ThaiPublica > ประเด็นร้อน > BCG in Action > “BLC” ชู ‘สมุนไพรไทย’ สร้าง new s curve อุตสาหกรรมยา หนุนเกษตรกร-เศรษฐกิจไทย

“BLC” ชู ‘สมุนไพรไทย’ สร้าง new s curve อุตสาหกรรมยา หนุนเกษตรกร-เศรษฐกิจไทย

30 กรกฎาคม 2023


ภก.สุวิทย์ งามภูพันธ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บางกอกแล็ป แอนด์ คอสเมติค จำกัด (มหาชน) หรือ BLC

เมื่อวันที่ 21 มิ.ย. 2566 บริษัท ‘ยา’ น้องใหม่อย่าง บมจ. บางกอกแล็ป แอนด์ คอสเมติค หรือ BLC นำบริษัทเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ (IPO) พร้อมกับคำถามมากมายจากนักลงทุนและผู้มีส่วนเกี่ยวข้องว่า BLC จะเติบโตอย่างยั่งยืนได้อย่างไร

ตลาดยาในประเทศไทยมีมูลค่าราว 2 แสนล้านบาท มีสัดส่วนมูลค่าเป็นโรงพยาบาลรัฐ 60% โรงพยาบาลเอกชน 20% และร้านขายยา 20% และภาพรวมอุตสาหกรรมยังมีแนวโน้มเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยคาดว่ามูลค่าการจำหน่ายยาระหว่างปี 2566-2568 มีอัตราการเติบโต 5-6% ต่อปี จากปัจจัยสนับสนุนด้านเศรษฐกิจ และแนวโน้มการเจ็บป่วยเพิ่มขึ้นทั้งกลุ่มโรคติดต่อและโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง รวมถึงจำนวนผู้ป่วยต่างชาติกลับมาใช้บริการโรงพยาบาลในประเทศไทย รวมทั้งกระแสการใส่ใจสุขภาพที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นหลังการระบาดรุนแรงของโควิด-19

ทั้งนี้ BLC ดำเนินธุรกิจผลิต และจำหน่ายยาแผนปัจจุบัน ประเภทยาสามัญ ยาสามัญใหม่ ยาสมุนไพร ยาสำหรับสัตว์ และผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพอื่นๆ ครอบคลุมกลุ่มผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร เครื่องสำอาง และผลิตภัณฑ์อื่นๆ ภายใต้เครื่องหมายการค้าทั้งหมด 485 ตราสินค้า โดยมีบุคลากรกว่า 660 คน เภสัชกรมากกว่า 50 คน และนักวิทยาศาสตร์มากกว่า 70 คน

BLC ได้วางเป้าหมายการผลิตและวางจำหน่ายยาสามัญใหม่อย่างน้อยปีละ 2 รายการ เพื่อสร้างการเติบโตของรายได้อย่างต่อเนื่องเพื่อบรรลุเป้าหมายรายได้ 2,000 ล้านบาท ภายในปี 2569

ภก.สุวิทย์ งามภูพันธ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บางกอกแล็ป แอนด์ คอสเมติค จำกัด (มหาชน) กล่าวถึงเหตุผลที่นำ BLC เข้าตลาดฯ ว่า บริษัทต้องการนำเงินจากการระดมทุนประมาณ 1,200 ล้านบาท ไปใช้ในการลงทุน 2 ส่วน คือ (1) ลงทุนในโครงการอนาคต ไม่ว่าจะเป็น ก่อสร้างโรงงานผลิตยาเพื่อเพิ่มกำลังการผลิต วิจัยยาสามัญใหม่ 14 รายการ ติดตั้ง solar rooftop รวมถึงระบบเทคโนโลยี และ(2) จ่ายหนี้สินเงินกู้ยืมจากสถาบันการเงิน

วิจัยและผลิตยาด้วยตัวเอง

ภก.สุวิทย์ เล่าว่า BLC ทำธุรกิจที่ครอบคลุมตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ โดยเฉพาะ ‘ต้นน้ำ’ ซึ่งเป็นจุดแข็งของบริษัท เนื่องจากบริษัทสามารถวิจัยและพัฒนายาด้วยตนเอง จากนั้นไปสู่ขั้นตอนการผลิตตามมาตรฐาน ถัดมาที่ ‘กลางน้ำ’ คือเรื่องการจัดจำหน่ายาในช่องทางต่างๆ และ ‘ปลายน้ำ’ คือการตลาดที่ช่วยให้ยาของ BLC ไปถึงช่องทางโรงพยาบาลและร้านขายยาได้ทั่วประเทศ

โดย BLC ใช้กลยุทธ์ที่เรียกว่า “3M1A” ประกอบด้วย Manufacture-ฐานการผลิต Marketing-การตลาด Business Model-โมเดลธุรกิจที่แข่งขันได้ทั้งในประเทศและสากล และ Alliance-พันธมิตร

ที่ผ่านมา บริษัทได้จัดตั้งศูนย์วิจัย BLC Research Center เพื่อนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่ทันสมัย เข้ามาประยุกต์ใช้พัฒนาต่อยอดงานวิจัยตั้งแต่ยาแผนปัจจุบัน ประเภทยาสามัญและยาสามัญใหม่ ผลิตภัณฑ์ยาสมุนไพร ผลิตภัณฑ์ยาสำหรับสัตว์ เครื่องสำอาง ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร และผลิตภัณฑ์อื่นๆ ที่สำคัญคือการวิจัยผลิตภัณฑ์ยาสมุนไพร เพื่อให้เป็นทางเลือกในการรักษาควบคู่กับยาแผนปัจจุบันผ่านความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยและหน่วยงานวิจัยในประเทศ เพื่อศึกษาวิจัยสมุนไพรไทยและฤทธิ์ทางเภสัชวิทยา

“แต่ที่ตลาดอื่นเข้ามายาก คือ ‘ยาสามัญใหม่’ หรือ ‘New Generic’ เพราะยาที่เราจะลงทุนในอนาคต เช่น ยาเบาหวาน-ความดัน มันจะเป็นประโยชน์ต่อประเทศและเป็นต้นทุนที่ถูก ยกตัวอย่าง สมัยก่อนยาเม็ดหนึ่งตอนยังไม่หมดสิทธิบัตร ราคาประมาณ 70 บาทต่อเม็ด ถ้าเราทำแล้วเหลือเม็ดละ 10 บาท หรือยาบางตัว 65 บาท พอหมดสิทธิบัตรเหลือ 7 บาท กำไรมโหฬาร 50 ถึง 60 เปอร์เซ็นต์”

ภก.สุวิทย์ ย้ำว่า การจะทำยาสามัญใหม่ข้างต้นได้จำเป็นต้องใช้องค์ความรู้ด้านฐานการผลิตและการตลาด เป็นเหตุผลที่ BLC มีโรงงานผลิตและศูนย์วิจัยเป็นของตนเอง นอกจากนี้หากเป็นยาที่ตรงตาม New S Curve ของประเทศก็ยังสามารถขอ BOI ได้อีกด้วย

ภก.สุวิทย์ กล่าวต่อว่า ประเทศไทยกำลังก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ (Ageing Society) จึงมุ่งเน้นการวิจัยพัฒนายาสามัญใหม่ที่มีอัตราการเติบโตสูง สอดคล้องกับข้อกำหนดบัญชียามุ่งเป้าตามประกาศสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ซึ่งเป็นรายการยาสำคัญที่ได้รับการสนับสนุน เพื่อเสริมสร้างเศรษฐกิจและความมั่นคงทางยาของประเทศ

ดัน ‘สมุนไพรไทย’ สู่ตลาดโลก

ภก.สุวิทย์ กล่าวต่อว่า พฤติกรรมของผู้บริโภคมุ่งเน้นดูแลสุขภาพเพื่อป้องกันโรคต่างๆ ที่อาจจะอุบัติใหม่ในอนาคต ทำให้ยาเสริมภูมิคุ้มกันหรือยาป้องกันโรค เช่น วิตามิน ยาสมุนไพร ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร และเครื่องดื่มโภชนาการ ส่งผลให้ดีมานด์ยาเพิ่มมากขึ้น นับเป็นเมกะเทรนด์ด้านสุขภาพที่กำลังเติบโตอย่างต่อเนื่อง

เมื่อถามถึงการเติบโตอย่างยั่งยืน ภก.สุวิทย์ บอกว่า ‘สมุนไพรไทย’ มีหลากหลายจำนวนมาก หากมีการใช้สมุนไพรมากขึ้น จะทำให้หลายฝ่ายได้ประโยชน์ ตั้งแต่ บริษัท ชุมชน เกษตรกร และเศรษฐกิจของประเทศ ที่สำคัญคือสมุนไพรอาจจะเป็น new s curve ได้หากมีการวิจัยและแปรรูปเป็นยาที่มีศักยภาพเทียบเท่ายาแผนปัจจุบัน

“การทำยาสมุนไพรจะเป็นประโยชน์ด้านการกระจายรายได้ให้เกษตรกร ขณะเดียวกันนโยบายยาแห่งชาติก็ระบุว่า ‘ประชาชนเข้าถึงยาถ้วนหน้า ใช้ยามีเหตุผล ประเทศพึ่งตนเองได้’ BLC จึงบูรณาการภูมิปัญญาไทย และพัฒนา product champion จากสมุนไพร”

โดยบริษัทนำสมุนไพร 7 ชนิดมาใช้พัฒนาและแปรรูปเป็นยา คือ (1) พริก (2) ไพล (3) กัญชา (4) ว่านหางจระเข้ (5) ใบบัวบก (6) ฟ้าทะลายโจร และ (7) กระชายดำ

“เทคโนโลยีหาได้ทั่วโลก แต่สมุนไพรไทยมีเฉพาะในประเทศ ทำไมเราไม่เอาเทคโนโลยีมาพัฒนาสมุนไพรไทยให้มีการส่งออกไปทั่วโลก”

“สมุนไพรแต่ละชนิดมีโมเดลไม่เหมือนกัน บางชนิดเราซื้อวัตถุดิบมาสกัด ยกตัวอย่าง ‘เจลพริก’ เป็นสมุนไพรที่ฮือฮามาก เราเลือกพันธุ์พริกที่เป็นเอกลักษณ์ที่ไม่มีที่ไหนในโลก แล้วเอาพันธุ์พริกให้เกษตรกรปลูกเป็น contract farming และประกันราคาพริกให้สูงกว่าราคาตลาด จากนั้นเอาพริกมาสกัดที่โรงงานและจดสิทธิบัตร”

“อีกชนิดคือ ‘ไพล’ ถ้าเราทำนาจะได้เงินประมาณ 10,000 บาทต่อไร่ แต่ปลูกไพลให้ผลตอบแทน 200,000 บาทต่อไร่ แม้ตอนนี้เราเป็นบริษัทที่ใช้ไพลมากสุดในประเทศไทย และเริ่มส่งออกไป CLMV คำถามคือทำอย่างไรให้มีการใช้ไพลมากขึ้น เพราะถ้ามีการใช้เพิ่มขึ้น เกษตรกรก็ปลูกเพิ่มขึ้น”

ภก.สุวิทย์ กล่าวต่อว่า ปัจจุบันเกษตรกรประสบปัญหาการเผาป่าจากการปลูกข้าวโพด แต่เขาไม่สามารถหยุดเผาได้ ดังนั้นทางออกคือการหาพืชชนิดอื่นมาทดแทน จึงมีการเสนอให้เกษตรกรปลูกสมุนไพร แต่ก็เป็นความท้าทายว่า การใช้ยาสมุนไพรการยอมรับไม่กว้างขวาง เนื่องจากขาดงานวิจัยปริมาณสารสำคัญที่ออกฤทธิ์ทางยา เพื่อเป็นมาตรฐานที่ชัดเจน และขาดผลพิสูจน์ทางคลินิก

ดังนั้น บริษัทจำเป็นต้องศึกษา วิจัยและพัฒนาสมุนไพรให้มีผลการรับรองที่ได้มาตรฐาน จากนั้นต้องมีการสร้างดีมานด์เพื่อให้มีการใช้ประโยชน์จากสมุนไพรมากขึ้น

ลดก๊าซเรือนกระจก ติดโซลาร์ ประหยัดค่าไฟ 6.8 ล้าน

ภก.สมชัย พิสพหุธาร ประธานเจ้าหน้าที่สายบัญชีและการเงิน บริษัท บางกอกแล็ป แอนด์ คอสเมติค จำกัด (มหาชน) กล่าวถึงการพัฒนาที่ยั่งยืน (sustainability) โดยบริษัทกำหนดจุดประสงค์ว่า “สร้างแนวทางการแก้ไขปัญหาสุขภาพที่วางใจได้ เพื่อสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดีของทุกคนอย่างยั่งยืน” พร้อมทั้งกำหนดค่านิยมองค์กรคำว่า SMILE โดยอักษรแต่ละตัวมีความหมายที่แตกต่างกัน ดังนี้

  • S – Social + Environment Responsibility มีความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม
  • M – Morality มีคุณธรรม ปฏิบัติตามกฎระเบียบ จริยธรรมและมาตรฐานต่างๆ
  • I – Inovation พัฒนานวัตกรรม
  • L – Loyalty รักษาความซื่อสัตย์และความปรารถนาดีต่อผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทุกภาคส่วน
  • E – Excellent Performance ปฏิบัติงานด้วยมาตรฐานสูงสุด

ภก.สมชัย กล่าวต่อว่า บริษัทยังให้ความสำคัญกับ ESG (Envieonment Social, Governance) เพื่อเสริมสร้างความแข็งแกร่งของบริษัท สามารถก้าวข้ามความท้าทาย และปัจจัยเสี่ยงในระยะยาว ตอบสนองต่อผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ส่งผลให้เกิดความรับผิดชอบในมิติดังกล่าวได้อย่างยั่งยืน

ภก.สมชัย พิสพหุธาร ประธานเจ้าหน้าที่สายบัญชีและการเงิน บริษัท บางกอกแล็ป แอนด์ คอสเมติค จำกัด (มหาชน) หรือ BLC

ในมิติสิ่งแวดล้อม (Environment) บริษัทมุ่งเน้นไปที่การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (Greenhouse Gas หรือ GHG) ซึ่งเป็นสาเหตุหลักของภาวะโลกร้อน จึงได้กำหนดนโยบายความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม ด้วยการใช้พลังงานทดแทนและเทคโนโลยีในกระบวนการผลิตและขนส่ง

วิธีการลดพลังงานที่ BLC ใช้คือการใช้พลังงานจากแสงอาทิตย์ หรือระบบโซลาร์เซลล์ (Solar Cell) ช่วยลดต้นทุนเครื่องจักรที่ใช้พลังงานจากกระแสไฟฟ้าสูง โดยนับตั้งแต่ติดโซลาร์ในช่วงปีที่ผ่านมา สามารถประหยัดค่าไฟฟ้าได้ 6,864,687 บาทต่อปี นอกจากนี้ยังมีการปรับปรุงระบบการขนส่งสินค้า (Logistic) โดยวางแผนการขนส่งใหม่ให้ไปในทางเดียวกัน ทั้งหมดทำให้ลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก 23.30 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าในปี 2564

แม้ในปี 2564-2565 บริษัทยังไม่ได้จัดให้มีการประเมินคาร์บอนฟุตพรินท์ขององค์กร (Carbon Footprint for Organization) และไม่ได้จัดทำรายงานการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เนื่องจากอยู่ระหว่างคัดเลือกผู้ทวนสอบการประเมินคาร์บอนฟุตพริ้นท์ที่ขึ้นทะเบียนกับองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) หรือ อบก. เพื่อแต่งตั้งเป็นผู้ทวนสอบรายงานการปล่อยก๊าซเรือนกระจกปี 2566 และจะเริ่มวางแผนประเมินคาร์บอนฟุตพรินท์อย่างจริงจังในปี 2566

ถัดมาที่การจัดการขยะ ของเสีย บำบัดนํ้าเสีย และมลพิษ โดยปี 2564 บริษัทมีปริมาณขยะจำนวน 166,350 กิโลกรัม แบ่งเป็นขยะทั่วไป 27,666 ขยะอุตสาหกรรม 18,694 ขยะรีไซเคิล 68,608 และขยะอันตราย 51,385 ซึ่งมีปริมาณลดลง 6,638 กิโลกรัมจากปีก่อนหน้า เนื่องจากการเลือกเครื่องจักรคุณภาพสูง เพื่อช่วยลดการผลิตของเสีย ตลอดจนมีการแยกขยะและสารพิษตามหลักวิชาการ

อย่างไรก็ตาม รายงานด้านความยั่งยืนของ BLC ระบุว่า ‘เครื่องจักรของบริษัทที่ใช้ในการผลิตไม่มีการปล่อยนํ้าเสีย’ แต่ในกระบวนการอื่นๆ ยังมีน้ำเสียอีกจำนวนหนึ่ง โดยบริษัทจะบำบัดแล้วนำกลับมาใช้ประโยชน์ใหม่ เช่น รดน้ำต้นไม้ ทำให้ในปี 2564 บริษัทมีปริมาณการใช้นํ้ารวม 47,974 ลูกบาศก์เมตร ลดลง 919 ลูกบาศก์เมตรเมื่อเทียบกับปีก่อน

มิติสังคม (Social) ประกอบด้วย 3 แนวทาง คือ (1) การประกอบกิจการด้วยความเป็นธรรม (2) การต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชัน และ (3) การเคารพสิทธิมนุษยชน และมีกลไกคุ้มครองและเยียวยา เปิดโอกาสให้พนักงาน ชุมชม และสังคม มีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็น และช่องทางในการร้องทุกข์

มิติการกำกับดูแลกิจการ (Governance) มุ่งเน้นไปที่การจัดทำนโยบายการกำกับดูแลกิจการที่ดีขึ้น ครอบคลุมเนื้อหาหลักการสำคัญตั้งแต่โครงสร้าง บทบาท หน้าที่ และความรับผิดชอบของคณะกรรมการบริษัท และหลักการในการบริหารอย่างโปร่งใส ชัดเจน และสามารถตรวจสอบได้ ตลอดจนแต่งตั้งคณะกรรมการชุดย่อย เพื่อทำหน้าที่ดูและระบบการตรวจสอบ การควบคุมภายใน การบริหารความเสี่ยง และการกำกับดูแลด้านบรรษัทภิบาลของบริษัท

ขยายตลาดต่างประเทศ และ CLMV

ภก.สมชัย กล่าวต่อว่า บริษัทวางกลยุทธ์สร้างการเติบโต โดยมุ่งเน้นพัฒนากลุ่มยาที่มีอัตราการเติบโตสูง มีความสามารถในการทำกำไรขั้นต่ำที่ 70% ใน 3-5 ปีแรกของการวางจำหน่าย โดยบริษัทฯ มีแผนการวางจำหน่ายยาสามัญใหม่อย่างต่อเนื่อง พร้อมเพิ่มยอดขายในช่องทางโรงพยาบาลทั้งรัฐและเอกชน รวมทั้งขยายตลาดสู่ต่างประเทศในตลาดประเทศจีน อินโดนีเซีย ฮ่องกง ตะวันออกกลาง และ CLMV เพื่อสร้างการเติบโตของรายได้ตามเป้าหมายที่วางเอาไว้

ทั้งนี้ ผลการดำเนินงานในช่วงไตรมาส 1/2566 บริษัทมีรายได้จากการขายและบริการ 337 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากงวดเดียวกันในปีก่อนหน้า 56.2 ล้านบาท คิดเป็นอัตราการเติบโตที่ 20% จากปัจจัยการทำการตลาดเชิงรุกอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งการจัดโปรโมชัน และการออกบูธแสดงสินค้า เพื่อสร้างการรับรู้ให้แก่ผลิตภัณฑ์ของบริษัท ขณะที่กำไรสุทธิอยู่ที่ 30.3 ล้านบาท คิดเป็นอัตรากำไรที่ 9% ซึ่งใกล้เคียงกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากค่าใช้จ่ายการนำบริษัทเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ ค่าใช้จ่ายพนักงานเพิ่มขึ้นและต้นทุนทางการเงินเพิ่มขึ้นจากการปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยนโยบาย และสิทธิประโยชน์ BOI หมดอายุในเดือนสิงหาคม 2565

ซีรี่ย์ BCG in Action สนับสนุนโดย