ThaiPublica > เกาะกระแส > นายกฯ มั่นใจต่างชาติเที่ยวไทยปีนี้ ทะลุเป้า 10 ล้านคน-มติ ครม. ปลดล็อก กม. ตั้งโรงงานผลิตเหล้า-เบียร์

นายกฯ มั่นใจต่างชาติเที่ยวไทยปีนี้ ทะลุเป้า 10 ล้านคน-มติ ครม. ปลดล็อก กม. ตั้งโรงงานผลิตเหล้า-เบียร์

1 พฤศจิกายน 2022


พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม

นายกฯ สั่งทุกหน่วยดูแลความปลอดภัย ปชช.เที่ยว “ลอยกระทง” – มั่นใจต่างชาติเที่ยวไทยปีนี้ ทะลุเป้า 10 ล้านคน-มติ ครม. ปลดล็อก กม.ตั้งโรงงานผลิตเหล้า-เบียร์ – ไฟเขียวออมสินลุยปล่อยกู้ “มหกรรมร่วมใจแก้หนี้” 2,000 ล้าน – ปล่อยกู้เจ้าของเรือประมงเฟส 2 อีก 5,000 ล้าน – เห็นชอบ “นาค” เป็นเอกลักษณ์ประจำชาติ ต่อยอด Soft Power – ตั้ง “พลตรี เจียรนัย วงศ์สอาด” คุมบอร์ดการเคหะฯ

เมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน 2565 พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ณ ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล ภายหลังการประชุม ครม. เสร็จสิ้น พลเอก ประยุทธ์ ได้มอบหมายให้นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี รายงานข้อสั่งการของนายกรัฐมนตรี

มั่นใจต่างชาติเที่ยวไทยปีนี้ ทะลุเป้า 10 ล้านคน

นายอนุชา กล่าวถึงข้อสั่งการของนายกรัฐมนตรีว่า ในช่วง 10 เดือนที่ผ่านมาของปี 2565 มีนักท่องเที่ยวต่างประเทศเดินทางเข้ามาในประเทศไทยแล้วกว่า 7 ล้านคน โดยรัฐบาลมีความมั่นใจว่าในช่วงเวลาที่เหลืออีก 2 เดือนจนถึงสิ้นปีนี้ ประเทศไทยจะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้ามาในประเทศไทย 10 ล้านคน ตามเป้าหมายที่รัฐบาลและการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยได้กำหนดไว้

นายอนุชา กล่าวต่อว่า นายกฯ ได้สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้เพิ่มเจ้าหน้าที่ โดยเฉพาะพื้นที่สนามบิน เพื่อเพิ่มช่องทางในการอำนวยความสะดวกให้นักท่องเที่ยวและผู้ใช้บริการตามท่าอากาศยานต่างๆ

เผย 16 จังหวัด 224,000 ครัวเรือน ยังได้รับผลกระทบน้ำท่วม

นายอนุชา กล่าวต่อว่า ในที่ประชุม ครม. วันนี้ มีการรายงานจากกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กระทรวงมหาดไทย (ปภ.) ว่า ปัจจุบันยังมี 16 จังหวัด และมากกว่า 224,000 ครัวเรือนที่ยังได้รับผลกระทบจากสถานการณ์น้ำท่วม นายกรัฐมนตรี จึงสั่งการให้ทุกหน่วยงานเข้าไปดูแลประชาชนอย่างทั่วถึงในทุกพื้นที่ทั่วประเทศ และทำให้ประชาชนได้รับทราบว่ารัฐบาลทราบถึงความเดือดร้อน โดยไม่ได้นิ่งนอนใจ ทั้งในพื้นที่ที่นายกรัฐมนตรีได้ไปตรวจเยี่ยม หรือ พื้นที่ที่ไม่ได้ไป แต่ได้รับรายงานและติดตามสถานการณ์อย่างต่อเนื่อง และจะเร่งดำเนินการอย่างเต็มที่ในการบรรเทาทุกข์พื้นที่ที่ได้รับผลกระทบโดยเร็วที่สุด

สั่งทุกหน่วยดูแลความปลอดภัย ปชช.เที่ยว “ลอยกระทง”

นายอนุชา กล่าวต่อว่า นายกรัฐมนตรีมีความห่วงใยและได้กำชับเกี่ยวกับการจัดงานเทศกาลลอยกระทงที่จะจัดในหลายพื้นที่ โดยเน้นย้ำเรื่องการให้ทุกหน่วยงานดูแลความปลอดภัยของประชาชนและนักท่องเที่ยว และประสานความร่วมมือกับผู้ประกอบการให้ตรวจสถานที่จัดงาน ไม่ว่าจะเป็น ทางเข้า-ออก ทางหนีไฟ และการจำกัดคนเข้าใช้บริการตามมาตรการกระทรวงสาธารณสุขไม่ให้แออัดจนเกินไป และความปลอดภัยของประชาชนในทุกมิติ รวมถึงการตรวจตาอาวุธตามสถานบริการเพื่อป้องกันเหตุร้ายต่างๆ

มติ ครม. มีดังนี้

นายณัฐกร อุเทนสุต โฆษกกรมสรรพสามิต และที่ปรึกษาด้านพัฒนาระบบควบคุมทางสรรพสามิต กรมสรรพสามิต, นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี, ดร.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกฯ และนางสาวทิพานัน ศิริชนะ รองโฆษกฯ ร่วมกันแถลงผลการประชุม ครม. ณ ตึกนารีสโมสร ทำเนียบรัฐบาล (ซ้ายไปขวา)
ที่มาภาพ : www.thaigov.go.th/

ปลดล็อก กม.ตั้งโรงงานผลิตเหล้า-เบียร์

นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีกล่าวว่าวันนี้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี มีมติอนุมัติหลักการร่างกฎกระทรวงการอนุญาตผลิตสุรา พ.ศ. …. เป็นการปรับปรุงคุณสมบัติของผู้ขอใบอนุญาตผลิตสุรา รวมทั้งปรับปรุงขั้นตอน และวิธีการขอใบอนุญาตและการออกใบอนุญาตผลิตสุราให้สอดคล้องกับบริบทของธุรกิจอุตสาหกรรมการผลิตสุรา ในปัจจุบันให้มากขึ้น โดยร่างกฎกระทรวงฉบับใหม่มีสาระสำคัญดังนี้

1) ปรับปรุงคุณสมบัติของผู้ขอใบอนุญาตผลิต “กรณีสุราแช่” เช่น น้ำตาลเมา อุ เบียร์ ไวน์ สปาร์กลิ้งไวน์ และสุราแช่พื้นเมือง โดยยกเลิกการกำหนดจำนวนทุนจดทะเบียนไม่ต่ำกว่า 10 ล้านบาท แต่ผู้ขออนุญาตผลิตสุราแช่ ชนิดเบียร์ ยังต้องเป็นบริษัทที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมายไทย และมีผู้ถือหุ้นสัญชาติไทยไม่น้อยกว่าร้อยละ 51

ส่วน “กรณีสุรากลั่น” เช่น สุราขาว ได้มีการแก้ไขเพิ่มเติมในส่วนโรงงานอุตสาหกรรมสุรากลั่นขนาดกลางขึ้นมาใหม่ โดยมีเงื่อนไขว่าจะต้องใช้เครื่องจักรไม่เกิน 50 แรงม้า หรือ ใช้คนงานน้อยกว่า 50 คน จากเดิมกำหนดขนาดของโรงงานอุตสาหกรรมประเภทนี้เอาไว้เฉพาะโรงงานขนาดเล็ก (Size S) กล่าวคือมีเครื่องจักรไว้ไม่เกิน 5 แรงม้า หรือ ใช้คนงานน้อยกว่า 7 คน แต่ทั้งนี้ ต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์ โดยจะทำให้กำลังการผลิตและคุณภาพดีขึ้น

2) ยกเลิกการกำหนดกำลังการผลิตขั้นต่ำของโรงอุตสาหกรรมสุราแช่ ชนิดเบียร์ จากเดิมที่กำหนดกำลังผลิตต้องไม่ต่ำกว่า 1 แสนลิตร/ปี และไม่เกิน 1 ล้านลิตร/ปี แก้ไขเป็น โดยให้เป็นโรงงานตามกฎหมายว่าด้วยโรงงาน หรือ ใช้เครื่องจักรอุปกรณ์การผลิตสุราแช่ ชนิดเบียร์ที่มีมาตรฐาน ตามที่อธิบดีกรมลรรพสามิตประกาศ แต่ยังให้คงหลักเกณฑ์และเงื่อนไขกำลังการผลิตขั้นต่ำไว้ตามเดิม กล่าวคือ ในส่วนของโรงอุตสาหกรรมผลิตสุรากลั่น ชนิดสุราพิเศษ เช่น วิสกี้ บรั่นดี และยิน ต้องมีขนาดกำลังการผลิตคิดเทียบเป็นน้ำสุราที่มีแรงแอลกอฮอล์ 28 ดีกรี เอาไว้ไม่ต่ำกว่า 30,000 ลิตร/วัน และโรงอุตสาหกรรมผลิตสุรากลั่นชนิดอื่นๆ เช่น สุรากลั่นชนิดสุราขาว และองค์การสุรา ต้องมีขนาดกำลังการผลิตคิดเทียบเป็นน้ำสุราที่มีแรงแอลกอฮอล์ 28 ดีกรี ไม่ต่ำกว่า 90,000 ลิตร/วัน รวมทั้งให้เพิ่มเติมให้เป็นไปตามกฎหมายว่าด้วยโรงงาน

ทั้งนี้ ยังเพิ่มเติมขั้นตอนและวิธีการในการขออนุญาต โดยให้สามารถยื่นคำขอรับใบอนุญาตผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ได้

นายอนุชา กล่าวเพิ่มเติมว่า ร่างกฎกระทรวงฯ เป็นการผ่อนคลายความเข้มข้นของ พ.ร.บ. ภาษีสรรพสามิต พ.ศ. 2560 ซึ่งได้มีการหารือหลายส่วนที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะการผ่อนคลายหลักเกณฑ์ วิธีการ เงื่อนไขเกี่ยวกับการขอใบอนุญาตและการออกใบอนุญาตผลิตสุราให้มีความสอดคล้องกับสภาพการณ์ในเชิงธุรกิจ และธุรกิจอุตสาหกรรมการผลิตสุราไนปัจจุบัน ซึ่งจะเป็นการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันธุรกิจมากขึ้น แต่ยังคงไว้ซึ่งหลักการสำคัญในเชิงประโยชน์ของรัฐ ในการบริหารการจัดเก็บภาษีสรรพสามิตสินค้าสุราอย่างมีประสิทธิภาพ รวมทั้งสินค้าสุราที่ผลิตได้คุณภาพมีมาตรฐานและความปลอดภัยต่อการบริโภค ครอบคลุมการดูแลทั้ง 3 ด้าน คือ การดูแลสุขภาพพี่น้องประชาชน การดูแลสังคม ป้องกันอุบัติเหตุที่มาจากการดื่มสุรา รวมไปถึงการดูแลสิ่งแวดล้อมจากกระบวนการผลิตสุราด้วย

ด้านนายณัฐกร อุเทนสุต โฆษกกรมสรรพสามิต และที่ปรึกษาด้านพัฒนาระบบควบคุมทางสรรพสามิต กรมสรรพสามิต กล่าวภายหลัง ที่ประชุม ครม. ผ่านร่างกฎกระทรวงปลดล็อกการใบอนุญาตผลิตสุราแช่ และสุรากลั่นว่า เดิมทีผู้ผลิตเบียร์ต้องมีทุนจดทะเบียนไม่น้อยกว่า 10 ล้านบาท และมีกำลังการผลิตตั้งแต่ 100,000 – 1,000,000 ลิตรต่อปี แต่ได้มีการยกเลิกหลักเกณฑ์ดังกล่าว เพื่อให้ประชาชนทั่วไปสามารถผลิตเบียร์เพื่อ ‘บริโภคภายในครัวเรือน’ เท่านั้น

“วันนี้ คราฟเบียร์ทำได้แล้ว ทำได้เลย โดยไม่ต้องมีทุนจดทะเบียน และไม่ต้องมีเกณฑ์ขั้นต่ำในการผลิต อย่างไรก็ตาม ต้องมีเรื่องการตรวจสอบคุณภาพ และสิ่งแวดล้อม เพราะเราอยากให้มีการผลิตที่มีคุณภาพและยั่งยืน ปัจจุบันมีการนำเข้าคราฟเบียร์จากประเทศเพื่อนบ้าน หมายความว่าคราฟเบียร์ส่วนใหญ่มาจากประเทศเพื่อนบ้านที่คนไทยนำไปผลิตแล้วนำเข้ามา เทียบกับเบียร์ที่เราผลิตน้อยไม่ถึง 1%” นายณัฐกร กล่าว

นายณัฐกร อธิบายว่า การแก้ไขกฎกระทรวงเพื่อให้ประชาชนมีกระบวนการผลิต โดยต้องขออนุญาตกับกรมสรรพสามิต ถ้าไม่ขออนุญาตจะมีความผิดตามกฎหมาย ทั้งนี้ นายณัฐกร ให้ข้อมูลว่า ปัจจุบันมีผู้ประกอบการที่ได้รับอนุญาตให้ผลิตสุราขาวประมาณ 2,600 ราย สุราแช่ประมาณ 2,000 ราย โดยที่ผ่านมามีแนวโน้มลดลงต่อเนื่อง จากเดิมมีประมาณ 4,000 ราย ตั้งแต่เปิดในปี 2546-2547 เหตุผลเพราะในช่วงปี 2546-2547 มีการเปิดสุราเสรี กรณีสุรากลั่นชุมชนม ทำให้คนเข้ามาผลิตจำนวนมาก แต่ไม่ได้มีคุณภาพและนำภูมิปัญญามาใช้ ทำให้บางที่ผลิตแล้วขายไม่ได้ก็ต้องปิดตัวไป

ผู้สื่อข่าวถามเรื่องการผลิตเพื่อบริโภคภายในครัวเรือนเท่านั้น และการแจกให้เพื่อนบ้าน โดย นายณัฐกร ชี้แจงว่า “เราบอกว่าทำภายในครัวเรือน แต่ต้องไม่เกิน 200 ลิตรต่อปี ห้ามขาย ไม่ใช่การค้า ให้บริโภคภายในบ้าน ไม่สามารถนำออกนอกบ้านได้ และไม่สามารถแจกเพื่อนบ้านได้ ถ้าทำแล้วมีการแจกกัน แลกกัน ก็เป็นการค้าประเภทหนึ่ง

นายณัฐกร อุเทนสุต โฆษกกรมสรรพสามิต
ที่มาภาพ : www.thaigov.go.th/

“มีแต่ทำเพื่อการค้า กับไม่ใช่การค้า ทำเพื่อแจกไม่มี คำว่าในครัวเรือนคือบริเวณบ้าน จะมีคนมาทานด้วย ผมว่าไม่ขัด เพราะยังอยู่ในครัวเรือนอยู่ ถ้าในครัวเรือนก็ทำเองบริโภคเอง อาจจะต้องมีระบบติดตามว่า วันนี้ผลิตกี่ลิตร” นายณัฐกร กล่าว

นายณัฐกร กล่วต่อว่า สิ่งแรกที่ต้องทำคือประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนรู้เรื่องกฎหมายฉบับนี้ว่า มีอะไรที่ทำได้และทำไม่ได้ วันนี้เราให้ชุมชนผลิตสุรากลั่นที่เป็นสุราขาวได้ คิดเป็นสัดส่วน 10% ของปริมาณการผลิตสุราขาวที่เสียภาษีทั้งหมด

  • ครม. ไฟเขียวกฎกระทรวง ปลดล็อกผลิตเหล้า-เบียร์
  • ไฟเขียวออมสินลุยปล่อยกู้ “มหกรรมร่วมใจแก้หนี้” 2,000 ล้าน

    นายอนุชา กล่าวต่อว่าที่ประชุม ครม. เห็นชอบโครงการสินเชื่อแก้หนี้เพิ่มทุน พร้อมอนุมัติงบประมาณวงเงินรวม 600 ล้านบาท สำหรับชดเชยความเสียหายที่เกิดจากหนี้ไม่ก่อให้เกิดรายได้ไม่เกินร้อยละ 30 ของวงเงินสินเชื่อทั้งหมด โดยธนาคารออมสินจะจัดสรรวงเงินการให้ความช่วยเหลือวงเงินรวม 2,000 ล้านบาท ตั้งเป้าช่วยเพิ่มสภาพคล่องทางการเงินในการดำรงชีวิต และลงทุนประกอบอาชีพของประชาชนกลุ่มเป้าหมายผู้เข้าร่วมงานมหกรรมร่วมใจแก้หนี้ จำนวน 100,000 ราย

    หลักเกณฑ์และเงื่อนไข โครงการสินเชื่อแก้หนี้เพิ่มทุน ธนาคารออมสินจะจัดสรรวงเงินการให้ความช่วยเหลือให้เหมาะสมกับระยะเวลางานมหกรรมร่วมใจแก้หนี้ วงเงินรวม 2,000 ล้านบาท เป็นวงเงินสินเชื่อ/ราย ไม่เกินรายละ 20,000 บาท กลุ่มเป้าหมาย เป็นผู้มีรายได้ประจำ หรือผู้ประกอบอาชีพอิสระ เช่น ผู้ประกอบการรายย่อย พ่อค้า แม่ค้า หาบเร่แผงลอย เป็นต้น โดยเป็นผู้มีสัญชาติไทย อายุครบ 20 ปีบริบูรณ์ขึ้นไปและเป็นผู้ที่เข้าร่วมงานมหกรรมร่วมใจแก้หนี้ โดยต้องไม่เป็นลูกจ้าง พนักงาน ผู้บริหาร หรือกรรมการของธนาคารออมสิน สำหรับระยะเวลาการกู้ยืม ปลอดชำระหนี้เงินต้น 6 งวดแรก ระยะเวลาชำระคืนเงินงวดสูงสุดไม่เกิน 2 ปี อัตราดอกเบี้ยคงที่ ร้อยละ 0.35 ต่อเดือน (Flat Rate) ไม่มีหลักประกัน (Clean Loan)โดยระยะเวลา ตั้งแต่วันที่คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบถึงวันที่ 31 มกราคม 2566 หรือจนกว่าจะครบวงเงินโครงการ

    นายอนุชา กล่าวต่อว่า งานมหกรรมร่วมใจแก้หนี้ จะจัดขึ้นทั้งสิ้น 5 ครั้ง ในพื้นที่กรุงเทพมหานครและสัญจรจังหวัดต่างๆ 4 ภาคทั่วประเทศ ดังนี้

  • ครั้งที่ 1 ระหว่างวันที่ 4 – 6 พฤศจิกายน 2565 ณ ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุม อิมแพค เมืองทองธานี จังหวัดนนทบุรี
  • ครั้งที่ 2 ระหว่างวันที่ 18 – 20 พฤศจิกายน 2565 ณ ศูนย์ประชุมและแสดงสินค้านานาชาติขอนแก่น จังหวัดขอนแก่น
  • ครั้งที่ 3 ระหว่างวันที่ 16 – 18 ธันวาคม 2565 ณ ศูนย์ประชุมและแสดงสินค้านานาชาติเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่
  • ครั้งที่ 4 ระหว่างวันที่ 20 – 22 มกราคม 2566 ณ จังหวัดชลบุรี และ
  • ครั้งที่ 5 ระหว่างวันที่ 27 – 29 มกราคม 2566 ณ หอประชุมมหาวิทยาลัย สงขลานครินทร์ จังหวัดสงขลา
  • ซึ่งภายใต้โครงการฯ นี้ เป็นการให้สินเชื่อที่ผ่อนปรนกว่าสินเชื่อปกติของธนาคาร และเป็นไปตามเงื่อนไขที่ธนาคารออมสินกำหนด เพื่อช่วยเหลือผู้เข้าร่วมงานมหกรรมร่วมใจแก้ไขหนี้มีสภาพคล่องในการดำรงชีพ หรือประกอบอาชีพโดยเฉพาะในกลุ่มเปราะบางที่ยังฟื้นตัวได้ไม่เต็มที่ โดยผ่อนปรนภาระหนี้สินให้สอดคล้องกับรายได้ เพิ่มทุนใหม่เพื่อเป็นเงินทุนหมุนเวียนระยะสั้นและเป็นแหล่งเงินทุนเพื่อสร้างรายได้เพิ่มด้วย

    ผ่อนผันใช้พื้นที่ป่าชายเลนคลองขุด 11 ไร่ สร้างถนน

    นางสาวทิพานัน ศิริชนะ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีวันที่ 1 พฤศจิกายน 2565 มีมติเห็นชอบผ่อนผันยกเว้นการปฏิบัติตามมติคณะรัฐมนตรี เพื่อการขออนุญาตใช้พื้นที่ป่าชายเลนขององค์การบริหารส่วนจังหวัดสตูล ท้องที่ตำบลคลองขุด อำเภอเมืองสตูล จังหวัดสตูล 11 ไร่ 2 งาน 40 ตรว เพื่อดำเนินโครงการก่อสร้างถนนสายบ้านเขาจีน-บ้านโคกพยอม ตำลคลองขุด อำเภอเมืองสตูล จังหวัดสตูล ตามที่กระทรวงมหาดไทยเสนอมา

    “เส้นทางดังกล่าวนี้ ประชาชนใช้สัญจรไปมา เนื่องจากเป็นเส้นทางลัดดั้งเดิม ที่มีมาก่อนปี 2521 ต่อมาได้มีการโอนมาที่กรมทางหลวงชนบท ก่อนที่จะโอนมาที่ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เทศบาลคลองขุด ซึ่งได้มีแผนสร้างถนนเพิ่มเติม เป็นถนนลาดยาง ผิวทางแอสฟัลต์ ระยะทาง 578 เมตร จากระยะทางรวมระยะทางทั้งหมด 1,546 เมตร ซึ่งเมื่อได้มีการสำรวจพื้นที่โครงการแล้วพบว่า มีสภาพเป็นถนนลูกรังที่ไม่มีสภาพเป็นป่าชายเลน แต่อยู่ในเขตป่าชายเลน ตามมติ ครม. 15 ธันวาคม 2530, 23 กรกฎาคม 2534, 22 สิงหาคม 2543 และ 17 ตุลาคม 2543 จึงต้องเสนอขออนุญาตใช้พื้นที่ป่าชายเลนดังกล่าว” นางสาว ทิพานัน กล่าว

    นางสาว ทิพานัน กล่าวว่า การขออนุญาติสร้างได้มีการจัดทำ EIA แล้ว และผ่านการเห็นชอบรายงาน EIA ของโครงการแล้วเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2562 ที่ผ่านมาแล้ว รวมถึงทางองค์การบริหารส่วนจังหวัดสตูลจะดำเนินการปลูกป่าชายเลนทดแทน จำนวน 20 เท่า ของพื้นที่ดังกล่าว หรือคิดเป็นเนื้อที่ 231.9 ไร่ ด้วย

    นางสาวทิพานัน กล่าวว่า โครงการปรับปรุงนี้จะช่วยรองรับการเดินทางของนักท่องเที่ยว และเพิ่มโอกาสของการขยายฐานเศรษฐกิจในพื้นที่เทศบาลตกบลคลองขุด และเทศบาลเมืองสตูล รวมทั้งช่วยกระตุ้นให้เกิดการพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากที่มั่นคงและยั่งยืน โดยมีแผนดำเนินโครงการปรับปรุงภูมิทัศน์แหล่งท่องเที่ยว ถ้ำเขาจีน รวมถึงการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม ซึ่งจะก่อให้เกิดการสร้างงาน สร้างรายได้ให้กับคนในหมู่บ้านและชุมชนในอนาคตได้

    ปล่อยกู้เจ้าของเรือประมงเฟส 2 อีก 5,000 ล้าน

    ดร.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่าที่ประชุม ครม. มีมติอนุมัติโครงการสินเชื่อเพื่อเสริมสภาพคล่องผู้ประกอบการประมง ระยะที่ 2 วงเงินสินเชื่อ 5,000 ล้านบาท พร้อมอนุมัติกรอบวงเงินในการดำเนินการโครงการและค่าชดเชยดอกเบี้ย รวม 1,050.5 ล้านบาท ตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เสนอ เพื่อสนับสนุนสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำให้ผู้ประกอบการประมงพาณิชย์ และประมงพื้นบ้าน ใช้เป็นเงินทุนในการปรับปรุงเครื่องมือและอุปกรณ์ในการทำประมง

    โครงการสินเชื่อเพื่อเสริมสภาพคล่องผู้ประกอบการประมง ระยะที่ 2 นี้ เป็นโครงการต่อเนื่องจากระยะที่ 1 โดยมีรายละเอียดโครงการใกล้เคียงกับ ระยะที่ 1 แต่มีการปรับเงื่อนไขใหม่ อาทิ ผู้ที่ได้รับสินเชื่อจากโครงการระยะที่ 1 แล้ว จะไม่สามารถขอรับสินเชื่อจากโครงการระยะที่ 2 ได้ เว้นแต่ชำระสินเชื่อทั้งหมดของ ระยะที่ 1 เรียบร้อยแล้ว เป็นต้น ส่วนรายละเอียดและเงื่อนไขอื่นๆ ยังคงเดิม อาทิ

      1. คุณสมบัติผู้ประกอบการประมงที่เข้าร่วมโครงการ เช่น มีสัญชาติไทย ครอบครองเรือประมงที่มีทะเบียนเรือไทย มีใบอนุญาตทำการประมงพาณิชย์ มีประสบการณ์มาแล้วไม่น้อยกว่า 1 ปี เป็นต้น

      2. ขนาดเรือประมงและวงเงินกู้ เรือประมงขนาดตั้งแต่ 60 ตันกรอสขึ้นไป กู้ได้รายละไม่เกิน 10 ล้านบาท ยื่นกู้กับธนาคารออมสิน ส่วนเรือประมงขนาดน้อยกว่า 60 ตันกรอส กู้ได้รายละไม่เกิน 5 ล้านบาท ยื่นกู้กับธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร

      3.อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 7 ต่อปี โดยเก็บจากผู้กู้ร้อยละ 4 ต่อปี และรัฐบาลชดเชยให้ร้อยละ 3 ต่อปี มีระยะเวลาชำระเงินกู้ 7 ปี สำหรับวงเงินสินเชื่อโครงการ จำนวน 5,000 ล้านบาท แบ่งเป็น ธนาคารออมสิน วงเงิน 2,000 ล้านบาท และธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร วงเงิน 3,000 ล้านบาท

    ควบคุมนำเข้า-ส่งออก สารตั้งต้นผลิตยาเสพติด

    ดร.รัชดา กล่าวว่าที่ประชุม ครม. รับทราบแนวทางการควบคุมสารโซเดียมไซยาไนด์ สารเบนซิลคลอไรด์ และสารเบนซิลไซยาไนด์ ซึ่งเป็นสารที่นำไปใช้ในกระบวนการผลิตยาเสพติด เพื่อเป็นการแก้ไขปัญหายาเสพติดตามนโยบายเร่งด่วนของรัฐบาล หลังเกิดเหตุการณ์ความรุนแรงที่จังหวัดหนองบัวลำภู สำหรับแนวทางการควบคุมสารโซเดียมไซยาไนด์ สารเบนซิลคลอไรด์ และสารเบนซิลไซยาไนด์ มีดังนี้

      1. ระงับการส่งออก และชะลอการนำเข้าสารโซเดียมไซยาไนด์ และสารเบนซิลไซยาไนด์ไว้ก่อน เพื่อปรับปรุงวิธีการพิจารณาการอนุญาตการนำเข้าและส่งออก โดยจะอนุญาตให้นำเข้าและส่งออกตามปริมาณการใช้จริง ซึ่งกรมโรงงานอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม จะได้ดำเนินการตรวจสอบและพิจารณาอนุญาตเป็นรายๆ ไป

      2. กรมโรงงานอุตสาหกรรม จะดำเนินการควบคุมการใช้สารโซเดียมไซยาไนด์ สารเบนซิลคลอไรด์ และสารเบนซิลไซยาไนด์ โดยการกำหนดให้ผู้นำเข้า ผู้ส่งออก และผู้ซื้อ (End Use) ต้องยืนยันตัวตนโดยการลงทะเบียน เพื่อควบคุมปริมาณและการติดตามการใช้สารดังกล่าว

    ดร.รัชดากล่าวด้วยว่า ปัจจุบันประเทศไทยมีผู้ใช้สารโซเดียมไซยาไนด์ ภายในประเทศประมาณ 141 ราย มีปริมาณการใช้ภายในประเทศประมาณ 300 ตันเศษ (ไม่รวมการใช้ในอุตสาหกรรมเหมืองแร่) ส่วนสารเบนซิลไซยาไนด์ ภายหลังปี พ.ศ. 2560 ยังไม่มีการนำเข้ามาใช้ในประเทศ

    รับทราบมติ กพอ. ให้กองทัพเรือ สร้างรันเวย์ “อู่ตะเภา”

    ดร.รัชดา กล่าวว่าที่ประชุม ครม. รับทราบมติคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) ให้กองทัพเรือดำเนินโครงการก่อสร้างทางวิ่งและทางขับที่ 2 ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก เพื่อเพิ่มศักยภาพของสนามบินอู่ตะเภาสามารถรองรับการขึ้น–ลง และขับเคลื่อนของอากาศยานได้มากยิ่งขึ้น โดยเป็นไปตามกรอบวงเงินจำนวน 17,768 ล้านบาท ที่ ครม. มีมติไปแล้วเมื่อ 30 ตุลาคม 2561 ให้กับกองทัพเรือใช้ในการดำเนินโครงการสนามบินอู่ตะเภา ทั้งนี้ กองทัพเรือได้รับการจัดสรรงบประมาณผูกพันข้ามปี 2562 – 2567 ในกรอบวงเงิน 1,463 ล้านบาทไปแล้ว

    สำหรับแหล่งเงินเพื่อการดำเนินงานการก่อสร้างโครงการ อนุมัติให้กระทรวงการคลังจัดหาเงินกู้ตามมาตรา 22 แห่งพระราชบัญญัติการบริหารหนี้สาธารณะ พ.ศ.2548 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ในกรอบวงเงิน 16,210 ล้านบาท ให้กับกองทัพเรือ ซึ่งกองทัพเรือได้รับการจัดสรรงบ โดยให้สำนักงบประมาณจัดสรรงบประมาณสมทบในอัตราส่วนของแหล่งเงินกู้และเงินงบประมาณเป็นไปตามที่กระทรวงการคลังตกลงกับแหล่งเงินกู้ ซึ่งวงเงินโครงการดังกล่าวบรรจุอยู่ในแผนบริหารหนี้สาธารณะประจำปีงบประมาณ 2565 และ 2566 อยู่แล้ว

    เห็นชอบ “นาค” เป็นเอกลักษณ์ประจำชาติ ต่อยอด Soft Power

    ดร.รัชดา กล่าวว่าที่ประชุม ครม. เห็นชอบให้นาคเป็นเอกลักษณ์ประจำชาติ ประเภทสัตว์ในตำนาน ซึ่งเป็นการประกาศในเชิงสัญลักษณ์ เพื่อสร้างให้เกิดการเรียนรู้ประวัติศาสตร์ เอกลักษณ์และวัฒนธรรมของชาติ อีกทั้งยังเป็นการต่อยอดเป็น Soft Power ในการนำทุนวัฒนธรรมมาขับเคลื่อนเศรษฐกิจสร้างสรรค์ เพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจและนำรายได้เข้าประเทศ

    นาคมีคติความเชื่อที่ปรากฏในสังคมไทยมาอย่างยาวนาน มีความเกี่ยวพันกับวิถีชีวิตคนไทย สะท้อนถึงตำนานและความเชื่อมาแต่อดีต สื่อออกมาผ่านทางขนบธรรมเนียมประเพณี ศิลปวัฒนธรรม พิธีกรรมต่างๆ มาจนถึงปัจจุบัน เช่น เป็นผู้พิทักษ์ศาสนา เป็นบันไดเชื่อมระหว่างโลกและสวรรค์ บั้งไฟพญานาคในวันออกพรรษา และประเพณีไหลเรือไฟ เรือที่ตกแต่งขึ้นก็แทนพญานาคเพื่อลอยไปบูชารอยพระพุทธบาท เป็นต้น ดังนั้น นาคจึงถือเป็นสัญลักษณ์สะท้อนวัฒนธรรมของประชาชนคนไทยอย่างแนบแน่น

    สำหรับภาพต้นแบบของนาคเป็นเอกลักษณ์ประจำชาติ ประเภทสัตว์ในตำนานนั้น ทางคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ ได้มอบหมายกรมศิลปากร สำนักช่างสิบหมู่ ดำเนินการร่างภาพต้นแบบนาค ซึ่งภาพต้นแบบนี้สื่อให้เห็นภาพรวมคติความเชื่อเกี่ยวกับนาค เป็นรูปพญานาคสี่ตระกูล คือ ตระกูลวิรูปักษ์ (สีทอง) ตระกูลเอราปถ (สีเขียว) ตระกูลฉัพพยาปุตตะ (สีรุ้ง) และตระกูลกัณหาโคตรมะ (สีดำ) และมีนาคตัวใหญ่สุด คือ นาควาสุกรี ที่มีความเกี่ยวเนื่องสัมพันธ์กับพระพุทธศาสนาและพระมหากษัตริย์ ส่วนรายละเอียดประกอบภาพ เช่น คลื่นน้ำ และ ศาสนสถาน สื่อให้เห็นว่านาคเป็นสัญลักษณ์แห่งน้ำและความอุดมสมบูรณ์ รวมถึงบทบาทการเป็นผู้พิทักษ์รักษาพระพุทธศาสนา

    ดร.รัชดา กล่าวต่อว่า จากข้อมูลกระทรวงวัฒนธรรม พบว่า ปัจจุบันประเทศที่มีสัตว์ประจำชาติ ประเภทตำนานเทพนิยายและความเชื่อ มีจำนวน 157 ประเทศ รวมทั้งสิ้น 229 รายการ มีบางประเทศที่มีสัตว์ประจำชาติมากกว่า 1 รายการ ซึ่งสัตว์ประจำชาติของประเทศต่างๆ มีสัตว์ที่ปรากฏอยู่จริง เช่น สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม สัตว์สี่เท้า สัตว์ปีก ส่วนสัตว์ในตำนานเทพนิยายและความเชื่อ แม้ว่าจะไม่มีผู้พบเห็นแต่คนในชาตินั้นๆ มีความเชื่อและศรัทธาจนมีการสร้างสรรค์เป็นสัญลักษณ์ประจำชาติ สำหรับสัตว์ในตำนานประจำชาติจะมีการประกาศในประเทศต่างๆ อาทิ 1.จีน หมีแพนด้าเป็นสัตว์ประจำชาติ และมังกรเป็นสัตว์ประจำชาติประเภทตำนาน 2.อินโดนีเชีย มังกรโคโมโดเป็นสัตว์ประจำชาติ และครุทเป็นสัตว์ประจำชาติประเภทตำนาน 3.กรีซ ปลาโลมาเป็นสัตว์ประจำชาติ และนกฟีนิกซ์เป็นสัตว์ประจำชาติประเกทตำนาน ทั้งนี้ สัตว์ในตำนานเหล่านั้น มักจะนำมาเป็นสัญลักษณ์ของประเทศเป็นตราแผ่นดิน โล่และอาร์ม หรือปรากฏในธงต่างๆ และมีความเกี่ยวข้องกับสถาบันเป็นส่วนใหญ่

    ตั้ง “พลตรี เจียรนัย วงศ์สอาด” คุมบอร์ดการเคหะฯ

    ดร.รัชดา กล่าวว่า วันนี้ที่ประชุม ครม. มีมติอนุมัติ หรือ เห็นชอบในเรื่องแต่งตั้งข้าราชการและผู้บริหารระดับสูงของหน่วยงานรัฐมีรายละเอียดดังนี้

    1. อนุมัติตามที่รองนายกรัฐมนตรี (นายวิษณุ เครืองาม) เสนอแต่งตั้ง ร้อยตำรวจเอก ไพรัตน์ เทศพานิช เลขานุการกรม สำนักงานเลขานุการกรม สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน ให้ดำรงตำแหน่ง ที่ปรึกษาด้านการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (นักวิเคราะห์นโยบายและแผนทรงคุณวุฒิ) สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน ตั้งแต่วันที่ 27 กรกฎาคม 2565 ซึ่งเป็นวันที่มีคุณสมบัติครบถ้วนสมบูรณ์ ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งเป็นต้นไป

    2. เห็นชอบตามที่กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์เสนอ แต่งตั้งประธานกรรมการและกรรมการอื่นในคณะกรรมการการเคหะแห่งชาติ จำนวน 9 คน ดังนี้

      1. พลตรี เจียรนัย วงศ์สอาด ประธานกรรมการ
      2. นางพัชรี อาระยะกุล กรรมการ
      3. นายรณชัย จิตรวิเศษ กรรมการ
      4. นายจเรรัฐ ปิงคลาศัย กรรมการ
      5. นายอัครพล ลีลาจินดามัย กรรมการ
      6. นายธีรภัทร ประยูรสิทธิ กรรมการ
      7. นายชยงการ ภมรมาศ กรรมการ
      8. พลเอก สุวิชา แก้วรุ่งเรือง กรรมการ
      9. นายอนุกูล ปีดแก้ว (ผู้แทนกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์) กรรมการ
      10. นางศุกร์ศิริ บุญญเศรษฐ์ (ผู้แทนกระทรวงการคลัง) กรรมการ

    ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2565 เป็นต้นไป

    3. เห็นชอบตามที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเสนอ แต่งตั้งนายสุรเดช อุทัยรัตน์ เป็นกรรมการอื่นในคณะกรรมการขององค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ แทนนายอภิสิทธิ์ ไล่ศัตรูไกล กรรมการที่ครบวาระการดำรงตำแหน่งเนื่องจากมีอายุครบ 65 ปีบริบูรณ์ โดยให้ผู้ที่ได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งแทน อยู่ในตำแหน่งเท่ากับวาระที่เหลืออยู่ของกรรมการซึ่งได้รับการแต่งตั้งไว้แล้ว ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2565 เป็นต้นไป

    อ่าน มติ ครม. ประจำวันที่ 1 พฤศจิกายน 2565 เพิ่มเติม