นายกฯ “โนคอมเมนต์” หันหลังให้การเมืองหรือไม่ คาดรักษาการรัฐบาลแค่กลางเดือน ส.ค. นี้ สั่งหาช่องทางตลาด หนุนสินค้าเกษตรที่ได้ GI มติ ครม. ไฟเขียว “การบินไทย” รับโอนกิจการ “ไทยสมายล์” คาดเข้าตลาดฯอีกครั้ง Q4/2567 รับทราบจีดีพี Q1/2566 โต 2.7% ปีหน้า 2.7-3.7% จัดงบฯ ช่วยเมียนมา ถูก “ไซโคลน โมคา” ถล่ม ขยายเวลาทดสอบวัคซีนใน “ลิงมาโมเสท” ถึง 29 ธ.ค.2566 ปรับปรุงบึงข้าง รพ.บุรฉัตรไชยากร แทน “บึงเสือดำ” สถานีมักกะสัน
เมื่อวันที่ 16 พฤษภาคม 2566 พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธานการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ณ ณ ตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล ภายหลังการประชุม ครม. เสร็จสิ้น พลเอก ประยุทธ์ ได้ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชน รวมทั้งมอบหมายให้นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี รายงานข้อสั่งการ
“โนคอมเมนต์” หันหลังให้การเมืองหรือไม่
พลเอก ประยุทธ์ กล่าววว่า วันนี้เรายังทำหน้าที่เป็นรัฐบาล ต้องทำหน้าที่ต่อไปให้ดีที่สุด
“ผมอยากจะกล่าวในนามของนายกฯ รัฐบาลถึงพี่น้องประชาชนทุกคนที่เคารพ ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาหลายปี ผมขอขอบคุณทุกคนที่ได้ให้กำลังใจในการทำงานของผมและรัฐบาลมาโดยตลอด วันนี้พวกเราทุกคนได้ทราบดีว่าได้ผ่านการเลือกตั้งตามกระบวนการของระบอบประชาธิปไตยมาแล้ว ผมขอขอบคุณพี่น้องประชาชนที่ใช้สิทธิของตนเอง ขอแสดงความยินดีกับทุกพรรคการเมืองที่ได้คะแนนเสียงจากพี่น้องประชาชน” พลเอก ประยุทธ์ กล่าว
พลเอก ประยุทธ์ กล่าวต่อว่า จากนี้ไปก็อยู่ในขั้นตอนของการดำเนินการจัดตั้งรัฐบาล และขอให้ประชาชนคนไทยทุกคนได้ร่วมกันสร้างความรัก ความสามัคคี และความมีเสถียรภาพกับประเทศไทย โดยปราศจากความขัดแย้ง ร่วมมือกันพัฒนาชาติบ้านเมือง เพื่อให้เกิดความมั่นคง มั่งคั่งและยั่งยืน ยึดมั่นในสถาบันหลักของชาติให้มั่นคงและปลอดภัย
พลเอก ประยุทธ์ ยังย้ำว่า “ระหว่างที่รอรัฐบาลใหม่ ผมก็จะปฏิบัติหน้าที่ในฐานะนายกรัฐมนตรีและหัวหน้ารัฐบาลต่อไปให้ดีที่สุด”
ผู้สื่อข่าวถามว่า หลังจากนี้จะหันหลังให้การเมืองหรือไม่ พลเอก ประยุทธ์ ยิ้มและตอบว่า “โนคอมเมนต์”
สั่งหาช่องทางตลาด หนุนสินค้าเกษตรที่ได้ GI
ด้านนายอนุชา รายงานข้อสั่งการของนายกรัฐมนตรีว่า นายกฯ พูดถึงกล้วยหอมทองหนองบัวแดง จังหวัดชัยภูมิ ซึ่งได้รับการขึ้นทะเบียน GI และได้กล่าวถึงคุณภาพผลไม้ไทยที่มีศักยภาพ มีอัตลักษณ์จากแหล่งผลิตท้องถิ่น แต่ควรให้ความสำคัญกับการตลาดและช่องทางการจัดจำหน่ายด้วย
นายอนุชากล่าวว่า นายกฯ ขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณาหลังจากผลิตภัณฑ์ต่างๆ ได้ประกาศขึ้นทะเบียนเป็น GI จากกรมทรัพย์สินทางปัญญา กระทรวงพาณิชย์ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นสินค้าที่นิยมและมีคุณภาพสูง และขอให้ช่วยกันประชาสัมพันธ์และหาช่องทางการตลาด เพื่อการส่งออกและมีช่องทางการตลาดมากขึ้น
หาพื้นที่เก็บน้ำรองรับฤดูฝน
นายอนุชากล่าวต่อว่า นายกฯ พูดถึงการเตรียมตัวบริหารจัดการน้ำช่วงฤดูฝน โดยขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้บูรณาการการทำงาน ลงพื้นที่ตรวจสอบ รณรงค์ ประชาสัมพันธ์แต่ละพื้นที่ เพื่อจัดหาที่เก็บน้ำเพื่อการอุปโภคและบริโภค และการเกษตร โดยเฉพาะการทำพืชใช้น้ำน้อย รวมถึงสร้างความเข้มแข็งให้เกษตรกรด้วย
คาดรักษาการรัฐบาลแค่กลางเดือน ส.ค. นี้
นายอนุชากล่าวต่อว่า ในที่ประชุม ครม. วันนี้ นายกฯ กล่าวว่า ช่วงเวลาที่เหลือจากนี้ไปจนกว่าจะสิ้นสุดการปฏิบัติหน้าที่ของคณะรัฐมนตรีชุดนี้ ขอให้ ครม. ทำหน้าที่อย่างเต็มความสามารถให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับประเทศชาติในช่วงที่มีเวลาเหลืออยู่
ทั้งนี้ นายอนุชาให้ข้อมูลว่า คณะรัฐมนตรีที่จะเข้ามาทำหน้าที่หลังจากที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ประกาศผลการเลือกตั้งเป็นที่เรียบร้อย ซึ่งตามกฎหมายกำหนดว่าให้อยู่ภายใน 60 วัน หรือประมาณกลางเดือนกรกฎาคม 2566 จากนั้นจะมีการประชุมสภาผู้แทนราษฎร เพื่อเลือกประธานรัฐสภาและนายกรัฐมนตรี โดยคาดว่าไม่เกินกลางเดือนสิงหาคม 2566
“ในช่วงเวลาจากนี้ไปจนถึงกลางเดือนสิงหาคม ขอให้ ครม. ทุกท่านทำหน้าที่ให้ดีที่สุดจนกว่าจะมีรัฐบาลชุดใหม่” นายอนุชา รายงาน
มติ ครม. มีดังนี้
รับทราบจีดีพี Q1/2566 โต 2.7% ปีหน้า 2.7-3.7%
นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี วันนี้ที่ประชุม ครม. มีมติรับทราบภาวะเศรษฐกิจไทยไตรมาสแรกของปี 2566 และแนวโน้มปี 2566 โดยสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ มีสาระสำคัญ ดังนี้
1. ภาวะเศรษฐกิจไทยในไตรมาสแรกของปี 2566 ขยายตัวร้อยละ 2.7 เร่งขึ้นจากการขยายตัวร้อยละ 1.4 ในไตรมาสก่อนหน้า
-
1.1 ด้านการใช้จ่าย การส่งออกบริการและการบริโภคอุปโภคภาคเอกชนขยายตัวในเกณฑ์สูง การลงทุนภาคเอกชนและการลงทุนของภาครัฐขยายตัวต่อเนื่อง การอุปโภคบริโภคภาคเอกชนขยายตัวในเกณฑ์สูงร้อยละ 5.4 ต่อเนื่องจากร้อยละ 5.6 ในไตรมาสก่อนหน้า การใช้จ่ายในหมวดบริการเพิ่มขึ้นร้อยละ 11.1 ตามการขยายตัวของการใช้จ่ายในกลุ่มโรงแรมและภัตตาคาร หมวดสินค้าคงทน ขยายตัวร้อยละ 2.4 หมวดสินค้าไม่คงทนขยายตัวร้อยละ 2.3 การลงทุนรวม ขยายตัวร้อยละ 3.1 โดยการลงทุนภาคเอกชนขยายตัวร้อยละ 2.6 และการลงทุนภาครัฐขยายตัวร้อยละ 4.7 เร่งขึ้นจากร้อยละ 1.5 ในไตรมาสก่อนหน้าโดยเป็นการลงทุนของรัฐบาลและรัฐวิสาหกิจขยายตัวร้อยละ 6.9 และร้อยละ 1.8 ตามลำดับ
-
1.2 ด้านการค้าระหว่างประเทศ
- การส่งออกสินค้า มีมูลค่า 69,806 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ลดลงร้อยละ 4.6 เทียบกับการลดลงร้อยละ 7.5 ในไตรมาสก่อนหน้า โดยกลุ่มสินค้าที่มีมูลค่าส่งออกลดลง เช่น เคมีภัณฑ์และปิโตรเลียมเคมี ชิ้นส่วนอุปกรณ์ยานยนต์ อุปกรณ์ชิ้นส่วนและอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ ยางพารา สำหรับกลุ่มสินค้าที่มีมูลค่าส่งออกเพิ่มขึ้น เช่น ชิ้นส่วนเครื่องใช้ไฟฟ้า รถยนต์นั่ง รถกระบะและรถบรรทุก เครื่องปรับอากาศ ขณะที่การส่งออกสินค้าไปยังตลาดหลักลดลง แต่การส่งออกไปยังตลาดตะวันออกกลาง อินเดีย และสหราชอาณาจักรขยายตัว
- การนำเข้าสินค้า มีมูลค่า 66,860 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัวร้อยละ 1.3 เทียบกับการลดลงร้อยละ 0.3 ในไตรมาสก่อนหน้า
- ด้านการผลิต สาขาเกษตรกรรมการป่าไม้และการประมง ขยายตัวร้อยละ 7.2 ขณะที่ดัชนีราคาสินค้าเกษตรปรับตัวลดลงเป็นครั้งแรกในรอบ 4 ไตรมาส ที่ร้อยละ 1.3 โดยสินค้าเกษตรที่ดัชนีราคาปรับตัวลดลง เช่น ยางพารา ปาล์มน้ำมัน อย่างไรก็ตาม ราคาสินค้าเกษตรสำคัญหลายรายการปรับตัวเพิ่มขึ้น เช่น ข้าวเปลือก มันสำปะหลังและไก่เนื้อ ส่งผลให้ดัชนีรายได้เกษตรกรโดยรวมขยายตัวต่อเนื่องเป็นไตรมาสที่ 5 ที่ร้อยละ 6.2 สาขาที่พักโรงแรมและบริการด้านอาหาร ขยายตัวในเกณฑ์สูงต่อเนื่องที่ร้อยละ 34.3 โดยมีนักท่องเที่ยวต่างประเทศที่เดินทางเข้ามาในประเทศไทยจำนวน 6.478 ล้านคน มูลค่าการบริการรับด้านการท่องเที่ยวอยู่ที่ 3.04 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้นต่อเนื่องเป็นไตรมาสที่ 7 ร้อยละ 300.4 ส่วนรายรับจากนักท่องเที่ยวชาวไทยมีจำนวน 1.95 แสนล้านบาท ส่งผลให้ในไตรมาสนี้มีรายรับรวมจากการท่องเที่ยว 0.499 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 126.7 สาขาการขายส่งและการขายปลีก การซ่อมยานยนต์และจักรยานยนต์เพิ่มขึ้นต่อเนื่องเป็นไตรมาสที่ 8 ร้อยละ 3.3 สาขาการผลิตสินค้าอุตสาหกรรม ลดลงร้อยละ 3.1 ตามการลดลงของกลุ่มการผลิตเพื่อส่งออกและกลุ่มการผลิตเพื่อบริโภคภายในประเทศ สาขาการไฟฟ้า ก๊าซ ไอน้ำและระบบปรับอากาศ ลดลงร้อยละ 4.2
- เสถียรภาพทางเศรษฐกิจ อัตราการว่างงานอยู่ที่ร้อยละ 1.05 ต่ำกว่าร้อยละ 1.15 ในไตรมาสก่อนหน้า อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ 3.9 และอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานเฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ 2.2 สำหรับดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุล 4.0 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และเงินทุนสำรองระหว่างประเทศ ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2566 อยู่ที่ 2.2 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ หนี้สาธารณะ ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2566 มีมูลค่าทั้งสิ้น 10,797,505.5 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 61.2 ของ GDP
2. แนวโน้มเศรษฐกิจไทยปี 2566 คาดว่าจะขยายตัวในช่วงร้อยละ 2.7-3.7 โดยปัจจัยสนับสนุนสำคัญมาจากการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยว การขยายตัวอย่างต่อเนื่องของการอุปโภคบริโภคภายในประเทศ ทั้งนี้ คาดว่า การอุปโภคบริโภคภาคเอกชนจะขยายตัวร้อยละ 3.7 การลงทุนภาคเอกชนและการลงทุนภาครัฐขยายตัวร้อยละ 1.9 และร้อยละ 2.7 ตามลำดับ และมูลค่าการส่งออกสินค้าในรูปดอลลาร์สหรัฐฯ ลดลงร้อยละ 1.6 อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ยอยู่ในช่วงร้อยละ 2.5-3.5 และดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลร้อยละ 1.4 ของ GDP
3. ประเด็นการบริหารเศรษฐกิจในปี 2566 การบริหารนโยบายเศรษฐกิจมหภาคในช่วงที่เหลือของปี 2566 จะให้ความสำคัญกับ
-
(1) การขับเคลื่อนภาคการส่งออกสินค้า เช่น การเร่งรัดการส่งออกสินค้าไปยังตลาดที่มีแนวโน้มการขยายตัวทางเศรษฐกิจในเกณฑ์ดีและการสร้างตลาดใหม่ ติดตามและเฝ้าระวังและประเมินผลกระทบจากสถานการณ์ความผันผวนของเศรษฐกิจและการเงินโลก การใช้ประโยชน์จากกรอบความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) การยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของภาคการส่งออก เป็นต้น
-
(2) การส่งเสริมการลงทุนของภาคเอกชน เช่น การเร่งรัดให้ผู้ประกอบการที่ได้รับการอนุมัติและออกบัตรส่งเสริมการลงทุนในช่วงปี 2563-2565 เกิดการลงทุนจริงการส่งเสริมการลงทุนเชิงรุกในกลุ่มอุตสาหกรรมและบริการเป้าหมาย การส่งเสริมการลงทุนในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกเป็นต้น
-
(3) การสนับสนุนการฟื้นตัวของการท่องเที่ยวและบริการเกี่ยวเนื่อง เช่น การแก้ไขปัญหาและสร้างความพร้อมต่อการเพิ่มขึ้นของจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติ การพัฒนาการท่องเที่ยวคุณภาพสูง การส่งเสริมการท่องเที่ยวภายในประเทศและส่งเสริมให้คนไทยท่องเที่ยวในประเทศไทยมากขึ้น เป็นต้น
-
(4) การดูแลการผลิตภาคเกษตร และรายได้เกษตรกร จะให้ความสำคัญกับการเตรียมมาตรการรองรับผลผลิตสินค้าเกษตรที่จะออกสู่ตลาดในช่วงฤดูกาลเพาะปลูก 2566 / 2567 ควบคู่ไปกับการเตรียมความพร้อมเพื่อรองรับและแก้ปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้นจากการแปรปรวนของสภาพอากาศ ปัญหาต้นทุนวัตถุดิบทางการเกษตรที่ยังอยู่ในระดับสูง เป็นต้น
-
(5) การรักษาบรรยากาศทางเศรษฐกิจและการเมืองภายในประเทศในช่วงหลังการเลือกตั้ง
ไฟเขียว “การบินไทย” รับโอนกิจการ “ไทยสมายล์” คาดเข้าตลาดฯ อีกครั้ง Q4/2567
นายอนุชากล่าวว่า ที่ประชุม ครม. มีมติรับทราบรายงานความคืบหน้าการดำเนินงานของคณะกรรมการติดตามการดำเนินการแก้ไขปัญหา บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ได้ประชุม ครั้งที่ 1/66 เมื่อวันที่ 8 พฤษภาคม 2566 สรุปดังนี้
1. ผลการดำเนินงานที่สำคัญ
-
(1.1) ผลประกอบการและฐานะทางการเงิน ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2565 มีรายได้ 97,514 ล้านบาท ดีกว่าปี 2564 เพิ่มขึ้นร้อยละ 341 จากการขนส่งผู้โดยสาร สินค้าและไปรษณีย์ กำไรจากการดำเนินการ 11,207 ล้านบาท อย่างไรก็ตาม งบการเงินรวมยังคงมีผลประกอบการขาดทุนสุทธิ 252 ล้านบาท เนื่องจากผลประกอบการของบริษัท ไทยสมายล์แอร์เวย์ฯ ขาดทุน 4,248 ล้านบาท แต่ดีกว่าประมาณการ ตามแผนฟื้นฟูกิจการฯ
-
(1.2) ผลประกอบการปัจจุบัน ไตรมาส 1/2566 มีรายได้จากการขนส่งผู้โดยสารจำนวน 32,106 ล้านบาท อัตราบรรทุกผู้โดยสารของสายการบินไทยและไทยสมายล์แอร์เวย์ฯ เฉลี่ยร้อยละ 84 และร้อยละ 79.7 ตามลำดับ ปริมาณการเดินทางของผู้โดยสารรวม 2.19 ล้านคน และ 1.33 ล้านคน ตามลำดับ เติบโตต่อเนื่องหลังจากสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลาย และนโยบายการเปิดประเทศของไทยและต่างประเทศ ปัจจุบันสถานะเงินสดคงเหลือ ณ วันที่ 2 พฤษภาคม 2566 จำนวน 45,988 ล้านบาท
-
(1.3) ความคืบหน้าการดำเนินงานตามแผนปฏิรูปธุรกิจ สามารถลดต้นทุนดำเนินงานและเพิ่มรายได้ 64,400 ล้านบาทต่อปี ดีกว่าเป้าหมายที่กำหนด 58,000 ล้านบาทต่อปี
2. การดำเนินการตามแผนฟื้นฟูกิจการ
-
(2.1) การปรับโครงสร้างกลุ่มธุรกิจการบิน การบริหารโครงสร้างกลุ่มธุรกิจการบิน ประกอบด้วยกิจการการบินของ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) และไทยสมายล์แอร์เวย์ฯ ตามแนวทางที่ระบุในแผนฟื้นฟูกิจการ แต่ยังไม่สามารถแก้ไขปัญหาการขาดทุนของไทยสมายล์แอร์เวย์ฯ ที่มีผลการดำเนินงานขาดทุนสะสมอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2556 จำนวน 20,012 ล้านบาท และมีส่วนผู้ถือหุ้นติดลบ 18,166 ล้านบาท ซึ่งมีความเสี่ยงในการขาดสภาพคล่อง หากไม่ได้รับการช่วยเหลือจาก บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ดังนั้น แนวทางการปรับโครงสร้างกลุ่มธุรกิจ ควรดำเนินการ ดังนี้
-
2.1.1 รับโอนอากาศยานแบบแอร์บัส 320 ที่ไทยสมายล์แอร์เวย์ฯ เช่าดำเนินการ 20 ลำ โดยจะทยอยรับโอนตั้งแต่เดือนพฤษภาคม-ธันวาคม 2566 พร้อมปรับปรุงแผนธุรกิจของ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) และ ไทยสมายล์แอร์เวย์ฯ
-
2.1.2 การรับโอนบุคลากร ไทยสมายล์แอร์เวย์ฯ เข้าเป็นพนักงานของ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) โดยพนักงานของ ไทยสมายล์แอร์เวย์ฯ ไม่ได้รับผลกระทบในเรื่องโครงสร้างค่าตอบแทน สภาพการจ้าง และอายุงาน
-
2.1.3 เพิ่มประสิทธิภาพและความคล่องตัวในการบริหารเส้นทางการบิน ลดข้อจำกัดในการวางแผนเครือข่ายเส้นทางการบินให้เชื่อมต่อกัน การบริหารเวลาการบินและสิทธิการบินในเส้นทางการบินต่างๆ เช่น การจำหน่ายบัตรโดยสารในรูปแบบการเชื่อมต่อเครือข่าย เที่ยวบิน และการบริหารจัดการต้นทุน
-
(2.2) การดำเนินการปรับโครงสร้างทุน แปลงหนี้เป็นทุนและการจัดสรรเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนให้แก่ผู้ถือหุ้นเดิมตามสัดส่วนการถือหุ้นของผู้ถือหุ้นเดิม ไม่จัดสรรและเสนอขายให้ผู้ถือหุ้นที่จะทำให้ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) มีหน้าที่ตามกฎหมายระหว่างประเทศ โดยจะดำเนินการ ดังนี้
-
2.2.1 การใช้สิทธิซื้อหุ้นสามัญเพิ่มทุนของผู้สนับสนุนสินเชื่อใหม่ เฉพาะผู้ให้สินเชื่อในรูปแบบสินเชื่อระยะยาวในจำนวนเดียวกับจำนวนหนี้สินเชื่อใหม่ที่เบิกใช้จริง หรือการเลือกชำระค่าหุ้นสามัญเพิ่มทุนโดยการแปลงหนี้เงินต้นเดิมตามแผนเป็นหุ้นสามัญเพิ่มทุน จำนวน 4,911 ล้านหุ้น ที่ราคา 2.5452 บาทต่อหุ้น
-
2.2.2 การแปลงหนี้เป็นหุ้นสามัญเพิ่มทุนเพื่อชำระหนี้เงินต้นคงค้างของเจ้าหนี้ กลุ่มที่ 4 (กระทรวงการคลัง) ในสัดส่วนร้อยละ 100 ของภาระหนี้เงินต้นคงค้าง (ประมาณ 12,827 ล้านบาท) จำนวน 5,040 ล้านหุ้น ที่ราคา 2.5452 บาทต่อหุ้น
-
2.2.3 การแปลงหนี้เป็นหุ้นสามัญเพิ่มทุนเพื่อชำระหนี้เงินต้นคงค้างของเจ้าหนี้กลุ่มที่ 5 (เจ้าหนี้สถาบันการเงินที่มีสิทธิตามสัญญาโอนสิทธิในการได้รับเงินจากการขายอากาศยาน) เจ้าหนี้ กลุ่มที่ 6 (เจ้าหนี้สถาบันการเงินไม่มีประกัน) และเจ้าหนี้กลุ่มที่ 18-31 (เจ้าหนี้ผู้ถือหุ้นกู้) ในสัดส่วนร้อยละ 24.50 ของภาระหนี้เงินต้นคงค้าง (รวม 25,000 ล้านบาท) จำนวน 9,822 ล้านหุ้นที่ราคา 2.5452 บาทต่อหุ้น
-
2.2.4 การใช้สิทธิแปลงหนี้ดอกเบี้ยใหม่ตั้งพักเป็นหุ้นสามัญเพิ่มทุนของเจ้าหนี้กลุ่มที่ 4-6 และเจ้าหนี้กลุ่มที่ 18-31 (ประมาณ 4,845 ล้านบาท) จำนวน 1,904 ล้านหุ้น ที่ราคา 2.5452 บาทต่อหุ้น
-
2.2.5 การเสนอขายหุ้นเพิ่มทุน Preferential Public Offering (PPO) จำนวน 9,822 ล้านหุ้น ที่ราคาไม่ต่ำกว่า 2.5452 บาทต่อหุ้น
ทั้งนี้ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) จะดำเนินการแปลงหนี้เป็นทุนและเสนอขายหุ้นเพิ่มทุน PPO ในช่วงไตรมาส 2 ปี 2567 ซึ่งจะทำให้มีส่วนของผู้ถือหุ้น จำนวน 28,685 ล้านบาท เพื่อให้ สามารถกลับไปซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ ภายในไตรมาส 4 ปี 2567
-
2.3 การปรับปรุงประสิทธิภาพฝูงบิน บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) และ ไทยสมายล์แอร์เวย์ฯ มีอากาศยานที่ใช้ทำการบินรวม 64 ลำ ซึ่งบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ได้ดำเนินการขออนุญาตจัดหาอากาศยานเพิ่มเติมโดยเช่าดำเนินงาน 13 ลำ และมีอากาศยานที่อยู่ระหว่างจัดหาตามแผนการจัดหาอากาศยานปี 2567-2568 อีกจำนวน 9 ลำ
3. การคงสถานะสายการบินแห่งชาติ เนื่องจาก บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) มีสัดส่วนผู้ถือหุ้นสัญชาติไทยร้อยละ 83.93 ถือเป็นสัดส่วนการถือหุ้นที่มีความเหมาะสมสำหรับการกำหนดให้เป็นสายการบินแห่งชาติ เพื่อสนับสนุนการดำเนินภารกิจสำคัญต่างๆ ที่เป็นผลประโยชน์ของประเทศชาติ รวมถึงให้สามารถกลับเข้าร่วมในคณะกรรมการต่างๆ เช่น คณะกรรมการการจัดสรรเวลาเข้า-ออก ของเที่ยวบิน คณะกรรมการของผู้แทนของรัฐบาลเพื่อพิจารณาจัดทำความตกลงว่าด้วยการขนส่งทางอากาศกับรัฐบาลต่างประเทศเป็นประจำ
4. การติดตามหนี้สินที่ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) มีสิทธิเรียกร้องและทุนทรัพย์สูง โดยธนาคารเจ้าหนี้ ได้แก่ ธนาคารออมสิน และ ธนาคารกรุงไทย โดยได้นำเงินฝากในบัญชีกองทุนบำเหน็จพนักงานการบินไทยหักกลบหนี้ตามมูลหนี้ ที่ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) มีต่อธนาคาร
5. การขอรับการสนับสนุนจากภาครัฐ ได้แก่
-
5.1 ขอกระทรวงการคลังให้การสนับสนุนการใช้สิทธิเข้าซื้อหุ้นสามัญเพิ่มทุนของ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) เพื่อให้ สามารถดำเนินการจัดสรรและเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนไว้ตามแผนที่วางไว้และสามารถออกจาก แผนฟื้นฟูกิจการได้เร็วขึ้น
-
5.2 สนับสนุนให้ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) คงสถานะเป็นสายการบินแห่งชาติ โดยให้ กระทรวงการคลัง กระทรวงคมนาคมและ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) หารือในรายละเอียดให้เกิดความเหมาะสมเพื่อเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาตามขั้นตอนต่อไป
-
5.3 การให้กระทรวงคมนาคมและสำนักงาน การบินพลเรือนแห่งประเทศไทย อนุญาตให้ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) รับอากาศยานที่จัดหา ตามแผนฟื้นฟูกิจการและตามแผนธุรกิจที่ได้รับความเห็นชอบแล้วเข้าประจำการในฝูงบินไม่ล่าช้า
โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวเพิ่มเติมว่า “นายกรัฐมนตรีชื่นชมที่ รัฐบาลสามารถแก้ปัญหา บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ได้อย่างคืบหน้าในระดับหนึ่ง ซึ่งขอให้เร่งรัดแก้ปัญหาให้เร็วขึ้น เพื่อให้ได้กลับคืนสู่ภาวะปกติให้เร็วที่สุด พร้อมทั้งฝากดูแลเจ้าหน้าที่พนักงานของ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) และไทยสมายล์แอร์เวย์ฯ ให้ได้รับความเป็นธรรมและสามารถปฏิบัติหน้าที่ด้วยความมั่นใจ”
เลือก กทม.-ชลบุรี-สงขลา จัดซีเกมส์ปลายปี ’68 – โคราชจัดอาเซียนพาราเกมส์ต้นปี ’69
นางสาวไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่าที่ประชุม ครม. มีมติรับทราบจังหวัดเจ้าภาพสำหรับการจัดการแข่งขันกีฬาซีเกมส์ ครั้งที่ 33 และกีฬาอาเซียนพาราเกมส์ ครั้งที่ 13 พ.ศ. 2568 (ค.ศ. 2025) ตามที่กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาเสนอ
สำหรับการเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันกีฬาทั้ง 2 รายการนี้ เป็นไปตามมติ ครม. เมื่อวันที่ 27 กันยายน 2565 ที่ได้เห็นชอบรับการเป็นเจ้าภาพของประเทศไทย ซึ่งภายหลังได้รับการอนุมัติจาก ครม. แล้ว กระทรวงการท่องเที่ยวฯ โดยคณะอนุกรรมการเพื่อพิจารณาจังหวัดเจ้าภาพการจัดการแข่งขันกีฬาซีเกมส์ ครั้งที่ 33 และกีฬาอาเซียนพาราเกมส์ ครั้งที่ 13 ได้ดำเนินการคัดเลือกจังหวัดเจ้าภาพตามขั้นตอน และได้สรุปผลการคัดเลือก เสนอให้ที่ประชุมคณะกรรมการการกีฬาแห่งประเทศไทยเห็นชอบ ก่อนเสนอให้ ครม.รับทราบในครั้งนี้ ได้แก่ ให้กรุงเทพมหานคร ชลบุรี และสงขลา เป็นเจ้าภาพหลักในการจัดการแข่งขันซีเกมส์ ครั้งที่ 33 ระหว่างวันที่ 9-20 ธันวาคม 2568 และนครราชสีมา เป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันอาเซียนพาราเกมส์ ครั้งที่ 13 ระหว่างวันที่ 20-26 มกราคม 2569
นางสาวไตรศุลีกล่าวว่า คณะอนุกรรมการพิจารณาจังหวัดเจ้าภาพฯ ได้มีหนังสือเชิญทุกจังหวัดทั่วประเทศเสนอตัวเป็นเจ้าภาพ และเปิดรับสมัครระหว่างวันที่ 11-28 ตุลาคม 2565 โดยมีจังหวัดที่สนใจเสนอตัวทั้งแบบจังหวัดเดียว และแบบกลุ่มจังหวัด รวม 14 จังหวัด ประกอบด้วย 1) เสนอตัวแบบจังหวัดเดียว ได้แก่ เชียงใหม่ นครราชสีมา และกาญจนบุรี 2) เสนอตัวแบบจังหวัดเดียว (จัดบางชนิดกีฬาตามความพร้อมของจังหวัด) ได้แก่ กรุงเทพมหานคร ชลบุรี และสงขลา 3) เสนอตัวแบบกลุ่มจังหวัด (จัดบางชนิดกีฬาตามความพร้อมของจังหวัด) ได้แก่ กลุ่มจังหวัดอุบลราชธานี-อำนาจเจริญ-ศรีสะเกษและยโสธร, กลุ่มจังหวัด ตรัง-กระบี่-ภูเก็ต และพังงา
ภายหลังจากให้จังหวัดที่เสนอตัวนำเสนอข้อมูลและความพร้อมด้านต่างๆ แล้ว คณะอนุกรรมการพิจารณาจังหวัดเจ้าภาพฯ ได้พิจารณาข้อมูลแต่ละจังหวัดภายใต้แนวคิดการส่งเสริมความร่วมมือระหว่างภาครัฐ ธุรกิจเอกชน และชุมชน มีความพร้อมในการบริหารจัดการ มีแผนพัฒนาพื้นที่ต่อเนื่อง เพิ่มขีดความสามารถในการรองรับการท่องเที่ยว โดยมีปัจจัยหลักอยู่ที่ สนามแข่งขันและฝึกซ้อม และปัจจัยสนับสนุน เช่น ที่พักและอาหาร สถานพยาบาล การคมนาคม ด้านการตลาดและสิทธิประโยชน์ ด้านบุคลากร อาสาสมัคร สาธารณูปโภค เทคโนโลยีสารสนเทศ งบประมาณ การมีส่วนร่วมของประชาชน เป็นต้น
จัดงบฯช่วยเมียนมา ถูก “ไซโคลน โมคา” ถล่ม
นางสาวไตรศุลีกล่าวว่า ที่ประชุม ครม. มีมติอนุมัติในหลักการให้กระทรวงการต่างประเทศ และส่วนราชการที่เกี่ยวข้องร่วมกันพิจารณาการดำเนินการที่เหมาะสม เพื่อให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมแก่เมียนมากรณีพายุไซโคลนโมคาอย่างเร่งด่วน
โดยเรื่องนี้สืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม 66 พายุไซโคลนโมคา (Mocha) ซึ่งก่อตัวขึ้นในอ่าวเบงกอล ได้เคลื่อนตัวเข้าพื้นที่ด้านตะวันตกของเมียนมาบริเวณรัฐยะไข่ ทำให้เกิดพายุฝนตกหนัก น้ำท่วมเฉียบพลัน ดินโคลนถล่มและกระแสไฟฟ้าดับในหลายพื้นที่ สร้างความเสียหายแก่ชีวิต และทรัพย์สินของชาวเมียนมาอย่างกว้างขวาง ซึ่งรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนก็ได้ออกแถลงการณ์ จะสนับสนุนการให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมแก่เมียนมาจากเหตุภัยพิบัติครั้งนี้
ต่อมาในวันที่ 12 พฤษภาคม 66 สถานเอกอัครราชทูตเมียนมาประจำประเทศไทยได้ส่งหนังสือถึงกระทรวงการต่างประเทศของไทย แจ้งว่าทางการเมียนมาได้เตรียมความพร้อมให้ความช่วยเหลือแก่ประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากพายุไซโคลนดังกล่าว และขอรับการสนับสนุนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของไทยในการสนับสนุนที่มีเหตุจำเป็นเร่งด่วน ซึ่งกระทรวงการต่างประเทศได้พิจารณาแล้วว่าพายุไซโคลนที่เกิดขึ้นมีความรุนแรงใกล้เคียงกับระดับซูเปอร์ไต้ฝุ่นที่รุนแรงมากกว่าพายุไซโคลนนาร์กีสที่เคยเกิดขึ้นกับเมียนมาในปี 2551 และมีโอกาสที่จะสร้างความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สินชาวเมียนมาอย่างกว้างขวางและเฉียบพลัน ดังนั้น การให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมอย่างทันท่วงทีจึงมีความจำเป็นอย่างเร่งด่วนอย่างยิ่ง
“ในส่วนของงบประมาณที่จะใช้สำหรับให้การช่วยเหลือนั้น ขณะนี้กระทรวงการต่างประเทศอยู่ระหว่างการประสานงานหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยจะเป็นการใช้จ่ายจากงบประมาณของส่วนราชการ ซึ่งได้รับการจัดสรรไว้อยู่แล้ว จึงไม่ถือเป็นการกระทำอันมีผลเป็นการอนุมัติงานหรือโครงการ หรือ มีผลเป็นการสร้างความผูกพันต่อ ครม. ชุดต่อไปตามมาตร 169 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560” นางสาวไตรศุลี กล่าว
รับรองวัดคาทอลิกเพิ่ม 79 แห่ง ใน 25 จังหวัด
นางสาวไตรศุลีกล่าวว่า ที่ประชุม ครม. มีมติเห็นชอบการรับรองวัดคาทอลิก เป็นวัดคาทอลิกตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยแนวทางพิจารณาในการจัดตั้งวัดบาทหลวงโรมันคาทอลิก พ.ศ.2564 จำนวน 79 แห่ง ใน 25 จังหวัด ตามที่กระทรวงวัฒนธรรมเสนอ ซึ่งเป็นการเห็นชอบเพิ่มเติมจากที่ ครม. เมื่อวันที่ 23 สิงหาคม 2565, 8 พฤศจิกายน 2565 และ 21 กุมภาพันธ์ 2566 ได้เห็นชอบรับรองไปแล้ว 76 แห่ง
สำหรับวัดคาทอลิกทั้ง 79 แห่ง ได้ผ่านการพิจารณาของคณะกรรมการพิจารณากลั่นกรองคำขอจัดตั้งวัดคาทอลิก ซึ่งทุกแห่งมีคุณสมบัติตามหลักเกณฑ์ที่ระบุไว้ในระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีฯ ได้แก่ 1) ได้รับความเห็นชอบให้ยื่นคำขอรับรองวัดคาทอลิกจากสภาประมุขบาทหลวงโรมันคาทอลิกแห่งประเทศไทย 2) มีข้อมูลที่ตั้งวัด 3) มีข้อมูลที่ดินที่ตั้งวัดและการอนุญาตให้ใช้ที่ดิน 4) มีรายชื่อบาทหลวงซึ่งจะไปประกอบศาสนกิจประจำ ณ วัดคาทอลิก และ 5)มีข้อมูลอื่นที่จำเป็นเกี่ยวกับการรับรองวัดคาทอลิก เช่น มีใบอนุญาตหรือใบรับรองการก่อสร้างอาคารหรือเอกสารรับรองความมั่นคงแข็งแรงของอาคารวัด มีระบบสาธารณูปโภคพื้นฐานที่เอื้อต่อการประกอบศาสนพิธีและการพำนัก มีสถานที่ วัดได้ดำเนินการตามภารกิจของมิซซังในด้านต่างๆ เช่น ด้านอภิบาลคริสตชนและด้านเผยแผ่ธรรมเรียบร้อยแล้ว
นางสาวไตรศุลีกล่าวว่า วัดคาทอลิกมีประโยชน์ต่อชุมชนและท้องถิ่นในหลายประการ เช่น เป็นสถานที่ปฏิบัติศาสนกิจเพื่อความสงบและพัฒนาจิตใจ, เป็นสถานที่พบปะพูดคุยของคนในชุมชนส่งผลต่อความสามัคคีในชุมชน, สถานที่ของวัดสามารถใช้เป็นที่ออกกำลังกาย, เป็นแหล่งศึกษาด้านวัฒนธรรมประเพณีของคาทอลิกแก่นักเรียนและประาชนทั่วไป ตลอดจนเป็นแหล่งเรียนรู้พระธรรมคำสอนคริสต์ศาสนาและอบรมพัฒนาการเป็นพลเมืองที่ดีให้กับประชาชน
สำหรับทั้ง 25 จังหวัดที่มีวัดคาทอลิกได้รับการรับรองในครั้งนี้ประกอบด้วย 1) อุดรธานี 7 แห่ง เช่น วัดพระมารดานิจจานุเคราะห์ อุดรธานี, วัดพระมารดานิจจานุเคราะห์ (โพนสูงน้อย), วัดนักบุญยูดาห์ (บ้านดุง) 2) สกลนคร 7 แห่ง เช่น วัดดวงพระหฤทัยศักดิ์สิทธิ์ยิ่งของพระเยซูเจ้าฯ (สกลนคร), วัดแม่พระแห่งภูเขาการ์แมล (ป่าพนาวัลย์), วัดนักบุญเทเรซาแห่งกุมารเยซู (วนาสามัคคี) 3) บึงกาฬ 7 แห่ง เช่น วัดนักบุญยอห์นบัปติสต์ (บึงกาฬ), วัดนักบุญยอแซฟกรรมกร (บ้านชัยพร), วัดนักบุญเปาโล (เซกา)
4) ขอนแก่น 6 แห่ง เช่น วัดแม่พระปฏิสนธินิรมล(บ้านน้อยสามเหลี่ยม),วัดนักบุญทั้งหลาย (บ้านม่วงใหญ่), วัดพระคริสตประจักษ์ (บ้านขาด) 5) ตาก 6 แห่ง เช่น วัดนักบุญฟรังซิสเซเวียร์ (ตาก),วัดนักบุญเทเรซา (แม่สอด), วัดพระคริสตกษัตริย์ (ปูแป้)
6) ชลบุรี 5 แห่ง เช่น วัดแม่พระเมืองลูร์ด (บางแสน), วัดพระหฤทัยแห่งพระเยซูเจ้า (ศรีราชา), วัดเซนต์นิโคลัส (พัทยา) 7) เพชรบูรณ์ 5 แห่ง เช่น วัดนายชุมพาบาลที่ดี (หล่มสัก), วัดแม่พระเมืองลูร์ด (เพชรบูรณ์), วัดพระเยซูเจ้ากลับคืนชีพ (บ้านโคกยาว) 8) หนองคาย 5 แห่ง เช่น วัดนักบุญโครเนลิอัส (บ้านไผ่สีทอง), วัดดวงหทัยนิรมลแม่พระ (ท่าบ่อ), วัดพระศรีหฤทัย (ศรีเชียงใหม่) 9) นครพนม 5 แห่ง เช่น วัดนักบุญฟรังซิสเซเซียร์ (โชคอำนวย), วัดนักบุญเปาโล (นกเหาะ), วัดนักบุญฟังซิสเดอร์ ชาล (เชียงยืน)
10) กรุงเทพมหานคร 4 แห่ง เช่น วัดนักบุญหลุยส์ มารีย์ เออ มงฟอร์ต (บางแค), วัดอัครเทวดาคาเบรียล (สุขสวัสดิ์),วัดคัครเทวดามีคาแอล (สะพานใหม่) 11) เชียงใหม่ 4 แห่ง เช่น วัดอาสนวิหารพระหฤทัย เชียงใหม่, วัดนักบุญมีคาแอลการีกอยส์ (จอมทอง), วัดนักบุญไมเกิลการีกอยส์ (เชียงดาว) 12) เลย 3 แห่ง ได้แก่ วัดพระคริสตเจ้ากษัตริย์แห่งสากลจักรวาล (เลย), วัดอัครเทวดาฟาแอล (บ้านท่าบม), วัดมารีย์นำไมตรี (เชียงคาน) 13) ลพบุรี 2 แห่ง ได้แก่ วัดอัครเทวดามีคาแอล (ลพบุรี), 14) ลำปาง 2 แห่ง ได้แก่ วัดพระแม่แห่งลูร์ด, วัดพระแม่พระราชินีแห่งสันติภาพ (แจ้ห่ม)
15) หนองบัวลำภู 1 แห่ง ได้แก่ วัดอัครเทวดามีคาแอล (หนองบัวลำภู) 16) พระนครศรีอยุธยา 1 แห่ง ได้แก่ วัดแม่พระรับสาร (โรจนะ) 17) อุตรดิตถ์ 1 แห่ง ได้แก่ วัดแม่พระลูกประคำ (อุตรดิตถ์) 18) สุพรรณบุรี 1 แห่ง ได้แก่ วัดนักบุญคลารา (เดิมบางนางบวช) 19) ลำพูน 1 แห่ง ได้แก่ วัดนักบุญฟรังซิสแห่งอัสซีซี (ลำพูน) 20) ระยอง 1 แห่ง ได้แก่ วัดแม่พระนิจจานุเคราะห์ (ระยอง) 21) ปราจีนบุรี 1 แห่ง ได้แก่ วัดมารีสมภพ (กบินทร์บุรี) 22) พิจิตร 1 แห่ง ได้แก่ วัดนักบุญยอแซฟ (พิจิตร) 23) พิษณุโลก 1 แห่ง ได้แก่ วัดเซนต์นิโกลาส (พิษณุโลก) 24) กำแพงเพชร 1 แห่ง ได้แก่ วัดพระคริสต์สมภพ (กำแพงเพชร) และ 25) สุโขทัย 1 แห่ง ได้แก่ วัดพระหฤทัย (สวรรคโลก)
ขยายเวลาทดสอบวัคซีนใน “ลิงมาโมเสท” ถึง 29 ธ.ค. 2566
นางสาวไตรศุลีกล่าวว่า ที่ประชุม ครม. มีมติอนุมัติผลการพิจารณาของคณะกรรมการกลั่นกรองการใช้จ่ายเงินกู้ (คกง.) ภายใต้ พ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจและสังคม จากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 เพิ่มเติม พ.ศ. 2564 ในคราวประชุม ครั้งที่ 5/66 และในคราวประชุม 6/66
ทั้งนี้ อนุมัติให้สถาบันวัคซีนแห่งชาติ ขยายระยะเวลาโครงการจัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการวิจัยและทดสอบวัคซีนและเภสัชภัณฑ์ในลิงมาโมเสท (โครงการทดสอบวัคซีนในลิงมาโมเสท) จากเดิมที่สิ้นสุดเดือนเมษายน 2566 ไปสิ้นสุดวันที่ 29 ธันวาคม 2566 โดยโครงการนี้มีกรอบวงเงินงบประมาณ 139.84 ล้านบาท มีการเบิกจ่ายแล้ว 69.50 ล้านบาท หรือร้อยละ 49.71 โดยขณะนี้โครงการอยู่ระหว่างการปรับปรุงแก้ไขรูปแบบการก่อสร้าง ประกอบกับมีความล่าช้าในการจัดซื้อ และรับมอบลิงมาโมเสทจากผู้ค้าภายในประเทศที่อยู่ระหว่างเบิกจ่ายเงินสำหรับลิงมาโมเสท จำนวน 67 ตัว ส่วนการจัดซื้อจากต่างประเทศ 75 ตัว ประสบปัญหาการจัดหาสายการบินเพื่อขนส่งเข้ามาในประเทศ
พร้อมกันนี้ ครม. ได้อนุมัติให้ขยายระยะเวลาโครงการศึกษาความปลอดภัย (safety) ความสามารถในการกระตุ้นภูมิ (immunogenicity) และประสิทธิภาพ (vaccine efficacy) ของแคนดิเดตซับยูนิตวัคซีน สำหรับป้องกันโรคโควิด-19 ที่ใช้พืชเป็นแหล่งผลิตในมนุษย์ระยะที่ 2 จากที่สิ้นสุดในเดือนมิถุนายน 2566 เป็นสิ้นสุด วันที่ 29 ธันวาคม 2566 โดยโครงการมีกรอบวงเงิน 211 ล้านบาท เบิกจ่ายแล้ว 116.9 ล้านบาท หรือร้อยละ 55.4 โดยเหตุผลที่ต้องมีการขยายระยะเวลาโครงการ เนื่องด้วยปัจจัยที่ไม่สามารถควบคุมได้โดยเฉพาะข้อมูลความปลอดภัยของการทดสอบวัคซีนระยะที่ 1 ของกลุ่มอาสาสมัครทั้ง 2 กลุ่ม เพื่อนำมาอ้างอิงเพิ่มเติมต่อการขออนุมัติดำเนินการทดสอบวัคซีนในระยะที่สูงขึ้น ขณะที่การวิจัยและพัฒนาวัคซีนมีความซับซ้อนทางเทคนิคจำเป็นต้องใช้ระยะเวลาในการดำเนินการเพื่อให้วัคซีนมีความปลอดภัยสูงสุด
นางสาวไตรศุลีกล่าวว่า ครม. ได้อนุมัติให้จังหวัดเปลี่ยนแปลงรายละเอียดที่เป็นสาระสำคัญ รวม 99 โครงการ วงเงินรวม 422.55 ล้านบาท ประกอบด้วยให้ยกเลิก 35 โครงการใน 11 จังหวัด ขยายระยะเวลา 58 โครงการใน 18 จังหวัด และ เปลี่ยนแปลงรายละเอียดโครงการ 6 โครงการ ใน 5 จังหวัด ตามลำดับ
ปรับปรุงบึงข้าง รพ.บุรฉัตรไชยากร แทน “บึงเสือดำ” สถานีมักกะสัน
นางสาวทิพานัน ศิริชนะ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่าที่ประชุม ครม. มีมติรับทราบแนวทางการพัฒนาพื้นที่เก็บกักน้ำทดแทนบึงเสือดำในพื้นที่บริเวณสถานีแอร์พอร์ต เรล ลิงก์ มักกะสัน (พื้นที่ TOD มักกะสัน) เพื่อสนับสนุนบริการรถไฟของโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสนามบิน (มักกะสัน) ตามที่คณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) เสนอ โดยเป็นไปตามหลักการให้ปรับปรุงความจุของบึงข้างโรงพยาบาลบุรฉัตรไชยากร (โรงพยาบาลฯ) จากเดิม 12,800 ลบ.ม. เพิ่มอีก 17,250 ลบ.ม. รวมทั้งสิ้น 30,050 ลบ.ม.
นางสาวทิพานันกล่าวว่า การดำเนินงานเพื่อพัฒนาพื้นที่เก็บกักน้ำทดแทนบึงเสือดำ จะขุดเพิ่มความลึกของบึงให้สามารถรองรับความจุน้ำที่เพิ่มขึ้น เพื่อทดแทนพื้นที่กักเก็บน้ำของบึงเสือดำ และพัฒนาระบบระบายน้ำเพิ่มเติมในพื้นที่ของ รฟท. เพื่อเพิ่มปริมาตรกักเก็บน้ำของบึงของโรงพยาบาลฯ และระบบระบายน้ำเพิ่มเติม การขุดลอกคลองและการก่อสร้างแนวคลองระบายน้ำใหม่เชื่อมบึงมักกะสัน ขนาด 3.50 x 4.00 ม. ความยาวประมาณ 250 ม. ซึ่งทำให้มีปริมาตรกักเก็บน้ำและระบบระบายน้ำไม่น้อยกว่าเดิม ทั้งนี้ ในการปรับปรุงความจุของบึงข้างโรงพยาบาลฯ เอกชนคู่สัญญาจะเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องทั้งหมดและ กทม. จะเป็นผู้ดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างเพื่อขยายความจุของบึงข้างโรงพยาบาลฯ โดยไม่กระทบต่องบฯ และเงินร่วมลงทุนของรัฐ
“นอกจากนี้ การดำเนินการดังกล่าว จะเป็นไปตามความเห็นของสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ที่คำนึงถึงความมั่นคงของลาดตลิ่ง และการบริหารจัดการน้ำเพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบต่อการระบายน้ำของบึงในอนาคต และขอให้ รฟท. ประสานการดำเนินงานร่วมกับ กทม. อย่างใกล้ชิด เพื่อให้การดำเนินงานบรรลุวัตถุประสงค์ของการพัฒนาพื้นที่ดังกล่าว” นางสาวทิพานันกล่าว
อ่าน มติ ครม. ประจำวันที่ 16 พฤษภาคม 2566 เพิ่มเติม