ThaiPublica > คอลัมน์ > ลักลั่น ซ้ำซ้อน ย้อนแย้ง : ทรัพยากรที่สูญเปล่าในการจัดทำโครงการภาครัฐ

ลักลั่น ซ้ำซ้อน ย้อนแย้ง : ทรัพยากรที่สูญเปล่าในการจัดทำโครงการภาครัฐ

29 มิถุนายน 2021


ว่าที่ร้อยเอกปิติคุณ นิลถนอม

สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด 19 ตั้งแต่ต้นปีที่แล้ว ทำให้ภาครัฐต้องทำงานอย่างหนักเพื่อจัดการกับปัญหาการแพร่ระบาดรวมถึงมีมาตรการเกี่ยวกับเศรษฐกิจเพื่อเยียวยาและฟื้นฟูผู้ได้รับผลกระทบ ทำให้แต่ละประเทศประสบปัญหาเกี่ยวกับการก่อหนี้สาธารณะ ที่เป็นผลมาจากการกู้ยืมเงินเพื่อจัดการกับสถานการณ์ภายในประเทศ

นอกเหนือจากการกู้เงินแล้ว ในการจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปี แต่ละประเทศยังมีมาตรการรัดเข็มขัดโดยการตัดลดรายจ่ายที่ไม่จำเป็นลง บางประเทศมุ่งเน้นไปยังการศึกษาวิเคราะห์ว่ามีโครงการภาครัฐที่ซ้ำซ้อน ทับซ้อน ระหว่างหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องหรือไม่ อันเป็นการจัดขบวนทัพใหม่ เพื่อให้การใช้จ่ายเม็ดเงินเกิดประสิทธิภาพสูงสุด

ที่ผ่านมาการใช้จ่ายเงินเพื่อจัดทำบริการสาธารณะในหลายประเทศโดยเฉพาะประเทศที่มีขนาดใหญ่และมีการปกครองในหลายระดับ เช่น รัฐรวมที่ปกครองในรูปแบบสหพันธรัฐที่มีรัฐบาลกลาง รัฐบาลมลรัฐ และรัฐบาลท้องถิ่น หรือแม้แต่ในประเทศที่เป็นรัฐเดี่ยว ที่มีการปกครองส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค และส่วนท้องถิ่น ก็ประสบปัญหาทำนองเดียวกันคือมีหน่วยงานที่มีภารกิจเดียวกันหรือคล้ายคลึงกัน ทำให้มีการจัดทำบริการสาธารณะให้แก่ประชาชนซ้ำซ้อนกัน เรียกได้ว่ารูปแบบการบริหารภาครัฐที่สลับซับซ้อนหรือโบร่ำโบราณ หากไม่ได้รับการปฏิรูปให้มีการจัดการที่มีประสิทธิภาพ ก็ย่อมก่อให้เกิดการทับซ้อนของภารกิจและย่อมนำไปสู่การสิ้นเปลืองงบประมาณโดยใช่เหตุ

ความลักลั่นในการจัดทำโครงการภาครัฐที่ไม่ตอบโจทย์

เคยไหมครับที่ขับรถไปตามทางแล้วเห็นโครงการของรัฐที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์ หนำซ้ำมีโครงการประเภทเดียวกันอยู่ในละแวกเดียวกันที่ถูกทิ้งให้รกร้างว่างเปล่าไร้คุณค่าปราศจากการดูแล ลูกหลานเราบางครั้งมีน้ำสะอาดดื่มแล้วก็ยังมีโครงการน้ำดื่มสำหรับนักเรียนมาติดตั้งอุปกรณ์ไว้ทั้งๆที่ไม่จำเป็น แถมพ่วงด้วยค่าไฟและค่าบำรุงรักษาที่โรงเรียนจะต้องเป็นผู้จ่าย หรือโครงการที่เกี่ยวกับน้ำท่วมน้ำแล้งที่มีหน่วยงานหลายกรม รวมถึงองค์กรปกครองท้องถิ่นที่ทำการจ้างบูรณะฟื้นฟูแหล่งน้ำต่างๆ

ซึ่งในบางครั้งโครงการก็อยู่ในละแวกเดียวกัน ทำให้ประชาชนเกิดคำถามขึ้นว่ามีการคุยกันหรือไม่ และเป็นการแก้ไขปัญหาอย่างมีประสิทธิภาพจริงๆหรือ

ที่มาภาพ : เฟซบุ๊ก อบต.ราชาเทวะ อ.บางพลี

บางท่านอาจเคยเห็นกรณีของพังแล้วไม่ซ่อม แต่ของที่ยังดีอยู่กลับปรับปรุงแล้วปรับปรุงอีก ในบางกรณีถึงกับทุบแล้วทำใหม่ด้วยซ้ำ นี่ยังไม่นับรวมการการขุดเจาะถนนเพื่อวางท่อประปา ต่อมามีการทุบเพื่อเอาสายไฟลงใต้ดิน ส่งผลให้เกิดทั้งความสิ้นเปลืองและความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชนที่ใช้รถสัญจรไปมา ล่าสุดที่ปรากฏเป็นข่าวโด่งดังคือการติดตั้งเสาไฟฟ้ารูปทรงต่างๆ ในพื้นที่ที่ไม่น่าจะมีประชาชนใช้ประโยชน์ ประหนึ่งโยนเงินทิ้งไปต่อหน้าต่อตา

เหตุการณ์ต่างๆข้างต้นหากมองในมุมของความคุ้มค่า หรือมองในแง่มุมความสงสัยเยี่ยงผู้เป็นเจ้าของเงินแล้ว คงบอกได้เลยว่าหากเป็นเงินส่วนตัว เราคงไม่ทำอะไรที่สิ้นคิดอย่างนั้นเป็นแน่แท้

สิ่งต่างๆเหล่านี้มีความอิหลักอิเหลื่อ และเกาะกินจิตใจประชาชนอย่างเราๆมานานแสนนานว่าในสังคมที่เราอยู่มีงานที่ภาครัฐควรจะต้องจัดทำเพื่อบริการประชาชน แต่ดันกลับไปทำอะไรที่มันซ้ำซาก บางครั้งมีสิ่งหนึ่งสิ่งใดอยู่แล้วก็เหมือนจะถูกยัดเยียดให้รับมันไว้อีกทั้งๆที่ไม่จำเป็น การใช้เงินงบประมาณจัดทำบริการสาธารณะแบบนี้จึงเหมือนเป็นการเกาไม่ถูกที่คัน

…สาเหตุสำคัญประการหนึ่งที่เกิดเหตุการณ์เช่นนี้เป็นเพราะการขาดการกำหนดนโยบายและการวางแผนการทำงานร่วมกันระหว่างหน่วยงานหรือที่เรียกว่า policy coherence and integration …

ความพยายามขององค์กรตรวจสอบภาครัฐ

องค์กรตรวจสอบภาครัฐทั่วโลกจึงต่างหยิบยกประเด็นเรื่องความสอดคล้องต้องกันของนโยบายหรือ policy coherence and integration ขึ้น เพื่อให้หน่วยงานภาครัฐได้จัดกระบวนใหม่ทั้งในเชิงระนาบ (horizontal) ซึ่งเป็นความสัมพันธ์ของหน่วยงานระดับเดียวกัน เช่น ในส่วนกลาง คือความสัมพันธ์ของกระทรวง ทบวง กรม ต่างๆ รวมถึงความสัมพันธ์ในแนวตั้ง (vertical) คือความสัมพันธ์ของรัฐบาลส่วนกลาง รัฐบาลส่วนภูมิภาค และส่วนท้องถิ่น ซึ่งสอดคล้องกับแนวทาง Whole-of-Government Approach หรือเดิมเคยมีการเรียกว่า joined-up-Government (JG) ในสมัยรัฐบาลโทนี่แบลร์ บ้างก็เรียกว่า One-Stop Government

ภาพแสดง policy coherence and integration ที่ช่วยส่งเสริมการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนที่หน่วยงานของรัฐเพียงหน่วยเดียวไม่สามารถทำได้ (ในที่นี้ใช้คำว่า whole of society) โดยภาพนี้พัฒนามาจากการอภิปรายใน European Environmental Evaluators Network 2020 Forum และ UN’s World Public Sector Report 2018
ที่มา: https://www.vtv.fi/en/good-governance-articles/policy-coherence-is-the-foundation-of-sustainable-development-and-sound-financial-management/

Whole-of-the Government Approach มุ่งให้หน่วยงานของรัฐตระหนักถึงบทบาทหน้าที่ของตนและของหน่วยงานอื่นๆที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้สามารถสร้างผลผลิตที่จะผลักดันให้เกิดผลลัพธ์ที่ต้องการ โดยเฉพาะผลลัพธ์ที่จะต้องร่วมกันทำระหว่างหน่วยงาน โดยมองทั้งแนวดิ่งและแนวระนาบ กล่าวคือ

แนวดิ่ง (Vertical policy coherence (glocalizing the agenda)) หรือถิ่นโลกาภิวัตน์ ที่นำเป้าหมายในการแก้ปัญหาที่เป็นระดับนานาชาติสู่ระดับชาติผ่านการบริหารส่วนกลางส่วนภูมิภาคและส่วนท้องถิ่น และแนวระนาบ (Horizontal policy coherence (Breaking the silos)) ที่ต้องการลดการทำงานแบบไซโล (Silo mentality) ที่แต่ละหน่วยงานทำงานโดยไม่พูดคุยหรือแลกเปลี่ยนข้อมูลกัน

แนวทางดังกล่าวนอกจากจะช่วยป้องกันการใช้จ่ายเงินที่ซ้ำซ้อนแล้วยังทำให้ภาครัฐสามารถแก้ไขปัญหาที่จำเป็นต้องทำร่วมกันอย่างบูรณาการระหว่างหน่วยงาน เช่น เรื่องสิ่งแวดล้อม ที่มีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกระจายอยู่ในหลายกระทรวง รวมถึงในส่วนภูมิภาค และท้องถิ่น หรือแม้แต่การแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดของ covid 19 และการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบที่กำลังเกิดขึ้นอยู่ทุกวันนี้

นอกจากนี้ยังเป็นปัจจัยสำคัญในการร่วมกันทำหน้าที่เพื่อบรรลุยุทธศาสตร์ชาติ (Nationally agreed targets) ซึ่งเชื่อมโยงกับเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน (SDGs) ของสหประชาชาติ ที่ประเทศสมาชิกมีพันธกรณีที่จะต้องดำเนินการให้สำเร็จภายในปี 2030 และไม่สามารถทำสำเร็จได้โดยหน่วยงานใดหน่วยงานเดียว

แต่ละประเทศทำอะไรกันบ้าง

สหรัฐอเมริกา

ประเทศที่ดูเหมือนจะแข็งขันเป็นพิเศษในการชี้ให้เห็นว่าภาครัฐใช้จ่ายเงินอย่างสิ้นเปลืองโดยใช่เหตุคือ องค์กรตรวจสอบภาครัฐของสหรัฐอเมริกาที่มีชื่อว่า U.S. Government Accountability Office หรือ GAO โดยเมื่อกลางเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมานาย Gene Dodaro ตำแหน่ง Comptroller General ได้ไปให้ถ้อยคำต่อคณะอนุกรรมาธิการด้านภัยคุกคามเกิดใหม่และการติดตามการใช้จ่ายงบประมาณ (Subcommittee on Emerging Threats and Spending Oversight) ซึ่งอยู่ภายใต้คณะกรรมาธิการความมั่นคงแห่งมาตุภูมิและกิจการของรัฐบาล (Committee on Homeland Security and Governmental Affairs) ของวุฒิสภาสหรัฐอเมริกา

รายงานของนาย Gene Dodaro ตำแหน่ง Comptroller General หัวหน้าสำนักงาน GAO ที่นำเสนอต่อวุฒิสภา ที่มา: https://www.gao.gov/products/gao-21-544t

ถ้อยแถลงดังกล่าวระบุว่าตั้งแต่เดือนพฤษภาคมปี ค.ศ. 2020 รัฐบาลสามารถประหยัดเงินหรือได้ประโยชน์ทางการเงินอย่างน้องหนึ่งหมื่นล้านเหรียญสหรัฐ เมื่อมีการบริหารจัดการที่ดี ลดความซ้ำซ้อน หรือทับซ้อนหลังปฏิบัติตามข้อเสนอแนะของ GAO ทั้งนี้ในปี ค.ศ. 2021 GAO มีข้อเสนอแนะให้หน่วยงานของรัฐดำเนินการจำนวน 112 เรื่องด้วยกัน

บราซิล

ประเทศบราซิลก็ประสบปัญหาเกี่ยวกับการบริหารงานภาครัฐเช่นกัน นอกเหนือจากการใช้จ่ายเงินที่ซ้ำซ้อนกันแล้วยังมีตัวอย่างที่เกิดขึ้นจริงคือความลักลั่นของนโยบายภาครัฐที่ใช้กับแต่ละหน่วยงาน ดังที่ปรากฏว่าองค์กรตรวจสอบภาครัฐของบราซิลที่เรียกว่า Tribunal de Contas da União (TCU) ได้นำแนวทางของ US GAO มาพัฒนาต่อยอดเป็นเครื่องมือที่เรียกว่า DFOG ซึ่งย่อมาจาก Duplication, Fragmentation, Overlap และ Gap และใช้เครื่องมือดังกล่าวชี้ถึงความไม่สอดคล้องต้องกันของมาตรการภาครัฐที่จะทำให้การใช้จ่ายเงินไม่มีประสิทธิภาพ เช่นกรณีการรณรงค์และอุดหนุนเกษตรกรที่ทำเกษตรอินทรีย์ แต่ปรากฏว่าในขณะเดียวกันก็มีมาตรการในการลดหย่อนภาษีให้กับคนที่ใช้ยาฆ่าแมลง

เครื่องมือ DFOG challenges ที่พัฒนาโดย TCA คือการวิเคราะห์ว่าการทำงานของภาครัฐมีลักษณะอย่างหนึ่งอย่างใดดังต่อไปนี้ก็จะชี้ให้เห็นเพื่อที่จะแก้ไข

DFOG model of ขององค์กรตรวจสอบภาครัฐของบราซิล Tribunal de Contas da União (TCU) เพื่อใช้วิเคราะห์สภาวะ “เบี้ยหัวแตก, ทับซ้อน, ซ้ำซ้อน และ ฟันหลอ” ที่มา: https://wgea.org/media/117193/intosai-wgea-seminar-summary-1_2021.pdf

สภาวะ “เบี้ยหัวแตก” (Fragmentation) คือ สถานการณ์ที่หน่วยงานหลายหน่วยทำหน้าที่ด้านเดียวกัน และสามารถปรับปรุงการทำหน้าที่ให้เกิดประสิทธิภาพร่วมกันได้ สภาวะ “ทับซ้อน” (Overlap) คือสถานการณ์ที่หน่วยงานหลายหน่วยหรือโครงการภาครัฐหลายโครงการมีเป้าหมายเดียวกัน หรือมีการส่งเสริมเป้าหมายยุทธศาสตร์เดียวกัน

สภาวะ “ซ้ำซ้อน” (Duplication) คือสถานการณ์ที่หน่วยงานหลายหน่วยมีเป้าหมายเดียวกันโดยการทำงานแบบเดียวกัน

สภาวะ “ฟันหลอ” (Gap) คือสถานการณ์ที่มีช่องว่างเกิดขึ้น เหตุเพราะกิจกรรมหรือปัญหานั้นๆไม่มีหน่วยงานใดรับผิดชอบโดยตรง

อังกฤษ

ในขณะที่ประเทศอังกฤษ องค์กรตรวจสอบภาครัฐที่เรียกว่า National Audit Office หรือ NAO ได้สนับสนุนให้หน่วยงานภาครัฐแต่ละหน่วยใช้แนวทาง Whole-System Approach เพื่อให้มีการประสานการทำงานระหว่างหน่วยงานทั้งแนวระนาบและแนวดิ่ง เพื่อจัดการกับปัญหาที่มีลักษณะ cross cutting ที่จำเป็นต้องทำงานร่วมกัน NAO ได้มีการออกคู่มือการทำงานที่เป็น Best Practice เผยแพร่ให้กับหัวหน้าส่วนราชการและเจ้าหน้าที่ระดับสูงในประเทศเพื่อให้ตระหนักถึงบทบาทหน้าที่ของตนและของหน่วยงานอื่นๆที่เกี่ยวข้องเพื่อให้สามารถผลักดันผลผลิตและผลลัพธ์ที่ต้องการได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ฟินแลนด์

ฟินแลนด์เองเป็นอีกประเทศหนึ่งที่พยายามใช้จ่ายเงินงบประมาณในการแก้ไขปัญหาสำคัญ โดยการจัดทำงบประมาณที่เรียกว่า phenomenon- based budgeting ซึ่งเป็นวิธีการจัดทำงบประมาณที่คำนึงถึงสถานการณ์บ้านเมืองในปีนั้นๆ ว่าจะจัดการกับปัญหาในด้านใด เช่น เน้นเรื่องความเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศ ความเหลื่อมล้ำทางสังคม หรือการต่อสู้กับการแพร่ระบาดของ covid 19 โดยปัญหาต่างๆเหล่านี้เป็นเรื่องที่ต้องแก้ไขโดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหลายหน่วยงานทั้งส่วนกลางและท้องถิ่น การจัดทำงบประมาณแบบนี้จึงมุ่งที่จะทำลายกำแพงการทำงานที่แยกหน่วยงานของรัฐต่างๆออกจากกันในลักษณะที่เรียกว่า silo และเน้นความรู้ความเข้าใจที่สอดคล้องกันของภาครัฐทุกๆหน่วย

ไทย

สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินได้ทำการตรวจสอบและให้ความสำคัญกับประเด็นนี้มาโดยตลอด เช่น กรณีจัดซื้อผ้าห่มซ้ำซ้อน เมื่อปี พ.ศ. 2558 ที่ปรากฏในรายงานผลการตรวจสอบว่าสํานักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดกาฬสินธุ์และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่ 101 หน่วยงานได้จัดหาและแจกผ้าห่ม เป็นเงินงบประมาณ 35 ล้านบาท และพบว่ามีการแจกผ้าห่มกันหนาวซ้ำซ้อนจากหลายหน่วยงาน บางครอบครัวได้รับแจก 2-3 ผืนในปีงบประมาณเดียวกัน

นอกจากนี้ครอบครัวของผู้ที่ได้รับแจกผ้าห่มกันหนาวส่วนใหญ่มีผ้าห่มกันหนาวที่ซื้อมาเอง รวมถึงรับแจกในปีงบประมาณที่ผ่านๆมา รวมประมาณ 6-20 ผืน บางครอบครัวมีมากกว่า 50 ผืนขึ้นไป

ต่อมากระทรวงมหาดไทยได้ดําเนินการตามข้อเสนอแนะของสํานักงานการตรวจเงินแผ่นดิน โดยได้แจ้งให้ทุกจังหวัดทั่วประเทศทราบพร้อมทั้งแจ้งส่วนราชการและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่ให้มีการประสานงานระหว่างส่วนราชการหรือหน่วยงานอื่นของรัฐด้วยกันกับเอกชน และ องค์กรการกุศลที่เกี่ยวข้องอย่างใกล้ชิด เพื่อให้ความช่วยเหลือเป็นไปอย่างทั่วถึงและไม่ซ้ำซ้อนกัน

ส่วนในปี พ.ศ. 2563 มีการตรวจสอบโครงการติดตั้งระบบเครือข่ายไร้สายความเร็วสูง FREE WIFI และระบบกล้องโทรทัศน์วงจรปิดความคมชัดสูง CCTV FULL HD ขององค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงใหม่ มีข้อตรวจพบสำคัญประเด็นหนึ่งคือกรณีการติดตั้งกล้องโทรทัศน์วงจรปิดซ้ำซ้อนกับหน่วยงานอื่นและซ้ำซ้อนกันเอง เป็นการใช้ประโยชน์ไม่เต็มประสิทธิภาพคิดเป็นเงินจำนวนถึง 21.05 ล้านบาท ซึ่งในประเด็นนี้ต้นสังกัดได้มีบันทึกเพื่อกำชับเจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบให้ความสำคัญใช้ความระมัดระวังและรอบคอบในการดำเนินโครงการ

จากเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นดังกล่าวสะท้อนถึงความพยายามในการแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับความซ้ำซ้อน ย้อนแย้งของโครงการภาครัฐ ที่ไม่มีประสิทธิภาพและก่อให้เกิดความสิ้นเปลืองงบประมาณ รวมถึงการสร้างระบบการทำงานภาครัฐที่เป็นการร่วมมือกันในการแก้ไขปัญหาต่างๆของชาติในภาพรวม รวมถึงเป้าหมายที่หลายหน่วยงานในหลายระดับจะต้องร่วมกันทำ

อาจกล่าวได้ว่าปัจจัยสำคัญที่จะทำให้การแก้ไขปัญหาข้างต้นสำเร็จนั้นแต่ละหน่วยงานจะต้องเข้าใจตรงกันเสียก่อน โดยแต่ละหน่วยงานที่มีเป้าหมายร่วมกันจะต้องเห็นภาพร่วมกัน และมีชุดข้อมูลในการทำงานที่ตรงกัน หากเข้าใจไม่ตรงกันแบบ “ถามช้างตอบม้า” ผลบั้นปลายที่ล้มไม่เป็นท่าคงไม่อยู่เหนือความคาดหมายเท่าไหร่นัก

เมื่อพูดถึงเรื่องความเข้าใจและการสื่อสารที่ตรงกันแล้วหากเป็นเพียงสังคมย่อยระดับครอบครัวข้อมูลที่ว่าคงจัดการได้ไม่ยาก เช่น ลูกชายไลน์บอกในกลุ่มครอบครัวว่าซื้อกับข้าวสำหรับมื้อเย็นไปแล้ว หากสมาชิกอ่านครบก็คงไม่มีใครซื้อไปซ้ำจนของเหลือทิ้งเป็นแน่

ทีนี้หากเป็นระดับชาติซึ่งมีคนอยู่หลายสิบล้านคน และมีหน่วยงานมากมายทั้งกระทรวง ทบวง กรม รวมถึงราชการส่วนท้องถิ่น จึงยิ่งมีความเสี่ยงที่จะใช้จ่ายเงินในการทำโครงการต่างๆแบบเบี้ยหัวแตก, ทับซ้อน, ซ้ำซ้อน และ ฟันหลอ ไม่เกิดประโยชน์ หากไม่คุยกันเสียให้ดีตั้งแต่ต้น

โชคดีที่เทคโนโลยีสมัยใหม่ในยุคดิจิทัลนี้สามารถทำให้มีการรวบรวมข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์มาวิเคราะห์ใช้ประโยชน์ได้ ซึ่งอาจกล่าวได้ว่าตั้งแต่การปฏิวัติการรับรู้ของเผ่าพันธุ์โฮโมเซเปียนที่ถือว่าเป็นจุดเปลี่ยนที่ทำให้มนุษย์สายพันธุ์นี้ครอบครองโลกมาได้จนถึงปัจจุบัน การคิดค้นตัวอักษรเพื่อใช้บันทึกข้อมูลต่างๆเป็นอีกหน้าประวัติศาสตร์หนึ่งที่ทำให้กลุ่มที่มีอักษรใช้มีความแข็งแกร่งยิ่งขึ้น

ยิ่งในยุคปัจจุบันที่ข้อมูลต่างๆถูก digitized ก็ยิ่งทำให้มนุษย์สามารถสร้างพลังแห่งความร่วมมือได้มากยิ่งขึ้นและใช้ประโยชน์จากข้อมูลที่มีอยู่ให้เกิดประโยชน์ได้อย่างมหาศาล ประเทศที่มีระบบที่ดีในการจัดเก็บและวิเคราะห์ข้อมูลเพื่อนำมาใช้ประโยชน์ย่อมมีความได้เปรียบประเทศอื่นอย่างเห็นได้ชัด จนมีคำกล่าวที่ว่าข้อมูลคือน้ำมันแห่งยุคศตวรรษที่ 21 หรือ Data is the new oil of the 21st Century

การนำข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์มาใช้ประโยชน์ในการบริหารงานภาครัฐเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่จะช่วยให้ผู้มีอำนาจตัดสินใจเห็นภาพรวมของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแบบบูรณาการ (Data Integration) แบบเป็นปัจจุบัน และสามารถ “จัดแถว” แบ่งหน้าที่หน่วยงาน การใช้จ่ายเงินงบประมาณ รวมถึงระบบการทำงานที่ส่งเสริมความสามารถในการทำงานร่วมกัน (Interoperability)

นอกจากนี้หากทำการเปิดเผยข้อมูลดังกล่าวต่อประชาชนยังเป็น การส่งเสริมความโปร่งใสและพร้อมรับผิด ให้กับภาครัฐ และเป็นการส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชนในการตรวจสอบการทำงานของภาครัฐ หนำซ้ำถือเป็นการเพิ่มต้นทุนให้กับเจ้าหน้าที่รัฐที่คิดจะทุจริตอีกด้วย

แต่หากข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ที่จัดเก็บ ไม่เป็นชิ้นเป็นอัน ไม่มีความสมบูรณ์ หรือไม่เป็นปัจจุบัน ก็ย่อมเป็นอุปสรรคในการทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ เช่น ที่เคยปรากฏเป็นข่าวในบ้านเราว่าน้องนักเรียนเตรียมทหารเสียชีวิตไปแล้ว กลับปรากฏว่ามีหมายเกณฑ์ทหารของกองทัพไปถึงบ้านเพื่อแจ้งให้ไปเกณฑ์ทหาร ซึ่งต่อมาทางโฆษกกองทัพบกได้แถลงขอโทษครอบครัวน้องที่ได้ออกหมายเรียกเกณฑ์ทหาร จนกระทบความรู้สึก โดยแจ้งว่าสาเหตุเกิดจากระบบทะเบียนของกองทัพยังไม่เชื่อมโยงกับทะเบียนราษฎร์!

ดังนั้นองค์กรตรวจสอบภาครัฐในหลายประเทศจึงมีพยายามผลักดันรัฐบาลให้จัดเก็บข้อมูลอย่างเป็นระบบและใช้ประโยชน์จากข้อมูลโดยอาศัยเทคโนโลยีสมัยใหม่มาช่วย

อีกเรื่องที่มีความสำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากันคือทัศนคติของคน กล่าวคือ หากยังมองว่าหน่วยงานของตนเป็นหน่วยงานที่โดดเด่นและไม่ต้องพึ่งพาใคร หรือหน่วยงานส่วนกลางทำได้ดีกว่าหน่วยงานส่วนท้องถิ่น รวมถึงวัฒนธรรมการทำงานแบบไซโล (Silo mentality) ที่ไม่ประสานงานกันทั้งภายในหน่วยงานและระหว่างหน่วยงาน อันเป็นมายาคติที่ยังมีอยู่

…ทัศนคติเช่นนี้ทำให้การทำงานเป็นแบบต่างคนต่างทำ เหมือนกันพายเรือคนละทีสองที สุดท้ายวนอยู่ในอ่าง ไม่มีวันถึงฝั่ง หรือกว่าจะถึงก็สายเสียแล้ว

ดังนั้น หากไม่ปรับความคิดเหล่านี้ด้วยแล้ว การบรรลุวัตถุประสงค์ของโครงการภาครัฐที่จะใช้ทรัพยากรที่มีอยู่อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด ไม่ซ้ำซ้อนและสิ้นเปลือง เพื่อประโยชน์สูงสุดของประชาชนผู้เป็นเจ้าของเงินภาษีคงเป็นฝันที่เลือนลาง

เอกสารประกอบการเขียน

https://publicadministration.un.org/egovkb/Portals/egovkb/Documents/un/2012-Survey/Chapter-3-Taking-a-whole-of-government-approach.pdf

https://www.intosaicbc.org/wp-content/uploads/2019/05/XXIII-INCOSAI-Themes.pdf

https://www.gao.gov/products/gao-21-544t

https://www.gao.gov/assets/gao-15-49sp.pdf

https://www.oecd-ilibrary.org/sites/9789264279254-4-en/index.html?itemId=/content/component/9789264279254-4-en

https://wgea.org/media/117193/intosai-wgea-seminar-summary-1_2021.pdf

https://www.vtv.fi/en/good-governance-articles/policy-coherence-is-the-foundation-of-sustainable-development-and-sound-financial-management/

https://www.nao.org.uk/wp-content/uploads/2021/03/Improving-operational-delivery-in-government-main.pdf

https://thaipublica.org/2020/01/pitikhun-nilthanom-06/

https://thaipublica.org/2021/05/pitikhun-nilthanom-16/

https://www.audit.go.th/th/report/audit

https://www.audit.go.th/sites/default/files/files/inspection-results/สรุปผลการตรวจสอบผ้าห่มส่ง.pdf

https://www.audit.go.th/sites/default/files/files/inspection-results/รายงานการตรวจสอบ%20โครงการ%20WIFI%20and%20CCTV.pdf

https://www.audit.go.th/sites/default/files/files/reportaudit/ไฟล์รายงานประจำปี%20๖๓%20นำขึ้นเว็บไซต์.pdf

https://news.thaipbs.or.th/content/295570

https://www.komchadluek.net/news/regional/440548