รายงานโดย ปรีดี บุญซื่อ
เว็บไซต์ bbc.com กล่าวถึงระบบการออกวีซาใหม่ของอังกฤษว่า นักศึกษาที่สำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัยชั้นนำของโลก ที่อยู่นอกอังกฤษ สามารถสมัครขอวีซาเข้าอังกฤษได้เลย เพื่อที่จะมาทำงาน นักศึกษาจบปริญญาตรีจะได้รับอนุญาตทำงาน 2 ปี หากมีคุณสมบัติ ยังสามารถยื่นขอวีซาทำงานระยะยาว
นักศึกษาต่างชาติที่จะขอวีซา ต้องจบจากมหาวิทยาลัย ที่ติดอันดับ 50 มหาวิทยาลัยชั้นนำของโลก ในการจัดอันดับโดยหน่วยงาน 3 แห่งของอังกฤษ เช่น The Times Higher Education World University Ranking ทางรัฐบาลอังกฤษได้นำรายชื่อมหาวิทยาลัยชั้นนำ 50 แห่งของปี 2021 ขึ้นในเว็บไซต์ www.gov.uk โดยมหาวิทยาลัยสิงคโปร์ที่ติดอันดับ 2 แห่งคือ Nanyang Technological University และ National University of Singapore
อดีตไม่มีแม้แต่การศึกษาภาคบังคับ
หนังสือชื่อ Solved: How other countries have cracked the world’s biggest problems (2022) บอกว่า สิงคโปร์สามารถสร้างระบบการศึกษาที่ดีที่สุดของโลก ขึ้นมาจากรากฐานหรือจุดเริ่มต้น ที่แทบจะเป็นไปไม่ได้เลย เมื่อ 50 ปีที่แล้ว สิงคโปร์เป็นเกาะเขตร้อนที่ยากจน ไม่มีทรัพยากรธรรมชาติ แม้แต่น้ำจืด เศรษฐกิจมีมูลค่าน้อยกว่าชิลี หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 และการเข้าเป็นส่วนหนึ่งของมาเลเซียที่ล้มเหลว สิงคโปร์ยังไม่มีแม้แต่ระบบการศึกษาภาคบังคับ คนที่จบมัธยมปลายมีไม่มาก เมื่อขาดคนงานที่มีทักษะ การว่างงานทั่วไปจึงสูงมาก
ศาสตราจารย์ Saravanan Gopinathan อดีตคณบดี คณะศึกษาศาสตร์ของ Nanyang Technological University ที่ชีวิตคู่ขนานไปกับการพัฒนาการศึกษาในสิงคโปร์ อธิบายไว้ในหนังสือ Solved ว่า หลังสงครามโลก คำถามสำคัญของสิงคโปร์คือ จะเป็นรัฐชาติ(nation-state) ที่มีความสามาถในตัวเองอย่างไร เพราะเป็นเกาะเล็กๆ ขาดทรัพยากรธรรมชาติ ในเมื่อขนาดตลาดเศรษฐกิจก็เล็ก จึงตั้งเป้าหมายการพัฒนา ที่จะออกจากการเป็นเมืองท่าค้าขาย ไปสู่การผลิตเพื่อส่งออก สิงคโปร์จึงต้องการแรงงานมีฝีมือ ที่อ่านออกเขียนได้
สิ่งนี้อธิบายว่าทำไมสิงคโปร์ให้ความสำคัญแก่การศึกษา และการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ เนื่องจากเป็นประเทศหลายเชื้อชาติ คนจีนมีสัดส่วน 76% ของประชากร มาเลย์ 15% และอินเดีย 7.5% เพื่อรักษาความหลากหลายทางภาษา รัฐบาลสิงคโปร์ตัดสินใจมาหลายสิบปีแล้วว่า อังกฤษจะเป็นภาษาใช้สอนในโรงเรียน แต่เด็กนักเรียนก็ต้องเรียนภาษาแม่ของตัวเอง เวลาผ่านมา พิสูจน์ว่าตัดสินใจถูกต้อง ทำให้สิงคโปร์เป็นศูนย์กลางธุรกิจโลกอยู่ในใจกลางเอเชีย
ความหลากหลายทางเชื้อชาติ ทำให้สิงคโปร์สร้างจุดแข็งขึ้นมาอีกอย่างหนึ่ง คือการให้ความสำคัญของระบบคุณธรรมความสามารถ (meritocracy) ระบบนี้หมายความว่า คนเราจะมีฐานะและได้รับผลตอบแทน จากสิ่งที่เป็นความสำเร็จของคนๆนั้น ไม่ใช่จากความมั่งคั่งและฐานะทางสังคม
Gopinathan อธิบายว่า สิงคโปร์แยกออกจากมาเลเซีย ส่วนหนึ่งมาจากรัฐธรรมนูญมาเลเซียระบุเรื่อง ethnic affirmative action คือคนท้องถิ่นมาเลย์ต้องมีโควตาในโอกาสด้านต่างๆ
การตัดสินใจดำเนินการในช่วงแรกการสร้างประเทศจึงมีความสำคัญ เพราะเป็นรากฐานแก่ความสำเร็จในเวลาต่อมา ช่วงเวลา 50 ปี สิงคโปร์เปลี่ยนจากเกาะที่มีสภาพยากจนแบบโลกที่ 3 มาเป็นนครรัฐมั่งคั่ง เป็นมิตรต่อการทำธุรกิจ มีวิถีชีวิตเมืองสูง และให้ความสำคัญต่อการศึกษา นักเรียนสิงคโปร์ประสบความสำเร็จสูง ในด้านการอ่าน วิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ และทักษะร่วมในการแก้ปัญหา โดยการสนับสนุนของระบบการศึกษา ที่เป็นโรงเรียนของรัฐแทบทั้งหมด
ภาพรวมของสิงคโปร์
สิงคโปร์มีประชากร 5.5 ล้านคน มากว่าฟินแลนด์หรือนอร์เวย์ พื้นที่เท่ากับ 2 ใน 3 ของนิวยอร์ก รายได้ต่อคนสูงกว่าสหรัฐฯ หรือออสเตรเลีย เป็นประเทศคอร์รัปชันน้อยสุดอันดับ 3 ของโลก รองจากเดนมาร์กและนิวซีแลนด์ รายได้จากภาษีมีแค่ 14.1% ของ GDP ขณะที่สหรัฐฯ 24.3% แต่รายได้จากรัฐวิสาหกิจของรัฐบาลสิงคโปร์ มีสัดส่วนถึง 23.3% ของ GDP
แม้สิงคโปร์จะมีเศรษฐกิจตลาดเสรี แต่รัฐบาลมีบทบาทสูงมาก ภาครัฐมีบทบาทเป็นนักลงทุน เป็นตัวกระตุ้นการพัฒนาเศรษฐกิจ และการพัฒนานวัตกรรม บริษัทของรัฐมีธุรกรรมเรื่องการต่อเรือ การขนส่งทางอากาศ และธนาคารการพัฒนา เทมาเสค (Temasek) กองทุนการลงทุนของรัฐบาลมีรายได้ 75 พันล้านดอลลาร์ ในปี 2016 หรือ 18% ของ GDP คนสิงคโปร์ 80% อาศัยอยู่โครงการบ้านของรัฐ และรัฐบาลสิงคโปร์ดำเนินงานระบบโรงเรียนแทบทั้งหมด
หนังสือ Solved บอกว่า การศึกษาของสิงคโปร์ได้รับเงินสนับสนุนอย่างดี ช่วงอายุ 6-15 ปี รัฐใช้เงิน 109,060 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อนักเรียน 1 คน สูงกว่าเยอรมัน 11%
เมื่อายุ 7 ขวบ เด็กจะเข้าเรียนประถมศึกษา 7 ปี หลังจากจบประถมศึกษาจะมีการสอบการจบประถมศึกษา เรียกว่า Primary School Leaving Examination (PSLE) เพื่อกำหนดว่า นักเรียนจะเรียนมัธยมศึกษาแบบไหน คือแบบทางด่วน แบบธรรมดา และแบบสายอาชีพ
ผลงานความสำเร็จในด้านการศึกษาของสิงคโปร์ จึงเป็นเสาหลักของการพัฒนาเศรษฐกิจ David Hogan ผู้เชี่ยวชาญการศึกษาจากออสเตรเลีย และเป็นที่ปรึกษาแก่รัฐบาลสิงคโปร์กล่าวว่า สิงคโปร์ทำได้ดีในเรื่องเศรษฐกิจ เพราะสามารถส่งสัญญาณให้แก่นักลงทุนว่า สิงคโปร์มีแรงงานที่มีคุณภาพจริงๆ
ความสำเร็จจากโรงเรียนรัฐบาล
หนังสือ Solved กล่าวว่า โดยพื้นฐานแล้ว ความสำเร็จของการศึกษาสิงคโปร์ คือระบบโรงเรียนรัฐบาล 98.5% ของนักเรียนเข้าเรียนในโรงเรียนรัฐบาล โรงเรียนเอกชนส่วนใหญ่รับนักเรียนจากครอบครัวคนต่างชาติ การศึกษาใช้ระบบวัดความสามารถนักเรียนตั้งแต่ในระยะแรกๆ ทำให้มีการสอบอย่างเข้มงวดมาก
ผู้ปกครองมักได้รับการบอกเล่าว่า ชั้นเรียนที่มีนักเรียนจำนวนไม่มาก ช่วยส่งเสริมการเรียน แต่ห้องเรียนของสิงคโปร์ถือได้ว่า มีจำนวนนักเรียนมากที่สุดในโลก ห้องเรียนชั้นมัธยมมีนักเรียนเฉลี่ย 35.5 คน ขณะที่ฟินแลนด์มี 17.8 คน อังกฤษมี 23.9 คน และสหรัฐฯ 27 คน
ความสำเร็จด้านการศึกษาสิงคโปร์ มาจากการลงทุนในคุณภาพของครู และการยกฐานะศักดิ์ศรีของอาชีพครู เพื่อดึงดูดนักศึกษาจบใหม่เข้าสู่อาชีพนี้ การจ้างครูเริ่มจากเป็น “เจ้าหน้าที่รัฐ” ครูที่สอนชั้นประถมและมัธยม มีประสบการณ์มาแล้ว 10-20 ปี มีรายได้ปีหนึ่ง 55,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ หรือ 1.6 ล้านบาท ซึ่งสูงกว่ารายได้เฉลี่ยระดับกลางของสิงคโปร์
ครูแต่ละคนจะมีเวลาปีหนึ่ง 100 ชั่วโมง ในการพัฒนาอาชีพ ผ่านหลักสูตรอบรมของสถาบันการศึกษาแห่งชาติ การประเมินผลงานจะมีทุกปี โดยครูที่มีผลงานดีเด่นจะได้รับโบนัส หลังจากทำงานมา 3 ปี จะมีการประเมินผลงานครูแต่ละคนว่า มีศักยภาพที่จะเป็นครูหัวหน้าวิชา ผู้บริหารการศึกษา หรือครูผู้เชี่ยวชาญเฉพาะวิชา สิ่งนี้จะเป็นตัวกำหนดการเพิ่มขึ้นของเงินเดือน
ครูหัวหน้าวิชาจะทำหน้าที่ดูกำกับแลครูที่เข้ามาใหม่ การดูแลจะนานหลายปี เน้นในเรื่องความชำนาญในการสอน ครูบริหารการศึกษาจะย้ายมาทำงานฝ่ายบริการโรงเรียน เพื่อพัฒนาต่อไปเป็นผู้ช่วยครูใหญ่ และครูใหญ่ ส่วนครูผู้เชี่ยวชาญวิชาเฉพาะจะสนับสนุนทางวิชาการที่ลึกมากขึ้นแก่ครูผู้สอน
David Hogan ให้ความเห็นว่า เหตุผลหลักอย่างหนึ่งที่สิงคโปร์ประสบความสำเร็จด้านการศึกษามากคือ คุณภาพของผู้บริหารการศึกษา ตั้งแต่ระดับสูงลงมาจนถึงระดับกลาง คนเหล่านี้มีแนวคิดชัดเจนว่า อะไรคือสิ่งที่สำคัญ และเข้าใจถึงสิ่งที่จะต้องทำ ไม่ว่าจะเป็นหลักสูตร การสอน การพัฒนาบุคลากร ล้วนประสานเป็นแนวนอนเดียวกัน
บทเรียนการศึกษาจากสิงคโปร์
หนังสือ Solved กล่าวว่า ประเทศต่างๆสามารถเรียนรู้ความสำเร็จในด้านศึกษาของสิงคโปร์ ประการแรก ให้คุณค่าแก่อาชีพความเป็นครู ครูผู้สอนและการสอนคือหัวใจระบบการศึกษาสิงคโปร์ สิงคโปร์คัดเลือกครูจากนักศึกษาที่มีผลงานดีเลิศ และมีระบบการพัฒนาครูผู้สอน เช่นการอบรมต่อเนื่อง ระบบครูพี่เลี้ยง การเรียนรู้แบบเป็นทีม และการสังเหตุการสอนในชั้นเรียน
ประการที่ 2 สิงคโปร์พิสูจน์ว่า ระบบโรงเรียนรัฐบาลที่มีทรัพยากรอย่างดีและมีการจัดการที่ดี สามารถสร้างระบบการศึกษาดีที่สุดของโลก สิงคโปร์แสดงให้เห็นว่า การลงทุนด้านการศึกษา อาจจะมีผลงานทางการศึกษาที่มองไม่เห็นเป็นรูปเป็นร่าง แต่ระบบการศึกษาที่มีคุณภาพ นำไปสู่การสร้างแรงงานที่มีทักษะ ทำให้เศรษฐกิจและสังคมเข้มแข็ง
ประการที่ 3 การใช้การประเมินผลการศึกษาอย่างมีความหมาย ระบบการสอบเป็นตัวขับเคลื่อนต่อนักเรียน ให้เกิดการเรียนรู้ที่ดีขึ้น และการบรรลุความสำเร็จ ระบบการสอบช่วยทำให้ครูสามารถประเมินความก้าวหน้าของนักเรียนแต่ละคน
ประการที่ 4 คือความต่อเนื่องของนโยบายการศึกษา สิงคโปร์มีรัฐบาลจากพรรคการเมือง เดียวต่อเนื่องมากกว่า 50 ปี ทำให้นโยบายการศึกษามีความต่อเนื่องมานาน ทำให้ผู้บริหารการศึกษาสามารถมองการพัฒนาการศึกษาได้ในเชิงยุทธศาสตร์ระยะยาว
นักปราชญ์ฝรั่งเศส Joseph de Maistre เคยกล่าวประโยคโด่งดังไว้ว่า
“ทุกชาติจะได้รัฐบาลที่ตัวเองสมควรจะได้รับ” (every nation gets the government it deserves) บางคนแปลความหมายว่า ประชาชนเป็นอย่างไร เราก็จะได้รัฐบาลแบบนั้น
การศึกษาที่ทำให้ประชากรมีคุณภาพ ทำให้สิงคโปร์สามารถมีรัฐบาล ที่มีความสามารถ ในอันที่จะรับมือกับปัญหาท้าทายที่ใหญ่หลวงในอนาคตข้างหน้า
เอกสารประกอบ
Solved: How other countries have cracked the world’s biggest problems and we can too, Andrew Wear, Black In., 2022.