ThaiPublica > เกาะกระแส > SCG ชู “ความยืดหยุ่น” ทำตัวให้เบาที่สุดทั้ง “ราคา-ต้นทุน-กำลังการผลิต” ฝ่าวิกฤติโลก

SCG ชู “ความยืดหยุ่น” ทำตัวให้เบาที่สุดทั้ง “ราคา-ต้นทุน-กำลังการผลิต” ฝ่าวิกฤติโลก

10 มีนาคม 2022


รุ่งโรจน์ รังสิโยภาส กรรมการผู้จัดการใหญ่ เอสซีจี

“รุ่งโรจน์ รังสิโยภาส” ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชน ในหัวข้อ “SCG Business Direction 2022 พร้อมกลยุทธ์ปรับตัวบนความท้าทายของวิกฤติโลก” ถึงผลกระทบจากสถานการณ์สงครามรัสเซีย-ยูเครน และโควิด-19 มอง ‘ความยืดหยุ่น’ รับมือกับความไม่แน่นอน ชี้วิกฤติ ทำให้ transform องค์กรให้เร็วขึ้น กรีนขึ้น

นายรุ่งโรจน์ รังสิโยภาส กรรมการผู้จัดการใหญ่ เอสซีจี เปิดเผยว่า ความท้าทายของเอสซีจีในช่วงต้นปี 2565 ท่ามกลางวิกฤติและความไม่แน่นอนจากสถานการณ์โลกมี 4 ประเด็น ได้แก่ (1) วิกฤติโควิด-19 ที่ยังไม่สิ้นสุดลง (2) สถานการณ์โลกร้อน (Climate Changes) (3) ดอกเบี้ยทั่วโลกที่ปรับตัวสูงขึ้น และ (4) สถานการณ์สงครามยูเครน-รัสเซีย ส่งผลกระทบถึงต้นทุนสินค้าและพลังงาน ซึ่งเป็นวัตถุดิบหลักในกระบวนการผลิตของเอสซีจี

“ความท้าทายหนึ่งคือบทลงโทษ (Sanction) ในรัสเซียจากกลุ่มประเทศอียู สหรัฐอเมริกาและประเทศอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นการแทรกแซงราคาสินค้า หรือตัวบุคคลในรัสเซีย ด้านหนึ่งทำให้ต้นทุนพลังงานสูงขึ้น ขณะเดียวกัน รัสเซียในฐานะผู้ส่งออกน้ำมันอันดับสองของโลก และส่งออกปริมาณถึง 1 ใน 4 ของความต้องการในกลุ่มประเทศอียู ก็มีผลกระทบต่อเศรษฐกิจมาก ผลที่ตามมาคือภาวะเงินเฟ้อ”

อีกประเด็นคือ ‘เศรษฐกิจและความต้องการจับจ่ายใช้สอยทั่วโลก’ (Demand) โดยนายรุ่งโรจน์ ขยายความว่า คนทั่วโลกกังวลว่าเงินเฟ้อในลักษณะนี้ไม่ใช่เฉพาะความต้องการสินค้าที่เพิ่มขึ้นเท่านั้น เพราะย้อนกลับไปในช่วงโควิด-19 คนก็มีความต้องการมากขึ้น เพราะต้องอยู่ในบ้านและไม่ได้ออกไปจับจ่ายใช้สอย เมื่อเหตุการณ์โควิด-19 จบลงทำให้ความต้องการสินค้ามากกว่าสถานการณ์ปกติ ส่งผลให้สินค้าราคาแพง และขาดแคลนในเวลาต่อมา

อย่างไรก็ตาม ประเด็นที่นายรุ่งโรจน์มองว่าท้าทายที่สุดยังเป็นเรื่อง ‘พลังงาน’ ซึ่งมีผลทั้งระดับประเทศ ภาคการส่งออกและธุรกิจ ไม่ว่าจะเป็นก๊าซธรรมชาติ น้ำมัน หรือถ่านหิน

นายรุ่งโรจน์ กล่าวต่อว่า ราคาน้ำมันเฉลี่ยเมื่อปี 2564 อยู่ที่ 60 เหรียญต่อบาร์เรล คิดเป็นค่าใช้จ่าย 5% ของจีดีพี แต่ราคาปัจจุบันประมาณ 130 เหรียญต่อบาร์เรล ส่งผลให้เป็นสัดส่วนมากกว่า 10% ของจีดีพี

“หลายธุรกิจยังไม่ฟื้นตัวดี เหมือนคนไม่หายป่วยและต้องออกแรงใหม่ ทำให้มีความรุนแรงมาก แถมเจอปัญหาโควิด-19 และพอเจอความท้าทายใหม่เหมือนเคราะห์ซ้ำกรรมซัด เราอาจจะควบคุมลำบาก ไม่ได้อย่างที่ตั้งใจไว้”

นายรุ่งโรจน์ ให้ข้อมูลว่า ธุรกิจหลักของ SCG คือ ‘เคมีภัณฑ์’ โดยมียอดขายเกือบครึ่งหนึ่งของรายได้รวม และกำไรประมาณ 60% ของกำไรทั้งหมด แต่ธุรกิจเคมีภัณฑ์ของ SCG ใช้วัตถุดิบหลักคือน้ำมันและพลังงานเป็นสัดส่วน 75-80% เมื่อราคาขึ้นจากต้นปี 2565 ซึ่งอยู่ที่ 75 เหรียญต่อบาร์เรล เป็น 130 เหรียญต่อบาร์​เรลในเดือนมีนาคม 2565

แม้นายรุ่งโรจน์ บอกว่ายอดขายไปยูเครนและรัสเซียของ SCG จะคิดเป็น 1-2% ของยอดขายทั้งหมด แต่เอสซีจียังคงได้รับผลกระทบ โดยเฉพาะจากราคาน้ำมันที่สูงขึ้น

ถัดมาคือกลุ่มธุรกิจซีเมนต์และผลิตภัณฑ์ก่อสร้าง ใช้ต้นทุนจากพลังงาน 15-20% ของต้นทุนทั้งหมด

ส่วนกลุ่มธุรกิจแพคเกจจิ้ง นับว่าได้รับผลกระทบน้อยที่สุด เพราะใช้ต้นทุนพลังงานเพียง 5% ของต้นทุนทั้งหมด

“ในแวดวงการเงินการลงทุนมีสมมติฐานภาพตอนจบของสงครามยูเครน-รัสเซีย ว่าราคาน้ำมันอาจอยู่ตั้งแต่ 100 ถึง 200 เหรียญต่อบาร์เรล หรืออาจสูงถึง 300 เหรียญต่อบาร์เรล”

“แต่ต้องบอกว่าเรายังยิ้มได้ เพราะเพิ่งผ่านวิกฤติมา ถึงจะไม่แข็งแรงมากนัก แต่เรารู้วิธีการรับมือวิกฤติที่เราไม่เคยเจอมาก่อน ชีวิตผมไม่เคยเจอวิกฤติแบบนี้มาก่อน แต่เรารู้ว่าต้องทำอย่างไรบ้าง…คล้ายๆ ว่าทำการบ้านมาแล้วเพิ่งผ่านข้อสอบใหญ่ พอมาเจออีกสอบก็ยังไม่ลืมตำราที่ได้ดูไป ผมว่ายังพอสู้ได้”

นายรุ่งโรจน์ กล่าวถึงแผนธุรกิจระยะสั้นว่า สิ่งสำคัญที่สุดคือ ‘การบริหารจัดการความเสี่ยง’ ว่าทำอย่างไรให้มีความมั่นใจว่าธุรกิจสามารถเดินไปได้ ไม่ว่าต้นทุนพลังงานหรือการดูแลซัพพลายเชน (Supply Chain) รวมถึงการควบคุมต้นทุนทางการเงิน เนื่องจากธุรกิจจะอยู่รอดได้หรือไม่เพราะกระแสเงินสด หนี้ที่ควบคุมได้ และดอกเบี้ยในระดับที่เหมาะสม

นายรุ่งโรจน์ กล่าวต่อว่า “ภาวะหนักหน่วงให้สามารถปรับตัวได้ง่าย ไม่ว่าสินค้าต้นทุน พลังงาน ราคาสินค้าต้องปรับตามราคาตลาด และเตรียมพร้อมรองรับตลาด”

ส่วนในระยะยาว นายรุ่งโรจน์มองว่า ต้องประเมินสถานการณ์เฉพาะหน้าว่าอะไรคือเรื่องสำคัญ โดยยกตัวอย่างโครงการเกี่ยวกับเคมิคอลที่บริษัทลงทุนในเวียดนามยังต้องดำเนินการต่อให้ครบ 100% และยังคงเดินหน้าธุรกิจในตลาดฝั่งเอเชียซึ่งเป็นตลาดใหญ่ของบริษัท ตลอดจนการปรับกระบวนการผลิต การบริหารจัดการโครงการก่อสร้างต่างๆ ให้สอดรับกับเป้าหมาย Net Zero และแนวทาง ESG (Environment, Social, Governance) โดยเน้นไปที่การหันไปใช้พลังงานทางเลือกมากขึ้น

นายรุ่งโรจน์ กล่าวต่อว่า ในระยะยาวบริษัทต้องดูแลคู่ค้า ซัพพลายเชน และ stakeholder ทั้งหมด เพราะธุรกิจสามารถไปต่อได้เพราะกลุ่มคนเหล่านี้ ตลอดจนบริษัทต้องยืดหยัดการดูแลชุมชนและสังคม ไม่ว่าจะเป็นการอัพสกิล-รีสกิล หรือการช่วยเหลือในด้านต่างๆ

“สถานการณ์ยูเครนรัสเซียอาจเป็นตัวเร่งให้เรา transform องค์กรให้เร็วขึ้น กรีนขึ้น และคล่องตัวยืดหยุ่นกว่าเดิม มันเป็นสิ่งที่เราสามารถรับมือได้“

อย่างไรก็ดี มีคำถามว่าจากราคาพลังงานที่ปรับตัวสูงขึ้น จะส่งผลให้เอสซีจีปรับราคาสินค้าเพิ่มขึ้นหรือไม่ โดยนายรุ่งโรจน์ตอบว่า “ราคาสินค้าของเอสซีจีเป็นไปตามกลไกตลาด ที่เห็นส่วนใหญ่ต้นทุนปรับขึ้นไปมาก ราคาก็ต้องปรับบางส่วน แต่ส่วนของ ‘กำไร’ จะได้รับผลกระทบตรงๆ แต่ยังไม่สามารถบอกตัวเลขได้ตอนนี้”

ดังนั้นยอดขายที่เอสซีจีเคยตั้งเป้าการเติบโตที่ 10% เมื่อเทียบกับปี 2564 อาจจะปรับตัวลง เพราะสถานการณ์ปัจจุบันเต็มไปด้วยความไม่แน่นอนสูง

“ผมใช้สองคำคือ Dynamic Pricing คือปรับตัวตามกลไกตลาด และสองคือ Dynamic Production คือผลิตเท่าที่จำเป็นและเท่าที่ขายออกได้ เพราะเราไม่รู้ว่าเมื่อไรที่สถานการณ์คลี่คลาย ดังนั้นเราต้องทำให้ตัวเบาที่สุดทั้งเรื่องราคา ต้นทุน และกำลังการผลิต สามเรื่องนี้ต้องสามารถปรับตัวได้ตลอดเวลา เพื่อเป็นกลยุทธ์การปรับตัวของธุรกิจได้ทันท่วงที”