ThaiPublica > เกาะกระแส > นายกฯ ยังอยู่ พปชร.-ปัดตั้งชื่อ “พรรครวมไทยสร้างชาติ”-มติ ครม. จ่ายค่าตอบแทนบุคลากร สธ. 14,510 ล้านบาท

นายกฯ ยังอยู่ พปชร.-ปัดตั้งชื่อ “พรรครวมไทยสร้างชาติ”-มติ ครม. จ่ายค่าตอบแทนบุคลากร สธ. 14,510 ล้านบาท

2 สิงหาคม 2022


พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม
ที่มาภาพ: www.thaigov.go.th

นายกฯ ยังอยู่ พปชร. – ปัดตั้งชื่อ “พรรครวมไทยสร้างชาติ”-เร่งแก้ ‘ค่าเงินบาท’ มั่นใจปีหน้าจีดีพีโต 4.2%-โชว์ผลงานแก้ปัญหาปากท้อง-มติ ครม. จ่ายค่าตอบแทนบุคลากรแพทย์-สธ. 14,510 ล้านบาท-จัดงบฯ 2,021 ล้าน ฉีดวัคซีนคนไร้สิทธิ-ต่างชาติ-อนุมัติงบกลาง 1,249 ล้าน หนุน ‘ชุมชนดีพร้อม’

เมื่อวันที่ 2 สิงหาคม 2565 พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธานการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ณ โถงกลาง ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล ภายหลังการประชุม นายกรัฐมนตรีมอบหมายให้ ดร.ธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี รายงานข้อสั่งการแทนนายกรัฐมนตรี

เร่งแก้ ‘ค่าเงินบาท’ มั่นใจปีหน้าจีดีพีโต 4.2%

พลเอก ประยุทธ์ กล่าวว่า ในที่ประชุม ครม. วันนี้ได้มีการรายงานภาวะ และแนวโน้มเศรษฐกิจไทยในไตรมาส 2/2565 โดยสรุปได้ว่าเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มในทางที่ดี เนื่องจากจีดีพีมีแนวโน้มขยายตัวอย่างต่อเนื่องที่ร้อยละ 3.3 ในปี 2565 และคาดว่าจะเพิ่มเป็นร้อยละ 4.2 ในปี 2566 จากการฟื้นตัวของการบริโภคและภาคเอกชนและกำลังซื้อของกลุ่มผู้มีรายได้สูงในประเทศช่วงครึ่งปีหลัง รวมทั้งการเพิ่มของจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติตามประมาณการปี 2565 ที่ 6 ล้านคน และปี 2566 คาดว่าจะอยู่ที่ 19 ล้านคน

ด้านการส่งออกสินค้ามีแนวโน้มขยายตัวที่ร้อยละ 7.9 จากเดิมประมาณการณ์ไว้ที่ร้อยละ 7.0 และในปี 2566 คาดว่าจะขยายตัวต่อเนื่อง แต่ทั้งนี้คาดว่าอาจมีปัจจัยให้เกิดความผันแปรตามอุปสงค์ของประเทศคู่ค้า โดยเฉพาะกลุ่มประเทศเศรษฐกิจหลักและจีน

พลเอก ประยุทธ์ กล่าวต่อว่า “สิ่งสำคัญที่สุดที่เราต้องพิจารณาเป็นกรณีเร่งด่วนพิเศษ คือ ค่าของเงินบาทที่ผูกติดกับหลายสกุลด้วยกัน ซึ่งมีผลต่อการนำเข้าและการส่งออก ปัจจัยหนึ่ง คือ อัตราเงินเฟ้อที่เกิดขึ้นทั่วโลก เนื่องจากราคาพลังงานที่ปรับตัวสูงขึ้น ส่งผ่านมายังต้นทุนสินค้าต่างๆ และคาดว่าอัตราเงินเฟ้อของไทยปีนี้อยู่ที่ร้อยละ 6.2 แต่คาดว่าจะลดลงเหลือร้อยละ 2.5 ในปีหน้า”

“ขอให้พี่น้องประชาชน รวมทั้งภาคธุรกิจ ได้เชื่อมั่นว่าเสถียรภาพระบบการเงินของไทยยังคงมั่นคงและแข็งแกร่งจากการดำเนินนโยบายการเงินการคลังที่รอบคอบ มีวินัย และเป็นที่เชื่อมั่นของนักวิเคราะห์และนักลงทุนในต่างประเทศ” พลเอก ประยุทธ์ กล่าว

โชว์ผลงานแก้ปัญหาปากท้อง

พลเอก ประยุทธ์ กล่าวถึงปัญหาปากท้องของประชาชนว่า รัฐบาลไม่นิ่งนอนใจต่อปัญหาเศรษฐกิจ โดยเฉพาะค่าครองชีพของประชาชน ที่ผ่านมารัฐบาลได้ช่วยเหลือธุรกิจและกลุ่มผู้มีรายได้น้อย ไม่ว่าจะเป็นนโยบายเร่งด่วน เช่น ปรับลดอัตราภาษีน้ำมันดีเซล 5 บาทต่อลิตร เป็นเวลา 2 เดือน การจัดสรรที่ดินทำกินให้เกษตรกรมากกว่า 10,000 ราย การประกันภัยข้าวนาปีจำนวน 29 ล้านไร่ การส่งเสริมการลงทุนในอีอีซี มีนักลงทุนขอลงทุนแล้ว 183 โครงการ มูลค่าเกือบ 100,000 ล้านบาท

ส่วนนโยบายระยะยาว เช่น การแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ การริเริ่มโครงการรถจักรยานยนต์พลังงานไฟฟ้าจากแบตเตอรี่ นโยบายส่งเสริมเกษตร เช่น การผลิตทุเรียนนนท์ เพิ่มพื้นที่การปลูกได้มากกว่า 2,000 ไร่ การก่อสร้างระบบกระจายน้ำด้วยพลังแสงอาทิตย์ที่จังหวัดชัยภูมิ

“ทั้งหมดนี้น่ายินดีว่า ผมติดตามแล้วเกิดประโยชน์ต่อพี่น้องประชาชนทั่วประเทศ หลายโครงการกำลังดำเนินการอยู่ จากการลงพื้นที่ของผมและคณะรัฐมนตรีก็จะไปติดตาม อะไรที่เป็นอุปสรรคก็จะเร่งแก้ไข อะไรที่ต้องปรับเปลี่ยนก็ต้องปรับแผนงานเหล่านั้นให้เกิดประโยชน์สูงสุดในการใช้จ่ายงบประมาณปี 2565”

ขยายผล “ชุมชนดีพร้อม” ทั่วประเทศ

พลเอก ประยุทธ์ กล่าวต่อว่า วันนี้ที่ประชุม ครม. เห็นชอบการขยายผลโครงการชุมชนดีพร้อมให้กระจายทั่วประเทศ โดยก่อนหน้านี้โครงการดังกล่าวนำร่องใน 7 จังหวัด ได้แก่จั งหวัดสุโขทัย พิจิตร ชัยนาท นครสวรรค์ สงขลา ชลบุรี และยะลา เพื่อส่งเสริมความเข้มแข็งของเศรษฐกิจฐานราก และเศรษฐกิจประเทศเข้าไปร่วมกันพัฒนาทักษะอาชีพพื้นฐาน เช่นช่างไฟฟ้า ช่างทำรถ งานศิลปะหัตถกรรมพื้นบ้าน ของที่ระลึก โดยดึงศักยภาพและจุดแข็งของชุมชนมาสร้างอาชีพ

พลเอก ประยุทธ์ กล่าวต่อว่า “วันนี้จะขยายให้ครบ 77 จังหวัด คาดว่ามีประชาชนได้ประโยชน์ 700,000 คนใน 400 ชุมชน ใช้งบประมาณ 1,200 ล้านบาท แต่เกิดมูลค่าทางเศรษฐกิจมากกว่า 12,000 ล้านบาท เพราะถ้าทำพร้อมกันที่เดียวอาจจะเกิดปัญหา งบประมาณไม่เพียงพอด้วย”

จัดทีมช่าง ซ่อมรถที่ได้รับผลกระทบน้ำท่วม

พลเอก ประยุทธ์ กล่าวถึงสถานการณ์ฝนตก-น้ำท่วมในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาว่า “ฝนตกก็คือฝนตก เราก็หยุดฝนไม่ได้ วันนี้อากาศก็เปลี่ยนแปลงไปเยอะ หลายประเทศในโลกก็เจอทั้งภัยร้อน บางประเทศร้อนผิดปกติ บางประเทศหนาวผิดปกติ บางประเทศฝนตกน้อยกว่าปกติ บางประเทศมากกว่าปกติ จากสถิติที่ผ่านมาปริมาณฝนจะชุกในเดือนสิงหาคมถึงกันยายน ผมก็ได้สั่งการให้ ครม. เตรียมการเรื่องระบบระบายน้ำให้มีความพร้อม”

“ในเมื่อเราห้ามอะไรไม่ได้ เราต้องอยู่กับเขาให้ได้ รัฐบาลมีหน้าที่ทำให้เกิดความเดือดร้อนน้อยที่สุด สั้นที่สุด การฟื้นฟู การเยียวยาและการช่วยเหลือต้องเตรียมความพร้อมตั้งแต่บัดนี้” พลเอก ประยุทธ์กล่าว

พลเอก ประยุทธ์ กล่าวต่อว่า เมื่อวาน (1 สิงหาคม 2565) ได้สั่งการให้กระทรวงกลาโหม ร่วมมือกับ กทม. เพื่อช่วยเหลือประชาชนที่ประสบปัญหารถติดจากสถานการณ์ฝนตก-น้ำท่วม และกล่าวขอบคุณเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องที่ทำงานล่วงเวลาด้วย

“ทุกคนก็พร้อมเสียสละเข้าเวรเข้ายาม ทุกคนทำเกินหน้าที่เกินเวลาความรับผิดชอบไปแล้ว ตำรวจผลัดละ 6 ชั่วโมง แต่วันนี้อยู่กัน 12 ชั่วโมง และไม่ได้มีเงินเพิ่มเติมให้เขาเลย มันต้องเสียสละกัน จิตอาสาด้วย ขอให้เข้าใจว่ารัฐบาลพยายามทำทุกอย่างเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนประชาชนทุกมิติ ต้องช่วยกัน ความรักความสามัคคี สำคัญที่สุดเข้าอกเข้าใจซึ่งกันและกัน ผมขอเพียงเท่านี้เอง” พลเอก ประยุทธ์กล่าว

นอกจากนี้ พลเอก ประยุทธ์ขอให้กระทรวงกลาโหมและกระทรวงมหาดไทย กระทรวงศึกษาธิการ ช่วยบูรณาการจัดบุคลากรทีมชุดช่าง นักเรียน นักศึกษา อาชีวะ ออกไปช่วยเหลือพี่น้องประชาชนในการซ่อมแซมรถยนต์และยานพาหนะที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมในพื้นที่ต่างๆ

ยังอยู่ พปชร. – ปัดตั้งชื่อ “พรรครวมไทยสร้างชาติ”

ผู้สื่อข่าวถามถึงกระแสข่าวการเข้าพบนายกฯ ของนายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี และหัวหน้าพรรครวมไทยสร้างชาติว่า “ผมเจอใครไม่ได้เลยหรือ เขามารายงานเรื่องที่ผมตั้งเขาเป็นคณะกรรมการติดตามแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชน เขามารายงานว่ามีผลที่ไหนยังไง จังหวัดไหนลงไปแล้ว แก้ปัญหาไปกี่ราย เรื่องการเมืองไม่ได้คุยอะไรมากนัก เพราะท่านก็เป็นพรรคของท่าน”

เมื่อผู้สื่อข่าวถามต่อว่ามีการขอคำปรึกษาหรือไม่ นายกฯ ตอบทันทีว่า “ปรึกษาเรื่องอะไร ทุกพรรคก็มีนโยบายพรรคของเขา เป็นพรรคการเมืองพรรคหนึ่งที่เกิดขึ้นมาใหม่แค่นั้นเอง ผมก็คาดหวังว่าทุกพรรคจะทำให้บ้านเมืองสงบเรียบร้อย และมีความเจริญก้าวหน้า ผมให้กำลังใจทุกพรรค”

พลเอก ประยุทธ์กล่าวต่อว่า “รวมไทยทั้งชาติ ผมพูดของวาระอื่นด้วยว่าเราต้องรวมพลังกันในการสร้างชาติเดินไปข้างหน้า ผมพูดในนามนายกรัฐมนตรี เขาก็ไปตั้งชื่อพรรค ผมไม่ได้ไปสั่งเขาตั้งชื่อพรรคเมื่อไร ผมไม่ได้เป็นหัวหน้าพรรค” พร้อมกับยืนยันว่า “ผมอยู่ประชารัฐไม่ใช่หรือ ผมจะไปที่ไหนล่ะ เขาเป็นคนสนับสนุนผมเป็นนายกรัฐมนตรี ตอนนี้ยืนยันอย่างนั้นมาตลอด”

ชวน ขรก.แต่งชุดไทย 12 ส.ค.นี้

ด้าน ดร.ธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี รายงานข้อสั่งการและคำปรารภของนายกรัฐมนตรีว่า นายกฯ เชิญชวนคณะรัฐมนตรี และข้าราชการ แต่งกายผ้าไทยเพื่อเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 90 พรรษา 12 สิงหาคม 2565

ฝากทุกหน่วย คิดแนวทางเพิ่มรายได้ ปชช.

ดร.ธนกร กล่าวต่อว่า นายกฯ ได้ติดตามสถานการณ์ตัวเลขเศรษฐกิจทั้งในและต่างประเทศ พบเงินเฟ้อในหลายประเทศทั่วโลก จึงขอให้ทุกกระทรวงและทุกหน่วยงาน เร่งกันทำหน้าที่บรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนในการแก้ปัญหาความยากจน ซึ่งรัฐบาลมีมาตรการช่วยเหลือลดภาระค่าใช้จ่ายหลายมาตรการ และฝากการบ้านให้ทุกหน่วยงานช่วยกันหาแนวทางส่งเสริมสร้างรายได้ใหม่ๆ ควบคู่กันไป

สั่ง สธ.ตรวจโฆษณา “ยา-วัคซีน” ในโซเชียล

นอกจากนี้ยังฝากถึงกระทรวงสาธารณสุขให้ช่วยตรวจสอบและติดตามการโฆษณายา และวัคซีนที่ปรากฏในโซเชียลมีเดีย เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดผลกระทบต่อประชาชน ไม่ให้ถูกหลอก หรือ หลงเชื่อ

เชียร์ ‘น้องบิว’ ชิงแชมป์กรีฑาโลก

ดร.ธนกร รายงานว่า “ขอให้ทุกหน่วยงาน ทุกคน ประชาชนทุกคนส่งกำลังใจ เชียร์น้อง ‘บิว ภูริพล บุญสอน’ ที่ลงแข่งขันกรีฑาเยาวชนอายุไม่เกิน 20 ปี ชิงแชมป์โลก โดยแข่งขันระหว่างวันที่ 1 – 6 สิงหาคม 2565 ที่เมืองคาลี ประเทศโคลอมเบีย โดยขอให้คนไทยทุกคนส่งแรงใจไปเชียร์”

ประเมินความโปร่งใสภาครัฐปี’65 ได้ 87.57 คะแนน

ดร.ธนกร กล่าวถึงเรื่องการประเมินคุณธรรมและความโปร่งใสของหน่วยงานต่างๆ ว่า การประเมินคุณธรรมและความโปร่งใสในการดำเนินงานของหน่วยงานภาครัฐประจำปี 2565 มีคะแนนเฉลี่ยที่ 87.57 คะแนน โดยมากกว่าปีที่แล้ว ขอให้หน่วยงานภาครัฐทุกหน่วยถอดบทเรียนเพื่อยกระดับคุณธรรมและความโปร่งใสในการดำเนินงานให้บรรลุเป้าหมายการดำเนินคุณธรรมให้ดียิ่งขึ้น

มติ ครม. มีดังนี้

ดร.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี พร้อมกับ ดร.ธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกฯ และน.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกฯ ร่วมกันแถลงข่าวผลการประชุม ครม.
ที่มาภาพ: www.thaigov.go.th/

จัดงบฯ 2,021 ล้าน ฉีดวัคซีนคนไร้สิทธิ-ต่างชาติ

ดร.ธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า วันนี้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบ โครงการค่าใช้จ่ายในการบรรเทา แก้ไขปัญหา และเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคโควิด-19 ค่ารักษาพยาบาลแก่กลุ่มผู้ไร้สิทธิการรักษาพยาบาลโควิด-19 วงเงิน 1,923 ล้านบาท และเห็นชอบโครงการค่าฉีดวัคซีนกลุ่มบุคคลที่มีปัญหาสถานะและสิทธิรวมทั้งผู้ที่ไม่ใช่ประชาชนไทย วงเงิน 98 ล้านบาท ที่เกิดขึ้นจริงและได้ดำเนินการไปแล้วในช่วงเดือนตุลาคม 2664- เดือนมิถุนายน 2565

โครงการค่าใช้จ่ายในการบรรเทา แก้ไขปัญหาและเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคโควิด-19 ค่ารักษาพยาบาลแก่กลุ่มผู้ไร้สิทธิการรักษาพยาบาลโรคโควิด-19 กรอบวงเงิน 1,923 ล้านบาท เป็นค่าใช้จ่ายให้กับหน่วยบริการ ในการดำเนินการ การตรวจรักษาพยาบาลกลุ่มคนไร้สิทธิการรักษา ซึ่งอาศัยอยู่ในประเทศไทย ป้องกันและลดการแพร่กระจายของโรคโควิด-19 สู่คนไทยจากการเปิดประเทศและเตรียมการสู่โรคประจำถิ่น รวมทั้งเป็นค่าชดเชยค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลโรคโควิด-19 กรณีผู้ป่วยที่ไร้สิทธิการรักษาพยาบาลให้กับหน่วยบริการ กลุ่มเป้าหมาย ประกอบด้วย คนต่างด้าวไร้สิทธิเบิกค่ารักษาพยาบาล หรือ ผู้ไร้สัญชาติ หรือ ผู้มีประกันสุขภาพคนต่างด้าวหรือแรงงานต่างด้าว เนื่องจากสิทธิประโยชน์ไม่ครอบคลุมการรักษาโรคโควิด-19 รวมถึงการรักษาพยาบาลของกลุ่มเป้าหมายที่มีอาการไม่พึงประสงค์จากการฉีดวัคซีน

ในส่วนโครงการค่าฉีดวัคซีนกลุ่มบุคคลที่มีปัญหาสถานะและสิทธิรวมทั้งผู้ที่ไม่ใช่ประชาชนไทย กรอบวงเงิน 98 ล้านบาท เพื่อจ่ายค่าบริการการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 แก่บุคคลที่มีปัญหาสถานะและสิทธิ รวมทั้งผู้ที่ไม่ใช่ประชาชนไทยให้กับหน่วยบริการ

จ่ายค่าตอบแทนบุคลากรแพทย์-สธ. 14,510 ล้านบาท

ดร.ธนกร กล่าวว่า ที่ประชุม ครม. เห็นชอบในหลักการโครงการในกลุ่มที่เกี่ยวข้องกับการจ่ายค่าตอบแทนแก่บุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข จำนวน 6 โครงการ ได้แก่

    1. โครงการแก้ไขปัญหาโรคติดต่ออุบัติใหม่กรณีโรคโควิด-19 ของกองสาธารณสุขฉุกเฉิน
    2. โครงการค่าตอบแทนบุคลากรนอกเหนือภารกิจปกติ ของสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข
    3. โครงการค่าใช้จ่ายในการบรรเทา แก้ไขปัญหาและเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคโควิด-19 ของกรมการแพทย์
    4. โครงการจ่ายค่าตอบแทนการเสี่ยงภัยในการปฏิบัติงานบริการรองรับผู้ป่วยโควิด – 19 ของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์
    5. โครงการจ่ายค่าตอบแทนการเสี่ยงภัยในการปฏิบัติงานบริการรองรับผู้ป่วยโควิด-19 ของกรมสุขภาพจิต
    6. โครงการสนับสนุนการจัดบริหารทางการแพทย์ และสารธารณสุขรองรับการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ของกรมอนามัย

ทั้งนี้ กรอบวงเงินทั้งสิ้น 14,510 ล้านบาท เพื่อเป็นการชำระค่าตอบแทน/ค่าเสี่ยงภัย แก่บุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขจากภารกิจที่เพิ่มขึ้นเนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 โดยมอบหมายให้กระทรวงสาธารณสุข ดำเนินการปรับกรอบวงเงินของโครงการดังกล่าว ให้เป็นค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจริงจนถึงเดือนมิถุนายน 2565 และเป็นไปตามหลักเกณฑ์และระเบียบที่เกี่ยวข้อง จำแนกค่าใช้จ่ายตามประเภทบุคลากรทางการแพทย์ ระยะเวลาที่ค้างจ่ายเป็นรายเดือน ตลอดจนปรับแผนการดำเนินงาน/แผนเบิกจ่ายให้สอดคล้องกับกิจกรรมภายใต้โครงการในกลุ่มดังกล่าว

ต่ออายุสัญญากู้ O/Dโรงรับจำนำรัฐอีก 2 ปี

ดร.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่าที่ประชุม ครม. เห็นชอบให้กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ต่ออายุสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีจากธนาคารออมสิน วงเงิน 500 ล้านบาท ของสำนักงานธนานุเคราะห์ ออกไปอีก 2 ปี ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2565 – 30 กันยายน 2567 โดยกระทรวงการคลังไม่ค้ำประกัน เพื่อเป็นเงินทุนสำรองหมุนเวียนในการรับจำนำและเสริมสภาพคล่องกิจการโรงรับจำนำภายใต้การกำกับดูแลของรัฐ สอดรับกับสภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบันที่ส่งผลกระทบต่อค่าครองชีพที่ปรับตัวสูงขึ้น ทำให้ประชาชนมาใช้บริการรับจำนำอย่างต่อเนื่อง

ผ่านร่าง 6 ยุทธศาสตร์ป้องกันฟอกเงินฯ

ดร.รัชดา กล่าวว่าที่ประชุม ครม. เห็นชอบร่างยุทธศาสตร์ด้านการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน และการต่อต้านการสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้าย พ.ศ.2565 – 2570 (ยุทธศาสตร์ด้าน Anti-Money Laundering and Combating the Financing of Terrorism: (AML/CFT) ตามที่สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินเสนอ เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบันและสามารถรับมือกับความเสี่ยงภัยคุกคามจากอาชญากรรมการฟอกเงิน การสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้าย และการแพร่ขยายอาวุธที่มีอานุภาพทำลายล้างสูงรูปแบบใหม่ๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ร่างยุทธศาสตร์ด้านการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินฯ พ.ศ.2565-2570 นี้ จะขับเคลื่อนภายใต้วิสัยทัศน์ “เป็นเลิศด้านการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน การต่อต้านการสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้ายและการแพร่ขยายอาวุธที่มีอานุภาพทำลายล้างสูง (Money Laundering, Terrorism Financing and Proliferation Financing: ML/TF/PF) อย่างมีมาตรฐานสากล” โดยให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องใช้เป็นกรอบในการดำเนินงานเชิงบูรณาการอย่างเหมาะสมภายใต้ 6 ยุทธศาสตร์ คือ

    ยุทธศาสตร์ที่ 1 ผลักดันมาตรการเชิงรุกด้านการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน การต่อต้านการสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้าย และการแพร่ขยายอาวุธที่มีอานุภาพทำลายล้างสูงของไทย ให้มีประสิทธิผลตามมาตรฐานสากล อาทิ พัฒนามาตรการเชิงรุกในการป้องกันอาชญากรรมที่มีความเสี่ยงสูง

    ยุทธศาสตร์ที่ 2 บูรณาการการดำเนินงานด้านการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน การต่อต้านการสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้าย และการแพร่ขยายอาวุธที่มีอานุภาพทำลายล้างสูง ทั้งในและต่างประเทศให้สอดคล้องกับมาตรฐานสากล อาทิ แสวงหาเครือข่ายความร่วมมือเชิงยุทธศาสตร์ใหม่ๆ เพื่อสร้างความร่วมมือ ความช่วยเหลือทางอาญา และการส่งผู้ร้ายข้ามแดนเชิงรุก ให้มีความรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ

    ยุทธศาสตร์ที่ 3 ส่งเสริมมาตรการและระบบการกำกับดูแลของหน่วยงานทั้งภาครัฐและภาคเอกชนที่มีหน้าที่ในการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินฯ อาทิ ส่งเสริมและพัฒนากลไกในการตรวจสอบและการกำกับร่วม ที่สอดคล้องกับความเสี่ยงของหน่วยงาน

    ยุทธศาสตร์ที่ 4 พัฒนาองค์ความรู้ด้านนวัตกรรม ผลิตภัณฑ์ใหม่ และแนวทางการประกอบธุรกิจแบบใหม่ เพื่อมุ่งสู่การดำเนินงานด้านการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินฯ ในรูปแบบดิจิทัล อาทิ พัฒนาและนำองค์ความรู้ด้านนวัตกรรมเทคโนโลยีใหม่ๆ เพื่อสนับสนุนการขับเคลื่อนภารกิจเชิงยุทธศาสตร์ที่สำคัญ

    ยุทธศาสตร์ที่ 5 สร้างความร่วมมือและเผยแพร่ข้อมูลด้านการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน การต่อต้านการสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้าย และการแพร่ขยายอาวุธที่มีอานุภาพทำลายล้างสูงสู่ภาคประชาสังคม

    ยุทธศาสตร์ที่ 6 พัฒนาองค์กรสู่องค์กรที่มีสมรรถนะสูงด้านการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน การต่อต้านการสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้าย และการแพร่ขยายอาวุธที่มีอานุภาพทำลายล้างสูงของไทยให้มีประสิทธิผล อาทิ 1.ปรับปรุงโครงสร้างองค์กรให้สอดคล้องและเหมาะสมกับภารกิจเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลง 2.ทบทวนและปรับปรุงกรอบอัตรากำลังให้เหมาะสม

ดร.รัชดากล่าวด้วยว่า ประโยชน์ที่จะได้รับจากร่างยุทธศาสตร์ฉบับนี้ คือ ประเทศไทยมีผลการประเมินการปฏิบัติตามมาตรฐานสากลด้านการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน และการต่อต้านการสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้ายที่ดีขึ้น โดยปรับระดับจากกลุ่มติดตามแบบเฝ้าระวัง เป็นกลุ่มที่มีการปฏิบัติตามมาตรฐานสากลในระดับดี

ปรับมาตรการ BOI หนุนอุตฯเหมืองแร่ 3 กลุ่ม

ดร.รัชดา กล่าวว่า ปัจจุบันประเทศไทยมีแนวโน้มความต้องการใช้แร่สูงขึ้น ทั้งแร่โลหะพื้นฐาน โลหะมีค่า แร่หายาก และแร่อุตสาหกรรมอื่นๆ ส่วนหนึ่งเป็นผลจากนโยบายส่งเสริมพลังงานทดแทนในการผลิตไฟฟ้า การส่งเสริมอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า และการฟื้นตัวของเศรษฐกิจหลังการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ซึ่งในปี 2563 มูลค่าเพิ่มของการทำเหมืองแร่คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 2.1 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) อย่างไรก็ตาม ประเทศไทยยังประสบปัญหาเกี่ยวกับแร่ในด้านต่างๆ อาทิ ต้องพึ่งพาการนำเข้าแร่จากต่างประเทศ ขาดการวิจัยแลพัฒนาเพื่อเพิ่มมูลค่าผลผลิตจากแร่ ขาดมาตรการและแนวทางการส่งเสริมอุตสาหกรรมที่ครอบคลุมแหล่งวัตถุดิบในกระบวนการผลิต และขาดการลงทุนเพื่อลดผลกระทบจากการทำเหมือง

วันนี้ ครม. จึงมีมติเห็นชอบในหลักการนโยบายด้านอุตสาหกรรมเหมืองแร่และอุตสาหกรรมต่อเนื่อง โดยระยะแรกให้ปรับปรุงมาตรการส่งเสริมการลงทุน สำหรับอุตสาหกรรมเหมืองแร่และอุตสาหกรรมต่อเนื่อง รวมถึงกำหนดสิทธิประโยชน์ให้เหมาะสม ซึ่งแบ่งกิจการที่ต้องการส่งเสริมออกเป็น 3 ประเภท ประกอบด้วย 1.กลุ่มกิจการสำรวจแร่ 2. กลุ่มกิจการทำเหมืองแร่และหรือแต่งแร่ และ 3. กลุ่มกิจการถลุงแร่หรือประกอบโลหกรรม พร้อมทั้งมอบหมายให้สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) และกระทรวงอุตสาหกรรม ประสานความร่วมมือกับกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ในการกำหนดมาตรการที่เหมาะสมต่อไป

อนุมัติงบกลาง 1,249 ล้าน หนุน ‘ชุมชนดีพร้อม’

นางสาวไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ที่ประชุม ครม. เห็นชอบในหลักการโครงการพัฒนาอาชีพเสริม เพิ่มรายได้ให้ชุมชนดีพร้อม และอนุมัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2565 งบกลางรายการสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการดำเนินโครงการพัฒนาอาชีพเสริม เพิ่มรายได้ให้ชุมชนดีพร้อม ภายในกรอบวงเงิน 1,249 ล้านบาท โดยมอบหมายให้กระทรวงอุตสาหกรรม โดยกรมส่งเสริมอุตสาหกรรมเป็นหน่วยงานหลักในการดำเนินโครงการ คาดว่าจะเกิดมูลค่าทางเศรษฐกิจไม่น้อยกว่า 12,490 ล้านบาท ระยะเวลาดำเนินการ 3 เดือน ตั้งแต่เดือนกรกฎาคม-กันยายน 2565

สำหรับวัตถุประสงค์ของโครงการ คือ การส่งเสริมและพัฒนาคนในชุมชนให้มีองค์ความรู้และทักษะที่จำเป็นในการประกอบอาชีพ และพัฒนาและเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชนเพื่อขับเคลื่อนฟื้นฟูเศรษฐกิจฐานรากของประเทศ กลุ่มเป้าหมายแยกเป็น กลุ่มผู้รับประโยชน์โดยตรง จะเป็นคนในชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากโควิด 19 ได้แก่ ผู้ประกอบการOTOP กลุ่มวิสาหกิจชุมชน ประชาชนที่เกี่ยวข้อง ผู้ที่ถูกเลิกจ้างและกลับคืนถิ่น ตลอดจนประชาชนที่สนใจเพิ่มทักษะองค์ความรู้ให้ตนเองกว่า 700,000 คน และผู้รับประโยชน์โดยอ้อม จะมีชุมชนอย่างน้อย 400 พื้นที่ทั่วประเทศได้รับการส่งเสริมและพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมระดับชุมชนท้องถิ่นให้มีความเข้มแข็งภายหลังโควิด 19

นางสาวไตรศุลี กล่าวว่า ในการดำเนินโครงการนี้จะจัดกิจกรรมพัฒนาทักษะอาชีพพื้นฐานและทักษะอาชีพที่จำเป็นต่อการประกอบธุรกิจ แบ่งเป็น 4 หลักสูตร ดำเนินการผ่านศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาค 12 แห่ง และส่วนกลางคือที่กรุงเทพมหานคร ประกอบด้วย

    หลักสูตรที่ 1 พัฒนาทักษะอาชีพพื้นฐานด้านการผลิต เช่น กลุ่มอาชีพการทำของใช้ในครัวเรือน ไม้กวาดทางมะพร้าว น้ำยาล้างจ้านเป็นต้น จำนวน 350,000 คน วงเงิน 529.9 ล้านบาท

    หลักสูตรที่ 2 พัฒนาทักษะอาชีพพื้นฐานด้านการบริการ เช่น กลุ่มอาชีพช่าง ซ่อมอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ซ่อมรถ ซ่อมแอร์ ช่างเย็บผ้า ตัดผม จำนวน 40,000 คน วงเงิน 67.56 ล้านบาท

    หลักสูตรที่ 3 พัฒนาด้านผลิตภัณฑ์และบรรจุภัณฑ์ เพื่อถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านการพัฒนาผลิตภัณฑ์และบรรจุภัณฑ์หรืออัตลักษณ์และแบรนด์สินค้า เพื่อสร้างคุณค่าและมูลค่าเพิ่มให้ผลิตภัณฑ์มีความโดดเด่น สอดรับกับความต้องการของของตลาดและสามารถกระจายสินค้าและบริการได้อย่างกว้างขวาง จำนวน 270,000 คน วงเงิน 476.28 ล้านบาท และ

    หลักสูตรที่ 4 พัฒนาต่อยอดทักษะที่จำเป็นต่อการประกอบธุรกิจ เช่น การบริหารจัดการเงินในภาคครัวเรือนหรือ ภาคธุรกิจ การจัดทำแผนธุรกิจ การบัญชี การตลาด เป็นต้น จำนวน 40,000 คน วงเงิน 48.56 ล้านบาท และมีค่าบริหารจัดการโครงการ เช่น ค่าประชาสัมพันธ์โครงการ ค่าใช้จ่ายในการจัดประชุม ได้แก่ ค่าเบี้ยเลี้ยง ที่พัก พาหนะ ค่าใช้จ่ายในการติดตามและประเมินผลโครงการ ค่าเปิดตัวโครงการ (Kick Off) ค่าจ้างเหมาบุคลากรเพื่อสนับสนุนการปฏิบัติงาน วงเงิน 126.99 ล้านบาท

เห็นชอบร่าง MOU ‘ไทย-ญี่ปุ่น’ ด้านเทคโนโลยีสื่อสาร-ดิจิทัล

นางสาวไตรศุลี กล่าวว่า ที่ประชุม ครม. เห็นชอบร่างบันทึกความร่วมมือระหว่างกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งราชอาณาจักรไทยและกระทรวงกิจการภายในและการสื่อสารแห่งประเทศญี่ปุ่น ว่าด้วยความร่วมมือด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ การสื่อสารและดิจิทัล ซึ่งจะเป็นบันทึกความร่วมมือแทนฉบับเดิมที่ทั้ง 2 ฝ่ายได้ลงนามไปเมื่อปี 2560 และได้สิ้นสุดอายุการบังคับเมื่อวันที่ 7 มิ.ย. 2565

สำหรับกำหนดการลงนามในบันทึกความร่วมมือฯ ฉบับใหม่ จะมีขึ้นในวันที่ 5 ส.ค. 2565 ระหว่างการเดินทางเยือนประเทศไทยของคณะผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงกิจการภายในและการสื่อสารแห่งประเทศญี่ปุ่น

นางสาวไตรศุลี กล่าวว่า ตามร่างบันทึกความร่วมมือฯ มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมความร่วมมือและแลกเปลี่ยนในสาขาเทคโนโลยีสารสนเทศ สื่อสารและดิจิทัลบนหลักความเท่าเทียม ต่างตอบแทนและเคารพซึ่งกันและกันและผลประโยชน์ร่วมกันระหว่าง 2 ฝ่าย

โดยมีขอบเขตดำเนินการภายใต้ความร่วมมือที่หลากหลาย อาทิ ส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารและข้อมูลที่เกี่ยวข้องในด้านการตรวจสภาพอกาศและลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติ แบ่งปันความรู้ด้านเทคโนโลยี นวัตกรรม การบริการและแอพพลิเคชั่นในด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ การพัฒนาบุคลากร รวมถึงความร่วมมืออาเซียน-ญี่ปุ่นเพื่อพัฒนาบุคลากรความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ ความร่วมมือด้านไปรษณีย์ ความร่วมมือด้านเทคโนโลยีสื่อสารทางวิทยุที่ทันสมัย ได้แก่ การปรับใช้และใช้งาน 5G แบบเปิดกว้างและปลอดภัย ส่งเสริการเร่งลงทุนในไทยของบริษัทด้านไอซีทีของญี่ปุ่น เป็นต้น

และ มีกิจกรรมภายใต้ความร่วมมือ อาทิ ความร่วมมือด้านนโยบายและเทคโนโลยี การอำนวยความสะดวกในโครงการร่วมต่างๆ การแลกเปลี่ยนผู้เชี่ยวชาญ ผู้ชำนาญการ การสนับสนุนหน่วยงานรัฐ และองค์กรด้านอุตสาหกรรม วิชาการ องค์กรที่มีความเชี่ยวชาญ ตลอดจนร่วมกันจัดการทดลองสาธิต ประชุมวิชาการและเข้าร่วมอบรม

ลดค่าใบอนุญาตประกอบวิชาชีพวิศวกรเหลือ 20 บาท

นางสาวไตรศุลี กล่าวว่า ที่ประชุม ครม. อนุมัติหลักการร่างกฎกระทรวงกำหนดอัตราค่าธรรมเนียมสำหรับผู้ประกอบวิชาชีพวิศวกรรมควบคุม (ฉบับที่ …) พ.ศ. …. มีสาระสำคัญ เป็นการแก้ไขค่าธรรมเนียมหลักฐานรับรองการได้รับอนุญาตให้เป็นผู้ประกอบวิชาชีพวิศวกรรมควบคุม สำหรับบุคคลธรรมดา ในกรณีเพื่อนำไปใช้เป็นหลักฐานตามกฎกระทรวงกำหนดแบบคำขออนุญาต ใบอนุญาต ใบรับรอง คำสั่ง และแบบหนังสือตามกฎหมายว่าด้วยการควบคุมอาคาร พ.ศ. 2564 จากฉบับละ 500 บาท เป็นฉบับละ 20 บาท

ทั้งนี้เพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายของประชาชนและสมาชิกสภาวิศวกร รวมถึงแยกการกำหนดอัตราค่าธรรมเนียมในส่วนของค่าใบแทนใบอนุญาตและค่าหลักฐานรับรองการได้รับอนุญาต และแยกการกำหนดอัตราค่าธรรมเนียมที่เกี่ยวข้องกับหนังสือรับรองการได้รับอนุญาตให้เป็นผู้ประกอบวิชาชีพวิศวกรรมควบคุม ในส่วนของการขอหนังสือรับรองตามกฎกระทรวงกำหนดให้มีความเหมาะสมยิ่งขึ้น ซึ่งสภาวิศวกรได้รายงานว่า การลดค่าธรรมเนียมหลักฐานรับรองการได้รับใบอนุญาต เป็นผู้ประกอบวิชาชีพวิศวกรรมควบคุมสำหรับบุคคลธรรมดาครั้งนี้ ไม่ได้ก่อให้เกิดผลกระทบต่อการดำเนินงานหรือการบริหารจัดการรายได้ของสภาวิศวกรหรือผลกระทบต่อรัฐแต่อย่างใด โดยการลดค่าธรรมเนียมดังกล่าวยังสามารถครอบคลุมในเรื่องค่าใช้จ่ายในการบำรุงรักษาระบบ และอุปกรณ์การให้บริการออกหลักฐานรับรองการได้รับใบอนุญาตเป็นผู้ประกอบวิชาชีพวิศวกรรมควบคุมผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์เป็นหลักได้อย่างเหมาะสม

ตั้ง “วีระกิตติ์ หาญปริพรรณ์” เป็นอธิบดีกรมคุมประพฤติ

นางสาวไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า วันนี้ ที่ประชุม ครม. มีมติอนุมัติในเรื่องแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการ และผู้บริหารระดับสูงของหน่วยงานรัฐ ดังนี้

1. การแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญให้ดำรงตำแหน่งประเภทวิชาการระดับทรงคุณวุฒิ (สำนักนายกรัฐมนตรี)

คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีเสนอ แต่งตั้ง นายวิฑูร เอี่ยมโอภาส ผู้อำนวยการสำนัก (ผู้อำนวยการระดับสูง) สำนักงานคณะกรรมการการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ให้ดำรงตำแหน่ง ที่ปรึกษาด้านการกระจายอำนาจ (นักวิเคราะห์นโยบายและแผนทรงคุณวุฒิ) สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี สำนักนายกรัฐมนตรี ตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งเป็นต้นไป

2. การแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญให้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหาร ระดับสูง (กระทรวงยุติธรรม)

คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่กระทรวงยุติธรรมเสนอแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญ จำนวน 2 ราย ดังนี้

    1. นายวีระกิตติ์ หาญปริพรรณ์ ผู้ตรวจราชการกระทรวง (ประเภทบริหาร ระดับสูง) สำนักงานปลัดกระทรวง กระทรวงยุติธรรม แต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งอธิบดี (ประเภทบริหาร ระดับสูง) กรมคุมประพฤติ กระทรวงยุติธรรม
    2. พันตำรวจตรี สุริยา สิงหกมล ที่ปรึกษาเฉพาะด้านนโยบายและการบริหารงานยุติธรรม (ประเภทวิชาการ ระดับทรงคุณวุฒิ) สำนักงานปลัดกระทรวง กระทรวงยุติธรรม แต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการ (ประเภทบริหารระดับสูง) สถาบันนิติวิทยาศาสตร์ กระทรวงยุติธรรม

ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2565 ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเปล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้ง

อ่าน มติ ครม. ประจำวันที่ 2 สิงหาคม 2565 เพิ่มเติม