ThaiPublica > สู่อาเซียน > ASEAN Roundup ASEAN QR Code แพลตฟอร์มชำระเงินดิจิทัลอาเซียนเริ่มก.ย.นี้

ASEAN Roundup ASEAN QR Code แพลตฟอร์มชำระเงินดิจิทัลอาเซียนเริ่มก.ย.นี้

30 กรกฎาคม 2023


ASEAN Roundup ประจำวันที่ 23-29 กรกฎาคม 2566

  • Asean QR Code แพลตฟอร์มชำระเงินดิจิทัลอาเซียนเริ่มก.ย.นี้
  • ลาวเตรียมเชื่อม QR Code กับ เวียดนาม ไทย กัมพูชาไตรมาส 4
  • ลาวเล็งปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำพนักงานเอกชน
  • MAS ประกาศยกเลิกใช้เช็คบริษัทสิ้นปี 2568
  • นายกฯอันวาร์ดันมาเลเซียจุดหมายการลงทุนชั้นนำ
  • เมียนมาตั้งเป้า GDP โต 4% ในปีงบ 2566-2567
  • กรุงศรี ปั้นพอร์ตสินเชื่อเพื่อรายย่อยในฟิลิปปินส์
  • Asean QR code แพลตฟอร์มชำระเงินดิจิทัลอาเซียนเริ่มก.ย.นี้

    ที่มาภาพ: https://www.khmertimeskh.com/501332512/asean-qr-code-likely-by-september/

    ASEAN QR Code ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มร่วมกันสำหรับบริการชำระเงินดิจิทัลของทุกประเทศในอาเซียน มีแนวโน้มที่จะเป็นจริงภายในเดือนกันยายนนี้ จากการผลักดันให้มีการดำเนินการเชื่อมโยงระบบในช่วงสองสามเดือนที่ผ่านมา

    นายอาชาด ราชิด ประธานสภาที่ปรึกษาธุรกิจอาเซียน (ASEAN-BAC) ระบุว่า ระบบการชำระเงินผ่าน QR code ในรูปแบบเดียวกันภายในภูมิภาคอาเซียน หรือเรียกว่า Universal QR code สำหรับภูมิภาคนี้ไม่ใช่ความฝันอีกต่อไป

    “ในความเป็นจริง QR code ดิจิทัล จะใช้ได้กับทุกประเทศสมาชิกอาเซียนภายในเดือนกันยายนนี้” นายอาชาด ราชิด กล่าวกับสำนักข่าว Antara ของอินโดนีเซีย

    นายอาชาดกล่าวว่า Universal QR code เป็นวาระของผู้นำอาเซียนที่ร่วมกับตัวแทนของ Asean-BAC และทุกประเทศในภูมิภาคได้ตกลงที่จะเชื่อมโยงบริการชำระเงิน QR code ของตนเองให้เป็นรูปแบบเดียวกัน

    การเชื่อมโยง QR code ให้เป็นรูปแบบเดียวกันจะช่วยให้ผู้ที่เดินทางจากประเทศอาเซียนสามารถชำระเงินแบบดิจิทัลในประเทศสมาชิกอื่นของอาเซียนได้ โดยใช้ QR code ของประเทศตนเอง ตัวอย่างเช่น ชาวกัมพูชาที่ไปเยือนประเทศในภูมิภาคจะสามารถชำระเงินโดยใช้ KHQR ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มการชำระเงินดิจิทัลของประเทศได้

    เมื่อเร็วๆนี้กัมพูชาและไทยเปิดตัวระบบชำระเงินด้วย QR ข้ามพรมแดนระยะที่สอง เพื่อส่งเสริมการใช้สกุลเงินท้องถิ่น การเข้าถึงบริการทางการเงิน การค้าและการท่องเที่ยวข้ามพรมแดน

    การเชื่อมโยงระบบการชำระเงินเข้าด้วยกันจะช่วยหนุนการโอนเงินข้ามพรมแดน

    สำนักข่าวเวียดนามรายงานเมื่อเดือนที่แล้วว่าธนาคารแห่งชาติกัมพูชา (NBC) กำลังเตรียมลงนามข้อตกลงกับธนาคารกลางเวียดนามและธนาคารกลางสปป.ลาว เพื่อส่งเสริมการใช้สกุลเงินเรียลของกัมพูชาในกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ซึ่งจะช่วยให้ผู้บริโภคสามารถใช้เงินเรียลเพื่อซื้อสินค้า/บริการในประเทศอื่น ๆ ผ่าน QR code ที่เชื่อมโยงกับบัญชีในประเทศของตน

    จากข้อมูลของ Asean-BAC นอกจากไทยและกัมพูชาแล้ว QR code ระหว่างประเทศในอาเซียน เช่น อินโดนีเซียกับมาเลเซีย อินโดนีเซียกับไทย สิงคโปร์กับมาเลเซีย และสิงคโปร์กับไทยก็เชื่อมต่อกันด้วย และระบบ QR code ระหว่างประเทศอื่นๆ ในอาเซียนจะเชื่อมโยงกันเสร็จเรียบร้อยในเร็วๆ นี้

  • ASEAN Roundup 5 ประเทศอาเซียนเชื่อมการชำระเงินด้วย QR Code เต็มรูปแบบปีหน้า
  • ไทย อินโดนีเซีย เริ่มใช้จริงชำระเงินด้วย QR Code ระหว่างประเทศ ผู้ให้บริการร่วม 76 ราย
  • ระบบการชำระเงินข้ามพรมแดนระหว่าง 5 ประเทศในกลุ่มอาเซียน ได้แก่ ไทย สิงคโปร์ มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ และอินโดนีเซียจะเชื่อมโยงกันอย่างเต็มรูปแบบในปีหน้า

    เมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา ระหว่างการเยือนกัมพูชา Arsjad ได้พบกับเจ้าหน้าที่ระดับสูงในรัฐบาลและธนาคารกลางกัมพูชาเพื่อขอให้สนับสนุนการเชื่อมโยง QR code อย่างรวดเร็ว ซึ่งได้รับการสนับสนุนแนวคิดนี้อย่างมาก

    ระบบ ASEAN QR code เป็นการทำงานร่วมกันโดยตรง ของธนาคารกลางในภูมิภาค ค่าธรรมเนียมและอัตราแลกเปลี่ยนกำหนดได้โดยข้อตกลงร่วมกันระหว่างธนาคารกลางด้วยกันเอง ทำให้การทำธุรกรรมมีประสิทธิภาพมากขึ้นและมีค่าใช้จ่ายน้อยลง

    นายอาชาดกล่าวว่า ข้อตกลง QR code รูปแบบเดียว สะท้อนให้เห็นถึงการผลักดันของภูมิภาคไปสู่การเป็นศูนย์กลางของอาเซียน

  • ไทย-มาเลเซียเปิดชำระเงินระหว่างประเทศผ่าน QR Code
  • เวียดนาม-ไทย เปิดชำระเงินระหว่างประเทศผ่าน QR Code
  • ข้อได้เปรียบหลักประการหนึ่งของระบบการชำระเงินระดับภูมิภาคนี้คือความสามารถในการปกป้องประเทศสมาชิกอาเซียนจากความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยน เนื่องจากธุรกรรมดำเนินการในสกุลเงินท้องถิ่น การชำระบัญชีจึงไม่ได้รับผลกระทบจากความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยนเงินดอลลาร์สหรัฐ

    นอกจากนี้ ยังเป็นโอกาสให้ธุรกิจขนาดย่อม ขนาดเล็ก และขนาดกลาง (MSMEs) สามารถเข้าถึงตลาดนอกประเทศได้

    นายอาชาดกล่าวว่า วิธีการชำระเงินด้วย QR เป็นที่ต้องการอย่างมากเ นื่องจากทำให้การทำธุรกรรมง่ายขึ้น และช่วยลดต้นทุนการทำธุรกรรมข้ามพรมแดน อีกทั้งยังมีความสะดวก รวดเร็ว และปลอดภัยสำหรับประเทศในภูมิภาคอาเซียน

    ด้วยการใช้ระบบ QR code แบบเดียวกัน ประเทศในอาเซียนมีเป้าหมายเพื่อส่งเสริมการทำงานร่วมกันและอำนวยความสะดวกในการทำธุรกรรมข้ามพรมแดน ซึ่งช่วยขจัดการใช้แพลตฟอร์มการชำระเงินที่หลากหลาย และเพิ่มประสิทธิภาพของการทำธุรกรรมทางการเงินทั้งหมด ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อธุรกิจ ผู้บริโภค และระบบนิเวศทั้งหมด

    “การทำงานร่วมกัน เราสามารถขับเคลื่อนภูมิภาคอาเซียนไปสู่อนาคตของการทำธุรกรรมที่ราบรื่นและรวดเร็ว การเติบโตทางเศรษฐกิจโดยรวม และการบูรณาการทางการเงินที่ดีขึ้นผ่านการแปลงระบบนิเวศทางการเงินให้เป็นดิจิทัล” นายอาชาดกล่าว

    ด้วยระบบการทำธุรกรรม QR code นักท่องเที่ยวอาเซียนสามารถซื้อสินค้าในประเทศสมาชิกอื่น ๆ ได้อย่างง่ายดายโดยไม่ต้องกังวลเกี่ยวกับการแปลงสกุลเงินหรือความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยน ซึ่งจะกระตุ้นการเติบโตของภาคการท่องเที่ยวและการค้าในอาเซียนโดยรวม

    ลาวเตรียมเชื่อม QR Code กับ เวียดนาม ไทย กัมพูชาไตรมาส 4

    ที่มาภาพ: https://www.vientianetimes.org.la/sub-new/Previous_143_y23/freeContent/FreeConten_143_Laoto_y23.php
    ลาวจะเริ่มใช้ QR code ในการทำธุรกรรมกับประเทศเพื่อนบ้านเพื่ออำนวยความสะดวกในการโอนเงินและชำระเงินของแรงงานและนักท่องเที่ยวในประเทศเหล่านี้ ผู้ว่าการธนาคารแห่ง สปป.ลาว กล่าว

    “เราจะนำร่องการใช้การชำระเงินด้วย QR code กับ เวียดนาม ไทย และกัมพูชาในไตรมาสที่สี่ [ของปีนี้]” ดร. บุนเหลือ สินไซวอละวง กล่าวในการประชุมสมัยสามัญครั้งที่ 5 ของสมัชชาแห่งชาติ

    ผู้ว่าการธนาคารกลางให้ข้อมูลเพื่อตอบคำถามจากฝ่ายนิติบัญญัติว่า มีช่องทางที่มีประสิทธิภาพในการเปิดให้แรงงานลาวในประเทศอื่นส่งเงินกลับบ้านที่ลาวหรือไม่

    ปัจจุบันมีชาวลาว 303,391 คนไปทำงานในต่างประเทศ ในจำนวนนี้ 100,230 คนสมัครงานอย่างถูกกฎหมายและย้ายไปยังประเทศอื่น ขณะที่ 203,161 คนไปประเทศเพื่อนบ้านโดยไม่มีใบอนุญาตทำงานโดยหวังว่าจะได้งานทำ

    แรงงานข้ามชาติส่งเงินประมาณ 426 ล้านเหรียญสหรัฐกลับมายังลาวในแต่ละปี ซึ่งมีส่วนสำคัญต่อเศรษฐกิจของประเทศและรายได้จากเงินตราต่างประเทศ

    เมื่อระบบการชำระเงินด้วย QR เปิดใช้แล้ว จะทำให้ชาวลาวในประเทศอื่นสามารถโอนเงินผ่านระบบธนาคารได้ และประหยัดค่าบริการ อีกทั้งยังหลีกเลี่ยงความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นจากการใช้ระบบอื่น

    ในปัจจุบัน แรงงานข้ามชาติส่งเงินกลับบ้านผ่านช่องทางที่ไม่ได้รับการควบคุม รวมทั้งขอให้เพื่อนร่วมงานนำเงินติดตัวไปด้วยเมื่อกลับประเทศลาว ซึ่งมีการเรียกเก็บค่าธรรมเนียม

    “ด้วยระบบ QR code เราจะแก้ไขปัญหานี้และประหยัดเงินให้กับคนงาน เราสามารถตรวจสอบ [ธุรกรรม] ผ่านระบบธนาคารได้ด้วย” ดร. บุนเหลือกล่าว

    ผู้ว่าการ ธนาคารกลางกล่าวว่า ธนาคารกลางของประเทศที่เกี่ยวข้องกำลังทำงานร่วมกับธนาคารพาณิชย์เพื่อเชื่อมโยงระบบการทำธุรกรรม

    “ประเด็นทางเทคนิคได้รับการแก้ไขเรียบร้อยแล้ว เราจะประเมินข้อดีและข้อเสีย [ของระบบ] ซึ่งคิดว่าเราจะนำร่องโครงการในไตรมาสที่สี่” เมื่อใช้งานแล้ว ระบบ QR จะช่วยให้สามารถชำระเงินแบบไร้เงินสดได้ และยังทำให้ชีวิตนักท่องเที่ยวที่เดินทางในประเทศเหล่านี้ง่ายขึ้นอีกด้วย

    “นักท่องเที่ยวชาวไทยและชาวเวียดนามเพียงแค่สแกน QR code เพื่อชำระเงินที่ลาว และเงินจะหมุนเวียนในระบบธนาคาร” ดร.บุนเหลือ กล่าว

    โครงการที่จะเริ่มขึ้นนี้ เป็นส่วนหนึ่งของความพยายามของลาวในการปรับปรุงบริการสำหรับนักท่องเที่ยวอย่างครอบคลุม เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวต่างชาติให้มากขึ้น ซึ่งเป็นตัวสร้างรายได้และเงินตราต่างประเทศที่สำคัญ

    ในปี 2561 และ 2562 ก่อนเกิดการระบาดใหญ่ของโควิด-19 การท่องเที่ยวสร้างรายได้ให้ลาวเฉลี่ย 900 ถึง 1 พันล้านเหรียญสหรัฐต่อปี

    “เราจำเป็นต้องฟื้นฟูการท่องเที่ยวให้ทัน” ผู้ว่าการธนาคารกล่าว และ หากลาวสามารถดึงดูดนักท่องเที่ยวต่างชาติได้อย่างน้อย 4 ล้านคนในแต่ละปี รายได้จากเงินตราต่างประเทศของประเทศก็จะฟื้นตัว

    ลาวเล็งปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำพนักงานเอกชน

    นายสอนไซ สีพันดอน นายกรัฐมนตรีสปป.ลาว ที่มาภาพ:https://www.vientianetimes.org.la/sub-new/Previous_27_y23/freeContent/FreeConten27_govtpledges_y23.php
    รัฐบาลได้ตกลงในหลักการที่จะให้เงินค่าครองชีพแก่ข้าราชการที่มีค่าจ้างต่ำและปรับเพิ่มค่าจ้างขั้นต่ำสำหรับพนักงานภาคเอกชน เพื่อช่วยในการรับมือกับภาวะเงินเฟ้อที่พุ่งสูงขึ้น

    การประชุมประจำเดือนของคณะรัฐมนตรีซึ่งมีขึ้นเมื่อวันที่ 24-25 กรกฎาคม ซึ่งมีนายกรัฐมนตรีสอนไซ สีพันดอน เป็นประธาน ได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องระบุจำนวนที่แท้จริงของผู้ที่จะได้ประโยชน์จากการปรับขึ้นค่าจ้าง และทำการวิเคราะห์โดยละเอียดเกี่ยวกับความสามารถของรัฐบาลในการจ่ายเงินพิเศษนี้

    แผนดังกล่าวได้รับการประกาศไม่นานหลังจากที่นายกรัฐมนตรี สอนไซ สีพันดอนกล่าวในการประชุมสมัยสามัญครั้งที่ 5 ของสมัชชาแห่งชาติเมื่อต้นเดือนที่ผ่านมา เพื่อพิจารณาความเป็นไปได้ในการขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำและให้เงินค่าครองชีพแก่ข้าราชการที่มีค่าแรงต่ำ

    สมาชิกสภาสมัชชาแห่งชาติกล่าวว่า ค่าจ้างขั้นต่ำต่อเดือนปัจจุบันที่ 1,300,000 กีบไม่เพียงพอ เนื่องจากค่าครองชีพสูงขึ้น และขอให้รัฐบาลพิจารณาขึ้นค่าจ้าง

    นายกรัฐมนตรีสั่งการให้หน่วยงานที่รับผิดชอบดำเนินการมากขึ้น เพื่อรักษาเสถียรภาพของอัตราแลกเปลี่ยนเงินตรา ควบคุมอัตราเงินเฟ้อที่พุ่งสูงขึ้น และแก้ไขปัญหาหนี้สาธารณะที่อยู่ในระดับสูง

    ดร.สอนไซกล่าวว่า จะต้องเพิ่มรายได้ของประเทศโดยการปรับปรุงระบบจัดเก็บรายได้ให้ทันสมัย ​​และแบ่งปันข้อมูลเกี่ยวกับการจัดเก็บรายได้ในทุกภาคเศรษฐกิจ

    นอกจากนี้ได้สั่งให้หน่วยงานรัฐบาลปรับปรุงวิธีชำระและบันทึกภาษีที่ดินและทรัพย์สิน ขณะเดียวกันก็ควบคุมการใช้จ่ายที่ฟุ่มเฟือยและอุดช่องโหว่ที่อาจนำไปสู่การรั่วไหลทางการเงิน

    หน่วยงานของรัฐอื่นๆ ได้รับคำสั่งให้ทบทวนความคืบหน้าในการดำเนินโครงการเหมืองแร่ที่ได้รับอนุมัติจากรัฐบาล เพื่อให้แน่ใจว่าไม่มีการสูญเสียเกิดขึ้น

    นายกรัฐมนตรียังสั่งการให้ภาคส่วนที่รับผิดชอบ ควบคุมราคาสินค้าที่ขายในตลาดเพื่อบรรเทาความยากลำบากทางการเงินที่ประชาชนทั่วไปประสบอยู่ในขณะนี้โดยศึกษาโครงสร้างราคา และหาสาเหตุของอัตราเงินเฟ้อ และประเภทของผลิตภัณฑ์ที่มีผลต่อค่าครองชีพของผู้บริโภค

    หน่วยงานรัฐบาลยังถูกสั่งการให้จัดหาเชื้อเพลิงให้เพียงพอและผลักดันระดับการผลิตให้สูงขึ้นเพื่อให้มีการผลิตสินค้าในประเทศมากขึ้นเพื่อทดแทนการนำเข้าและเพิ่มการส่งออก

    MAS ประกาศยกเลิกใช้เช็คบริษัทสิ้นปี 2568

    ที่มาภาพ: https://www.centralbanking.com/central-banks/financial-market-infrastructure/3584531/singapore-central-bank-aims-to-eliminate-cheques-but-not-go-cashless

    ธนาคารกลางสิงคโปร์ (MAS) ประกาศในวันที่ 28 กรกฎาคมว่า การใช้เช็คของบริษัททั้งหมดจะถูกยกเลิกภายในสิ้นปี 2568 ในขณะที่บุคคลธรรมดาจะยังสามารถใช้เช็คได้อีกระยะหนึ่งหลังจากปี 2568 เนื่องจากการใช้เช็คในสิงคโปร์ลดลงอย่างต่อเนื่อง ค่าใช้จ่ายในการดำเนินการกับเช็คแต่ละใบ เพิ่มขึ้น และเพื่อรองรับการค่าใช้จ่ายในการให้บริการการจัดการเช็ค ธนาคารพาณิชย์จะเริ่มเรียกเก็บเงินจากเช็คสกุลเงินดอลลาร์สิงคโปร์ (SGD) ตั้งแต่ภายในวันที่ 1 พฤศจิกายน 2566

    MAS กำลังทำงานอย่างใกล้ชิดกับสมาคมธนาคารในสิงคโปร์(The Association of Banks in Singapore-ABS) อุตสาหกรรมการเงิน และหน่วยงานรัฐบาล ในโครงการริเริ่มต่างๆ ที่มุ่งเปลี่ยนผู้ใช้เช็คไปสู่โซลูชันการชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งจะรวมถึงโซลูชันการชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์เฉพาะที่สามารถเป็นทางเลือกสำหรับเช็คลงวันที่ล่วงหน้า ซึ่งจะช่วยเพิ่มความสะดวกให้กับองค์กรและบุคคลทั่วไป

    ปริมาณการทำธุรกรรมด้วยเช็คแต่ละปีลดลงเกือบ 70% จาก 61 ล้านธุรกรรมในปี 2559 เหลือน้อยกว่า 19 ล้านธุรกรรมในปี 2565 ควบคู่ไปกับการหันมาใช้การชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ที่เพิ่มขึ้นทั้งจากองค์กรและบุคคลทั่วไป แต่ค่าใช้จ่ายคงที่ที่เกิดขึ้นในการหักบัญชีเช็ค ต้นทุนเฉลี่ยในการหักบัญชีเช็คเพิ่มขึ้น 4 เท่าตั้งแต่ปี 2559 เป็น 0.40 ดอลลาร์ในปี 2564 ปัจจุบันธนาคารส่วนใหญ่ได้รับภาระค่าใช้จ่ายในการดำเนินการเช็ค แต่ถ้าปริมาณเช็คลดลงอีก 70% ภายในปี 2568 ค่าใช้จ่ายในการเคลียร์เช็คจะเพิ่มขึ้นเป็นระหว่าง 2.00 ถึง 6.00 ดอลลาร์ภายในปี 2568 ธนาคารต่างๆ จะไม่สามารถรับภาระค่าใช้จ่ายเหล่านี้ได้อีกต่อไป ดัวนั้นจึงต้องส่งผ่านค่าใช้จ่ายในการดำเนินการเช็คไปยังค่าธรรมเนียมที่เรียกเก็บจากลูกค้า

    ในเอกสารเอกสารรับฟังความคิดเห็น ที่เผยแพร่เมื่อวันที่ 2 พฤศจิกายน 2565 MAS และบรรษัทการชำระเงิน(Payments Council) ได้เสนอแผนงานเพื่อยุติระบบการหักบัญชีเช็คด้วยภาพเช็ค(CTS) และทำให้ผู้ใช้ทั้งหมดเลิกใช้เช็ค ข้อเสนอได้รับการสนับสนุนที่สำคัญรวมทั้งความคิดเห็นที่เป็นประโยชน์จากทั้งภาคบริการทางการเงินและประชาคมธุรกิจ MAS จะนำข้อเสนอแนะนี้มาพิจารณาและทำงานร่วมกับ ABS ในมาตรการสำคัญต่อไปนี้เพื่ออำนวยความสะดวกในการเปลี่ยนผ่านไปสู่การยกเลิกใช้เช็คภายในสิ้นปี 2568

  • ABS จะทำงานร่วมกับธนาคารพาณิชย์ที่มีนัยต่อความเสี่ยงเชิงระบบในประเทศ (Domestic Systematically Important Banks:D-SIBs) เพื่อสร้างโซลูชันการที่มีกำหนดระยะเวลาทางอิเล็กทรอนิกส์ (Electronic Deferred Payment-EDP) เพื่อให้ผู้ใช้สามารถกำหนดระยะเวลาการชำระเงินหรือออกแคชเชียร์เช็ค โดยไม่ต้องใช้เช็ค โซลูชัน EDP จะต่อยอดจากโซลูชันการชำระเงินที่มีอยู่ เช่น PayNow และ GIRO และจะพร้อมใช้ภายในปี 2568
  • ธนาคารจะยุติการออกสมุดเช็คใหม่ให้กับทุกบริษัทในปี 2568 หลังจากเปิดตัวโซลูชัน EDP
  • D-SIBs ในสิงคโปร์จะเริ่มเรียกเก็บเงินจากเช็คสกุล SGD ที่ออกโดยทั้งองค์กรและบุคคลทั่วไปภายในวันที่ 1 พฤศจิกายน 2566 ในขณะที่ธนาคารอื่น ๆ จะเริ่มดำเนินการภายในวันที่ 1 กรกฎาคม 2567 การเรียกเก็บเงินสำหรับเช็คสกุลเงิน SGD ที่ฝากโดยองค์กรและบุคคลทั่วไปจะดำเนินการเป็นระยะๆ และ ค่าธรรมเนียมจะแตกต่างกันไปในแต่ละธนาคาร

    เพื่อเป็นหลักประกันว่าเส้นทางการชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ของสิงคโปร์จะครอบคลุม ผู้ใช้เช็คส่วนบุคคลจะยังคงสามารถใช้เช็คได้ระยะหนึ่งหลังจากปี 2568 ซึ่งจะช่วยให้ผู้ใช้รายบุคคลที่เหลือมีเวลามากขึ้น ในการปรับเปลี่ยนไปใช้วิธีการชำระเงินแบบอื่น ในระหว่างนี้ ธนาคารจะติดต่อไปยังลูกค้าที่ยังไม่ได้เปลี่ยนไปใช้การชำระเงินแบบดิจิทัลเพื่อให้คลายความกังวล

    MAS จะศึกษาเพิ่มเติมเกี่ยวกับการใช้เช็คของบุคคล และพัฒนาความคิดริเริ่มที่เหมาะสมเพื่อช่วยเหลือผู้ใช้เช็คที่เหลืออยู่ในการเปลี่ยนไปใช้วิธีการชำระเงินทางเลือก เช่น PayNow, FAST, GIRO และ MEPS+ และ MAS จะเปิดรับฟังความเห็นครั้งที่สองในปีหน้าเพื่อหาแนวทางและจัดลำดับเวลาเพื่อยกเลิกการใช้เช็คบุคคลและยุติยุติระบบการหักบัญชีเช็คด้วยภาพเช็ค

    MAS และ ABS สนับสนุนให้ผู้ใช้เช็คทุกคนเปลี่ยนไปใช้วิธีการชำระเงินอื่น เนื่องจากอุตสาหกรรมเตรียมที่จะเลิกใช้ CTS ซึ่งสอดคล้องกับวิสัยทัศน์ Smart Nation ของสิงคโปร์ที่ทุกคนสามารถเข้าถึงการชำระเงินที่รวดเร็ว ง่าย และปลอดภัย

    นายกฯอันวาร์ดันมาเลเซียจุดหมายการลงทุนชั้นนำ

    ที่มาภาพ: https://www.businesstoday.com.my/2023/06/16/dosm-malaysias-fdi-recorded-rm74-6-billion-while-dia-registered-rm58-6billion-the-highest-since-2021/
    นายอันวาร์ อิบราฮิม นายกรัฐมนตรีประกาศการขับเคลื่อนของรัฐบาลในการทำให้มาเลเซียเป็นหนึ่งในจุดหมายปลายทางชั้นนำสำหรับการลงทุนในโลก

    ในการกล่าวเปิดตัววิสัยทัศน์มาเลเซียทันสมัย หรือ Malaysia Madani นายอันวาร์กล่าวว่า มีความจำเป็นที่ประเทศจะต้องนำเสนอการปฏิรูปที่มุ่งทำให้มาเลเซียเป็นหนึ่งใน 12 ประเทศเศรษฐกิจชั้นนำของโลกในด้านความสามารถในการแข่งขันและความสะดวกในการทำธุรกิจ

    “เราต้องประกาศให้ทั่วทุกมุมโลกรู้ว่ามาเลเซียเปิดกว้างและยินดีรับนักลงทุนและธุรกิจเข้ามา”

    นายอันวาร์ ซึ่งรับตำแหน่งรัฐมนตรีกะทรวงคลังด้วย กล่าวว่า บริษัทข้ามชาติหลายแห่ง รวมถึง Sumitomo Corporation, Tesla, Rongsheng และ Samsung Engineering ได้ให้คำมั่นสัญญาว่าจะลงทุนในมาเลเซียแล้ว

    รัฐบาลกำลังดำเนินการมากขึ้น เพื่อให้แน่ใจว่ามีคนมากขึ้นเลือกมาเลเซียเป็นจุดหมายปลายทางในการลงทุน

    นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า รัฐบาลจะเสริมความแข็งแกร่งให้กับหน่วยงานส่งเสริมการลงทุนภายใต้หน่วยงานพัฒนาการลงทุนของมาเลเซีย (Malaysian Investment Development Authority -Mida) เพื่ออำนวยความสะดวกในการติดต่อเชิงรุกกับนักลงทุน

    รัฐบาลจะทบทวนสิ่งจูงใจในการลงทุนเพื่อส่งเสริมการลงทุนที่สร้างงานที่มีรายได้สูงและยกระดับพื้นที่อุตสาหกรรมด้วยโครงสร้างพื้นฐานและยกระดับการพัฒนาทุนมนุษย์เพื่อตอบสนองความต้องการของนักลงทุน

    นายอันวาร์ได้ประกาศการจัดสรรเงินเบื้องต้นจำนวน 100 ล้านริงกิตเพื่อยกระดับโครงสร้างพื้นฐานในพื้นที่อุตสาหกรรม โดยระบุถึงภาคอุตสาหกรรมปิโตรเคมีในเมือง เกอร์เตะฮ์ รัฐตรังกานู ดาต้าเซ็นเตอรในเมืองเซเดนะ รัฐยะโฮร์ และอุตสาหกรรมยางปลายน้ำในเมืองกัวลาเนรัง รัฐเคดาห์

    เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจดิจิทัล นายกรัฐมนตรียังประกาศทุนสนับสนุนด้านดิจิทัลมูลค่า 100 ล้านริงกิตเพื่อช่วยเร่งการเปลี่ยนผ่านของรูปแบบธุรกิจของ SME ไปสู่ดิจิทัลมากขึ้น

    เมียนมาตั้งเป้า GDP โต 4% ในปีงบ 2566-2567

    ที่มาภาพ: https://www.gnlm.com.mm/state-aims-to-achieve-four-per-cent-gdp-growth-in-2023-24-financial-year/
    ประธานสภาบริหารแห่งรัฐ (SAC) นายกรัฐมนตรี พลเอกอาวุโส มิน อ่อง หล่าย กล่าวในการประชุมคณะกรรมการเศรษฐกิจครั้งที่ 6/2023 ของสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา ที่สำนักงานประธาน SAC เมื่อบ่ายวันที่ 27 กรกฎาคมว่า รัฐวิสาหกิจต้องมีส่วนร่วมในการพัฒนารัฐโดยไม่เน้นผลประโยชน์ แต่ไม่ควรให้มีการขาดทุน

    พลเอกอาวุโสมิน อ่อง หล่าย เน้นย้ำว่า หลังจากเข้ารับผิดชอบในการบริหารประเทศแล้ว รัฐบาลไม่ได้กู้เงินใดๆ เนื่องจากได้รับความช่วยเหลือจากต่างประเทศในช่วงปลายปี 2565 รัฐบาลสามารถดำเนินการบางโครงการได้ จะเห็นได้ว่าการเงินและเศรษฐกิจของประเทศขึ้นอยู่กับความเข้มแข็งภายในของประเทศ ด้วยเหตุนี้ รัฐบาลเข้มงวดการขายทรัพยากรธรรมชาติให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้

    สำหรับเศรษฐกิจของประเทศ พลเอกอาวุโสมิน อ่อง หล่าย กล่าวว่า GDP ของประเทศเพิ่มขึ้นเป็น 3.4% ในปีงบประมาณ 2565-2566 และคาดว่าจะรักษาระดับการเติบโตของ GDP ไว้ได้ที่ 4% ในปีงบประมาณ 2566-2467 หากเน้นมาตรการการผลิตในปัจจุบัน การพัฒนาจะออกเพิ่มขึ้น

    พลเอกอาวุโสวิน อ่อง หล่าย เน้นย้ำว่า เนื่องจากเมียนมาเป็นประเทศเกษตรกรรม ผลิตภัณฑ์จากการเกษตรและฟาร์มปศุสัตว์จึงมีส่วนช่วยสร้างความมั่นคงทางอาหารของโลกได้ ดังนั้นจึงอาจกล่าวได้ว่าผลิตภัณฑ์จากการเกษตรมีส่วนแบ่งการตลาดที่มั่นคงและคาดว่าจะได้รับการพัฒนาทางเศรษฐกิจที่มากขึ้นสำหรับรัฐ

    นอกจากนี้ยังชี้ว่า จะต้องบริหารจัดการการใช้ประโยชน์ที่ดินให้ถูกต้องตามกฎหมายกำหนด เพราะการใช้ที่ดินเพื่อการเกษตรในลักษณะอื่นทำให้งานด้านการเกษตรของประเทศเสียหาย

    พลเอกอาวุโสมิน อ่อง หล่าย ได้พูดถึงนโยบายเพื่อให้แน่ใจว่าน้ำมันปรุงอาหารจะเพียงพอในปี 2568 ในขณะเดียวกัน การขนส่งสาธารณะและการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนได้รับการสนับสนุน เพื่อลดการใช้เชื้อเพลิง

    หลังจากฟังการรายงานจากกระทรวงการวางแผนและการคลัง มุขรัฐมนตรีประจำภูมิภาคและรัฐ แล้วพลเอกอาวุโสมิน อ่อง หล่ายกล่าวว่า รายได้ที่เพิ่มขึ้นมาจากการผลิตวัตถุดิบยางที่ดีขึ้น และย้ำถึงความสำคัญของกระทรวงที่เกี่ยวข้องในการผลิตกระแสไฟฟ้าจากการผลิตก๊าซ และกระตุ้นให้ทุกฝ่ายศึกษาตลาดต่างประเทศอยู่เสมอเพื่อหาส่วนแบ่งการตลาดของผลิตภัณฑ์เกษตรและปศุสัตว์ของเมียนมา

    พลเอกอาวุโสมิน อ่อง หล่าย ปิดท้ายด้วยการเน้นย้ำว่า ธนบัตร 20,000 ‌จั๊ตเพิ่งนำออกมาใช้ มีจุดมุ่งหมายเพื่อหมุนเวียนเป็นที่ระลึก แต่ประเทศจะไม่เผชิญกับภาวะเงินเฟ้ออย่างแน่นอนจากธนบัตร 20,000 จั๊ตที่ออกไปสู่ระบบเศรษฐกิจการเงิน กิจการของรัฐต้องมีส่วนช่วยพัฒนาประเทศโดยไม่มุ่งผลประโยชน์แต่ไม่ควรถึงระดับที่ขาดทุนเสียเอง

    กรุงศรี ปั้นพอร์ตสินเชื่อเพื่อรายย่อยในฟิลิปปินส์

    นายวันชัยระบิน จิตวัฒนาธรรม ผู้บริหารสายงานธุรกิจระดับภูมิภาค ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน)

    กรุงเทพฯ (27 กรกฎาคม 2566) – กรุงศรี (ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) และบริษัทในเครือ) เดินหน้าต่อยอดธุรกิจสินเชื่อรถ และสินเชื่อบุคคลผ่านสองเครือข่ายธุรกิจที่แข็งแกร่งในประเทศฟิลิปปินส์ ได้แก่ SB Finance, Inc. ซึ่งเป็นบริษัทร่วมทุนระหว่างกรุงศรี และซีเคียวริตี้ แบงก์ คอร์ปอเรชั่น สถาบันการเงินชั้นนำในประเทศฟิลิปปินส์ รวมถึง HC Consumer Finance Philippines, Inc. หรือ Home Credit ในประเทศฟิลิปปินส์ มุ่งตอบสนองความต้องการด้านสินเชื่อเพื่อผู้บริโภคที่หลากหลายได้อย่างครบวงจร นับเป็นอีกหนึ่งฟันเฟืองสำคัญในการขับเคลื่อนตามแผนธุรกิจของกรุงศรีที่ต้องการขยายและเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้กับธุรกิจในอาเซียน

    นายวันชัยระบิน จิตวัฒนาธรรม ผู้บริหารสายงานธุรกิจระดับภูมิภาค ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า “ด้วยศักยภาพทางธุรกิจของประเทศฟิลิปปินส์ อันประกอบไปด้วยจำนวนประชากรกว่า 113 ล้านคน ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในวัยทำงาน อายุเฉลี่ยประมาณ 25-26 ปี รวมถึงสภาวะเศรษฐกิจที่กำลังเติบโต เรามีความเชื่อมั่นในการขยายธุรกิจที่นี่ จากเดิมที่กรุงศรีได้ต่อยอดความเชี่ยวชาญด้านสินเชื่อรายย่อยในประเทศฟิลิปปินส์ผ่าน SB Finance โดยส่งต่อความเชี่ยวชาญและนำผลิตภัณฑ์เรือธงอย่าง สินเชื่อคาร์ ฟอร์ แคช (Car4Cash) และสินเชื่อรถมอเตอร์ไซค์เข้าไปเปิดตัวในตลาด ซึ่งได้รับการตอบรับที่ดี พร้อมทั้งเร่งขยายการเติบโตของผลิตภัณฑ์สินเชื่อเงินเดือนล่วงหน้า (Salary Advance Loan) ซึ่งทำให้ SB Finance เป็นหนึ่งในผู้นำในตลาดนี้ และนับตั้งแต่กรุงศรีเข้าถือหุ้นในช่วงปลายปี 2563 SB Finance มีอัตราการเติบโตของยอดสินเชื่อกว่า 40% และมีฐานลูกค้าเพิ่มขึ้นถึง 2 เท่า”

    “ปัจจุบันกรุงศรีขยายตลาดเพิ่มในฟิลิปปินส์ด้วยความสำเร็จในการเข้าซื้อกิจการครั้งล่าสุด ได้แก่ Home Credit ซึ่งนับเป็นอีกหนึ่งหัวใจสำคัญที่มาช่วยเติมเต็มการส่งมอบผลิตภัณฑ์และบริการสินเชื่อเพื่อผู้บริโภคในประเทศฟิลิปปินส์ได้อย่างครอบคลุมมากยิ่งขึ้น โดยอาศัยจุดแข็งจากการเป็นผู้นำตลาดสินเชื่อ ณ จุดขาย (Point-of-sale Loan) ที่มีเครือข่ายมากกว่า 15,400 จุด นอกจากนี้ Home Credit ยังให้บริการสินเชื่อส่วนบุคคล สินเชื่อหมุนเวียนส่วนบุคคลดิจิทัล และบัตรเครดิต โดยมียอดสินเชื่อรวมอยู่ที่ 46.5 พันล้านเปโซฟิลิปปินส์ หรือคิดเป็น 29 พันล้านบาท (ข้อมูล ณ วันที่ 30 มิถุนายน 2566) และมีฐานลูกค้ากว่า 2.5 ล้านราย ทั้งยังครองตำแหน่งแบรนด์ที่เป็นที่จดจำสูงสุดในกลุ่มตลาดสินเชื่อ ณ จุดขายในประเทศฟิลิปปินส์ (จากผลสำรวจความคิดเห็นของผู้บริโภคในประเทศฟิลิปปินส์ของ IPSOS ในเดือนตุลาคม 2565) ท่ามกลางบรรยากาศการแข่งขันสูง กลยุทธ์สำคัญหลังจากนี้คือการมุ่งรักษาความเป็นผู้นำในตลาดผลิตภัณฑ์ดังกล่าว ขณะเดียวกัน กรุงศรีมุ่งเน้นให้การสนับสนุน Home Credit ในการขยายการเติบโตในตลาดสินเชื่อรายย่อย รวมถึงการพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ในอนาคต”

    ทั้งนี้ นายวันชัยระบิน กล่าวปิดท้ายว่า ทั้งสองธุรกิจของกรุงศรีต่างมีจุดแข็งและกลุ่มลูกค้าเป้าหมายที่ส่งเสริมกัน โดยกรุงศรีพร้อมใช้ความเชี่ยวชาญในธุรกิจสินเชื่อรายย่อย เพื่อส่งมอบโซลูชันทางการเงินที่ครอบคลุมได้อย่างมีคุณภาพ ครบวงจร เข้าถึงได้ง่าย สะดวก และรวดเร็วยิ่งขึ้น โดยคาดหวังว่าธุรกิจทั้งสองจะเป็นแรงผลักดันสำคัญที่ช่วยให้กรุงศรีรักษาความเป็นผู้นำ และพัฒนาตลาดสินเชื่อรายย่อยในฟิลิปปินส์อย่างยั่งยืนต่อไป