ThaiPublica > คอลัมน์ > ความสำคัญของภาษาต่างประเทศกับการพัฒนางานตรวจเงินแผ่นดิน

ความสำคัญของภาษาต่างประเทศกับการพัฒนางานตรวจเงินแผ่นดิน

29 ตุลาคม 2019


ว่าที่ร้อยเอกปิติคุณ นิลถนอม

ในปัจจุบันโลกมีความเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วในทุกๆด้านโดยเฉพาะกระแส Disruptive Technology ที่ส่งผลกระทบต่อทุกภาคส่วนในสังคม องค์กรตรวจเงินแผ่นดิน (Supreme Audit Institution) ซึ่งทำหน้าที่สร้างความโปร่งใสให้กับการบริหารการเงินภาครัฐ (Public Financial Management หรือ PFM) จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องปรับตัวให้เข้ากับความเปลี่ยนแปลงดังกล่าว

ดังจะเห็นได้จากการที่องค์กรตรวจเงินแผ่นดินทั่วโลกได้ร่วมมือกันในการแลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์เพื่อพัฒนาศักยภาพองค์กรให้มีความรู้เท่าทันกับประเด็นใหม่ๆ (Emerging issues) อาทิ การนำ Big Data & Analytic เข้ามาช่วยในการตรวจสอบการใช้จ่ายเงินแผ่นดินและทรัพย์สินของรัฐ เป็นต้น ซึ่งในการร่วมมือกันขององค์กรตรวจเงินแผ่นดินทั่วโลกที่มาจากต่างชาติต่างภาษานี้เองทำให้ภาษาต่างประเทศเข้ามามีบทบาทที่สำคัญในการติดต่อสื่อสารเพื่อแลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์เกี่ยวกับการตรวจเงินแผ่นดิน

Homo Sapiens กับการปฏิวัติการรับรู้ – การถือกำเนิดของภาษา – สู่การพัฒนาสังคมมนุษย์

เมื่อพูดถึงภาษาแล้ว พวกเราไม่อาจปฏิเสธได้เลยว่าจากหลักฐานทางโบราณคดีและมานุษยวิทยา ตลอดจนหลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่ผ่านมาแสดงให้เห็นว่าภาษามีอิทธิพลเป็นอย่างมากในการสร้างความร่วมมือที่ก่อให้เกิดพัฒนาการในทุกๆด้าน หากปราศจากภาษาแล้วมนุษย์คงไม่สามารถที่จะสร้างและพัฒนาโลกใบนี้มาจนถึงปัจจุบันได้

ในหนังสือ Sapiens: A Brief History of Humankind ซึ่งเขียนโดย Yuval Noah Harari ศาสตราจารย์ทางประวัติศาสตร์ มหาวิทยาลัยฮิบรูแห่งเยรูซาเล็ม ชาวอิสราเอล ได้กล่าวถึงเหตุผลที่ Homo Sapiens (ซึ่งก็คือเผ่าพันธุ์ของพวกเรา) เอาชนะมนุษย์สายพันธุ์อื่นและครองโลกมาได้ถึงปัจจุบัน ด้วยสมมุติฐานที่น่าสนใจ

ภาพแสดงมนุษย์สายพันธ์ต่างๆ Homo Sapiens คือเผ่าพันธุ์ของพวกเรา ที่มา: https://twitter.com/ec_kosters/status/888052938761015296

Harari กล่าวว่าเป็นเพราะการปฏิวัติการรับรู้ หรือ Cognitive Revolution เมื่อราว 70,000 ปีก่อน ที่ Homo Sapiens เริ่มมีภาษาเป็นสื่อกลาง (Language as a Medium) ที่ใช้ในการสื่อสารระหว่างกัน Homo Sapiens มีความสามารถในการสร้างเสียงได้หลากหลาย จึงทำให้สามารถสร้างภาษาที่มีความยืดหยุ่นและมีประสิทธิภาพได้ ซึ่งต่างจากสัตว์รวมถึงมนุษย์สายพันธุ์อื่นอย่าง Homo Erectus หรือ Homo Neanderthal ที่แม้อาจมีภาษาแต่ก็เป็นภาษาที่ใช้ในการสื่อสารง่ายๆ

หนังสือ Sapiens: A Brief History of Humankind โดย Yuval Noah Harari ที่มา : https://www.barnesandnoble.com/w/sapiens-yuval-noah-harari/1118611502

Homo Sapiens ได้ใช้ภาษาที่มีความยืดหยุ่นและมีประสิทธิภาพดังกล่าวเป็นสื่อกลางในการสื่อสาร สั่งการ และที่สำคัญคือการใช้ภาษาสร้างเรื่องเล่าเหนือจินตนาการแบบอภินิหาร (Myth) หรือ นวนิยาย (Fiction) ที่เป็นเรื่องเล่าที่ทุกคนพร้อมใจที่จะเชื่อและยึดถือเหมือนกัน (Common myths) เพื่อทำให้คนแปลกหน้าจำนวนมหาศาลที่ไม่รู้จักกันมาก่อนเชื่อในเรื่องเดียวกัน มีเป้าหมายร่วมกัน ผนึกกำลังเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันจนเป็นปึกแผ่น (Cooperate Flexibly in large number) และรบพุ่งเอาชนะมนุษย์ในเผ่าพันธุ์อื่นจนครองโลกได้ในที่สุด ตัวอย่างเช่น ความเชื่อร่วมกันว่าหากร่วมกันต่อสู้กับศัตรูเพื่อเทพเจ้าแล้วตายจะได้ขึ้นสวรรค์ เป็นต้น

แม้แต่การพัฒนาโลกอย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบันก็มีการใช้ภาษาเป็นเครื่องมือในการสร้างเรื่องราวต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับความเชื่อในคุณค่าของสิ่งหนึ่งสิ่งใด เช่น ศาสนา รัฐชาติ ระบบกฎหมาย ระบบทุนนิยม สิทธิมนุษยชน หรือตัวอย่างที่ใกล้ตัวเราที่สุดคือระบบเงินตรา ที่พวกเราเชื่อเหมือนกันว่ากระดาษใบนึงมีมูลค่า 500 บาท หรือ 1000 บาทเท่ากับจำนวนที่เขียนบนกระดาษใบนั้น และใช้แลกเปลี่ยนกับสินค้าหรือบริการได้ สิ่งต่างๆเหล่านี้ทำให้มนุษย์ที่ไม่เคยรู้จักกัน มีความเชื่อเหมือนกันและร่วมมือกันในที่สุด ซึ่งเรื่องเล่าหรือนิยายข้างต้นมีความจำเป็นอย่างมากในการสร้างความร่วมมือของมนุษย์ หากไม่มีเรื่องเล่าดังกล่าวแล้วโลกนี้คงไร้ระเบียบและไม่สามารถที่จะขับเคลื่อนไปได้

Harari กล่าวว่ากรณีสัตว์อื่นอย่างลิงชิมแปนซีนั้นจ่าฝูงอาจควบคุมลิงในฝูงได้ 20-30 ตัว แต่ก็ทำได้เพียงเท่านั้น เพราะหากมีลิงมากถึง 10,000 ตัว คงต้องเกิดความโกลาหลวุ่นวายแน่นอน เนื่องจากจ่าฝูงไม่มีเครื่องมืออย่างภาษาในระดับที่ Homo Sapiens มี ที่สามารถใช้สร้างเรื่องอภินิหาร (Myth) หรือนิยาย (Fiction) เพื่อให้ลิงทุกตัวมีความเชื่อร่วมกัน เพื่อควบคุมฝูงลิงที่มากขนาดนั้นได้ เช่น ลิงที่เป็นจ่าฝูงไม่สามารถบอกให้ลิงในฝูงเชื่อว่าหากเชื่อคำสั่งจ่าฝูงแล้วหากตายจะได้ขึ้นสวรรค์ เป็นต้น ผู้ที่สนใจสมมุติฐานของ Harari สามารถชมได้จาก https://www.youtube.com/watch?v=nzj7Wg4DAbs

นอกจากเรื่องการก้าวมาเป็นผู้ครองโลกของ Homo Sapiens ข้างต้นที่ภาษามีส่วนสำคัญในการทำให้ประสบความสำเร็จแล้ว ในยุคที่รัฐสมัยใหม่ได้ถือกำเนิดขึ้นหลังสนธิสัญญาสันติภาพเวสต์ฟาเลีย (Peace of Westphalia) ในปี ค.ศ. 1648 ระบบการต่างประเทศสมัยใหม่ก็ได้เริ่มขึ้น ต่อมาก็มีการร่วมมือกันในเวทีระหว่างประเทศ และเริ่มมีความสัมพันธ์แบบพหุภาคีตั้งแต่การประชุมคองเกรสแห่งเวียนนาเมื่อปี ค.ศ. 1815 จากนั้นเป็นต้นมามนุษย์ได้รวมกลุ่มกัน ตลอดจนสร้างองค์การระหว่างประเทศจำนวนมากมายอย่างต่อเนื่อง เพื่อร่วมมือกันพัฒนาโลกในด้านต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการเมือง เศรษฐกิจ สังคม การแพทย์ การบิน สาธารณสุข หรือแม้แต่การกีฬา

การรวมกลุ่มกันเหล่านี้ต้องยอมรับว่าภาษาเป็นกุญแจสำคัญที่สุดประการหนึ่ง เพราะเมื่อแต่ละชาติใช้ภาษาที่ต่างกันแล้วย่อมเกิดอุปสรรคในการสื่อสาร ซึ่งเมื่อคุยกันไม่รู้เรื่องย่อมไม่ก่อให้เกิดข้อตกลงที่นำมาสู่การร่วมมือกันได้อย่างแน่นอน จึงจำเป็นที่จะต้องมีภาษากลางเป็นเครื่องมือที่ใช้สื่อสารระหว่างกัน หรือที่เรียกว่า Lingua francas บ้างก็เรียกว่าภาษาสะพานเชื่อม หรือ Bridge language

ภาพแสดงตระกูลและกลุ่มภาษาที่ใช้ในโลกของเรา ซึ่งในแต่ละกลุ่มก็จะมีภาษาย่อยๆจำนวนมากในการทำงานจึงจำเป็นที่จะต้องมีภาษากลางเป็นเครื่องมือที่ใช้สื่อสารระหว่างกัน
ที่มา – http://aphgaeros.weebly.com/where-are-other-language-families-distributed.html

ในแง่มุมขององค์กรตรวจเงินแผ่นดิน (Supreme Audit Institution หรือ SAI) ทั่วโลกแล้ว มีการสร้างความร่วมมือกันผ่านการประชุมทั้งระดับทวิภาคีและพหุภาคี ทั้งในระดับอนุภูมิภาค ระดับภูมิภาค และระดับนานาชาติ เช่นเดียวกันกับวงการอื่นๆ ซึ่งทุกระดับจะมีภาษากลาง หรือ Lingua francas โดยในทางปฏิบัติมักใช้คำว่าภาษาเพื่อการทำงานหรือ Working language เป็นเครื่องมือที่ใช้สื่อสารระหว่างกัน

ทั้งนี้ การร่วมมือกันขององค์กรตรวจเงินแผ่นดินนั้นมีความมุ่งหมายที่จะพัฒนางานตรวจเงินแผ่นดินอย่างต่อเนื่องผ่านการแลกเปลี่ยนความรู้ เทคนิค และประสบการณ์ ให้เท่าทันกับบริบทของโลกที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว โดยเน้นการสร้างคุณค่า ประโยชน์ ตลอดจนสร้างความเปลี่ยนแปลงที่ดีให้เกิดกับคุณภาพชีวิตประชาชนผ่านการรายงานผลการตรวจสอบที่เสนอแนะแนวทางที่เกิดประโยชน์ (constructive recommendation) เพื่อให้หน่วยงานของรัฐมีการปรับปรุงโครงการต่างๆให้มีคุณภาพและเกิดผลสัมฤทธิ์สูงสุด โดยเฉพาะอย่างยิ่งการมุ่งทำหน้าที่เป็นผู้ตรวจสอบและประเมินผลโครงการภาครัฐที่จะตอบสนองเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนของสหประชาชาติ (UN Sustainable Development Goals) ที่เป็นพันธกรณีของทุกประเทศที่จะต้องขับเคลื่อนให้บรรลุเป้าหมาย 17 เป้าหมายภายในปี ค.ศ. 2030

ความร่วมมือขององค์การตรวจเงินแผ่นดินระหว่างประเทศระดับนานาชาติที่สำคัญและใหญ่ที่สุดคือองค์การสถาบันการตรวจสอบสูงสุดนานาชาติ หรือ International Organization of Supreme Audit Institutions หรือ INTOSAI ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 1953 ปัจจุบัน INTOSAI มีสมาชิกที่เป็นองค์กรตรวจเงินแผ่นดินรวม 188 ประเทศ ทั่วโลก เป็นองค์การระหว่างประเทศที่ใหญ่เป็นลำดับสองรองจากสหประชาชาติ มีคำขวัญในการทำงานว่า การแลกเปลี่ยนประสบการณ์ก่อให้เกิดประโยชน์ร่วมกัน หรือ “Mutual experience benefits all”

ภาษากลางของ INTOSAI คือ อังกฤษ ฝรั่งเศส เสปน อารบิก เยอรมัน ส่วนองค์การสถาบันการตรวจสอบสูงสุดในระดับภูมิภาคและอนุภูมิภาคมีการแบ่งเขตและมีภาษากลางที่ใช้ต่างกันตามภาพและตารางด้านล่างนี้

ภาพแสดงองค์การสถาบันการตรวจสอบสูงสุดในระดับภูมิภาค ที่มา : http://www.intosai.org/regional-organizations.html
ตารางแสดงภาษาที่ใช้ในการทำงานขององค์กรตรวจเงินแผ่นดินระหว่างประเทศ องค์กรตรวจเงินแผ่นดินไทยเป็นสมาชิกองค์กรลำดับที่ 1-2 และ 9 ที่มา – ผู้เขียน

จากตารางข้างต้น สรุปได้ว่าภาษาอังกฤษเป็นภาษากลางของทุกหน่วยงาน ยกเว้น ARABOSAI จึงอาจกล่าวได้ว่าภาษาอังกฤษมีความเป็นภาษากลางของนานาชาติ (English as a global lingua franca) และเมื่อองค์กรตรวจเงินแผ่นดินไทยเป็นสมาชิกของทั้ง INTOSAI ASOSAI และ ASEANSAI ที่ใช้ภาษาอังกฤษเป็นภาษากลาง ภาษาอังกฤษจึงมีความสำคัญมากในการสื่อสารกับประเทศสมาชิก เพื่อเผยแพร่ผลงานอันเป็นการสร้างเกียรติภูมิให้กับประเทศไทย ตลอดจนการนำองค์ความรู้จากสากลมาใช้ในการพัฒนาการตรวจเงินแผ่นดินเพื่อประโยชน์สูงสุดของประชาชน

ปัจจุบันนโยบายสำคัญประการหนึ่งของคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน คือ ส่งเสริมและธำรงไว้ซึ่งเกียรติภูมิของสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน โดยมุ่งพัฒนาองค์กรให้เป็นที่ยอมรับในระดับประเทศ รวมทั้งการยกระดับให้เป็นองค์กรชั้นนำด้านการตรวจสอบในระดับสากล วิสัยทัศน์ของสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของแผนยุทธศาสตร์การตรวจเงินแผ่นดินที่ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินประกาศใช้เพื่อเป็นการแปลงนโยบายฯ สู่การปฏิบัติคือ “องค์กรตรวจเงินแผ่นดินสูงสุดเป็นที่ยอมรับในระดับสากล มุ่งผลสัมฤทธิ์และประสิทธิภาพในการใช้จ่ายเงินแผ่นดิน เพื่อประโยชน์สูงสุดต่อประเทศชาติและประชาชน” โดยในแผนยุทธศาสตร์ฯ มีประเด็นยุทธศาสตร์ที่ 1 ที่กำหนดว่าจะต้องมีการยกระดับการตรวจเงินแผ่นดินให้เทียบเท่ามาตรฐานสากล

ในการนี้องค์กรตรวจเงินแผ่นดินไทยจึงได้ใช้ภาษาอังกฤษเป็นสื่อกลางในการทำหน้าที่ในเวทีสากลอย่างแข็งขัน นับตั้งแต่การเข้าร่วมการประชุมสมัชชาใหญ่ของ INTOSAI ที่เรียกว่า International Congress of Supreme Audit Institutions หรือ INCOSAI ครั้งที่ 2 ณ กรุงบรัสเซล ประเทศเบลเยี่ยม เมื่อปี พ.ศ. 2499 จนถึงปี พ.ศ. 2562 ซึ่งเป็นปีที่ครบรอบการสถาปนาสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินครบ 104 ปี สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินได้ทำงานร่วมกับกระทรวงการต่างประเทศจนได้รับหน้าที่สำคัญในเวทีระหว่างประเทศหลายตำแหน่งคือ การเป็นประธานคณะกรรมการตรวจสอบแห่งอาเซียน (ASEAN Audit Committee), การเป็นคณะมนตรีขององค์การสถาบันการตรวจสอบสูงสุดแห่งเอเชีย (ASOSAI), การดำรงตำแหน่งประธานองค์การสถาบันการตรวจสอบสูงสุดแห่งเอเชีย (ASOSAI) ในปี พ.ศ. 2564, การเป็นผู้ตรวจสอบภายนอก (External Auditor) ขององค์การสนธิสัญญาว่าด้วยการห้ามทดลองอาวุธนิวเคลียร์โดยสมบูรณ์ (Comprehensive Nuclear Test-Ban Treaty Organization หรือ CTBTO) และล่าสุดคือการได้รับการเลือกตั้งให้เป็นคณะมนตรีขององค์การสถาบันการตรวจสอบสูงสุดนานาชาติ (INTOSAI) เมื่อปลายเดือนกรกฎาคมและได้การรับรองโดยสมัชชาใหญ่ INCOSAI ครั้งที่ 23 ณ กรุงมอสโคว ประเทศรัสเซีย เมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา นับเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ตั้งแต่การตรวจเงินแผ่นดินได้ถือกำเนิดขึ้นในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว(ดูที่นี่)

การดำรงตำแหน่งข้างต้นก่อให้เกิดประโยชน์ต่อองค์กรตรวจเงินแผ่นดินไทยและประเทศไทยอย่างน้อย 3 ประการ คือ เจ้าหน้าที่มีเครื่องมือที่ใช้ในการตรวจสอบ เช่นคู่มือการตรวจสอบ (Audit manual) แนวปฏิบัติที่ดี (Best practice) check-list ที่ใช้ในการตรวจสอบ เทคนิคการตรวจสอบ โดยเฉพาะประเด็นใหม่ๆ (emerging issues) ที่สอดคล้องกับมาตรฐานสากล รายงานผลการตรวจสอบที่มีมาตรฐานสากลย่อมได้รับการยอมรับจากทุกภาคส่วน หน่วยรับตรวจมีการปฏิบัติตามคำแนะนำ ภาครัฐมีวินัยการเงินการคลังที่ดี ประชาชนมีความเชื่อมั่นในระบบการบริหารการคลังสาธารณะ และโครงการภาครัฐต่างๆมีคุณภาพมากขึ้นทำให้ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

นอกจากนี้ การเผยแพร่ผลงานและการดำรงตำแหน่งสำคัญในเวทีสากลขององค์กรตรวจเงินแผ่นดินไทยเป็นการสร้างชื่อเสียงเกียรติภูมิให้กับประเทศ ภาพลักษณ์ของประเทศดีขึ้น ดัชนีชี้วัดต่างๆของประเทศ เช่น Corruption Perception Index (CPI) , Open Budget Index ดีขึ้น

โดยสรุป ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันภาษาเป็นกุญแจสำคัญที่สุดในการสร้างความร่วมมือระหว่างกันของมนุษย์ ซึ่งนำไปสู่การพัฒนาในทุกด้านไม่ว่าจะเป็นด้านความมั่นคง เศรษฐกิจ สังคม รวมถึงการตรวจเงินแผ่นดิน

ในโลกยุคปัจจุบันนี้ ภาษาต่างประเทศเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่ง ทุกภาคส่วนจึงควรหันมาให้ความสำคัญกับการศึกษาอบรมภาษาต่างประเทศ โดยเฉพาะรัฐบาลที่ควรส่งเสริมให้เยาวชนไทยเรียนรู้ภาษาต่างๆ ไม่จำกัดเฉพาะภาษาอังกฤษ เพื่อสร้างโอกาสในการพัฒนาชาติ อย่างไรก็ตามยังมีปัจจัยอื่นที่ต้องพิจารณาด้วย

จักรพรรดิชาเลอมาญแห่งอาณาจักรโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ (Holy Roman Empire) เคยตรัสว่าการรู้ภาษาอื่นเปรียบเหมือนการมีจิตวิญญาณที่ 2 (to have another language is to possess a second soul) ผู้เขียนเห็นว่าจิตวิญญาณที่ 2 นี้อาจเปรียบได้กับเมื่อมีความรู้ความเข้าใจภาษาอื่นแล้วย่อมเข้าใจว่าเจ้าของภาษานั้นๆเขาคิดอย่างไร มีวัฒนธรรมแบบใด

ดังนั้นการเรียนรู้ภาษาอื่นอย่างผิวเผินโดยมุ่งหมายที่จะนำไปใช้สื่อสารอย่างเดียวนั้นไม่พอ เราจำเป็นที่จะต้องเรียนรู้ว่าเขาเป็นอย่างไรควบคู่ไปกับการเรียนภาษาด้วย ผู้เขียนมีความเห็นว่าการเข้าอกเข้าใจผู้อื่น การเปิดใจ การมีทัศนคติที่ดีและการให้เกียรติต่อผู้อื่นที่มีภาษา วัฒนธรรม และภูมิหลังที่ต่างจากเรา ถือเป็นก้าวแรกที่จะทำให้เกิดความร่วมมือกับผู้อื่นได้

นอกเหนือจากการใช้ภาษากลางของแต่ละกรอบความร่วมมือในการสื่อสารแล้ว ย่อมต้องเข้าใจและให้เกียรติบุคคลนั้นๆ ด้วย หากปราศจากความเคารพซึ่งกันและกันแล้วความร่วมมือที่อยากเห็นคงไม่มีวันเกิดขึ้นได้จริง

แหล่งข้อมูลประกอบการเขียน

1.https://www.youtube.com/watch?v=nzj7Wg4DAbs
2.https://twitter.com/ec_kosters/status/888052938761015296

3.http://aphgaeros.weebly.com/where-are-other-language-families-distributed.html

4.https://www.thenewsminute.com/article/how-vg-siddhartha-built-coffee-day-global-brand-cup-cup-106461

5.http://www.intosai.org/regional-organizations.html

6.https://www.reddit.com/r/MapPorn/comments/6n7x86/territory_claimed_by_spain_and_portugal_due_to/

7.https://www.audit.go.th/sites/default/files/files/news/press-IntosaiGB.pdf