จากความพยายามของคนในแวดวงการแพทย์ที่ผลักดันให้ปลดล็อกกัญชาเพื่อการแพทย์ เสนอให้มี “การแพทย์แคนนาบินอยด์และกัญชาการแพทย์” โดยเชื่อมั่นว่าไทยสามารถทำเรื่องนี้ได้ เนื่องจากกัญชาเป็นพืชพื้นถิ่นของอาเซี่ยนที่มีหลากหลายสายพันธุ์และมีนักวิจัยที่ศึกษากัญชาเพื่อการแพทย์จำนวนหนึ่ง รวมทั้งประเทศไทยมีหน่วยงานกลางอย่าง “กองพัฒนายาแผนไทยและสมุนไพร” ที่มีเครื่องมือที่ทันสมัยสามารถสะกัดสารสมุนไพรต่างๆมานาน 15 ปี จึงไม่ใช่การเริ่มนับหนึ่งใหม่ในเรื่องนี้ ประเทศไทยสามารถที่จะพัฒนาต่อยอดได้ทันที
ปัจจุบันมีผู้ป่วยของไทยที่ใช้สารสกัดจากกัญชาเป็นยารักษาโรคนำเข้าในราคาแพง ผู้ป่วยบางรายจ่ายสัปดาห์ละหลักแสนบาท ส่วนที่ผลิตในไทยมีการซื้อสัปดาห์หรือเดือนละ 3-4 หมื่นบาท แต่ต้องเสี่ยงกับคุณภาพที่ได้มา และไม่รู้ว่ามีสารปนเปื้อนหรือไม่ ต้องพิจารณาผลดีผลเสียกันเอาเอง เนื่องจากยังไม่มีงานวิจัยรองรับเป็นทางการ
พญ.อรพรรณ์ เมธาดิลกกุล นายกสมาคมแพทย์อาชีวเวชศาสตร์และสิ่งแวดล้อมแห่งประเทศไทย หนึ่งในแพทย์ที่สนใจและให้การผู้สนับสนุนปลดล็อกกัญชาเพื่อการแพทย์ รวมทั้งเป็นผู้จัดอบรม “การแพทย์แคนนาบินอยด์และกัญชาการแพทย์” มองว่ากัญชาเป็นพืชที่มีคุณค่าทางยาและสามารถเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจ สามารถจะพลิกประเทศไทยได้ และจะทำให้ประเทศไทยเป็นเมดิคัลฮับที่มีคุณภาพ เพราะเรามียาจากกัญชาที่มีคุณภาพและควบคุมจริงๆ แต่เราต้องรีบตัดสินใจ
สำหรับ “กองพัฒนายาแผนไทยและสมุนไพร” เป็นหน่วยงานภายใต้กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กระทรวงสาธารณสุข ที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญในการทำงานวิจัยพัฒนายาแผนไทยสมัยใหม่และผลิตสารสกัดจากสมุนไพรให้มีคุณภาพมาตรฐานมาเป็นเวลานานถึง 15 ปีแล้ว นับแต่ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2549
ปัจจุบันหน่วยงานนี้มีผู้เชี่ยวชาญ เช่น แพทย์แผนไทย เภสัชกร นักวิจัย รวมทั้งทีมงานที่ปรึกษาเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน ตั้งแต่ระดับอาจารย์อาวุโสไปจนถึงคนรุ่นใหม่ นั่งสุมหัวทำงานอย่างเอาจริงเอาจังอยู่ที่อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย คลองหลวง จังหวัดปทุมธานี ซึ่งเป็นทั้งออฟฟิศ โรงงาน และห้องแล็บวิเคราะห์วิจัย
ที่นี่มีเทคโนโลยี เครื่องมือ เครื่องจักรที่ทันสมัย พร้อมสำหรับการพัฒนาผลิตภัณฑ์สมุนไพร หนึ่งในนั้นคือเครื่อง Supercritical Fluid Extraction หรือเครื่องสกัดสมุนไพรด้วยคาร์บอนไดออกไซด์ ที่ต่างประเทศให้การยอมรับว่าเป็นเทคโนโลยีที่ดีที่สุดในการสกัดน้ำมันพืชกัญชา ที่กำลังเป็นกระแสข่าวอยู่ในประเทศไทยขณะนี้ด้วย
กว่า 10 ปีที่ผ่านมา กองพัฒนายาแผนไทยและสมุนไพรได้ร่วมมือทำงานกับภาครัฐทำเรื่องมาตรฐานคุณภาพวัตถุดิบสมุนไพรและมาตรฐานสารสกัดให้เป็นมาตรฐานแห่งชาติ นอกจากนี้ ยังเป็นที่ปรึกษาให้กับบริษัทเอกชนหลายแห่งในการพัฒนาคุณภาพผลิตภัณฑ์สมุนไพร ให้ผู้ประกอบการสามารถนำไปต่อยอดในเชิงพาณิชย์ทั้งในและต่างประเทศ สามารถแปรรูปจากสารสกัดสมุนไพร ไปต่อยอดทำเป็นอาหารเสริม เครื่องสำอาง ยารักษาโรค ตอบโจทย์ “อุตสาหกรรมสารสกัด” ตามแผนแม่บทแห่งชาติว่าด้วยการพัฒนาสมุนไพรไทย (2560-2564) ของรัฐบาล โดยทุกวันจันทร์ “กองพัฒนายาแผนไทยและสมุนไพร” เปิดโอกาสให้เอกชนเข้ามาปรึกษาการพัฒนาผลิตภัณฑ์กับผู้เชี่ยวชาญโดยตรง
15 ปี “แลปกลาง” พัฒนามาตรฐานสารสกัดสมุนไพร
ภก.สมนึก สุชัยธนาวนิช ผู้อำนวยการกองพัฒนายาแผนไทยและสมุนไพร เล่าให้ทีมข่าวไทยพับลิก้าฟังว่า กองพัฒนายาแผนไทยและสมุนไพรถูกตั้งขึ้นเมื่อ 15 ปีที่แล้ว ภายใต้นโยบายรัฐบาลเพื่อให้เป็นไพลอตสเกลสำหรับ “อุตสาหกรรมสมุนไพร” เพราะมองว่าการจะทำให้ธุรกิจสมุนไพรมีคุณภาพมาตรฐาน จำเป็นต้องมีหน่วยงานนำร่องสร้างงานวิจัยสมุนไพรไปสู่การต่อยอดเชิงเศรษฐกิจได้
ในช่วงเริ่มตั้งหน่วยงาน มีคนทำงานประจำน้อยมาก ต้องจ้างงานภายนอกเป็นรายบุคคลมาช่วยทำวิจัยสารสกัด ต้องขอแรงผู้เชี่ยวชาญอาวุโสที่มีความรู้เรื่องนี้จริงๆ มาช่วยกันทำงานเป็นปรึกษาประมาณ 4-5 คน แต่ต่อมาเริ่มมีคนเห็นความสำคัญบรรจุเภสัชกรและแพทย์แผนไทยเข้ามาช่วยกันพัฒนางานด้านนี้เพิ่มมากขึ้น
“ช่วงแรกไม่มีเภสัชกรมาทำงานที่นี่เลย มีผมคนเดียว จ้างเหมาปริญญาโทวิทยาศาสตร์เป็นรายบุคคลมาทำวิจัยเรื่องสารสกัด ด้วยนโยบายห้ามขยายตำแหน่งราชการ คนมาอยู่ที่นี่จึงเป็นลูกจ้างทั้งหมด เด็กปริญญาโท ปริญญาเอก จ้างได้ปีสองปี รายได้เท่าเดิมเขาก็ไม่อยู่ ออกไปทำงานเอกชน ก็วนเวียนอยู่อย่างนี้ประมาณ 5 ปีแรก แต่ระยะหลังมีคนเริ่มเห็นความสำคัญ จึงเริ่มบรรจุเภสัชกรเข้ามาทำงานในระบบราชการประมาณ 5-6 ตำแหน่ง แพทย์แผนไทยอีก 5-6 ตำแหน่ง”
ภก.สมนึกเล่าว่า ช่วงทำงานใหม่ๆ คนทำงานยังงงกับเรื่องการสกัดว่าจะต้องทำอะไรบ้าง ต้องสกัดด้วยอะไร คุมมาตรฐานแบบไหน แต่หลังจากการเรียนรู้และศึกษาบ่อยๆ บวกกับลองทำงานจริง ทำให้มีประสบการณ์และมีผู้รู้ด้านนี้โดยตรงกว้างขวางขึ้น จนสามารถทำงานให้กับหลายหน่วยงานของภาครัฐและเอกชนมาอย่างต่อเนื่อง
“ตอนที่เรามาทำใหม่ๆ ก็งงกับเรื่องการสกัดว่าจะสกัดด้วยอะไร จะคุมมาตรฐานยังไง แต่จากการเรียนรู้ ศึกษาบ่อยๆ บวกกับลองทำจริง รวมทั้งเรียนรู้จากมาตรฐานต่างประเทศ ตัวผมเองก็ได้มีโอกาสเขียนมาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชนโอทอปกว่า 20 ผลิตภัณฑ์ เพราะตอนนั้นไม่มีนักวิชาการกล้ารับปากเขียน ผมเขียนโดยใช้ผู้เชี่ยวชาญมาช่วยกันทำ ในที่สุดเราก็มีประสบการณ์ในเรื่องนี้และมีผู้รู้กว้างขวางขึ้น”
“อุตสาหกรรมสารสกัด”อนาคตของชาติ
ภก.สมนึกกล่าวว่า ที่ผ่านมากองพัฒนายาแผนไทยได้ร่วมกับหน่วยงานในกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ทำเรื่อง “มาตรฐานคุณภาพวัตถุดิบสมุนไพร” โดยเป็นมาตรฐานแบบสมัครใจที่ผ่านมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) มีเป้าหมายทำมาตรฐานวัตถุดิบสมุนไพรให้ได้ประมาณ 30 ชนิด โดยแยกมาตรฐานเป็นรายกลุ่ม เช่น มาตรฐานพืชหัว พืชราก พืชใช้ใบ พืชใช้ดอก ขณะนี้กลุ่มรากกับหัวทำเสร็จแล้ว เหลือแต่ใบกับดอก
นอกจากนี้ยังอาสาทำมาตรฐานสารสกัดให้กับสำนักงานมาตรฐานอุตสาหกรรม (สมอ.) โดยทำในเบื้องต้นจำนวน 5 ชนิด ตามผลิตภัณฑ์สมุนไพรแชมเปี้ยน คือ ไพล บัวบก ขมิ้น ฟ้าทะลายโจร และกระชายดำ ซึ่งหลังจากที่ทำได้ รัฐบาลและภาคอุตสาหกรรมเห็นว่า “อุตสาหกรรมสารสกัด” คือหนึ่งในอนาคตของชาติ เพราะหากไม่เริ่มจากอุตสาหกรรมสารสกัด ก็จะส่งเสริมการปลูกสมุนไพรในปริมาณมากไม่ได้
ต่อมาหลังจากมีการประกาศ “แผนแม่บทแห่งชาติว่าด้วยการพัฒนาสมุนไพรไทย” ปี 2560-2564 ทางกองฯ มีภารกิจไปดูวัตถุดิบตั้งแต่ต้นน้ำกับระบบอุตสาหกรรมที่จะไปต่อยอดแผนแม่บทสมุนไพรที่ระบุว่าต้องพัฒนาอุตสาหกรรมสารสกัดให้มีมาตรฐานจำนวน 50 ชนิดให้ได้ภายใน 5 ปี ซึ่งเป็นโจทย์ท้าทายที่ใหญ่มากสำหรับเรา
ขณะเดียวกัน กองฯ ยังร่วมมือกับกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมทำมาตรฐาน “การเก็บสมุนไพรในป่าชุมชนอย่างยั่งยืน” ไปดูว่าเก็บอย่างไรไม่หมดไป ยังมีใช้ชั่วลูกชั่วหลาน โดยมีกฎเกณฑ์ว่า “เก็บ 1 ต้น ปลูก 100 ต้น” รวมทั้งยังจับมือกับการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยและบริษัทเอกชน สร้างแหล่งท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ทั่วภูมิภาค ผ่านเรื่องราวด้านสมุนไพรในแต่ละชุมชน
“ปัจจุบันเทรนด์อุตสาหกรรมสมุนไพรทำได้เยอะมาก เพียงแต่อุปสงค์กับอุปทานต้องไปด้วยกัน ยกตัวอย่างเช่น ผมอยากจะทำน้ำผึ้งกฤษณา แต่มันหายาก และมีจำนวนจำกัดต่อปี ขายดีเพราะจีนต้องการมาก จะเพิ่มขึ้นอีกสิบเท่า ร้อยเท่า ในปีต่อๆ ไปจะทำยังไง โดยได้คุณภาพเหมือนเดิม มีเรื่องราวของภูมิปัญญาเป็นจุดขาย และประเทศอื่นเลียนแบบไม่ได้ ผมคิดว่าวันนี้ว่าเรามาถูกทางแล้ว เราต้องโตมาทางนี้ แต่มันติดขัดว่าประเทศเรายังไม่โฟกัส เรากำหนดนโยบายก็จริง แต่ยังไม่ค่อยได้ทำตามนโยบายด้วยเพราะติดเงื่อนไขต่างๆ เช่น เงื่อนไขด้านงบประมาณ เป็นต้น”
ถ้าเปรียบเทียบกับจีนพอประกาศเป็นนโยบาย เขาทำจริง รัฐบาลลงมาเล่นด้วย สร้างโครงสร้างพื้นฐานใหญ่ๆ อย่างที่มาเก๊า จีนบอกว่าเขาจะเปลี่ยนมาเก๊าจากเมืองคาสิโนให้เป็นเมืองเทคโนโลยีทางด้านการแพทย์แผนดั้งเดิม แล้วเขาก็เปลี่ยนเลย ทำพื้นที่ประมาณ 8 หมื่นไร่ เป็นเมืองเทคโนโลยีด้านการแพทย์ดั้งเดิม ใครอยากทำเรื่องสมุนไพร เรื่องการแพทย์ดั้งเดิม มาทำที่นี่ มีให้คำปรึกษาทุกตึก ทั้งด้านการจัดการวัตถุดิบ การแปรรูป การใช้เทคโนโลยีในการสกัด การทำผลิตภัณฑ์ การวิจัยฯลฯ
ภก.สมนึกบอกด้วยว่า กองฯ ยังคงทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษาให้กับบริษัทเอกชนในการพัฒนาคุณภาพผลิตภัณฑ์แบบครบวงจร ตั้งแต่การเตรียมผลิตภัณฑ์ ตรวจรับรองคุณภาพวัตถุดิบ ดีลโรงงานสำหรับผลิต ส่งผู้เชี่ยวชาญเข้าไปเซ็ตแล็บ เซ็ตเครื่องมือ
“ทั้งหมดนี้ทำให้เรารู้จักคนเยอะมากตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ ปลายน้ำ แต่เราเป็นคนทำวัตถุดิบต้นน้ำ ไม่ได้ทำผลิตภัณฑ์สำเร็จรูป แต่ทำสารสกัดที่มีมาตรฐาน ออกมาตรฐานให้เอกชน ในอนาคตถ้ามีเอกชนทำได้แบบเรา เป็นที่ปรึกษาได้อย่างเรา เราก็จะปล่อยวาง เพราะสิ่งที่เรามองคือส่วนขาด ประเทศเราขาดอะไรก็ใส่เข้าไป ตอนนี้ที่ใส่เต็มๆ ก็คือ “อุตสาหกรรมสารสกัด” ต้องเกิดด้วยเอกชน ไม่ใช่ของรัฐ”
พร้อมกล่าวย้ำว่า “ต้องกระตุ้นให้เอกชนทำโรงงานสารสกัดของคนไทยขึ้นมาเพื่อแข่งกับตลาดโลก พอมีสารสกัดมันจะได้ปลูกเป็นพันๆ ไร่ได้ ส่วนอะไรที่เรายังไม่พร้อมในเชิงโครงสร้าง รัฐควรจะต้องสนับสนุน อุตสาหกรรมสารสกัดจะต้องเกิด แล็บกลางจะต้องเกิด”
สมุนไพรไทย ยังย่ำเท้าอยู่กับที่
ภก.สมนึกกล่าวด้วยว่า ทุกวันนี้บริษัทเอกชนที่กองฯ เข้าไปช่วยพัฒนาสินค้า ได้ผลิตสินค้าสมุนไพรออกขายทั้งในไทยและต่างประเทศ ซึ่งค่อนข้างขายดีทั้งกลุ่มเครื่องสำอาง กลุ่มอาหารเสริม หรือผลิตภัณฑ์ยา โดยเฉพาะกลุ่มผลิตภัณฑ์อาหารเสริมที่มีสารสกัดสมุนไพร ซึ่งมีแนวโน้มเติบโตที่ดีในอนาคตโดยเฉพาะในตลาดเมืองจีนที่ชอบผลิตภัณฑ์สมุนไพรไทยเป็นอย่างมาก
ปัจจุบันบริษัทโฆษณาในจีนสั่งซื้อสินค้าที่มีผลิตภัณฑ์มาตรฐานสมุนไพรไทย 7 ชนิดไปขายผ่านระบบออนไลน์ โดยสั่งซื้อลอตแรกประมาณหนึ่งหมื่นชุด มูลค่าประมาณ 10 ล้านบาท ส่วนใหญ่เป็นผลิตภัณฑ์ลดความอ้วนที่มีสารสกัดจากแมงลัก ส้มแขก หรือน้ำผึ้ง และเร็วๆ นี้บริษัทเอกชนไทยยังเตรียมไปเปิดตลาดที่เวียดนาม ซึ่งปัจจุบันมูลค่าอาหารเสริมและเครื่องสำอางเติบโตเพิ่มขึ้นถึง 300%
อย่างไรก็ดี ภก.สมนึกเห็นว่า ประเทศไทยทำเรื่องสมุนไพรมาประมาณ 30-40 ปี แต่ยังย่ำเท้าอยู่กับที่ ยังไม่ขยับไปสู่อุตสาหกรรมสารสกัด ผลิตภัณฑ์สมุนไพรที่ออกมาจำหน่ายยังไม่ได้มาจากสารสกัดเป็นส่วนประกอบ ยังทำแบบดั้งเดิม เนื่องจากมีข้อจำกัดอยู่พอสมควร ทั้งการขาดงบประมาณสนับสนุนอย่างต่อเนื่อง การเปลี่ยนผู้บริหารในหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอยู่ตลอดเวลา รวมทั้งเรื่องการทำงานแบบบูรณาการของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
“การจะทำเรื่องพวกนี้ได้จำเป็นต้องมีการสนับสนุนทั้งด้านงบประมาณ คน และเครื่องมืออย่างต่อเนื่อง และต้องทำแบบจริงจัง ถ้าเงินไม่มี คนไม่มี ของไม่มี ก็ทำอะไรมากไม่ค่อยได้ ที่ผ่านมากองฯ ได้งบประมาณค่อนข้างจำกัดในการทำมาตรฐานสารสกัด ทั้งที่เป็นนโยบายของรัฐบาล”
ภก.สมนึกอธิบายว่า ในการทำสารสกัดหนึ่งตัวต้องเริ่มจากการนำผู้รู้ที่รู้ดีที่สุดทั้งภาครัฐ ภาคอุตสาหกรรม ภาคเอกชน รวมทั้งฝ่ายวิจัย มานั่งสุมหัวกันทำ โดยรีวิวมาตรฐานจากต่างประเทศ เช่น ถ้าจะทำสารสกัดกระเทียม จะต้องรู้ว่ามาตรฐานสารสกัดกระเทียมโลกมันเป็นยังไง มีกี่มาตรฐาน
หลังจากนั้นนำมาตรฐานนานาชาติมานั่งดูว่าประเทศไทยจะใช้มาตรฐานสากลตัวไหน แล้วถึงนำมาทดลองใช้ ยกตัวอย่างเช่น กระเทียมไทยกับจีนนั้นต่างกันอย่างลิบลับ กระเทียมจีนหัวใหญ่ กระเทียมไทยหัวเล็ก สารสำคัญก็แตกต่างกัน ราคาของจีนก็ถูกกว่ามากถ้าเทียบต่อกิโลกรัม ขณะที่ของไทยแพงกว่าหลายเท่า
พร้อมยกตัวอย่างว่า ก่อนหนานี้เกษตรกรไทยขนกระเทียมมาทิ้งที่หน้ารัฐสภา เพราะไทยนำเข้ากระเทียมจำนวนมาก ซึ่งเป็นโจทย์ว่าหากเราไม่พัฒนาคุณภาพสินค้าไทย แล้วใครจะรู้ว่ากระเทียมไทยดีกว่าของจีนอย่างไร ซึ่งเรื่องเหล่านี้ยังไม่มีหน่วยงานไหนดูแล
“หากเราปล่อยปละละเลยไปเรื่อยๆ ก็จะเสร็จพวกที่ค่าแรงต่ำกว่าเรา เราต้องมาดูว่าคุณค่าที่เป็นจุดขายของสมุนไพรไทยมันอยู่ตรงไหน แต่ตรงนี้ยังไม่มีหน่วยงานไหนดูแล อย่างเช่น บัวบกที่ตอนนี้ก็เป็นปัญหายุ่งยากพอสมควร เพราะปัจจุบันเครื่องสำอางใหญ่ๆ ใช้สารสกัดบัวบกทั้งหมดเลยในการลดการแพ้สารเคมีในเครื่องสำอาง หรือกระตุ้นให้เกิดการเต่งตึง”
ภก.สมนึกกล่าวต่อว่า”แต่ทุกวันนี้มาตรฐานของสารสกัดที่ใช้เป็นอาหารเสริมก็เป็นมาตรฐานหนึ่ง เครื่องสำอางก็มาตรฐานหนึ่ง ยาก็เป็นมาตรฐานหนึ่ง แต่ประเทศไทยในส่วนบัวบกมีแค่มาตรฐานยาอย่างเดียว ซึ่งผมกำลังอธิบายว่าข้อมูลเชิงลึกแบบนี้ประเทศไทยยังไม่ค่อยมีใครเล่นหรือลงมาสัมผัสข้อมูลเรื่องพวกนี้ แต่ในส่วนของเราก็ทำหน้าที่ศึกษาและทำมาตรฐานต่อไป”
ต้องสุมหัว “บูรณาการ” จริงๆ
ภก.สมนึกชี้ว่า ประเด็นสำคัญที่ประเทศไทยจะต้องพัฒนาคือมองให้ออกว่าจะทำงานบูรณาการกันอย่างไร จะระดมความร่วมมือระหว่างผู้เชี่ยวชาญแบบไหน ซึ่งขณะนี้ยังไม่มี ยกตัวอย่างกองฯ ไม่ได้ใช้คนของเราทำงานเองทั้งหมด มีนักวิจัยจากหน่วยงานวิจัยที่อยู่ในอุทยานวิทยาศาสตร์เข้ามาช่วยทำงาน เพราะมีเครื่องจักรที่ทันสมัย เครื่องมือแล็บที่ดีมาก แต่ทำอย่างไรที่จะมาโฟกัส เข้าใจวิธีการจัดการ แล้วมาทำงานร่วมกัน นำคนที่มีความรู้มานั่งสุมหัวกันทำงาน
“เราทำสารสกัดตัวหนึ่งต้องระดมผู้เชี่ยวชาญว่าที่สุดของพระเอกแต่ละเรื่องคือใคร แล้วมาสุมหัวกัน มาอ่านมาตรฐาน เอาวัตถุดิบของเรามาวิเคราะห์ว่ามันเป็นไปตามาตรฐานโลกมั้ย ถ้าเปลี่ยนจะต้องเปลี่ยนยังไง จะใช้สกัดวิธีอะไร จะคุมคุณภาพแบบไหน สารสกัดจะเอาไปทำเป็นเครื่องสำอางหรืออาหารเสริม จะต้องใช้อัตราส่วนเท่าไหร่ แต่เราไม่เคยคิดว่าจะต้องเอาคนนั้นคนนี้ที่เก่งที่สุดมาอยู่กับเรานะ ไม่ใช่ เราใช้การทำงานที่เป็นบูรณาการ ทำงานเป็นเครือข่าย แล้วยืมมือคนเก่งๆ มาช่วยกันทำงานเพื่อประเทศชาติ เราไม่ได้คิดว่าจะต้องมีคนที่ดีที่สุดอยู่กับเรา คนอยู่ตรงไหนก็ได้ ถ้าทำงานเรื่องนี้เราจะเชิญเขามาเป็นคนทำงานร่วมกัน ทุกวันจันทร์เราจะเปิดโอกาสให้เอกชนเข้ามาพบ มาพูดคุยปรึกษาการพัฒนาผลิตภัณฑ์ต่างๆ” ภก.สมนึกกล่าว
พร้อมเป็นโรงงานกลางผลิตกัญชาเพื่อการแพทย์
ภก.สมนึกกล่าวเพิ่มเติมว่า หลังจากรัฐบาลมีนโยบายวิจัยและพัฒนากัญชาเพื่อการแพทย์ ทางกองฯ ได้เสนอโครงการและงบประมาณสำหรับจัดตั้งโรงงานต้นแบบการผลิตและพัฒนาสารสกัดกัญชาทางการแพทย์ มีการติดตั้งโทรทัศน์วงจรปิด ทำระบบสต็อก รวมทั้งทำคิวอาร์โค้ดเพื่อให้รู้ว่าแหล่งปลูกมาจากที่ไหน ได้สารสกัดเท่าไหร่ นำสารสกัดไปให้ผู้ป่วยรายไหน เพื่อให้ติดตามทั้งระบบได้
ทั้งนี้ ทางกองฯ มีเครื่อง Supercritical Fluid Extraction หรือเครื่องสกัดสมุนไพรด้วยคาร์บอนไดออกไซด์ ที่ต่างประเทศให้การยอมรับว่าเป็นเทคโนโลยีที่ดีที่สุดในการสกัดน้ำมันพืชกัญชา สามารถสกัดได้ผลผลิตสูง ต้นทุนการสกัดราคาถูก ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม ไม่เป็นพิษต่อร่างกาย
“เราของบฯ ไปว่าเราขอเป็นโรงงานกลาง เพราะเรามีเทคโนโลยีอยู่แล้ว สามารถสกัดน้ำมันกัญชาให้ได้ ใครก็ได้ที่เข้าช่องถูกระเบียบราชการ เช่น ขอใบอนุญาตสํานักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) หรือผ่านงานวิจัยแล้ว เราจะเป็นผู้สกัดให้ ควบคุมคุณภาพให้ ส่วนปลายทางจะไปทำอะไรก็แล้วแต่เห็นสมควร”
“ยกตัวอย่างกรมการแพทย์ฯ จะไปศึกษาวิจัยเรื่องกัญชาที่มีผลต่อระบบโรคทางสมองกี่โรค ก็บอกมาว่าจะใช้สารสกัดกัญชา THC (Tetrahydrocannabinol) หรือ CBD (Cannabidiol) เท่าไหร่ บอกมาเราทำให้ แต่ต้องผ่านกฎเกณฑ์ของ อย. ผ่านกฎเกณฑ์คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) ผ่านกฎหมายใหม่ที่รัฐบาลกำลังจะออก”
นอกจากนี้ กองฯ ยังเตรียมวิจัยด้านกัญชารักษาโรคในเบื้องต้น 2 สูตร คือ “สุขไสยาสน์” กับ “น้ำมันสนั่นไตรภพ” โดยสุขไสยาสน์นั้นเป็นยาตำรับ มีสมุนไพรประมาณ 12 ตัว มีกัญชาอยู่ในนั้น 1 ตัว ใช้ใบกัญชาแห้งเป็นยาตำรับ ช่วยให้นอนหลับสบาย ส่วนสูตรน้ำมันสนั่นไตรภพ ใช้ใบและช่อดอกสด ต้องเตรียมสดๆ แล้วมาเข้าเข้ายาตำรับ รักษาอาการท้องมาน หรือมะเร็งตับ
อย่างไรก็ตาม หากกรมการแพทย์ฯ จะนำสูตรดังกล่าวไปขยายผลต่อ ก็อาจจะต้องไปคิดว่ายาที่ช่วยให้ผู้ป่วยหลับสบาย ลดอาการปวด กินข้าวได้ มันเหมาะกับผู้ป่วยกลุ่มไหน เพื่อเก็บเป็นกรณีศึกษา หรือศูนย์มะเร็งทั่วประเทศก็ต้องมานั่งคุยกันว่ากรณีมะเร็งตับจะใช้ในกรณีไหนในการทดลอง เพื่อให้ตอบโจทย์ใช้ดูแลสุขภาพผู้ป่วยกลุ่มนี้ได้
“ในเบื้องต้นเราเสนอโครงการเป็นการวิจัยครบวงจร แต่ยังไม่ได้งบประมาณ ถ้าได้งบประมาณมาก็ทำ ถ้าไม่ได้ก็คงไม่เสียหายอะไร ถ้าเห็นว่าควรจะทำเราก็ทำ เพราะเรามีเครื่องสกัดพร้อม แต่การที่รัฐบาลให้องค์การเภสัชกรรมทำนั้นถูกต้องแล้ว แต่ไม่จำเป็นว่าจะต้องทำคนเดียว ใครก็ได้ที่มีช่องทาง ก็ควรจะเปิดให้เขามาร่วมทำด้วย”