ThaiPublica > ประเด็นร้อน > COVID-19 พลิกโลก > ‘ฟ้าทะลายโจร’ ราคาพุ่ง 2-3 เท่าตัว หวั่นวัตถุดิบขาดตลาด

‘ฟ้าทะลายโจร’ ราคาพุ่ง 2-3 เท่าตัว หวั่นวัตถุดิบขาดตลาด

15 กรกฎาคม 2021


ต้นฟ้าทะลายโจร

ผลพวงจากการระบาดระลอก 3 ตั้งแต่เดือนเมษายน 2564 ทำให้ ‘ฟ้าทะลายโจร’ เป็นหนทางรักษาหลักที่ประชาชนเข้าถึงได้ง่ายที่สุด รวมทั้งเมื่อมีผลการศึกษารองรับว่าสรรพคุณของฟ้าทะลายโจรมีส่วนช่วยยับยั้งและบรรเทาความรุนแรงของการติดเชื้อโควิด-19 ได้ ทำให้เป็นที่ต้องการในตลาดมากขึ้นจนมีแนวโน้มว่าสินค้าจะ ‘ขาดตลาด’

ในประเทศมีแหล่งผลิตที่ใหญ่ที่สุดคือจังหวัดนครปฐม ส่วนจังหวัดอื่นๆ ได้แก่ ลำปาง นครสวรรค์ ชลบุรี ปราจีนบุรี ราชบุรี เพชรบุรี ฯลฯ แต่ทั้งนี้ในประเทศไทยจะมีเกษตรกรที่ปลูกฟ้าทะลายโจรไม่มากนักเนื่องจากข้อจำกัดด้านเมล็ดพันธุ์ที่หายาก การเก็บเกี่ยวที่ใช้เวลาอย่างน้อย 3-4 เดือน หนึ่งปีอาจปลูกและเก็บเกี่ยวได้มากที่สุด 2-3 ครั้ง รวมถึงเป็นสินค้าที่ขาดการวิจัยและพัฒนา เพิ่มมูลค่าได้ยาก เกษตรกรส่วนใหญ่จึงหันไปเพาะปลูกพืชหรือสมุนไพรชนิดอื่น

ในสถานการณ์โควิด-19 ทำให้เกษตรกรหันมาปลูกฟ้าทะลายโจรมากขึ้น แม้จะไม่มีรายงานตัวเลขการเพาะปลูกที่เพิ่มขึ้น แต่เมื่อมีความต้องการสูงราคาขายเพิ่มขึ้น ประกอบกับการขึ้นทะเบียนฟ้าทะลายโจรเป็นบัญชียาหลักแห่งชาติ ใช้ในการรักษาผู้ป่วยโควิด-19 และจำกัดให้ใช้ชนิดยาสารสกัดและรูปแบบผงใช้ได้โดยผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมเท่านั้น ปัจจัยเหล่านี้ทำให้ฟ้าทะลายโจรเป็นที่ต้องการของตลาดมากขึ้น ขณะที่เกษตรกรจำนวนมากพยายามขยายพื้นที่เพาะปลูกเพื่อป้อนเข้าตลาด

การกินยาฟ้าทะลายโจรกรณีที่เริ่มมีอาการติดเชื้อโควิด-19 ติดต่อกัน 5 วัน

กรมส่งเสริมการเกษตร กระทรวงเกษตรฯ รายงานราคาขายของฟ้าทะลายโจรตั้งแต่ปี 2561 จนถึงช่วงก่อนสถานการณ์โควิด-19 ดังนี้

  • ฟ้าทะลายโจรแห้ง (เฉพาะใบ) ราคาเฉลี่ย 200 บาทต่อกิโลกรัม
  • ฟ้าทะลายโจรแห้ง (ใบและก้าน) ราคาเฉลี่ย 120 บาทต่อกิโลกรัม
  • ฟ้าทะลายโจรผง (จากใบอย่างเดียว) ราคาเฉลี่ย 220 บาทต่อกิโลกรัม
  • ฟ้าทะลายโจรผง (จากใบและก้าน) ราคาเฉลี่ย 140 บาทต่อกิโลกรัม

ข้อมูลจากกรมส่งเสริมการเกษตร  ระบุว่า ต้นทุนเฉลี่ยของฟ้าทะลายโจรอยู่ที่ 9,520 บาทต่อไร่ แบ่งเป็นต้นทุนผันแปร 85% เช่น ค่าแรงงานและค่าวัสดุ และต้นทุนคงที่ เช่น ค่าเช่าที่ดิน ค่าเสื่อมอุปกรณ์การเกษตรอีก 15% และผลตอบแทนประมาณ 2,860 บาทต่อไร่

นายสมศักดิ์ มากด่านกลาง ตัวแทนจากกลุ่มสมุนไพรชีววิถีบ้านคลองปลากั้ง อ.วังน้ำเขียว จ.นครราชสีมา ให้ข้อมูลว่า เครือข่ายกลุ่มบ้านคลองปลากั้งมีพื้นที่ปลูกฟ้าทะลายโจรทั้งหมด 2 ไร่ ผลผลิตเป็นผงประมาณ 500 – 600 กิโลกรัม ขายได้ราคาประมาณ 150 บาทต่อกิโลกรัม

แต่ในสถานการณ์โควิด-19 ทำให้ราคาพุ่งขึ้นไป 2 เท่าตัว หรือเฉลี่ย 300 – 350 บาท

นายสมศักดิ์ กล่าวต่อว่าเนื่องจากมีข้อจำกัดเรื่องพื้นที่เพาะปลูก ทำให้ไม่สามารถเพาะปลูกได้มากขึ้น ประกอบกับปัญหาหลักของฟ้าทะลายโจรคือ ‘เมล็ดพันธุ์’ เพราะมี ‘จำกัด’ และ ‘หายาก’ ซึ่งทำให้เกษตรกรหน้าใหม่ไม่สามารถปลูกได้ ด้วยเหตุนี้ผลผลิตของฟ้าทะลายโจรในตลาดจึงไม่สามารถเพิ่มขึ้นจากเดิมได้

ด้านนายสมชาย ลาวัณย์วิสุทธิ์ กลุ่มสมุนไพรกำแพงแสน กล่าวว่า ในเครือข่ายมีเกษตรกรที่จดทะเบียนเข้าร่วมประมาณ 20 ราย และเกษตรกรที่ไม่จดทะเบียนรวมแล้วกว่า 100 ราย มีผลผลิตรวมทั้งสิ้น 100 ตันต่อปี โดยในปี 2563 สถานการณ์โควิด-19 ทำให้เกษตรกรปรับเป้าหมายและเพิ่มพื้นที่การปลูกให้ได้ 150 ตันต่อปี เพื่อให้เพียงต่อความต้องการของตลาด

นายสมชาย ให้ข้อมูลว่าตนเป็นฟาร์มขนาดใหญ่ ขายในตลาด 2 ระดับคือ ตลาดระดับบน จำพวกโรงงานและองค์การเภสัชกรรม โดยระดับบนใช้เวลาเก็บเกี่ยวประมาณ 100 วัน (3 เดือนครึ่ง) กับตลาดระดับล่างใช้เวลาเก็บเกี่ยว 150 วัน (5 เดือน) ส่งขายในตลาดจักรวรรดิ ซึ่งเป็นตลาดกลางสมุนไพร และขายให้ฟาร์มที่ใช้ฟ้าทะลายโจรเป็นส่วนประกอบอาหารให้สัตว์

“ตลาดใช้สำหรับสัตว์ ผมขายประมาณ 100 ตันต่อปี แต่พอโควิดมา ความต้องการฟ้าทะลายโจรมีปริมาณเพิ่มขึ้นมหาศาล ราคาแพงขึ้น สัตว์ต้องถูกระงับการใช้ เราต้องแจ้งฟาร์มสัตว์ว่าราคามันสูงมาก เพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัว ฟาร์มต้องปรับแผนการใช้ อาจจะไปใช้บอระเพ็ดแทน” นายสมชายกล่าว

แต่ในสถานการณ์แพร่ระบาดที่รุนแรงขึ้น นายสมชายกล่าวเพิ่มเติมว่า ชาวบ้านต่างจังหวัดจะแตกตื่นเพราะมีข่าวว่ารัฐบาลจัดการกับโควิด-19 ไม่ได้ อีกทั้งเมื่อติดแล้วผู้ป่วยจะถูก “ปล่อยให้ตายคาบ้าน” ทำให้ประชาชนต้องกักตุนแคปซูลฟ้าทะลายโจร ขณะเดียวกันฟ้าทะลายโจรที่ส่งออกจากฟาร์มก็จะถูกนำไปให้ผู้ป่วยสีเขียวเป็นหลัก ทั้งยังมีการกันของจากโรงงานขนาดใหญ่ ร้านค้าขนาดเล็กหรือโชห่วยจึงไม่มีฟ้าทะลายโจรจำหน่าย

“ในท้องตลาดยิ่งหนัก กลไกปกติมันไม่มา ถามว่าจะโกลาหลอีกนานเท่าไร คงต้องเป็นเดือนๆ หรือจนกว่าจะหาทางแก้ไขหรือผู้บริโภคหาอะไรมาชดเชยได้ ในช่วงนี้มีความต้องการสูงถึง 350 ตันต่อเดือน แต่ในเดือนกรกฎาคม 2564 จะมีฟ้าทะลายโจรจากจากไร่ทั่วประเทศมีเพียง 20 ตัน” นายสมชายกล่าว

อย่างไรก็ตาม นายสมชายมองว่าในอนาคตประเทศจะยิ่งประสบปัญหาเรื่อง ‘เมล็ดพันธุ์’ เพราะเกษตรกรจะสำรองเมล็ดพันธุ์สำหรับการเพาะปลูกภายใน แต่จะไม่มีจำหน่ายให้คนภายนอก ขณะที่ภาครัฐยังไม่ได้มีกลไกช่วยเหลือเกี่ยวกับฟ้าทะลายโจรอย่างเป็นรูปธรรม

“ถ้าภาครัฐเขามาช่วยแจกเมล็ดพันธุ์ฟ้าทะลายโจร ผมจะรับ แต่จะขอส่องความงอกของเมล็ดก่อน ไม่ใช่เอามาแล้วปลูกไม่ขึ้น ผมรู้ว่าเมล็ดฟ้าทะลายโจรมีอัตราการงอกที่ต่ำ เสื่อมคุณภาพเร็วมาก แล้วผมจำได้ว่าภาครัฐเคยเอาเมล็ดพันธุ์ถั่วฝักยาวมาให้ถึงบ้าน ผมก็เอาไปปลูกรอบๆ พื้นที่ 9 ไร่ที่ปลูกฟ้าทะลายโจร ปรากฎว่ามันยาวคืบเดียว ของแจกเอาของไม่ดีมาให้ ขายไม่ได้แม้แต่บาทเดียว เคยเอาข้าวโพดมาแจกก็กินไม่ได้ แข็งอย่างกับหัวหมา” นายสมชายกล่าว

นายสมชายกล่าวย้ำว่าหากภาครัฐจะสนับสนุนเกษตรกรจะต้องทำแบบมีคุณภาพ ไม่ใช่เอาเมล็ดพันธุ์คุณภาพไม่ดีมาให้ เพราะการปลูกพืชมีต้นทุน เมื่อขายไม่ได้เท่ากับทำลายต้นทุนชีวิตเกษตรกรทั้งหมด

ส่วนข้อมูลจากกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กระทรวงสาธารณสุข รายงานสถิติการใช้สมุนไพร ‘ฟ้าทะลายโจร’ ระบุว่าในช่วงก่อนไวรัสโควิด-19 แพร่ระบาด มีการสั่งจ่ายฟ้าทะลายโจรให้กับสถานพยาบาลในสังกัดกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก 116,008 แคปซูลต่อปี ซึ่งระบุว่าราคา 2 บาท/แคปซูล

จากการสอบถามบริษัทผู้ผลิตฟ้าทะลายโจรในแบบสารสกัด ซึ่งมีสารแอนโดรกราโฟไลด์ 20 mg/แคปซูล จำนวน 45 แคปซูล จากราคา 130 บาท ขณะนี้ราคาปรับขึ้นไปเป็น 180 บาท หรือราคา 4 บาท/แคปซูล

ล่าสุดเว็บไซต์กองการแพทย์ทางเลือก ได้เผยแพร่บทความ ข้อควรรู้เกี่ยวกับการใช้ “สารแอนโดรกราโฟไลด์” ในผลิตภัณฑ์ ” ฟ้าทะลายโจร”เพื่อ “การรักษาโควิด-19”(คลิกอ่านรายละเอียด)