ThaiPublica > เกาะกระแส > ASEAN Roundup ลาว-ไทย-มาเลเซีย ขยายซื้อขายไฟฟ้าเป็น 300 เมกะวัตต์ ต่างชาติแห่ย้ายโรงงานผลิตเข้าเวียดนาม

ASEAN Roundup ลาว-ไทย-มาเลเซีย ขยายซื้อขายไฟฟ้าเป็น 300 เมกะวัตต์ ต่างชาติแห่ย้ายโรงงานผลิตเข้าเวียดนาม

8 กันยายน 2019


ASEAN Roundup ประจำวันที่ 1-7 กันยายน 2562

  • ลาว-ไทย-มาเลเซียขยายซื้อขายไฟฟ้าเป็น 300 เมกะวัตต์
  • เมียนมาทำเงินกว่า 3 พันล้านดอลล์ขายก๊าซให้ไทย-จีน
  • ต่างชาติแห่ย้ายโรงงานผลิตเข้าเวียดนาม
  • อินโดนีเซียเร่งดึงเม็ดเงินลงทุนต่างชาติ
  • หลายพื้นที่ของลาวประสบน้ำท่วมหนัก

ลาว-ไทย-มาเลเซียขยายซื้อขายไฟฟ้าเป็น 300 เมกะวัตต์

นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน

นายสนธิรัตน์ สนธจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน นายคำมะนี อินทิลาด รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานและบ่อแร่ สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว(สปป.ลาว) นางยิว บี ยิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี่ สิ่งแวดล้อมและการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ สหพันธนนัฐมาเลเซีย ร่วมแถลงข่าวการขยายความร่วมมือในการเชื่อมโยงพลังงานไฟฟ้าระหว่าง สปป.ลาว ไทย และมาเลเซีย (Lao PDR, Thailand, Malaysia -Power Integration Project:LTM-PIP) จากการหารือระหว่างการประชุมรัฐมนตรีอาเซียนด้านพลังงานครั้งที่ 37 และการประชุมอื่นที่เกี่ยวข้อง(ASEAN Ministers on Energy Meeting and Associate Meeting: 37th AMEM)ซึ่งจัดขึ้นที่ประเทศไทย

นายสนธิรัตน์ สนธจิรวงศ์ กล่าวว่า ทั้งสามประเทศเห็นชอบในถ้อยแถลงร่วมว่าด้วยโครงการบูรณาการด้านไฟฟ้าระหว่างสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ไทยและสหพันธ์รัฐมาเลเซีย ระยะที่ 2 โดยขยายสัญญาซื้อขายไฟฟ้าเพิ่มเติมอีก 2 ปี และเพิ่มปริมาณการซื้อขายสูงสุดเป็น 300 เมกะวัตต์ จากเดิม 100 เมกะวัตต์ ทั้งนี้ได้มีการร่วมจัดทำร่างสัญญาซื้อขายไฟฟ้าฉบับเพิ่มเติม(Supplementary Agreement) ของสัญญาซื้อขายไฟฟ้า(Energy Purchase and Wheeling Agreement) ซึ่งไทยจะได้นำร่างเอกสารเข้าขอรับความเห็นชอบตามกระบวนการภายใน ซึ่งคาดว่าจะมีการลงนามภายในปี 2562

“ความสำเร็จในการร่วมมือโครงการรบูรณาการด้านไฟฟ้าของทั้งสามประเทศในระยะที่ 2 นี้จะเป็นรากฐานสำหรับการเพิ่มโอกาสการซื้อขายไฟฟ้าแบบพหุภาคีในระดับภูมิภาค และการขับเคลื่อนอาเซียนไปสู่ความมั่นคงด้านพลังงานและการพัฒนาพลังงานที่ยั่งยืนต่อไป” นายสนธิรัตน์กล่าว

โครงการ LTM-PIP ได้มีการลงนามในสัญญาซื้อขายไฟฟ้าโดยผู้ว่าการไฟฟ้าของทั้งสามประเทศ และมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานของทั้งสามประเทศเป็นสักขีพยาน ในระหว่างการประชุม AMEM ครั้งที่ 35 ระหว่างวันที่ 25-29 กันยายน 2560 ที่ประเทศฟิลิปปินส์ และได้มีการซื้อขายไฟฟ้าตามสัญญาระบุ 1 มกราคม 2561-31 ธันวาคม 2562 โดยกำหนดปริมาณสูงสุด 100 เมกะวัตต์ ต่อมาในการประชุม AMEM ครั้งที่ 36 ประเทศสิงคโปร์ รัฐมนตรีพลังงานของทั้งสามประเทศได้เห็นชอบให้มีการศึกษาความเป็นไปได้สำหรับโครงการ LTM-PIP เฟส 2 โดยเพิ่มปริมาณการซื้อขายสูงสุดเป็น 300 เกะวัตต์ ซึ่งต่อมาคณะทำงานได้เห็นชอบให้มีการจัดทำร่างสัญญาซื้อขายไฟฟ้าเพิ่มเติม คาดว่าจะสามารถลงนามร่วมกัน 3 ประเทศได้ภายในสิ้นปีนี้

เมียนมาทำเงินกว่า 3 พันล้านเหรียญสหรัฐขายก๊าซให้ไทย-จีน

กระทรวงพาณิชย์เมียนมาเปิดเผยว่า ในรอบ 10 เดือนของงบประมาณเริ่มตั้งแต่เดือนตุลาคม 2018 ถึงเดือนสิงหาคม 2019 เมียนมามีรวม รายได้จากการส่งออกก๊าซธรรมชาติขายให้กับไทยและจีนเป็นเงินมากกว่า 3 พันล้านดอลลาร์

อู ขิ่น หม่อง ลวิน รองปลัดกระทรวงพาณิชย์กล่าวอีกว่า รายได้จากการส่งออกก๊าซในรอบ 10 เดือนแรกของปีงบประมาณนี้สูงกว่าระยะเดียวกันของปีก่อนราว 100 ล้านดอลลาร์ แม้ปริมาณการส่งออกน้อยลง แต่รายได้มากขึ้นจากราคาส่งออกที่สูงขึ้น

รายได้จากการส่ออกก๊าซขายให้จีนมีจำนวนมากกว่า 1.5 พันล้านดอลลาร์ และมีรายได้จากการส่งออกก๊าซมายังไทยจำนวน 1.6 พันล้านดอลลาร์ รวมแล้วเมียนมามีรายได้จากการส่งออกก๊าซมากกว่างวดเดียวกันของปีงบประมาณก่อน 113 ล้านดอลลาร์

ในภาพรวม เมียนมามีรายได้จากการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรม ซึ่งรวมถึงรายได้จากการขายก๊าซด้วย เป็นจำนวนเงิน 8.2 พันล้านดอลลาร์ ในรอบ 10 เดือนแรกของปีงบประมาณ

เมียนมามีฐานผลิตก๊าซ 4 แห่ง และสามารถผลิตได้มากกว่า 630,000 ลูกบาศก์ฟุตในปีงบประมาณ 2019

นอกจากนี้เมียนมายังมีรายได้จากการค้าระหว่างประเทศถึง 29.43 พันล้านดอลลาร์ ส่วนใหญ่มาจากการค้ากับจีน ซึ่งส่งผลให้ขาดดุลการค้า 1.21 พันล้านดอลลาร์ แม้รายได้จากการส่งออกในปีนี้เพิ่มขึ้น 797 ล้านดอลลาร์จากปีงบประมาณก่อน ส่วนการนำเข้ามีมูลค่าน้อยกว่าปีงบประมาณก่อน 901 พันล้านดอลลาร์

ต่างชาติแห่ย้ายโรงงานผลิตเข้าเวียดนาม

บริษัทซาวิลลส์ ประจำเวียดนาม (Savills Vietnam Industrial Services) ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านอสังหาริมทรัพย์เปิดเผยผลการศึกษาเรื่องอสังหาริมทรัพย์เชิงอุตสาหกรรม ในรอบ 6 เดือนแรกของปีนี้ว่า บริษัทต่างชาติจำนวนมากได้ย้ายโรงงานจากประเทศอื่นเข้ามาที่เวียดนามซึ่งแสะท้อนถึงศักยภาพที่จะพัฒนาอสังหาริมทรัพน์ในเชิงอุตสาหกรรมมากขึ้น

บริษัทต่างชาติเหล่านี้ได้แก่ โรงงานจากจีนที่ทำธุรกิจชิ้นส่วนอิเลกทรอนิคส์ เสื้อผ้า รองเท้า และชิ้นส่วนอะไหล่ เช่น Hanwha, Yokowo, Shuafu, Goertek, Foxcom, Lenovo, Nintendo, Sharp, Kyocera and Oasis

แม้การจับจองพื้นที่ในจังหวัดหลักๆเพิ่มขึ้นทุกปี แต่การที่ยังมีที่ดินว่างและการเกิดขึ้นของโครงการบริษัทต่างชาติ ก็ทำให้การลงทุนในเวียดนามเพิ่มขึ้นอย่างมาก จากการเปิดเผยของ จอห์น แคมป์เบลล์ ที่ปรึกษาอาวุโส Savills Vietnam Industrial Services

บริษัทด้านการผลิตได้แสดงความสนใจในตอนกลางของประเทศ ขณะที่ผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์กำลังเร่งปรับพื้นที่เกษตรกรรมให้ใช้ประโยชน์ทางอุตสาหกรรม ซึ่งก็ยิ่งทำให้มีพื้นที่รองรับการผลิตมากขึ้น

ภาคอุตสาหกรรมเวียดนามขยายตัวอย่างแข็งแกร่งจากการลงทุนโดยตรงของต่างชาติ(Foreign Direct Invesment:FDI)ที่เพิ่มขึ้นถึง 10 เท่าในรอบสิบปีที่ผ่านมา การที่มีที่ดินจำนวนมากเอื้อต่อโครงการการผลิต การให้เช่าที่ดินพร้อมโรงงานสำเร็จรูป และโรงงานที่สร้างเพ่ื่อรองรับการผลิตเฉพาะด้าน

ต้นทุนค่างแรงงานที่ต่ำและการให้สิทธิประโยชน์จูงใจจากภาครัฐ โดยเฉพาะอัตราภาษี จะยังคงเป็นปัจจัยหลักในการดึง FDI แต่เพื่อให้การเปลี่ยนผ่านไปสู่อุตสาหกรรมที่มีมูลค่าเพิ่มราบรื่น เวียดนามต้องเน้นไปที่คุณภาพมากกว่าปริมาณ

Savills Vietnam Industrial Services ระบุว่า สงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯกับจีน การลงทุนที่เพิ่มขึ้นและข้อตกลงการค้าเสรี มีผลบวกต่อภาคอุตสาหกรรมของเวียดนาม ทั้งข้อตกลงความตกลงที่ครอบคลุมและก้าวหน้าสำหรับหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (Comprehensive and Progressive Agreement of Trans-Pacific Partnership: CPTPP) และความตกลงพันธมิตรทางการค้าระดับภูมิภาค (Regional Comprehensive Economic Partnership: RCEP)และความตกลงการค้าเสรีระหว่างเวียดนามและสหภาพยุโรป (Vietnam-European Union FTA: EVFTA)

ในไตรมาสแรกปีนี้ มีการจัดขึ้นเขตอุตสาหกรรมขึ้นถึง 326 แห่งมีพื้นที่รวม 95,500 เฮกตาร์ ในจำนวนนี้มี 251 เขตอุตสาหกรรมมีพื้นรวมกัน 60,900 เฮกตาร์ คิดเป็น 74% ของพื้นที่รวม ขณะที่ อีก 75 แห่งอยู่ระหว่างการก่อสร้าง การเวนคืนและการปรับพื้นที่รวมเนื้อที่ 29,300 เฮกตาร์

อินโดนีเซียเร่งดึงเม็ดเงินลงทุนต่างชาติ

ที่มาภาพ: https://www.cbsnews.com/news/jakarta-sinking-indonesia-capital-city-borneo-sea-2019-08-27/

ประธานาธิบดีโจโก วิโดโด แห่งอินโดนีเซียได้สั่งการให้คณะรัฐมนตรีเร่งหาแนวทางดึงการลงทุนโดยตรงจากต่างชาติหรือ FDI ด้วยการปรับหลักเกณฑ์หรือลดอุปสรรคต่อการลงทุนของต่างชาติ เพื่อรักษาการขยายตัวของเศรษฐกิจท่ามกลางการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก

ประธานาธิบดีวิโดโดกล่าวว่า อินโดนีเซียต้องคำนึงว่าการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกอาจจะมีความเป็นไปได้ที่จะถดถอย จากสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯกับจีน จึงได้สั่งการให้คณะรัฐมนตรีเศรษฐกิจสำรวจว่าหลักเกณฑ์ใดที่อาจจะเป็นอุปสรรคต่อการลงทุนของต่างชาติเพื่อนำมาหารือกำหนดแนวทางในการประชุมครั้งต่อไป

นอกจากนี้ยังกล่าวอีก รายงานของธนาคารโลกที่ได้นำเสนอพบว่า มีบริษัท 33 แห่งย้ายฐานการผลิตออกจากจีนจากสงครามการค้า โดยที่ 23 บริษัทในจำนวนนี้เลือกที่จะไปเวียดนามและที่เหลือได้เลือ มาเลเซีย ไทยและกัมพูชา

“ไม่มีใครมาอินโดนีเซียเลย เราต้องตระหนักแล้ว เรากำลังมีปัญหา” ประธานาธิบดีวิโดโดกล่าวและว่า การเข้าไปลงทุนในเวียดนามใช้เวลาเพียง 2 เดือนเท่านั้น แต่ในอินโดนีเซียใช้เวลาเป็นปี

อินโดนีเซียประมาณการณ์การเติบโตทางเศรษฐกิจปี 2019 ไว้ที่ 5.3% แต่ในเดือนที่แล้วรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ศรี มูลยานี อินทราวตี ได้ปรับคาดการณ์ลงมาที่ 5.08% เป็นผลจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก แม้การบริโภคของครัวเรือนซึ่งมีสัดส่วนมากกว่าครึ่งของจีดีดีพยังขยายตัวดี แต่การลงทุนอ่อนตัวลง

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ศรี มูลยานี อินทราวตี กำลังจัดทำร่างแก้ไขกฎหมายเพื่อปรับปรุงระบบภาษีอินโดนีเซีย ซึ่งครอบคลุมการปรับลดอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลเพื่อจูงใจนักลงทุน ขณที่รัฐบาลกำลังแก้ผขหลักเกณฑ์เพื่อผ่อนคลายการถือหุ้นของนักลงทุนต่างชาติ

หลายพื้นที่ของลาวประสบน้ำท่วมหนัก

หลายจังหวัดทางตอนกลางและตอนใต้ของลาวกำลังประสบกับน้ำท่วมหลังจากฝนตกหนักติดต่อกัน จากพายุดีเปรสชั่นที่พัดเข้า โดยสาละวันเป็นพื้นที่ได้รับผลกระทบหนักสุด

จังหวัดทางตอนใต้ของลาว ตั้งแต่ จำปาสัก สาละวัน เซกง สหวันนะเขต คำม่วน และอัตตะปือ ต่างประสบกับภัยน้ำท่วม ประชาชนจำนวนนับพันคนกำลังต้องการอาหารและน้ำดื่ม ขณะที่บางจังหวัดต้องการเรือ

เจ้าหน้าที่ประจำจังหวัดดำเนินการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยเต็มที่ แต่ก็ยังไม่เพียงพอที่จะตอบสนองได้ทั้งหมด

อธิบดีกรมสวัสดิการสังคม กระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคม นายวิละพง สีสมวง กล่าวกับผู้สื่อข่าวว่า ทางการกำลังจัดเตรียมอาหารและน้ำดื่มเพื่อมอบให้กับผู้ประสบภัยน้ำท่วม

อีกทั้งกำลังดำเนินการจัดหาเรือให้กับจังหวัดสาละวัน ซึ่งห่างจากนครเวียงจันทน์เมืองหลวงไปทางตอนใต้ 670 กิโลเมตร และมีบางพื้นที่สามารถเข้าถึงได้โดยทางน้ำเท่านั้น และทางการลาวเตรียมที่จะขอรับบริจาคจากประชาชาทั่วไปเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วม

แม่น้ำเซดอน ในสาละวันมีระดับน้ำสูงขึ้นมากกว่า 13 เมตร ซึ่งเกินระดับแจ้งเตือนภัย ทางการลาวไม่สามารถให้ข้อมูลระดับน้ำของแม่น้ำสาย อื่นๆได้

สื่อในประเทศรายงานว่า หมู่บ้าน 183 แห่งใน 3 อำเภอของสาละวันได้รับผลกระทบหนักสุด เพราะรับพายุดีเปรสชั่นโดยตรง ที่ทำให้ฝนตกหนักสุดในรอบ 10 ปี เจ้าหน้าที่จังหวัดได้อพยพผู้คนไปยังสถานที่ปลอดภัยและบางคนได้พักอาศัยกับญาติพี่น้อง รวมทั้งได้ขนย้ายเครื่องมือสำคัญไปไว้ที่แห้ง

ในจังหวัดเซกอง ซึ่งห่างเวียงจันทน์ออกไป 530 กิโลเมตร ทางการได้สั่งปิดโรงเรียนตั้งแต่วันอังคารถึงวันศุกร์ แม้ระดับน้ำในแม่น้ำเซกองลดลงแต่ฝนยังตกต่อเนื่อง ส่วนที่อัตตะปือ ระดับน้ำในแม่น้ำเพิ่มสูงขึ้น แม้ฝนได้ซาลงไป