ThaiPublica > เกาะกระแส > ทัศนะ ‘George Yeo’ อดีตรมต. ต่างประเทศสิงคโปร์ เรื่องการต่อสู้ช่วงชิงอำนาจ จีน-สหรัฐฯ

ทัศนะ ‘George Yeo’ อดีตรมต. ต่างประเทศสิงคโปร์ เรื่องการต่อสู้ช่วงชิงอำนาจ จีน-สหรัฐฯ

5 มิถุนายน 2023


รายงานโดย ปรีดี บุญซื่อ

หลี่ ฉางฟู รัฐมนตรีกลาโหมของจีน ที่มาภาพ : https://en.wikipedia.org/wiki/Li_Shangfu#/media/File:Li_Shangfu_(2023)_(cropped).jpg

ในการประชุม Shangri-La Dialogue เมื่อวันที่ 2-4 มิถุนายน 2566 ที่สิงคโปร์ หลี่ ฉางฟู รัฐมนตรีกลาโหมของจีน ปฏิเสธที่จะพบปะหารือนอกรอบการประชุม กับนายลอยด์ ออสติน รัฐมนตรีกลาโหมสหรัฐฯ ทางการจีนกล่าวว่า การปฏิเสธการหารือมาจากการคว่ำบาตรของสหรัฐฯ ที่มีต่อผู้นำทหารและบริษัทของจีน สิ่งนี้สะท้อนความสัมพันธ์ที่เลวร้ายลงของสองมหาอำนาจ

สาระสำคัญของคำปราศรัยในที่ประชุมของ ลอยด์ ออสติน คือการสร้างความชอบธรรม ต่อปฏิบัติการทางทหารของสหรัฐฯ ทั้งในทางอากาศและทางทะเล ใกล้พรมแดนจีน สร้างพันธมิตรของสหรัฐฯในภูมิภาคให้เข้มแข็งมากขึ้น และสัญญาที่จะให้การสนับสนุนไต้หวันต่อไป ทั้งสามประเด็นล้วนสร้างความไม่พอใจอย่างมากจากจีน

ส่วน หลี่ ฉางฟู กล่าวต่อที่ประชุม Shangri-La Dialogue ว่า ความขัดแย้งกับสหรัฐฯ จะกลายเป็นหายนะภัย ที่ไม่อาจยอมรับได้ ทัศนะคติแบบสงครามเย็นกลับมามีพลังใหม่ในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ทำให้ความเสี่ยงด้านความมั่นคงเพิ่มขึ้นอย่างมาก

แต่จีนแสวงหาการเจรจาหารือมากกว่าการเผชิญหน้า โลกเรานั้นใหญ่พอที่จีนกับสหรัฐฯจะเติบโตไปด้วยกัน

วิกฤติน่ากังวลสุดของภูมิภาค

ในการให้สัมภาษณ์กับเว็บไซต์ Spiegel International (spiegel.de) George Yeo อดีตรัฐมนตรีต่างประเทศ สิงคโปร์ ในช่วงปี 2004-2011 กล่าวว่า วิกฤติที่น่ากังวลมากที่สุดของภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก คือพัฒนาความสัมพันธ์สหรัฐ-จีน จีนกำลังเดินบนเส้นทางที่จะกลายเป็นประเทศเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดของโลก จีนจะเป็นประเทศมหาอำนาจสมบูรณ์รอบด้าน และสหรัฐฯรู้สึกว่าถูกคุกคามจากสิ่งนี้ คุกคามต่อฐานะนำของสหรัฐฯในโลก สหรัฐฯจึงพยายามทุกด้าน ที่จะชะลอการพุ่งขึ้นมาของจีน หรือแม้กระทั่งทำให้จีนพังลง หากสิ่งนี้เป็นไปได้ จีนเองก็รู้ในเรื่องนี้

ในเรื่องที่ว่า จีนกำลังยกระดับคลังแสงอาวุธนิวเคลียร์ จากปัจจุบันมีหัวรบราว 400 ลูกเป็น 1,000-1,500 ลูก George Yeo ตอบว่า การที่จีนจะเพิ่มหัวรบนิวเคลียร์มากขึ้น เป็นเรื่องความจำเป็นของจีน ที่จะมีความสามารถในการโจมตีครั้งที่สอง (second-strike) หรือการมีอาวุธนิวเคลียร์มากพอ ที่จะทำการโจมตีโต้กลับ เมื่อถูกโจมตีก่อน จีนรู้ว่าสหรัฐฯไม่ต้องการให้จีนมีความสามารถในเรื่องการโต้กลับนี้
ในส่วนของสหรัฐฯมองว่า หากสหรัฐฯไม่สามารถรักษาสมรรถนะการป้องปรามหรือยับยั้งด้วยอาวุธนิวเคลียร์ จีนจะเป็นฝ่ายมีชัยชนะเหนือไต้หวัน ด้วยสงครามตามแบบแผน ด้วยเหตุนี้ สหรัฐฯจึงต้องการที่จะสามารถข่มขู่จีน จากการโจมตีทางนิวเคลียร์

ความสำคัญของทะเลจีนใต้

George Yeo อดีตรัฐมนตรีต่างประเทศสิงคโปร์ ที่มาภาพ : เฟซบุ๊ก George Yeo

George Yeo กล่าวอธิบายต่อไปว่า ในจุดนี้คือหนึ่งในเหตุผลที่ว่า ทำไมจึงมีการให้ความสนใจกันอย่างมากต่อทะเลจีนใต้ ไม่ใช่เพราะความสำคัญเรื่องเสรีภาพในการเดินเรือทางทะเล ซึ่งในเรื่องนี้ไม่เคยเป็นประเด็นปัญหาเลย แต่ความสำคัญคือเรื่องสงครามเรือดำน้ำ ในทัศนะของจีน หากฝ่ายตรงกันข้ามสามารถระบุตำแหน่งเรือดำน้ำติดอาวุธนิวเคลียร์ของจีนได้ทั้งหมด การที่จีนสามารถเพิ่มหัวรบนวเคลียร์จาก 500 เป็น 1,000-1,500 หัวรบ แม้ถูกทำลายลงไป 95% จีนก็ยังมีอาวุธนิวเคลียร์เหลืออยู่ที่จะโต้กลับ

George Yeo กล่าวว่า พัฒนาการที่เกิดขึ้น จึงเป็นเรื่องการต่อสู้ระหว่างยักษ์ใหญ่ สหรัฐฯ-จีน และไม่กระทบโดยตรงต่อประเทศอื่นในภูมิภาคนี้ เนื่องจากจีนไม่มีเจตนาที่จะข่มขู่ประเทศอื่นด้วยอาวุธนิวเคลียร์ จีนไม่มีความจำเป็นต้องทำแบบนี้ เพราะกำลังทหารตามแบบแผน ก็ใหญ่กว่าประเทศอื่นอยู่มากแล้ว จีนยังสามารถใช้การค้าเป็นเครื่องมือทางการเมือง

Spiegel International ถามว่า ภูมิภาคแปซิฟิกจะพัฒนาแบบเดียวกับทางแอตแลนติกหรือไม่ โดยมีพันธมิตรความมั่นคงทางทหาร แบบเดียวกับองค์การ NATO George Yeo ตอบว่า ส่วนตัวไม่คิดว่าจะเป็นแบบนี้ เพราะเงื่อนไขทางประวัติศาสตร์ของเอเชียตะวันออกแตกต่างออกไป ในยุโรป นับจากการสิ้นสุดของอาณาจักรโรมัน ก็ไม่มีประเทศไหนที่มีอำนาจนำประเทศเดียว

กรณีเอเชียตะวันออกแตกต่างออกไป ในเวลาใดที่จีนรวมเป็นปึกแผ่น ก็จะมีอำนาจครอบงำ แต่สิ่งที่เราเห็นคือประวัติศาสตร์ซ้ำรอยแบบอดีต การมีอำนาจครอบงำของจีน เป็นเรื่องเศรษฐกิจ และในระดับน้อยลงมาคือทางการเมือง จีนไม่เคยครอบงำทางทหาร แบบเดียวกับที่เคยเกิดขึ้นในยุโรป

George Yeo กล่าวถึงการที่จีนไม่ยึดครองดินแดนประเทศอื่น โดยหยิบยกความคิดในอดีตของจีนว่า เราอาจชนะสงคราม เข่นฆ่าผู้คน และยึดครองพื้นที่ แล้วหลังจากนั้นคืออะไรจะเกิดขึ้นตามมา ภูมิปัญญาในอดีตของจีนถูกถ่ายทอดออกมาอยู่ในวรรณกรรม “สามก๊ก” (Romance of the Three Kingdoms)

เรื่องราวตอนหนึ่งที่ขงเบ้ง หรือจู กัดเหลียง (Zhuge Liang) สามารถพิชิต “ผู้นำพวกป่าเถื่อนทางใต้” แล้วเหตุการณ์ยากลำบากก็เกิดขึ้น เมื่อพวกป่าเถือนกลับมาต่อสู้อีกหลายครั้ง มีคนถามขงเบ้งว่า ทำไม่ไม่ฆ่าคนพวกนี้เสีย ขงเบ้งตอบว่า ก็จะเกิดคนใหม่ขึ้นมาอีก และทำไมไม่ยึดครองดินแดนของคนพวกนี้ ขงเบ้งตอบว่า เพราะในจุดนี้แหละที่ปัญหาต่างๆจะเกิดขึ้นมา แต่ในที่สุด ความสงบก็เกิดขึ้น พวกป่าเถื่อนที่ปกครองยากก็ยอมสงบลง

Spiegel International ถามว่า อะไรจะเกิดขึ้น หากว่าไต้หวันประกาศตัวเป็นเอกราช George Yeo ตอบว่าไต้หวันจะทำอย่างนั้นได้ ก็ด้วยการสนับสนุนของสหรัฐฯ แต่สหรัฐฯไม่สามารถทำเช่นนี้ได้ เพราะหมายถึงสงคราม ความสัมพันธ์ของสหรัฐฯกับจีน ตั้งบนนโยบายจีนเดียว

จีนสามารถรับได้ที่สหรัฐฯจะไม่ส่งเสริม การรวมเป็นหนึ่งเดียวระหว่างจีนกับไต้หวัน แต่การไปสกัดกั้นไม่ให้เกิดการรวมเป็นหนึ่งเดียว อาจหมายถึงสงคราม ดังนั้น จึงมีเส้นแดงระหว่างจุดยืนของสองฝ่าย ที่ไม่ยอมให้อีกฝ่ายข้ามมา ทั้งสองฝ่ายจำเป็นต้องหารือกัน เพื่อไม่ให้เกิดอุบัติเหตุขึ้นมา

ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ร่วมกับหลิว เหอ รองนายกรัฐมนตรีจีน ลงนามในข้อตกลงการค้าจีนเฟสหนึ่งของสหรัฐฯ ในวันพุธที่ 15 มกราคม 2020 ที่มาภาพ : https://upload.wikimedia.org/wikipedia/commons/

หากทรัมป์กลับมามีอำนาจใหม่

Spiegel International ถามว่า ในยุโรป มีความกังวลถึงความเป็นไปได้ที่ โดนัลด์ ทรัมป์ จะได้รับเลือกตั้งมาเป็นประธานาธิบดีใหม่อีกครั้ง สิ่งนี้จะมีความหมายอย่างไรต่อเอเชีย George Yeo ตอบว่า ทรัมป์อาจเป็นคนที่มีพฤติกรรมที่ยอมรับไม่ได้ และเปลี่ยนไปเปลี่ยนมาอย่างสิ้นเชิง

แต่มีเพื่อนมิตรคนหนึ่งบอกว่า สิ่งที่เป็นแก่นแท้ของตัวทรัมป์ ที่ค่อนข้างแน่นอน คือทรัมป์ต่อต้านการอพยพเข้าประเทศที่ไม่มีการควบคุม ทรัมป์ต่อต้านการค้าเสรี ทรัมป์สนับสนุนธุรกิจ และทรัมป์ต่อต้านสงคราม ดังนั้น สิ่งที่เป็นแก่นแท้ของทรัมป์ จะไม่มีการเปลี่ยนแปลง
หลังจากที่ โจ ไบเดน ได้รับเลือกตั้ง หลายคนคิดว่า การเมืองอเมริกาจะมีการจัดระเบียบใหม่ในขั้นพื้นฐาน แต่จริงๆแล้ว ไบเดนดำเนินการในสิ่งที่เป็นแนวโน้มทิศทางของทรัมป์ ให้ลึกลงไปอีก ใน 4 ประเด็นเกี่ยวกับทรัมป์ พวกดีโมแครตมีแนวโน้มที่จะใช้กำลังทหารมากกว่าพวกรีพับลิกัน

อเมริกาจะยอมรับโลกหลายขั้วหรือไม่

George Yeo บอกว่า เป็นสิ่งที่ชัดเจนว่า โลกเราเคลื่อนย้ายออกจากโลกสองขั้วอำนาจ มาสู่โลกหลายขั้วอำนาจ เพื่อให้เป็นโลกที่มีเสถียรภาพและมีพลังด้านบวก จำเป็นต้องมีโครงสร้างสำหรับโลกหลายขั้ว สองขั้วคือสหรัฐฯกับยุโรปจะมีความใกล้ชิดกัน เพราะยุโรปจำเป็นต้องอาศัยการปกป้องจากสหรัฐฯ ส่วนจีนคือขั้วที่เข้มแข้ง ที่มีอิทธิพลในดินแดนพื้นที่รอบนอก รัสเซียจะใกล้ชิดกับจีน ตราบใดที่ยังไม่มีข้อตกลงสันติภาพในยูเครน ภาพโดยรวมของโลกใหม่ คือสหรัฐฯจะอยู่ที่หัวแถวของคนที่เท่ากัน (first among equals) ที่เป็นเช่นนี้ เพราะสหรัฐฯมีความเชื่อมโยง และมี “ซอฟต์แวร์” ของบทบาทดังกล่าว

ในขณะนี้ สหรัฐฯยังต่อต้านการเกิดขึ้นของโลกแบบหลายขั้ว จึงยังไม่มีบทบาทที่สอดคล้องกับสภาพใหม่ดังกล่าว แต่เมื่อสหรัฐฯให้การยอมรับว่า โลกเรามีหลายขั้ว ก็ควรจะเข้ารับบทบาทดังกล่าว ยุโรปต้องการให้สหรัฐฯเป็นคนแรกในหมู่คนที่เท่ากัน สิงคโปร์ก็ต้องการแบบเดียวกันนี้ ในที่สุด จีนก็คงจะให้การยอมรับ แม้จะไม่กล่าวออกมาก็ตาม

เอกสารประกอบ
What the Future Might Hold for Asia: Every Time China has Been United, It Has Dominated”, Spiegel.de, 3 June 2023.