ThaiPublica > Native Ad > บทความร่วมมือ > เส้นทางปิโตรเลียมไทย ความจริงที่ต้องรู้

เส้นทางปิโตรเลียมไทย ความจริงที่ต้องรู้

13 สิงหาคม 2018


ที่ผ่านมามีข้อมูลพลังงาน ทั้งที่เป็นข้อเท็จ และข้อจริง ถูกนำมาเผยแพร่ในโลกโซเชียลมีเดียเป็นจำนวนมาก จนกลายเป็นกระแสที่ทำให้สังคมเกิดความสับสนและมีความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน ดังนั้น เพื่อให้สาธารณชนได้รับข้อมูลข่าวสารที่ถูกต้อง จึงขอนำเสนอข้อเท็จจริงเกี่ยวกับปิโตรเลียมของไทย

เริ่มจากความหมายของคำว่า “ปิโตรเลียม” ซึ่งเป็นสารประกอบไฮโดรคาร์บอนที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ โดยมีคาร์บอนและไฮโดรเจนเป็นองค์ประกอบหลัก และอาจมีธาตุอื่น เช่น กํามะถัน ออกซิเจน ไนโตรเจน ปนอยู่ด้วย ปิโตรเลียมเป็นได้ทั้งของแข็ง ของเหลว หรือก๊าซ ขึ้นอยู่กับองค์ประกอบของปิโตรเลียม พลังงานความร้อน และความดันตามสภาพแวดล้อมที่ปิโตรเลียมสะสมตัวอยู่ ปิโตรเลียมแบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ น้ำมันดิบ (crude oil) และก๊าซธรรมชาติ (natural gas) ส่วนก๊าซธรรมชาติที่ถูกกักเก็บไว้ใต้ผิวโลกภายใต้อุณหภูมิมิและความดันสูง แต่เมื่อนำขึ้นมาสู่ผิวโลกจะแปลงสภาพเป็นของเหลว เรียกว่าก๊าซธรรมชาติเหลวหรือคอนเดนเสท (condensate)

ประเทศไทยมีการค้นพบแหล่งปิโตรเลียมทั้งบนบกและในทะเลอ่าวไทย โดยแหล่งปิโตรเลียมที่มีการค้นพบน้ำมันดิบมากกว่าก๊าซธรรมชาติ เรียกว่า “แหล่งน้ำมันดิบ” เช่น แหล่งน้ำมันสิริกิติ์ของบริษัท ปตท. สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท. สผ. ส่วนแหล่งที่มีการสำรวจและผลิตก๊าซธรรมชาติได้มากว่าน้ำมัน เรียกว่า “แหล่งก๊าซธรรมชาติ” เช่น แหล่งก๊าซธรรมชาติเอราวัณของบริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด หรือ แหล่งก๊าซธรรมชาติ JDA ของ องค์กรร่วมไทย-มาเลเซีย (Malaysia-Thailand Joint Authority: MTJA) เป็นต้น

ผลผลิตที่ได้จากแหล่งก๊าซธรรมชาติถูกส่งเข้าโรงแยกก๊าซธรรมชาติ โดยก๊าซที่มีน้ำหนักเบาที่สุดไม่มีส่วนประกอบของก๊าซธรรมชาติเหลวถูกแยกออกทางด้านบน ส่วนใหญ่เป็นก๊าซมีเทน (CH4) ไม่สามารถนำมาแยกต่อได้อีก เรียกว่า “ก๊าซแห้ง” หรือ “dry gas” ส่วนก๊าซธรรมชาติที่มีส่วนประกอบหลักเป็นก๊าซธรรมชาติเหลวจะถูกแยกออกมาเป็นชั้นๆ ตามน้ำหนัก ได้แก่ อีเทน โพรเพน บิวเทน เพนเทน และเฮกเซน ก๊าซเหล่านี้จะกลายเป็นของเหลวได้ง่ายที่อุณหภูมิต่ำและความดันสูง เรียกว่า “ก๊าซเปียก” หรือ “wet gas”

ส่วนก๊าซมีเทนที่ได้จากโรงแยกก๊าซ จะถูกส่งมาตามท่อก๊าซเข้าโรงไฟฟ้า เพื่อใช้เป็นเชื้อเพลิงผลิตกระแสไฟฟ้า รวมทั้งใช้เป็นเชื้อเพลิงในโรงงานอุตสาหกรรมขนาดใหญ่อีกด้วย ก๊าซมีเทนที่ส่งมาตามท่อส่งก๊าซ ถูกสูบขึ้นมาจากท่อส่งก๊าซ และนำอัดใส่ถังเหล็กกล้าที่มีความแข็งแรงทนทานสูงด้วยแรงดัน 3,000 ปอนด์/ตารางนิ้ว (240 เท่าของความดันบรรยากาศ) เพื่อใช้ในภาคขนส่ง เรียกว่า compressed natural gas (CNG) หรือ “NGV”

ส่วนก๊าซอีเทน โพรเพน จากโรงแยกก๊าซจะถูกส่งต่อมาที่โรงงานปิโตรเคมี เพื่อใช้เป็นวัตถุดิบหรือสารตั้งต้นในการผลิตเม็ดพลาสติก เส้นใยพลาสติกโพลีเอทิลีน เพื่อใช้ผลิตเส้นใยพลาสติกและผลิตภัณฑ์พลาสติกชนิดต่างๆ ก๊าซโพรเพนอีกส่วนถูกนำมาผสมกับก๊าซบิวเทนในสัดส่วน 60 ต่อ 40 บรรจุใส่ถังเป็นก๊าซปิโตรเลียมเหลว (liquefied petroleum gas: LPG) นำไปใช้ในภาคครัวเรือน เรียกว่า “แก๊สหุงต้ม” แต่ถ้านำไปใช้ในภาคขนส่ง หรือ โรงงานอุตสาหกรรม เรียกว่า “ก๊าซแอลพีจี”

สำหรับน้ำมันดิบที่ได้จากแหล่งน้ำมัน รวมทั้งคอนเดนเสท ถูกส่งมาที่โรงกลั่นน้ำมัน เพื่อใช้ในการผลิตน้ำมันดีเซล, น้ำมันเบนซิน, LPG,น้ำมันเครื่องบิน, น้ำมันเตา และน้ำมันก๊าด ใช้ในภาคขนส่งและภาคอุตสาหกรรม

แม้ประเทศไทยจะมีแหล่งปิโตรเลียมที่สำคัญๆ หลายแหล่ง แต่กำลังการผลิตในประเทศไม่เพียงพอต่อความต้องการใช้พลังงาน จึงต้องนำเข้าจากต่างประเทศ ทั้งน้ำมันดิบ ก๊าซ LPG และก๊าซธรรมชาติเหลว หรือ “LNG” (เป็นก๊าซมีเทนที่ถูกนำมาแปลงสภาพเป็นของเหลวด้วยการลดอุณหภูมิลงมาที่ -160 องศาเซลเซียส เพื่อความสะดวกในการขนส่ง) จากข้อมูลของสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) พบว่า ในช่วงเดือนมกราคม-พฤษภาคม 2561 ในประเทศมีกำลังการผลิต 3,549 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ขณะที่ความต้องการใช้ก๊าซธรรมชาติภายในประเทศอยู่ที่ 4,665 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน จึงต้องนำเข้าก๊าซธรรมชาติจากต่างประเทศ 1,340 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน โดยแบ่งเป็นการนำเข้าจากประเทศเมียนมา 16% และ LNG อีก 11% ของปริมาณก๊าซธรรมชาติที่นำเข้าจากต่างประเทศ

แหล่งก๊าซธรรมชาติที่สำคัญของไทย 2 แหล่งในอ่าวไทย คือ แหล่งเอราวัณ ที่ดำเนินการโดยบริษัท เชฟรอนประเทศไทย สำรวจและผลิต จำกัด ประมาณ 1,240 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน และแหล่งบงกช ประมาณ 1,050 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ปริมาณรวมทั้ง 2 แหล่ง ประมาณ 2,290 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน คิดเป็นสัดส่วนสูงถึงประมาณ 75% ของกำลังการผลิตก๊าซธรรมชาติในประเทศ

ส่วนก๊าซ LPG ภายในประเทศมีกำลังการผลิต 536,000 ตันต่อเดือน โดยมาจากโรงแยกก๊าซ 340,000 ตันต่อเดือน และโรงกลั่นน้ำมันอีก 196,000 ตันต่อเดือน ขณะที่ความต้องการใช้ LPG ในภาคปิโตรเคมี ภาคครัวเรือน ภาคขนส่ง และภาคอุตสาหกรรมอยู่ที่ 545,000 ตันต่อเดือน ทำให้ต้องนำเข้า LPG จากต่างประเทศ 53,000 ตันต่อเดือน

ดังนั้น การกำหนดราคาขายปลีกก๊าซ NGV และ LPG จึงต้องเป็นไปตามสูตรคำนวณราคาต้นทุนเฉลี่ยของการจัดหาเนื้อก๊าซ ทั้งในส่วนที่นำเข้าและผลิตจากอ่าวไทย บวกค่าจัดหาก๊าซ ค่าขนส่ง และค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานอื่นๆ ด้วย

อุตสาหกรรมสำรวจและผลิตปิโตรเลียม นอกจากจะสร้างรายได้ให้ประเทศจากค่าภาคหลวงปิโตรเลียม เงินผลประโยชน์ตอบแทนพิเศษ รายได้จากองค์กรร่วมไทย-มาเลเซีย ภาษีเงินได้ปิโตรเลียม และรายได้อื่นๆ รวมทั้งสิ้น 2,142,152 ล้านบาทแล้ว (เริ่มมีการจัดเก็บปี 2524 จนถึงมิถุนายน 2561) ยังเป็นการช่วยให้ประเทศพึ่งพาตนเองด้านพลังงานอย่างมั่นคง และเป็นต้นทางของการขับเคลื่อนภาคเศรษฐกิจในอุตสาหกรรมเกี่ยวเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นอุตสาหกรรมปิโตรเคมี โรงกลั่น การผลิตแท่น หรืออื่นๆ ซึ่งมีการจ้างงานและเม็ดเงินหมุนเวียนขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยมาอย่างต่อเนื่อง