ThaiPublica > ประเด็นร้อน > BCG in Action > Krungthai COMPASS ชี้อนาคตธุรกิจไทยต้อง เคลื่อนด้วย “BCG Model”

Krungthai COMPASS ชี้อนาคตธุรกิจไทยต้อง เคลื่อนด้วย “BCG Model”

12 พฤษภาคม 2021


ศูนย์วิจัยกรุงไทย เปิดข้อมูล 151 บริษัทในไทยตอบรับแนวทาง Carbon Footprint มีเพียง 1,884 ผลิตภัณฑ์จดทะเบียนเพิ่มในปี 2563 ส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่มอาหาร-เครื่องดื่ม เสนอภาครัฐหนุนภาคธุรกิจไทยขับเคลื่อน BCG Model ดัน GDP ไทยเพิ่ม 1 ล้านล้านบาทและเพิ่มอัตราจ้างงานเป็น 20 ล้านคนภายในปี 2026

ดร.พชรพจน์ นันทรามาศ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ศูนย์วิจัย Krungthai COMPASS ธนาคารกรุงไทย กล่าวว่า ท่ามกลางสถานการณ์โควิด-19 ทำให้ภาคธุรกิจไทยต้องเผชิญกับความท้าทายในการสร้าง ‘Growth engine ตอบโจทย์ความยั่งยืน’ โดยเฉพาะการเคลื่อนสู่สังคมคาร์บอนต่ำ ตามแนวทาง BCG (Bio-Circular-Green) และเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goal: SDG) และข้อตกลงปารีส (Paris Agreement) ขององค์การสหประชาชาติ

ดร.พชรพจน์กล่าวต่อว่า การสร้างความยั่งยืนให้ภาคธุรกิจจะมีผลต่อการดำเนินงานในอนาคตตัวอย่างเช่นธุรกิจส่งออกอาจเผชิญความท้าทายจากมาตรการปรับคาร์บอนก่อนเข้าพรมแดนในปี 2566 ของยุโรปขณะที่ผู้ผลิตชิ้นส่วนรถยนต์และอุตสาหกรรมพลังงานอาจได้รับผลกระทบจากการมุ่งใช้พลังงานสะอาดและรถยนต์ไฟฟ้าของสหรัฐฯ จีนและยุโรป

ดร.พชรพจน์กล่าวอีกว่า“ธุรกิจไทยต้องติดตามทิศทางการเปลี่ยนแปลงและบริบทใหม่ของโลกในเรื่องสิ่งแวดล้อมรวมถึงตื่นตัวมากขึ้นกับการเตรียมพร้อมอาทิการขึ้นทะเบียนและได้รับฉลาก Carbon Footprint ทั้งในระดับผลิตภัณฑ์และระดับองค์กรเพื่อรับรู้สถานะเป็นไปตามเกณฑ์สินค้าที่ได้รับการยอมรับในตลาดโลกและต่อยอดสู่การดำเนินโครงการลดและซื้อขายคาร์บอนได้”

ข้อมูลจากองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) หรืออบก. ระบุว่าปี 2563 ธุรกิจในประเทศไทยได้ขอรับรอง Carbon Footprint และยังอยู่ในอายุสัญญาเพียง 1,884 ผลิตภัณฑ์ หรือ 151 บริษัท จากภาพรวมตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน 4,603 ผลิตภัณฑ์ และ 664 บริษัท โดยสัดส่วนของธุรกิจที่ขอการรับรอง แบ่งเป็น 56% ธุรกิจอาหารและเครื่องดื่ม, 8% ธุรกิจปิโตรเลี่ยมปิโตรเคมีและเคมีภัณฑ์, 8% ก่อสร้าง, 7% หัตถกรรมและเครื่องประดับ, 5% พลาสติกและบรรจุภัณฑ์, 4% ผลิตและจำหน่ายไฟฟ้าและอย่างละ 1% ได้แก่ภาคบริการยานยนต์ยางพาราสิ่งทอและไม้

นายณัฐพร ศรีทอง นักวิเคราะห์ กล่าวว่า ภาคธุรกิจควรขับเคลื่อนด้วยโมเดล BCG Economy ภายใต้ ‘การสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับธุรกิจ’ อีกทั้งสามารถแก้ข้อจำกัดกำแพงทางการค้าจากประเด็นด้านสิ่งแวดล้อมเช่นมาตรการ Carbon Border Adjustment Mechanism ของยุโรป

นายณัฐพรกล่าวถึงเป้าหมายของ BCG Economy ว่าจะช่วยเพิ่ม GDP ไทยอีก 1 ล้านล้านบาทภายใน 5 ปีข้างหน้า จากปี 2018 จีดีพีไทยอยู่ที่ราว 3.4 ล้านล้านบาทเป็น 4.4 ล้านบาทภายในปี 2026 ขณะที่การจ้างแรงงานในระบบก็จะเพิ่มขึ้นจาก 16.5 ล้านคนในปี 2018 เป็น 20 ล้านคนในปี 2026

หลายอุตสาหกรรมสามารถนำโมเดลนี้ไปประยุกต์ใช้ได้เช่นภาคเกษตรและอาหารอาจเปลี่ยนไปผลิตอาหารที่ทำมาจากพืชเป็นหลัก (Plant-based Food) และอาหารฟังก์ชั่น (Functional Food) ส่วนธุรกิจพลังงานวัสดุและเคมีภัณฑ์สามารถยกระดับสู่พลังงานหมุนเวียนอาทิไฟฟ้าจากชีวมวลตลอดจนก้าวสู่ผลิตภัณฑ์ชีวภาพเช่นเม็ดพลาสติกหมุนเวียนและบรรจุภัณฑ์ที่ผลิตจากขยะพลาสติก

นายณัฐพรกล่าวถึงความสำเร็จของ BCG Model จากต่างประเทศไม่ว่าจะเป็นบริษัท Novamont ซึ่งมีนวัตกรรมผลิต Bio-based chemical จากน้ำตาลได้, บริษัท Bioterm นำรำข้าวสาลีมาผลิตภาชนะใส่อาหารช้อนและส้อมที่ใช้แล้วทิ้งหรือ Mint Innovation ที่สามารถสร้างวัสดุโลหะที่มีมูลค่าสูงจากขยะอิเล็กทรอนิกส์ (e-waste)

นอกจากนี้ นายณัฐพรยังกล่าวถึง 2 ปัจจัยหลักที่ทำให้ BCG Model ในต่างประเทศประสบความสำเร็จเนื่องมาจาก (1) ผู้ประกอบการเน้นการวิจัยและพัฒนา (R&D) และประยุกต์ใช้เทคโนโลยี (Knowledge and Technology) (2) การสร้างพันธมิตรที่เกื้อหนุนกันใน Ecosystem (Collaboration and Partnership) ส่วนปัจจัยอื่นๆไม่ว่าจะเป็นธุรกิจสามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนที่เหมาะสมได้และธุรกิจได้รับการรับรองผ่านการจดลิขสิทธิ์หรือสิทธิบัตร


ด้าน ดร.ชัยสิทธิ์ อนุชิตวรวงศ์ นักวิเคราะห์ กล่าวว่า ปัจจุบันภาคธุรกิจไทยสามารถใช้ประโยชน์จากกลไกหน่วยงานของรัฐเช่น 2 โครงการจากอบก. ได้แก่

  • โครงการลดก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจ (T-VER) ซึ่งผู้ประกอบการจะได้รับคาร์บอนเครดิตและสามารถนำไปใช้ชดเชยระดับการปล่อยก๊าซเรือนกระจกขององค์กรหรือผลิตภัณฑ์ให้ลดลงสร้างรายได้จากการขายคาร์บอนเครดิตและแสดงในรายงานความยั่งยืนเพื่อสร้างความเชื่อมั่นต่อนักลงทุน โดยโครงการจะเน้นไปยังธุรกิจที่ใช้พลังงานหมุนเวียน การจัดการในภาคขนส่ง ฟื้นฟูป่า รวมถึงการเกษตรเพื่อลดก๊าซเรือนกระจก
  • โครงการนำร่องระบบการซื้อขายใบอนุญาตปล่อยก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจ (Thailand V-ETS) ที่จะช่วยให้ผู้ประกอบการได้เรียนรู้และเข้าใจระบบการซื้อขายใบอนุญาตปล่อยก๊าซเรือนกระจกซึ่งเป็นรูปแบบที่เริ่มนิยมใช้กันอย่างแพร่หลายในต่างประเทศเช่นยุโรปเกาหลีใต้และจีนที่จะเริ่มอย่างเป็นทางการในช่วงกลางปี 2564 ซึ่งปัจจุบันประเทศไทยอยู่ในขั้นตอนเตรียมความพร้อมพัฒนากฎระเบียบและรูปแบบการซื้อขายสิทธิ