ASEAN Roundup ประจำวันที่ 25 มิถุนายน -1 กรกฎาคม 2566
กัมพูชารุกเปิดตลาดส่งออกข้าว
กระทรวงพาณิชย์มีความคืบหน้าในการเจรจาข้อตกลงสำหรับการส่งออกข้าว 500,000 ตันในปี 2566-2567 จากการเปิดเผยของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์นายพัน สอระสัก โดยคาดว่าจมีการลงนามในบันทึกความเข้าใจ (MoU) ฉบับที่ 7 ในเร็วๆนี้รัฐมนตรีกล่าวขณะเป็นประธานในพิธีเปิดตลาดข้าวสารกัมพูชาไปยังฟิลิปปินส์เมื่อวันที่ 26 มิถุนายน
“เราได้หารือและจัดทำข้อตกลงพิเศษทวิภาคีกับประเทศต่างๆ โดยเฉพาะจีน ซึ่งเราประสบความสำเร็จในการส่งออกไปยังตลาดจีน ปัจจุบัน กระทรวงกำลังเจรจาขั้นตอนการลงนาม MoU ฉบับที่ 7 จำนวน 500,000 ตันสำหรับปี 2566-2567 ซึ่งมีกำหนดลงนามในอนาคตอันใกล้นี้ เราหวังว่าจะช่วยเพิ่มการส่งออกข้าวของกัมพูชาให้มากขึ้น” นายสอระสักกล่าว
ภาคอุตสาหกรรมข้าวเป็นภาคที่รัฐบาลให้ความสำคัญเป็นอันดับแรก โดยเน้นย้ำถึงความจำเป็นในการลงทุนจำนวนมากเพื่อขยายตลาดข้าวสารของกัมพูชาในต่างประเทศ
“ที่จริงในการประชุมสุดยอดอาเซียนเมื่อเร็วๆ นี้ (ที่อินโดนีเซีย) นายกรัฐมนตรีได้ขอให้ประเทศต่างๆ รวมทั้งฟิลิปปินส์และประเทศอื่นๆ ช่วยซื้อข้าวสารจากกัมพูชา นอกจากนี้ยังขอให้นิวซีแลนด์ลงทุนในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญสำหรับภาคข้าว คลังสินค้า ฉางอบแห้ง และการแปรรูปเพิ่มเติมในกัมพูชาเพื่อส่งออกข้าวสารไปยังตลาดต่างประเทศ” รัฐมนตรีกล่าว
นายสอระสักกล่าวเพิ่มเติมว่า การเจรจาสัญญาส่งออกข้าวสารเป็นการหารือที่ซับซ้อนเกี่ยวกับเงื่อนไขและราคา อย่างไรก็ตาม ก็มีแผนการที่จะสำรวจตลาดเพิ่มเติม โดยชี้ถึงศักยภาพของสิงคโปร์ในการเป็นศูนย์กลางการกระจายสินค้าที่สำคัญสำหรับเอเชีย ตะวันออกกลาง และภูมิภาคอื่นๆ
“ดังนั้น หากเราสามารถเจาะตลาดสิงคโปร์ได้ เราก็สามารถเข้าถึงตลาดเอเชียกลางไปจนถึงยุโรปและอื่นๆ ได้” นายสอระสักกล่าว
นายจัน สกเฮียง ประธานสมาพันธ์ข้าวกัมพูชา (Cambodian Rice Federation-CRF) กล่าวชื่นชม กระทรวงและความคืบหน้าของ CRF เนื่องจากโควตาตลาดจีนมีปริมาณถึง 400,000 ตันแล้ว
“การบรรลุเป้าหมายหนึ่งล้านตันเป็นเป้าหมายที่เราตั้งเป้าไว้ว่าจะบรรลุภายในปี 2568 ดังนั้น จากนี้ไป เราจึงเริ่มวางแผนกลยุทธ์อย่างจริงจัง ในเดือนตุลาคม จะมีการจัดงานที่เมืองโคโลญจน์ ประเทศเยอรมนี ซึ่งเป็นหนึ่งในงานแสดงอาหารชั้นนำของโลก”
นายจัน พิช ผู้จัดการทั่วไปของ Signatures of Asia สนับสนุนแผนขยายการส่งออก โดยเน้นย้ำถึงความแข็งแกร่งของตลาดจีน โดยชื่นชมการซื้อข้าวสารที่เพิ่มขึ้นจากกัมพูชา
“ตลาดจีนรับข้าวสารกัมพูชาของเราจำนวนมาก และเป็นตลาดที่มีความต้องการในปริมาณสูง ผมต้องขอชมเพราะเราได้โควต้าเพิ่มขึ้นในการส่งออกข้าวของกัมพูชาไปยังตลาดจีนมากขึ้น และโรงสีข้าวในประเทศอาจมีตลาดมากขึ้น” พิชกล่าว
ตามรายงานการส่งออกล่าสุดของ CRF กัมพูชาทำรายได้เกือบ 737 ล้านดอลลาร์จากการส่งออกข้าวสารและข้าวเปลือกไปยัง 49 ประเทศและเขตปกครองในช่วง 5 เดือนแรกของปีนี้ โดยจีนและสหภาพยุโรปเป็นผู้ซื้อรายใหญ่อันดับหนึ่งและสอง
กัมพูชาส่งออกข้าวสารปริมาณ 278,184 ตัน มูลค่า 191.64 ล้านดอลลาร์ ผ่านผู้ส่งออก 48 ราย รวมถึงข้าวเปลือก 2,142,483 ตัน (เทียบเท่ากับข้าวสารที่สีแล้ว 1.37 ล้านตัน) คิดเป็นมูลค่า 545.26 ล้านดอลลาร์
กัมพูชาส่งออกข้าวกว่า 2.5 ล้านตันไปฟิลิปปินส์เป็นครั้งแรก
กัมพูชาส่งออกข้าวประมาณ 2,575 ตันไปยังตลาดฟิลิปปินส์เป็นครั้งแรก จากการเปิดเผยของออกญา จัน สกเฮียง ประธานสมาพันธ์ข้าวกัมพูชาเมื่อวันจันทร์ออกญาสกเฮียงกล่าวในการเปิดตลาดส่งออกข้าวไปยังฟิลิปปินส์ว่า การส่งออกขนาดใหญ่ครั้งแรกผลักดันโดยกลุ่มอาหารของกัมพูชา และความพยายามของรัฐบาลซึ่งพยายามหาตลาดสำหรับข้าวกัมพูชาอยู่เสมอ
ในการประชุมกับผู้นำรัฐบาลของประเทศอื่นๆ นายกรัฐมนตรีฮุน เซน มักจะขอให้ซื้อข้าวกัมพูชาเพิ่ม รวมทั้งประธานาธิบดีฟิลิปปินส์ที่เดินทางเยือนกัมพูชาในระหว่างการประชุมสุดยอดอาเซียนที่กัมพูชา
นายพัน สอระสัก รัฐมนตรีกระทรวงพาณิชย์ชื่นชมสหพันธ์ข้าวกัมพูชาที่ทำงานหนักและร่วมมือกับกระทรวงพาณิชย์อย่างดี โดยเฉพาะบริษัท กรีนเทรด จนนำไปสู่การเปิดตลาดข้าวในฟิลิปปินส์และขอให้ดำเนินกิจกรรมนี้ต่อไปกับประเทศอื่นๆ
มาเรีย อเมลลิตา อควิโน เอกอัครราชทูตวิสามัญผู้มีอำนาจเต็มสาธารณรัฐฟิลิปปินส์ประจำกัมพูชา กล่าวชื่นชมการเติบโตของการค้าข้าวและโดยเฉพาะอย่างยิ่งการส่งออกข้าวกัมพูชาไปยังตลาดฟิลิปปินส์ ที่เป็นความริเริ่ม โดยกลุ่มบริษัทอาหารเขมรและผู้นำเข้าฟิลิปปินส์เพื่อเป็นต้นแบบในการแสดงศักยภาพของข้าวกัมพูชาให้ผู้นำเข้ารายอื่นสั่งซื้อข้าวจากกัมพูชา
จีนพร้อมลงนาม MoU ครั้งที่ 7 กับกัมพูชา ซื้อข้าวเพิ่ม 5 แสนตัน
นายลอน เย็ง เลขาธิการสมาพันธ์ข้าวกัมพูชากล่าวกับสถานีวิทยุมิตรภาพกัมพูชา-จีนเมื่อวันพฤหัสบดีว่า กัมพูชาและจีนได้ลงนามในบันทึกความเข้าใจเกี่ยวกับการส่งออกข้าวของกัมพูชาไปยังตลาดจีนแล้ว 6 ฉบับ และพร้อมที่จะลงนามในบันทึกความเข้าใจฉบับที่ 7และอื่นๆ อีกมากมาย
ก่อนหน้านี้ นายพัน สอระสัก รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ของกัมพูชาได้ประกาศเกี่ยวกับบันทึกความเข้าใจฉบับที่ 7 ในการส่งออกข้าว 500,000 ตันไปยังตลาดจีนในปี 2566-2567 พร้อมกับคาดหวังว่าการลงนามใน MoU จะช่วยให้การส่งออกข้าวของกัมพูชาขยายตัวมากขึ้น
นายเย็งยังกล่าวอีกว่า ข้าวจำนวน 400,000 ตันได้ถูกส่งมอบตาม MOU ฉบับที่ 6 แล้ว และได้เรียกร้องให้ชาวนาพยายามอย่างเต็มที่ ในการปลูกข้าวประเภทที่จีนต้องการ และการที่จีนสามารถซื้อข้าวในปริมาณนี้เ จะช่วยให้ชีวิตและเศรษฐกิจของชาวนากัมพูชาและยกระดับมาตรฐานการครองชีพในอนาคตสำหรับประชาชน
GDP เวียดนามครึ่งปีแรกโต 3.72%
สำนักงานสถิติทั่วไป (GSO)เปิดเผยในการแถลงข่าวว่า ในช่วงครึ่งแรกของปีนี้ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ(GDP)ของ เวียดนามเติบโตประมาณ 3.72% เมื่อเทียบปีต่อปี ส่วนในไตรมาสสองขยายตัว 4.14% ต่ำสุดในรอบ 13 ปีภาคอุตสาหกรรมและก่อสร้าง ซึ่งเป็นใน หนึ่งในสามเสาหลักของเศรษฐกิจ ขยายตัวเพียง 0.44% ภาคบริการเติบโตสูงสุดที่ 6.33% จากการกระตุ้นการบริโภคภายในประเทศและนโยบายส่งเสริมการท่องเที่ยว ในภาควนเกษตร-ประมง เกษตรกรรมมีมูลค่าเพิ่มเพิ่มขึ้น 3.14% ป่าไม้ 3.43% และการประมง 2.77% เมื่อเทียบรายปี
การค้าระหว่างประเทศลดลง 15.2% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนมีมูลค่า 316.65 พันล้านดอลลาร์ เพราะการส่งออกลดลง 12.1% ส่วนการนำเข้าลดลง 18.2% แต่เกินดุลการค้า 12.25 พันล้านดอลลาร์
อัตราเงินเฟ้อเพิ่มขึ้น 3.29% จากระยะเดียวกันของปีก่อน เป็นผลจากราคาอาหารและไฟฟ้าที่สูงขึ้น
GSO ระบุว่า การเติบโตในครึ่งปีแรกไม่สูงนัก แต่เศรษฐกิจเติบโตอย่างสมดุล เศรษฐกิจมหภาคมีเสถียรภาพ และมีการควบคุมอัตราเงินเฟ้อให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม
นอกจากนี้มีการดูแลอุปทานของสินค้าที่จำเป็นให้เพียงพอ และมีการส่งเสริมการจัดหาสินค้าและการบริโภคภายในประเทศ ภาคการเกษตร ป่าไม้ และประมงเติบโตอย่างมีเสถียรภาพ เป็นหลักประกันว่าจะมีอาหารและสินค้าที่จำเป็นอย่างเพียงพอ
อย่างไรก็ตามในเดือนมิถุนายนเวียดนามมี การจดทะเบียนธุรกิจใหม่พุ่งสูงสุดเป็นประวัติการณ์รวมถึงธุรกิจที่กลับมาดำเนินการ จากรายงานของกรมการจัดการการจดทะเบียนธุรกิจภายใต้กระทรวงการวางแผนและการลงทุน
นับเป็นสัญญาณเชิงบวก เพราะยังบริษัทอีกมากที่เผชิญกับความยากลำบากมากมายในการผลิตและกิจกรรมทางธุรกิจ
ในเดือนมิถุนายน 2566 มีธุรกิจที่จัดตั้งขึ้นใหม่ 13,904 แห่ง เพิ่มขึ้น 4.8% จากช่วงเวลาเดียวกันในปี 2565 มีธุรกิจอีก 7,098 แห่งที่กลับมาดำเนินการอีกครั้งในเดือนมิถุนายน เพิ่มขึ้น 215% จากช่วงเวลาเดียวกันในปี 2565
ในช่วงหกเดือนแรกของปี มีสถานประกอบการที่จัดตั้งขึ้นใหม่และกลับมาดำเนินการต่อประมาณ 113,000 แห่งดังนั้น ในแต่ละเดือนมีการจัดตั้งธุรกิจหรือกลับมาดำเนินการต่อประมาณ 19,000 แห่ง
ในขณะเดียวกัน ธุรกิจประมาณ 100,000 แห่งถอนตัวออกจากตลาดในช่วง 6 เดือนแรก รวมถึง 12,333 แห่งในเดือนมิถุนายน
จำนวนธุรกิจโดยเฉลี่ยที่ถอนตัวออกจากตลาดมีถึง 16,600 รายต่อเดือน ลดลงเมื่อเทียบกับ 17,600 รายต่อเดือนในช่วง 5 เดือนแรก และ 19,000 รายต่อเดือนในช่วง 4 เดือนแรก
กรมฯ รายงานว่า ทุนจดทะเบียนของธุรกิจที่จัดตั้งขึ้นใหม่ยังคงลดลงอย่างต่อเนื่องในช่วง 6 เดือนแรก โดยทุนจดทะเบียนทั้งหมดของธุรกิจที่จัดตั้งขึ้นใหม่มีเพียง 707,457 พันล้านด่อง หรือ 75-80% ของทุนจดทะเบียนทั้งหมดในช่วงเวลาเดียวกันของปีที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ซึ่งอยู่ที่ 942,648 พันล้านด่องในปี 2564 และ 882,122 พันล้านด่องในปี 2565
ทุนจดทะเบียนเฉลี่ยต่อรายของธุรกิจใหม่ในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2566 อยู่ที่ 9.3 พันล้านด่อง ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดในช่วง 6 เดือนแรกของปีนับตั้งแต่ปี 2560
ในช่วงหกเดือน การเพิ่มทุนจดทะเบียนทั้งหมดของธุรกิจที่ยังดำเนินการอยู่ก็ลดลง 48.1% จากช่วงเวลาเดียวกันในปี 2565
นอกจากนี้กรมฯระบุว่า ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ยังคงเผชิญกับความยากลำบากมากที่สุดในช่วง 6 เดือนแรกของปี จำนวนธุรกิจที่เข้าสู่ตลาดและทุนจดทะเบียนของธุรกิจใหม่ในภาคอสังหาริมทรัพย์ลดลงอย่างมากเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้วที่ 58.9% และ 54.1% ตามลำดับ และธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ที่ถอนตัวออกจากตลาดเพิ่มขึ้น 40.4% จากช่วงเวลาเดียวกันในปี 2565 ซึ่งเป็นอัตราสูงสุดในบรรดา 17 ภาคเศรษฐกิจ ต่างจากการเติบโตธุรกิจอสังหาริมทรัพย์รายใหม่ที่เข้าสู่ตลาดที่ 44.8% ในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2564 เมื่อเทียบกับปี 2563
เวียดนามดึง FDI กว่า 13.4 พันล้านดอลลาร์ใน 6 เดือนแรก
สำนักงานสถิติทั่วไปรายงานว่า เวียดนามดึงดูดการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ หรือ FDI(Foreign Direct Investment) รวม 13.43 พันล้านดอลลาร์ตั้งแต่ต้นปีนี้ถึงวันที่ 20 มิถุนายน ลดลง 4.3% เมื่อเทียบเป็นรายปีในช่วงเวลาดังกล่าว มีโครงการจดทะเบียนใหม่ 1,293 โครงการ เพิ่มขึ้น 71.9% และมีทุนรวมกัน 6.49 พันล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้น 31.3% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว โครงการใหม่ส่วนใหญ่อยู่ในสาขาการแปรรูปและการผลิต และธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ในขณะเดียวกันเงินทุนของโครงการเดิม 632 โครงการมีจำนวน 2.93 พันล้านดอลลาร์ ลดลง 57.1% เมื่อเทียบเป็นรายปี มูลค่าของเงินที่ใส่เข้ามาและข้อตกลงการซื้อหุ้นเพิ่มขึ้น 76.8% เป็นมากกว่า 4 พันล้านเหรียญสหรัฐ
ในบรรดา 57 ประเทศและเขตปกครองที่มีโครงการใหม่ในเวียดนาม สิงคโปร์เป็นผู้ลงทุนรายใหญ่ที่สุดด้วยมูลค่า 1.79 พันล้านดอลลาร์ ตามมาด้วยจีน 1.29 พันล้านดอลลาร์ และญี่ปุ่น 386 ล้านดอลลาร์
ในช่วงครึ่งแรกของปีนี้ มี FDI มีการเบิกใช้ทุนไปแล้ว 10.02 พันล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้น 0.5% เมื่อเทียบเป็นรายปี
ในช่วงเดียวกัน เวียดนามลงทุนเกือบ 320.6 ล้านดอลลาร์ใน 21 ประเทศและเขตปกครอง ลดลง 7.3% เมื่อเทียบเป็นรายปี โดยจากเงินลงทุนทั้งหมดนั้น 147 ล้านดอลลาร์ได้นำไปลงใน 60 โครงการใหม่ ลดลง 51.2% ขณะที่เพิ่มทุน 173.7 ล้านดอลลาร์ให้กับ 16 โครงการที่กำลังดำเนินการ ซึ่งเพิ่มขึ้น 3.9 เท่าเมื่อเทียบเป็นรายปี
แคนาดาเป็นประเทศได้รับเงินลงทุนจากเวียดนามมากที่สุด มูลค่ารวม 150.2 ล้านดอลลาร์ รองลงมาคือสิงคโปร์ 109 ล้านดอลลาร์ และลาว 26.3 ล้านดอลลาร์
สำนักงานสถิติของนครโฮจิมินห์ รายงานว่า การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI)ไหลเข้านครโฮจิมินห์ มูลค่า 2.9 พันล้านดอลลาร์ตั้งแต่ต้นปีถึงวันที่ 20 มิถุนายน เพิ่มขึ้น 30.7% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว
ในช่วงครึ่งแรกของปีนี้ โฮจิมินห์ได้ออกใบรับรองการลงทุนใหม่สำหรับ 514 โครงการเพิ่มขึ้น 69.1% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว และทุนจดทะเบียนรวมกัน 231 ล้านดอลลาร์
จากโครงการทั้งหมด 207 โครงการเป็นการขายส่ง การขายปลีก และการซ่อมรถยนต์และจักรยานยนต์ โดยมีทุนจดทะเบียนรวม 93.9 ล้านดอลลาร์ คิดเป็น 40.6% ของทุนจดทะเบียนใหม่
ในบรรดาประเทศและเขตปกครองที่หลั่งไหลเข้ามาลงทุนในเโฮจิมินห์ สิงคโปร์เป็นอันดับหนึ่งด้วย 89 โครงการและทุนจดทะเบียนรวม 126 ล้านดอลลาร์ คิดเป็น 54.6% ของทุนจดทะเบียนใหม่ ตามมาด้วยญี่ปุ่น 43 โครงการ ทุนจดทะเบียน 21.7 ล้านดอลลาร์ คิดเป็น 9.4% ส่วนฮ่องกง (จีน)มี 36 โครงการด้วยทุน 12.7 ล้านดอลลาร์ คิดเป็น 5.6%
Foxconn ทุ่ม 250 ล้านดอลลาร์ผลิต EV-ชิ้นส่วนโทรคมนาคมในเวียดนาม
ฟ็อกซ์คอนน์(Foxconn) ผู้ผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ตามสัญญาที่ใหญ่ที่สุดในโลก เตรียมลงทุนประมาณ 250 ล้านดอลลาร์ในโครงการใหม่ 2 โครงการในเวียดนาม ซึ่งรวมถึงการผลิตชิ้นส่วนสำหรับรถยนต์ไฟฟ้า (EVs) จากการเปดิดเผยของบริษัทและหน่วยงานท้องถิ่นเมื่อวันศุกร์(30 มิ.ย.)
การประกาศดังกล่าวเป็นการยืนยันแผนการระดับโลกของ Foxconn ที่จะเป็นผู้เล่นในอุตสาหกรรม EV หลังจากมุ่งเน้นที่การประกอบผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์สำหรับ Apple และแบรนด์หลักอื่น ๆ มาหลายปี
บริษัทยักษ์ใหญ่สัญชาติไต้หวัน มีแผนจะลงทุนผ่านบริษัทลูก Foxconn Singapore ประมาณ 250 ล้านดอลลาร์ในนิคมอุตสาหกรรมทางตอนเหนือของเวียดนาม โดยเน้นไปที่การผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ไฟฟ้า ตัวควบคุม และผลิตภัณฑ์อื่นๆ เพื่อตอบสนองความต้องการในการพัฒนาในอนาคต
โครงการใหม่จะส่งผลให้เงินลงทุนทั้งหมดในศูนย์กลางการผลิตในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ประมาณ 3 พันล้านดอลลาร์ ในช่วงเกือบสองทศวรรษนับตั้งแต่สร้างโรงงานแห่งแรกที่เวียดนาม เป็นการยืนยันแผนการที่กว้างขึ้นในการขยายธุรกิจนอกประเทศจีน ท่ามกลางความตึงเครียดอย่างต่อเนื่องระหว่างปักกิ่งและวอชิงตัน
เจ้าหน้าที่ท้องถิ่นยืนยันว่าได้อนุญาตการลงทุนใหม่ของ Foxconn แล้ว งินทุนใหม่ก้อนใหญ่ที่สุดของเประมาณ 200 ล้านดอลลาร์จะเข้าสู่โรงงานเพื่อผลิตเครื่องชาร์จ EV และชิ้นส่วน ซึ่งมีกำหนดจะเริ่มการผลิตตั้งแต่เดือนมกราคม 2568 โดยมีพนักงาน 1,200 คน
ส่วนที่เหลืออีก 46 ล้านดอลลาร์สำหรับโรงงานผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์และโทรคมนาคม โดยจะเริ่มการผลิตในเดือนตุลาคม 2567
โรงงานทั้งสองแห่งจะตั้งอยู่ในนิคมอุตสาหกรรม Song Khoai Industrial Park ซึ่งอยู่ห่างจากฮานอยไปทางตะวันออก 138 กิโลเมตร
“ด้วยรากฐานที่ย้อนหลังไปกว่า 15 ปี ฐานของ Foxconn ในเวียดนามเป็นหนึ่งในสถานที่สำคัญในการดำเนินงานทั่วโลกของเรา” บริษัทระบุ
ฟ็อกซ์คอนน์ยังวางแผนที่จะตั้งโรงงานแห่งใหม่ในจังหวัดเหงะอานทางตอนกลางของเวียดนามด้วยเงินลงทุนเริ่มต้น 100 ล้านดอลลาร์ หน่วยงานท้องถิ่นของจังหวัดเปิดเผยเมื่อเดือนที่แล้ว
อินโดนีเซียเป็นประเทศรายได้สูงใน 10 ปี
เศรษฐกิจทางทะเลของอินโดนีเซียมีโอกาสเติบโตได้อีกมาก และอาจจะส่งผลให้อินโดนีเซียเป็นประเทศที่มีรายได้สูงในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า นายลูฮุต ปันจาอิตัน รัฐมนตรีประสานงานด้านกิจการทางทะเลและการลงทุนกล่าวนายปันจาอิตันกล่าวว่า ในปี 2045 การมีส่วนร่วมของภาคส่วนทางทะเลต่อเศรษฐกิจของประเทศจะเพิ่มขึ้น 2 เท่าและเติบโตต่อเนื่อง และเมื่อพิจารณาจากแนวโน้มปัจจุบัน เชื่อว่าอินโดนีเซียจะกลายเป็นประเทศที่มีรายได้สูงในอีก 10 ปีข้างหน้า อีกทั้งหากยังต่อเนื่อง ภายในสามทศวรรษข้างหน้า อินโดนีเซียอาจกลายเป็นประเทศที่พัฒนาแล้ว
หนึ่งในผลลัพธ์ทางทะเลที่สามารถพัฒนาได้คือการปลูกสาหร่ายทะเล ซึ่งกำลังดำเนินการอยู่ในโครงการบูเลเลง(Buleleng) บาหลี(Bali) การพัฒนาสาหร่ายมีความสำคัญ เนื่องจากสามารถใช้เป็นเชื้อเพลิงชีวภาพ ปุ๋ย และอาหารได้ นอกจากนี้ยังสามารถทำความสะอาดทะเลและดักจับการปล่อยคาร์บอน
นอกจากนี้ อินโดนีเซียมีสาหร่ายทะเลมากกว่า 200 ชนิด แต่ปัจจุบันมีเพียงสามชนิดเท่านั้นที่กำลังพัฒนา ซึ่งนายปันจาอิตันชี้ว่า นี่คือจุดที่ผู้ประกอบการในภาคการเดินเรือและการเดินเรือสามารถมีบทบาทสำคัญได้
เนื่องจากกลุ่มนี้สามารถทำหน้าที่เป็นตัวขับเคลื่อนหลักของการเติบโตทางเศรษฐกิจทางทะเลและชายฝั่ง( blue sector) สร้างงานใหม่ และมีส่วนสนับสนุนรายได้และความมั่งคั่งของผู้อยู่อาศัยริมชายฝั่ง
นอกจากนี้ เพื่อให้บรรลุเป้าหมายดังกล่าว จำเป็นต้องสร้างระบบที่เอื้อต่อนวัตกรรมและการลงทุนในภาคเศรษฐกิจทางทะเล โดยนายปันจาอิตันกล่าวว่าภายใน 3 ปีข้างหน้า อินโดนีเซียจะดำเนินการกำจัดขยะพลาสติกทางทะเลเกือบ 30,000 ตันต่อวัน ซึ่งเป็นก้าวสำคัญที่จะทำให้อินโดนีเซียอยู่ในระดับแนวหน้าของดำเนินการปับปรุงท้องทะเลให้สะอาด จนถึงขณะนี้ อินโดนีเซียสามารถลดปริมาณขยะพลาสติกลงสู่ทะเลได้ 27%
นอกจากนี้ ป่าชายเลน 600,000 เฮกตาร์กำลังได้รับการฟื้นฟู และ 400,000 เฮกตาร์ได้รับการปลูกทดแทนแล้ว
สิ่งนี้ถือเป็นตัวอย่างที่ดีสำหรับประเทศหมู่เกาะ โดยเฉพาะประเทศในมหาสมุทรแปซิฟิกที่อาจได้รับผลกระทบจากอุณหภูมิโลกที่สูงขึ้น 1.5 องศา ซึ่งทำให้ระดับน้ำทะเลสูงขึ้น
เศรษฐกิจเมียนมามีเสถียรภาพแต่ภาคธุรกิจ ครัวเรือนประสบปัญหา
ในช่วงครึ่งแรกของปี 2566 แม้สถานการณ์เศรษฐกิจของเมียนมาจะมีเสถียรภาพบ้าง แต่ธุรกิจของประเทศยังคงเผชิญกับอุปสรรคต่างๆ จากรายงาน Myanmar Economic Monitor (มิถุนายน 2566) ประจำครึ่งปีของธนาคารโลก ในหัวข้อ “A Fragile Recovery – Special Focus on Employment, Incomes and Coping Mechanisms” นอกจากนี้ รายได้ของครัวเรือนยังคงเปราะบาง และมีความกังวลมากขึ้นเกี่ยวกับความมั่นคงทางอาหารในเมียนมาที่ปกครองโดยรัฐบาลทหาร
รายงานเน้นว่ากิจกรรมทางเศรษฐกิจในเมียนมาค่อยๆ ดีขึ้น แม้จะเริ่มต้นจากจุดต่ำสุดก็ตาม ในช่วงครึ่งแรกของปีนี้ อัตราแลกเปลี่ยนยังคงมีเสถียรภาพ และอัตราเงินเฟ้อที่เกี่ยวข้องกับราคาอาหารและเชื้อเพลิงลดลง
“อัตราแลกเปลี่ยนในตลาดมืดยังคงมีเสถียรภาพในวงกว้างระหว่างเดือนมกราคมถึงพฤษภาคม แม้จะลดลง 27% เมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ และเมื่อเทียบกับเดือนมิถุนายน 2565 และแรงกดดันด้านการอ่อนค่าก็เกิดขึ้นอีกครั้งในช่วงไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา อัตราอย่างเป็นทางการยังคงไม่เปลี่ยนแปลง แต่ยังมีส่วนต่างของอัตราแลกเปลี่ยนในตลาดมืดอยู่ 25-30%” รายงานกล่าว
อัตราเงินเฟ้อเฉลี่ยต่อปีคาดว่าจะลดลงเหลือ 14% ภายในเดือนกันยายน 2566 เทียบกับ 18.3% ในปีก่อนหน้า และคาดว่าจะลดลงอีกในปี 2567
GDPคาดว่าจะเติบโต 3% ในปีนี้จนถึงเดือนกันยายน 2566 ซึ่งยังคงต่ำกว่าระดับปี 2562 ประมาณ 10% รายงานยังระบุว่า เศรษฐกิจยังคงเผชิญกับข้อจำกัดด้านอุปสงค์และอุปทานที่สำคัญ ซึ่งเป็นอุปสรรคต่อเศรษฐกิจโดยรวม
รายงานระบุว่า เศรษฐกิจคาดว่าจะขยายตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไปในอีก 1-2 ปีข้างหน้า แต่จะไม่เท่าเทียม
ในการแถลงข่าวของธนาคารโลก มาเรียม เชอร์แมน ผู้อำนวยการธนาคารโลกประจำประเทศเมียนมา กัมพูชา และสปป.ลาว ระบุว่า “ในขณะที่เมียนมามีการขยายตัวทางเศรษฐกิจอีกครั้ง การเติบโตที่ไม่เท่าเทียมกันและคนจนที่สุดกำลังได้รับผลกระทบอย่างหนักจากวิกฤติติดต่อกัน”
“น่าเป็นห่วง ความก้าวหน้าในการป้องกันภาวะทุพโภชนาการดูเหมือนจะหยุดลงหรือกลับตาลปัตร มากกว่าครึ่งหนึ่งของครัวเรือนถูกสถานการณ์บีบให้ขายสินทรัพย์ กู้ยืมมากขึ้น หรือจำกัดการใช้จ่าย รวมถึงเรื่องสุขภาพและการศึกษา กลยุทธ์การรับมือดังกล่าวไม่เพียงแต่จะทำลายสวัสดิการในระยะสั้นเท่านั้น แต่ยังส่งผลต่อความสามารถในการหารายได้ในระยะยาวอีกด้วย”
รายงานระบุว่า แนวโน้มเศรษฐกิจของเมียนมาเผชิญกับความเสี่ยงหลายประการ ความขัดแย้งที่ทวีความรุนแรงขึ้น การหยุดชะงักของการผลิตไฟฟ้า แรงกดดันด้านเงินเฟ้ออย่างต่อเนื่อง การจำกัดการนำเข้า และความเสื่อมโทรมของสภาพแวดล้อมทางธุรกิจที่พังทลายในเมียนมา
จากรายงาน ธุรกิจจำนวนมากกำลังต่อสู้กับข้อจำกัดที่ขัดขวางความก้าวหน้าา ราคาที่สูงและข้อจำกัดในการนำเข้าทำให้ธุรกิจได้รับปัจจัยการผลิตที่จำเป็นสำหรับการดำเนินธุรกิจได้ยาก กำไรที่รายงาน ยกเว้นในภาคการเกษตร ลดลงเมื่อเทียบกับปีบัญชีก่อนหน้า สาเหตุหลักมาจากราคาของปัจจัยการผลิตนำเข้าที่เพิ่มขึ้นอย่างมากในช่วงเวลาดังกล่าว
นอกจากนี้ จากราคาอาหารที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่องและความเปราะบางของตลาดแรงงานอย่างต่อเนื่อง รายได้ครัวเรือนในเมียนมายังคงเผชิญกับแรงกดดันอย่างมาก จากรายงาน ผลกระทบต่อการจ้างงานและรายได้นั้นรุนแรงเป็นพิเศษในรัฐและภูมิภาคที่ได้รับผลกระทบอย่างหนักจากความขัดแย้งด้านกองกำลังที่กำลังดำเนินอยู่
“เมื่อรวมกันแล้ว ทั้งการจ้างงานที่อ่อนแอ ชั่วโมงการทำงานน้อยลง และการเพิ่มขึ้นของงานชั่วคราวหรืองานอิสระได้ลดความสามารถในการหารายได้ของหลายครอบครัว ค่าจ้างที่แท้จริงลดลงโดยเฉลี่ย 15% ใระหว่างปี 2560-2565 และเกือบครึ่งหนึ่งของครัวเรือนในเมียนมามีรายได้ลดลงในช่วงปี 2565” เอกสารข่าวของธนาคารโลกระบุ
นอกจากนี้ความมั่นคงด้านอาหารและโภชนาการแย่ลงในช่วงครึ่งแรกของปี 2566 โดยมีความกังวลเพิ่มขึ้นอย่างมากเกี่ยวกับการขาดแคลนอาหารในครัวเรือนเกษตรกรรม
“ด้วยเหตุนี้ ความมั่นคงทางอาหารและโภชนาการจึงดูแย่ลงในช่วงครึ่งแรกของปี 2566 โดยกลไกการรับมือเริ่มตึงเครียดมากขึ้น จากการสำรวจของธนาคารโลกในเดือนพฤษภาคม 2566 พบว่า 48%ของครัวเรือนเกษตรกรกังวลเกี่ยวกับการมีอาหารไม่เพียงพอ เพิ่มขึ้นจากประมาณ 26%ในเดือนพฤษภาคม 2565 การสำรวจยังแสดงให้เห็นว่าการบริโภคอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการ เช่น นม เนื้อ ปลา และไข่ ลดลงอย่างเห็นได้ชัดใน”
รายงานระบุว่า กลไกการรับมือของครัวเรือนได้รับความตึงเครียดเนื่องจากผลกระทบสะสมของวิกฤติต่างๆ ต่อรายได้ การจ้างงาน และราคา กว่าครึ่งหนึ่งของครัวเรือนในเมียนมาหันไปใช้วิธีลดการถือครองทรัพย์สิน กู้ยืมมากขึ้น หรือลดการใช้จ่าย ส่วนแนวทางการแก้ปัญหา สัดส่วนของครัวเรือนที่มีขนาดเล็กแต่ยังคงมีนัยสำคัญ (5.8%) ได้เลือกแนวทางย้ายถิ่นฐานระยะยาว โดยการย้ายถิ่นส่วนใหญ่เกิดขึ้นภายในเมียนมามากกว่าไปยังประเทศต่างๆ เช่น ไทยหรือมาเลเซีย ครัวเรือนที่ย้ายถิ่นฐานในพม่าตั้งแต่ปี 2564 มีโอกาสน้อยที่จะเป็นเจ้าของทรัพย์สิน ประสบกับการสูญเสียรายได้มากขึ้น และมีแนวโน้มที่จะต้องทำงานมากกว่าครัวเรือนอื่นๆ ในเมืองเดียวกัน
ธนาคารโลกยังกล่าวอีกว่าการตัดไฟยังคงเป็นความท้าทายที่สำคัญ
“ไฟฟ้าดับกลายเป็นความท้าทายที่เด่นชัดยิ่งขึ้นตั้งแต่ต้นปี 2566 โดย 42% ของบริษัททั้งหมดและกว่าครึ่งของบริษัทผู้ผลิตรายงานว่าไฟฟ้าดับเป็นข้อจำกัดที่สำคัญที่สุดในการดำเนินงานในเดือนมีนาคม” รายงานระบุ
ธนาคารโลกยังจัดสัมมนาออนไลน์เปิดตัวรายงานในช่วงเช้าของวันที่ 27 มิถุนายน โดย คิม อลัน เอ็ดเวิร์ดส์ นักเศรษฐศาสตร์อาวุโสกล่าวถึงการตัดไฟระหว่างการสัมมนาเปิดตัวรายงานผ่านระบบออนไลน์ว่า “คงเห็นแล้วว่า ในบางส่วน ไฟฟ้าดับเป็นส่วนใหญ่ของวันแม้แต่ในย่างกุ้ง โดยเฉลี่ยแปดชั่วโมงต่อวัน ในช่วงเดือนมี.ค.-พ.ค. ในพื้นที่อื่น การจ่ายกระแสไฟฟ้านี้แย่ลงไปอีก และถ้ามองผลกระทบต่อธุรกิจ นั่นหมายความว่าพวกเขาถูกบังคับให้ต้องพึ่งพาเครื่องกำเนิดไฟฟ้าดีเซลและแหล่งพลังงานทางเลือกหากต้องการดำเนินการต่อไป และสิ่งเหล่านี้ มักจะมีราคาแพงกว่าการพึ่งพาโครงข่ายไฟฟ้าที่มี นี่จึงเป็นอีกหนึ่งต้นทุนที่เพิ่มขึ้นของการทำธุรกิจในเมียนมาในขณะนี้”