทางจิตใจ ทางกายภาพ และความสัมพันธ์ในสังคม บางรายเป็นหนักถึงขั้นไม่สามารถควบคุมอารมณ์ความรู้สึกตัวเองได้ จึงเป็นเรื่องที่น่ากังวลมากในสถานการณ์ปัจจุบัน
เมื่อพูดถึงความเครียดจากการเสพข่าวการเมืองแล้ว มีงานวิจัยที่พูดถึงเรื่องนี้ไว้อย่างน่าสนใจ โดย รศ. Brett Q. Ford แห่งมหาวิทยาลัยโตรอนโตและคณะ ได้ทำการวิจัยและตีพิมพ์บทความวิจัยเรื่อง การเมืองเป็นเรื่องปัจเจก: ต้นทุนทางการเมืองในชีวิตประจำวัน (The political is personal: The costs of daily politics) ในวารสาร Journal of Personality and Social Psychology ของสมาคม American Psychological Association เมื่อเดือนมกราคม 2566 ที่ผ่านมา ระบุว่าเป็นการศึกษาต่อยอดจากการวิจัยเดิม ๆ ที่มุ่งศึกษาสภาพจิตใจของผู้คนที่มีต่อข่าวการเมืองในช่วงที่มีเหตุการณ์สำคัญๆเท่านั้น แต่การวิจัยครั้งนี้จะทดลองในแง่มุมของข่าวการเมือง “รายวัน” ว่ามีผลต่อจิตใจของประชาชนกลุ่มตัวอย่างอย่างไรบ้าง และมีวิธีการใดบ้างในการรับมือกับความเครียดที่เกิดกับจิตใจ
โดย Ford กล่าวว่าการเมืองไม่ใช่สิ่งที่กระทบต่อประชาชนแค่ 4 ปีครั้งเท่านั้น แต่จริงๆแล้วมันแทรกซึมเป็นยาดำอยู่ในวิถีชีวิตของผู้คนในทุกวี่ทุกวัน แต่ยังไม่มีใครเคยวัดเท่านั้นเองว่ามันมีผลต่อเรามากแค่ไหน ซึ่งสอดคล้องกับสถานการณ์ในประเทศของเราในทุกวันนี้ที่ประชาชนมีความตื่นตัวทางการเมืองสูง แม้ว่าจะเลือกตั้งไปตั้งแต่วันที่ 14 พฤษภาคมแล้วแต่ทุกวันนี้ประชาชนก็ยังติดตามข่าวการเมืองอย่างใกล้ชิด
ในการทำวิจัย Ford และคณะได้ใช้ชุดคำถามสอบถามกลุ่มตัวอย่างชาวอเมริกันจำนวน 198 ราย ซึ่งทุกคนต้องตอบคำถามเป็นประจำทุกคืนตลอดเวลา 2 สัปดาห์ โดยเฉพาะที่เกี่ยวกับเหตุการณ์ทางการเมืองที่พวกเขาคิดมากที่สุดในวันนั้นๆ และความรู้สึกที่มีต่อเหตุการณ์การเมืองนั้น รวมถึงวิธีการจัดการกับความรู้สึกที่กระทบต่อจิตใจและกายภาพ ปิดท้ายด้วยคำถามว่าเหตุการณ์ทางการเมืองดังกล่าวเป็นแรงจูงใจให้เข้าร่วมทางการเมืองหรือไม่ อย่างไร
ผลปรากฏว่าการรับข้อมูลข่าวสารทางการเมืองส่งผลทางลบต่อสภาพจิตใจของกลุ่มตัวอย่าง ทั้ง ๆ ที่ชุดคำถามที่ถามไม่ได้พูดถึงเหตุการณ์ทางการเมืองในเชิงลบเลย กลุ่มตัวอย่างสะท้อนให้เห็นว่าข่าวการเมืองทำให้มีผลกระทบต่อจิตใจและลามไปถึงสุขภาพกายด้วย ในขณะเดียวกันก็ทำให้เขาได้รับแรงกระตุ้นมากขึ้นในการเข้าไปมีส่วนร่วมในทางการเมือง เช่น ไปเป็นอาสาสมัคร การร่วมรณรงค์แคมเปญทางการเมืองต่างๆ การบริจาคเงินให้พรรคการเมือง การลงถนนประท้วง เป็นต้น
หลังเสร็จสิ้นการทดลองข้างต้นมีการทดลองกับกลุ่มที่มีจำนวนมากขึ้น โดยในรอบนี้มีผู้เข้าร่วมที่เป็นกลุ่มตัวอย่างถึง 811 คนและใช้เวลา 3 สัปดาห์ และแต่ละคนที่เข้าร่วมจะไม่ใช่สาวกของพรรคการเมืองใหญ่ 2 พรรค คือเดโมแครตและรีพับลิกันเท่านั้น แต่รวมถึงคนที่มีอุดมการณ์ทางการเมืองที่สอดคล้องกับพรรคเล็ก พรคคน้อย หรือแม้แต่ไม่ได้มีพรรคที่ฝักใฝ่ก็ตาม
ในรอบนี้ Ford และคณะให้กลุ่มตัวอย่างดูคลิปวีดีโอข่าวการเมืองแบบสุดโต่งทั้ง 2 ทาง คือแบบเสรีนิยมสุดโต่งและแบบอนุรักษ์นิยม ผลปรากฏว่าผู้เข้าร่วมที่ได้ดูคลิปวีดีโอข่าวการเมืองมีอารมณ์ขุ่นมัวไปในทางลบ มากกว่าคนที่ดูข่าวการเมืองที่เป็นกลางๆหรือข่าวที่ไม่เกี่ยวกับการเมือง และพวกเขาเหล่านั้นระบุว่ามีแรงกระตุ้นที่ทำให้อยากเข้าร่วมกิจกรรมทางการเมืองมาก โดยผลการทดลองนี้เกิดขึ้นกับผู้เข้าร่วมที่สนับสนุนพรรคการเมืองทุกพรรคการเมืองอย่างทั่วหน้า ไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะสาวกพรรคการเมืองใดพรรคการเมืองหนึ่ง
ดังภาพ จะเห็นได้ว่าในวันที่ 7, 11 และ 12 ของการทดลอง หลังจากได้รับชมคลิปข่าวที่จัดให้ ผู้เข้าร่วมรายหนึ่งบันทึกความเห็นตนเองไว้ว่า การเพิกเฉยในการควบคุมอาวุธปืนของพรรครีพับลิกันเมื่อครั้งเป็นรัฐบาลส่งผลให้เกิดเหตุการณ์กราดยิงมากขึ้น ต่อด้วยความคิดเห็นว่าสมาชิกวุฒิสภาคงไม่เอาผิดและถอดถอนโดนัล ทรัมป์ ประธานาธิบดีในขณะนั้นออกจากตำแหน่ง รวมถึงความเห็นว่าพรรครีพลับลิกันไม่มีอยู่จริง มันมีเพียงพรรคของทรัมป์เท่านั้น สิ่งเหล่านี้เป็นปัจจัยทำให้ผู้เข้าร่วมรายนี้มีความเครียดสูง (เส้นทึบสีน้ำเงิน) ซึ่งส่งผลให้อยากเข้าไปมีส่วนร่วมทางการเมือง (เส้นประสีแดง) ผ่านการบริจาคเงินให้กับการรณรงค์หาเสียงการเลือกตั้งประธานาธิบดีระดับชาติ รวมถึงตำแหน่งผู้ว่าการรัฐในระดับมลรัฐด้วย
นอกจากนี้ยังให้ผู้เข้าร่วมเหล่านี้ใช้กลยุทธ์ในการจัดการกับความรู้สึกตัวเองทั้งวิธีเบี่ยงเบนความสนใจของตนไปเรื่องอื่น (distraction) เช่น เปลี่ยนช่องทีวีหรือเปลี่ยนบทสนทนา วิธีที่สองคือการประเมินสถานการณ์ใหม่ (cognitive reappraisal) เช่น บอกกับตัวเองว่าเรื่องมันไม่แย่อย่างที่คิด หรือในเรื่องร้ายคงยังต้องมีเรื่องดีอยู่บ้าง และวิธีสุดท้ายคือการซ่อนหรือเก็บความรู้สึกเอาไว้ (expressive suppression)
ปรากฏว่า 2 วิธีแรก คือการเบี่ยงเบนความสนใจตนไปเรื่องอื่นหรือ distraction และการประเมินสถานการณ์ใหม่ว่ามันไม่เลวร้ายอย่างที่คิด หรือ cognitive reappraisal สามารถช่วยลดความรู้สึกแย่ๆลงได้ และทำให้มีสุขภาพจิตที่ดีขึ้นในการใช้ชีวิตประจำวัน แต่ในทางกลับกันแรงจูงใจที่จะกระตือรือร้นและมีส่วนร่วมในทางการเมืองก็ลดลงตามไปด้วย
งานวิจัยนี้สรุปผลว่ากลยุทธ์ในการจัดการกับความรู้สึกตัวเองเป็นเครื่องมือสำคัญที่ทำให้บุคคลนั้น ๆ จัดการกับความเครียดและดำรงชีวิตประจำวันได้ อย่างไรก็ตามกลับมีความสัมพันธ์กับความตื่นตัวทางการเมือง ที่ทำให้ความตื่นตัวทางการเมืองลดลง และเข้าร่วมในทางการเมืองน้อยลงตามไปด้วย
เท่ากับว่าจะต้องแลกกัน (Trade-off) ระหว่างความสบายใจ กับการมีส่วนร่วมทางการเมือง Ford กล่าวว่าต้องเลือกระหว่าง ความรู้สึกดีหรือ feeling good กับ ทำสิ่งดีหรือ doing good ซึ่งจะต้องหาจุดสมดุลระหว่างความสบายใจของบุคคล (individual wellness) กับประโยชน์สาธารณะ (collective wellness)
โดยสรุปข้อมูลข่าวสารทางการเมืองไม่ว่าจะผ่านทางสื่อมวลชนหรือสังคมออนไลน์เป็นสิ่งสำคัญที่เปรียบดั่งแสงไฟที่สาดไปในที่ต่าง ๆ เพื่อสร้างความโปร่งใสและพร้อมรับผิดให้กับผู้เล่นในเวทีการเมืองที่จะต้องทำหน้าที่บริหารราชการแผ่นดิน
อย่างไรก็ตามในยุคหลังการปฏิวัติดิจิทัลผู้คนต่างรับรู้ข้อมูลข่าวสารได้หลายช่องทาง จนบางครั้งถาโถมเข้ามามากมายจนเกิดสภาวะข้อมูลล้น ที่เรียกกันว่า information overload หรือ infobesity และสภาวะข้อมูลเป็นพิษหรือ infoxication ที่ทำให้ต้องระวังข้อมูลประเภท ข่าวปลอมอย่าง fakenews ที่ลามไปถึง deepfake ที่ใช้ AI ทำจนยากที่จะแยกแยะเรื่องจริงกับเรื่องปลอมออก ดังนั้นทุกคนจึงต้องเสพข้อมูลแบบรู้เท่าทัน และมีวิจารณญาณคิดวิเคราะห์ได้ด้วยตนเอง รวมถึงระมัดระวังอคติที่มี
เมื่อมีความรู้และทักษะในการรับมือข่าวสารต่าง ๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพหรือ information literacy แล้วก็ย่อมทำให้มีความรู้เรื่องการเมืองหรือ political literacy ที่สูงขึ้นเรื่อยๆ และมีความตื่นตัวในการเข้ามามีส่วนร่วมทางการเมืองต่างๆโดยเฉพาะการตรวจสอบผู้ใช้อำนาจรัฐที่เข้ามาบริหารบ้านเมืองและใช้ทรัพยากรซึ่งมาจากภาษีอากรมากขึ้นตามไปด้วย
อย่างไรก็ตามแม้จะมีภูมิคุ้มกันในการเลือกเสพข่าวสารบ้านเมืองแล้ว แต่ผลการวิจัยข้างต้นก็สะท้อนให้เห็นว่าการติดตามข่าวสารบ้านเมืองย่อมมีผลกระทบโดยตรงต่อสุขภาพจิตและร่างกาย รวมถึงความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล เราจึงต้องพยายามรักษาสมดุลและจัดการกับความรู้สึกตัวเองให้ดี การเพิกเฉยต่อเหตุการณ์บ้านเมืองย่อมเป็นไปไม่ได้ เพราะเราต่างก็อยากเห็นประเทศพัฒนาไปสู่ทิศทางที่ดี มีอนาคตที่ดีสำหรับลูกหลาน จากงานวิจัยเราอาจจะต้องจัดการกับความรู้สึกตัวเองบ้างแต่ในขณะเดียวกันก็ต้องยอมปวดหัวเพื่ออัพเดทข้อมูลข่าวสารและร่วมตรวจสอบการทำงานของภาคการเมืองอย่างแข็งขัน
ในช่วงที่ประเทศไทยยังคงอยู่ในสภาพ “อปกติ” นี้ การมีส่วนร่วมของภาคประชาชนในการตรวจสอบเป็นสิ่งสำคัญมาก ซึ่งจากกระแสในทุกวันนี้ที่ประชาชนตื่นตัวทางการเมืองสูงมากทำให้มีความหวังที่จะมีความเปลี่ยนแปลงที่ดีในอนาคต เพราะหากผู้เล่นที่อยู่ในระบบมิได้ปรับตัวตามความคาดหวังของประชาชน หรือพูด และทำอะไรไว้แล้วบิดเบือนไม่รักษาคำพูด ภาพข่าวและคลิปวิดีโอต่างๆที่เคยถูกบันทึกไว้จะเป็นรอยเท้าดิจิทัล (digital footprint) ที่อยู่ในโลกอินเทอร์เน็ตไปตลอดกาล สิ่งต่าง ๆ เหล่านี้ย่อมกลับกลายเป็นหอกแหลมทิ่มแทงผู้นั้นและตามหลอกหลอนไปไม่มีวันจบสิ้น
เมื่อเข้าสู่สภาวะปกติเมื่อไหร่ก็ย่อมถูกประชาชนลงโทษผ่านการเลือกตั้งครั้งหน้าอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ ผลการเลือกตั้งล่าสุดเมื่อวันที่ 14 พฤษภาคมที่ผ่านมาน่าจะเป็นประจักษ์พยานชั้นดีว่าประชาชนไม่เหมือนเดิมอีกต่อไปแล้ว
ข้อมูลประกอบการเขียน
Ford, B.Q., et al. (2023) The Political is Personal: The Costs of Daily Politics. Journal of Personality and Social Psychology. https://doi.org/10.1037/pspa0000335.
https://www.news-medical.net/news/20230113/Stress-from-everyday-political-news-can-negatively-affect-peoples-mental-health-and-well-being.aspx
https://www.thansettakij.com/health/wellbeing/566543